ความจริงกำลังเกิดผลในคนที่คุณสอนไหม?
ความจริงกำลังเกิดผลในคนที่คุณสอนไหม?
เมื่อเด็กหนุ่มเอริกประกาศว่าเขาไม่ต้องการเป็นพยานพระยะโฮวาอีกต่อไป บิดามารดาของเขาแทบหัวใจสลาย. พวกเขาไม่เคยสังเกตเห็นการเปลี่ยนแปลงในตัวเอริกเลย. เมื่อตอนเป็นเด็ก เอริกเข้าร่วมการศึกษาพระคัมภีร์กับครอบครัว, เข้าร่วมการประชุมคริสเตียน, และออกประกาศกับพี่น้องในประชาคม. จะว่าไปแล้ว เขาดูเหมือนอยู่ในความจริง. แต่ตอนนี้เขาออกจากบ้านไปแล้ว บิดามารดาจึงได้ตระหนักว่าความจริงของคัมภีร์ไบเบิลไม่ได้อยู่ในตัวเขาเลย. การตระหนักถึงเรื่องนี้ทำให้บิดามารดาของเอริกรู้สึกตกใจและผิดหวัง.
ส่วนคนอื่น ๆ ก็ประสบความผิดหวังคล้ายกันเมื่อนักศึกษาเลิกศึกษาโดยไม่คาดฝัน. ในสภาพการณ์เช่นนั้นคนเรามักจะถามตัวเองว่า ‘ทำไมฉันไม่เห็นทีท่าว่าเขาจะเลิกศึกษา?’ เป็นไปได้ไหมที่จะรู้ว่า ความจริงกำลังเกิดผลในคนที่เราสอนหรือไม่ ก่อนที่ความเสียหายฝ่ายวิญญาณจะเกิดขึ้น? ที่จริง เราจะแน่ใจได้อย่างไรว่าความจริงกำลังเกิดผลในตัวเราเช่นเดียวกับคนที่เราสอน? ในอุปมาเรื่องผู้หว่านที่เราคุ้นเคย พระเยซูให้แนวชี้แนะเพื่อช่วยให้พบคำตอบสำหรับคำถามเหล่านี้.
ความจริงต้องเข้าถึงหัวใจ
พระเยซูตรัสว่า “พืชนั้นได้แก่พระวจนะของพระเจ้า. ซึ่งตกที่ดินดีนั้นได้แก่คนเหล่านั้นที่ได้ยินพระวจนะด้วยใจเลื่อมใสศรัทธา, แล้วก็จดจำไว้, จึงเกิดผลโดยความเพียร.” (ลูกา 8:11, 15) ดังนั้น ก่อนที่ความจริงเรื่องราชอาณาจักรจะเกิดผลใด ๆ ในตัวนักศึกษา ความจริงนั้นต้องหยั่งรากในหัวใจโดยนัยของเขาเสียก่อน. พระเยซูรับรองกับเราว่า เมื่อความจริงของพระเจ้าเข้าถึงหัวใจที่ดี ก็จะงอกรากและเจริญเติบโตทันทีและเกิดผลเหมือนกับเมล็ดดีที่ปลูกในดินดี. เราควรคาดหวังอะไร?
เราต้องสังเกตสิ่งที่อยู่ในหัวใจของเขา ไม่ใช่สิ่งที่เห็นแต่ภายนอก. เพียงแค่การรักษากิจวัตรในการนมัสการก็ไม่ได้เผยให้เห็นเสมอไปว่าหัวใจของเขาจริง ๆ แล้วเป็นอย่างไร. (ยิระมะยา 17:9, 10; มัดธาย 15:7-9) เราต้องมองลึกลงไป. เราควรเห็นการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนในเรื่องความปรารถนา, แรงกระตุ้น, และสิ่งที่เขาให้ความสนใจเป็นอันดับแรก ๆ. เขาควรพัฒนาบุคลิกภาพใหม่ซึ่งสอดคล้องกับพระทัยประสงค์ของพระเจ้า. (เอเฟโซ 4:20-24) เพื่อเป็นตัวอย่าง: เมื่อชาวเมืองเทสซาโลนิเกได้ฟังข่าวดี เปาโลกล่าวว่าพวกเขายอมรับทันทีว่านั่นเป็นพระคำของพระเจ้า. แต่ความอดทน, ความซื่อสัตย์, และความรักซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นภายหลังต่างหากที่ยืนยันว่าความจริง “กระทำกิจอยู่ภายใน [พวกเขา].”—1 เธซะโลนิเก 2:13, 14; 3:6.
