เราเรียนรู้ที่จะไว้วางใจพระยะโฮวาเต็มที่
เรื่องราวชีวิตจริง
เราเรียนรู้ที่จะไว้วางใจพระยะโฮวาเต็มที่
เล่าโดยนาทาลี ฮอลทอร์ฟ
วันหนึ่งในเดือนมิถุนายน 1945 ชายหน้าตาซีดเซียวได้ปรากฏตัวที่บ้านของเราและทนยืนรออยู่ที่ประตูหน้าบ้าน. ด้วยความตระหนก รูทลูกสาวคนเล็กตะโกนเรียก “แม่จ๋า ใครก็ไม่รู้ยืนอยู่ที่ประตูแน่ะ!” เธอไม่รู้หรอกว่าชายแปลกหน้า ที่แท้ก็คือพ่อของเธอนั่นเอง—เฟอร์ดินันด์สามีที่รักของฉัน. สองปีก่อนหน้านั้น หลังรูทเกิดเพียงสามวัน เฟอร์ดินันด์ออกจากบ้านไปแล้วถูกจับ สุดท้ายถูกคุมขังในค่ายกักกันของนาซี. แต่ในที่สุด ตอนนี้รูทก็ได้เห็นหน้าพ่อ และเรามาอยู่ร่วมกันเป็นครอบครัวอีกครั้งหนึ่ง. ฉันกับเฟอร์ดินันด์ต่างก็มีเรื่องมากมายที่จะคุยกัน!
เฟอร์ดินันด์เกิดปี 1909 ที่เมืองคีล ประเทศเยอรมนี ส่วนฉันเกิดปี 1907 ที่เมืองเดรสเดินในเยอรมนีเช่นกัน. ตอนอายุ 12 ปี ครอบครัวของเรามารู้จักพยานพระยะโฮวาเป็นครั้งแรก สมัยนั้นเป็นที่รู้จักกันว่านักศึกษาพระคัมภีร์. พออายุ 19 ปี ฉันก็ถอนตัวจากคริสตจักรอิแวนเจลิคัลและอุทิศชีวิตแด่พระยะโฮวา.
ในระหว่างนั้น เฟอร์ดินันด์จบโรงเรียนการเดินเรือแล้วไปเป็นกะลาสี. ระหว่างการเดินเรือ เขาครุ่นคิดหนักในเรื่องความเป็นอยู่ของพระผู้สร้าง. ครั้นกลับขึ้นฝั่งแล้ว เฟอร์ดินันด์แวะเยี่ยมพี่ชาย ซึ่งเป็นนักศึกษาพระคัมภีร์. การเยี่ยมครั้งนั้นก็เพียงพอแล้วที่จะช่วยเขามองเห็นว่าคัมภีร์ไบเบิลตอบคำถามต่าง ๆ ซึ่งรบกวนใจเขา. เขาลาออกจากคริสตจักรลูเทอรัน และตัดสินใจไม่ทำงานเป็นลูกเรืออีกต่อไป. หลังจากออกไปประกาศเผยแพร่วันแรก เขารู้ตัวว่าเขา
ปรารถนาอย่างแรงกล้าจะทำงานนี้ตราบเท่าวันตาย. คืนนั้นเอง เฟอร์ดินันด์ได้อุทิศตัวแด่พระยะโฮวา. เขารับบัพติสมาเดือนสิงหาคม ปี 1931.เป็นทั้งนายเรือและผู้เผยแพร่
เดือนพฤศจิกายน 1931 เฟอร์ดินันด์ขึ้นรถไฟไปช่วยงานเผยแพร่ที่ประเทศเนเธอร์แลนด์. เมื่อเฟอร์ดินันด์ได้แจ้งแก่บราเดอร์ผู้จัดระเบียบงานประกาศในประเทศว่าเขาเป็นลูกเรือมาก่อน บราเดอร์คนนั้นร้องขึ้นว่า “คุณเป็นคนที่เราต้องการอยู่พอดี!” พวกพี่น้องได้เช่าเรือลำหนึ่งสำหรับกลุ่มไพโอเนียร์ (ผู้เผยแพร่ประเภทเต็มเวลา) ใช้ในงานประกาศแก่ผู้คนที่อาศัยบนฝั่งแม่น้ำทางตอนเหนือของประเทศ. มีลูกเรือรวมห้าคน แต่ไม่มีสักคนขับเรือได้. ดังนั้น เฟอร์ดินันด์จึงกลายมาเป็นกัปตันเรือลำเล็ก ๆ.
