เยี่ยมชมขุมทรัพย์ของเชสเตอร์ บีตที
เยี่ยมชมขุมทรัพย์ของเชสเตอร์ บีตที
“เป็นขุมทรัพย์ของอารยธรรมมากมายที่สูญหายไป . . . มีจิตรกรรมขนาดจิ๋วและภาพวาดอันงดงามที่น่าตื่นตาตื่นใจ.” นี่เป็นข้อสรุปสั้น ๆ ของ อาร์. เจ. แฮเยส อดีตผู้ดูแลห้องสมุดเชสเตอร์ บีตทีในเมืองดับลิน ประเทศไอร์แลนด์. ที่นั่นเป็นสถานที่เก็บรวบรวมของโบราณอันล้ำค่า, งานศิลปะที่งดงาม, รวมทั้งหนังสือและเอกสารที่หายากซึ่งแทบจะประเมินค่ามิได้. ถ้าอย่างนั้น เชสเตอร์ บีตทีเป็นใคร? และเขาเก็บสมบัติอะไรไว้?
อัลเฟรด เชสเตอร์ บีตทีเกิดเมื่อปี 1875 ในนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา โดยมีเชื้อสายสกอต, ไอริช, และอังกฤษ. เมื่ออายุ 32 ปี เขามีฐานะมั่งคั่งเนื่องจากเป็นวิศวกรและที่ปรึกษาของเหมืองแร่แห่งหนึ่ง. ตลอดชีวิต เขาใช้เงินทองมหาศาลของเขาเพื่อสะสมของต่าง ๆ ที่งดงามและดีเยี่ยม. เมื่อเขาเสียชีวิตในปี 1968 ขณะอายุได้ 92 ปี บีตทีละของที่เขาเก็บรวบรวมทั้งหมดไว้ให้ประชาชนในไอร์แลนด์.
เขาสะสมอะไรบ้าง?
ของสะสมของบีตทีมีมากมายและหลากหลาย. ของที่จัดแสดงในคราวหนึ่งมีเพียง 1 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น. เขารวบรวมของหายากและมีค่าจากยุคต่าง ๆ และมีวัฒนธรรมยาวนานหลายพันปี—นับตั้งแต่ยุคกลางและยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาของยุโรป และของอีกมากมายจากประเทศต่าง ๆ แถบเอเชียและแอฟริกา. ตัวอย่างเช่น แม่พิมพ์ไม้ของญี่ปุ่นซึ่งงดงามไม่มีที่ติ ถือเป็นหนึ่งในชิ้นงานสะสมที่ดีที่สุดในโลก.
ของสะสมที่น่าทึ่งซึ่งแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงกับงานวิจิตรศิลป์คือ แผ่นดินเหนียวมากกว่าร้อยชิ้นที่จารึกอักษรรูปลิ่มโบราณของบาบิโลนและซูเมอเรียน. ผู้คนที่อาศัยในเมโสโปเตเมียมากกว่า 4,000 ปีมาแล้วได้จารึกเรื่องราวชีวิตของตนอย่างละเอียดลงบนแผ่นดินเหนียวเปียก แล้วนำไปอบ. แผ่นดินเหนียวหลายแผ่นที่อยู่รอดจนถึงทุกวันนี้ทำให้เราเห็นหลักฐานที่ชัดเจนว่า ศิลปะการเขียนในสมัยโบราณเป็นอย่างไร.
หลงใหลหนังสือ
ดูเหมือนว่า เชสเตอร์ บีตทีหลงใหลศิลปะการทำหนังสือชั้นดี. เขาสะสมหนังสือทั่วไปและหนังสือทางศาสนาหลายพันชุด รวมทั้งอัลกุรอานที่ตกแต่งอย่างประณีตบางเล่ม. ผู้เขียนคนหนึ่งกล่าวว่า เขา “หลงใหลสัดส่วนทางคณิตศาสตร์ของตัวเขียนภาษาอาหรับ . . . และอักขระที่ถูกตกแต่งให้งดงามด้วยแผ่นทองคำและเงินทั้งแร่ต่าง ๆ ที่แวววาวก็ยิ่งปลุกเร้าความประทับใจของเขาในเรื่องสีสัน.”
