ชีวิตที่น่าพอใจและมีความสุขเนื่องด้วยความเต็มใจเสียสละ
เรื่องราวชีวิตจริง
ชีวิตที่น่าพอใจและมีความสุขเนื่องด้วยความเต็มใจเสียสละ
เล่าโดยแมเรียนและโรซา ซูมีกา
บทเพลงสรรเสริญ 54:6 แจ้งดังนี้: “ข้าพเจ้าจะนำเครื่องบูชามาถวายพระองค์ด้วยความเต็มใจ.” คำกล่าวนี้กลายมาเป็นสาระสำคัญในชีวิตของแมเรียน ซูมีกาและโรซา ภรรยาของเขาซึ่งอยู่ที่ประเทศฝรั่งเศส. ไม่นานมานี้ คนทั้งสองได้เล่าเรื่องที่โดดเด่นในช่วงชีวิตอันยาวนานและน่าพอใจในงานรับใช้พระยะโฮวา.
แมเรียน: พ่อแม่ผมนับถือศาสนานิกายโรมันคาทอลิก ซึ่งย้ายถิ่นฐานมาจากประเทศโปแลนด์. พ่อผมเป็นคนถ่อม. ท่านไม่เคยมีโอกาสได้เข้าโรงเรียน. อย่างไรก็ตาม ในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง พ่อหัดอ่านหัดเขียนระหว่างประจำการในสนามเพลาะ. พ่อเป็นคนเกรงกลัวพระเจ้า แต่บ่อยครั้งคริสตจักรทำให้พ่อผิดหวัง.
พ่อจำเหตุการณ์หนึ่งได้อย่างฝังใจเป็นพิเศษ. ในระหว่างสงคราม วันหนึ่งบาทหลวงได้ไปเยี่ยมหน่วยที่พ่อประจำการ. เมื่อกระสุนปืนใหญ่ระเบิดใกล้บริเวณนั้น ด้วยความตกใจสุดขีด บาทหลวงควบม้าหนี โดยใช้ไม้กางเขนฟาดม้าให้วิ่ง. พ่อตกตะลึงเมื่อเห็น “ตัวแทน” ของพระเจ้าใช้เครื่องหมาย “ศักดิ์สิทธิ์” เร่งการหนีให้เร็วขึ้น. ถึงแม้พ่อผ่านประสบการณ์เช่นนั้นและพบเห็นความน่ากลัวของสงคราม แต่ความเชื่อของพ่อในเรื่องพระเจ้าไม่ได้เสื่อมคลาย. พ่อมักพูดบ่อย ๆ ว่าเพราะพระเจ้า ท่านถึงรอดชีวิตผ่านสงครามได้อย่างปลอดภัย.
“โปแลนด์น้อย”
ปี 1911 พ่อแต่งงานกับเด็กสาวจากหมู่บ้านใกล้เคียง. เธอชื่ออันนา เซโซวสกี. หลังสงครามเลิกไม่นาน ในปี 1919 พ่อกับแม่ได้อพยพจากโปแลนด์ไปอยู่ฝรั่งเศส พ่อทำงานใน
เหมืองถ่านหิน. ผมเกิดเดือนมีนาคม 1926 ในเมืองกาญาก เล มีน ทางตะวันตกเฉียงใต้ของฝรั่งเศส. หลังจากนั้น พ่อแม่ได้ปักหลักในลูซองโกเอลซึ่งเป็นชุมชนชาวโปแลนด์ ใกล้เมืองลอง ทางภาคเหนือของฝรั่งเศส. คนทำขนมปัง, คนขายเนื้อ, บาทหลวงประจำหมู่บ้านล้วนเป็นคนโปแลนด์. ไม่แปลกที่พื้นที่แถบนี้ได้สมญานามว่าโปแลนด์น้อย. พ่อแม่ของผมเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ของชุมชน. บ่อยครั้งพ่อจัดแสดงละคร, ดนตรี, และร้องเพลง. นอกจากนั้น พ่อสนทนาวิสาสะกับบาทหลวงเป็นประจำ แต่ก็ไม่เคยได้รับคำตอบอย่างจุใจ เนื่องจากบาทหลวงมักจะบอกว่า “มีข้อลึกลับมากมาย.”