การเรียนรู้อันยาวนานตลอดชีวิต
เรื่องราวชีวิตจริง
การเรียนรู้อันยาวนานตลอดชีวิต
เล่าโดยแฮโรลด์ กลูยัส
ผมยังจำเหตุการณ์สมัย 70 กว่าปีมาแล้วตอนที่ยังเด็ก. ผมนั่งอยู่ในห้องครัวของแม่ มองดูภาพฉลากยี่ห้อ “ชาซีลอน.” ฉลากมีรูปผู้หญิงสองสามคนเด็ดใบชาในไร่เขียวชอุ่มแห่งซีลอน (ศรีลังกาในปัจจุบัน). ภาพที่จุดประกายจินตนาการของผมอยู่ห่างไกลมากจากบ้านของเราในที่แห้งแล้งแห่งรัฐเซาท์ออสเตรเลีย. ซีลอนคงต้องเป็นดินแดนที่สวยงามน่าตื่นเต้นสักเพียงใด! ตอนนั้นผมไม่มีทางรู้เลยว่าผมจะใช้ชีวิต 45 ปีฐานะผู้เผยแพร่ต่างแดนบนเกาะที่งามวิจิตรแห่งนี้.
ผมเกิดในเดือนเมษายน 1922 โลกสมัยนั้นต่างจากโลกสมัยนี้มาก. ครอบครัวของเราทำไร่จำพวกข้าวอยู่โดดเดี่ยวใกล้เมืองคิมบาอันห่างไกล ซึ่งอยู่ตรงจุดกึ่งกลางของทวีปออสเตรเลียอันไพศาลและสุดเขตทางใต้ของทะเลทรายผืนใหญ่. ชีวิตแวดล้อมด้วยภยันตราย, ผจญภาวะฝนแล้ง, ผจญภัยพิบัติจากแมลง, อีกทั้งอากาศร้อนระอุ. แม่ทำงานหนักเพื่อดูแลพ่อและเลี้ยงลูกหกคนในบ้านกลางป่า ซึ่งจริง ๆ แล้วบ้านก็คือกระต๊อบสังกะสีหลังเล็ก ๆ.
แต่สำหรับผม ชนบทห่างไกลทำให้ผมมีอิสระและมีเรื่องตื่นเต้น. ตอนเป็นเด็กหนุ่ม ผมจำเหตุการณ์ที่น่าครั่นคร้าม ผมได้เห็นวัวตัวผู้หลายตัวผูกเข้ากับคราดไถลากต้นวัชพืชขณะเดียวกันก็ปราบดินให้โล่งเตียน หรือเสียงพายุดังกึกก้องพัดฝุ่นลงมากลบทั่วชนบท. ดังนั้น การเรียนรู้ของผมจริง ๆ แล้วได้เริ่มขึ้นนานก่อนผมเข้าเรียนในโรงเรียนเล็ก ๆ มีครูเพียงคนเดียว และระยะทางห่างจากบ้านไปราว ๆ 5 กิโลเมตร.
