การประกาศของเซาโลปลุกเร้าการเป็นปฏิปักษ์
การประกาศของเซาโลปลุกเร้าการเป็นปฏิปักษ์
ชาวยิวในเมืองดามัสกัส (ดาเมเซ็ก) ไม่เข้าใจว่า เหตุใดผู้ปกป้องที่ร้อนรนเพื่อความเชื่อดั้งเดิมได้กลายเป็นผู้ละทิ้งความเชื่อนั้น. ชายผู้นี้คือเซาโล ซึ่งเป็นคนที่ได้ก่อกวนคนเหล่านั้นที่ร้องออกพระนามพระเยซูในกรุงเยรูซาเลม. ท่านมาที่เมืองดามัสกัสเพื่อข่มเหงเหล่าสาวกซึ่งอยู่ที่นั่น. แต่ตอนนี้ท่านเองได้ประกาศว่า พระเยซู ผู้ที่ถือว่าเป็นอาชญากรที่น่าดูหมิ่นซึ่งถูกตรึงเนื่องจากข้อหาหมิ่นประมาทนั้นคือพระมาซีฮา! เซาโลเสียสติไปแล้วหรือ?—กิจการ 9:1, 2, 20-22.
บางทีอาจมีคำอธิบาย. อาจเป็นไปได้ว่า คนอื่นที่เดินทางจากกรุงเยรูซาเลมในกองคาราวานเดียวกันกับเซาโลได้พูดถึงสิ่งที่เกิดขึ้นบนเส้นทางดังกล่าว. ขณะที่พวกเขาใกล้จะถึงเมืองดามัสกัส ทันใดนั้นมีแสงสว่างจ้าส่องล้อมรอบพวกเขา และทุกคนล้มลงบนพื้น. แล้วยังมีพระสุรเสียงตรัสอีกด้วย. ไม่มีใครได้รับบาดเจ็บนอกจากเซาโล. ท่านนอนอยู่บนถนน. เมื่อท่านลุกขึ้นในที่สุด ผู้เดินทางคนอื่น ๆ ต้องจูงท่านไปยังเมืองดามัสกัส เพราะว่าท่านมองอะไรไม่เห็น.—กิจการ 9:3-8; 26:13, 14.
ผู้ขัดขวางกลายเป็นผู้สนับสนุน
เกิดอะไรขึ้นกับเซาโลบนถนนสู่เมืองดามัสกัส? การเดินทางอันยาวนานหรือความร้อนของแสงแดดยามเที่ยงวันอาจทำให้ท่านอ่อนแรงไหม? เนื่องจากมุ่งมั่นที่จะหาคำอธิบายที่สอดคล้องกับกฎเกณฑ์ธรรมชาติ คนช่างสงสัยสมัยปัจจุบันเสนอความเห็นที่พวกเขาคิดว่าน่าจะเป็นไปได้ ซึ่งรวมถึงอาการเพ้อคลั่ง, ประสาทหลอน, ภาวะวิกฤติของโรคทางจิตขั้นรุนแรง ซึ่งเกิดจากความไม่สบายใจเนื่องจากเซาโลรู้สึกว่าถูกสติรู้สึกผิดชอบรบกวน, ความเจ็บป่วยทางอารมณ์และจิตใจ, และแม้แต่ความคิดที่ว่าเซาโลน่าจะเป็นโรคลมบ้าหมู.
ข้อเท็จจริงก็คือ พระเยซูคริสต์ทรงปรากฏต่อเซาโลในแสงสว่างเจิดจ้ายิ่งดังกล่าว จึงทำให้ท่านมั่นใจว่าพระองค์ทรงเป็นพระมาซีฮา. ภาพวาดศิลปะบางภาพเกี่ยวกับฉากนี้แสดงภาพเซาโลกำลังตกจากหลังม้า. แม้ว่าอาจเป็นเช่นนั้น แต่คัมภีร์ไบเบิลกล่าวเพียงว่า ท่าน “ล้มลงที่ดิน.” (กิจการ 22:6-11) ไม่ว่าเซาโลล้มลงเช่นไรก็ไม่สำคัญเท่ากับการลดทิฐิจากฐานะของท่าน. ตอนนี้ ท่านต้องยอมรับว่าสิ่งที่เหล่าผู้ติดตามพระเยซูกำลังประกาศนั้นเป็นความจริง. แนวทางเดียวที่เปิดให้เซาโลก็คือประกาศร่วมกับพวกเขา. จากศัตรูที่ต่อต้านข่าวสารของพระเยซู เซาโลได้กลายเป็นผู้สนับสนุนข่าวสารนั้นอย่างภักดีที่สุด. หลังจากมองเห็นได้อีกและได้รับบัพติสมา “เซาโลยิ่งมีกำลังทวีขึ้น, และทำให้พวกยูดายในเมืองดาเมเซ็กนิ่งอั้นอยู่, เพราะได้แสดงให้เขาเห็นแน่ว่าพระองค์นี้แหละคือพระคริสต์.”—กิจการ 9:22.
