จงระวังธรรมเนียมที่ทำให้พระเจ้าไม่พอพระทัย
จงระวังธรรมเนียมที่ทำให้พระเจ้าไม่พอพระทัย
ณ ลานเล็ก ๆ แห่งหนึ่ง โลงศพวางเปิดอยู่กลางแดดจ้าในแอฟริกา. ขณะที่ผู้โศกเศร้าเดินเรียงแถวผ่านโลงศพเพื่อแสดงความโศกเศร้าของตน ชายชราคนหนึ่งหยุดยืนอยู่. ดวงตาของเขาดูเศร้าหมองมาก เขาก้มตัวลงไปใกล้กับหน้าของผู้ตายแล้วเริ่มพูดว่า “ทำไมพี่ไม่บอกผมว่าพี่จะจากไปแล้ว? ทำไมพี่ทิ้งผมไปแบบนี้? เมื่อพี่กลับมาเกิดใหม่แล้ว พี่จะช่วยเหลือผมอีกไหม?”
ในอีกส่วนหนึ่งของแอฟริกา เมื่อทารกเกิดมา จะไม่ให้ใครเห็นทารกนั้น. หลังจากช่วงหนึ่งผ่านไป จึงเอาทารกออกมาให้ชาวบ้านดูแล้วทำพิธีตั้งชื่อ.
สำหรับบางคนแล้ว การพูดกับคนตายหรือการซ่อนทารกที่เกิดใหม่ไม่ให้คนอื่นเห็นนั้นอาจดูเหมือนเป็นพฤติกรรมที่แปลก. แต่ในบางวัฒนธรรมและสังคม การปฏิบัติและทัศนะของผู้คนในเรื่องการตายและการเกิดได้รับอิทธิพลจากความเชื่อที่มีพลังมากที่ว่า คนตายยังมีชีวิตอยู่และรู้สึกตัว.
ความเชื่อนี้มีพลังมากจนเป็นส่วนสำคัญของธรรมเนียมและพิธีกรรมต่าง ๆ ซึ่งเกี่ยวข้องเกือบทุกด้านในชีวิต. ยกตัวอย่าง หลายล้านคนเชื่อว่าช่วงชีวิตที่สำคัญของคนเรา เช่น การเกิด, การเจริญพันธุ์, การสมรส, การมีบุตร, และการตาย เป็นการผ่านช่วงต่าง ๆ เพื่อไปสู่แดนวิญญาณของ
บรรพบุรุษ. เชื่อกันว่า ณ ที่นั่น คนตายยังคงมีบทบาทต่อคนที่มีชีวิตอยู่. และเขาอาจมีวงจรชีวิตต่อไปอีกโดยการเกิดใหม่.เพื่อทำให้แน่ใจว่าการผ่านช่วงต่าง ๆ แห่งวงจรนี้จะราบรื่น จึงมีการปฏิบัติตามธรรมเนียมและพิธีกรรมมากมาย. ธรรมเนียมเหล่านี้ได้รับอิทธิพลจากความเชื่อที่ว่า มีอะไรบางอย่างในตัวเราที่ไม่ตาย. คริสเตียนแท้หลีกหนีธรรมเนียมใด ๆ ก็ตามที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อดังกล่าว. เพราะเหตุใด?
คนตายมีสภาพเช่นไร?
