จุดเด่นจากพระธรรมวินิจฉัย
พระคำของพระยะโฮวามีชีวิต
จุดเด่นจากพระธรรมวินิจฉัย
พระยะโฮวารู้สึกอย่างไรเมื่อประชาชนของพระองค์ไม่นับถือพระองค์และเริ่มนมัสการพระเท็จ? จะว่าอย่างไรถ้าพวกเขาไม่เชื่อฟังครั้งแล้วครั้งเล่าและอ้อนวอนขอความช่วยเหลือจากพระองค์เฉพาะเมื่อประสบความทุกข์ยาก? พระยะโฮวาจะทรงช่วยไหมถึงแม้พวกเขาเป็นเช่นนี้? พระธรรมวินิจฉัยตอบคำถามเหล่านี้รวมทั้งคำถามที่สำคัญอื่น ๆ. พระธรรมนี้เขียนโดยผู้พยากรณ์ซามูเอลประมาณปี 1,100 ก่อน ส.ศ. พระธรรมวินิจฉัยครอบคลุมเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในระยะเวลาประมาณ 330 ปี—นับตั้งแต่ยะโฮซูอะสิ้นชีวิตจนถึงการขึ้นครองบัลลังก์ของกษัตริย์องค์แรกแห่งอิสราเอล.
เนื่องจากเป็นส่วนหนึ่งของพระคำหรือข่าวสารที่ทรงพลังของพระเจ้า พระธรรมยะโฮซูอะจึงมีค่ายิ่งสำหรับเรา. (เฮ็บราย 4:12) เรื่องราวอันน่าตื่นเต้นที่บันทึกในพระธรรมนี้ช่วยให้เรามีความหยั่งเห็นเข้าใจคุณลักษณะต่าง ๆ ของพระเจ้า. บทเรียนที่เราได้จากพระธรรมนี้เสริมความเชื่อและช่วยเรายึดเอา “ชีวิตแท้” ซึ่งเป็นชีวิตนิรันดร์ในโลกใหม่ตามคำสัญญาของพระเจ้า. (1 ติโมเธียว 6:12, 19, ล.ม.; 2 เปโตร 3:13) การกระทำเพื่อความรอดที่พระยะโฮวาทรงทำเพื่อเห็นแก่ประชาชนของพระองค์เป็นการแสดงภาพล่วงหน้าของการช่วยให้รอดที่ยิ่งใหญ่กว่าในอนาคตโดยทางพระบุตรของพระองค์ พระเยซูคริสต์.
เหตุใดจึงต้องมีผู้วินิจฉัย?
หลังจากเหล่ากษัตริย์แห่งแผ่นดินคะนาอันพ่ายแพ้แก่อิสราเอลภายใต้การนำของยะโฮซูอะ อิสราเอลตระกูลต่าง ๆ ได้รับส่วนมรดกของตนและครอบครองดินแดนนั้น. อย่างไรก็ตาม ชาวอิสราเอลไม่ได้ขับไล่ผู้อาศัยในแผ่นดินนั้นไปให้หมด. ความผิดพลาดครั้งนั้นเป็นบ่วงแร้วที่แท้จริงของชาวอิสราเอล.
คนรุ่นใหม่ที่เกิดหลังสมัยยะโฮซูอะ “ไม่รู้จักพระยะโฮวา หรือการอัศจรรย์ซึ่งพระองค์ทรงกระทำแก่พวกยิศราเอล.” (วินิจฉัย 2:10) ยิ่งกว่านั้น ผู้คนทำการสมรสกับชาวคะนาอันและรับใช้พระของพวกนั้น. ดังนั้น พระยะโฮวาจึงปล่อยให้ชาวอิสราเอลตกอยู่ในเงื้อมมือของศัตรู. อย่างไรก็ดี เมื่อการกดขี่รุนแรงขึ้น ชาวอิสราเอลจึงร้องขอความช่วยเหลือจากพระเจ้าเที่ยงแท้. ท่ามกลางสภาพทางศาสนา, สังคม, และการเมืองเช่นนี้ พระยะโฮวาทรงตั้งผู้วินิจฉัยคนแล้วคนเล่าเพื่อปกป้องประชาชนของพระองค์จากเหล่าศัตรู.