พ่อแม่ผมเป็นคนเคร่งศาสนา แม้ไม่ได้ไปโบสถ์ สาเหตุหลักก็เพราะหนทางจากไร่เข้าไปในเมืองเป็นระยะไกล. กระนั้นก็ดี ช่วงต้นทศวรรษ 1930 แม่เริ่มสนใจฟังรายการที่จัดจ์ รัทเทอร์ฟอร์ดได้บรรยายเรื่องต่าง ๆ ที่ยึดพระคัมภีร์
เป็นหลัก ออกอากาศจากสถานีวิทยุในเมืองแอดิเลดทุกสัปดาห์. ผมคิดว่าจัดจ์ รัทเทอร์ฟอร์ดเป็นแค่นักเทศน์ในเมืองแอดิเลด จึงไม่ค่อยสนใจเท่าไรนัก. แต่ทุกสัปดาห์แม่คอยอย่างกระตือรือร้นเพื่อฟังคำบรรยายออกอากาศของรัทเทอร์ฟอร์ด และตั้งอกตั้งใจฟังเมื่อเสียงพูดของท่านลอดออกมาจากเครื่องรับวิทยุรุ่นโบราณใช้แบตเตอรี่.บ่ายวันหนึ่งอากาศร้อน ฝุ่นตลบ รถกระบะเก่าคันหนึ่งได้มาจอดที่หน้าบ้านของเรา และผู้ชายสองคนแต่งตัวดีก้าวลงจากรถ. ทั้งสองเป็นพยานพระยะโฮวา. แม่รับฟังข่าวสารจากเขาและได้บริจาคเงินเป็นค่าบำรุงหนังสือหลายเล่มทีเดียว ซึ่งแม่ก็เริ่มอ่านทันที. เมื่อได้อ่านหนังสือเหล่านั้น แม่รู้สึกประทับใจมากจนขอให้พ่อขับรถพาไปหาเพื่อนบ้านใกล้เคียงโดยไม่รอช้า ทั้งนี้เพื่อจะได้พูดคุยกับคนเหล่านั้นด้วยเรื่องต่าง ๆ ที่แม่กำลังเรียนรู้อยู่.
ประโยชน์ของการจูงใจในทางที่ดี
ไม่นานหลังจากนั้น ความทุรกันดารของสภาพแวดล้อมในชนบทห่างไกลทำให้เราจำต้องย้ายไปยังเมืองแอดิเลด ซึ่งอยู่ห่างออกไป 500 กิโลเมตร. ครอบครัวของเราเริ่มติดต่อกับพยานพระยะโฮวาในประชาคมแอดิเลดและก้าวหน้าฝ่ายวิญญาณ. นอกจากนั้น การที่เราย้ายถิ่นที่อยู่ทำให้ผมต้องหยุดเรียน. ผมเลิกไปโรงเรียนเมื่ออายุ 13 ปี หลังจากเรียนจบประถมเจ็ด. นิสัยผมเป็นคนไม่ทุกข์ไม่ร้อน ซึ่งอาจทำให้ผมเลิกติดตามแสวงหาสิ่งฝ่ายวิญญาณได้อย่างง่ายดาย หากไม่ได้รับการช่วยเหลือของพี่น้องดี ๆ หลายคน—ไพโอเนียร์หรือผู้รับใช้เต็มเวลา—ซึ่งได้เอาใจใส่ผมเป็นส่วนตัว.
เมื่อเวลาผ่านไป อิทธิพลของพี่น้องที่มีใจแรงกล้าเหล่านี้กลายเป็นแรงกระตุ้นสภาพฝ่ายวิญญาณที่แฝงเร้นอยู่ภายใน. ผมชอบที่ได้อยู่ในวงสมาคมของพี่น้องเหล่านั้นและนิยมชมชอบน้ำใจของเขาที่ทำการงานอย่างขยันขันแข็ง. ดังนั้น เมื่อมีการแถลงคำประกาศสนับสนุนงานรับใช้ประเภทเต็มเวลา ณ การประชุมใหญ่ที่แอดิเลดในปี 1940 ผมประหลาดใจที่ได้เสนอชื่อตัวเอง. ตอนนั้นผมยังไม่รับบัพติสมาและไม่ค่อยจะมีประสบการณ์ในการให้คำพยาน. กระนั้นก็ดี หลังจากนั้นไม่กี่วัน ผมได้รับเชิญให้สมทบกับไพโอเนียร์กลุ่มเล็ก ๆ ที่เมืองวารร์นัมบูลาในวิกทอเรียรัฐใกล้เคียง อยู่ห่างจากเมืองแอดิเลดประมาณ 800 กิโลเมตร.