แน่นอน ไม่ว่าจะช้าหรือเร็ว สิ่งที่อยู่ในหัวใจของนักศึกษาก็จะเผยออกมาทางพฤติกรรมของเขา ดังเห็นได้จากตัวอย่างของเอริก. (มาระโก 7:21, 22; ยาโกโบ 1:14, 15) น่าเสียดาย กว่าจะเห็นนิสัยไม่ดีบางอย่างที่ปรากฏชัดในพฤติกรรมของคนเราก็อาจสายเกินไป. ดังนั้น ข้อท้าทายก็คือการพยายามสังเกตว่ามีข้ออ่อนแออะไรบ้างก่อนที่ข้ออ่อนแอเหล่านั้นจะทำให้ความก้าวหน้าทางฝ่ายวิญญาณหยุดชะงัก. เราต้องมีวิธีมองเข้าไปในหัวใจโดยนัย. เราจะทำเช่นนั้นได้อย่างไร?
จงเรียนจากพระเยซู
แน่นอนว่า พระเยซูสามารถอ่านหัวใจคนเราได้อย่างไม่ผิดพลาด. (มัดธาย 12:25) พวกเราทำอย่างนั้นไม่ได้. กระนั้น พระองค์แสดงให้เห็นว่า เราก็สามารถหยั่งเห็นความปรารถนา, แรงกระตุ้น, และสิ่งที่คนอื่นสนใจเป็นอันดับแรกได้เช่นกัน. เช่นเดียวกับนายแพทย์ที่มีความสามารถใช้เทคนิคต่าง ๆ ในการวินิจฉัยโรคเพื่อจะรู้ถึงความผิดปกติในหัวใจของผู้ป่วย พระเยซูก็ทรงใช้พระคำของพระเจ้าเพื่อ “ยก” และเผย “ความคิดและความมุ่งหมายในใจ” ทั้ง ๆ ที่จากการสังเกตโดยทั่ว ๆ ไปจะยังมองไม่เห็นก็ตาม.—สุภาษิต 20:5; เฮ็บราย 4:12.
ตัวอย่างเช่น ในโอกาสหนึ่งพระเยซูช่วยเปโตรให้ตระหนักถึงความอ่อนแอซึ่งต่อมากลายเป็นสิ่งที่ทำให้เขาสะดุด. พระเยซูทราบว่าเปโตรรักพระองค์. ที่จริง พระเยซูเพิ่งมอบ “ลูกกุญแจแห่งราชอาณาจักร” แก่เปโตร. (มัดธาย 16:13-19, ล.ม.) อย่างไรก็ตาม พระเยซูทรงทราบด้วยว่าเหล่าอัครสาวกกำลังตกเป็นเป้าของซาตาน. ในอนาคต พวกเขาจะถูกกดดันอย่างหนักให้ยอมประนีประนอม. เห็นได้ชัดว่าพระเยซูมองออกว่าสาวกบางคนไม่เข้มแข็งในความเชื่อ. ดังนั้น พระองค์จึงไม่ลังเลที่จะชี้ให้พวกเขาเห็นสิ่งที่จำเป็นต้องทำ. ขอสังเกตวิธีที่พระองค์นำเรื่องนี้ขึ้นมาพิจารณา.