เชสเตอร์ บีตทีคลั่งไคล้หยกเช่นเดียวกับจักรพรรดิบางองค์ของจีนในศตวรรษก่อน ๆ. จักรพรรดิเหล่านั้นถือว่า หยกชั้นเยี่ยมล้ำค่ากว่าแร่อื่นทุกชนิด มีค่ายิ่งกว่าทองคำมากนัก. ผู้ปกครองเหล่านี้มอบหมายให้ช่างฝีมือที่มีความชำนาญสกัดก้อนหยกให้เป็นแผ่นเรียบและบาง. ต่อมา ช่างศิลป์ที่มีพรสวรรค์จะสลักตัวอักษรที่ประณีตและภาพประกอบลงบนแผ่นหยกโดยใช้ทองคำ จึงเป็นการผลิตหนังสือที่น่าทึ่งที่สุดเท่าที่มีการทำขึ้นมา. หนังสือที่บีตทีสะสมจึงมีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลก.
สำเนาคัมภีร์ไบเบิลที่ประเมินค่ามิได้
สำหรับคนที่รักคัมภีร์ไบเบิลแล้ว สมบัติที่มีค่ามากที่สุดของเชสเตอร์ บีตทีคือสำเนาคัมภีร์ไบเบิลสมัยโบราณและในยุคกลางที่เขาเก็บสะสมไว้มากมาย. ฉบับสำเนาเหล่านี้ที่มีภาพประกอบที่สวยงามสะท้อนถึงความอดทนและความสามารถในเชิงศิลป์ของอาลักษณ์ผู้คัดลอกด้วยมือ. ส่วนที่พิมพ์เป็นเล่มก็แสดงให้เห็นถึงความเชี่ยวชาญและฝีมือของการเย็บเล่มและช่างพิมพ์ในยุคต้น ๆ. ตัวอย่างเช่น บิบลิอา ลาตินา ที่พิมพ์ในนือเรมแบร์กปี 1479 โดย
อันโทน โคเบอร์เกอร์ซึ่งมีชีวิตอยู่ในสมัยเดียวกับโยฮันเนส กูเทนแบร์กได้รับการพรรณนาว่าเป็น “หนึ่งในช่างพิมพ์ที่สำคัญที่สุดและทำงานหนักที่สุดในหมู่ช่างพิมพ์ช่วงแรก ๆ.”ของที่โดดเด่นชิ้นหนึ่งซึ่งนำมาแสดงในห้องสมุดเชสเตอร์ บีตทีคือฉบับสำเนาหนังลูกวัวที่ทำขึ้นในช่วงต้นศตวรรษที่สี่โดยอีแฟรเอม ผู้คงแก่เรียนชาวซีเรีย. อีแฟรเอมอ้างอิงถ้อยคำมากมายจากงานเขียนในสมัยศตวรรษที่สองที่เรียกกันว่าดิอาเทสซาโรน. ภายในเล่ม ผู้เขียนคือทาทิอานได้รวมเอากิตติคุณทั้งสี่เล่มซึ่งเป็นเรื่องราวชีวิตของพระเยซูคริสต์ไว้เป็นเรื่องเดียว. ต่อมา ผู้เขียนหลายคนอ้างถึงดิอาเทสซาโรน แต่ไม่มีสำเนาสักฉบับเดียวหลงเหลืออยู่. ผู้คงแก่เรียนบางคนในสมัยศตวรรษที่ 19 เคยสงสัยว่าหนังสือเล่มนี้เคยมีอยู่จริงหรือไม่. อย่างไรก็ตาม ในปี 1956 บีตทีค้นพบอรรถาธิบายดิอาเทสซาโรน ของทาทิอานโดยอีแฟรเอม—ซึ่งเป็นการค้นพบที่เสริมหลักฐานที่มีอยู่ของความน่าเชื่อถือและความจริงของคัมภีร์ไบเบิล.