ทั้ง ๆ ที่เริ่มต้นอย่างไม่แน่ใจ แต่ในไม่ช้าผมก็ได้พัฒนาความรักที่มีต่องานรับใช้ ความรักที่ผมยินดีจะบอกว่าไม่เคยลดน้อยถอยลงตลอดหลายปี. อันที่จริง มันเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญสำหรับผม และผมเริ่มก้าวหน้าฝ่ายวิญญาณอย่างแท้จริง. ผมได้มารู้จักคุณค่าของการอยู่ใกล้ชิดคนเหล่านั้นซึ่งมีความรักต่อสิ่งฝ่ายวิญญาณ. ผมพบว่าอิทธิพลที่ดีของพวกเขาสามารถนำเอาสิ่งที่ดีที่สุดในตัวเราออกมาได้ ไม่ว่าเราจะมีการศึกษาระดับไหน และสิ่งที่เราเรียนรู้ทางนี้จะเป็นประโยชน์แก่เราตลอดชีวิตอย่างไร.
การทดลองเสริมกำลังให้เข้มแข็ง
ผมเพิ่งทำงานรับใช้ฐานะไพโอเนียร์ได้ระยะหนึ่งเมื่อมีการสั่งห้ามงานของพยานพระยะโฮวาในออสเตรเลีย. โดย
ไม่แน่ใจว่าควรทำประการใด ผมจึงแสวงหาคำแนะนำจากพี่น้อง ซึ่งได้ชี้แจงว่าไม่มีการสั่งห้ามการพูดคุยเรื่องพระคัมภีร์กับประชาชน. ดังนั้น ผมกับเพื่อนไพโอเนียร์บางคนจึงออกไปตามบ้านเรือนเสนอข่าวสารของคัมภีร์ไบเบิลอย่างที่เข้าใจได้ง่าย. การทำแบบนี้เสริมกำลังผมให้เข้มแข็งเพื่อเผชิญการทดลองที่รออยู่ข้างหน้า.สี่เดือนถัดมา อายุผมครบ 18 ปี และมีหมายเรียกให้รายงานตัวเข้ารับราชการทหาร. เรื่องนี้เปิดโอกาสให้ผมได้สู้คดีปกป้องความเชื่อต่อหน้าทหารหลายนายและผู้พิพากษาตัดสินความท่านหนึ่ง. ช่วงนั้นพี่น้องชายประมาณ 20 คนถูกคุมขังในคุกที่เมืองแอดิเลดเนื่องด้วยความเป็นกลางของพวกเขา และไม่นานผมก็สมทบกับเขา. พวกเราถูกส่งเข้าค่ายแรงงาน, ทำงานในเหมืองหินและซ่อมแซมถนนหนทาง. สิ่งนี้ได้ช่วยผมพัฒนาคุณลักษณะต่าง ๆ เป็นต้นว่า ความอดทนและความตั้งใจแน่วแน่. ความประพฤติที่ดีและการยืนหยัดมั่นคงของเรามีผลทำให้ผู้คุมหลายคนนับถือพวกเรา.