คัมภีร์ไบเบิลอธิบายอย่างชัดเจนเกี่ยวกับสภาพของคนตาย. คัมภีร์ไบเบิลกล่าวอย่างเรียบง่ายว่า “คนเป็นย่อมรู้ว่าเขาเองคงจะตาย, แต่คนตายแล้วก็ไม่รู้อะไรเลย . . . ถึงความรักของเขาก็ทำนองเดียวกันกับความชังและความอิจฉาของเขาได้สาบสูญไปตามกันนานแล้ว . . . ไม่มีการงาน, หรือโครงการ, หรือความรู้หรือสติปัญญาในเมืองผี [หลุมฝังศพทั่วไปของมนุษยชาติ] ที่เจ้าจะไปนั้น.” (ท่านผู้ประกาศ 9:5, 6, 10) ผู้นมัสการแท้ของพระเจ้ายึดมั่นกับความจริงพื้นฐานนี้ในคัมภีร์ไบเบิลมานานแล้ว. พวกเขาเข้าใจว่า จิตวิญญาณสามารถตายและถูกทำลายได้ ไม่ใช่เป็นอมตะ. (ยะเอศเคล 18:4) พวกเขายังรู้อีกด้วยว่า วิญญาณคนตายไม่มีจริง. (บทเพลงสรรเสริญ 146:4) ในสมัยโบราณ พระยะโฮวาทรงบัญชาประชาชนของพระองค์อย่างเคร่งครัด ให้แยกตัวอย่างสิ้นเชิงจากธรรมเนียมหรือพิธีกรรมใด ๆ ก็ตามซึ่งเกี่ยวข้องกับความเชื่อที่ว่า คนตายรู้สึกตัวและมีอิทธิพลต่อคนที่มีชีวิตอยู่.—พระบัญญัติ 14:1; 18:9-13; ยะซายา 8:19, 20.
เช่นเดียวกัน คริสเตียนในศตวรรษแรกได้หลีกเลี่ยงธรรมเนียมที่สืบต่อกันมาหรือพิธีกรรมใด ๆ ก็ตามที่เกี่ยวข้องกับคำสอนของศาสนาเท็จ. (2 โกรินโธ 6:15-17) ทุกวันนี้ พยานพระยะโฮวา ไม่ว่าจะมีเชื้อชาติ, เผ่าพันธุ์, หรือภูมิหลังแบบใด ได้หลีกเว้นประเพณีและธรรมเนียมซึ่งเกี่ยวพันกับคำสอนเท็จที่ว่า มีอะไรบางอย่างในตัวมนุษย์ที่ไม่ตาย.
อะไรจะช่วยชี้นำเราในฐานะคริสเตียนเมื่อทำการตัดสินใจว่าจะทำตามธรรมเนียมบางอย่างหรือไม่? เราต้องคิดอย่างรอบคอบในเรื่องธรรมเนียมที่อาจเกี่ยวข้องกับคำสอนใด ๆ ที่ไม่เป็นไปตามหลักพระคัมภีร์ เช่น ความเชื่อที่ว่าวิญญาณคนตายมีอิทธิพลต่อคนที่มีชีวิตอยู่. นอกจากนี้ เราจำเป็นต้องคำนึงว่า การมีส่วนร่วมในธรรมเนียมหรือพิธีดังกล่าวอาจทำให้คนอื่นที่รู้เรื่องความเชื่อและคำสอนของพยานพระยะโฮวานั้นสะดุดได้. โดยคำนึงถึงจุดเหล่านั้น ให้เราพิจารณาสองขอบเขตที่นับว่าสำคัญ นั่นคือการเกิดและการตาย.
การเกิดและพิธีตั้งชื่อเด็ก
ธรรมเนียมหลายอย่างซึ่งเกี่ยวข้องกับเด็กที่เกิดมานั้นนับว่าเหมาะสม. แต่ในที่ที่ถือว่าการเกิดเป็นทางผ่านจากแดนวิญญาณของบรรพบุรุษไปสู่โลกมนุษย์ คริสเตียนแท้จำต้องระมัดระวัง. ยกตัวอย่างเช่น ในบางส่วนของแอฟริกา ทารกที่เกิดใหม่จะถูกเลี้ยงภายในบ้านและยังไม่มีชื่อจนกว่าจะผ่านช่วงหนึ่งไปแล้ว. แม้ว่าช่วงเวลาที่รอคอยอาจต่างกันไปในแต่ละแห่ง แต่จะสิ้นสุดลงด้วยพิธีตั้งชื่อเด็ก โดยเอาเด็กออกมานอกบ้านเพื่อให้ญาติมิตรได้ดูตามธรรมเนียม. ในตอนนั้น จะมีการประกาศชื่อเด็กอย่างเป็นทางการให้แก่คนที่มาร่วมพิธี.