มัดธาย 16:21 (ล.ม.) กล่าวว่า “ตั้งแต่เวลานั้นเป็นต้นไป พระเยซูคริสต์เริ่มต้นชี้แจงสาวกของพระองค์ให้ทราบว่า พระองค์จะต้อง . . . ทนทุกข์ . . . และจะถูกประหาร.” ขอสังเกตว่าพระเยซูชี้แจง ไม่ใช่แค่บอกพวกเขาถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับพระองค์. เป็นไปได้มากที่พระองค์ใช้ข้อคัมภีร์ต่าง ๆ อย่างเช่น บทเพลงสรรเสริญ 22:14-18 หรือ ยะซายา 53:10-12 ซึ่งบ่งชี้ว่ามาซีฮาจะต้องทนทุกข์และสิ้นพระชนม์. ไม่ว่าจะโดยการอ่านหรือยกข้อความจากพระคัมภีร์โดยตรง พระเยซูให้โอกาสเปโตรและคนอื่น ๆ พูดออกมาจากหัวใจ. พวกเขาจะมีปฏิกิริยาอย่างไรต่อการข่มเหงที่คาดหมายว่าจะเกิดขึ้น?
น่าประหลาดใจ ทั้ง ๆ ที่เปโตรซึ่งเป็นคนกล้าหาญและมีใจแรงกล้า แต่ความหุนหันพลันแล่นที่เขาแสดงออกในตอนนั้นเผยให้เห็นว่าความคิดของเขามีข้อบกพร่องร้ายแรง. เขาพูดว่า “พระองค์เจ้าข้า, ให้เหตุการณ์นั้นอยู่ห่างไกลจากพระองค์เถิด อย่าให้เป็นอย่างนั้นแก่พระองค์เลย.” เห็นได้ชัดว่าวิธีคิดของเปโตรไม่ถูกต้อง ดังเห็นได้จากที่พระเยซูชี้ว่า เปโตร “มิได้คิดตามพระดำริของพระเจ้าแต่ตามความคิดของมนุษย์” ซึ่งเป็นข้อบกพร่องร้ายแรงที่อาจนำไปสู่ผลเสียหายอันใหญ่หลวง. แล้วต่อมาพระเยซูได้ทำอะไร? หลังจากตำหนิเปโตรแล้ว พระเยซูจึงตรัสกับเขาและเหล่าสาวกที่เหลือว่า “ถ้าผู้ใดจะใคร่ตามเรามา ให้ผู้นั้นเอาชนะตัวเองและรับกางเขน [“เสาทรมาน,” ล.ม.] ของตนแบกตามเรามา.” โดยอาศัยสิ่งที่บอกไว้ในบทเพลงสรรเสริญ 49:8 และ 62:12 พระองค์เตือนอย่างกรุณาว่า พวกเขาไม่สามารถฝากความหวังชั่วนิรันดร์ไว้กับมนุษย์ซึ่งไม่อาจช่วยให้รอดได้ แต่ให้ฝากไว้กับพระเจ้า.—มัดธาย 16:22-28.
แม้ว่าต่อมาเปโตรยอมจำนนต่อความกลัวไปชั่วขณะและปฏิเสธพระเยซูถึงสามครั้ง แต่ไม่สงสัยเลยว่าการสนทนากับพระเยซูในคราวนั้นและคราวอื่น ๆ ได้ช่วยเตรียมท่านให้ฟื้นตัวทางฝ่ายวิญญาณอย่างรวดเร็ว. (โยฮัน 21:15-19) เพียง 50 วันต่อมา เปโตรยืนขึ้นอย่างกล้าหาญต่อหน้าฝูงชนในกรุงเยรูซาเลมเพื่อยืนยันเรื่องการคืนพระชนม์ของพระเยซู. ในอีกหลายสัปดาห์, หลายเดือน, และหลายปีต่อมาท่านก็เผชิญหน้าอย่างกล้าหาญเมื่อถูกจับกุม, ถูกโบยตี, และถูกจำคุกหลายครั้ง เป็นแบบอย่างอันโดดเด่นในเรื่องความซื่อสัตย์มั่นคงที่ปราศจากความกลัว.—กิจการ 2:14-36; 4:18-21; 5:29-32, 40-42; 12:3-5.