เมื่อผมได้รับการปล่อยตัวหลายเดือนต่อมา ผมชื่นชมเมื่อได้รับประทานอาหารมื้ออร่อย ๆ แล้วเริ่มงานไพโอเนียร์อีกทันที. แต่หาเพื่อนไพโอเนียร์ทำงานด้วยกันไม่ค่อยจะได้ ดังนั้น มีคนถามผมว่าจะทำงานตามลำพังได้ไหมในเขตพื้นที่ทำการเพาะปลูกอันห่างไกลในรัฐเซาท์ออสเตรเลีย. ผมรับคำและออกเดินทางโดยเรือไปยังแหลมยอร์ก สิ่งที่ผมเอาติดตัวไปด้วยก็มีเครื่องใช้สำหรับงานประกาศและจักรยานหนึ่งคัน. เมื่อไปถึง ครอบครัวผู้สนใจชี้ทางให้ผมไปพักที่ห้องเช่าค้างคืน ซึ่งสุภาพสตรีใจดีคนหนึ่งปฏิบัติต่อผมเหมือนผมเป็นลูก. ระหว่างช่วงกลางวัน ผมถีบจักรยานไปบนถนนไม่ลาดยาง ประกาศให้คำพยานตามเมืองเล็ก ๆ ที่กระจายอยู่ทั่วแหลม. เพื่อจะประกาศได้ทั่วถึงในพื้นที่ห่างไกล ผมพักค้างคืนเป็นครั้งคราวในโรงแรมเล็ก ๆ หรือห้องเช่าค้างคืน. โดยวิธีนี้ ผมปั่นจักรยานเป็นระยะทางหลายร้อยกิโลเมตรและมีประสบการณ์ดี ๆ มากมาย. ผมไม่เคยคิดกังวลเกินเหตุที่ทำงานรับใช้ตามลำพัง และตราบที่ผมมีประสบการณ์ได้รับการดูแลจากพระยะโฮวา ผมก็ยิ่งเข้าใกล้พระองค์มากขึ้น.
จัดการกับความรู้สึกที่ว่าตนขาดคุณสมบัติ
ในปี 1946 ผมได้จดหมายเชิญให้รับงานเดินทางเยี่ยมพวกพี่น้อง (ปัจจุบันคือผู้ดูแลหมวด). งานนี้รวมเอาการไปเยี่ยมประชาคมต่าง ๆ ในหมวดตามที่ถูกมอบหมาย. ผมต้องยอมรับว่าหน้าที่รับผิดชอบหลายอย่างสืบเนื่องจากการมอบหมายนี้เป็นการท้าทายจริง ๆ. วันหนึ่ง บังเอิญผมได้ยินบราเดอร์คนหนึ่งพูดว่า “แฮโรลด์ไม่ถนัดจะเป็นผู้บรรยายบนเวที ทว่าทำได้ดีด้านงานประกาศให้คำพยาน.” คำวิจารณ์นี้ทำให้ผมได้กำลังใจขึ้นมามาก. ผมรู้ดีว่าผมมีข้อจำกัดในการบรรยายและการจัดระเบียบ แต่ผมเชื่อมั่นว่างานประกาศเป็นกิจกรรมหลักสำหรับคริสเตียน.
ปี 1947 นับว่าเป็นความตื่นเต้นดีใจขนานใหญ่เมื่อบราเดอร์นาทาน นอรร์และบราเดอร์มิลตัน เฮนเชลจากสำนักงานใหญ่ของพยานพระยะโฮวาในบรุกลินมาเยี่ยมออสเตรเลีย. คราวนี้เป็นการเยี่ยมครั้งแรกจากสำนักงานใหญ่ หลังจากที่บราเดอร์รัทเทอร์ฟอร์ดได้มาเยี่ยมในปี 1938. พร้อมกับการเยี่ยมคราวนี้ก็ได้มีการจัดการประชุมใหญ่ในซิดนีย์. เช่นเดียวกับไพโอเนียร์หนุ่มสาวหลายคน ผมสนใจการฝึกอบรมมิชชันนารี ณ โรงเรียนว็อชเทาเวอร์ไบเบิลแห่งกิเลียดซึ่งเพิ่งเปิดได้ไม่นานในเซาท์แลนซิง รัฐนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา. พวกเราหลายคนที่ร่วมประชุมต่างก็ฉงนว่า
