เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันเนื่องด้วยความรักต่อพระเจ้า
เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันเนื่องด้วยความรักต่อพระเจ้า
เมื่อประชาคมคริสเตียนถูกตั้งขึ้นในศตวรรษแรกสากลศักราช ลักษณะเด่นอย่างหนึ่งของประชาคมก็คือเอกภาพ ทั้ง ๆ ที่มีความหลากหลายท่ามกลางสมาชิก. บรรดาผู้นมัสการพระเจ้าเที่ยงแท้เหล่านี้มาจากชาติต่าง ๆ ในเอเชีย, ยุโรป, และแอฟริกา. พวกเขาเป็นตัวแทนมาจากภูมิหลังที่หลากหลาย มีพวกปุโรหิต, ทหาร, ทาส, ผู้ลี้ภัย, พ่อค้า, ผู้เชี่ยวชาญในสาขาอาชีพต่าง ๆ, และนักธุรกิจ. บางคนเป็นชาวยิว ส่วนคนอื่นเป็นคนต่างชาติ. หลายคนเคยเป็นคนเล่นชู้, รักร่วมเพศ, เมาเหล้า, ขโมย, หรือคนกรรโชกทรัพย์. ถึงกระนั้น เมื่อเข้ามาเป็นคริสเตียน พวกเขาได้ละทิ้งกิจปฏิบัติที่ชั่วและเข้ามาเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันอย่างใกล้ชิดในความเชื่อ.
อะไรทำให้ศาสนาคริสเตียนในศตวรรษแรกสามารถนำคนเหล่านี้ทั้งหมดมารวมกันอย่างเป็นเอกภาพ? เหตุใดพวกเขาจึงมีสันติสุขท่ามกลางพวกเขาและกับคนทั่วไป? เหตุใดพวกเขาไม่เข้าร่วมในการขืนอำนาจและการสู้รบ? ทำไมศาสนาคริสเตียนยุคแรกจึงต่างกันมากกับศาสนาใหญ่ ๆ ในทุกวันนี้?
อะไรชักนำสมาชิกของประชาคมมารวมกันอย่างใกล้ชิด?
ปัจจัยสำคัญที่สุดซึ่งทำให้ผู้มีความเชื่อในศตวรรษแรกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันคือความรักต่อพระเจ้า. คริสเตียนเหล่านั้นยอมรับพันธะอันดับแรกของเขาที่จะรักพระยะโฮวา พระเจ้าเที่ยงแท้ ด้วยสุดหัวใจ, สุดจิตวิญญาณ, และ1 โกรินโธ 1:10; มัดธาย 22:37; กิจการ 10:1-35.
สุดจิตใจของเขา. ตัวอย่างเช่น อัครสาวกเปโตร ซึ่งเป็นชาวยิวได้รับคำสั่งให้ไปเยี่ยมบ้านของชาวต่างชาติคนหนึ่ง ผู้ซึ่งตามปกติแล้วท่านจะไม่คบสนิทด้วย. สิ่งที่กระตุ้นท่านให้เชื่อฟังก็คือความรักต่อพระยะโฮวาเป็นประการสำคัญ. เปโตรและคริสเตียนรุ่นแรกคนอื่น ๆ มีสัมพันธภาพใกล้ชิดกับพระเจ้าซึ่งอาศัยความรู้ถ่องแท้เกี่ยวกับบุคลิกลักษณะของพระองค์ สิ่งที่พระองค์ทรงชอบและไม่ชอบ. ในที่สุด ผู้นมัสการทั้งสิ้นได้เข้าใจว่าพระยะโฮวามีพระทัยประสงค์ให้พวกเขา “เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวและถืออย่างเดียวกัน.”—นอกจากนั้น ผู้มีความเชื่อได้รับการชักนำมารวมกันโดยความเชื่อที่พวกเขามีในพระเยซูคริสต์. พวกเขาต้องการดำเนินตามรอยพระบาทของพระองค์อย่างใกล้ชิด. พระองค์ทรงบัญชาแก่พวกเขาว่า “ให้เจ้ารักซึ่งกันและกัน. เรารักเจ้าทั้งหลายมาแล้วฉันใด, เจ้าจงรักซึ่งกันและกันด้วยฉันนั้น. คนทั้งปวงจะรู้ได้ว่าเจ้าเป็นเหล่าสาวกของเราก็เพราะว่าเจ้าทั้งหลายรักซึ่งกันและกัน.” (โยฮัน 13:34, 35) นี่ไม่ใช่อารมณ์ความรู้สึกแบบชั่วครู่ชั่วยาม แต่เป็นความรักแบบเสียสละ. ผลจะเป็นประการใด? พระเยซูทรงอธิษฐานเกี่ยวกับคนเหล่านั้นซึ่งแสดงความเชื่อในพระองค์ว่า “ข้าพเจ้า . . . อธิษฐาน . . . เพื่อเขาทั้งหลายจะเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เหมือนพระองค์คือพระบิดาสถิตอยู่ในข้าพเจ้า, และข้าพเจ้าอยู่ในพระองค์, เพื่อเขาจะเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับพระองค์และกับข้าพเจ้าด้วย.”—โยฮัน 17:20, 21; 1 เปโตร 2:21.