แผนลอบสังหารล้มเหลว
เซาโล ซึ่งต่อมาเรียกว่าเปาโล ไปที่ไหนหลังจากท่านเปลี่ยนความเชื่อ? เมื่อเขียนจดหมายถึงชาวกาลาเทีย ท่านกล่าวว่า “ข้าพเจ้าได้ออกไปถึงประเทศอะราเบีย, แล้วได้กลับมายังเมืองดาเมเซ็กอีก.” (ฆะลาเตีย 1:17) คำว่า “อะราเบีย” หมายรวมถึงการเดินทางในส่วนใดก็ตามของคาบสมุทรอาหรับ. ผู้คงแก่เรียนบางคนให้ความเห็นว่า เปาโลอาจไปถึงทะเลทรายซีเรียหรือที่อื่น ๆ ในนาบาเทีย อาณาจักรของกษัตริย์อาเรทัส (อาริตา) ที่ 4. เป็นไปได้ว่า เซาโลไปหาที่เงียบสงบเพื่อคิดรำพึงหลังจากรับบัพติสมา เช่นเดียวกับที่พระเยซูก็เสด็จเข้าไปในป่าหลังจากรับบัพติสมา.—ลูกา 4:1.
เมื่อเซาโลกลับมาที่เมืองดามัสกัส “พวกยูดายได้ปรึกษากันจะฆ่าเซาโลเสีย.” (กิจการ 9:23) ผู้สำเร็จราชการซึ่งทำหน้าที่เป็นตัวแทนของกษัตริย์อาเรทัสในเมืองดามัสกัสจึงให้ทหารเฝ้าเมืองไว้เพื่อจะจับตัวเซาโล. (2 โกรินโธ 11:32) แต่ขณะที่พวกศัตรูวางแผนสังหารเซาโล เหล่าสาวกของพระเยซูได้วางแผนให้ท่านหนีไป.
ในบรรดาคนที่ช่วยเหลือเซาโลให้หนีไปได้ก็คือ อะนาเนียกับเหล่าสาวกซึ่งอยู่กับท่านทันทีหลังจากท่านเปลี่ยนมาเป็นคริสเตียน. * (กิจการ 9:17-19) บางคนที่ได้มาเป็นผู้เชื่อถือเนื่องจากการประกาศของเซาโลในเมืองดามัสกัสอาจให้การช่วยเหลือด้วยเช่นกัน เพราะกิจการ 9:25 กล่าวว่า “เหล่าสาวกได้ให้เซาโลนั่งในกะบุงใหญ่, แล้วหย่อนลงจากกำแพงเมืองในเวลากลางคืน.” คำว่า “เหล่าสาวก” อาจหมายถึงคนเหล่านั้นที่เซาโลได้สอน. ไม่ว่าจะอย่างไร ความสำเร็จในงานรับใช้ของท่านคงทำให้ศัตรูเพิ่มความเกลียดชังที่ซ่อนเร้นในใจอยู่แล้ว.
บทเรียนที่ได้รับ
เมื่อเราพิจารณาเหตุการณ์บางอย่างที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนความเชื่อและการรับบัพติสมาของเซาโล เราเห็นอย่างชัดเจนว่า ท่านไม่ได้กังวลเกินไปว่าคนอื่นจะตัดสินท่านอย่างไร และท่านไม่ได้เลิกราเพราะการต่อต้านอย่างรุนแรง. สิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับเซาโลก็คือ งานมอบหมายให้ทำการประกาศ.—กิจการ 22:14, 15.
ไม่นานมานี้ คุณได้มาเชื่อมั่นไหมว่าการประกาศข่าวดีเป็นเรื่องสำคัญ? หากเป็นเช่นนั้น คุณคงทราบว่าคริสเตียนแท้ทุกคนต้องเป็นผู้ประกาศราชอาณาจักร. คุณไม่ควรแปลกใจถ้าบางครั้งงานรับใช้ของคุณทำให้เกิดปฏิกิริยาที่เป็นปฏิปักษ์. (มัดธาย 24:9; ลูกา 21:12; 1 เปโตร 2:20) เซาโลเป็นตัวอย่างที่ดีในการตอบสนองการต่อต้าน. คริสเตียนที่ทนการทดลองโดยไม่ยอมแพ้จะเป็นที่โปรดปรานของพระเจ้า. พระเยซูตรัสแก่สาวกของพระองค์ว่า “คนทั้งปวงจะเกลียดชังท่านเพราะนามของเรา.” กระนั้น พระองค์ทรงรับรองกับพวกเขาว่า “ท่านจะได้ชีวิตรอดโดยความเพียรของท่าน.”—ลูกา 21:17-19.
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 10 ศาสนาคริสเตียนอาจมาถึงเมืองดามัสกัส ถ้าไม่หลังการประกาศของพระเยซูในแกลิลีก็อาจเป็นหลังวันเพนเทคอสต์ ปี ส.ศ. 33.—มัดธาย 4:24; กิจการ 2:5.
[ภาพหน้า 28]
เซาโล “ล้มลงที่ดิน” เมื่อพระเยซูทรงปรากฏต่อท่าน
[ภาพหน้า 29]
เซาโลหนีรอดจากการลอบสังหารในเมืองดามัสกัส