คุณรอคอยด้วยเจตคติแบบใด?
คุณรอคอยด้วยเจตคติแบบใด?
ในโลกทุกวันนี้ คงมีไม่กี่คนที่รู้สึกยินดีเมื่อคอยใครบางคนหรือคอยอะไรสักอย่าง. นั่นเป็นการทดสอบความอดทนของเขา. อย่างไรก็ตาม พระคัมภีร์สนับสนุนประชาชนของพระเจ้าให้ปลูกฝัง “เจตคติแบบที่รอคอย.” ผู้พยากรณ์มีคาประกาศถึงเจตคติที่ตรงกันข้ามกับผู้คนที่อยู่รอบ ๆ ตัวท่านว่า “ข้าพเจ้าจะสำแดงเจตคติแบบที่รอคอยพระเจ้าแห่งความรอดของข้าพเจ้า.”—มีคา 7:7, ล.ม.; บทเพลงร้องทุกข์ 3:26.
แต่การรอคอยพระยะโฮวาหมายความเช่นไร? คริสเตียนควรรอคอยพระเจ้าอย่างไร? การรอคอยมีแบบที่เหมาะสมและไม่เหมาะสมไหม? ประสบการณ์ของผู้พยากรณ์โยนาในสมัยศตวรรษที่เก้าก่อน ส.ศ. ให้บทเรียนในเรื่องนี้.
การรอคอยด้วยเหตุผลผิด ๆ
พระยะโฮวาพระเจ้ามีพระบัญชาให้โยนาไปยังกรุงนีเนเวห์ซึ่งเป็นเมืองหลวงของจักรวรรดิอัสซีเรียและประกาศแก่ผู้คนที่นั่น. นีเนเวห์ขึ้นชื่อว่าเป็น “นครอันแปดเปื้อนไปด้วยโลหิต” เนื่องจากเมืองนั้นโหดเหี้ยมอำมหิตอย่างไร้ยางอาย ซึ่งนักประวัติศาสตร์และนักโบราณคดียืนยันข้อเท็จจริงในเรื่องนี้เป็นอย่างดี. (นาฮูม 3:1) ในตอนแรกโยนาพยายามเลี่ยงงานมอบหมายนี้ แต่ในที่สุด พระยะโฮวาทรงทำให้ผู้พยากรณ์คนนี้ไปยังกรุงนีเนเวห์จนได้.—โยนา 1:3–3:2.
“โยนาได้ตั้งต้นเดินเข้าไปในกรุงนั้นเป็นระยะทางหนึ่งวัน, และท่านได้ร้องประกาศและกล่าวว่า ‘อีกสี่สิบวันกรุงนีนะเวจะถูกทำลายให้พินาศไป.’ ” (โยนา 3:4) ความพยายามของโยนาได้รับการตอบสนองอย่างน่าทึ่ง “ชาวกรุงนีนะเวได้เชื่อพระเจ้า; เขาป่าวประกาศให้ประชาชนอดอาหารและนุ่งห่มด้วยผ้าเนื้อหยาบ, ตั้งแต่คนชั้นสูงที่สุดจนถึงคนชั้นต่ำที่สุด.” (โยนา 3:5) ด้วยเหตุนี้ พระยะโฮวา พระเจ้าผู้ซึ่ง “ไม่ทรงประสงค์จะให้คนหนึ่งคนใดพินาศเลย, แต่ทรงปรารถนาจะให้คนทั้งปวงกลับใจเสียใหม่” จึงไม่ทำลายเมืองนั้น.—2 เปโตร 3:9.
โยนามีปฏิกิริยาอย่างไร? บันทึกกล่าวว่า “แต่เหตุการณ์นี้ไม่เป็นที่พอใจแก่โยนาอย่างยิ่ง, ท่านโกรธมาก.” (โยนา 4:1) เพราะเหตุใด? บางที โยนารู้สึกว่าการที่ความพินาศไม่ได้เกิดขึ้นจริงตามวันเวลาที่แน่นอนดังที่ท่านประกาศไว้นั้นทำให้ท่านเสียหน้าฐานะผู้พยากรณ์. เห็นได้ชัดว่า ท่านเห็นแก่ชื่อเสียงของตนเองมากกว่าการแสดงความเมตตาและความรอดของผู้อื่น.
แน่นอน โยนาไม่ถึงกับถอนตัวจากการเป็นผู้พยากรณ์. แต่กระนั้น ท่านคอย “ดูเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นแก่กรุงนั้น.” ใช่แล้ว ท่านพัฒนาเจตคติแบบที่เฝ้ารอดูด้วยความขุ่นเคือง. โยนา 4:5, 9-11.