หกเดือนต่อมา เฟอร์ดินันด์ได้รับการเชิญชวนให้รับใช้ในฐานะไพโอเนียร์ที่เมืองทิลเบิร์ก เนเธอร์แลนด์ทางใต้. ประมาณช่วงนั้น ฉันก็มาถึงทิลเบิร์กเพื่อรับใช้ฐานะไพโอเนียร์เช่นเดียวกัน และได้พบเฟอร์ดินันด์. แต่เราได้รับแจ้งทันทีให้ย้ายไปเมืองโกรนิงเกน ทางเหนือของประเทศ. เราแต่งงานกันที่นั่นในเดือนตุลาคม 1932 และเราดื่มน้ำผึ้งพระจันทร์ในบ้านซึ่งไพโอเนียร์หลายคนพักอาศัยอยู่ เวลาเดียวกันก็ทำงานไพโอเนียร์ไปด้วย!
ปี 1935 เราได้ลูกสาวชื่อเอสเทอร์. ถึงแม้รายได้ของเราน้อย แต่เราตั้งใจแน่วแน่จะเป็นไพโอเนียร์ต่อไป. เราย้ายไปอยู่ในชนบท อาศัยอยู่ในบ้านหลังเล็ก ๆ. ขณะฉันอยู่บ้านเลี้ยงลูก สามีออกไปในงานเผยแพร่ทั้งวัน. วันถัดไป เราสลับกัน ฉันออกไปทำงาน สามีอยู่บ้านเลี้ยงลูกแทน. เป็นอย่างนี้จนกระทั่งเอสเทอร์โตพอจะออกไปในงานประกาศกับเราได้.
จากนั้นไม่นาน สถานการณ์ทางการเมืองในยุโรปเริ่มส่อเค้าน่ากลัว. เรารู้มาว่าเหล่าพยานฯ ในประเทศเยอรมนีถูกกดขี่ข่มเหง และตระหนักดีว่าไม่นานเราก็คงต้องเผชิญแบบเดียวกัน. เราสงสัยเหมือนกันว่าจะทำอย่างไรถ้าเกิดการข่มเหงอย่างรุนแรง. ปี 1938 เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองในเนเธอร์แลนด์ได้บัญญัติกฎหมายห้ามคนต่างด้าวประกาศเผยแพร่หรือแจกสิ่งพิมพ์ทางศาสนา. เพื่อสนับสนุนเราให้รับใช้ต่อไป เหล่าพยานฯ ชาวดัตช์ได้มอบรายชื่อบุคคลที่แสดงความสนใจงานของเรา. ดังนั้น เราจึงสามารถนำการศึกษาพระคัมภีร์กับบางคนได้.
ประมาณเวลานั้น มีการกำหนดการประชุมใหญ่ของพยานพระยะโฮวา. แม้เราไม่มีเงินซื้อตั๋วรถไฟ แต่ปรารถนาจะไปที่นั่นให้ได้. ดังนั้น เราเริ่มเดินทางระยะสามวันด้วยการถีบรถจักรยาน เอสเทอร์ตัวน้อยนั่งเบาะหน้าที่ยึดติดกับมือจับ. ตกค่ำ เราแวะพักในบ้านพยานฯ ซึ่งอยู่ตามรายทาง. เราปีติยินดีเพียงใดเมื่อได้มาอยู่ ณ การประชุมใหญ่ระดับชาติเป็นครั้งแรก! ระเบียบวาระการประชุมเสริมกำลังเราสำหรับการทดลองในวันข้างหน้า. ยิ่งกว่าอะไรทั้งสิ้น เราได้รับการเตือนให้ไว้วางใจพระเจ้า. ถ้อยคำในบทเพลงสรรเสริญ 31:6 ที่ว่า “ส่วนข้าพเจ้าวางใจในพระยะโฮวา” จึงกลายเป็นคติประจำใจของเรา.
