พระยะโฮวาทรงทำสิ่งที่ถูกต้องเสมอ
พระยะโฮวาทรงทำสิ่งที่ถูกต้องเสมอ
“พระยะโฮวาทรงชอบธรรมในทางทั้งปวงของพระองค์.”—บทเพลงสรรเสริญ 145:17, ล.ม.
1. คุณรู้สึกอย่างไรเมื่อมีใครลงความเห็นผิด ๆ เกี่ยวกับตัวคุณ และเราเรียนอะไรได้จากประสบการณ์ดังกล่าว?
เคยมีใครลงความเห็นผิด ๆ เกี่ยวกับตัวคุณไหม บางทีอาจสงสัยเจตนาหรือการกระทำของคุณโดยที่เขาไม่ทราบข้อเท็จจริงทั้งหมด? ถ้าเป็นอย่างนั้น คุณคงรู้สึกเจ็บปวดทีเดียว และก็เป็นที่เข้าใจได้. จากประสบการณ์ดังกล่าว เราอาจได้บทเรียนสำคัญอย่างหนึ่งคือ เป็นการสุขุมที่จะไม่ด่วนสรุปในเมื่อเรายังไม่รู้ข้อเท็จจริงทุกอย่าง.
2, 3. บางคนมีปฏิกิริยาอย่างไรเมื่ออ่านเรื่องราวในคัมภีร์ไบเบิลที่ไม่ได้ให้รายละเอียดมากพอสำหรับทุกคำถาม แต่กระนั้น คัมภีร์ไบเบิลบอกอะไรเราเกี่ยวกับพระยะโฮวา?
2 เราต้องคำนึงถึงบทเรียนนี้อยู่เสมอเมื่อจะตั้งข้อสรุปเกี่ยวกับพระยะโฮวาพระเจ้า. เหตุใดจึงควรคำนึงถึงบทเรียนดังกล่าว? ก็เพราะว่ามีบันทึกบางเรื่องในคัมภีร์ไบเบิลซึ่งอาจก่อความฉงนได้เมื่ออ่านพบครั้งแรก. เรื่องราวเหล่านี้ ซึ่งอาจเกี่ยวข้องกับการกระทำของผู้นมัสการพระเจ้าบางคนหรือการพิพากษาตัดสินต่าง ๆ ของพระเจ้าในอดีต อาจไม่ได้ให้รายละเอียดมากพอที่จะตอบคำถามทุกอย่างของเรา. น่าเศร้า บางคนไม่พอใจเรื่องราวเหล่านี้ และถึงกับสงสัยว่าพระเจ้าทรงชอบธรรมและยุติธรรมหรือไม่. กระนั้น คัมภีร์ไบเบิลบอกเราว่า “พระยะโฮวาทรงชอบธรรมในทางทั้งปวงของพระองค์.” (บทเพลงสรรเสริญ 145:17, ล.ม.) นอกจากนี้ พระคำของพระเจ้าให้คำรับรองแก่เราว่า พระองค์ “จะไม่ทรงกระทำชั่วเป็นอันขาด.” (โยบ 34:12; บทเพลงสรรเสริญ 37:28) ฉะนั้น ลองคิดดูสิว่าพระองค์คงต้องรู้สึกอย่างไรเมื่อผู้อื่นลงความเห็นผิด ๆ เกี่ยวกับพระองค์!
3 ขอให้เราพิจารณาเหตุผลห้าประการที่เราควรยอมรับว่าการพิพากษาตัดสินของพระยะโฮวานั้นถูกต้อง. จากนั้น โดยคำนึงถึงเหตุผลเหล่านี้ เราจะพิจารณาสองเหตุการณ์ในคัมภีร์ไบเบิลที่บางคนอาจรู้สึกว่ายากจะเข้าใจ.
เหตุใดจึงยอมรับการพิพากษาตัดสินของพระยะโฮวา?
4. เหตุใดเราควรเจียมตัวเมื่อไตร่ตรองการกระทำของพระเจ้า? จงยกตัวอย่าง.