วันหนึ่งในปี 1930 ผู้หญิงสองคนมาเคาะประตูบ้าน. พวกเธอเป็นนักศึกษาพระคัมภีร์ ชื่อเรียกพยานพระยะโฮวาสมัยนั้น. พ่อรับเอาพระคัมภีร์จากคนทั้งสอง ท่านอยากอ่านหนังสือนี้มานานแล้ว. ทั้งพ่อและแม่ต่างก็กระตือรือร้นอ่านหนังสือต่าง ๆ ที่ใช้คัมภีร์ไบเบิลเป็นหลัก ซึ่งสตรีทั้งสองฝากไว้ให้อ่าน. พ่อกับแม่ซาบซึ้งใจมากจากการได้อ่านสิ่งพิมพ์เหล่านั้น. แม้พ่อแม่มีชีวิตที่สาละวนอยู่กับงาน กระนั้น ท่านเริ่มเข้าร่วมการประชุมที่นักศึกษาพระคัมภีร์จัดขึ้น. การพิจารณาปัญหาต่าง ๆ กับบาทหลวงกลายเป็นเรื่องถกเถียงกันอย่างเผ็ดร้อน กระทั่งวันหนึ่งบาทหลวงขู่ว่าถ้าพ่อแม่ยังขืนคบนักศึกษาพระคัมภีร์ สเตฟานีพี่สาวของผมจะถูกไล่ออกจากชั้นเรียนแบบปุจฉาวิสัชนา. พ่อตอบว่า “เรื่องนี้ไม่ต้องกังวล. แต่นี้ไปลูกสาวผมและเด็กคนอื่น ๆ จะไปยังที่ประชุมของนักศึกษาพระคัมภีร์กับพวกเรา.” พ่อได้ถอนชื่อออกจากคริสตจักร และต้นปี 1932 พ่อกับแม่ก็รับบัพติสมา. ตอนนั้น ในฝรั่งเศสมีผู้ประกาศราชอาณาจักรเพียงประมาณ 800 คน.
โรซา: พ่อแม่ของดิฉันมาจากฮังการีและคล้ายกันกับครอบครัวของแมเรียน คือได้ตั้งรกรากอยู่ทางตอนเหนือของฝรั่งเศส ทำงานในเหมืองถ่านหิน. ดิฉันเกิดปี 1925. พอมาปี 1937 พยานพระยะโฮวาชื่อออกุสต์ เบอแกง หรือปาปาออกุสต์ชื่อที่เราตั้งให้ก็เริ่มเอาวารสารหอสังเกตการณ์ภาษาฮังการีมาให้พ่อแม่อ่าน. ทั้งพ่อและแม่พบว่าวารสารนี้น่าสนใจ แต่ก็ไม่มีคนใดเข้ามาเป็นพยานพระยะโฮวา.
ถึงแม้อายุยังน้อย ดิฉันซาบซึ้งตรึงใจเมื่อได้อ่านวารสารหอสังเกตการณ์ และซูซาน เบอแกงลูกสะใภ้ปาปาออกุสต์ให้ความเอาใจใส่ดิฉันเป็นส่วนตัว. พ่อแม่อนุญาตให้เธอพาดิฉันไปยังการประชุมต่าง ๆ. ต่อมา เมื่อดิฉันได้งานทำนอกบ้าน การเข้าร่วมประชุมวันอาทิตย์ทำให้พ่อขัดเคืองใจ. แม้ปกติพ่อเป็นคนอารมณ์ดี แต่ก็บ่นว่า “วันธรรมดาลูกไม่ได้อยู่บ้าน พอถึงวันอาทิตย์ลูกก็ออกบ้านไปประชุมอีก!” อย่างไรก็ดี ดิฉันยังคงไปประชุมเช่นเคย. วันหนึ่งพ่อจึงบอกว่า “เก็บเสื้อผ้าข้าวของของแกแล้วออกไปเดี๋ยวนี้!” ตอนนั้นดึกแล้ว. ดิฉันเพิ่งอายุ 17 และคิดไม่ออกว่าจะไปที่ไหน. ท้ายที่สุดก็ไปที่บ้านซูซานทั้งน้ำตานองหน้า. ดิฉันพักอยู่กับซูซานประมาณหนึ่งสัปดาห์ก่อนที่พ่อจะให้พี่สาวไปรับกลับบ้าน. ดิฉันเป็นคนไม่กล้า แต่แนวคิดใน 1 โยฮัน 4:18 ช่วยดิฉัน ยืนหยัดมั่นคงอยู่ได้. ข้อคัมภีร์นั้นบอกว่า “ความรักที่สมบูรณ์ก็กำจัดความกลัวเสีย.” ปี 1942 ดิฉันรับบัพติสมา.
