“จงต้อนรับเลี้ยงดูซึ่งกันและกัน”
“จงต้อนรับเลี้ยงดูซึ่งกันและกัน”
ฟอยเบ สตรีคริสเตียนสมัยศตวรรษแรกประสบปัญหา. นางเดินทางจากเมืองเก็งเครอาย ประเทศกรีซไปยังโรม แต่ในเมืองนั้นนางไม่รู้จักเพื่อนร่วมความเชื่อเป็นส่วนตัว. (โรม 16:1, 2) เอ็ดการ์ กูดสปีด ผู้แปลพระคัมภีร์บอกว่า “โลกสมัยจักรวรรดิโรมันชั่วร้ายและเหี้ยมโหด และเป็นที่รู้กันกระฉ่อนว่าโรงแรมไม่ใช่ที่เหมาะสมสำหรับผู้หญิงดี ๆ มีศีลธรรมจะเข้าไปพัก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้หญิงคริสเตียน.” ฉะนั้น ฟอยเบจะพักที่ไหน?
ผู้คนเดินทางกันมากในสมัยคัมภีร์ไบเบิล. พระเยซูคริสต์และเหล่าสาวกก็ทำเช่นนั้นเพื่อไปประกาศข่าวดีทั่วแว่นแคว้นยูเดียและแกลิลี. ภายหลังจากนั้นไม่นาน คริสเตียนมิชชันนารี เช่นเปาโลก็ได้นำข่าวสารไปถึงภูมิภาคต่าง ๆ รอบทะเลเมดิเตอร์เรเนียน รวมทั้งกรุงโรมนครหลวงแห่งจักรวรรดิโรมัน. เมื่อคริสเตียนสมัยศตวรรษแรกเดินทาง ไม่ว่าจะเป็นในเขตหรือนอกเขตที่อยู่ของชาวยิวก็ตาม พวกเขาพักที่ไหน? พวกเขาประสบความยุ่งยากอะไรบ้างเมื่อเสาะหาที่พักอาศัย? เราสามารถเรียนอะไรได้เกี่ยวกับการรับรองแขก?
“เราจะต้องหยุดพักอาศัยในตึกของท่านวันนี้”
การรับรองแขกเป็นลักษณะเฉพาะที่มีมานานแล้วในท่ามกลางเหล่าผู้นมัสการแท้ของพระยะโฮวา. ยกตัวอย่าง อับราฮาม, โลต, และริบะคาได้แสดงน้ำใจต้อนรับดังกล่าว. (เยเนซิศ 18:1-8; 19:1-3; 24:17-20) โยบ บุรุษอาวุโสได้กล่าวถึงท่าทีของท่านต่อคนแปลกหน้าว่า “แม้ว่าคนจรต่างถิ่นก็ไม่เคยต้องนอนค้างที่ถนน, แต่ข้าฯ ย่อมเปิดประตูต้อนรับคนเดินทางอยู่เสมอ.”—โยบ 31:32.
เพื่อที่คนเดินทางจะได้รับการต้อนรับเลี้ยงดูจากชาวอิสราเอลเพื่อนร่วมชาติ บ่อยครั้งการนั่งอยู่ที่จัตุรัสกลางเมืองก็พอแล้วเพื่อรอการเชื้อเชิญเข้าไปในบ้าน. (วินิจฉัย 19:15-21) โดยปกติ เจ้าบ้านจะล้างเท้าแขกและเชิญแขกรับประทานอาหารและให้น้ำดื่ม อีกทั้งให้สัตว์ใช้ของแขกได้กินฟางหรือหญ้าแห้งด้วย. (เยเนซิศ 18:4, 5; 19:2; 24:32, 33) ผู้เดินทางที่ไม่ประสงค์จะเป็นภาระแก่เจ้าบ้านอาจนำเสบียงและเหล้าองุ่น พร้อมทั้งพ่วงเอาฟางหรือหญ้าแห้งไปด้วยสำหรับฝูงลาของตน. พวกเขาต้องการเพียงที่พักค้างคืนเท่านั้น.
แม้คัมภีร์ไบเบิลไม่ได้พูดเจาะจงเรื่องพระเยซูได้ที่พักอาศัยอย่างไรระหว่างที่พระองค์เดินทางประกาศ แต่พระองค์พร้อมด้วยเหล่าสาวกก็ต้องมีที่พักอาศัยหลับนอน. (ลูกา 9:58) เมื่อเสด็จเยี่ยมเมืองเยริโค พระเยซูตรัสแก่ซักคายแต่เพียงว่า “เราจะต้องหยุดพักอาศัยในตึกของท่านวันนี้.” ซักคายได้ต้อนรับแขกของตน “ด้วยความยินดี.” (ลูกา 19:5, 6) บ่อยครั้งพระเยซูเป็นแขกที่บ้านของมาธา, มาเรีย, และลาซะโรซึ่งเป็นสหายของพระองค์ ณ หมู่บ้านเบธาเนีย. (ลูกา 10:38; โยฮัน 11:1, 5, 18) และที่เมืองเคเปอร์นาอุม ดูเหมือนว่าพระเยซูพักอยู่กับซีโมนเปโตร.—มาระโก 1:21, 29-35.
