ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

ซื่อสัตย์ภักดีและตั้งมั่นคงในอดีตและปัจจุบัน

ซื่อสัตย์ภักดีและตั้งมั่นคงในอดีตและปัจจุบัน

ซื่อ​สัตย์​ภักดี​และ​ตั้ง​มั่นคง​ใน​อดีต​และ​ปัจจุบัน

ทาง​ภาค​ใต้​ของ​ประเทศ​โปแลนด์ ใกล้​พรมแดน​ติด​กับ​สโลวะเกีย​และ​สาธารณรัฐ​เช็ก​ที่​นั่น​มี​เมือง​เล็ก ๆ ชื่อ​วิสวา. แม้​คุณ​อาจ​ไม่​เคย​ได้​ยิน​ชื่อ​วิสวา แต่​เมือง​นี้​มี​ประวัติ​ที่​คริสเตียน​แท้​คง​จะ​รู้สึก​ว่า​น่า​สนใจ​อย่าง​มาก. มัน​เป็น​ประวัติ​ที่​โดด​เด่น​ใน​เรื่อง​ความ​ซื่อ​สัตย์​มั่นคง​และ​ใจ​แรง​กล้า​เพื่อ​การ​นมัสการ​พระ​ยะโฮวา. เป็น​เช่น​นั้น​ได้​อย่าง​ไร?

วิสวา​ตั้ง​อยู่​ใน​เขต​เทือก​เขา​ที่​งดงาม ซึ่ง​สภาพ​ธรรมชาติ​อำนวย​ให้​มอง​เห็น​ทิวทัศน์​ภูเขา​สวย​น่า​ดู. น้ำ​ที่​เชี่ยวกราก​ใน​ห้วย​และ​ลำธาร​อีก​สอง​สาย​ไหล​มา​บรรจบ​กับ​แม่น้ำ​วิสทูลา สาย​น้ำ​คดเคี้ยว​ผ่าน​ภูเขา​และ​หุบเขา​ซึ่ง​เป็น​ป่า​ครึ้ม. ผู้​คน​ใน​ท้องถิ่น​มี​ไมตรี​จิต​และ​สภาพ​อากาศ​ที่​ไม่​มี​ใด​เหมือน​ทำ​ให้​วิสวา​เป็น​ศูนย์กลาง​การ​แพทย์​อัน​ลือ​ชื่อ, เป็น​เมือง​ตากอากาศ, และ​ที่​พักผ่อน​ใน​ฤดู​หนาว.

ดู​เหมือน​ว่า​มี​การ​ตั้ง​ชนบท​ครั้งแรก​พร้อม​กับ​ชื่อ​นี้​ใน​ช่วง​ทศวรรษ 1590. มี​การ​ตั้ง​โรงเลื่อย และ​หลัง​จาก​นั้น​ไม่​นาน​ที่​โล่ง​ใน​ป่า​ก็​มี​คน​เข้า​ไป​สร้าง​บ้าน​เรือน​อยู่ พวก​เขา​เลี้ยง​แกะ, เลี้ยง​ปศุสัตว์, และ​ทำ​การ​เพาะ​ปลูก. แต่​สามัญ​ชน​เหล่า​นี้​ถูก​ดึง​เข้า​มา​เกี่ยว​ข้อง​อย่าง​รวด​เร็ว​กับ​การ​เปลี่ยน​แปลง​ทาง​ศาสนา. การ​ปฏิรูป​ทาง​ศาสนา​ซึ่ง​มาร์ติน ลูเทอร์​เริ่ม​ต้น​ก่อ​ผล​กระทบ​อย่าง​มาก​ต่อ​ภูมิภาค​แถบ​นี้ นิกาย​ลูเทอรัน​กลาย​เป็น “ศาสนา​ประจำ​ชาติ​ใน​ปี 1545” ตาม​คำ​บอก​เล่า​ของ​นัก​วิจัย​อัน​เจ ออตเชก. กระนั้น สงคราม​สาม​สิบ​ปี​และ​การ​ต่อ​ต้าน​การ​ปฏิรูป​ภาย​หลัง​ได้​เปลี่ยน​สภาพการณ์​อย่าง​กะทันหัน. ออตเชก​บอก​ต่อ​ไป​ว่า “ใน​ปี 1654 โบสถ์​ทุก​แห่ง​ของ​นิกาย​โปรเตสแตนต์​ถูก​ยึด, มี​การ​สั่ง​ห้าม​พวก​เขา​ปฏิบัติ​ศาสนกิจ, และ​มี​การ​เก็บ​ริบ​พระคัมภีร์​พร้อม​กับ​หนังสือ​อื่น ๆ เกี่ยวกับ​ศาสนา.” กระนั้น ประชากร​ส่วน​ใหญ่​ใน​ท้องถิ่น​ยัง​คง​ขึ้น​อยู่​กับ​นิกาย​ลูเทอรัน.