พวกนาซีตามล่า
เดือนพฤษภาคม 1940 พวกนาซีรุกเข้าไปในประเทศเนเธอร์แลนด์. ต่อจากนั้นไม่นาน หน่วยเกสตาโปหรือตำรวจลับมาที่บ้านเราโดยไม่ทันรู้ตัว ขณะที่เรากำลังแยกคัดสิ่งพิมพ์เกี่ยวกับคัมภีร์ไบเบิล. เฟอร์ดินันด์ถูกรวบตัวส่งให้กองบัญชาการเกสตาโป. ฉันกับเอสเทอร์ไปเยี่ยมเขาสม่ำเสมอ และบางครั้งเขาถูกสอบปากคำและถูกตีต่อหน้าเรา. เดือนธันวาคม จู่ ๆ เขาก็ปล่อยตัวเฟอร์ดินันด์ แต่เขาได้อิสรภาพเพียงช่วงสั้น ๆ. เย็นวันหนึ่งขณะเดินกลับบ้าน เราเหลือบไปเห็นรถตำรวจลับจอดใกล้บ้าน. เฟอร์ดินันด์หลบหนีไปได้ระหว่างที่ฉันกับเอสเทอร์เดินเข้าบ้าน. ตำรวจลับคอยดักเราอยู่. เขาต้องการตัวเฟอร์ดินันด์. คืนนั้นหลังจากพวกเกสตาโปกลับกันหมดแล้ว ตำรวจดัตช์เข้ามาคุมตัวฉันไปซักถาม. วันรุ่งขึ้น ฉันพาเอสเทอร์เข้าไปหลบซ่อนในบ้านของครอบครัวนอร์เดอร์ สองสามีภรรยาพยานฯ ซึ่งเพิ่งรับบัพติสมาได้ไม่นาน พวกเขาจัดเตรียมที่พักให้เป็นที่หลบภัย.
ปลายเดือนมกราคม 1941 สามีภรรยาไพโอเนียร์คู่หนึ่งถูกจับในเรือซึ่งดัดแปลงเป็นบ้าน. วันรุ่งขึ้น ผู้ดูแลหมวด (ผู้รับใช้ที่เดินทางเยี่ยม) และสามีของฉันขึ้นไปบนเรือเพื่อเก็บสิ่งของเครื่องใช้บางอย่างของคนทั้งสอง แต่ผู้ร่วมมือกับตำรวจลับเข้าตะครุบตัวพวกเขา. เฟอร์ดินันด์หลุดไปได้แล้วปั่นรถจักรยานหนีการจับกุม. ส่วนผู้ดูแลหมวดถูกจับเข้าห้องขัง.
พี่น้องชายที่รับผิดชอบดูแลงานได้ขอให้เฟอร์ดินันด์ทำหน้าที่แทนผู้ดูแลหมวด. นั่นหมายความว่าในเดือนหนึ่ง ๆ เขากลับบ้านได้ไม่เกินสามวัน. นี่เป็นความยากลำบากครั้งใหม่สำหรับเรา แต่ฉันยังคงทำงานเป็นไพโอเนียร์อยู่ต่อไป. การค้นหาของพวกตำรวจลับเพื่อจับกุมเหล่าพยานฯ ยิ่งหนักข้อมากขึ้น จนเราต้องย้ายที่อยู่บ่อย ๆ. ปี 1942 เราย้ายบ้านถึงสามครั้ง. ในที่สุด เราย้ายมาที่เมืองรอตเทอร์ดัม ซึ่งอยู่ห่างไกลจากพื้นที่ที่เฟอร์ดินันด์ทำงานรับใช้อย่างลับ ๆ. ตอนนั้น ฉันตั้งครรภ์ลูกคนที่สอง. ครอบครัวแคมป์ ซึ่งลูกชายสองคนของเขาเพิ่งถูกจับส่งค่ายกักกัน ได้แสดงความกรุณาต้อนรับเราให้พักพิงในบ้านของเขา.