ต้นฉบับที่เขียนบนพาไพรัส สมบัติอันประเมินค่ามิได้
บีตทียังเก็บสะสมต้นฉบับที่เขียนบนพาไพรัสไว้มากมายทั้งที่เกี่ยวกับศาสนาและทั่วไป. โคเดกซ์ที่เขียนบนพาไพรัสมากกว่า 50 ฉบับมีอายุเก่าแก่ย้อนไปถึงก่อนศตวรรษที่สี่สากลศักราช. พาไพรัสเหล่านี้บางชิ้นเหลือรอดมาจากพาไพรัสที่กองทับถมกันมากมาย—ส่วนใหญ่กองเป็นเศษกระดาษ—ซึ่งไม่มีการค้นพบนานหลายศตวรรษในทะเลทรายอียิปต์. เอกสารพาไพรัสมากมายมีสภาพเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยเมื่อนำมาวางขาย. พ่อค้าจะมาพร้อมกับนำกล่องกระดาษที่เต็มไปด้วยพาไพรัสชิ้นเล็กชิ้นน้อย. ชาลส์ ฮอร์ตัน ผู้ดูแลห้องสมุดเชสเตอร์ บีตทีในส่วนของสะสมทางตะวันตกกล่าวว่า “คนที่สนใจซื้อพาไพรัสก็จะล้วงมือลงไปหยิบชิ้นใหญ่ที่สุดซึ่งมีตัวอักษรมากที่สุดขึ้นมา.”
ฮอร์ตันกล่าวว่า “การค้นพบที่น่าทึ่งที่สุด” ของบีตทีประกอบด้วยโคเดกซ์หรือสำเนาต้นฉบับคัมภีร์ไบเบิลอันล้ำค่าซึ่งมี “สำเนาคัมภีร์คริสเตียนภาคพันธสัญญาเก่าและใหม่ที่เก่าแก่ที่สุดรวมอยู่ด้วย.” พวกพ่อค้าที่รู้ถึงคุณค่าของโคเดกซ์เหล่านี้ก็อาจแยกเป็นส่วน ๆ เพื่อขายให้แก่ผู้ซื้อหลาย ๆ คน. อย่างไรก็ตาม บีตทีสามารถซื้อส่วนใหญ่ของโคเดกซ์เหล่านี้ได้. โคเดกซ์เหล่านี้สำคัญขนาดไหน? เซอร์ เฟรเดอริก เคนยอนพรรณนาการค้นพบนี้ว่าเป็น “การค้นพบที่ยิ่งใหญ่ที่สุด” นับตั้งแต่ทิเชินดอร์ฟค้นพบโคเดกซ์ไซนายติกุสในปี 1844.
โคเดกซ์เหล่านี้มีอายุระหว่างศตวรรษที่สองและสี่สากลศักราช. ท่ามกลางพระธรรมต่าง ๆ ของพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูในฉบับกรีกเซปตัวจินต์นี้ มีสำเนาเยเนซิศรวมอยู่ด้วยสองฉบับ. เคนยอนกล่าวว่า สำเนาเหล่านี้มีคุณค่าเป็นพิเศษ “เนื่องจากส่วนใหญ่ของพระธรรม [เยเนซิศ] ไม่มีในวาติกานุสและไซนายติกุส” ซึ่งเป็นฉบับสำเนาหนังลูกวัวในศตวรรษที่สี่. โคเดกซ์สามฉบับบรรจุพระธรรมต่าง ๆ ของพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีก. ฉบับหนึ่งมีส่วนใหญ่ของกิตติคุณทั้งสี่และของพระธรรมกิจการ. โคเดกซ์ฉบับที่สอง ซึ่งต่อมาบีตทีได้พาไพรัสเพิ่มเติมมาอีกนั้น มีสำเนาจดหมายของอัครสาวกเปาโลเกือบครบชุด รวมทั้งจดหมายของท่านถึงชาวฮีบรูด้วย. โคเดกซ์ฉบับที่สามบรรจุประมาณหนึ่งในสามของพระธรรมวิวรณ์. ตามที่เคนยอนกล่าวไว้ พาไพรัสเหล่านี้ “เสริมความหนักแน่นแก่พื้นฐาน—ที่เข้มแข็งมากอยู่แล้ว—สำหรับความมั่นใจในข้อความของคัมภีร์ภาคพันธสัญญาใหม่ที่เรามีอยู่ในปัจจุบัน.”