ทางโรงเรียนรับสมัครโดยวางเงื่อนไขกำหนดว่าต้องมีระดับการศึกษาสูงหรือไม่. แต่บราเดอร์นอรร์ชี้แจงว่าถ้าเราสามารถอ่านบทความในวารสารหอสังเกตการณ์ และจำจุดสำคัญได้ การเรียนที่กิเลียดไม่น่าเป็นปัญหา.ผมรู้สึกว่าการไม่ได้เรียนสูงอาจทำให้ผมขาดคุณสมบัติ. ไม่กี่เดือนต่อมา ผมประหลาดใจเมื่อเขาให้ผมกรอกใบสมัครเพื่อเข้ารับการฝึกอบรมที่กิเลียด. ครั้นแล้วผมก็ถูกรับเป็นนักเรียนรุ่นที่ 16 ในปี 1950. การเข้าโรงเรียนเป็นประสบการณ์อันแสนวิเศษ ทำให้ผมมีความมั่นใจมากขึ้น. ผมเห็นประจักษ์แล้วว่าการประสบความสำเร็จด้านการเรียนฝ่ายโลกหาใช่ปัจจัยสำคัญของความสำเร็จไม่. ข้อเรียกร้องหลักคือความขยันหมั่นเพียรและการเชื่อฟังต่างหาก. คณะผู้สอนพูดให้กำลังใจพวกเราให้ทำดีที่สุด. ตราบเท่าที่ผมเชื่อฟังคำแนะนำของท่านเหล่านั้น ผมก้าวหน้าอย่างสม่ำเสมอและสามารถตามทันหลักสูตรการสอนได้ดีทีเดียว.
จากออสเตรเลียไปอยู่ศรีลังกา
ภายหลังจบหลักสูตร ผมพร้อมกับบราเดอร์สองคนจากออสเตรเลียได้รับมอบหมายไปซีลอน (ศรีลังกาในปัจจุบัน). พวกเรามาถึงกรุงโคลัมโบเมืองหลวงในเดือนกันยายน 1951. วันนั้นอากาศชื้นและอบอ้าว และภาพที่เพิ่งมาเห็นระคนปนกันกับสรรพสำเนียงและกลิ่นจรุงจู่โจมประสาททั้งห้าของเรา. ขณะที่เราลงจากเรือ มิชชันนารีชายคนหนึ่งซึ่งปฏิบัติงานในประเทศนี้อยู่แล้วได้มาต้อนรับผม และยื่นใบปลิวโฆษณาการบรรยายสาธารณะที่จะมีขึ้น ณ จัตุรัสกลางเมืองในวันอาทิตย์ถัดไป. มันกะทันหันเหลือเกิน ชื่อผมอยู่บนใบปลิวแล้ว—เป็นผู้บรรยายเสียด้วย! คุณคงพอจะนึกภาพความหวั่นวิตกของผมได้. แต่การเป็นไพโอเนียร์หลายปีในออสเตรเลียได้สอนผมให้ยอมรับงานใด ๆ ก็ตามที่ได้รับมอบหมายให้ทำ. ดังนั้น ด้วยความช่วยเหลือจากพระยะโฮวา การบรรยายสาธารณะวันนั้นประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี. เวลานั้น พวกเราอยู่กับมิชชันนารีหนุ่มอีกสี่คนที่ได้อยู่ก่อนแล้วที่บ้านมิชชันนารีในกรุงโคลัมโบ. เราสามคนที่มาใหม่เริ่มขบคิดปัญหาภาษาสิงหลและออกไปประกาศในเขตงาน. เรามักจะทำงานตามลำพังเป็นส่วนใหญ่ และชื่นชมที่พบปะผู้คนในท้องถิ่นซึ่งต้อนรับเราด้วยความนับถือและโอบอ้อมอารี. ในเวลาไม่นาน ผู้เข้าร่วมประชุมเริ่มมีจำนวนมากขึ้น.
