เธอบอกเล่าความเชื่อของเธอให้กับเพื่อนนักเรียน
เธอบอกเล่าความเชื่อของเธอให้กับเพื่อนนักเรียน
คุณอยากช่วยเพื่อนนักเรียนให้มีความเข้าใจยิ่งขึ้นเกี่ยวกับความเชื่อของคุณที่อาศัยคัมภีร์ไบเบิลเป็นหลักไหม? มักดาเลนา นักเรียนชั้นมัธยมปลายวัย 18 ปี ซึ่งอยู่ในโปแลนด์ มักจะพูดคุยกับเพื่อนนักเรียนเกี่ยวกับความเชื่อของเธอในฐานะพยานพระยะโฮวา. ผลก็คือ เธอถูกถามบ่อย ๆ อย่างเช่น ‘การเป็นพยานพระยะโฮวาหมายถึงอะไร?’ และ ‘เธอไม่เชื่อในพระเยซูคริสต์หรือ?’ เธอจะช่วยเพื่อนนักเรียนได้อย่างไร? มักดาเลนาอธิษฐานขอการชี้นำจากพระยะโฮวา แล้วทำในสิ่งที่ประสานกับคำอธิษฐานของเธอ.—ยาโกโบ 1:5.
วันหนึ่ง มักดาเลนาขออนุญาตอาจารย์ที่นับถือความเชื่อของเธอ ให้เพื่อนในชั้นเรียนดูวีดิทัศน์พยานพระยะโฮวา—องค์การเบื้องหลังชื่อนี้. * อาจารย์ได้ให้อนุญาต. จากนั้น มักดาเลนาบอกเพื่อนนักเรียนว่า “ฉันจะให้เพื่อนนำเสนอรายการหนึ่งแก่ชั้นเรียนโดยใช้เวลา 90 นาที. รายการนี้จะรวมถึงการฉายวีดิทัศน์และการอภิปรายเรื่องพยานพระยะโฮวา. พวกเธออยากจะมาร่วมไหม?” ทุกคนได้ตอบตกลง. มักดาเลนากับวอยเซียก ผู้เผยแพร่เต็มเวลาที่มีประสบการณ์ ได้เริ่มเตรียมโครงการนั้น.
มีการวางแผนจะเริ่มการนำเสนอด้วยคำบรรยาย 20 นาที ซึ่งอาศัยจุลสารพยานพระยะโฮวา—พวกเขาเป็นใคร? พวกเขามีความเชื่อเช่นไร? * แล้วตามด้วยการอภิปรายแบบถามตอบ. จากนั้น จะมีการฉายวีดิทัศน์ในห้องสมุดของโรงเรียน. นักเรียนแต่ละคนในชั้นเรียนจะได้รับของขวัญเป็นซองใบใหญ่ข้างในมีจุลสารสองสามเล่ม, หนังสือคำถามที่หนุ่มสาวถาม—คำตอบที่ได้ผล, * รวมทั้งแผ่นพับและวารสาร.
ในวันที่มีการนำเสนอ เพื่อนนักเรียน 14 คน, อาจารย์, และนักเรียนชั้นอื่นอีก 4 คนซึ่งบังเอิญอยู่ในห้องสมุด ได้เข้าร่วมรับฟัง. ทีแรก วอยเซียกอธิบายว่ากวีและนักเขียนชาวโปแลนด์บางคนได้ใช้พระนามยะโฮวาในงานเขียนของพวกเขา. เขายังได้กล่าวถึงคู่มือถามตอบฉบับเก่าแก่ของคาทอลิกบางเล่มที่มีพระนามของพระเจ้า. เมื่ออธิบายถึงกิจกรรมของพยานพระยะโฮวาในสมัยปัจจุบัน เขาให้ดูแผ่นพับเกี่ยวกับสำนักงานสาขาต่าง ๆ และรูปภาพหอประชุมใหญ่ในหลายแห่ง.
การอภิปรายอย่างมีชีวิตชีวาได้ติดตามมา. มักดาเลนากับวอยเซียกใช้คัมภีร์ไบเบิลในการตอบคำถามต่าง ๆ. นี่ทำให้ผู้ฟังประทับใจและเชื่อมั่นว่าพยานพระยะโฮวาไม่ได้สอนตามความคิดของพวกเขาเอง. คำถามต่าง ๆ มีอะไรบ้าง และทั้งสองคนตอบคำถามเหล่านั้นอย่างไร?
คำถาม: คัมภีร์ไบเบิลเต็มไปด้วยถ้อยคำที่คลุมเครือและเป็นแบบอุปลักษณ์ ซึ่งอาจแปลความหมายได้ในหลายทาง. เป็นไปได้อย่างไรที่จะดำเนินชีวิตประสานกับสิ่งที่คัมภีร์ไบเบิลกล่าว?
คำตอบ: บางคนบอกว่าคัมภีร์ไบเบิลเป็นเหมือนไวโอลิน ซึ่งคุณอาจเล่นทำนองเพลงใดก็ได้ที่คุณชอบ. แต่ลองคิดดูสิ: หากคุณอยากรู้ว่าถ้อยคำของผู้เขียนหมายความเช่นไร คงดีที่สุดมิใช่หรือที่จะถามเขาโดยตรง? ไม่เหมือนกับหนังสือของมนุษย์ซึ่งนักเขียนได้เสียชีวิตไปแล้ว ผู้ประพันธ์คัมภีร์ไบเบิลคือพระยะโฮวาพระเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่. (โรม 1: 20; 1 โกรินโธ 8:5, 6) บริบทของข้อพระคัมภีร์จะช่วยชี้แนะการแปลความหมายที่ถูกต้อง. นอกจากนี้ คัมภีร์ไบเบิลมักจะกล่าวถึงเรื่องเดียวกันในหลาย ๆ แห่ง ดังนั้น การเปรียบเทียบข้อพระคัมภีร์เหล่านี้ก็จะช่วยได้. ด้วยวิธีนี้ เราจึงยอมให้พระเจ้าชี้นำความคิดของเรา นั่นเหมือนกับว่าพระองค์เองทรงอธิบายข้อพระคัมภีร์ให้เรา. โดยการทำเช่นนั้น เราสามารถรู้พระทัยประสงค์ของพระเจ้าและดำเนินชีวิตประสานกับพระทัยประสงค์นั้น ดังที่มีการเปิดเผยไว้ในคัมภีร์ไบเบิลมิใช่หรือ?