เราเรียนอะไรได้จากเรื่องนี้? คุณเห็นวิธีที่พระเยซูดึงและเผยสิ่งที่อยู่ในใจของเปโตรออกมาไหม? ตอนแรก
พระองค์เลือกข้อพระคัมภีร์ที่เหมาะสมเพื่อจับความสนใจในเรื่องที่เขาเป็นห่วง. ต่อมา พระองค์ให้โอกาสเปโตรพูดออกมาจากหัวใจ. ในที่สุด พระองค์ให้ข้อพระคัมภีร์ชี้แนะเพิ่มเติมเพื่อช่วยเปโตรปรับความคิดและความรู้สึก. คุณอาจรู้สึกว่าการสอนระดับนี้เกินความสามารถของคุณ แต่ขอเราพิจารณาประสบการณ์สองตัวอย่างซึ่งแสดงให้เห็นว่าการเตรียมตัวและการวางใจพระยะโฮวาจะช่วยเราทุกคนทำตามตัวอย่างของพระเยซูได้.จงดึงสิ่งที่อยู่ในหัวใจออกมา
เมื่อบิดาที่เป็นคริสเตียนรู้ว่าลูกชายสองคนซึ่งมีอายุ 6 และ 7 ขวบหยิบลูกกวาดมาจากโต๊ะคุณครู เขาจึงนั่งลงและหาเหตุผลกับลูก ๆ. แทนที่จะมองข้ามว่านี่เป็นการเล่นตามประสาเด็ก ๆ ซึ่งไม่มีพิษมีภัย เขาเล่าว่า “ผมพยายามดึงสิ่งที่อยู่ในใจของเขาออกมาเพื่อจะรู้ว่าอะไรกระตุ้นเขาให้ทำสิ่งที่ไม่ดีเช่นนี้.”
บิดาบอกให้ลูกชายนึกถึงสิ่งที่เกิดขึ้นกับอาคานดังที่กล่าวไว้ในยะโฮซูอะบท 7. เด็ก ๆ เข้าใจทันทีและยอมรับผิด. สติรู้สึกผิดชอบรบกวนเขาอยู่แล้ว. ดังนั้น บิดาจึงให้ลูกชายอ่านเอเฟโซ 4:28 ซึ่งกล่าวว่า “ฝ่ายคนที่เคยลักขโมยก็อย่าให้ลักขโมยอีกต่อไป แต่ให้ใช้มือกระทำการงานที่ดีดีกว่า, เพื่อจะได้มีอะไร ๆ แจกให้แก่คนเหล่านั้นที่ขัดสน.” การที่บิดาให้ลูกชายซื้อลูกกวาดและนำไปให้ครูเพื่อชดใช้คืนนั้นเพิ่มน้ำหนักแก่คำแนะนำในพระคัมภีร์.
บิดากล่าวว่า “เราพยายามขจัดแรงกระตุ้นที่ไม่ดีทันทีที่สังเกตเห็นและแทนที่ด้วยแรงกระตุ้นที่ดีและบริสุทธิ์โดยการหาเหตุผลกับเด็ก ๆ.” โดยการเลียนแบบพระเยซูเมื่อพระองค์สอนเด็ก ๆ บิดามารดาจะได้รับผลที่ดีอย่างแน่นอนเมื่อเวลาผ่านไป. ในที่สุด ลูกชายทั้งสองคนได้รับเชิญให้เป็นสมาชิกครอบครัวเบเธลที่สำนักงานใหญ่ในบรุกลิน ซึ่งคนหนึ่งยังคงรับใช้หลังจากนั้นอีก 25 ปี.
ขอพิจารณาวิธีที่คริสเตียนอีกคนหนึ่งได้ช่วยนักศึกษาพระคัมภีร์. นักศึกษาคนนี้กำลังเข้าร่วมการประชุมและออกประกาศอีกทั้งแสดงความประสงค์ที่จะรับบัพติสมา. อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าเธอหมายพึ่งตัวเองมากเกินไปแทนที่จะหมายพึ่งพระยะโฮวา. พยานฯ เล่าว่า “เนื่องจากเธอเป็นคนโสด เธอจึงพึ่งตัวเองมากกว่าที่คิด. ดิฉันกลัวว่าเธอจะเป็นโรคประสาทหรือไม่ก็ล้มเหลวฝ่ายวิญญาณ.”