มรดกฝ่ายวิญญาณที่มีค่า
แมเรียน: ผมรับบัพติสมาปี 1942 พร้อมกับพี่สาวคือสเตฟานี, เมลานี, และสเตฟานพี่ชาย. ที่บ้าน ชีวิตครอบครัวรวมจุดอยู่ที่พระคำของพระเจ้า. ขณะที่เรานั่งรอบโต๊ะ พ่อจะอ่านพระคัมภีร์ภาษาโปแลนด์ให้พวกเราฟัง. ตกเย็น บ่อยครั้งพวกเราใช้เวลาฟังพ่อแม่เล่าประสบการณ์ของท่านเกี่ยวกับงานประกาศราชอาณาจักร. ช่วงเวลาที่เป็นการเสริมสร้างฝ่ายวิญญาณเช่นนี้สอนเราให้รักพระยะโฮวาและไว้วางใจพระองค์มากยิ่ง ๆ ขึ้น. เนื่องจากสุขภาพไม่ค่อยแข็งแรง พ่อจำเป็นต้องเลิกทำงาน แต่ท่านยังคงเอาใจใส่ดูแลพวกเราอย่างต่อเนื่องทั้งฝ่ายวิญญาณและฝ่ายวัตถุ.
เนื่องจากตอนนั้นพ่อมีเวลาว่าง ท่านจึงนำการศึกษาพระคัมภีร์ภาษาโปแลนด์สัปดาห์ละครั้งกับหนุ่มสาวในประชาคม. ตอนนั้นแหละที่ผมได้เรียนอ่านภาษาโปแลนด์. พ่อยังสนับสนุนพวกเด็ก ๆ ในทางอื่นอีกด้วย. ครั้งหนึ่ง เมื่อบราเดอร์กุสตาฟ ซอพเฟอร์ ซึ่งเวลานั้นดูแลงานของพยานพระยะโฮวาในประเทศฝรั่งเศสได้ไปเยี่ยมประชาคมของเรา พ่อจัดวงนักร้องประสานเสียงและมีการแสดงละครโดยแต่งชุดโบราณแสดงฉากการเลี้ยงใหญ่ของกษัตริย์เบละซาซัรและลายมือบนผนัง. (ดานิเอล 5:1-31) หลุยส์ เพียโคตาแสดงเป็นดานิเอล ต่อมาภายหลัง เขายืนหยัดต้านทานพวกนาซี. * พวกเราเด็ก ๆ ได้รับการอบรมเลี้ยงดู เติบโตขึ้นมาในบรรยากาศแบบนี้แหละ. พวกเราสังเกตเห็นพ่อแม่ของเราหมกมุ่นกับเรื่องฝ่ายวิญญาณตลอดเวลา. ทุกวันนี้ ผมสำนึกว่าพวกเราได้รับมรดกอันมีค่าที่พ่อแม่ละไว้ให้.
ปี 1939 เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 งานประกาศของพยานพระยะโฮวาในประเทศฝรั่งเศสถูกสั่งห้าม. มีอยู่ช่วงหนึ่ง หมู่บ้านของเราถูกค้น. ทหารเยอรมันเข้าล้อมบ้านทุกหลัง. พ่อได้ปรับแต่งพื้นใต้ตู้เสื้อผ้าพรางตาไว้ และพวกเราก็ซุกซ่อนสรรพหนังสือเกี่ยวกับคัมภีร์ไบเบิลไว้ที่นั่น. อย่างไรก็ดี ในลิ้นชักใต้โต๊ะที่ห้องรับประทานอาหารยังมีหนังสือเล่มเล็กชื่อลัทธิฟาสซิสต์หรืออิสรภาพ อยู่บางเล่ม. พ่อรีบเก็บหนังสือเหล่านั้นซ่อนไว้ในกระเป๋าเสื้อแจ็กเกตที่แขวนไว้ที่ระเบียง. ทหารสองนายพร้อมด้วยตำรวจฝรั่งเศสอีกหนึ่งนายเข้าค้นบ้านของเรา. เรารอดูอย่างระทึกใจ. ทหารนายหนึ่งเริ่มตรวจค้นดูเสื้อผ้าซึ่งแขวนอยู่ที่ระเบียง จากนั้นไม่นานก็ถือหนังสือเล่มเล็กเดินมาหาพวกเราในห้องครัว. เขาถลึงตาจ้องเรา, วางหนังสือลงบนโต๊ะ, และพยายามค้นหาที่อื่น ๆ ต่อไป. ผมรีบฉวยหนังสือเหล่านั้นใส่ลิ้นชักที่ค้นไปแล้ว. ทหารไม่ทวงถามเรื่องหนังสือนั้นอีกเลย—ราวกับว่าเขาลืมเสียสนิท!