คำแนะนำที่พระเยซูให้แก่อัครสาวกสิบสองคนเกี่ยวกับงานรับใช้แสดงว่าพวกเขาพึงคาดหมายการต้อนรับเช่นไรในดินแดนอิสราเอล. พระเยซูตรัสสั่งดังนี้: “อย่าคิดหาทองคำ, หรือเงิน, หรือทองเหลืองไว้ในไถ้ของท่าน. หรือย่ามใช้ตามทาง, หรือเสื้อสองตัว หรือรองเท้า หรือไม้เท้า เพราะว่าผู้ทำการควรจะได้อาหารกิน. ท่านจะเข้าไปในบ้านใดหรือเมืองใด จงสืบหาดูว่า ใครเป็นคนเหมาะที่จะอาศัยอยู่ด้วยได้ แล้วจงไปอาศัยกับผู้นั้นกว่าจะไปจากที่นั่น.” (มัดธาย 10:9-11) พระองค์ทราบว่าคนสุจริตใจจะต้อนรับสาวกของพระองค์ เอื้อเฟื้อให้อาหาร ที่พักและสิ่งจำเป็นอื่น ๆ.
อย่างไรก็ตาม ในเวลาต่อมาเมื่อผู้เผยแพร่เดินทางไปในที่ต่าง ๆ จำเป็นต้องเตรียมสิ่งของสำหรับตัวเอง และออกค่าใช้จ่ายเอง. เมื่อคำนึงถึงการเป็นปฏิปักษ์ต่อสาวกของพระองค์ในวันข้างหน้า และงานประกาศที่ขยายวงกว้างไปถึงเขตงานอื่น ๆ นอกดินแดนอิสราเอล พระเยซูจึงตรัสว่า “ใครมีถุงเงินให้เอาไปด้วย, และย่าม [ใส่อาหาร] ก็ให้เอาไปเหมือนกัน.” (ลูกา 22:36) การเดินทางและที่พักอาศัยเป็นสิ่งจำเป็นซึ่งจะขาดไม่ได้สำหรับการแพร่กระจายข่าวดี.
“จงมีน้ำใจรับรองแขก”
สภาพการณ์ที่ค่อนข้างสงบสุขและการมีถนนปูหินเป็นเครือข่ายกว้างขวางทั่วจักรวรรดิโรมันในศตวรรษแรกอำนวยประโยชน์แก่สังคมที่ผู้คนมากมายเดินทางบ่อย. * เมื่อผู้คนจำนวนมากเดินทาง จึงจำเป็นต้องมีที่พักอาศัยรองรับ. และโรงแรมเล็ก ๆ ที่ห่างกันระยะเดินทางหนึ่งวันตามทางหลวงสายหลักก็สนองความต้องการของผู้คนที่แวะพัก. อย่างไรก็ตาม หนังสือกิจการในสภาพแวดล้อมกรีก-โรมัน (ภาษาอังกฤษ) แจ้งว่า “สิ่งที่รู้กันเกี่ยวกับสถานที่พักดังกล่าวในวรรณคดีให้ภาพค่อนข้างร้ายกาจน่ากลัว. วรรณกรรมและแหล่งข้อมูลด้านโบราณคดีเท่าที่หาได้ โดยทั่วไปเป็นพยานบ่งชี้เรื่องที่พักโกโรโกโสและสกปรก แทบจะไม่มีเครื่องเรือน, ตัวเรือดชุม, อาหารและเครื่องดื่มด้อยคุณค่า, จะเชื่อถือวางใจเจ้าของที่พักไม่ได้รวมถึงคนร่วมงานด้วย, ขาประจำที่แวะพักมีชื่อเสียงไม่ดี, โดยทั่วไปแล้วเป็นพวกหละหลวมทางศีลธรรม.” เป็นเรื่องที่พอจะเข้าใจได้ว่า ตราบที่เป็นไปได้ นักเดินทางที่ซื่อตรงมีศีลธรรมจะไม่เข้าไปพักอาศัยในโรงแรมประเภทนั้น.”