ดังนั้น พยานฯ จึงเริ่มหาเหตุผลกับนักศึกษาโดยใช้มัดธาย 6:33 สนับสนุนเธอให้จัดลำดับสิ่งที่สำคัญกว่า ให้เอาราชอาณาจักรมาเป็นอันดับแรก และวางใจว่าพระยะโฮวาจะทำให้สิ่งต่าง ๆ ออกมาดีที่สุด. พยานฯ ถามนักศึกษาตรง ๆ ว่า “การมีชีวิตอยู่ด้วยตัวเองทำให้คุณไม่อาจไว้ใจใคร ๆ ได้รวมทั้งพระยะโฮวาหรือ?” นักศึกษายอมรับว่าเกือบจะเลิกอธิษฐานแล้ว. ครั้นแล้วผู้ประกาศได้สนับสนุนนักศึกษาให้ติดตามคำแนะนำที่พบในบทเพลงสรรเสริญ 55:22 และให้มอบภาระไว้กับพระยะโฮวา เพราะที่ 1 เปโตร 5:7 (ฉบับแปลใหม่) รับรองกับเราว่า “พระองค์ทรงห่วงใยท่านทั้งหลาย.” ถ้อยคำนี้ประทับใจเธอมาก. พยานฯ กล่าวว่า “นั่นเป็นหนึ่งในไม่กี่ครั้งที่ดิฉันเห็นเธอร้องไห้.”
จงให้ความจริงเกิดผลในตัวคุณ
การเห็นคนที่เราสอนตอบรับความจริงในคัมภีร์ไบเบิลทำให้เรามีความยินดีอย่างยิ่ง. แต่เพื่อจะประสบผลสำเร็จในการช่วยคนอื่น ๆ เราต้องวางแบบอย่างที่ดี. (ยูดา 22, 23) เราทุกคนต้อง “อุสส่าห์ประพฤติให้ความรอดของตนบริบูรณ์ด้วยความเกรงกลัวตัวสั่น.” (ฟิลิปปอย 2:12) นั่นรวมถึงการทำให้แสงแห่งพระคัมภีร์ส่องเข้าไปในหัวใจ เราเป็นประจำ เสาะหาสิ่งที่เราอาจจำเป็นต้องแก้ไขในเรื่องเจตคติ, ความปรารถนา, และอารมณ์.—2 เปโตร 1:19.
ตัวอย่างเช่น หลัง ๆ มานี้ความมีใจแรงกล้าที่จะทำกิจกรรมต่าง ๆ ฝ่ายคริสเตียนของคุณลดลงไหม? ถ้าใช่ เป็นเพราะเหตุใด? เหตุผลหนึ่งอาจเป็นเพราะคุณหมายพึ่งตัวเองมากเกินไป. คุณจะบอกได้ไหมว่าเหตุใดจึงเป็นเช่นนี้? จงอ่านฮาฆี 1:2-11 และใคร่ครวญอย่างจริงใจถึงวิธีที่พระยะโฮวาทรงหาเหตุผลกับชาวยิวที่กลับคืนสู่ภูมิลำเนา. แล้วถามตัวเองว่า ‘ฉันเป็นห่วงมากเกินไปไหมในเรื่องความมั่นคงด้านการเงินและความสะดวกสบายในสิ่งฝ่ายวัตถุ? ฉันวางใจในพระยะโฮวาจริง ๆ ไหมว่าพระองค์จะดูแลครอบครัวถ้าฉันจัดให้สิ่งฝ่ายวิญญาณมาเป็นอันดับแรก? หรือฉันรู้สึกว่าต้องเป็นห่วงตัวเองก่อน?’ หากจำเป็นต้องปรับความคิดหรือความรู้สึกของคุณเอง อย่ารีรอชักช้า. คำแนะนำตามหลักพระคัมภีร์ เช่นที่พบในมัดธาย 6:25-33, ลูกา 12:13-21, และ 1 ติโมเธียว 6:6-12 ให้พื้นฐานเพื่อจะมีทัศนะที่สมดุลเกี่ยวกับความจำเป็นด้านวัตถุและทรัพย์สมบัติ ซึ่งคำแนะนำนี้รับประกันว่าเราจะได้รับพระพรจากพระยะโฮวาต่อ ๆ ไป.—มาลาคี 3:10.