4 ประการแรก เนื่องจากพระยะโฮวาทรงทราบข้อเท็จจริงทุกอย่างที่เกี่ยวข้องและเราไม่ทราบ เราจึงควรเจียมตัวเมื่อไตร่ตรองการกระทำของพระเจ้า. ยกตัวอย่าง สมมุติว่าผู้พิพากษาคนหนึ่งซึ่งมีชื่อเสียงว่าตัดสินอย่างเที่ยงธรรมได้ประกาศคำตัดสินคดีหนึ่งในศาล. คุณคิดอย่างไรหากมีคนหนึ่งที่ไม่รู้ข้อเท็จจริงทั้งหมดหรือไม่เข้าใจกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างถ่องแท้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์คำตัดสินของผู้พิพากษาคนนั้น? คงเป็นความโฉดเขลาที่ใครสักคนจะตำหนิวิจารณ์ในเรื่องที่เขาไม่รู้อย่างถ่องแท้. (สุภาษิต 18:13) คงเป็นการโฉดเขลายิ่งกว่านั้นสักเพียงไรที่มนุษย์ผู้ต่ำต้อยจะวิพากษ์วิจารณ์ “ผู้พิพากษาแห่งแผ่นดินโลกทั้งสิ้น”!—เยเนซิศ 18:25, ล.ม.
5. เราควรจดจำอะไรไว้เมื่ออ่านเรื่องราวในคัมภีร์ไบเบิลเกี่ยวกับการพิพากษาของพระเจ้าต่อผู้หนึ่งผู้ใด?
5 เหตุผลประการที่สองที่ควรยอมรับการพิพากษาตัดสินของพระเจ้าก็คือพระเจ้าต่างจากมนุษย์ พระองค์ทรงอ่านหัวใจได้. (1 ซามูเอล 16:7) พระคำของพระองค์กล่าวว่า “เรายะโฮวาค้นดูหัวใจและตรวจดูไตเพื่อจะให้แก่แต่ละคนสมกับแนวทางของเขา และสมกับผลแห่งการกระทำของเขา.” (ยิระมะยา 17:10, ล.ม.) ฉะนั้น เมื่อเราอ่านเรื่องราวในคัมภีร์ไบเบิลเกี่ยวกับการพิพากษาของพระเจ้าต่อผู้หนึ่งผู้ใด ขอเราจำไว้ว่าพระองค์ผู้ทรงเห็นทุกสิ่งสามารถนำเอาความคิดส่วนลึก, เจตนา, และความมุ่งหมายของผู้ นั้น ซึ่งไม่ได้ระบุไว้ในพระคำของพระองค์ มาประกอบการพิจารณาตัดสินของพระองค์.—1 โครนิกา 28:9.
6, 7. (ก) พระยะโฮวาแสดงให้เห็นอย่างไรว่าพระองค์ยึดมั่นกับมาตรฐานที่ยุติธรรมและชอบธรรมของพระองค์ แม้ว่าจะต้องจ่ายด้วยราคาแพงมากก็ตาม? (ข) เราควรจดจำอะไรไว้เสมอเมื่ออ่านบางเรื่องในคัมภีร์ไบเบิลที่ทำให้เราสงสัยว่าพระเจ้ากระทำด้วยความยุติธรรมหรืออย่างถูกต้องหรือไม่?
6 ขอให้สังเกตเหตุผลประการที่สามที่ควรยอมรับการพิพากษาตัดสินของพระยะโฮวา นั่นคือ พระองค์ทรงยึดมั่นกับมาตรฐานอันชอบธรรมของพระองค์ แม้ว่าจะต้องจ่ายด้วยราคาแพงมากก็ตาม. ขอพิจารณาตัวอย่างหนึ่ง. โดยการประทานพระบุตรของพระองค์เป็นค่าไถ่เพื่อให้มนุษยชาติที่เชื่อฟังหลุดพ้นจากบาปและความตายนั้น พระยะโฮวาทรงดำเนินการสอดคล้องกับมาตรฐานความยุติธรรมและความชอบธรรมของพระองค์. (โรม 5:18, 19) กระนั้น การเห็นพระบุตรที่รักของพระองค์ทนทุกข์และสิ้นพระชนม์บนหลักทรมานคงทำให้พระยะโฮวาปวดร้าวพระทัยอย่างยิ่ง. เรื่องนี้บอกอะไรเราเกี่ยวกับพระเจ้า? เกี่ยวกับ “ค่าไถ่ที่พระคริสต์เยซูได้ทรงชำระแล้วนั้น” คัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่า “ทั้งนี้ก็เพื่อจะได้สำแดงความชอบธรรมของ [พระเจ้า] เอง.” (โรม 3:24-26, ล.ม.) อีกฉบับแปลหนึ่งแปลโรม 3:25 ว่า “นี่แสดงว่าพระเจ้าทรงทำสิ่งที่ถูกต้องและยุติธรรมเสมอ.” (นิว เซนจูรี เวอร์ชัน) ใช่แล้ว การที่พระยะโฮวาเต็มพระทัยจ่ายแพงขนาดนั้นเพื่อจัดเตรียมค่าไถ่แสดงว่าพระองค์เทิดทูน “สิ่งที่ถูกต้องและยุติธรรม” ไว้สูงยิ่ง.