เมื่อเห็นแล้วว่า สิ่งต่าง ๆ ไม่เกิดขึ้นอย่างที่คาดไว้ ท่านจึงสร้างเพิง, นั่งลงในร่มเงา, และคอยด้วยความขุ่นเคืองเพื่อจะเห็นสิ่งที่จะเกิดขึ้น. อย่างไรก็ตาม พระยะโฮวาไม่ทรงเห็นด้วยกับเจตคติของโยนา ดังนั้น พระองค์จึงแก้ไขความคิดที่ผิดเพี้ยนของท่านผู้พยากรณ์ด้วยความรัก.—เหตุที่พระยะโฮวาทรงอดทน
แม้ชาวกรุงนีเนเวห์กลับใจและได้รับการอภัยโทษ แต่ต่อมาเมืองนั้นก็กลับเข้าสู่แนวทางชั่วอีก. พระยะโฮวาทรงบอกล่วงหน้าถึงความพินาศของกรุงนั้นโดยทางผู้พยากรณ์นาฮูมและซะฟันยา. โดยกล่าวถึง “นครอันแปดเปื้อนไปด้วยโลหิต” พระยะโฮวาประกาศว่า พระองค์จะทำลายอัสซีเรียและทำให้กรุงนีเนเวห์เป็นที่ร้างเปล่า. (นาฮูม 3:1; ซะฟันยา 2:13) ในปี 632 ก่อน ส.ศ. กรุงนีเนเวห์ถูกทำลาย ไม่มีวันกู้คืนมาได้อีก.
ในทำนองเดียวกัน โลกทุกวันนี้มีความผิดฐานทำให้เกิดการนองเลือดอย่างทารุณในขอบเขตที่ใหญ่โตกว่ากรุงนีเนเวห์โบราณมาก. ด้วยเหตุผลนี้และเหตุผลอื่น ๆ พระยะโฮวาจึงทรงพิพากษาว่าระบบชั่วในปัจจุบันจะถึงคราวสิ้นสุดใน “ความทุกข์ลำบากใหญ่” อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน.—มัดธาย 24:21, 22.
กระนั้น พระยะโฮวาประวิงเวลาการทำลายล้างที่ได้ทรงสัญญาไว้เพื่อผู้คนที่จริงใจในปัจจุบัน เช่นเดียวกับคนที่กลับใจในกรุงนีเนเวห์ สามารถหันกลับและได้รับการไว้ชีวิต. อัครสาวกเปโตรกล่าวถึงความอดทนของพระเจ้าด้วยถ้อยคำต่อไปนี้: “องค์พระผู้เป็นเจ้าไม่ได้ทรงเฉื่อยช้าในคำสัญญาของพระองค์, เหมือนบางคนคิดว่าช้านั้น แต่พระองค์ได้ทรงอดกลั้นพระทัยไว้เพราะเห็นแก่ท่านทั้งหลายเป็นช้านาน, ไม่ทรงประสงค์จะให้คนหนึ่งคนใดพินาศเลย, แต่ทรงปรารถนาจะให้คนทั้งปวงกลับใจเสียใหม่.”—2 เปโตร 3:9, 10, 13.
รอคอยในวิธีที่เหมาะสม
เปโตรกล่าวต่อไปว่า “ครั้นเห็นแล้วว่าสิ่งทั้งปวงนี้ต้องละลายไปทั้งสิ้น, ท่านทั้งหลายควรจะเป็นคนอย่างไรในการประพฤติอันบริสุทธิ์และในธรรม [“การกระทำด้วยความเลื่อมใสในพระเจ้า,” ล.ม.], คอยท่าและกระหายที่จะให้วันของพระเจ้ามาถึง.” (2 เปโตร 3:11, 12) โปรดสังเกตว่า ขณะที่คอยท่า วันของพระยะโฮวานั้น เราควรแสดงออกถึงความ “ประพฤติอันบริสุทธิ์และการกระทำด้วยความเลื่อมใสในพระเจ้า”—ควรลงมือทำ ไม่ใช่อยู่เฉย ๆ.