เข้าสู่งานรับใช้เต็มเวลา
ปี 1948 ผมตัดสินใจทำตัวให้พร้อมสำหรับการรับใช้พระยะโฮวาเต็มเวลาโดยการเป็นไพโอเนียร์. ไม่กี่วันต่อมา ผมได้รับจดหมายจากสำนักงานสาขาแห่งพยานพระยะโฮวาในฝรั่งเศส. จดหมายนั้นระบุเขตงานมอบหมายให้ผมรับใช้เป็นไพโอเนียร์ร่วมกับประชาคมเมืองซีดาน ใกล้เบลเยียม. ทั้งพ่อและแม่ดีใจที่เห็นผมยึดเอางานรับใช้พระยะโฮวาโดยวิธีนั้น. แต่กระนั้น พ่อชี้ให้เห็นว่าการเป็นไพโอเนียร์นั้นไม่ง่าย ไม่ใช่งานสบาย ๆ เป็นงานที่ต้องทุ่มเท. อย่างไรก็ดี ท่านพูดว่าท่านเปิดบ้านต้อนรับผมทุกเวลา และหากผมมีปัญหาก็พึ่งพาท่านได้เสมอ. ทั้งที่พ่อแม่ผมไม่มีเงินมาก แต่ท่านซื้อจักรยานคันใหม่ให้ผม. ผมยังคงเก็บรักษาใบเสร็จค่าจักรยานนั้นไว้ และเมื่อผมเห็นใบเสร็จทีไร ผมกลั้นน้ำตาไม่อยู่. พ่อและแม่ได้เสียชีวิตในปี 1961 แต่คำพูดที่ฉลาดสุขุมของพ่อยังคงก้องอยู่ในหูผม ถ้อยคำเหล่านั้นเป็นกำลังใจและปลอบใจผมตลอดเวลาหลายปีที่ผมทำงานรับใช้.
อีกแหล่งหนึ่งที่ให้กำลังใจผมคือซิสเตอร์คริสเตียนวัย 75 ปีในประชาคมเมืองซีดาน เธอชื่อเอลิซ มอตต์. ระหว่างช่วงหน้าร้อน ผมขี่จักรยานไปประกาศตามหมู่บ้านรอบนอก ส่วนเอลิซขึ้นรถไฟไปสมทบผมที่นั่น. อย่างไรก็ตาม วันหนึ่ง พวกวิศวกรรถไฟนัดหยุดงานประท้วง และเอลิซกลับบ้านไม่ได้. ทางแก้อย่างเดียวเท่าที่ผมนึกออกคือให้เธอนั่งซ้อนท้าย
จักรยานและพากลับบ้าน ซึ่งไม่ค่อยสะดวกสบายนัก. เช้าวันรุ่งขึ้น ผมไปรับเอลิซที่บ้านของเธอและเอาเบาะรองนั่งติดไปด้วย. เธอเลยเลิกเดินทางโดยรถไฟ และใช้เงินที่ไม่ต้องจ่ายเป็นค่ารถนั้นซื้อเครื่องดื่มร้อน ๆ ดื่มกันตอนอาหารกลางวัน. ใครจะคิดว่ารถจักรยานของผมใช้รับส่งผู้โดยสารได้?หน้าที่รับผิดชอบเพิ่มขึ้น
ปี 1950 ทางสำนักงานสาขาขอให้ผมปฏิบัติงานฐานะผู้ดูแลหมวดทั่วภาคเหนือของฝรั่งเศส. เนื่องจากผมอายุแค่ 23 ปฏิกิริยาแรกของผมคือรู้สึกหวั่นกลัว. ผมนึกเอาว่าทางสำนักงานสาขามอบหมายผิดคนกระมัง! คำถามหลายข้อผุดขึ้นในใจ: ‘ผมมีคุณสมบัติจะทำงานนี้ได้ไหม ไม่ว่าฝ่ายวิญญาณหรือด้านร่างกาย? ผมจะรับมือได้ไหมกับการเปลี่ยนที่อยู่ทุก ๆ สัปดาห์?’ นอกจากนั้น ผมทนลำบากเรื่อยมากับโรคตาเหล่ตั้งแต่อายุหกขวบ. ดังนั้น ผมจึงมัวแต่เป็นห่วงตัวเอง วิตกกังวลว่าคนอื่นจะมีท่าทีอย่างไรต่อผม. น่าดีใจที่ตอนนั้นผมได้รับการช่วยเหลือเป็นอย่างมากจากบราเดอร์สเตฟาน เบฮุนิก ซึ่งเรียนจบหลักสูตรอบรมมิชชันนารีจากโรงเรียนกิเลียด. บราเดอร์เบฮุนิกถูกขับออกจากโปแลนด์เนื่องด้วยกิจกรรมการเผยแพร่และได้รับการมอบหมายให้ไปทำงานที่ฝรั่งเศส. ความกล้าหาญของเขาประทับใจผมจริง ๆ. เขาแสดงความนับถืออย่างลึกซึ้งต่อพระยะโฮวาและต่อความจริง. บางคนคิดว่าเขาเข้มงวดกับผม แต่ผมเรียนรู้จากเขามากทีเดียว. ความกล้าของเขาช่วยให้ผมมีความมั่นใจมากขึ้น.