7 ด้วยเหตุนี้ หากเราอ่านพบบางเรื่องราวในคัมภีร์ไบเบิลที่ทำให้บางคนสงสัยว่าพระเจ้ากระทำด้วยความเป็นธรรมหรืออย่างถูกต้องหรือไม่นั้น เราควรจำไว้เสมอว่า เนื่องจากพระยะโฮวาทรงภักดีต่อมาตรฐานความชอบธรรมและความยุติธรรมของพระองค์ พระองค์จึงไม่ทรงสงวนพระบุตรของพระองค์ไว้ไม่ให้ได้ประสบความตายที่เจ็บปวดแสนทรมาน พระองค์จะอะลุ่มอล่วยมาตรฐานดังกล่าวในเรื่องอื่น ๆ หรือ? ความจริงคือ พระยะโฮวาไม่มีวัน ละเมิดมาตรฐานความชอบธรรมและความยุติธรรมของพระองค์เลย. เราจึงมีเหตุผลเต็มที่ที่จะมั่นใจว่าพระองค์ทรงทำสิ่งที่ถูกต้องและยุติธรรมเสมอ.—โยบ 37:23.
8. เหตุใดคงไม่สมเหตุสมผลที่มนุษย์จะคิดว่าด้วยเหตุใดเหตุหนึ่งพระยะโฮวาขาดความยุติธรรมและความชอบธรรม?
8 ขอพิจารณาเหตุผลประการที่สี่ที่เราควรยอมรับการพิพากษาตัดสินของพระยะโฮวา นั่นคือ พระยะโฮวาทรงสร้างมนุษย์ตามแบบฉายาของพระองค์. (เยเนซิศ 1:27) เพราะเหตุนี้ มนุษย์จึงได้รับคุณลักษณะต่าง ๆ เยี่ยงพระเจ้าเป็นของประทาน ซึ่งรวมไปถึงความรู้สึกนึกคิดในเรื่องความยุติธรรมและความชอบธรรม. คงไม่สมเหตุสมผลหากความรู้สึกนึกคิดของเราในเรื่องความยุติธรรมและความชอบธรรมกลับทำให้เราคิดว่าพระยะโฮวาขาดคุณลักษณะเหล่านี้ไปด้วยเหตุใดเหตุหนึ่ง. หากเราฉงนเรื่องใดเรื่องหนึ่งในคัมภีร์ไบเบิล เราก็ต้องระลึกว่าเนื่องจากบาปที่เราได้รับสืบทอดมา ความรู้สึกนึกคิดของเราในเรื่องความเป็นธรรมและความถูกต้องจึงไม่ครบถ้วนสมบูรณ์. พระยะโฮวาพระเจ้า ซึ่งเราถูกสร้างตามแบบฉายาของพระองค์นั้น ทรงสมบูรณ์ในความยุติธรรมและความชอบธรรม. (พระบัญญัติ 32:4, ล.ม.) แม้แต่จะคิดว่ามนุษย์มีความยุติธรรมและความชอบธรรมยิ่งกว่าพระเจ้าก็เป็นเรื่องไร้เหตุผลจริง ๆ!—โรม 3:4, 5; 9:14.
9, 10. เหตุใดพระยะโฮวาจึงไม่มีพันธะต้องชี้แจงหรือบอกเหตุผลสำหรับการกระทำต่าง ๆ ของพระองค์แก่มนุษย์?