คำถาม: คริสเตียนกับพยานพระยะโฮวาแตกต่างกันตรงไหน?
คำตอบ: พวกเราเป็น คริสเตียน! แต่แทนที่จะเพียงแต่อ้างว่าเป็นคริสเตียน พยานพระยะโฮวาพยายามดำเนินชีวิตประสานกับสิ่งที่พวกเขาเชื่อ และสิ่งที่พระเจ้าทรงสอนเพื่อประโยชน์ของพวกเขาเอง. (ยะซายา 48:17, 18) เนื่องจากคำสอนทุกอย่างของพวกเขาอาศัยคัมภีร์ไบเบิลเป็นหลัก พวกเขาจึงรู้ว่าพวกเขามีความจริง.—มัดธาย 7:13, 14, 21-23.
คำถาม: ทำไมพวกคุณเข้าไปหาคนแปลกหน้าและจะพูดกับพวกเขาให้ได้? นั่นเป็นการยัดเยียดความเชื่อให้คนอื่นมิใช่หรือ?
คำตอบ: คุณคิดว่าผิดไหมเมื่อมีคนพูดกับคุณบนถนนอย่างสุภาพ และถามความคิดเห็นของคุณในบางเรื่อง? (ยิระมะยา 5:1; ซะฟันยา 2:2, 3) (จากนั้น วอยเซียกกับมักดาเลนาได้สาธิตวิธีถามผู้คนที่เดินผ่านไปมาว่า พระเจ้าทรงใฝ่พระทัยคนเหล่านั้นที่ประสบภัยน้ำท่วมในโปแลนด์เมื่อไม่นานมานี้หรือไม่.) เมื่อได้ฟังความคิดเห็นของผู้คนแล้ว เราจึงชี้ไปยังคัมภีร์ไบเบิล. หากบางคนไม่เต็มใจพูดคุย เราก็จะล่ำลาแล้วจากไป. (มัดธาย 10:11-14) นั่นเป็นการบังคับคนอื่นให้สนทนาไหม? หรือว่าผู้คนไม่ควรจะสนทนากันอีกต่อไป?
คำถาม: ทำไมพวกคุณไม่ฉลองวันหยุดนักขัตฤกษ์?
คำตอบ: เราฉลองเพียงเหตุการณ์เดียวที่คัมภีร์ไบเบิลสั่งให้เราทำเป็นอนุสรณ์ นั่นคือการประชุมอนุสรณ์เพื่อระลึกถึงการวายพระชนม์ของพระเยซูคริสต์. (1 โกรินโธ 11:23-26) ส่วนวันหยุดนักขัตฤกษ์ คุณจะพบต้นตอได้โดยดูจากสารานุกรมและแหล่งอื่นที่เชื่อถือได้. หากคุณทำเช่นนั้น คุณจะเห็นได้ไม่ยากว่าทำไมพวกเราไม่ฉลองวันหยุดนักขัตฤกษ์เหล่านั้น.—2 โกรินโธ 6:14-18.
มีการถามและตอบคำถามอีกหลายข้อ. การอภิปรายใช้เวลานานมากจนต้องเลื่อนการฉายวีดิทัศน์ออกไป.
พวกเพื่อนนักเรียนมีปฏิกิริยาเช่นไร? ขอให้มักดาเลนาเล่าให้พวกเราฟัง: “ดิฉันรู้สึกแปลกใจที่นักเรียนบางคนซึ่งตามปกติแล้วจะทำอะไรไม่รู้จักคิดและชอบล้อเลียนคนอื่น ได้ถามคำถามสำคัญ ๆ. แม้พวกเขาอ้างว่าเป็นอเทวนิยม แต่ในระหว่างการอภิปราย พวกเขาแสดงให้เห็นว่ามีความเชื่อในพระเจ้า!” คนเหล่านั้นที่เข้าร่วมได้รับของขวัญด้วยความรู้สึกขอบคุณ ซึ่งมีการแจกหนังสือทั้งหมด 35 เล่ม, จุลสาร 63 เล่ม, และวารสาร 34 เล่ม.
ช่างเป็นโครงการของโรงเรียนที่ก่อผลอันน่าทึ่งจริง ๆ! โครงการนี้ไม่เพียงแต่ช่วยเพื่อนนักเรียนของมักดาเลนาให้มารู้จักและเข้าใจพยานพระยะโฮวาได้ดียิ่งขึ้น แต่ยังสนับสนุนเยาวชนหลายคนให้นึกถึงจุดมุ่งหมายของชีวิตอีกด้วย. ทำไมไม่พยายามช่วยเพื่อนนักเรียนของคุณให้เรียนรู้มากขึ้นเกี่ยวกับสิ่งที่คุณเชื่อล่ะ?
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 3 จัดทำโดยพยานพระยะโฮวา.
^ วรรค 4 จัดทำโดยพยานพระยะโฮวา.
^ วรรค 4 จัดทำโดยพยานพระยะโฮวา.
[ภาพหน้า 31]
มักดาเลนากับวอยเซียกกำลังเตรียมการอภิปราย