พระยะโฮวาทรงหลั่งพระวิญญาณบริสุทธิ์ หรือพลังปฏิบัติการของพระองค์ลงเหนือผู้รับใช้แท้ของพระองค์. พระวิญญาณนี้ส่งเสริมเอกภาพในท่ามกลางพวกเขา. พระวิญญาณทำให้พวกเขาสามารถเข้าใจคำสอนในคัมภีร์ไบเบิลซึ่งเป็นที่ยอมรับในทุกประชาคม. ผู้นมัสการพระยะโฮวาประกาศข่าวสารเดียวกัน—การทำให้พระนามของพระยะโฮวาเป็นที่นับถืออันบริสุทธิ์โดยทางราชอาณาจักรมาซีฮาของพระเจ้า ซึ่งเป็นรัฐบาลฝ่ายสวรรค์ที่จะปกครองเหนือมวลมนุษยชาติ. คริสเตียนรุ่นแรกเข้าใจพันธะที่เขา “มิได้เป็นส่วนของโลกนี้.” ฉะนั้น เมื่อไรก็ตามที่เกิดการจลาจลหรือการสู้รบทางทหารขึ้นภายในประเทศ คริสเตียนคงความเป็นกลางอยู่ต่อไป. พวกเขาแสวงหาทางที่จะมีสันติสุขกับทุกคน.—โยฮัน 14:26; 18:36, ล.ม.; มัดธาย 6:9, 10; กิจการ 2:1-4; โรม 12:17-21.
ผู้มีความเชื่อทุกคนรับเอาหน้าที่รับผิดชอบที่จะส่งเสริมเอกภาพ. โดยวิธีใด? โดยการทำให้แน่ใจว่าความประพฤติของเขาสอดคล้องกับคัมภีร์ไบเบิล. เพราะเหตุนี้ อัครสาวกเปาโลได้เขียนถึงคริสเตียนว่า “ท่านทั้งหลายควรละทิ้งบุคลิกภาพเก่าซึ่งเป็นไปตามแนวทางการประพฤติเดิมของท่าน” และ “สวมบุคลิกภาพใหม่.”—เอเฟโซ 4:22-32, ล.ม.
รักษาเอกภาพไว้
แน่นอน ผู้มีความเชื่อซึ่งอยู่ในศตวรรษแรกเป็นคนไม่สมบูรณ์ และได้เกิดเหตุการณ์ที่เป็นการทดสอบเอกภาพของพวกเขา. ตัวอย่างเช่น กิจการ 6:1-6 เล่าถึงความขัดแย้งที่เกิดขึ้นระหว่างคริสเตียนชาวยิวซึ่งพูดภาษากรีกกับคนเหล่านั้นซึ่งพูดภาษาฮีบรู. คนที่พูดภาษากรีกรู้สึกว่าพวกเขาได้รับการปฏิบัติแบบเลือกที่รักมักที่ชัง. อย่างไรก็ดี ครั้นพวกอัครสาวกทราบเรื่องราว ก็ได้จัดการแก้ไขอย่างยุติธรรมทันที. ต่อมา ปัญหาอย่างหนึ่งเกี่ยวกับหลักคำสอนได้นำไปสู่การโต้แย้งกันในเรื่องพันธะหน้าที่ของคนที่ไม่ใช่ชาวยิวในประชาคมคริสเตียน. มีการตัดสินโดยอาศัยหลักการในคัมภีร์ไบเบิล และการตัดสินนี้เป็นที่ยอมรับอย่างเป็นเอกฉันท์.—กิจการ 15:1-29.