หนังสือกานา—การเข้าใจผู้คนและวัฒนธรรมของพวกเขา (ภาษาอังกฤษ) อธิบายความหมายของธรรมเนียมนี้ว่า “ในช่วงชีวิตเจ็ดวันแรกของทารก ถือกันว่าทารก ‘มาเยือน’ และกำลังจะผ่านโลกวิญญาณมาสู่ชีวิตบนโลก. . . . ตามปกติแล้ว ทารกจะอยู่ในบ้านและคนภายนอกครอบครัวไม่ได้รับอนุญาตให้เห็นทารกนั้น.”
ทำไมจึงต้องรอก่อนที่จะมีการตั้งชื่อเด็กตามพิธี? หนังสือย้อนอดีตในกานา (ภาษาอังกฤษ) อธิบายว่า “ก่อนวันที่แปด ถือกันว่าทารกยังไม่เป็นมนุษย์. เขายังเกี่ยวข้องกับแดนวิญญาณไม่มากก็น้อยซึ่งเป็นที่ที่เขาจากมา.” หนังสือนั้นอธิบายต่อไปว่า “เนื่องจากชื่อเป็นเหมือนการทำให้เด็กเป็นมนุษย์ เมื่อพ่อแม่กลัวว่าลูกของตนจะเสียชีวิต พวกเขา
มักจะเลื่อนการตั้งชื่อออกไปจนกว่าแน่ใจได้ว่าลูกจะรอด. . . . ด้วยเหตุนี้ พิธีกรรมดังกล่าว ซึ่งเป็นการเอาเด็กออกมาให้ผู้คนรู้จัก ถือกันว่าสำคัญมากสำหรับเด็กและพ่อแม่. นั่นเป็นพิธีที่นำเด็กเข้าสู่สังคมหรือโลกมนุษย์.”ตามปกติแล้ว ผู้อาวุโสในครอบครัวจะเป็นผู้ประกอบพิธีตั้งชื่อเด็กดังกล่าว. ขั้นตอนต่าง ๆ ในพิธีนี้แตกต่างกันไปในแต่ละแห่ง แต่พิธีนี้มักจะประกอบด้วยการกรวดน้ำ, การสวดมนต์ถึงวิญญาณบรรพบุรุษเพื่อขอบคุณที่ให้เด็กเกิดมาอย่างปลอดภัย, และพิธีกรรมอื่น ๆ.
จุดเด่นของพิธีดังกล่าวอยู่ที่ตอนประกาศชื่อเด็ก. แม้พ่อแม่มีหน้าที่ตั้งชื่อให้ลูกของตน แต่ญาติ ๆ มักจะมีอิทธิพลอย่างมากในการเลือกชื่อ. บางชื่ออาจมีความหมายเป็นนัยในภาษาถิ่น เช่น “ไปแล้วกลับ,” “แม่มาเกิดรอบสอง,” หรือ “พ่อมาเกิดอีกครั้ง.” มีการตั้งชื่ออื่น ๆ ที่มีความหมายว่า ไม่ให้บรรพบุรุษเอาทารกที่เกิดใหม่กลับไปสู่โลกคนตาย.