เมื่อเวลาผ่านไป ผมเริ่มคิดจริงจังเกี่ยวกับไพโอเนียร์หญิงที่มีเสน่ห์ชื่อซิบิล ซึ่งผมพบระหว่างทางไปโรงเรียนกิเลียดโดยเรือเดินทะเล. ตอนนั้นเธอเดินทางเข้าร่วมการประชุมนานาชาติที่นิวยอร์ก. ภายหลัง เธอได้เข้าโรงเรียนกิเลียดรุ่นที่ 21 และถูกมอบหมายไปทำงานที่ฮ่องกงในปี 1953. ผมตัดสินใจเขียนจดหมายไปหาเธอ และเราติดต่อกันทางจดหมายเรื่อยมากระทั่งปี 1955 เมื่อซิบิลได้สมทบกับผมในซีลอน และเราก็แต่งงานกัน.
เขตงานแรกที่เราทำงานด้วยกันฐานะสามีภรรยาคือเมืองจัฟฟ์นา ตอนเหนือของประเทศศรีลังกา. พอกลางทศวรรษ 1950 เริ่มเกิดความตึงเครียดแตกแยกกันด้านการเมืองระหว่างชาวสิงหลและทมิฬ จนกลายเป็นสงครามต่อสู้กันในช่วงหลายสิบปีต่อมา. ช่างเป็นความอบอุ่นใจเสียนี่กระไรที่เห็นพยานฯ ชาวสิงหลและทมิฬปกป้องภัยให้กันและกันเป็นเวลาหลายเดือนในระหว่างหลายปีที่ยุ่งยากลำบาก! ความทุกข์ลำบากต่าง ๆ ในช่วงนั้นได้ปรับปรุงความเชื่อของพวกพี่น้องและเสริมให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น.
การเผยแพร่และการสอนในศรีลังกา
การปรับตัวให้เข้ากันได้กับชาวฮินดูและมุสลิมจำต้องใช้ความอดทนและอุตสาหะพากเพียร. ถึงกระนั้น เราได้มาเริ่ม
เข้าใจวัฒนธรรมของทั้งสองฝ่าย อีกทั้งลักษณะนิสัยที่น่ารักของพวกเขา. เนื่องจากไม่ใช่เรื่องปกติที่เห็นฝรั่งขึ้นรถโดยสารประจำทาง ไม่ว่าเราไปทางไหน ผู้คนมักจ้องมองเราด้วยความอยากรู้อยากเห็น. ซิบิลตัดสินใจว่าเธอจะยิ้มกว้างตอบสนอง. น่าชื่นชมจริง ๆ เมื่อเห็นสีหน้าของคนเหล่านั้นซึ่งเคยฉงนสนเท่ห์ตอบรับเราด้วยรอยยิ้มสวย ๆ บนใบหน้า!คราวหนึ่ง ณ ด่านตรวจริมถนน เราถูกห้ามเดินทางต่อ. หลังจากยามรักษาการณ์ซักถามเราว่ามาจากไหน และกำลังจะไปไหน แล้วเขาก็วกมาถามเรื่องส่วนตัว.
“ผู้หญิงคนนี้เป็นใคร?”
ผมตอบว่า “เป็นภรรยาของผม”
“แต่งงานกันนานเท่าไร?”
“แปดปี”
“มีบุตรไหม?”
“ไม่มี”
“อย่างนี้ก็มีด้วย! เคยไปพบแพทย์บ้างไหม?”
ทีแรก ความอยากรู้อยากเห็นเป็นธรรมดาแบบนี้ทำให้เราประหลาดใจ แต่ในที่สุดเราถือเสียว่าคำถามทำนองนี้สำหรับคนท้องถิ่นแล้วหมายถึงการแสดงความสนใจคนอื่นเป็นส่วนตัว. อันที่จริง มันเป็นคุณลักษณะของพวกเขาซึ่งน่ารักอย่างยิ่ง. แค่ไปยืนอยู่ที่ตลาดไม่กี่นาทีก็จะมีคนเข้ามาถามอย่างกรุณาว่าจะให้เขาช่วยอะไรได้บ้าง.