เกสตาโปสะกดรอยตามอย่างไม่ละลด
รูท ลูกคนที่สองของเราเกิดเดือนกรกฎาคม 1943. หลังจากรูทเกิด เฟอร์ดินันด์มีโอกาสอยู่กับเราเพียงสามวัน แต่แล้วก็ต้องจากไป และนั่นเป็นครั้งสุดท้ายที่เราอยู่ด้วยกันนาน. ประมาณสามสัปดาห์ต่อมา เฟอร์ดินันด์ถูกจับในกรุงอัมสเตอร์ดัม. เขาถูกนำตัวไปยังสถานีตำรวจลับ ซึ่งมีการพิสูจน์หลักฐานว่าเขาเป็นใคร. เกสตาโปขู่เข็ญเขาอย่างดุเดือดโดยการซักไซ้ไล่เลียงหวังจะได้ข้อมูลเกี่ยวกับกิจกรรมการประกาศของเรา. แต่สิ่งเดียวที่เฟอร์ดินันด์เปิดเผยก็คือเขาเป็นพยานพระยะโฮวาและไม่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมด้านการเมือง. เจ้าพนักงานตำรวจลับโกรธมากที่เฟอร์ดินันด์ถือสัญชาติเยอรมัน แต่ไม่ได้รายงานตัวปฏิบัติหน้าที่ในกองทัพ และพวกเขาขู่จะสำเร็จโทษฐานเป็นคนทรยศชาติ.
เฟอร์ดินันด์ติดคุกอยู่นานห้าเดือน เขาอดทนการข่มขู่ที่ว่าเขาจะถูกยิงเป้า. กระนั้น ความภักดีของเขาต่อพระยะโฮวาไม่เคยสั่นคลอน. สิ่งที่ช่วยเขาเข้มแข็งมั่นคงฝ่ายวิญญาณคือคัมภีร์ไบเบิล พระคำของพระเจ้า. แน่ละ เนื่องจากเฟอร์ดินันด์เป็นพยานฯ จึงไม่อนุญาตให้เขามีพระคัมภีร์. อย่างไรก็ดี นักโทษคนอื่นอาจขอได้เล่มหนึ่ง. ดังนั้น เฟอร์ดินันด์จึงขอร้องนักโทษร่วมห้องขังติดต่อครอบครัวของเขาส่งพระคัมภีร์มาให้ ชายคนนั้นทำตามคำขอร้อง. หลายปีต่อมา เฟอร์ดินันด์พูดเรื่องนี้ขึ้นมาทีไร ตาของเขาเป็นประกายและพูดด้วยความรู้สึกว่า “พระคัมภีร์เล่มนั้นให้การปลอบประโลมผมเสียจริง ๆ!”
ช่วงต้นเดือนมกราคม ปี 1944 จู่ ๆ ก็มีการพาตัวเฟอร์ดินันด์ไปที่ค่ายกักกันวึคท์ในประเทศเนเธอร์แลนด์. การย้ายครั้งนี้เป็นพระพรสำหรับเขาอย่างไม่คาดฝัน เพราะที่นั่น เขาได้พบปะพยานฯ ถึง 46 คน. เมื่อฉันรู้ที่อยู่ใหม่ของเขา ฉันดีใจมากที่รู้ว่าเขายังมีชีวิตอยู่!