9 เหตุผลประการที่ห้าที่เราควรยอมรับการพิพากษาตัดสินของพระยะโฮวาก็คือ พระองค์อยู่ในฐานะ “ผู้สูงสุดเหนือแผ่นดินโลกทั้งสิ้น.” (บทเพลงสรรเสริญ 83:18, ฉบับแปลใหม่) ในฐานะเช่นนั้น พระองค์ไม่มีพันธะจะต้องชี้แจงหรือบอกเหตุผลสำหรับการกระทำต่าง ๆ ของพระองค์แก่มนุษย์. พระองค์เป็นช่างปั้นหม้อองค์ยิ่งใหญ่ และเราเป็นดุจดินเหนียวที่ถูกปั้นเป็นภาชนะต่าง ๆ ตามที่พระองค์ทรงประสงค์. (โรม 9:19-21) เราซึ่งเป็นผู้ถูกปั้นอยู่ในพระหัตถ์ของพระองค์เป็นใครที่จะตั้งข้อกังขาการกระทำหรือการตัดสินของพระองค์? เมื่อโยบปฐมบรรพบุรุษเข้าใจผิดเกี่ยวกับวิธีที่พระเจ้าปฏิบัติต่อมนุษย์ พระยะโฮวาทรงแก้ไขท่านโดยถามว่า “เจ้าจะลบล้างคำตัดสินของเราหรือ? เจ้าหาว่าเราผิดเพื่อเจ้าจะเป็นฝ่ายถูกหรือ?” เมื่อตระหนักว่าตนได้พูดอย่างที่ขาดความเข้าใจ โยบก็กลับใจในเวลาต่อมา. (โยบ 40:8; 42:6) ขอเราอย่าพลาดไปด้วยการกล่าวหาพระเจ้า!
10 เห็นได้ชัด เรามีเหตุผลหนักแน่นหลายประการที่จะเชื่อมั่นว่าพระยะโฮวาทรงทำสิ่งที่ถูกต้องเสมอ. โดยอาศัยพื้นฐานนี้ที่ช่วยให้เข้าใจวิถีทางของพระยะโฮวา ขอให้เราพิจารณาสองเหตุการณ์จากคัมภีร์ไบเบิลที่บางคนอาจรู้สึกฉงน. เรื่องแรกเกี่ยวกับการกระทำของผู้นมัสการพระเจ้าคนหนึ่ง และอีกเรื่องหนึ่งเกี่ยวกับการพิพากษาลงโทษโดยพระเจ้าเอง.
ทำไมโลตจึงเสนอลูกสาวแก่ฝูงชนที่บ้าคลั่ง?
11, 12. (ก) จงเล่าสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อพระเจ้าส่งทูตสวรรค์สององค์ในรูปกายมนุษย์ไปที่เมืองโซโดม. (ข) เรื่องราวนี้ทำให้เกิดคำถามอะไรขึ้นในใจบางคน?
11 ในเยเนซิศบท 19 เราพบเรื่องราวซึ่งเกิดขึ้นเมื่อพระเจ้าส่งทูตสวรรค์สององค์ในรูปกายมนุษย์ไปที่เมืองโซโดม. โลตคะยั้นคะยอให้แขกทั้งสองเข้าพักในบ้านของตน. อย่างไรก็ตาม ในคืนนั้นเอง ผู้ชายจากเมืองนั้นพากันมาล้อมบ้านของโลตและสั่งท่านให้พาแขกออกมาเพื่อวัตถุประสงค์ที่ผิดศีลธรรม. โลตพยายามเจรจาให้ฝูงชนเปลี่ยนใจแต่ไม่เป็นผล. เพื่อพยายามปกป้องแขก โลตกล่าวว่า “ขอพี่น้องทั้งหลายอย่าได้กระทำการชั่วลามกเช่นนี้เลย. นี่แน่ะ, ข้าพเจ้ามีลูกสาวสองคนยังไม่เคยสมสู่อยู่กับผู้ชายเลย; ข้าพเจ้าจะพาเขาออกมาให้ท่าน, ท่านจงทำแก่เขาตามชอบใจเถิด: แต่ส่วนท่านทั้งสองนี้ขออย่าได้กระทำอะไรเลย, เพราะว่าแขกเหล่านี้ได้เข้ามาพึ่งใต้หลังคาเรือนข้าพเจ้าแล้ว.” ฝูงชนไม่รับฟังและจวนจะพังประตูเข้าไปแล้ว. ในที่สุด แขกที่เป็นทูตสวรรค์จึงทำให้ฝูงชนที่บ้าคลั่งนั้นตาบอดเสีย.—เยเนซิศ 19:1-11.