การ​หว่าน​เมล็ด​ความ​จริง​ของ​คัมภีร์​ไบเบิล​เป็น​ครั้ง​แรก

น่า​ดีใจ การ​ปฏิรูป​ทาง​ศาสนา​ที่​สำคัญ​กว่า​จวน​เกิด​ขึ้น​แล้ว. ใน​ปี 1928 ด้วย​ใจ​แรง​กล้า นัก​ศึกษา​พระ​คัมภีร์​สองคน ชื่อ​เรียก​พยาน​พระ​ยะโฮวา​สมัย​นั้น ได้​หว่าน​เมล็ด​ความ​จริง​ของ​คัมภีร์​ไบเบิล​เป็น​ครั้ง​แรก. ปี​ถัด​มา ยาน โกโมลา​ได้​มา​ถึง​เมือง​วิสวา​พร้อม​กับ​นำ​เอา​หีบเสียง​ติด​ตัว​มา​ด้วย ซึ่ง​เขา​ได้​เปิด​คำ​บรรยาย​หลาย​เรื่อง​เกี่ยว​กับ​พระ​คัมภีร์. จาก​นั้น เขา​ย้าย​ไป​ยัง​หุบเขา​ที่​อยู่​ไม่​ไกล ที่​นั่น​เขา​พบ​ผู้​ฟัง​ที่​แสดง​ความ​สนใจ คือ​อัน​เจ รัช​กา ชาย​ร่าง​เตี้ย​ล่ำสัน อาศัย​อยู่​ใน​ภูมิ​ประเทศ​แถบ​ภูเขา เป็น​คน​ที่​มี​หัวใจ​ตอบรับ. รัช​กา​คว้า​เอา​คัมภีร์​เล่ม​ส่วน​ตัว​ออก​มา​ทันที​เพื่อ​พิสูจน์​คำ​บรรยาย​ที่​ได้​ฟัง​จาก​แผ่นเสียง. ครั้น​แล้ว​เขา​ก็​อุทาน​ออก​มา​ว่า “พี่​น้อง​ของ​ผม ใน​ที่​สุด​ผม​พบ​ความ​จริง​เข้า​แล้ว! ผม​สืบ​เสาะ​คำ​ตอบ​ตั้ง​แต่​ผม​ยัง​ประจำ​อยู่​แนว​หน้า​ระหว่าง​สงคราม​โลก​ครั้ง​ที่ หนึ่ง!”

ด้วย​ศรัทธา​แรง​กล้า รัชกา​จึง​พา​โกโมลา​ไป​พบ​เพื่อน ๆ เช่น เยอร์เช​และ​อันเจ พิลค์ ซึ่ง​ตอบรับ​ข่าว​ราชอาณาจักร​อย่าง​กระตือรือร้น. อันเจ ไทร์นา​ซึ่ง​เรียน​ความ​จริง​ใน​ฝรั่งเศส​ได้​ช่วย​ผู้​ชาย​เหล่า​นี้​ให้​มี​ความ​รู้​ลึกซึ้ง​ยิ่ง​ขึ้น​ด้าน​ข่าวสาร​ของ​พระเจ้า. ไม่​นาน​พวก​เขา​ได้​รับ​บัพติสมา. เพื่อ​จะ​ช่วย​กลุ่ม​นัก​ศึกษา​พระคัมภีร์​กลุ่ม​เล็ก​นี้​ใน​วิสวา พวก​พี่น้อง​จาก​เมือง​ใกล้​เคียง​ได้​มา​เยี่ยม​ใน​ช่วง​กลาง​ทศวรรษ 1930. ผล​ที่​ได้​รับ​นั้น​น่า​พิศวง.

