เมืองที่การนมัสการแท้กับลัทธินอกรีตขัดแย้งกัน
เมืองที่การนมัสการแท้กับลัทธินอกรีตขัดแย้งกัน
ซากปรักหักพังของเมืองเอเฟโซส์โบราณริมชายฝั่งตะวันตกของตุรกีเป็นบริเวณที่มีการค้นคว้าทางโบราณคดีอย่างเอาจริงเอาจังกว่าหนึ่งศตวรรษมาแล้ว. สิ่งปลูกสร้างหลายอย่างถูกสร้างขึ้นใหม่ และเหล่านักวิทยาศาสตร์ได้ศึกษาและให้คำอธิบายเกี่ยวกับสิ่งที่ขุดค้นพบมากมาย. ผลก็คือ เมืองเอเฟโซส์เป็นหนึ่งในสถานที่ที่นักท่องเที่ยวให้ความสนใจมากที่สุดในตุรกี.
มีการค้นพบอะไรเกี่ยวกับเมืองเอเฟโซส์? ปัจจุบันมีการพูดถึงมหานครโบราณที่งดงามนี้อย่างไร? การเยี่ยมชมซากปรักหักพังของเมืองเอเฟโซส์และพิพิธภัณฑ์เอเฟโซส์ในกรุงเวียนนาประเทศออสเตรียจะช่วยให้เราเข้าใจว่า การนมัสการแท้ขัดแย้งกับศาสนานอกรีตในเมืองเอเฟโซส์อย่างไร. ในตอนแรก ให้เราพิจารณาภูมิหลังบางประการเกี่ยวกับเมืองเอเฟโซส์.
เมืองที่ใคร ๆ ก็อยากครอบครอง
ความไม่สงบและการอพยพไปอยู่ที่อื่นเป็นเรื่องธรรมดาในยูเรเชียช่วงระหว่างศตวรรษที่ 11 ก่อน ส.ศ. ช่วงเวลานั้นชาวกรีกไอโอเนียเริ่มอพยพไปตั้งถิ่นฐานบริเวณริมชายฝั่งตะวันตกของเอเชียน้อย. พวกที่เข้ามาตั้งรกรากในช่วงแรก ๆ ติดต่อเกี่ยวข้องกับผู้คนที่นมัสการพระแม่เจ้า ซึ่งเป็นเทพธิดาที่รู้จักกันในเวลาต่อมาว่า อาร์เตมิสแห่งเมืองเอเฟโซส์.
ช่วงกลางศตวรรษที่เจ็ดก่อนสากลศักราช ชาวซิมเมเรียนซึ่งเป็นชนเผ่าเร่ร่อนจากทะเลดำทางตอนเหนือได้เข้ามาปล้นสะดมเอเชียน้อย. ต่อมา ประมาณปี 550 ก่อน ส.ศ. กษัตริย์ลิเดียที่มีนามว่าเครอซุสได้ขึ้นครองอำนาจในแถบนี้ ผู้ปกครองที่ทรงอำนาจคนนี้ขึ้นชื่อในเรื่องความร่ำรวยมหาศาล. เมื่อจักรวรรดิเปอร์เซียแผ่ขยายอาณาเขต กษัตริย์ไซรัสได้เข้าปราบปรามเมืองของพวกไอโอเนียรวมทั้งเมืองเอเฟโซส์.
ในปี 334 ก่อน ส.ศ. อะเล็กซานเดอร์แห่งมาซิโดเนียเริ่มทำสงครามกับเปอร์เซีย ดังนั้นเมืองเอเฟโซส์จึงมีผู้ปกครองคนใหม่. หลังจากอะเล็กซานเดอร์สิ้นชีวิตก่อนวัยอันควรในปี 323 ก่อน ส.ศ. เมืองเอเฟโซส์ก็เข้าไปเกี่ยวข้องกับการต่อสู้ช่วงชิงอำนาจระหว่างนายพลของเขา. ในปี 133 ก่อน ส.ศ. กษัตริย์แห่งเมืองเปอร์กาโมสคือ แอททาลุสที่สามซึ่งไม่มีบุตรได้ยกเมืองเอเฟโซส์ให้แก่พวกโรมัน ทำให้เมืองนี้เป็นส่วนหนึ่งของแคว้นเอเชียของโรม.