คำตอบสำหรับคำถามเกี่ยวกับข้อพระคัมภีร์:
1:2, 4—เหตุใดตระกูลยูดาห์ถูกเลือกให้เป็นตระกูลแรกที่ได้ครอบครองแผ่นดินที่จัดสรรให้พวกเขา? ตามปกติ สิทธิพิเศษนี้จะเป็นของตระกูลรูเบนซึ่งเป็นบุตรหัวปีของยาโคบ. แต่คำพยากรณ์ที่ยาโคบกล่าวล่วงหน้าก่อนสิ้นใจบอกไว้ว่า รูเบนจะไม่ได้สิ่งที่เหนือกว่าคนอื่นเนื่องจากเขาสูญเสียสิทธิบุตรหัวปี. ซีโมนและเลวีกระทำสิ่งที่โหดร้ายจึงทำให้พวกเขาต้องอยู่กระจัดกระจายทั่วไปในอิสราเอล. (เยเนซิศ 49:3-5, 7) ฉะนั้น สิทธิพิเศษจึงตกแก่บุตรชายคนถัดมาคือยูดาห์ ซึ่งเป็นบุตรคนที่สี่ของยาโคบ. ซีโมนไปด้วยกันกับยูดาห์ พวกเขาจึงได้รับที่ดินผืนเล็ก ๆ กระจายอยู่ทั่วเขตแดนอันกว้างใหญ่ของยูดาห์. *—ยะโฮซูอะ 19:9.
1:6, 7—เหตุใดกษัตริย์ที่พ่ายแพ้จึงถูกตัดหัวแม่มือและหัวแม่เท้า? เห็นได้ชัดว่า คนที่ไม่มีหัวแม่มือและหัวแม่เท้าไม่มีคุณสมบัติเข้าร่วมในกองทัพ. ทหารจะถือดาบหรือหอกโดยไม่มีหัวแม่มือได้อย่างไร? และการไม่มีหัวแม่เท้าคงทำให้ไม่สามารถรักษาสมดุลของร่างกายได้.
บทเรียนสำหรับเรา:
2:10-12. เราต้องศึกษาคัมภีร์ไบเบิลเป็นประจำเพื่อจะ ‘ไม่ลืมการกระทำทั้งสิ้นของพระยะโฮวา.’ (บทเพลงสรรเสริญ 103:2, ล.ม.) บิดามารดาต้องพร่ำสอนความจริงแห่งพระคำของพระเจ้าให้เข้าถึงหัวใจบุตรของตน.—พระบัญญัติ 6:6-9.
2:14, 21, 22. พระยะโฮวายอมให้สิ่งเลวร้ายต่าง ๆ เกิดขึ้นกับประชาชนที่ไม่เชื่อฟังของพระองค์โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะลงโทษ, ขัดเกลา, และกระตุ้นพวกเขาให้กลับมาหาพระองค์.
พระยะโฮวาแต่งตั้งผู้วินิจฉัย
เรื่องราวอันน่าตื่นเต้นเกี่ยวกับความกล้าหาญของเหล่าผู้วินิจฉัยเริ่มต้นด้วยการที่โอทนีเอล (อัธนีเอล) ปลดปล่อยชาวอิสราเอลให้เป็นอิสระจากการอยู่ใต้อำนาจกษัตริย์เมโสโปเตเมียองค์หนึ่ง. โดยใช้ยุทธอุบายที่กล้าหาญ ผู้วินิจฉัยเอฮูดฆ่าเอฆโลน กษัตริย์ผู้อ้วนฉุแห่งโมอาบ. ชัมการ์ (ซำฆาร) ผู้กล้าหาญฆ่าชาวฟะลิศตีม 600 คนเพียงลำพังโดยใช้ประตัก. ด้วยการสนับสนุนจากดะโบราซึ่งเป็นผู้พยากรณ์หญิง และด้วยการหนุนหลังจากพระยะโฮวา บาราคและกองทัพเล็ก ๆ ประมาณหนึ่งหมื่นคนที่มีอาวุธไม่มากทำให้กองทัพที่เข้มแข็งของซีซะราพ่ายแพ้. พระยะโฮวาทรงตั้งกิดโอน (ฆิดโอน) และช่วยท่านพร้อมกับทหาร 300 คนเอาชนะพวกมิดยาน.