มี​ผู้​สนใจ​ใหม่ ๆ หลั่งไหล​เข้า​มา​อย่าง​น่า​ประทับใจ. หลาย​ครอบครัว​ใน​ท้องถิ่น​ที่​ถือ​นิกาย​ลูเทอรัน​มี​นิสัย​ชอบ​อ่าน​พระคัมภีร์​ที่​บ้าน​ของ​เขา. ดัง​นั้น เมื่อ​พวก​เขา​พบ​การ​หา​เหตุ​ผล​ที่​น่า​เชื่อ​ตาม​หลัก​พระ​คัมภีร์​เกี่ยว​กับ​คำ​สอน​เรื่อง​ไฟ​นรก​และ​ตรีเอกานุภาพ หลาย​คน​สามารถ​แยกแยะ​ความ​จริง​จาก​คำ​สอน​เท็จ​ได้. หลาย​ครอบครัว​ตัดสิน​ใจ​สลัด​ทิ้ง​คำ​สอน​เท็จ​ทาง​ศาสนา. ด้วย​เหตุ​นั้น ประชาคม​ใน​วิสวา​จึง​เติบโต และ​พอ​มา​ใน​ปี 1939 มี​ประมาณ 140 คน. แต่​น่า​แปลก พวก​ผู้​ใหญ่​ใน​ประชาคม​ส่วน​ใหญ่​ไม่​ได้​รับ​บัพติสมา. เฮเลนา​พยาน​ฯ รุ่น​แรก​บอก​ว่า “นี่​ไม่​ได้​หมายความ​ว่า​ผู้​ประกาศ​ที่​ยัง​ไม่​รับ​บัพติสมา​จะ​ไม่​สามารถ​ยืนหยัด​อยู่​ฝ่าย​พระ​ยะโฮวา.” เธอ​กล่าว​เสริม​ดัง​นี้: “เมื่อ​พวก​เขา​เผชิญ​การ​ทดสอบ​ความ​เชื่อ​ใน​เวลา​ต่อ​มา พวก​เขา​ได้​พิสูจน์​ความ​ซื่อ​สัตย์​มั่นคง​ของ​ตน.”

พวก​ผู้เยาว์​ทั้งหลาย​ล่ะ​เป็น​อย่าง​ไร? เด็ก ๆ ได้​เห็น​แล้ว​ว่า​พ่อ​แม่​ของ​ตน​ค้น​พบ​ความ​จริง. ฟรันชีเชก บรันทซ์​บอก​ว่า “เมื่อ​พ่อ​ตระหนัก​ว่า​ท่าน​ได้​พบ​ความ​จริง ท่าน​ก็​พร่ำสอน​ผม​กับ​พี่ชาย. ผม​อายุ​แปด​ขวบ พี่ชาย​ผม​สิบ​ขวบ. พ่อ​มัก​จะ​ตั้ง​คำ​ถาม​ง่าย ๆ ให้​เรา​ตอบ เช่น ‘ใคร​เป็น​พระเจ้า และ​พระนาม​ของ​พระองค์​คือ​อะไร? ลูก​รู้​อะไร​เกี่ยว​กับ​พระ​เยซูคริสต์?’ เรา​ต้อง​เขียน​คำ​ตอบ​และ​เขียน​ข้อคัมภีร์​กำกับ​ไว้​ด้วย.” พยาน​ฯ อีก​คน​หนึ่ง​พูด​ว่า “เนื่อง​จาก​พ่อ​แม่​ของผม​สมัคร​ใจ​ตอบรับ​ข่าวสาร​ราชอาณาจักร และ​ถอนตัว​จาก​คริสตจักร​ลูเทอรัน​ใน​ปี 1940 ผม​ถูก​ต่อ​ต้าน​และ​ถูก​เฆี่ยน​ที่​โรง​เรียน. ผม​สำนึก​บุญคุณ​พ่อ​แม่​ที่​ได้​ปลูกฝัง​หลักการ​ของ​คัมภีร์​ไบเบิล​ให้​แก่​ผม. นั่น​เป็น​การ​ช่วย​ผม​ผ่าน​พ้น​ความ​ยุ่งยาก​มา​ได้​ใน​ช่วง​เวลา​ที่​แสน​ลำบาก.”