ตัวอย่างเหล่านี้แสดงว่าการมีความเห็นไม่ตรงกันมิได้นำไปสู่การแบ่งแยกด้านชาติพันธุ์หรือความแตกแยกกันด้านหลักคำสอนบางเรื่องอย่างที่ยอมกันไม่ได้ในประชาคมคริสเตียนศตวรรษแรก. เพราะเหตุใด? เพราะปัจจัยที่
ทำให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ซึ่งก็คือความรักต่อพระยะโฮวา, ความเชื่อในพระเยซูคริสต์, ความรักแบบเสียสละที่มีต่อกันและกัน, การยอมรับการชี้นำจากพระวิญญาณบริสุทธิ์, ความเข้าใจเหมือนกันเกี่ยวกับคำสอนของคัมภีร์ไบเบิล, และการที่คนเราพร้อมจะเปลี่ยนแปลงความประพฤติ—ทั้งหมดนี้มีพลังมากพอที่จะทำให้ประชาคมในยุคแรกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันและมีสันติ.เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในการนมัสการสมัยปัจจุบัน
จะบรรลุเอกภาพในวิธีเดียวกันนั้นได้ไหมในทุกวันนี้? ปัจจัยต่าง ๆ อย่างเดียวกันเหล่านั้นยังคงทำให้สมาชิกที่มีความเชื่ออย่างเดียวกันเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันและทำให้พวกเขาสามารถมีสันติกับคนทุกเชื้อชาติในทุกภูมิภาคของโลกได้ไหม? ใช่แล้ว! พยานพระยะโฮวาเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในภราดรภาพทั่วโลกซึ่งครอบคลุมไปมากกว่า 230 ดินแดน รวมทั้งอาณาเขตและหมู่เกาะต่าง ๆ. และพวกเขาเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันก็โดยปัจจัยต่าง ๆ อย่างเดียวกันกับที่ทำให้คริสเตียนในศตวรรษแรกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน.
ปัจจัยสำคัญที่สุดซึ่งส่งเสริมเอกภาพที่พยานพระยะโฮวาประสบก็คือการที่พวกเขามีความเลื่อมใสต่อพระยะโฮวาพระเจ้า. นี่หมายความว่าพวกเขาพยายามจะภักดีต่อพระองค์ภายใต้สภาพการณ์ทุกอย่าง. พยานพระยะโฮวายังแสดงความเชื่อในพระเยซูคริสต์และคำสอนของพระองค์ด้วย. คริสเตียนเหล่านี้แสดงความรักแบบเสียสละต่อเพื่อนร่วมความเชื่อและประกาศข่าวดีเรื่องเดียวกันเกี่ยวกับราชอาณาจักรของพระเจ้าในทุกดินแดนที่พวกเขาปฏิบัติงานอยู่. พวกเขายินดีพูดคุยเรื่องราชอาณาจักรนี้กับผู้คนจากทุกกลุ่มศาสนา, เผ่าพันธุ์, เชื้อชาติ, และสังคม. พยานพระยะโฮวายังคงรักษาความเป็นกลางในเรื่องทางโลก ซึ่งช่วยพวกเขาให้ต้านทานแรงกดดันทางด้านการเมือง, วัฒนธรรม, สังคม, และด้านการค้าซึ่งทำให้เกิดความแตกแยกมากมายในท่ามกลางมนุษยชาติ. พยานฯ ทุกคนยอมรับพันธะของตนที่จะส่งเสริมเอกภาพโดยการประพฤติตัวสอดคล้องกับมาตรฐานของคัมภีร์ไบเบิล.