การนมัสการแท้ขัดแย้งกับลัทธินอกรีต
ในศตวรรษแรกสากลศักราช เมื่ออัครสาวกเปาโลมาที่เมืองเอเฟโซส์ในช่วงใกล้สิ้นสุดการเดินทางรอบที่สองในฐานะมิชชันนารี มีผู้อาศัยในเมืองนี้ประมาณ 300,000 คน. (กิจการ 18:19-21) ในระหว่างการเดินทางรอบที่สามฐานะมิชชันนารี เปาโลกลับไปที่เมืองเอเฟโซส์และประกาศราชอาณาจักรของพระเจ้าอีกครั้งด้วยความกล้าหาญในธรรมศาลา. อย่างไรก็ตาม หลังจากสามเดือนผ่านไป การต่อต้านจากพวกยิวรุนแรงขึ้น เปาโลจึงเลือกที่จะบรรยายทุกวันในห้องประชุมของตุระโน. (กิจการ 19:1, 8, 9) ท่านประกาศตลอดสองปีพร้อมทั้งทำการอิทธิฤทธิ์ต่าง ๆ เช่น รักษาคนป่วยด้วยการอัศจรรย์และขับผี. (กิจการ 19:10-17) ไม่เป็นที่น่าประหลาดใจว่า มีหลายคนเข้ามาเป็นผู้เชื่อถือ! ใช่แล้ว พระคำของพระยะโฮวามีชัยจนทำให้อดีตคนทำเวทมนตร์หลายคนเต็มใจเผาตำราอันมีค่าของพวกเขา.—กิจการ 19:19, 20.
การที่เปาโลประสบความสำเร็จในการประกาศไม่เพียงกระตุ้นให้หลายคนเลิกนมัสการเทพธิดาอาร์เตมิสเท่านั้น แต่ยังทำให้คนที่ส่งเสริมการนมัสการแบบนอกรีตโกรธแค้นด้วย. ศาลจำลองรูปพระแม่อาร์เตมิสซึ่งทำด้วยเงินเป็นธุรกิจที่ทำกำไรงาม. เมื่ออาชีพของพวกเขาได้รับความเดือดร้อน เดเมเตรียวจึงยุยงพวกช่างเงินให้ก่อการจลาจล.—กิจการ 19:23-32.
การเผชิญหน้ามาถึงจุดสุดยอดเมื่อฝูงชนตะโกนอย่างบ้าคลั่งเป็นเวลาสองชั่วโมงว่า “พระอะระเตมีของชาวเอเฟโซเป็นใหญ่.” (กิจการ 19:34) หลังจากความโกลาหลสงบลงแล้ว เปาโลหนุนใจเพื่อนคริสเตียนอีกครั้งแล้วก็จากไป. (กิจการ 20:1) แม้เปาโลเดินทางไปยังมาซิโดเนียแล้ว แต่การนมัสการอาร์เตมิสก็ยังตกต่ำลงเรื่อย ๆ จนเสื่อมสูญไป.
วิหารแห่งอาร์เตมิสสั่นคลอน
การนมัสการอาร์เตมิสฝังรากลึกในเมืองเอเฟโซส์. ก่อนสมัยกษัตริย์เครอซุส พระแม่ซีเบเลเป็นศูนย์กลางทางศาสนาในแถบนั้น. เครอซุสหวังจะสร้างเทพเจ้าซึ่งเป็นที่ยอมรับทั้งชาวกรีกและคนที่ไม่ใช่ชาวกรีก จึงแต่งเทพนิยายเรื่องเชื้อสายที่เชื่อมโยงกันระหว่างซีเบเลกับบรรดาเทพเจ้าของกรีก. ช่วงกลางศตวรรษที่หกก่อน ส.ศ. ด้วยการสนับสนุนจากเครอซุส จึงเริ่มมีการสร้างวิหารอาร์เตมิสขึ้นโดยให้เป็นเทพเจ้าที่สืบตำแหน่งต่อจากพระแม่ซีเบเล.