ความ​เชื่อ​ถูก​ทดสอบ

เมื่อ​สงคราม​โลก​ครั้ง​ที่ 2 เริ่ม​ขึ้น และ​พวก​นาซี​เข้า​ยึด​พื้น​ที่​ได้, พวก​เขา​มุ่ง​จะ​กำจัด​พยาน​พระ​ยะโฮวา​ให้​หมด​สิ้น. ที​แรก​กลุ่ม​ผู้​ใหญ่—โดย​เฉพาะ​อย่าง​ยิ่ง​พวก​บิดา—ถูก​ยุ​ให้​เซ็น​ชื่อ​ใน​บัญชี​พลเมือง​สัญชาติ​เยอรมัน เพื่อ​จะ​ได้​ซึ่ง​สิทธิ​ประโยชน์​บาง​อย่าง. พยาน​พระ​ยะโฮวา​ปฏิเสธ​ที่​จะ​ให้​การ​สนับสนุน​พวก​นาซี. พี่​น้อง​ชาย​หลาย​คน​และ​พวก​ผู้​สนใจ​วัย​เกณฑ์​ทหาร​ต้อง​เผชิญ​ปัญหา พวก​เขา​จะ​เข้า​ร่วม​ใน​กองทัพ หรือ​รักษา​ตัว​เป็น​กลาง​อย่าง​เคร่งครัด แต่​ต้อง​ถูก​ลง​โทษ​รุนแรง. อัน​เจ ซัลโบท​ซึ่ง​โดน​ตำรวจ​เกสตาโป​จับ​เมื่อ​ปี 1943 ชี้​แจง​ว่า “หาก​ปฏิเสธ​การ​ปฏิบัติ​ราชการ​ทหาร นั่น​หมาย​ถึง​การ​ถูก​ส่ง​เข้า​ค่าย​กัก​กัน ปกติ​แล้ว​ก็​ค่าย​เอาชวิทซ์. ตอน​นั้น​ผม​ยัง​ไม่​ได้​รับ​บัพติสมา แต่​ก็​รู้​คำ​รับรอง​ของ​พระ​เยซู​ใน​มัดธาย 10:28, 29. ผม​ทราบ​ดี​ว่า​ถ้า​ผม​ตาย​เพราะ​มี​ความ​เชื่อ​ใน​พระ​ยะโฮวา พระองค์​ทรง​สามารถ​ปลุก​ผม​ขึ้น​มา​สู่​ชีวิต​อีก.”

ช่วง​ต้น​ปี 1942 ทหาร​นาซี​ได้​จับ​กุม​พี่​น้อง​ชาย 17 คน​จาก​เมือง​วิสวา. ภาย​ใน​ช่วง​สาม​เดือน 15 คน​ใน​จำนวน​นั้น​ได้​เสีย​ชีวิต​ใน​เอาชวิทซ์. เหตุ​การณ์​ครั้ง​นั้น​ส่ง​ผล​กระทบ​เช่น​ไร​ต่อ​พวก​พยาน​ฯ ที่​เหลือ​อยู่​ใน​วิสวา? แทน​ที่​จะ​เป็น​เหตุ​ให้​พวก​เขา​สลัด​ทิ้ง​ความ​เชื่อ พวก​เขา​กลับ​มี​กำลังใจ​ยึด​มั่น​อย่าง​เด็ด​เดี่ยว​อยู่​ฝ่าย​พระ​ยะโฮวา! ช่วง​หก​เดือน​ต่อ​จาก​นั้น จำนวน​ผู้​ประกาศ​ใน​วิสวา​เพิ่ม​ขึ้น​อีก​เท่า​ตัว. ต่อ​มา​ไม่​นาน อีก​หลาย​คน​ถูก​จับ​กุม. จำนวน​ผู้​รับ​ผล​กระทบ​จาก​กอง​กำลัง​สังหาร​ของ​ฮิตเลอร์​ทั้ง​สิ้น​คือ​มี​พี่​น้อง​ผู้​สนใจ​และ​เด็ก​รวม​ทั้ง​หมด 83 คน. ใน​จำนวน​นี้ ห้า​สิบ​สาม​คน​ถูก​ส่ง​เข้า​ค่าย​กัก​กัน (ส่วน​ใหญ่​ที่​ค่าย​เอาชวิทซ์) หรือ​ถูก​ส่ง​ไป​ที่​ค่าย​แรงงาน​บังคับ​ให้​ทำ​งาน​หนัก​ใน​เหมือง​แร่​หรือ​เหมือง​หิน​ใน​ประเทศ​โปแลนด์, เยอรมนี, และ​โบฮีเมีย.