12 เป็นที่เข้าใจได้ที่เรื่องนี้ก่อให้เกิดคำถามขึ้นในใจบางคน. พวกเขาสงสัยว่า ‘โลตพยายามจะปกป้องแขกด้วยการเสนอลูกสาวให้ฝูงชนที่กำหนัดในกามได้อย่างไร? โลตทำสิ่งที่ผิดทำนองคลองธรรม กระทั่งขี้ขลาดด้วยซ้ำมิใช่หรือ?’ เมื่อคำนึงถึงเรื่องนี้ ทำไมพระเจ้าจึงดลใจเปโตรให้กล่าวว่าโลตเป็น “คนชอบธรรม”? โลตประพฤติเป็นที่ชอบพระทัยพระเจ้าแล้วหรือ? (2 เปโตร 2:7, 8) ให้เรามาหาเหตุผลกันในเรื่องนี้ เพื่อจะไม่ลงความเห็นผิดไป.
13, 14. (ก) มีอะไรน่าสังเกตจากบันทึกในคัมภีร์ไบเบิลเกี่ยวกับการกระทำของโลต? (ข) อะไรแสดงว่าโลตไม่ขี้ขลาด?
13 ก่อนอื่น ควรสังเกตว่าคัมภีร์ไบเบิลไม่ได้เห็นด้วยหรือตำหนิการกระทำของโลต เพียงแต่รายงานเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเท่านั้น. นอกจากนี้ คัมภีร์ไบเบิลไม่ได้บอกว่าโลตคิดอะไรอยู่ในตอนนั้น หรืออะไรกระตุ้นให้ท่านทำเช่นนั้น. เมื่อท่านกลับมามีชีวิตอีกในคราว “การกลับเป็นขึ้นจากตาย . . . ของคนชอบธรรม” บางทีท่านอาจจะเผยให้เราทราบรายละเอียด.—กิจการ 24:15, ล.ม.
14 โลตไม่ได้เป็นคนขี้ขลาด. ท่านอยู่ในสภาพการณ์ยากลำบาก. โดยการกล่าวว่าแขก “เข้ามาพึ่งใต้” หลังคาเรือนของท่าน โลตบ่งชี้ว่าท่านรู้สึกว่าพึงให้การปกป้องและให้ที่เยเนซิศ 19:6.
คุ้มภัยแก่แขก. แต่การทำอย่างนี้ไม่ง่ายเลย. โยเซฟุส นักประวัติศาสตร์ชาวยิวรายงานว่าชาวเมืองโซโดม “ปฏิบัติกับมนุษย์ด้วยกันอย่างอยุติธรรม และไม่เกรงกลัวพระเจ้า . . . พวกเขาเกลียดคนแปลกหน้า และประพฤติตัวผิด ๆ ด้วยกามกิจที่วิตถาร.” กระนั้นก็ตาม โลตไม่ถอยหนีจากฝูงชนที่น่าขยะแขยงเหล่านี้. ตรงกันข้าม ท่านออกไปเผชิญหน้าและพูดจาโน้มน้าวฝูงชนที่บ้าคลั่งนั้น. ท่านถึงกับ “ปิดประตูไว้ข้างหลัง” เสียด้วยซ้ำ.—15. ทำไมจึงกล่าวได้ว่าโลตอาจปฏิบัติด้วยความเชื่อ?
15 บางคนอาจถาม ‘แต่กระนั้น ทำไมโลตเสนอลูกสาวให้ฝูงชนด้วยล่ะ?’ แทนที่จะคิดไปเองว่าท่านมีเจตนาไม่ดี น่าจะลองคิดถึงเหตุผลอย่างอื่นที่เป็นไปได้ดูสิ. ประการแรก โลตอาจปฏิบัติด้วยความเชื่อ. ทำไมถึงกล่าวอย่างนั้น? ไม่ต้องสงสัยเลยว่าโลตรู้ว่าพระยะโฮวาทรงปกป้องซาราภรรยาอับราฮามซึ่งเป็นลุงของโลตอย่างไร. ขอระลึกว่านางซาราสวยมาก อับราฮามจึงขอให้นางบอกคนอื่นว่าท่านเป็นพี่ชาย เพราะหวั่นกลัวว่าคนอื่นจะฆ่าท่านเพื่อชิงตัวนางไป. * ต่อมานางซาราถูกนำตัวไปยังราชสำนักของฟาโรห์. อย่างไรก็ตาม พระยะโฮวาทรงเข้าแทรกแซงเพื่อป้องกันไม่ให้นางถูกฟาโรห์ล่วงละเมิดทางเพศ. (เยเนซิศ 12:11-20) เป็นไปได้ที่โลตมีความเชื่อว่าลูกสาวของท่านจะได้รับการปกป้องคล้าย ๆ กันนั้น. ที่น่าสังเกตคือ พระยะโฮวาโดยทางทูตสวรรค์ของพระองค์ทรงเข้าแทรกแซงจริง ๆ และหญิงสาวทั้งสองไม่ได้ถูกกระทำมิดีมิร้ายแต่อย่างใด.