ประกาศในค่ายกักกันโดยไม่ย่อหย่อน
ชีวิตภายในค่ายกักกันนั้นแสนลำเค็ญ. เกิดภาวะทุโภชนาการอย่างรุนแรง, การขาดแคลนเครื่องนุ่งห่มกันหนาว, และอากาศหนาวจัดเป็นสิ่งปกติ. เฟอร์ดินันด์ถึงกับป่วยเป็นโรคต่อมทอนซิลอักเสบ. ภายหลังการเข้าแถวเรียกชื่อซึ่งใช้เวลานานมากท่ามกลางอากาศหนาวจัด เขาได้ไปสถานพยาบาล. ผู้ป่วยไข้สูง 40 องศาหรือสูงกว่านั้นถึงจะอนุญาตให้พักรักษาตัว. แต่ไม่อนุญาตเฟอร์ดินันด์ เพราะอุณหภูมิร่างกายเขาอยู่ในระดับ 39 องศาเซลเซียส! เขาจึงต้องกลับไปทำงานตามคำสั่ง. แต่เพื่อนนักโทษที่เห็นอกเห็นใจให้การช่วยเหลือโดยให้เขาแอบเข้าอยู่ในที่กำบังอันอบอุ่นเป็นช่วง ๆ. อีกอย่างหนึ่งที่ช่วยบรรเทาได้ก็คืออากาศอบอุ่นขึ้น. นอกจากนั้น เมื่อพี่น้องบางคนได้รับกล่องอาหารที่ส่งมาให้ พวกเขาก็ได้เอามาแบ่งกัน นั่นช่วยให้เฟอร์ดินันด์ค่อยมีเรี่ยวแรงขึ้นมาบ้าง.
ก่อนสามีฉันถูกกักขัง งานประกาศเผยแพร่เป็นแนวทางชีวิตของเขา และเมื่ออยู่ในค่ายเขายังคงบอกเล่าความเชื่อของเขาแก่คนอื่น. เจ้าหน้าที่ประจำค่ายมักจะพูดเยาะเย้ยเขาที่ติดเครื่องหมายสามเหลี่ยมสีม่วงระบุตัวนักโทษที่เป็นพยานพระยะโฮวา. แต่เฟอร์ดินันด์ถือเอาคำเยาะเป็นโอกาสเริ่มการสนทนากับพวกเขา. ตอนแรก เขตงานประกาศของพวกพี่น้องถูกจำกัดอยู่ในเพิงพัก ซึ่งส่วนใหญ่ใช้เป็นที่อาศัยสำหรับเหล่าพยานฯ. พวกพี่น้องถามตัวเองว่า ‘เราจะไปประกาศแก่พวกนักโทษให้มากกว่านี้ได้อย่างไร?’ ฝ่ายบริหารค่ายแก้ปัญหานี้ให้โดยไม่ได้ตั้งใจ. โดยวิธีใด?
พี่น้องในค่ายมีหนังสือเกี่ยวกับพระคัมภีร์อยู่บ้างที่แอบซ่อนไว้ แถมยังมีพระคัมภีร์อีก 12 เล่ม. อยู่มาวันหนึ่ง ยามรักษาการณ์ได้ค้นพบหนังสือบางเล่ม แต่ไม่รู้ว่าเป็นของผู้ใด. ดังนั้น เจ้าหน้าที่ค่ายจึงตัดสินใจจะทำลายความเป็นปึกแผ่นของพยานฯ. ด้วยเหตุนี้ จึงได้ลงโทษพี่น้องทั้งหมดโดยให้ย้ายไปอยู่ตามเพิงพักต่าง ๆ ที่ไม่มีนักโทษพยานฯ เลย. ยิ่งกว่านั้น เวลารับประทานอาหาร เขาจัดให้พี่น้องนั่งติดกับคนที่ไม่ใช่พยานฯ. วิธีการนี้ปรากฏว่าเป็นคุณประโยชน์. ถึงตอนนี้ พวกพี่น้องสามารถทำสิ่งที่ตนอยากทำตั้งแต่แรก คือให้คำพยานแก่นักโทษหลายคนให้มากเท่าที่ทำได้.