ซื่อ​สัตย์​ภักดี​และ​ตั้ง​มั่นคง

ใน​ค่าย​เอาชวิทซ์ พวก​นาซี​พยายาม​จูง​ใจ​เหล่า​พยาน​ฯ ให้​คาด​หวัง​จะ​เป็น​อิสระ​โดย​เร็ว. ทหาร​รักษา​การณ์​หน่วย​เอส​เอส​บอก​บราเดอร์​คน​หนึ่ง​ว่า “ถ้า​คุณ​เพียง​แต่​เซ็น​ชื่อ​บน​แผ่น​กระดาษ​ปฏิเสธ​ว่า​ไม่​ใช่​นัก​ศึกษา​พระ​คัมภีร์ เรา​จะ​ให้​คุณ​เป็น​อิสระ​และ​กลับ​บ้าน​ได้.” มี​การ​ยื่น​ข้อ​เสนอ​แบบ​นี้​หลาย​ครั้ง​หลาย​หน กระนั้น บราเดอร์​ของ​เรา​ไม่​ยอม​ประนีประนอม​ความ​จงรักภักดี​ที่​มี​ต่อ​พระ​ยะโฮวา. ผล​ก็​คือ​เขา​ถูก​เฆี่ยน, ถูก​เยาะเย้ย, และ​ทำ​งาน​เยี่ยง​ทาส ทั้ง​ใน​ค่าย​เอาชวิทซ์​และ​ที่​มิท​เทล​เบา-โดรา​ใน​ประเทศ​เยอรมนี. เพียง​ไม่​กี่​วัน​ก่อน​ได้​รับ​อิสรภาพ บราเดอร์​คน​นี้​รอด​ตาย​อย่าง​หวุดหวิด​ระหว่าง​ที่​กอง​กำลัง​ฝ่าย​พันธมิตร​ทิ้ง​ระเบิด​ค่าย​ซึ่ง​เขา​ถูก​กัก​อยู่​ที่​นั่น.

พาเวล ซัลโบท พยาน​ฯ ซึ่ง​เสีย​ชีวิต​เมื่อ​ไม่​นาน​มา​นี้ ครั้ง​หนึ่ง​เขา​เล่า​ว่า “ระหว่าง​การ​สอบสวน หน่วย​ตำรวจ​เกสตาโป​จะ​ซัก​ถาม​ผม​ครั้ง​แล้ว​ครั้ง​เล่า​ถึง​สาเหตุ​ที่​ผม​ไม่​เข้า​ร่วม​กองทัพ​เยอรมัน​และ​สดุดี​ฮิตเลอร์.” หลัง​จาก​ชี้​แจง​พื้น​ฐาน​ของ​หลักการ​ใน​พระ​คัมภีร์​ว่า​ด้วย​ความ​เป็น​กลาง​ของ​คริสเตียน เขา​ถูก​ตัดสิน​ให้​ทำ​งาน​ใน​โรง​งาน​ผลิต​อาวุธ. “ชัดเจน​อยู่​แล้ว​ว่า โดย​สติ​รู้สึก​ผิด​ชอบ ผม​ไม่​อาจ​ยอม​รับ​ทำ​งาน​ประเภท​นี้​ได้ ฉะนั้น​พวก​เขา​จึง​ส่ง​ผม​ไป​ทำ​งาน​ใน​เหมือง.” กระนั้น เขา​ก็​ยัง​คง​รักษา​ความ​ซื่อ​สัตย์.