16, 17. (ก) โลตอาจพยายามทำให้ผู้ชายชาวเมืองโซโดมตะลึงงันหรือสับสนโดยวิธีใด? (ข) ไม่ว่าโลตจะคิดหาเหตุผลอย่างไรก็ตาม เราแน่ใจได้ในเรื่องใด?
16 ขอคิดถึงความเป็นไปได้อีกอย่างหนึ่งด้วย. โลตอาจพยายามทำให้พวกผู้ชายเหล่านั้นตะลึงงันหรือสับสน. ท่านอาจคิดว่าลูกสาวของท่านจะไม่เป็นที่ปรารถนาของฝูงชนเนื่องจากชาวโซโดมมีความใคร่ในเพศเดียวกัน. (ยูดา 7) นอกจากนี้ ลูกสาวของโลตได้หมั้นกับชายในเมืองนั้นแล้ว ดังนั้น ญาติ, มิตรสหาย, หรือคนที่ทำการค้ากับผู้ที่จะมาเป็นลูกเขยของท่านอาจอยู่ในหมู่ฝูงชนนั้นด้วย. (เยเนซิศ 19:14) โลตอาจหวังว่าโดยอาศัยความสัมพันธ์เหล่านี้ ผู้ชายบางคนในหมู่ฝูงชนจะออกมาพูดปกป้องลูกสาวของท่าน. และโดยวิธีนี้ ฝูงชนที่แตกแยกกันก็จะไม่ถึงขั้นอันตรายมากนัก. *
17 ไม่ว่าโลตจะคิดหาเหตุผลและมีเจตนาอย่างไรก็ตาม เราแน่ใจได้ว่าเนื่องจากพระยะโฮวาทรงทำสิ่งที่ถูกต้องเสมอ พระองค์ต้องมีเหตุผลอันดีที่จะถือว่าโลตเป็น “คนชอบธรรม.” และเมื่อพิจารณาจากการกระทำอันบ้าคลั่งของฝูงชนชาวเมืองโซโดมแล้ว จะมีข้อสงสัยใด ๆ ไหมว่าพระยะโฮวามีเหตุผลเต็มที่หรือไม่ที่จะพิพากษาลงโทษประชาชนของเมืองที่ชั่วช้านั้น?—เยเนซิศ 19:23-25.
เหตุใดพระยะโฮวาจึงสังหารอุซา?
18. (ก) เกิดอะไรขึ้นเมื่อดาวิดพยายามนำหีบสัญญาไมตรีไปยังกรุงเยรูซาเลม? (ข) เรื่องนี้ทำให้เกิดคำถามอะไร?
18 อีกเรื่องที่อาจดูเหมือนทำให้บางคนฉงนนั้นเกี่ยวกับความพยายามของดาวิดที่จะนำหีบสัญญาไมตรีไปยังกรุงเยรูซาเลม. มีการวางหีบนั้นบนเกวียนซึ่งขับโดยอุซากับน้องชายของเขา. คัมภีร์ไบเบิลรายงานว่า “ครั้นมาถึงลานข้าวของนาโคน, โคได้ทำหีบนั้นให้สะเทือนอุซาก็เอื้อมมือจับไว้. พระยะโฮวาทรงพระพิโรธต่ออุซา, จึงทรงสังหารเสียที่นั่นเพราะการผิดเท่านั้น [“เพราะการกระทำที่ขาดความยำเกรง,” ล.ม.], อุซาขาดใจตายอยู่ที่ริมหีบสัญญาไมตรีแห่งพระเจ้า.” สามเดือนต่อมา ความพยายามหนที่สองประสบความสำเร็จเมื่อมีการขนย้ายหีบตามวิธีที่พระเจ้ากำหนดไว้ คือให้หามโดยชาวเลวีเชื้อวงศ์โคฮาธ. (2 ซามูเอล 6:6, 7; อาฤธโม 4:15; 7:9; 1 โครนิกา 15:1-14) บางคนอาจถามว่า ‘ทำไมพระยะโฮวาแสดงปฏิกิริยารุนแรงถึงเพียงนั้น? อุซาเพียงแต่พยายามจะป้องกันหีบไว้.’ เพื่อจะไม่ลงความเห็นอย่างผิด ๆ เราควรเอาใจใส่รายละเอียดบางอย่างที่เป็นประโยชน์.