ตัวคนเดียวเลี้ยงลูกสาวสองคน
ระหว่างนั้น ฉันกับลูกสาวสองคนยังอยู่ในเมืองรอตเทอร์ดัม. ฤดูหนาวของปี 1943/1944 นั้นหนาวทารุณผิดธรรมดา. หลังบ้านเป็นกองทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานของทหารเยอรมัน. มองไปข้างหน้าคือท่าเรือปากแม่น้ำวาล เป็นเป้าสำคัญที่ฝ่ายพันธมิตรจะทิ้งระเบิด. ที่นี่จึงไม่ใช่แหล่งหลบซ่อนที่ปลอดภัยที่สุด. ยิ่งกว่านั้น ยังขาดแคลนอาหารอีกด้วย. ไม่เคยมีครั้งใดที่เราได้เรียนรู้การไว้วางใจพระเจ้าด้วยสิ้นสุดหัวใจมากเท่าคราวนี้.—สุภาษิต 3:5, 6.
เอสเทอร์วัยแปดขวบได้ช่วยครอบครัวเล็ก ๆ ของเราโดยไปยืนเข้าคิวที่โรงให้ทานข้าวต้ม. แต่หลายครั้งเมื่อถึงคิวของเธอก็ปรากฏว่าอาหารหมดเสียแล้ว. มีอยู่ครั้งหนึ่งระหว่างทางไปรับอาหาร เป็นเวลาที่เกิดการโจมตีทางอากาศ. ฉันตกใจทำอะไรไม่ถูกเมื่อได้ยินเสียงระเบิด แต่ไม่นาน ความวิตกกังวลของฉันก็กลับกลายเป็นดีใจจนน้ำตาไหลเมื่อลูกกลับบ้านโดยไม่ได้รับอันตราย แถมยังได้หัวผักกาดติดมือมาบ้าง. คำพูดแรกที่ออกจากปากฉัน “เกิดอะไรขึ้นลูก?” เธอตอบเรียบ ๆ ว่า “เมื่อเครื่องบินทิ้งระเบิดลงมา หนูทำอย่างที่พ่อสั่งไว้ว่า ‘ล้มลงนอนราบกับดิน อยู่ในท่านั้นและอธิษฐาน.’ และได้ผลทีเดียว!”
เนื่องจากฉันยังพูดสำเนียงเยอรมัน การให้เอสเทอร์ไปซื้อของเล็ก ๆ น้อย ๆ ดูจะปลอดภัยกว่า. ทั้งนี้ไม่ได้พ้นสายตาทหารเยอรมันที่คอยจ้องจับ เขาเริ่มซักถามเอสเทอร์. แต่เธอไม่ยอมเผยความลับ. ที่บ้าน ฉันสอนเอสเทอร์ให้เรียนรู้คัมภีร์ไบเบิล และเนื่องจากเธอเข้าโรงเรียนไม่ได้ ฉันจึงสอนเธออ่าน, เขียน, และฝึกทักษะอื่น ๆ อีกหลายด้าน.