ใช่แล้ว การมีเจตคติแบบที่รอคอยอย่างเหมาะสมแสดงออกด้วยความมั่นใจอย่างเต็มเปี่ยมว่า วันของพระยะโฮวาจะมาแน่นอนตามที่พระองค์ทรงประสงค์ไว้. ความเชื่อเช่นนั้นทำให้เกิดความประพฤติอันบริสุทธิ์และการกระทำด้วยความเลื่อมใสพระเจ้า และมีการประกาศข่าวดีแห่งราชอาณาจักรเป็นส่วนที่สำคัญ. พระเยซูวางแบบอย่างอันดีในการประกาศ และพระองค์ทรงบัญชาสาวกที่ได้รับการเจิมว่า “ท่านทั้งหลายจงคาดเอวของท่านไว้, และให้ตะเกียงของท่านจุดอยู่ พวกท่านเองจงเหมือนคนที่คอยรับนายของตน, เมื่อนายจะกลับมาจากงานสมรส เพื่อเมื่อนายมาเคาะแล้ว, เขาจะเปิดให้นายทันทีได้. บ่าวซึ่งนายมาพบกำลังคอยเฝ้าอยู่ก็เป็นสุข.”—ลูกา 12:35-37.
ทาสในศตวรรษแรกจะ “คาดเอว” โดยรวบชายเสื้อคลุมชั้นนอกขึ้นมาสอดไว้ใต้ผ้าคาดเอวเพื่อสะดวกในการทำโรม 12:11; 1 โกรินโธ 15:58.
งานอย่างกระฉับกระเฉง. ด้วยเหตุนี้ คริสเตียนจะต้องกระตือรือร้นในการทำการดี. เขาต้องต้านทานแนวโน้มใด ๆ ที่จะ “เกียจคร้าน” ไม่ทำกิจกรรมฝ่ายวิญญาณ ซึ่งบางทีอาจใช้กำลังวังชาของเขาไปกับความเพลิดเพลินหรือการติดตามสิ่งฝ่ายวัตถุ. แทนที่จะเป็นเช่นนั้น เขาควร “กระทำการขององค์พระผู้เป็นเจ้าให้บริบูรณ์ทุกเวลา” ในขณะที่รอคอยวันใหญ่อันน่าสะพรึงกลัวของพระยะโฮวา.—ไม่อยู่เฉย ๆ ขณะที่รอคอย
พยานพระยะโฮวามีงานมากเสมอขณะที่รอคอยวันของพระยะโฮวา. ตัวอย่างเช่น ในปีรับใช้ 2003 พวกเขาใช้เวลาโดยเฉลี่ย 3,383,000 ชั่วโมงในแต่ละวันเพื่อประกาศพระคำของพระยะโฮวา. นึกภาพดูสิ พยานฯ หนึ่งคนจะต้องประกาศไม่หยุดเป็นเวลาถึง 386 ปีจึงจะทำสำเร็จตามที่ได้มีการทำภายในหนึ่งวัน!
กระนั้น เราควรถามตัวเองว่า ‘ตัวฉันเองรอคอยด้วยเจตคติแบบใด?’ พระเยซูยกคำอุปมาเพื่อพรรณนาความขยันหมั่นเพียรซึ่งเป็นเรื่องที่คาดหวังจากคริสเตียนผู้ถูกเจิมที่ซื่อสัตย์. พระองค์กล่าวถึงบ่าวสามคนว่า “คนหนึ่ง [นาย] ให้ห้าตะลันต์, คนหนึ่งสองตะลันต์, และอีกคนหนึ่งตะลันต์เดียว, ตามความสามารถของบ่าวนั้น แล้วท่านก็ไป. คนที่ได้รับห้าตะลันต์นั้นก็เอาเงินนั้นไปค้าขายทันทีได้กำไรเท่าตัว. คนที่ได้รับสองตะลันต์นั้นก็ได้กำไรเท่าตัวเหมือนกัน. แต่คนที่ได้รับตะลันต์เดียวนั้นได้ขุดหลุมซ่อนเงินของนายไว้. ครั้นอยู่มาช้านานนายจึงมาคิดบัญชีกับบ่าวเหล่านั้น.”—มัดธาย 25:15-19.
บ่าวทั้งสามคนคอยนายกลับมา. บ่าวสองคนที่ทำงานอย่างขยันขันแข็งขณะที่รอคอยนายได้รับคำชมเชยว่า “ดีแล้ว, เจ้าเป็นบ่าวซื่อตรง.” อย่างไรก็ตาม คนที่คอยอยู่เฉย ๆ ได้รับการปฏิบัติที่ต่างออกไป. นายกล่าวว่า “เอาอ้ายข้าชาติชั่วช้าไปทิ้งเสียที่มืดภายนอก.”—มัดธาย 25:20-30.
แม้อุปมานี้ใช้กับคริสเตียนผู้ถูกเจิม แต่ก็มีบทเรียนที่ใช้ได้กับเราทุกคนไม่ว่าจะมีความหวังแบบใดก็ตาม. พระเยซูคริสต์ผู้เป็นนายคาดหมายให้เราทุกคนทำงานรับใช้พระองค์อย่างขยันขันแข็งขณะที่เรารอคอยให้พระองค์เสด็จมาในวันใหญ่ของพระยะโฮวา. พระองค์ทรงหยั่งรู้ค่างานหนัก “ตามความสามารถ” และตามสภาพการณ์ของแต่ละคน. ช่างจะเป็นความชื่นชมยินดีจริง ๆ ที่จะได้ยินคำว่า “ดีแล้ว” จากนายเมื่อการรอคอยจบสิ้นในที่สุด!