แน่นอน การยินดีที่เด็กเกิดมานั้นไม่ผิด. การตั้งชื่อเด็กตามผู้อื่นและการตั้งชื่อตามสภาพการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการเกิดมาของเด็กนั้นเป็นธรรมเนียมที่ยอมรับได้ และการตัดสินใจว่าจะตั้งชื่อเด็กเมื่อไรก็เป็นการตัดสินใจส่วนตัว. * อย่างไรก็ตาม คริสเตียนที่ต้องการทำให้พระเจ้าพอพระทัยระมัดระวังที่จะหลีกหนีธรรมเนียมหรือพิธีใด ๆ ก็ตามซึ่งทำให้รู้สึกว่าพวกเขาเห็นพ้องกับทัศนะที่ว่า ทารกที่เกิดใหม่เป็น “ผู้มาเยือน” จากโลกวิญญาณแห่งบรรพบุรุษที่มาสู่โลกมนุษย์.
นอกจากนี้ ขณะที่หลายคนในชุมชนมองพิธีตั้งชื่อว่าเป็นพิธีที่สำคัญ คริสเตียนควรจะคำนึงถึงสติรู้สึกผิดชอบของผู้อื่นและนึกถึงความรู้สึกของคนที่ไม่มีความเชื่อ. ยกตัวอย่าง บางคนอาจลงความเห็นเช่นไรหากคริสเตียนครอบครัวหนึ่งไม่ยอมให้คนอื่นเห็นทารกที่เกิดใหม่จนกว่าจะถึงพิธีตั้งชื่อ? บางคนจะรู้สึกอย่างไรหากมีการตั้งชื่อเด็กขัดแย้งกับการที่เขาบอกว่าเป็นผู้สอนความจริงในคัมภีร์ไบเบิล?
ดังนั้น เมื่อตัดสินใจว่าจะตั้งชื่อเด็กเมื่อไรและจะตั้งชื่ออย่างไร คริสเตียนพยายาม “กระทำทุกสิ่งให้เป็นที่ถวายเกียรติยศแก่พระเจ้า” เพื่อไม่เป็นต้นเหตุให้ใครสะดุด. (1 โกรินโธ 10:31-33) พวกเขาไม่ “ละทิ้งข้อบัญญัติของพระเจ้า, เพื่อจะได้ถือตามลัทธิคำสอน” ซึ่งในที่สุดเป็นการจงใจให้เกียรติผู้ตาย. ตรงกันข้าม พวกเขาถวายพระเกียรติและสง่าราศีแด่พระยะโฮวา พระเจ้าผู้ทรงพระชนม์อยู่.—มาระโก 7:9, 13.
จากความตายเปลี่ยนเป็นมีชีวิต
เช่นเดียวกับการเกิด หลายคนถือว่าความตายเป็นจุดเปลี่ยน คือคนตายย้ายจากโลกที่มองเห็นได้ไปอยู่ในแดนวิญญาณคนตายที่มองไม่เห็น. หลายคนเชื่อว่าถ้าไม่จัดงานศพและพิธีกรรมบางอย่างสำหรับคนตาย วิญญาณบรรพบุรุษ ซึ่งเชื่อว่ามีอำนาจในการลงโทษหรือให้โชคลาภคนที่มีชีวิตอยู่ จะโกรธเคือง. ความเชื่อนี้มีอิทธิพลอย่างยิ่งต่อวิธีจัดงานศพ.
บ่อยครั้ง งานศพที่หมายจะให้ผู้ตายพอใจเกี่ยวข้องกับการแสดงอารมณ์ออกมาเต็มที่—จากการคร่ำครวญแบบไร้การควบคุมและการร้องตะโกนต่อหน้าศพไปถึงงานเลี้ยงสนุกสนานหลังจากการฝังศพ. บ่อยครั้ง งานเลี้ยงแบบไม่มีการควบคุม, การเมาเหล้า, และการเต้นรำโดยเปิดเพลงเสียงดังเป็นลักษณะเด่นของงานศพดังกล่าว. มีการให้ความสำคัญมากกับงานศพ บ่อยครั้ง แม้แต่ครอบครัวที่ยากจนที่สุดก็พยายามอย่างหนักเพื่อรวบรวมเงินให้เพียงพอที่จะจัด “งานศพที่เหมาะสม” แม้ว่านั่นอาจทำให้ยากลำบากและต้องเป็นหนี้ก็ตาม.