ดังนั้น ไม่น่าประหลาดใจที่มีคำกระตุ้นเตือนในพระคัมภีร์ครั้งแล้วครั้งเล่าให้คริสเตียนแสดงน้ำใจรับรองแขก. เปาโลกระตุ้นคริสเตียนในกรุงโรมดังนี้: “จงเข้าส่วนช่วยสิทธชนในการขัดสนของเขา จงมีน้ำใจรับรองแขก.” (โรม 12:13) ท่านเตือนใจคริสเตียนชาวยิวว่า “อย่าลืมแสดงกิริยาต้อนรับแขกแปลกหน้า เพราะว่าโดยอาการที่กระทำเช่นนั้นบางคนก็ได้รับรองทูตสวรรค์โดยไม่ทันรู้ตัว.” (เฮ็บราย 13:2) เปโตรได้กระตุ้นเตือนเพื่อนร่วมการนมัสการให้ “ต้อนรับเลี้ยงดูซึ่งกันและกันโดยไม่บ่น.”—1 เปโตร 4:9.
แต่มีบางสภาพการณ์ซึ่งการต้อนรับเลี้ยงดูกันเป็นสิ่งไม่เหมาะสม. อัครสาวกโยฮันกล่าวเกี่ยวกับ ‘ผู้ละเมิดและไม่ได้อยู่ในพระโอวาทของพระคริสต์’ ว่า “อย่ารับเขาไว้ในเรือน, และอย่าเอออวยกับเขา เพราะว่าผู้ที่เอออวยกับเขาก็เข้าส่วนในการชั่วของเขานั้น.” (2 โยฮัน 9-11) เกี่ยวกับคนกระทำบาปที่ไม่สำนึกผิดและกลับใจ เปาโลเขียนดังนี้: “ถ้าผู้ใดที่ได้ชื่อว่าเป็นพี่น้องแล้ว, แต่ยังเป็นคนผิดประเวณี, เป็นคนโลภ, เป็นคนไหว้รูปเคารพ, เป็นคนปากร้าย, เป็นคนขี้เมา, หรือเป็นคนฉ้อโกง, อย่าคบให้สนิทกับคนอย่างนั้น แม้จะกินด้วยกันก็อย่าเลย.”—1 โกรินโธ 5:11.
คนเจ้าเล่ห์และคนอื่น ๆ อีกคงต้องพยายามหาประโยชน์ใส่ตัวโดยอาศัยความใจดีของคริสเตียนแท้. หนังสือเล่มหนึ่งเกี่ยวกับความเชื่อของคริสเตียน ซึ่งเขียนในศตวรรษที่สองและไม่เป็นส่วนของพระคัมภีร์เป็นที่รู้จักกันว่า เดอะ ดีดาฮี หรือ คำสอนของอัครสาวกสิบสองคน ได้แนะนำว่า ผู้เดินทางเผยแพร่ควรได้รับการต้อนรับเลี้ยงดู “หนึ่งวันหรือหากจำเป็นก็สองวัน.” และหลังจากนั้น เมื่อเขาลาจากไป “ให้เขารับเฉพาะขนมปัง . . . ถ้าเขาขอเงิน เขาก็เป็นผู้พยากรณ์เท็จ.” มีกล่าวต่อไปในหนังสือนั้นว่า “ถ้าเขาต้องการจะอยู่ต่อ และหากเขาถนัดอาชีพใด ก็ให้เขาทำงานแลกอาหาร. แต่ถ้าเขาไม่ทำงาน ตามที่ท่านมีความเข้าใจแล้วที่ว่าอย่าให้ผู้ใดในพวกท่านเป็นคนเกียจคร้าน เพราะว่าเขาเป็น
คริสเตียน. หากเขาไม่ทำงาน เขากำลังแสวงประโยชน์ส่วนตัวโดยอาศัยความเป็นคริสเตียน จงระวังคนอย่างนั้น.”อัครสาวกเปาโลระมัดระวังไม่เพิ่มภาระค่าใช้จ่ายให้เจ้าบ้าน ในช่วงที่ท่านพักอาศัยในเมืองหนึ่ง ๆ นานหลายวัน. ท่านหาเลี้ยงชีพด้วยการเป็นช่างทำกระโจมผ้าใบ. (กิจการ 18:1-3; 2 เธซะโลนิเก 3:7-12) เพื่อสนับสนุนพวกผู้เดินทางที่สมควรได้รับการเกื้อหนุน ดูเหมือนว่าคริสเตียนสมัยแรกใช้จดหมายแนะนำตัว เช่นกรณีที่เปาโลเขียนจดหมายแนะนำฟอยเบดังนี้: “ข้าพเจ้าขอฝากฟอยเบน้องสาวของเราไว้กับท่านทั้งหลาย, . . . ให้ท่านรับนางนั้นไว้ในนามขององค์พระผู้เป็นเจ้า . . . และให้ท่านทั้งหลายช่วยนางในทางที่นางต้องการนั้น.”—โรม 16:1, 2.