เอกภาพดึงดูดใจคนอื่น ๆ
บ่อยครั้งเอกภาพนี้ได้ปลุกเร้าความสนใจของบุคคลที่ไม่ใช่พยานฯ. ตัวอย่างเช่น อิลเซ * ซึ่งครั้งหนึ่งเป็นแม่ชีคาทอลิกในสำนักชีแห่งหนึ่งในเยอรมนี. อะไรดึงดูดใจเธอให้มาหาพยานพระยะโฮวา? อิลเซตอบว่า “พวกเขาเป็นคนดีที่สุดเท่าที่ฉันเคยพบมา. พวกเขาไม่ทำสงครามและไม่ทำร้ายใคร. พวกเขาต้องการช่วยคนอื่นให้มีชีวิตอยู่อย่างมีความสุขบนแผ่นดินโลกที่เป็นอุทยานภายใต้ราชอาณาจักรของพระเจ้า.”
แล้วก็มีอีกตัวอย่างหนึ่งคือกึนเทอร์ ซึ่งเคยเป็นทหารเยอรมันที่ประจำการอยู่ในฝรั่งเศสระหว่างช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง. วันหนึ่งนักเทศน์โปรเตสแตนต์ได้ประกอบพิธีศาสนาให้พวกทหารในหน่วยรบของกึนเทอร์. นักเทศน์ได้อธิษฐานขอพระเจ้าประทานพร, การปกป้อง, และชัยชนะให้พวกเขา. หลังจากพิธีนั้น กึนเทอร์รับหน้าที่เป็นยามรักษาการณ์. เมื่อมองผ่านกล้องส่องทางไกล เขาสังเกตเห็นกองทัพของศัตรูในอีกด้านหนึ่งของแนวรบเข้าร่วมพิธีศาสนาที่จัดโดยนักเทศน์คนหนึ่งด้วย. กึนเทอร์ได้กล่าวในภายหลังว่า “นักเทศน์คนนั้นก็คงจะอธิษฐานขอพร, การปกป้อง, และชัยชนะด้วยเช่นกัน. ผมสงสัยว่าเป็นไปได้อย่างไรที่คริสตจักรต่าง ๆ ของคริสเตียนจะอยู่ฝ่ายตรงข้ามกันในสงครามเดียวกัน.” เรื่องนี้ยังคงติดตรึงอยู่ในความทรงจำของกึนเทอร์อยู่. ภายหลังเมื่อเขาได้ติดต่อกับพยานพระยะโฮวาซึ่งไม่เข้าร่วมในสงคราม กึนเทอร์ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของภราดรภาพทั่วโลกของพวกเขา.
อโศกกับฟีมาเคยเป็นสมาชิกของศาสนาหนึ่งทางตะวันออก. ในบ้านของเขามีหิ้งบูชาพระองค์หนึ่ง. เมื่อคนในครอบครัวของเขาป่วยหนัก เขาได้ทบทวนดูศาสนาของตัวเอง. ในการสนทนากับพยานพระยะโฮวา อโศกกับฟีมารู้สึกประทับใจเนื่องจากคำสอนของคัมภีร์ไบเบิลและความรักที่มีอยู่ในท่ามกลางพวกพยานฯ. ปัจจุบันทั้งสองเป็นผู้เผยแพร่ข่าวดีเรื่องราชอาณาจักรของพระยะโฮวาด้วยใจแรงกล้า.
อิลเซ, กึนเทอร์, อโศกกับฟีมาเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับพยานพระยะโฮวาหลายล้านคนในภราดรภาพทั่วโลก. พวกเขาเชื่อคำสัญญาของคัมภีร์ไบเบิลที่ว่าปัจจัยเดียวกันซึ่งทำให้พวกเขาเป็นเอกภาพในการนมัสการทุกวันนี้จะทำให้มวลมนุษยชาติที่เชื่อฟังทั้งสิ้นเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในไม่ช้า. ครั้นแล้ว จะไม่มีทารุณกรรม, ความแตกแยก, และความขัดแย้งกันในนามของศาสนาอีกต่อไป. ทั้งโลกจะเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในการนมัสการพระยะโฮวา พระเจ้าเที่ยงแท้.—วิวรณ์ 21:4, 5.
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 16 บางชื่อในบทความนี้เป็นนามสมมุติ.
[ภาพหน้า 4, 5]
คริสเตียนยุคแรกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ทั้ง ๆ ที่มาจากภูมิหลังหลากหลาย