ส่วน​พวก​ที่​ไม่​ถูก​คุม​ขัง—ผู้​หญิง​และ​เด็ก ๆ—ส่ง​อาหาร​บรรจุ​ห่อ​สำหรับ​คน​เหล่า​นั้น​ใน​ค่าย​เอาชวิทซ์. บราเดอร์​คน​หนึ่ง​ซึ่ง​ตอน​นั้น​เป็น​วัยรุ่น​เล่า​ว่า “ช่วง​ฤดู​ร้อน เรา​เข้า​ป่า​เก็บ​ลูก​แค​รน​เบอร์รี​เอา​มา​แลก​ข้าว​สาลี. พวก​พี่​น้อง​หญิง​ปั้น​ขนมปัง​เป็น​ก้อน​แล้ว​เอา​ไป​ทอด. จาก​นั้น​เรา​ก็​จัด​ขนม​นี้​ใส่​กล่อง​ขนาด​ย่อม​ส่ง​ไป​ให้​เพื่อน​ร่วม​ความ​เชื่อ​ที่​ถูก​คุม​ขัง.”

พยาน​ฯ วัย​ผู้​ใหญ่​จาก​วิสวา​รวม​ทั้ง​สิ้น 53 คน​ถูก​ส่ง​ไป​อยู่​ใน​ค่าย​กัก​กัน​และ​ทำ​งาน​หนัก. สาม​สิบ​แปด​คน​เสีย​ชีวิต​ที่​นั่น.

หนุ่ม​สาว​รุ่น​ใหม่​ขึ้น​มา​มี​บทบาท

บุตร​หลาน​ของ​เหล่า​พยาน​พระ​ยะโฮวา​ได้​รับ​ผล​กระทบ​เช่น​กัน​จาก​การ​กดขี่​โดย​มาตรการ​บีบ​บังคับ​ของ​พวก​นาซี. เด็ก​บาง​คน​พร้อม​กับ​มารดา​ถูก​ส่ง​ไป​อยู่​ที่​ค่าย​ชั่ว​คราว​ใน​โบฮีเมีย. บาง​คน​ถูก​พราก​จาก​บิดา​มารดา​แล้ว​ให้​ไป​อยู่​ค่าย​เยาวชน​ที่​เมือง​ลอดซ์​ซึ่ง​ขึ้น​ชื่อ​ว่า​เลว​ร้าย​ที่​สุด.

เด็ก​สาม​คน​จาก​จำนวน​ที่​ได้​รับ​ผล​กระทบ​เล่า​ว่า “การ​เคลื่อน​ย้าย​เที่ยว​แรก​ไป​ยัง​ลอดซ์ พวก​เยอรมัน​นำ​พวก​เรา​สิบ​คน อายุ​ระหว่าง​ห้า​ถึง​เก้า​ขวบ​ไป​ที่​นั่น. พวก​เรา​หนุน​ใจ​กัน​และ​กัน​โดย​การ​อธิษฐาน​และ​เล่า​เรื่อง​ราว​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล​สู่​กัน​ฟัง. การ​จะ​อด​ทน​นั้น​ไม่​ง่าย.” ใน​ปี 1945 เด็ก​ใน​กลุ่ม​ดัง​กล่าว​ได้​กลับ​บ้าน​ทั้ง​หมด. พวก​เขา​รอด​มา​ได้​ก็​จริง แต่​ผ่ายผอม​และ​มี​รอย​ฟก​ช้ำ. กระนั้น ไม่​มี​สิ่ง​ใด​อาจ​ทำลาย​ความ​ซื่อ​สัตย์​ภักดี​ของ​พวก​เขา​เสีย​ได้.