การมีน้ำใจรับรองแขกได้รับพระพรมากมาย
คริสเตียนสมัยศตวรรษแรกที่ออกไปเผยแพร่ต่างแดนได้วางใจพระยะโฮวาในการจัดเตรียมสิ่งจำเป็นทุกอย่างแก่พวกเขา. แต่พวกเขาสามารถคาดหมายจะรับประโยชน์จากการต้อนรับเลี้ยงดูของเพื่อนร่วมความเชื่อได้ไหม? นางลุเดียเสนอบ้านช่องไว้รับรองเปาโลและอัครสาวกบางคน. อัครสาวกเปาโลอาศัยในบ้านอะกุลากับปริศกิลาในเมืองโครินท์. ผู้คุมเรือนจำในเมืองฟิลิปปีจัดโต๊ะเลี้ยงอาหารเปาโลและซีลา. เปาโลได้รับการต้อนรับเลี้ยงดูจากยาโซนในเมืองเทสซาโลนิเก, ได้รับจากฟิลิปในเมืองซีซาเรีย, และท่านได้รับการต้อนรับจากชายผู้หนึ่งชื่อนาโซน ระหว่างทางจากเมืองซีซาเรียไปเยรูซาเลม. คราวเดินทางไปโรม เมื่อถึงเมืองโปติโอลอย เปาโลได้พบพี่น้องที่นั่นและพวกเขาได้เชิญท่านพักอาศัยอยู่ด้วย. คงต้องเป็นโอกาสที่ให้ผลตอบแทนฝ่ายวิญญาณเสียจริง ๆ สำหรับเจ้าบ้านที่ต้อนรับเลี้ยงดูท่าน!—กิจการ 16:33, 34; 17:7; 18:1-3; 21:8, 16; 28:13, 14.
เฟรเดอริก เอฟ. บรูซ ผู้คงแก่เรียนให้ข้อสังเกตว่า “ผองเพื่อนและผู้ร่วมงาน, เจ้าภาพทั้งชายและหญิงเหล่านี้ ไม่มีเจตนาเป็นอย่างอื่นในการช่วยเหลือทำประโยชน์นอกจากพวกเขารักเปาโลและองค์พระผู้เป็นเจ้าซึ่งท่านรับใช้อยู่. พวกเขารู้ว่าการปรนนิบัติรับใช้เปาโลก็เหมือนได้รับใช้พระคริสต์.” นี่แหละคือเจตนารมณ์ที่ดีเยี่ยมในการมีน้ำใจรับรองแขก.
การมีน้ำใจรับรองแขกยังคงเป็นเรื่องจำเป็น. ตัวแทนพยานพระยะโฮวานับพันคนซึ่งต้องเดินทางก็ได้รับการต้อนรับจากเพื่อนร่วมความเชื่อ. ผู้ประกาศข่าวราชอาณาจักรบางคนได้ออกค่าใช้จ่ายเองในการเดินทางเผยแพร่ตามที่ห่างไกลซึ่งข่าวดียังเข้าไปไม่ถึง. คุณประโยชน์อันยิ่งใหญ่ย่อมเกิดจากการที่เราเปิดบ้านรับรองผู้ประกาศข่าวราชอาณาจักรได้พักอาศัย แม้นบ้านของเราไม่ใหญ่โตหรูหราก็ตาม. การต้อนรับเลี้ยงดูด้วยความอบอุ่นอาจเพียงแต่หมายถึงอาหารแบบง่าย ๆ ก็เป็นโอกาสอันยอดเยี่ยมที่ “จะได้หนุนใจซึ่งกันและกัน” และแสดงความรักต่อพี่น้องและต่อพระเจ้าของเรา. (โรม 1:11, 12) โอกาสดังกล่าวยังผลตอบแทนพิเศษสำหรับเจ้าบ้าน เพราะ “การให้เป็นเหตุให้มีความสุขยิ่งกว่าการรับ.”—กิจการ 20:35.
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 11 ประมาณกันว่า พอถึงปีสากลศักราช 100 ถนนปูหินสายต่าง ๆ ของโรมรวมความยาวแล้วได้ประมาณ 80,000 กิโลเมตรทีเดียว.
[ภาพหน้า 23]
คริสเตียน “จงมีน้ำใจรับรองแขก”