การตรวจสอบตัวเองอย่างตรงไปตรงมาเช่นนี้อาจช่วยให้เรารู้สึกตัว. เมื่อมีการชี้ให้เห็นว่าเรามีข้ออ่อนแออย่างใดอย่างหนึ่งและเราต้องยอมรับในเรื่องนั้นอาจทำให้เรารู้สึกไม่สบายใจ. กระนั้น การริเริ่มด้วยความรักเพื่อช่วยบุตรของคุณ, นักศึกษาพระคัมภีร์, หรือแม้แต่ตัวคุณเอง—ไม่ว่าจะเป็นเรื่องส่วนตัวหรือเรื่องที่ละเอียดอ่อนเพียงใดก็ตาม—คุณคงยินดีทำขั้นตอนแรกนี้เพื่อช่วยชีวิตพวกเขาหรือตัวคุณเองอย่างแน่นอน.—ฆะลาเตีย 6:1.
จะว่าอย่างไรถ้าความพยายามของคุณดูเหมือนไม่ได้ผล? อย่ายอมแพ้ง่าย ๆ. การปรับเปลี่ยนหัวใจที่ไม่สมบูรณ์อาจเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน, ต้องใช้เวลา, และบางครั้งทำให้รู้สึกข้องขัดใจ. แต่การทำเช่นนี้ก็จะทำให้เราได้รับผลตอบแทนด้วยเช่นกัน.
ในที่สุด เด็กหนุ่มที่ชื่อเอริกซึ่งกล่าวถึงในตอนต้นก็สำนึกตัวและเริ่มกลับมา “ดำเนินอยู่ในความจริง” อีกครั้ง. (2 โยฮัน 4, ล.ม.) เขากล่าวว่า “ผมไม่ได้สำนึกเลยจนกระทั่งมารู้ตัวว่าผมสูญเสียอะไรไปบ้าง ผมจึงกลับมาหาพระยะโฮวา.” ด้วยความช่วยเหลือจากบิดามารดาของเขา ทุกวันนี้เอริกกำลังรับใช้พระยะโฮวาอย่างซื่อสัตย์. แม้ครั้งหนึ่งเขาโกรธบิดามารดาที่พยายามครั้งแล้วครั้งเล่าเพื่อให้เขาตรวจสอบหัวใจตนเอง ตอนนี้เขาหยั่งรู้ค่าอย่างลึกซึ้งในสิ่งที่บิดามารดาได้ทำ. เขากล่าวว่า “พวกท่านเป็นพ่อแม่ที่ยอดเยี่ยม. ท่านไม่เคยเลิกรักผมเลย.”
การฉายแสงแห่งพระคำของพระเจ้าเพื่อให้เข้าถึงหัวใจของคนที่เราสอนเป็นการแสดงความกรุณารักใคร่. (บทเพลงสรรเสริญ 141:5) จงตรวจสอบหัวใจของบุตรและนักศึกษาพระคัมภีร์ของคุณต่อ ๆ ไปเพื่อจะเห็นข้อพิสูจน์ที่ว่าบุคลิกภาพใหม่แบบคริสเตียนฝังแน่นอยู่ในตัวเขาจริง ๆ. จงให้ความจริงเกิดผลในคนอื่นและในตัวคุณเองโดย “เป็นคนที่ซื่อตรงในการที่ใช้คำแห่งความจริงนั้น.”—2 ติโมเธียว 2:15.
[ภาพหน้า 29]
ถ้อยคำของพระเยซูเผยให้เห็นความอ่อนแอในตัวเปโตร
[ภาพหน้า 31]
จงใช้คัมภีร์ไบเบิลดึงเอาสิ่งที่อยู่ในหัวใจออกมา