หลัง​จาก​นั้น​เกิด​อะไร​ขึ้น?

ขณะ​ที่​สงคราม​โลก​ครั้ง​ที่ 2 จวน​จะ​สงบ เหล่า​พยาน​ฯ จาก​วิสวา​ยัง​ตั้ง​มั่นคง​ใน​ความ​เชื่อ​และ​พร้อม​จะ​ทำ​กิจกรรม​การ​ประกาศ​อีก​ครั้ง​หนึ่ง​ด้วย​ใจ​แรง​กล้า​และ​มุ่ง​มั่น. กลุ่ม​พี่​น้อง​หลาย​กลุ่ม​ได้​ไป​เยี่ยม​ประชาชน​ที่​อยู่​ไกล​จาก​เมือง​วิสวา​ราว ๆ 40 กิโลเมตร ได้​เผยแพร่​และ​แจก​จ่าย​สรรพหนังสือ​เกี่ยว​กับ​คัมภีร์​ไบเบิล. ยาน คชอค​เล่า​ว่า “ต่อ​มา​ไม่​นาน ใน​เมือง​ของ​เรา​ก็​มี​ประชาคม​ที่​ขันแข็ง​ถึง​สาม​ประชาคม.” อย่าง​ไร​ก็​ตาม เสรีภาพ​ทาง​ศาสนา​มี​อยู่​ได้​ไม่​นาน.

ปี 1950 ระบอบ​คอมมิวนิสต์​ซึ่ง​เข้า​มา​แทน​ระบอบ​นาซี​ได้​สั่ง​ห้าม​กิจกรรม​ของ​พยาน​พระ​ยะโฮวา​ใน​โปแลนด์. ฉะนั้น พี่​น้อง​ใน​ประเทศ​นี้​ต้อง​คิด​หา​วิธี​ที่​จะ​ทำ​งาน​รับใช้. บาง​ครั้ง​พวก​เขา​เยี่ยม​ประชาชน​ตาม​บ้าน ทำที​ว่า​หา​ซื้อ​ปศุสัตว์​หรือ​ข้าว. การ​จัด​ประชุม​คริสเตียน​มัก​จะ​ทำ​กัน​ตอน​กลางคืน โดย​จัด​แบ่ง​เป็น​กลุ่ม​เล็ก ๆ. กระนั้น​ก็​ดี หน่วย​รักษา​ความ​ปลอด​ภัย​ก็​สามารถ​จับ​กุม​ผู้​นมัสการ​พระ​ยะโฮวา​ได้​หลาย​คน ตั้ง​ข้อ​หา​ว่า​พยาน​ฯ ทำ​งาน​ให้​สำนัก​ข่าว​กรอง​ต่าง​ชาติ ซึ่ง​เป็น​การ​กล่าวหา​ที่​ไม่​มี​มูล​ความ​จริง. เจ้าหน้าที่​บาง​คน​พูด​ข่มขู่​แดก​ดัน​พาเวล พิลค์​ว่า “แม้​ฮิตเลอร์​ไม่​ได้​ทำลาย​ความ​ซื่อ​สัตย์​มั่นคง​ของ​คุณ แต่​พวก​เรา​นี่​แหละ​จะ​ทำ.” กระนั้น เขา​ยัง​คง​รักษา​ความ​ภักดี​ต่อ​พระ​ยะโฮวา เขา​ถูก​จำ​คุก​ห้า​ปี. เมื่อ​พยาน​ฯ บาง​คน​ที่​อายุ​น้อย​กว่า​ไม่​ยอม​เซ็น​ชื่อ​ใน​เอกสาร​การ​เมือง​ระบอบ​สังคม​นิยม พวก​เขา​ถูก​ไล่​ออก​จาก​โรง​เรียน​หรือ​ไล่​ออก​จาก​งาน.