คัมภีร์ไบเบิลที่เขียนบนพาไพรัสของเชสเตอร์ บีตทีแสดงให้เห็นว่า คริสเตียนเริ่มต้นใช้โคเดกซ์ หรือหนังสือที่
เปิดเป็นหน้า แทนที่ม้วนหนังสือเทอะทะในสมัยแรกเริ่ม อาจเป็นก่อนช่วงปลายศตวรรษแรกสากลศักราช. นอกจากนี้ พาไพรัสต่าง ๆ ยังแสดงให้เห็นว่า เนื่องจากวัสดุที่ใช้ในการเขียนขาดแคลน ผู้คัดลอกจึงมักจะนำแผ่นพาไพรัสเก่ากลับมาใช้ใหม่. ตัวอย่างเช่น ฉบับสำเนาคอปติกซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกิตติคุณโยฮันถูกเขียน “ลงในสิ่งที่ดูเหมือนว่าเป็นสมุดแบบฝึกหัดของโรงเรียนเกี่ยวกับวิชาคำนวณของกรีก.”เอกสารพาไพรัสเหล่านี้ไม่ค่อยสวยงามเท่าไรนัก แต่ก็ไม่อาจตีราคาได้. เอกสารเหล่านี้เป็นหลักฐานที่เห็นได้ด้วยตาซึ่งเชื่อมโยงไปยังตอนเริ่มต้นของศาสนาคริสเตียน. ชาลส์ ฮอร์ตันกล่าวว่า “ตรงหน้าคุณทีเดียว คุณจะเห็นรูปแบบของหนังสือที่ชุมชนคริสเตียนในยุคแรกสุดใช้—หนังสือซึ่งพวกเขาถือว่าล้ำค่า.” (สุภาษิต 2:4, 5) หากคุณมีโอกาสเยี่ยมชมขุมทรัพย์ในห้องสมุดเชสเตอร์ บีตที คุณจะไม่ผิดหวังเลย.
[ภาพหน้า 31]
แม่พิมพ์ไม้ของญี่ปุ่นโดยคัทสึชิกะ โฮกุไซ
[ภาพหน้า 31]
“บิบลิอา ลาตินา” เป็นหนึ่งในคัมภีร์ไบเบิลฉบับที่พิมพ์ขึ้นที่เก่าแก่ที่สุด
[ภาพหน้า 31]
อรรถาธิบาย “ดิอาเทสซาโรน” ของทาทิอานโดยอีแฟรเอมเสริมความน่าเชื่อถือของคัมภีร์ไบเบิล
[ภาพหน้า 31]
เชสเตอร์ บีตที พี 45 เป็นหนึ่งในโคเดกซ์ที่เก่าแก่ที่สุดในโลก บรรจุส่วนใหญ่ของกิตติคุณทั้งสี่และของพระธรรมกิจการไว้ในฉบับเดียว
[ที่มาของภาพหน้า 29]
Reproduced by kind permission of The Trustees of the Chester Beatty Library, Dublin
[ที่มาของภาพหน้า 31]
All images: Reproduced by kind permission of The Trustees of the Chester Beatty Library, Dublin