พระยะโฮวาปลดปล่อยอิสราเอลจากพวกอัมโมนโดยผ่านทางยิฟทาห์ (ยิพธา). โทลา (โธลา), ยาอีร์ (ยาอีร), อิบซาน, เอโลน, และอับโดนอยู่ในเหล่าผู้วินิจฉัยทั้ง 12 คนของอิสราเอล. ยุคของผู้วินิจฉัยสิ้นสุดลงที่ซิมโซนซึ่งเป็นผู้ที่ต่อสู้กับพวกฟะลิศตีม.
คำตอบสำหรับคำถามเกี่ยวกับข้อพระคัมภีร์:
4:8—เหตุใดบาราคจึงยืนกรานให้ผู้พยากรณ์หญิงดะโบราไปกับท่านในสนามรบ? ดูเหมือนว่า บาราครู้สึกว่าตัวท่านเองขาดความสามารถที่จะนำทหารเข้าต่อสู้กับกองทัพของซีซะรา. การมีผู้พยากรณ์หญิงไปด้วยคงเป็นการรับประกันว่าท่านและกองทหารจะได้รับการชี้นำจากพระเจ้าและคงจะทำให้พวกเขามีความมั่นใจ. ดังนั้น การที่บาราคยืนกรานให้ดะโบราไปด้วยไม่ได้แสดงถึงความอ่อนแอ แต่แสดงถึงความเชื่อที่เข้มแข็ง.
5:20—ดวงดาวรบพุ่งแต่สวรรค์เพื่อบาราคอย่างไร? คัมภีร์ไบเบิลไม่ได้บอกว่าเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับการช่วยเหลือจากทูตสวรรค์, ห่าอุกกาบาตซึ่งพวกผู้ทำนายของซีซะราตีความว่าเป็นลางบอกเหตุ, หรือบางทีอาจเป็นการทำนายทางโหราศาสตร์เพื่อซีซะราซึ่งปรากฏว่าผิดพลาด. อย่างไรก็ตาม ไม่มีข้อสงสัยเลยว่านี่เป็นการแทรกแซงบางรูปแบบจากพระเจ้า.
7:1-3; 8:10—เหตุใดพระยะโฮวาตรัสว่ากิดโอนมีทหาร 32,000 คนซึ่งมากเกินไปในการต่อสู้กับกองทัพของศัตรูที่มีจำนวน 135,000 คน? นั่นเป็นเพราะพระยะโฮวาจะทำให้กิดโอนและทหารของท่านได้รับชัยชนะ. พระเจ้าไม่ต้องการให้พวกเขาคิดว่าสามารถเอาชนะพวกมิดยานด้วยกำลังของตนเอง.