วิหารนี้เป็นความสำเร็จอันโดดเด่นของสถาปัตยกรรมกรีก. ไม่เคยมีการใช้หินอ่อนก้อนใหญ่สร้างอาคารที่มีรูปแบบและขนาดเช่นนี้มาก่อน. ในปี 356 ก่อน ส.ศ. วิหารถูกไฟเผา. การสร้างวิหารใหม่ที่มีความงดงามพอ ๆ กันทำให้หลายคนมีงานทำและทำให้เหล่านักจาริกแสวงบุญพากันหลั่งไหลไปที่นั่น. วิหารใหม่นี้สร้างขึ้นบนฐานที่ยกพื้นกว้างประมาณ 73 เมตรและยาว 127 เมตร ส่วนของวิหารมีความกว้างประมาณ 50 เมตรและยาว 105 เมตร. วิหารนี้ถือเป็นหนึ่งในเจ็ดสิ่งมหัศจรรย์ของโลก. อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ทุกคนชอบวิหารนี้. เฮราเคลทุส นักปราชญ์แห่งเอเฟโซส์เปรียบทางเดินอันมืดสลัวไปยังแท่นบูชาประจำวิหารเสมือนความมืดทึบแห่งความชั่ว และเขาให้ความเห็นว่า การประพฤติด้านศีลธรรมในวิหารนี้เลวร้ายยิ่งกว่าเดรัจฉาน. อย่างไรก็ตาม สำหรับคนส่วนใหญ่แล้ว วิหารอันศักดิ์สิทธิ์ของอาร์เตมิสแห่งเมืองเอเฟโซส์ดูเหมือนไม่มีวันล่มสลาย. แต่ประวัติศาสตร์พิสูจน์ว่าไม่ได้เป็นเช่นนั้น. หนังสือเอเฟโซส—แดร์ นอยเอ ฟือเรอร์ (เอเฟโซส์—หนังสือท่องเที่ยวฉบับใหม่, ภาษาเยอรมัน) กล่าวว่า “การนมัสการอาร์เตมิสและเทพเจ้าอื่น ๆ เสื่อมลงอย่างรวดเร็วในช่วงศตวรรษที่สอง.”
ในศตวรรษที่สามสากลศักราช เกิดแผ่นดินไหวอย่างรุนแรงที่เมืองเอเฟโซส์. ยิ่งกว่านั้น พวกกอทซึ่งเป็นนักเดินทะเลที่มาจากทะเลดำก็ปล้นวิหารอาร์เตมิสอันมั่งคั่งและก็เผา. หนังสือที่เพิ่งอ้างถึงกล่าวว่า “เมื่อพ่ายแพ้และไม่สามารถปกป้องที่อยู่ของตนเอาไว้ได้ จะถือว่าอาร์เตมิสเป็นผู้ปกป้องเมืองอีกต่อไปได้อย่างไร?”—ในที่สุด พอถึงช่วงปลายศตวรรษที่สี่สากลศักราช จักรพรรดิทีโอโดซิอุสที่ 1 ได้รับรอง “ศาสนาคริสเตียน” เป็นศาสนาประจำชาติ. ไม่ช้า วิหารอาร์เตมิสที่ก่อสร้างด้วยหินซึ่งครั้งหนึ่งเคยมีชื่อเสียงก็กลายเป็นเพียงแหล่งที่ผู้คนพากันมาเอาหินไปใช้ในการก่อสร้าง. การนมัสการอาร์เตมิสสาบสูญไปอย่างสิ้นเชิง. ผู้สังเกตการณ์ที่ไม่ได้ระบุชื่อพูดถึงคำยกยอที่มอบให้วิหารนี้ในฐานะสิ่งมหัศจรรย์ของโลกโบราณว่า “ตอนนี้ก็เป็นแค่สถานที่ที่ร้างเปล่าและน่าสังเวชมากที่สุด.”
จากอาร์เตมิสสู่ “แม่พระ”
เปาโลเตือนพวกผู้เฒ่าผู้แก่แห่งประชาคมเมืองเอเฟโซส์ว่า หลังจากที่ท่านจากไป พวก “สุนัขป่าอันร้าย” จะปรากฏตัวและเกิดมีบางคนในท่ามกลางพวกเขา “กล่าวเลี่ยงความจริง.” (กิจการ 20:17, 29, 30) เรื่องนี้ได้เกิดขึ้นจริง ๆ. เหตุการณ์ต่าง ๆ เผยให้เห็นว่า การนมัสการเท็จได้แพร่หลายในเมืองเอเฟโซส์ในรูปแบบของศาสนาคริสเตียนที่ออกหาก.
ในปี 431 สากลศักราช เมืองเอเฟโซส์เป็นที่ตั้งของสภาที่สามแห่งคริสตจักรศาสนาทั้งมวล ซึ่งมีการพิจารณาประเด็นเรื่องลักษณะของพระคริสต์. หนังสือเอเฟโซส—แดร์ นอยเอ ฟือเรอร์ อธิบายว่า “พวกอะเล็กซานเดรีย ซึ่งเป็นพวกที่ถือว่า พระคริสต์มีลักษณะอย่างเดียว นั่นคือเป็นอย่างพระเจ้า . . . ได้ชัยชนะอย่างเด็ดขาด.” ผลที่ตามมาส่งผลกระทบอย่างกว้างขวาง. “การตัดสินที่เอเฟโซส์ทำให้มาเรียถูกยกระดับจากผู้ให้กำเนิดพระคริสต์ เป็นผู้ให้กำเนิดพระเจ้า เรื่องนี้ไม่เพียงทำให้เกิดพื้นฐานการนมัสการมาเรียเท่านั้น แต่ยังทำให้เกิดการแตกแยกครั้งใหญ่เป็นครั้งแรกภายในคริสตจักรด้วย. . . . ความขัดแย้งนี้ยืดเยื้อมาจนทุกวันนี้.”