พระ​ยะโฮวา​ยัง​คง​สถิต​อยู่​ฝ่าย​พวก​เขา

ปี 1989 สถานการณ์​ด้าน​การ​เมือง​เปลี่ยน​แปลง และ​พยาน​พระ​ยะโฮวา​ใน​โปแลนด์​ได้​รับ​การ​ยอม​รับ​ตาม​กฎหมาย. ผู้​นมัสการ​พระ​ยะโฮวา​ใน​เมือง​วิสวา​ที่​ยืนหยัด​มั่นคง​ก็​เร่ง​ทำ​กิจกรรม​ของ​เขา ดัง​สะท้อน​ให้​เห็น​ใน​จำนวน​ผู้​เผยแพร่​เต็ม​เวลา​หรือ​ที่​เรียก​ว่า​ไพโอเนียร์. พี่​น้อง​ชาย​หญิง​ประมาณ 100 คน​ใน​เขต​พื้น​ที่​นี้​ได้​ร่วม​งาน​รับใช้​ประเภท​ไพโอเนียร์. จึง​ไม่​น่า​แปลก​ใจ​ที่​เมือง​นี้​มี​ชื่อ​เล่น​ว่า​โรง​งาน​ไพโอเนียร์.

คัมภีร์​ไบเบิล​พูด​ถึง​การ​สนับสนุน​จาก​พระเจ้า​เพื่อ​ผู้​รับใช้​ของ​พระองค์​ใน​อดีต​ดัง​นี้: “ถ้า​แม้น​พระ​ยะโฮวา​ไม่​ทรง​สถิต​อยู่​ฝ่าย​พวก​เรา​แล้ว, ขณะ​เมื่อ​คน​ทั้ง​ปวง​ได้​ลุก​ขึ้น​ต่อ​สู้​พวก​เรา; . . . เขา​คง​ได้​กลืน​พวก​เรา​เสีย​แล้ว​ทั้ง​เป็น.” (บทเพลง​สรรเสริญ 124:2, 3) ใน​สมัย​ของ​เรา ทั้ง​ที่​ความ​เฉยเมย​และ​แนว​โน้ม​ทาง​โลก​ที่​ผิด​ศีลธรรม​มี​แพร่​หลาย​ใน​ท่ามกลาง​ประชาชน แต่​บรรดา​ผู้​นมัสการ​พระ​ยะโฮวา​ใน​วิสวา​พยายาม​รักษา​ความ​ซื่อ​สัตย์​มั่นคง​ของ​ตน​และ​ได้​รับ​พระ​พร​อย่าง​อุดม. เหล่า​พยาน​ฯ รุ่น​ต่อ​มา​ใน​เขต​พื้น​ที่​นี้​สามารถ​ให้​การ​เป็น​พยาน​ถึง​ความ​จริง​เกี่ยว​ด้วย​คำ​พูด​ของ​อัครสาวก​เปาโล​ที่​ว่า “ถ้า​พระเจ้า​อยู่​ฝ่าย​เรา, ใคร​ผู้​ใด​จะ​ต่อ​สู้​เรา​ได้?”—โรม 8:31.

[ภาพ​หน้า 26]

เอมมีลยา คชอค​ถูก​ส่ง​ไป​ที่​ค่าย​ชั่ว​คราว​ใน​โบฮีเมีย​พร้อม​กับ​ลูก ๆ ของ​เธอ เฮเลนา, เอมมีลยา, และ​ยาน

[ภาพ​หน้า 26]

เมื่อ​พาเวล ซัลโบท​ปฏิเสธ​การ​เข้า​ประจำการ​ใน​กองทัพ เขา​ถูก​ส่ง​ไป​ทำ​งาน​ใน​เหมือง

[ภาพ​หน้า 27]

เมื่อ​พี่​น้อง​ชาย​ถูก​ส่ง​ไป​และ​ได้​เสีย​ชีวิต​ใน​ค่าย​เอาชวิทซ์ การ​งาน​ใน​เมือง​วิสวา​ไม่​ชะงัก​งัน

[ภาพ​หน้า 28]

พาเวล พิลค์​กับ​ยาน โปลอค​ถูก​นำ​ตัว​ไป​ไว้​ที่​ค่าย​เยาวชน​ใน​เมือง​ลอดซ์

[ที่​มา​ของ​ภาพ​หน้า 25]

Berries and flowers: © R.M. Kosinscy / www.kosinscy.pl