11:30, 31 (ฉบับแปลใหม่)—เมื่อยิฟทาห์ทำคำปฏิญาณต่อพระเจ้า ท่านนึกถึงการบูชายัญมนุษย์ไหม? ยิฟทาห์คงไม่ได้คิดอย่างนั้นแน่ เนื่องจากพระบัญญัติกล่าวไว้ว่า “อย่าให้ผู้ใดในท่ามกลางเจ้าทั้งหลายกระทำให้บุตรชายหญิงของตนลุยไฟ.” (พระบัญญัติ 18:10) อย่างไรก็ตาม ยิฟทาห์นึกถึงคนไม่ใช่สัตว์. ชาวอิสราเอลไม่ได้เลี้ยงสัตว์ที่เหมาะจะใช้เป็นเครื่องบูชาไว้ในบ้าน. และการถวายสัตว์เป็นเครื่องบูชาก็ไม่ได้เป็นของถวายที่พิเศษแต่อย่างใด. ยิฟทาห์ทราบดีว่าคนที่ออกมาพบท่านคนแรกอาจเป็นลูกสาวของท่านเอง. ใครก็ตามที่ออกมาต้องถูกถวายเป็น “เครื่องบูชาเผา” ในแง่ที่ว่า เขาต้องถวายตัวรับใช้พระยะโฮวาโดยเฉพาะในสถานที่อันศักดิ์สิทธิ์.
บทเรียนสำหรับเรา:
3:10. การประสบความสำเร็จในการมุ่งติดตามสิ่งฝ่ายวิญญาณไม่ได้ขึ้นอยู่กับสติปัญญาของมนุษย์ แต่ขึ้นอยู่กับพระวิญญาณของพระยะโฮวา.—บทเพลงสรรเสริญ 127:1.
3:21. เอฮูดใช้กริชอย่างชำนาญและด้วยความกล้าหาญ. เราต้องมีความชำนาญในการใช้ “พระแสงของพระวิญญาณคือพระคำของพระเจ้า.” นี่หมายความว่าเราต้องใช้พระคัมภีร์อย่างกล้าหาญในงานรับใช้.—เอเฟโซ 6:17; 2 ติโมเธียว 2:15.
6:11-15; 8:1-3, 22, 23. ความเจียมตัวของกิดโอนสอนบทเรียนสำคัญสามเรื่อง: (1) เมื่อได้รับสิทธิพิเศษในงานรับใช้ เราควรแสดงความรับผิดชอบต่องานแทนที่จะคิดถึงแต่ชื่อเสียงหรือเกียรติยศที่จะได้จากงานนี้. (2) เมื่อต้องเกี่ยวข้องกับคนที่ชอบโต้เถียง การแสดงความเจียมตัวเป็นแนวทางแห่งสติปัญญา. (3) ความเจียมตัวทำให้เราไม่เป็นห่วงมากเกินไปกับตำแหน่ง.
6:17-22, 36-40. เราต้องระมัดระวังและ “อย่าเชื่อทุกถ้อยคำที่กล่าวโดยการดลใจ.” แทนที่จะเป็นเช่นนั้น เราต้อง “ตรวจดูว่าถ้อยคำเหล่านั้นมาจากพระเจ้าหรือไม่.” (1 โยฮัน 4:1, ล.ม.) เพื่อจะแน่ใจว่าคำแนะนำที่ตั้งใจจะให้นั้นอาศัยพระคำของพระเจ้าอย่างหนักแน่น นับว่าสุขุมที่คริสเตียนผู้ปกครองใหม่จะปรึกษาผู้ปกครองที่มีประสบการณ์มากกว่า.
6:25-27. กิดโอนใช้ความสุขุมรอบคอบเพื่อจะไม่ทำให้ผู้ต่อต้านโกรธเคืองโดยไม่จำเป็น. เมื่อประกาศข่าวดี เราต้องระวังคำพูดเพื่อจะไม่ทำให้ผู้อื่นขุ่นเคืองโดยไม่จำเป็น.
7:6. เกี่ยวกับการรับใช้พระยะโฮวา เราควรเป็นเหมือนทหารของกิดโอน 300 คน—ต้องตื่นตัวและระวังระไว.
9:8-15. ช่างเป็นเรื่องโง่เขลาจริง ๆ ที่จะประพฤติอย่างหยิ่งทะนงและครุ่นคิดทะเยอทะยานอยากมีตำแหน่งหรืออำนาจ!