ความอดทนขององค์พระผู้เป็นเจ้าของเราหมายถึงความรอด
จะว่าอย่างไรถ้าระบบนี้อยู่นานกว่าที่เราเคยคิดหรือหวังไว้? ที่เป็นเช่นนั้นใช่ว่าจะไม่มีเหตุผล. อัครสาวกเปโตรเขียนว่า “การที่องค์พระผู้เป็นเจ้าของเราได้ทรงอดกลั้นพระทัยไว้นานนั้นก็เป็นที่ให้เรารอด.” (2 เปโตร 3:15) ความรู้ถ่องแท้เกี่ยวกับพระประสงค์ของพระเจ้าและการประเมินค่าความต่ำต้อยของเราอย่างถ่อมใจจะช่วยเราอดทนได้ตราบเท่าที่พระยะโฮวาทรงเห็นสมควรที่จะอดทนกับระบบเก่านี้.
เพื่อจะสนับสนุนคริสเตียนให้อดทน ยาโกโบ ผู้เขียนคัมภีร์ไบเบิลกล่าวอุทาหรณ์หนึ่ง. ท่านเขียนว่า “จงดูพวกกสิกรเถิด. เขาคอยรับผลอันประเสริฐที่จะได้จากแผ่นดิน, เพียรคอยกว่าจะได้รับฝนต้นฤดูและฝนปลายฤดูสิ้นแล้ว. ท่านทั้งหลายจงเพียรคอยเช่นนั้นเหมือนกัน ตั้งอกตั้งใจให้ดี ด้วยว่าการเสด็จมาขององค์พระผู้เป็นเจ้าก็จวนจะถึงอยู่แล้ว.”—ยาโกโบ 5:7, 8.
พระยะโฮวาพระเจ้าไม่ประสงค์ให้เราเลื่อยล้าลงหรือเลิกราขณะที่เรากำลังคอยอยู่. พระองค์มอบหมายงานให้พวกเราทำและทรงพอพระทัยถ้าเราใช้เวลาที่คอยอยู่เพื่อเข้าส่วนร่วมอย่างขยันขันแข็งในงานนั้น. พระองค์ประสงค์ให้เราอยู่ในท่ามกลางคนทั้งหลายที่อัครสาวกเปาโลพรรณนาในจดหมายถึงชาวฮีบรูดังนี้: “เราปรารถนาให้ท่านทั้งหลายต่างคนต่างสำแดงความอุสส่าห์เช่นเดียวกันจนถึงที่สุดปลาย จึงจะได้ความหวังใจอย่างบริบูรณ์ เพื่อจะไม่ให้ท่านเป็นคนเงื่องหงอย, แต่ให้ตามเยี่ยงอย่างแห่งคนเหล่านั้นที่อาศัยความเชื่อและความเพียร จึงได้รับคำสัญญาเป็นมฤดก.”—เฮ็บราย 6:11, 12.
ดังนั้น ขอให้เราอย่าเหนื่อยหน่าย. แทนที่จะเป็นอย่างนั้น ขอให้ความสัมพันธ์ของเรากับพระยะโฮวาพระเจ้า, ความเชื่อในเครื่องบูชาไถ่ของพระเยซู, และความหวังอันสดใสในระบบใหม่เป็นแรงผลักดันในชีวิตของเรา. เช่นเดียวกับบ่าวที่ “ซื่อตรง” ในอุปมาของพระเยซู ขอเราพิสูจน์ตัวเองว่ามีค่าควรแก่การชมเชยและได้รับบำเหน็จ โดยหมกมุ่นในการสรรเสริญพระเจ้า ดังที่ผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญได้กระทำ ซึ่งท่านกล่าวว่า “ฝ่ายข้าพเจ้าจะหวังใจในพระองค์อยู่เสมอ และจะยังสรรเสริญพระองค์ยิ่ง ๆ ขึ้นไป.”—บทเพลงสรรเสริญ 71:14.
[ภาพหน้า 21]
ด้วยความผิดหวัง โยนาเฝ้ารอว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับกรุงนีเนเวห์
[ภาพหน้า 22, 23]
ให้เราแสดงความเลื่อมใสในพระเจ้าขณะที่รอคอยวันของพระยะโฮวา