ด้วยเหตุนี้ การนมัสการซีเบเลและอาร์เตมิสจึงถูกแทนที่ด้วยการนมัสการมาเรียซึ่งเป็น “ผู้ให้กำเนิดพระเจ้า” หรือ “แม่พระ.” ดังที่หนังสือนี้กล่าวไว้ “การนมัสการมาเรียในเมืองเอเฟโซส์ . . . ยังคงเป็นธรรมเนียมที่ถือปฏิบัติกันจนถึงทุกวันนี้ ซึ่งเกี่ยวโยงกับการนมัสการอาร์เตมิสอย่างแยกไม่ออก.”
เป็นส่วนหนึ่งในประวัติศาสตร์ที่ถูกลืม
หลังความตกต่ำของการนมัสการอาร์เตมิสก็ถึงคราวการล่มสลายของเมืองเอเฟโซส์. แผ่นดินไหว, มาลาเรีย, และท่าเรือที่ค่อย ๆ ตื้นเขินทำให้การดำเนินชีวิตในเมืองยากลำบากมากขึ้นเรื่อย ๆ.
พอถึงศตวรรษที่เจ็ดสากลศักราช ศาสนาอิสลามได้เริ่มแผ่ขยายออกไป. ศาสนาอิสลามไม่เพียงรวมอาหรับเผ่าต่าง ๆ ให้มีอุดมการณ์เดียวกัน. แต่กองเรืออาหรับยังปล้นเมืองเอเฟโซส์ตลอดศตวรรษที่เจ็ดและแปดสากลศักราช. เมืองเอเฟโซส์ล่มสลายอย่างสิ้นเชิงเมื่อท่าเรือตื้นเขินเต็มที่และเมืองก็กลายเป็นกองซากปรักหักพัง. มหานครที่ครั้งหนึ่งเคยรุ่งเรืองกลับเหลือเพียงหมู่บ้านเล็ก ๆ ที่ชื่อว่า อายาโซลัก (ปัจจุบันเซลชุก).
เที่ยวชมซากปรักหักพังของเมืองเอเฟโซส์
เพื่อจะรู้สึกถึงความรุ่งเรืองของเมืองเอเฟโซส์ในอดีต คุณอาจไปเที่ยวชมซากปรักหักพังของเมืองนั้น. หากคุณตั้งต้นที่ทางเข้าด้านบน คุณจะรู้สึกตื่นตาตื่นใจกับทัศนียภาพอันงดงามของถนนคูเรเทสที่ทอดยาวไปจนถึงห้องสมุดของเซลซุส. โอเดียม—โรงมหรสพขนาดเล็กที่สร้างขึ้นในศตวรรษที่สองสากลศักราช—ซึ่งอยู่ฝั่งขวาของถนนคงเป็นสถานที่ที่น่าสนใจสำหรับคุณ. โรงมหรสพนี้จุคนได้ประมาณ 1,500 ที่นั่ง จึงไม่ได้มีไว้เพื่อการประชุมสภาเพียงอย่างเดียว
แต่เป็นสถานที่ให้ความบันเทิงแก่ผู้คนด้วย. ถนนคูเรเทสมีสิ่งปลูกสร้างเรียงรายอยู่สองฟาก อย่างเช่น สเตต อะกอราซึ่งเป็นสถานที่ที่มีการพิจารณาเรื่องราวต่าง ๆ ของเมือง, วิหารเฮเดรียน, น้ำพุสาธารณะบางแห่ง, และบ้านที่ปลูกเรียงรายอยู่ข้างเนินเขา—ซึ่งเป็นบ้านของชาวเอเฟโซส์ที่มีชื่อเสียง.คุณจะประทับใจในความงดงามของห้องสมุดของเซลซุสอันหรูหราซึ่งสร้างขึ้นในศตวรรษที่สองสากลศักราช. มีการเก็บม้วนหนังสือจำนวนมากไว้ที่ช่องผนังของห้องอ่านหนังสือขนาดใหญ่. รูปแกะสลักอันงดงามทั้งสี่ที่อยู่ด้านหน้าห้องสมุดพรรณนาคุณลักษณะอันเป็นแบบฉบับซึ่งคาดหมายจากข้าราชการโรมันระดับสูงอย่างเช่น เซลซุส โดยรูปแกะสลักทั้งสี่มีชื่อว่า โซเฟีย (สติปัญญา), อาเรเต (คุณธรรม), เอเนีย (ความเลื่อมใส), และเอพิสตีมี (ความรู้หรือความเข้าใจ). รูปแกะสลักต้นแบบอยู่ที่พิพิธภัณฑ์เอเฟโซส์ในกรุงเวียนนา. ส่วนที่อยู่ถัดจากลานหน้าห้องสมุดคือ ประตูขนาดใหญ่ซึ่งจะนำคุณไปสู่เตตราโกโนส อะกอราซึ่งก็คือตลาด. จัตุรัสใหญ่นี้ล้อมรอบด้วยทางเดินที่มีหลังคา เป็นที่ที่ผู้คนทำการค้าขายกันตามปกติ.