11:35-37. ไม่มีข้อสงสัยว่า ตัวอย่างที่ดีของยิฟทาห์มีส่วนช่วยให้ลูกสาวของท่านพัฒนาความเชื่อที่เข้มแข็งและมีน้ำใจเสียสละตนเอง. บิดามารดาในทุกวันนี้สามารถวางแบบอย่างเช่นนี้แก่บุตรของตน.
11:40. การชมเชยคนที่เต็มใจรับใช้พระยะโฮวาเป็นการหนุนกำลังใจเขา.
13:8. บิดามารดาควรอธิษฐานขอการชี้นำจากพระยะโฮวาในเรื่องการสอนบุตรของตนและติดตามคำชี้นำของพระองค์.—2 ติโมเธียว 3:16.
14:16, 17; 16:16. การกดดันคนอื่นโดยร้องไห้คร่ำครวญอาจทำลายสายสัมพันธ์ได้.—สุภาษิต 19:13; 21:19.
การกระทำผิดอื่น ๆ ในอิสราเอล
ส่วนสุดท้ายของพระธรรมวินิจฉัยมีเรื่องราวที่โดดเด่นสองเรื่อง. เรื่องแรกเกี่ยวกับชายคนหนึ่งที่ชื่อมีคาซึ่งได้สร้างรูปเคารพไว้ในบ้านและจ้างชาวเลวีคนหนึ่งเป็นปุโรหิต. หลังจากทำลายเมืองลาอิชหรือเลเซ็มแล้ว ตระกูลดานได้สร้างเมืองของตนเองขึ้นและตั้งชื่อว่าเมืองดาน. โดยใช้รูปเคารพและปุโรหิตของมีคา พวกเขาตั้งการนมัสการอีกรูปแบบหนึ่งในเมืองดาน. ดูเหมือนว่า เมืองลาอิชถูกยึดก่อนยะโฮซูอะเสียชีวิต.—ยะโฮซูอะ 19:47.
เหตุการณ์ที่สองเกิดขึ้นไม่นานหลังจากยะโฮซูอะเสียชีวิต. คนตระกูลเบนยามินบางคนก่ออาชญากรรมทางเพศในเมืองกิบอาห์ (ฆิบอา) เหตุการณ์นี้เกือบทำให้ตระกูลเบนยามินสูญสิ้นทั้งตระกูล มีเพียงผู้ชาย 600 คนเท่านั้นที่รอดชีวิต. อย่างไรก็ตาม มีการจัดเตรียมที่เหมาะสมเพื่อช่วยให้ชายเหล่านี้มีภรรยา และพวกเขาก็เพิ่มทวีขึ้นจนมีทหารเกือบ 60,000 คนในสมัยการปกครองของดาวิด.—1 โครนิกา 7:6-11.
คำตอบสำหรับคำถามเกี่ยวกับข้อพระคัมภีร์:
17:6; 21:25—ถ้า ‘ทุกคนต่างทำตามลำพังใจตนเอง’ จะเป็นการส่งเสริมให้เกิดความสับสนวุ่นวายไหม? ไม่จำเป็นต้องเป็นอย่างนั้น เนื่องจากพระยะโฮวาจัดเตรียมคำชี้นำมากพอแก่ประชาชนของพระองค์. พระองค์ประทานพระบัญญัติและคณะปุโรหิตเพื่อสั่งสอนพวกเขาในแนวทางของพระองค์. มหาปุโรหิตสามารถขอคำชี้แนะจากพระเจ้าในเรื่องต่าง ๆ ที่สำคัญโดยอาศัยอูริมกับทูมิม. (เอ็กโซโด 28:30) นอกจากนี้ ทุกเมืองยังมีผู้เฒ่าผู้แก่ที่สามารถให้คำแนะนำที่สุขุม. เมื่อชาวอิสราเอลอาศัยการจัดเตรียมเหล่านี้ เขาก็มีคำชี้นำที่วางใจได้สำหรับสติรู้สึกผิดชอบของเขา. การที่เขาทำ “ตามลำพังใจตนเอง” เช่นนั้นก็จะเกิดผลดี. ในอีกด้านหนึ่ง ถ้าเขาเพิกเฉยต่อพระบัญญัติและตัดสินใจเอาเองในเรื่องการปฏิบัติตัวและการนมัสการ ผลร้ายจะเกิดแก่เขา.