เอสเทอร์ยังได้ช่วยฉันในงานรับใช้ด้วย. ก่อนฉันออกบ้านไปนำการศึกษาพระคัมภีร์กับบางคน เอสเทอร์จะล่วงหน้าไปก่อนเพื่อดูว่ามีใครเฝ้าสังเกตเราอยู่หรือไม่. แล้วเธอ
ก็จะกลับมายืนยันถ้าเห็นสัญญาณตามที่ฉันตกลงไว้กับนักศึกษาพระคัมภีร์. ตัวอย่างเช่น คนที่ฉันไปนำการศึกษาจะตั้งกระถางต้นไม้ไว้ตรงหน้าต่างเพื่อให้รู้ว่าเข้าไปในบ้านได้. ระหว่างที่การศึกษาพระคัมภีร์ดำเนินอยู่ เอสเทอร์ก็อยู่ข้างนอกคอยสังเกตสัญญาณอันตราย ขณะเดียวกันก็ไสรถเข็นที่รูทน้องคนเล็กนั่งไปมาริมถนน.ส่งเข้าค่ายซัคเซนเฮาเซน
เฟอร์ดินันด์มีสภาพความเป็นอยู่อย่างไร? ในเดือนกันยายน 1944 เขาพร้อมกับหลายคนถูกบังคับให้ไปที่สถานีรถไฟ ที่นั่นหมู่นักโทษราว 80 คนเบียดเสียดกันอยู่ในตู้รถสินค้า. แต่ละตู้มีถังใบหนึ่งใช้เป็นที่ขับถ่าย และอีกใบหนึ่งสำหรับน้ำดื่ม. ระยะการเดินทางสามวันสามคืน แถมคนอัดกันแน่นจนต้องยืนตลอดทาง! แทบไม่มีการถ่ายเทอากาศ. ตู้รถไฟปิดทึบ มีเพียงไม่กี่รูพอให้สายตามองลอดออกไปเท่านั้น. พวกเขาต้องทนความร้อนอบอ้าว, ทนหิว, กระหายน้ำ, และกลิ่นเหม็นคลุ้งอีก สุดพรรณนา.
รถไฟค่อย ๆ ผ่อนฝีจักร แล้วจอดนิ่งที่ค่ายกักกันซัคเซนเฮาเซนซึ่งฉาวโฉ่ในเรื่องความโหดร้ายทารุณ. ข้าวของที่นักโทษมีติดตัวก็ถูกยึดไว้หมด ยกเว้นพระคัมภีร์เล็ก ๆ 12 เล่มที่พยานฯ นำติดตัวมาด้วย!
เฟอร์ดินันด์และพี่น้องอีกแปดคนถูกส่งไปยังค่ายบริวารในเมืองราทีนอว์ ให้ทำงานผลิตเครื่องมือสำหรับใช้ในสงคราม. ถึงแม้พวกเขาถูกข่มขู่บ่อย ๆ ว่าจะต้องโทษถึงขั้นประหาร พี่น้องเหล่านั้นก็ยังคงปฏิเสธจะทำงานประเภทนั้น. เพื่อชูกำลังซึ่งกันและกันให้ยืนหยัดมั่นคง ในตอนเช้าพวกเขาจะยกข้อคัมภีร์ เช่น บทเพลงสรรเสริญ 18:2 ขึ้นมาพูด เพื่อว่าจะคิดรำพึงข้อนั้นตลอดทั้งวัน. การทำเช่นนี้ช่วยเขาคิดรำพึงเรื่องฝ่ายวิญญาณ.
ในที่สุด เสียงปืนกระหึ่มก้องจากกองทหารปืนใหญ่บ่งบอกว่าฝ่ายกองทัพพันธมิตรและกองทัพรัสเซียรุกใกล้เข้ามา. ฝ่ายรัสเซียเป็นพวกแรกที่มาถึงค่ายที่เฟอร์ดินันด์อยู่กับกลุ่มเพื่อน. พวกทหารแจกอาหารบางส่วนแก่นักโทษและสั่งให้ออกจากค่าย. พอสิ้นเดือนเมษายน 1945 กองทัพรัสเซียก็ปล่อยพวกนักโทษกลับบ้าน.
ในที่สุดได้อยู่ร่วมกันเป็นครอบครัว
วันที่ 15 มิถุนายน เฟอร์ดินันด์กลับมาถึงเนเธอร์แลนด์. พวกพี่น้องในเมืองโกรนิงเกนต้อนรับเขาอย่างอบอุ่น. จากนั้นไม่นานเขารู้ข่าวว่าเรายังมีชีวิตอยู่ แต่อยู่ที่ไหนสักแห่งในประเทศนี้ แล้วเราก็ได้ข่าวการกลับมาของเขา. การรอคอยเขากลับบ้านดูเหมือนเนิ่นนานเหลือเกิน. แต่ในที่สุด วันหนึ่งที่ลูกคนเล็กตะโกนเรียก “แม่จ๋า ใครก็ไม่รู้ยืนอยู่ที่ประตูแน่ะ!” นั่นคือสามีและพ่อสุดที่รักของเรา!