การเดินทางเยี่ยมหมวดทำให้ผมมีประสบการณ์ดี ๆ บางอย่างในเขตงานประกาศ. ในปี 1953 ผมถูกขอให้ไปเยี่ยมรายสนใจชื่อนายปาโอลี เขาอาศัยอยู่ทางใต้ของกรุงปารีส และได้บอกรับวารสารหอสังเกตการณ์. เราพบกันและผมได้มารู้ว่าเขาเกษียณอายุราชการแล้ว และเขาค้นพบสิ่งน่าทึ่งน่าดึงดูดใจในวารสารหอสังเกตการณ์. เขาเล่าว่าหลังจากได้อ่านบทความหนึ่งไม่นานมานี้เรื่องการรำลึกการวายพระชนม์ของพระคริสต์ เขาจึงได้จัดอนุสรณ์ที่ระลึกขึ้นเอง และใช้เวลาเย็นวันนั้นอ่านพระธรรมบทเพลงสรรเสริญ. การสนทนาของเรายืดเยื้อเกือบตลอดบ่ายวันนั้น. ก่อนลากลับ เราคุยกันสั้น ๆ ถึงเรื่องบัพติสมา. ต่อมา ผมส่งใบเชิญถึงเขาให้เข้าร่วมการประชุมหมวด ซึ่งจัดขึ้นตอนต้นปี 1954. เขาได้เข้าร่วม และในจำนวน 26 คนที่รับบัพติสมา ณ การประชุมคราวนั้น มีบราเดอร์ปาโอลีรวมอยู่ด้วย. ประสบการณ์คล้าย ๆ กันนี้ก็ยังคงเป็นแหล่งแห่งความยินดีสำหรับผม.
โรซา: เดือนตุลาคม 1948 ดิฉันเริ่มรับใช้ฐานะไพโอเนียร์. ภายหลังรับใช้ที่เมืองอะนอร์ ซึ่งไม่ไกลจากประเทศเบลเยียม ดิฉันรับการมอบหมายไปทำงานที่ปารีสพร้อมกับไพโอเนียร์อีกคนหนึ่งชื่ออีแรน โกลันสกี (ตอนนี้เธอคือเลอรัว). ห้องพักของเราเป็นห้องแคบ ๆ ในแซง-เชแมง-เด แปร ณ ใจกลางเมือง. เนื่องจากดิฉันเป็นเด็กบ้านนอก จึงนึกหวั่นหวาดชาวกรุงปารีส. ดิฉันคิดว่าพวกเขาเป็นคนรอบรู้และเฉลียวฉลาดมาก ๆ. แต่จากการประกาศไม่นานเท่าไร ดิฉันจึงได้เข้าใจว่าเขาก็ไม่ต่างจากคนทั่ว ๆ ไป. พวกเราถูกคนเฝ้าประตูไล่ออกจากบ้านบ่อย ๆ และที่จะเริ่มนำการศึกษา
พระคัมภีร์เป็นเรื่องยาก. แม้เป็นเช่นนั้น บางคนได้ตอบรับข่าวสารของเรา.