ถัดมาคือถนนหินอ่อนซึ่งจะนำคุณสู่โรงมหรสพขนาดใหญ่. การต่อเติมครั้งสุดท้ายที่ทำในสมัยจักรวรรดิโรมันทำให้โรงมหรสพนี้จุผู้ชมได้ประมาณ 25,000 คน. ด้านหน้าของโรงมหรสพนี้ได้รับการตกแต่งอย่างอลังการด้วยเสาหิน, ภาพนูน, และรูปแกะสลัก. คุณคงนึกภาพได้อย่างแจ่มชัดถึงความโกลาหลวุ่นวายซึ่งเกิดจากช่างเงินเดเมเตรียวปลุกปั่นฝูงชนที่มารวมตัวกันที่นั่น.
ถนนที่ทอดยาวจากโรงมหรสพขนาดใหญ่ไปยังท่าเรือของเมืองก็เป็นถนนที่สวยงาม. ถนนนี้มีความยาวประมาณ 500 เมตรและกว้าง 11 เมตร เรียงรายไปด้วยเสาหินทั้งสองด้าน. ตามเส้นทางนี้มีการสร้างโรงพลศึกษาบริเวณโรงมหรสพและท่าเรือเพื่อใช้ในการออกกำลังกายด้วย. ประตูท่าเรือที่น่าประทับใจซึ่งอยู่สุดถนนสายนี้เป็นประตูสู่โลกกว้าง และการเยี่ยมชมซากปรักหักพังที่น่าสนใจที่สุดในโลกก็สิ้นสุดลงที่นี่. พิพิธภัณฑ์เอเฟโซส์ในกรุงเวียนนามีแบบจำลองมหานครทางประวัติศาสตร์แห่งนี้ซึ่งทำจากไม้ รวมทั้งสิ่งปลูกสร้างอื่น ๆ มากมายด้วย.
การไปเที่ยวพิพิธภัณฑ์และเยี่ยมชมรูปแกะสลักอาร์เตมิสแห่งเมืองเอเฟโซส์คงทำให้เราอดไม่ได้ที่จะนึกถึงความอดทนของคริสเตียนรุ่นแรกในเมืองนั้น. พวกเขาต้องอาศัยอยู่ในเมืองที่เต็มไปด้วยลัทธิภูติผีปิศาจและความงมงายเนื่องจากอคติทางศาสนา. ข่าวสารราชอาณาจักรถูกต่อต้านอย่างรุนแรงจากผู้นมัสการอาร์เตมิส. (กิจการ 19:19; เอเฟโซ 6:12; วิวรณ์ 2:1-3) ในสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้ออำนวยแบบนี้ การนมัสการแท้ก็ยังตั้งมั่นคงขึ้นได้. การนมัสการพระเจ้าเที่ยงแท้จะมีชัยเช่นกัน เมื่อศาสนาเท็จในสมัยของเราจะพบจุดจบเช่นเดียวกับการนมัสการอาร์เตมิสในสมัยโบราณ.—วิวรณ์ 18:4-8.
[แผนที่/ภาพหน้า 26]
(รายละเอียดดูจากวารสาร)
มาซิโดเนีย
ทะเลดำ
เอเชียน้อย
เอเฟโซส์
ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน
อียิปต์
[ภาพหน้า 27]
ส่วนที่ยังเหลืออยู่ของวิหารอาร์เตมิส
[ภาพหน้า 29]
1. ห้องสมุดของเซลซุส
2. ภาพขยายของอาเรเต
3. ถนนหินอ่อนซึ่งนำไปสู่โรงมหรสพขนาดใหญ่