ก่อนที่เราสามารถดำเนินชีวิตครอบครัวเป็นปกติได้ ก็ต้องแก้ปัญหาและอุปสรรคหลายขั้นตอน. เราไม่มีบ้านอยู่อาศัย และปัญหาใหญ่คือเราต้องได้สถานภาพกลับคืนเพื่อจะมีถิ่นที่อยู่ถาวรในเนเธอร์แลนด์. เนื่องจากเราเป็นคนเยอรมัน เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองได้ปฏิบัติต่อเราประหนึ่งผู้ถูกขับออกจากชุมชนเป็นเวลาหลายปี. แต่ในที่สุด เราก็สามารถตั้งหลักปักฐานและเริ่มเข้าสู่แนวทางตามที่เราใฝ่หามานานแล้ว นั่นคือการรับใช้พระยะโฮวาร่วมกันเป็นครอบครัว.
“ข้าพเจ้าวางใจในพระยะโฮวา”
ระยะหลังนี้ เมื่อไรก็ตามที่ฉันกับเฟอร์ดินันด์มีโอกาสอยู่ร่วมกับเพื่อน ๆ บางคนผู้ซึ่งเคยผ่านความลำบากยากเข็ญสมัยนั้นเช่นกัน เราทบทวนความหลังในเรื่องการนำทางอันเปี่ยมด้วยความรักจากพระยะโฮวาในยามทุกข์ยากเดือดร้อน. (บทเพลงสรรเสริญ 7:1) เราปลื้มปีติที่ตลอดหลายปีนั้นพระยะโฮวาโปรดให้เรามีส่วนส่งเสริมผลประโยชน์แห่งราชอาณาจักร. นอกจากนั้น เราพูดอยู่เนือง ๆ ว่าเรามีความสุขมากเพียงใดที่ได้ใช้พลังในวัยหนุ่มสาวทำงานรับใช้อันศักดิ์สิทธิ์ของพระยะโฮวา.—ท่านผู้ประกาศ 12:1.
หลังจากหมดยุคนาซีข่มเหงแล้ว ฉันกับเฟอร์ดินันด์ได้ร่วมกันรับใช้พระยะโฮวาอีกกว่า 50 ปี ก่อนเฟอร์ดินันด์เสร็จสิ้นงานทางแผ่นดินโลกเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 1995. อีกไม่นาน ฉันก็จะมีอายุ 98 ปี. ทุก ๆ วันฉันขอบคุณพระยะโฮวาที่ลูกได้อุดหนุนค้ำจุนเราในช่วงเวลาอันยากลำบาก และฉันยังสามารถทำงานรับใช้เท่าที่ทำได้ เพื่อถวายเกียรติแด่พระนามของพระองค์. ฉันรู้สึกขอบพระคุณพระยะโฮวาสำหรับทุกสิ่งที่พระองค์ทำเพื่อฉัน และความปรารถนาอย่างจริงใจของฉันคือการดำเนินชีวิตให้สมกับคติประจำใจที่ว่า “ส่วนข้าพเจ้าวางใจในพระยะโฮวา.”—บทเพลงสรรเสริญ 31:6.
[ภาพหน้า 19]
กับเฟอร์ดินันด์ ในเดือนตุลาคม 1932
[ภาพหน้า 19]
เรือเผยแพร่ข่าวดี “อัลมีนา” พร้อมด้วยลูกเรือ
[ภาพหน้า 22]
กับเฟอร์ดินันด์และลูก ๆ