ระหว่างการประชุมหมวดในปี 1951 มีการสัมภาษณ์ดิฉันกับอีแรนเกี่ยวกับงานไพโอเนียร์ของเรา. ลองทายสิว่าใครสัมภาษณ์เรา? ผู้ดูแลหมวดหนุ่มชื่อแมเรียน ซูมีกาน่ะแหละ. เราพบกันมาแล้วครั้งหนึ่ง แต่หลังการประชุม เราเขียนจดหมายติดต่อกัน. แมเรียนกับดิฉันมีอะไรเหมือน ๆ กันหลายอย่าง รวมถึงข้อเท็จจริงที่เรารับบัพติสมาปีเดียวกันและสมัครเป็นไพโอเนียร์ปีเดียวกัน. แต่สำคัญที่สุดคือเราทั้งสองต้องการอยู่ในงานรับใช้เต็มเวลา. ดังนั้น หลังจากพิจารณาเรื่องนี้พร้อมด้วยการอธิษฐาน เราก็แต่งงานกันในวันที่ 31 กรกฎาคม 1956. พอก้าวมาถึงขั้นนี้ วิถีชีวิตใหม่สำหรับดิฉันได้เริ่มขึ้น. ดิฉันต้องทำตัวให้ชินไม่เฉพาะบทบาทการเป็นภรรยา แต่ต้องชินกับการเดินทางเยี่ยมหมวดกับแมเรียนด้วย ซึ่งหมายถึงการย้ายที่หลับที่นอนทุกสัปดาห์. ตอนแรก ๆ ยากมาก ทว่า ความปีติยินดีมากมายกำลังรออยู่เบื้องหน้า.
ชีวิตที่น่าพอใจ
แมเรียน: ตลอดหลายปี เรามีสิทธิพิเศษที่ได้ช่วยเตรียมการประชุมใหญ่หลายครั้ง. โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผมจดจำการประชุมใหญ่ปี 1966 ซึ่งจัดขึ้นที่บอร์โดซ์. เวลานั้น มีการสั่งห้ามงานประกาศของพยานพระยะโฮวาในโปรตุเกส. ฉะนั้นการนำเสนอระเบียบวาระการประชุมจึงเป็นภาษาโปรตุเกสด้วยเพื่อประโยชน์ของเหล่าพยานฯ ที่ได้เดินทางไปฝรั่งเศส. พี่น้องคริสเตียนชายหญิงของเราหลายร้อยคนมาจากโปรตุเกส แต่ปัญหาอยู่ที่ว่าเราจะจัดที่พักให้เขาที่ไหน. เนื่องจากบ้านของพยานฯ ในเมืองบอร์โดซ์ไม่มีห้องต้อนรับเพียงพอ เราจึงได้เช่าโรงภาพยนตร์ร้างและดัดแปลงเป็นหอพัก. เราขนย้ายที่นั่งทุกตัวออกไปและใช้ม่านจากเวทีกั้นแบ่งห้องโถงเป็นสองห้องพัก สำหรับพี่น้องชายห้องหนึ่งและพี่น้องหญิงห้องหนึ่ง. อนึ่ง เรายังได้จัดที่อาบน้ำชนิด
ฝักบัวและอ่างน้ำ จัดหาหญ้าแห้งมาปูบนพื้นคอนกรีตและใช้ผ้าใบปูทับอีกชั้นหนึ่ง. ทุกคนพอใจกับการจัดเตรียมแบบนี้.หลังวาระการประชุมผ่านไปแล้ว พวกเราไปเยี่ยมพี่น้องชายหญิงของเราที่หอพัก. บรรยากาศที่นั่นวิเศษมาก. เราได้กำลังใจมากเพียงใดจากประสบการณ์ของพวกเขา แม้ว่าต้องอดทนการต่อต้านขัดขวางนานหลายปี! เมื่อการประชุมสิ้นสุดลงและพวกเขาได้อำลากลับ พวกเราทุกคนถึงกับน้ำตาซึม.