ตลอดหลายปี พยานพระยะโฮวาได้เปิดเผยอย่างถี่ถ้วนเกี่ยวกับธรรมเนียมต่าง ๆ ในงานศพซึ่งไม่เป็นไปตามหลักพระคัมภีร์. * ธรรมเนียมเหล่านั้นประกอบด้วยการเฝ้าศพ, การกรวดน้ำ, การพูดคุยและการขอร้องผู้ตาย, การประกอบ พิธีครบรอบวันตาย, และธรรมเนียมอื่น ๆ ซึ่งอาศัยความเชื่อที่ว่ามีอะไรบางอย่างในตัวคนเราที่ไม่ตาย. ธรรมเนียมเหล่านั้นที่หลู่เกียรติพระเจ้าเป็น “สิ่งไม่สะอาด,” เป็น “คำล่อลวงเหลวไหล” ซึ่งอาศัย “ประเพณีของมนุษย์” และไม่ได้อาศัยความจริงแห่งพระคำของพระเจ้า.—ยะซายา 52:11, ฉบับแปลใหม่; โกโลซาย 2:8, ล.ม.
ความกดดันให้ทำตาม
การหลีกเลี่ยงธรรมเนียมที่สืบต่อกันมาเป็นเรื่องท้าทายสำหรับบางคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในดินแดนที่ถือว่าการให้เกียรติผู้ตายมีความสำคัญอย่างยิ่ง. เนื่องจากไม่ปฏิบัติตามธรรมเนียมดังกล่าว พยานพระยะโฮวาถูกมองด้วยความสงสัยหรือถูกกล่าวหาว่าต่อต้านสังคมและไม่นับถือผู้ตาย. การวิพากษ์วิจารณ์และความกดดันอย่างหนักได้ทำให้บางคนกลัวที่จะแตกต่างจากคนอื่นอย่างเด่นชัด แม้พวกเขามีความเข้าใจที่ถูกต้องเรื่องความจริงในคัมภีร์ไบเบิลก็ตาม. (1 เปโตร 3:14) คนอื่นรู้สึกว่าธรรมเนียมเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งแห่งวัฒนธรรมของพวกเขาและไม่อาจหลีกเลี่ยงได้อย่างสิ้นเชิง. ยังมีบางคนให้เหตุผลว่า การไม่ปฏิบัติตามธรรมเนียมอาจทำให้ชุมชนมีอคติต่อประชาชนของพระเจ้า.
เราไม่ต้องการทำให้ผู้อื่นขุ่นเคืองโดยไม่จำเป็น. กระนั้น คัมภีร์ไบเบิลเตือนเราว่า การยืนหยัดมั่นคงเพื่อความจริงจะยังผลให้โลกที่ห่างเหินพระเจ้าไม่พอใจ. (โยฮัน 15:18, 19; 2 ติโมเธียว 3:12; 1 โยฮัน 5:19) เราเต็มใจจะยืนหยัดเช่นนั้น โดยรู้ว่าเราต้องแตกต่างจากคนเหล่านั้นที่อยู่ในความมืดฝ่ายวิญญาณ. (มาลาคี 3:18; ฆะลาเตีย 6:12) พระเยซูทรงต้านทานการล่อใจจากซาตานให้ทำสิ่งที่พระเจ้าไม่พอพระทัยฉันใด เราก็จะต้านทานความกดดันให้ปฏิบัติในแนวทางที่พระเจ้าไม่พอพระทัยฉันนั้น. (มัดธาย 4:3-7) แทนที่จะถูกครอบงำด้วยความกลัวหน้ามนุษย์ คริสเตียนแท้คำนึงถึงการทำให้พระยะโฮวาพระเจ้าพอพระทัยเป็นอันดับแรกและถวายพระเกียรติแด่พระองค์ในฐานะพระเจ้าแห่งความจริง. พวกเขาทำเช่นนั้นโดยไม่ยอมอะลุ่มอล่วยมาตรฐานของคัมภีร์ไบเบิลในเรื่องการนมัสการที่บริสุทธิ์เนื่องจากความกดดันจากคนอื่น.—สุภาษิต 29:25; กิจการ 5:29.