19. เหตุใดจึงเป็นไปไม่ได้ที่พระยะโฮวาจะกระทำสิ่งที่ไม่เป็นธรรม?
19 เราต้องจำไว้ว่าเป็นไปไม่ได้ที่พระยะโฮวาจะกระทำสิ่งที่ไม่เป็นธรรม. (โยบ 34:10) สำหรับพระองค์ การทำ เช่นนั้นคงจะไม่เป็นการแสดงความรัก และเราทราบจากการศึกษาคัมภีร์ไบเบิลโดยรวมว่า “พระเจ้าทรงเป็นความรัก.” (1 โยฮัน 4:8) นอกจากนี้ พระคัมภีร์บอกเราว่า “ความชอบธรรมและความยุติธรรมเป็นรากฐานแห่งบัลลังก์ของ [พระเจ้า].” (บทเพลงสรรเสริญ 89:14, ฉบับแปลใหม่) ฉะนั้น จะเป็นไปได้อย่างไรที่พระยะโฮวาจะกระทำสิ่งที่ไม่เป็นธรรม? หากทำเช่นนั้น พระองค์คงจะเซาะกร่อนรากฐานแห่งการปกครองของพระองค์เลยทีเดียว.
20. ด้วยเหตุผลอะไรบ้างที่อุซาน่าจะทราบข้อกำหนดต่าง ๆ เกี่ยวกับหีบนั้น?
20 อย่าลืมว่าอุซาน่าจะรู้พระบัญญัติดี. หีบนั้นเป็นสัญลักษณ์แทนการประทับของพระยะโฮวา. พระบัญญัติระบุว่าห้ามใครแตะต้องหีบนั้นถ้าไม่มีสิทธิ์ และเตือนไว้ชัดแจ้งว่าผู้ฝ่าฝืนมีโทษถึงตาย. (อาฤธโม 4:18-20; 7:89) ดังนั้น การขนย้ายหีบศักดิ์สิทธิ์นั้นจึงไม่ใช่งานที่จะดูเบาได้. ดูเหมือนว่าอุซาเป็นชาวเลวี (แม้ไม่ใช่ปุโรหิต) เขาจึงน่าจะรู้พระบัญญัติดี. นอกจากนี้ หลายปีก่อนหน้านั้น มีการขนย้ายหีบไปเก็บรักษาไว้ที่เรือนบิดาของเขา. (1 ซามูเอล 6:20–7:1) หีบเก็บไว้ที่นั่นนานประมาณ 70 ปี จนกระทั่งดาวิดตัดสินใจขนย้าย. ดังนั้น อุซาคงทราบข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับหีบนั้นมาตั้งแต่ยังเป็นเด็ก.
21. ในกรณีของอุซา เหตุใดนับว่าสำคัญที่จะจดจำไว้ว่าพระยะโฮวาทรงเห็นแรงกระตุ้นในหัวใจ?
21 ดังที่กล่าวไปก่อนหน้านี้ พระยะโฮวาสามารถอ่านหัวใจ. เนื่องจากพระคำของพระองค์เรียกการกระทำของอุซาว่า “การกระทำที่ขาดความยำเกรง” พระยะโฮวาอาจเห็นแรงกระตุ้นบางอย่างอันเห็นแก่ตัวซึ่งเรื่องราวไม่ได้บอกไว้. อาจเป็นไปได้ไหมว่าอุซาเป็นคนถือดี ชอบก้าวล้ำขอบเขตอันควร? (สุภาษิต 11:2) การได้ออกหน้าออกตาเป็นคนขนหีบที่ก่อนหน้านี้ครอบครัวของเขาดูแลรักษากันในที่ไม่เปิดเผย ทำให้เขารู้สึกว่าตนเป็นคนสำคัญไหม? (สุภาษิต 8:13) หรือว่าอุซาขาดความเชื่อถึงขนาดที่คิดว่าพระยะโฮวาจะไม่สามารถประคองหีบศักดิ์สิทธิ์อันเป็นสัญลักษณ์แทนการประทับของพระองค์ได้? ไม่ว่าจะเป็นกรณีใด เราแน่ใจได้ว่าพระยะโฮวาทรงทำสิ่งที่ถูกต้อง. พระองค์คงเห็นบางสิ่งในหัวใจอุซาที่ทำให้พระองค์ลงโทษเขาในทันที.—สุภาษิต 21:2.