สองปีก่อนหน้านั้น คือในปี 1964 เราได้รับสิทธิพิเศษอีกอย่างหนึ่ง เมื่อผมถูกมอบหมายให้รับใช้เป็นผู้ดูแลภาค. อีกครั้งหนึ่งที่ผมไม่แน่ใจว่าจะทำหน้าที่นั้นได้หรือไม่. แต่ผมบอกตัวเองว่าหากบุคคลเหล่านั้นที่ทำงานรับผิดชอบขอให้ผมรับเอางานมอบหมายนี้ พวกเขาคงคิดเห็นชัดแจ้งแล้วว่าผมสามารถจะทำได้. นับว่าเป็นประสบการณ์ที่ดีจริง ๆ ที่ได้ทำงานใกล้ชิดกับพวกผู้ดูแลเดินทางคนอื่น ๆ. ผมเรียนรู้หลายอย่างจากพวกเขา. หลายคนเป็นแบบอย่างจริง ๆ ในด้านคุณลักษณะของความอุตสาหะพากเพียรซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในสายพระเนตรของพระยะโฮวา. ผมได้มาเข้าใจว่าถ้าเราเรียนรู้การอดทนรอ พระยะโฮวาทรงทราบว่าจะพบเราได้ที่ไหน.
ปี 1982 สำนักงานสาขาได้ขอให้เราเอาใจใส่ดูแลกลุ่มเล็ก ๆ ประกอบด้วยผู้ประกาศชาวโปแลนด์ 12 คนในบูโลญ-บียองกูร์ ย่านชานเมืองของกรุงปารีส. ผมประหลาดใจมาก. ผมรู้จักศัพท์เกี่ยวกับระบอบของพระเจ้าในภาษาโปแลนด์ แต่ผมไม่ถนัดสร้างรูปประโยค. กระนั้น ความกรุณาและการร่วมมือร่วมใจของพี่น้องเหล่านั้นช่วยผมมากทีเดียว. ปัจจุบัน ประชาคมนี้มีผู้ประกาศประมาณ 170 คน ในจำนวนนั้นเป็นไพโอเนียร์เกือบ 60 คน. ในเวลาต่อมา ผมกับโรซาก็ได้ไปเยี่ยมกลุ่มและประชาคมต่าง ๆ ซึ่งประกอบด้วยชาวโปแลนด์ทั้งในออสเตรีย, เดนมาร์ก, และเยอรมนี.
สภาพแวดล้อมเปลี่ยนไป
การเยี่ยมประชาคมต่าง ๆ เป็นชีวิตจิตใจของเรา แต่สุขภาพของผมที่ทรุดโทรมนี่สิทำให้เราต้องหยุดงานเดินทางดูแลหมวดในปี 2001. เราหาอพาร์ตเมนต์ได้หลังหนึ่งในเมืองปีตีวีแยร์ รูทน้องสาวของผมก็อยู่ที่นั่น. สำนักงานสาขากรุณาแต่งตั้งเราเป็นไพโอเนียร์พิเศษ พร้อมกับผ่อนผันชั่วโมงทำงานให้เหมาะกับสภาพการณ์ของเรา.
โรซา: ดิฉันหนักใจมากในช่วงปีแรกหลังจากเราไม่ได้เดินทางเยี่ยมหมวด. การผันเปลี่ยนครั้งนี้สาหัสสากรรจ์จริง ๆ จนดิฉันรู้สึกว่าตัวเองไร้ประโยชน์. ครั้นแล้วดิฉันย้ำเตือนตัวเองว่า ‘เออนี่ ฉันยังสามารถใช้เวลาและพละกำลังให้เป็นประโยชน์โดยการรับใช้ฐานะไพโอเนียร์ได้อยู่นะ.’ ทุกวันนี้ ดิฉันมีความสุขที่ทำงานร่วมกับไพโอเนียร์คนอื่น ๆ ในประชาคมของเรา.
พระยะโฮวาทรงใฝ่พระทัยดูแลเราเสมอ
แมเรียน: ผมขอบพระคุณพระยะโฮวามากที่โรซาได้มาเป็นคู่ชีวิตของผมตลอด 48 ปีที่ผ่านมา. ตลอดเวลาหลายปีในงานเดินทางเยี่ยมหมวด เธอเกื้อหนุนผมมากทีเดียว. ผมไม่เคยได้ยินเธอพูดเปรย ๆ แม้แต่ครั้งเดียวว่า ‘ฉันปรารถนาจะไม่ต้องเดินทางเสียที และอยากมีบ้านของเราเอง.’