ถวายพระเกียรติแด่พระยะโฮวาด้วยทัศนะที่เรามีต่อคนตาย
เป็นเรื่องปกติที่จะรู้สึกปวดร้าวใจอย่างยิ่งและโศกเศร้าเมื่อคนที่เรารักเสียชีวิต. (โยฮัน 11:33, 35) การระลึกถึงผู้เป็นที่รักและการจัดการฝังศพที่มีเกียรตินั้นเป็นการแสดงความรักที่เหมาะสม. แต่พยานพระยะโฮวาทนกับความโศกเศร้าแสนสาหัสเนื่องจากความตาย โดยไม่รับเอากิจปฏิบัติใด ๆ ที่ทำสืบต่อกันมาซึ่งทำให้พระเจ้าไม่พอพระทัย. นี่ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับคนที่ได้รับการเลี้ยงดูในวัฒนธรรมที่มีความกลัวคนตายอย่างยิ่ง. นั่นอาจเป็นข้อท้าทายที่จะรักษาความสมดุลของเรา เมื่อการตายของคนที่ใกล้ชิดกับเราทำให้ปวดร้าวใจ. ถึงกระนั้น คริสเตียนที่ซื่อสัตย์ได้รับการเสริมกำลังจากพระยะโฮวา “พระเจ้าผู้ทรงชูใจทุกอย่าง” และได้รับประโยชน์จากการเกื้อหนุนด้วยความรักของเพื่อนร่วมความเชื่อ. (2 โกรินโธ 1:3, 4) ความเชื่ออันเข้มแข็งของพวกเขาที่ว่า สักวันหนึ่ง คนตายที่ไม่รู้สึกตัวซึ่งอยู่ในความทรงจำของพระเจ้าจะมีชีวิตอีกครั้ง ทำให้คริสเตียนแท้มีเหตุผลทุกประการที่จะแยกตัวอย่างสิ้นเชิงจากธรรมเนียมงานศพที่ไม่เป็นไปตามหลักการคริสเตียน ซึ่งปฏิเสธความจริงเรื่องการกลับเป็นขึ้นจากตาย.
เรารู้สึกตื่นเต้นมิใช่หรือที่พระยะโฮวาทรงเรียกเรา “ออกมาจากความมืดเข้าไปสู่ความสว่างอันมหัศจรรย์ของพระองค์”? (1 เปโตร 2:9, ฉบับแปลใหม่) ขณะที่เราประสบความยินดีเกี่ยวกับการเกิดและอดทนกับความโศกเศร้าเนื่องจากความตาย ขอให้ความปรารถนาอันแรงกล้าของเราที่จะทำสิ่งที่ถูกต้องและความรักอันลึกซึ้งต่อพระยะโฮวาพระเจ้ากระตุ้นเราเสมอให้ “ประพฤติอย่างลูกของความสว่าง.” ขอเราอย่ายอมให้ตัวเองแปดเปื้อนทางฝ่ายวิญญาณ เนื่องจากธรรมเนียมที่ไม่เป็นไปตามหลักการคริสเตียนซึ่งทำให้พระเจ้าไม่พอพระทัย.—เอเฟโซ 5:8.
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 17 ในประเทศไทย ทารกที่เกิดใหม่กฎหมายกำหนดให้แจ้งต่อนายทะเบียนภายใน 15 วัน.
^ วรรค 23 โปรดดูจุลสารวิญญาณคนตาย—ช่วยคุณหรือเป็นภัยต่อคุณ? วิญญาณคนตายมีอยู่จริงไหม? จัดพิมพ์โดยพยานพระยะโฮวา.