20:17-48—เหตุใดพระยะโฮวายอมให้ตระกูลเบนยามินได้ชัยชนะตระกูลอื่นถึงสองครั้ง ทั้ง ๆ ที่ตระกูลเบนยามินเป็นฝ่ายที่ต้องถูกลงโทษ? โดยการให้ตระกูลอื่น ๆ ที่ซื่อสัตย์ประสบการสูญเสียครั้งใหญ่ในตอนแรก พระยะโฮวาทดสอบความตั้งใจแน่วแน่ของพวกเขาที่จะขจัดความชั่วให้หมดสิ้นไปจากอิสราเอล.
บทเรียนสำหรับเรา:
19:14, 15. การที่ชาวเมืองกิบอาห์ไม่เต็มใจรับรองแขกบ่งชี้ถึงความบกพร่องทางด้านศีลธรรม. คริสเตียนได้รับการกระตุ้นเตือนให้ “มีน้ำใจรับรองแขก.”—โรม 12:13.
การช่วยให้รอดในอนาคต
อีกไม่ช้า ราชอาณาจักรของพระเจ้าที่พระเยซูปกครองจะทำลายโลกที่ชั่วช้าและจะนำมาซึ่งการช่วยให้รอดครั้งยิ่งใหญ่สำหรับคนที่ซื่อสัตย์และปราศจากด่างพร้อย. (สุภาษิต 2:21, 22; ดานิเอล 2:44) ‘ศัตรูของพระยะโฮวาจะพินาศเสื่อมสูญไป และผู้ที่รักพระองค์จะเป็นดุจดวงอาทิตย์อันส่องอย่างกล้า.’ (วินิจฉัย 5:31) ขอให้เราอยู่ในหมู่ผู้ที่รักพระยะโฮวาโดยนำสิ่งที่เราเรียนจากพระธรรมวินิจฉัยไปใช้.
ได้มีการแสดงให้เห็นความจริงพื้นฐานหลายต่อหลายครั้งในเรื่องราวของผู้วินิจฉัยนั่นคือ การเชื่อฟังพระยะโฮวานำไปสู่พระพรอันอุดม การไม่เชื่อฟังยังผลเป็นความหายนะ. (พระบัญญัติ 11:26-28) นับว่าเป็นเรื่องสำคัญเพียงไรที่เราต้อง “มีใจเชื่อฟัง” พระทัยประสงค์ของพระเจ้าที่เปิดเผยแก่เรา!—โรม 6:17; 1 โยฮัน 2:17.
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 10 ชาวเลวีไม่ได้รับแผ่นดินตามคำสัญญาเป็นมรดกยกเว้น 48 เมืองที่กระจายอยู่ทั่วอิสราเอล.
[แผนที่หน้า 25]
(รายละเอียดดูจากวารสาร)
“พระยะโฮวาทรงตั้งผู้วินิจฉัย, ให้ช่วยเขาเหล่านั้นให้พ้นจากอำนาจผู้ที่ข่มเหงปล้นเขา.”—วินิจฉัย 2:16
ผู้วินิจฉัย
1. โอทนีเอล
2. เอฮูด
3. ชัมการ์
4. บาราค
5. กิดโอน
6. โทลา
7. ยาอีร์
8. ยิฟทาห์
9. อิบซาน
10. เอโลน
11. อับโดน
12. ซิมโซน
ดาน
มะนาเซห์
นัฟทาลี
อาเชอร์
ซะบูโลน
ยิศซาคาร์
มะนาเซห์
กาด
เอฟรายิม
ดาน
เบนยามิน
รูเบน
ยูดาห์
[ภาพหน้า 26]
คุณได้บทเรียนอะไรจากการที่บาราคยืนกรานให้ดะโบราไปที่สนามรบด้วย?