เหตุผลหนักแน่นสำหรับความมั่นใจ
22. พระปัญญาของพระยะโฮวาปรากฏชัดอย่างไรจากการที่บางครั้งพระคำของพระองค์ไม่ได้ให้รายละเอียดบางอย่าง?
22 พระปัญญาอันหาที่เปรียบไม่ได้ของพระยะโฮวาเห็นได้จากการที่บางครั้งพระคำของพระองค์ไม่ได้ให้รายละเอียดบางอย่าง. โดยวิธีนี้ พระยะโฮวาให้โอกาสเราที่จะแสดงว่าเราวางใจพระองค์. จากสิ่งที่เราได้พิจารณาไป เห็นชัดแล้วไม่ใช่หรือว่าเรามีเหตุผลหนักแน่นที่จะยอมรับการพิพากษาตัดสินของพระยะโฮวา? ใช่แล้ว เมื่อเราศึกษาพระคำของพระเจ้าด้วยหัวใจสุจริตและใจเปิด เราเรียนรู้มากมายเกี่ยวกับพระยะโฮวาจนมั่นใจได้ว่าพระยะโฮวาทรงทำสิ่งที่ถูกต้องและเป็นธรรมเสมอ. ฉะนั้น หากบางเรื่องราวในคัมภีร์ไบเบิลทำให้เกิดคำถามที่เราไม่สามารถหาคำตอบแจ่มแจ้งได้ในทันที ก็ขอให้เรามั่นใจเต็มเปี่ยมว่าพระยะโฮวาทรงกระทำสิ่งที่ถูกต้อง.
23. เรามั่นใจได้ในเรื่องใดเกี่ยวกับสิ่งที่พระยะโฮวาจะกระทำในอนาคต?
23 เราสามารถมั่นใจได้ในทำนองเดียวกันนั้นเกี่ยวกับสิ่งที่พระยะโฮวาจะกระทำในอนาคต. ด้วยเหตุนี้ เราจึงวางใจได้ว่าเมื่อพระองค์จะเสด็จมาเพื่อสำเร็จโทษตามคำพิพากษาในคราวความทุกข์ลำบากครั้งใหญ่ที่กำลังใกล้เข้ามา พระองค์จะไม่ “ประหารชีวิตคนดีกับคนชั่วด้วยกัน.” (เยเนซิศ 18:23) ความรักต่อความชอบธรรมและความยุติธรรมจะไม่ยอมให้พระองค์ทำเช่นนั้น. เรายังมั่นใจได้อย่างเต็มที่ด้วยว่าในโลกใหม่ที่กำลังใกล้เข้ามา พระองค์จะสนองความจำเป็นทั้งสิ้นของเราอย่างดีที่สุด.—บทเพลงสรรเสริญ 145:16.
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 15 ความหวั่นกลัวของอับราฮามนั้นมีเหตุอันสมควร เนื่องจากมีแผ่นพาไพรัสโบราณที่กล่าวถึงฟาโรห์ซึ่งมีทหารพร้อมอาวุธได้แย่งชิงหญิงรูปงามและฆ่าสามีของนางนั้นเสีย.
^ วรรค 16 สำหรับข้อสังเกตเพิ่มเติม โปรดดูวารสารหอสังเกตการณ์ (ภาษาอังกฤษ) ฉบับ 1 ธันวาคม 1979 หน้า 31.
คุณจำได้ไหม?
• มีเหตุผลอะไรบ้างที่เราควรยอมรับการพิพากษาตัดสินของพระยะโฮวา?
• อะไรจะช่วยเราไม่ให้ลงความเห็นอย่างผิด ๆ ในเรื่องที่โลตเสนอลูกสาวแก่ฝูงชนที่บ้าคลั่ง?
• ปัจจัยอะไรบ้างจะช่วยเราให้เข้าใจเหตุผลที่พระยะโฮวาสังหารอุซาอย่างฉับพลัน?
• เรามั่นใจได้ในเรื่องใดเกี่ยวกับสิ่งที่พระยะโฮวาจะกระทำในอนาคต?
[คำถาม]