การเปลี่ยนแปลงและการใคร่ครวญ
ตลอดหลายปี เราชอบหน้าที่มอบหมายที่หลากหลาย นอกเหนือจากงานมิชชันนารีในศรีลังกา. ผมถูกมอบหมายให้เดินทางเยี่ยมหมวดและภาค และรับใช้ฐานะสมาชิกคณะกรรมการสาขา. ปี 1996 อายุผม 75 ปี. ผมรู้สึกชื่นชมเมื่อมองย้อนหลังไปกว่า 45 ปีที่รับใช้เป็นมิชชันนารีในประเทศศรีลังกา. เมื่อผมเข้าร่วมประชุมครั้งแรกในกรุงโคลัมโบ มีประมาณ 20 คนมาร่วมประชุม. จากจำนวนนั้นเพิ่มขึ้นเป็น 3,500 กว่าคนเวลานี้! ผมกับซิบิลถือว่าหลายคนในบรรดาผู้ที่เรารักเหล่านี้เป็นบุตรหลานฝ่ายวิญญาณของเรา. กระนั้นก็ดี ยังมีงานอีกมากทั่วประเทศที่ต้องทำให้เสร็จ เป็นงานที่ต้องใช้แรงกายแรงใจพร้อมทั้งทักษะของคนเหล่านั้นที่อายุน้อยกว่าเรา. เมื่อคิดถึงเรื่องนี้ เราจึงตอบรับคำเชิญจากคณะกรรมการปกครองที่ให้กลับออสเตรเลีย. การไปจากศรีลังกาเปิดโอกาสให้คู่สมรสวัยหนุ่มกว่าเราที่มีคุณวุฒิเข้าไปทำงานแทนเราฐานะมิชชันนารีในศรีลังกา.
ตอนนี้ผมอายุย่าง 83 ปีแล้ว และผมกับซิบิลรู้สึกยินดีที่เรายังมีสุขภาพแข็งแรงพอจะทำงานรับใช้ฐานะไพโอเนียร์พิเศษได้ต่อไปที่เมืองแอดิเลด บ้านเก่าที่เคยอยู่. งานรับใช้ของเราช่วยเราให้ตื่นอยู่เสมอทางด้านจิตใจ, สามารถยืดหยุ่นและปรับตัวเข้ากับสิ่งใหม่ ๆ, สิ่งที่ไม่เหมือนเดิม, หรือข้อเรียกร้องที่เปลี่ยนแปลง. อีกทั้งช่วยเราปรับวิถีชีวิตในประเทศนี้ซึ่งแตกต่างมากจริง ๆ ได้เช่นเดียวกัน.
พระยะโฮวาทรงดูแลเราอย่างต่อเนื่องให้มีสิ่งจำเป็นทางด้านวัตถุ และพี่น้องชายหญิงในประชาคมของเราต่างก็แสดงความรักและเกื้อหนุนเราเป็นอย่างมาก. ไม่นานมานี้ ผมได้รับหน้าที่มอบหมายใหม่. ผมจะได้รับใช้ฐานะเลขาธิการในประชาคมของเรา. ด้วยเหตุนี้ ผมประสบว่าตราบใดที่ผมเพียรพยายามรับใช้พระยะโฮวาอย่างซื่อสัตย์ ตราบนั้นการฝึกฝนอบรมของผมก็ดำเนินต่อ ๆ ไป. มองย้อนหลังตลอดหลายปี ผมประหลาดใจเสมอที่เด็กผู้ชายคนหนึ่งไม่รู้ประสีประสา ไม่ทุกข์ไม่ร้อนจากป่าดงได้รับการศึกษาที่ดีเลิศ—เป็นการเรียนรู้อันยาวนานตลอดชีวิต.
[ภาพหน้า 26]
วันแต่งงานของเรา ปี 1955
[ภาพหน้า 27]
การรับใช้ในเขตงานกับเรจัน กาดิร์กามาร์ พี่น้องในท้องถิ่น ปี 1957
[ภาพหน้า 28]
กับซิบิลในปัจจุบัน