โรซา: บางครั้งมีบางคนพูดว่า “ชีวิตของคุณไม่ปกติ. คุณต้องอาศัยอยู่กับคนอื่นเสมอ.” แต่จริง ๆ แล้ว “ชีวิตปกติ” เป็นอย่างไร? บ่อยครั้งเราพบตัวเองแวดล้อมไปด้วยข้าวของมากมายหลายอย่างซึ่งอาจเป็นอุปสรรคขัดขวางการมุ่งติดตามกิจกรรมฝ่ายวิญญาณ. สิ่งจำเป็นต้องมีคือที่นอนที่เรานอนได้สบาย, โต๊ะสักตัวหนึ่ง, และของใช้จำเป็นไม่กี่ชิ้น. ฐานะไพโอเนียร์อย่างเรามีสิ่งฝ่ายวัตถุเพียงเล็กน้อย แต่เรามีทุกอย่างที่จำเป็นเพื่อจะทำตามพระทัยประสงค์ของพระยะโฮวา. บางครั้งมีคนถามดิฉันว่า “คุณจะทำบทเพลงสรรเสริญ 34:10 ที่ว่า “ส่วนเหล่าคนที่แสวงหาพระยะโฮวาจะไม่ขัดสนสิ่งที่ดีเลย.” พระยะโฮวาทรงใฝ่พระทัยดูแลพวกเราเสมอมา.
อย่างไรเมื่อคุณแก่ตัวลง บ้านก็ไม่มีและไม่มีบำนาญ.” แล้วดิฉันก็จะยกถ้อยคำจากแมเรียน: จริงทีเดียว! อันที่จริง พระยะโฮวาทรงให้เรามากกว่าที่เราจำเป็นต้องมีต้องใช้. อย่างเช่น ปี 1958 ผมได้รับเลือกเป็นตัวแทนหมวดของเราที่จะเข้าร่วมการประชุมนานาชาติในนิวยอร์ก. แต่เราไม่มีเงินซื้อตั๋วเดินทางสำหรับโรซา. เย็นวันหนึ่ง บราเดอร์คนหนึ่งยื่นซองให้เราพร้อมกับเขียนหน้าซองว่า “นิวยอร์ก.” ของขวัญที่แนบมาในซองนั้นทำให้โรซาสามารถเดินทางไปกับผมได้!
ผมกับโรซาไม่นึกเสียดายเวลาหลายปีที่เราได้ใช้ไปในงานรับใช้พระยะโฮวา. เราไม่สูญเสียสิ่งใด ทว่าได้ทุกสิ่งมา นั่นคือชีวิตที่น่าพอใจและมีความสุขในงานรับใช้เต็มเวลา. พระยะโฮวาเป็นพระเจ้าที่ดีน่าพิศวงอะไรเช่นนั้น. เราได้มาเรียนรู้ที่จะไว้วางใจพระองค์เต็มที่ และความรักของเราต่อพระองค์ยิ่งลึกซึ้งมากขึ้น. พี่น้องคริสเตียนบางคนต้องสละชีวิตเพื่อรักษาความซื่อสัตย์มั่นคงของเขา. อย่างไรก็ดี ผมเชื่อว่าตลอดหลายปี คนเราสามารถเสียสละตัวเองทำงานรับใช้พระยะโฮวาได้วันต่อวัน. นี่แหละเป็นสิ่งที่ผมและโรซาได้บากบั่นทำเรื่อยมาจนบัดนี้ และเป็นสิ่งที่เราตั้งใจจะทำเช่นกันในอนาคต.
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 14 ชีวประวัติของหลุยส์ เพียโคตา “ผมมีชีวิตรอดจาก ‘ทางเดินมรณะ’ ” ปรากฏในหอสังเกตการณ์ฉบับ 15 มีนาคม 1981.
[ภาพหน้า 20]
ฟรองซัวกับอันนา ซูมีกาพร้อมกับบุตรของเขา, สเตฟานี, สเตฟาน, เมลานี, และแมเรียน ประมาณปี 1930. แมเรียนยืนบนม้านั่ง
[ภาพหน้า 22]
ภาพบน: เสนอสิ่งพิมพ์เกี่ยวกับพระคัมภีร์ที่แผงลอยในตลาด เมืองอาร์เมนตีแอร์ทางเหนือของฝรั่งเศส เมื่อปี 1950
[ภาพหน้า 22]
ภาพซ้าย: สเตฟาน เบฮุนิกกับแมเรียน ในปี 1950
[ภาพหน้า 23]
แมเรียนกับโรซาก่อนวันแต่งงาน
[ภาพหน้า 23]
โรซา (คนซ้ายสุด) กับอีแรน คู่ไพโอเนียร์ (คนที่สี่จากซ้าย) โฆษณาการประชุมใหญ่ปี 1951
[ภาพหน้า 23]
การเดินทางเยี่ยมหมวดส่วนใหญ่ใช้รถจักรยาน