ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

คริสเตียนทั้งหลาย—จงภูมิใจ ที่คุณเป็นคริสเตียน!

คริสเตียนทั้งหลาย—จงภูมิใจ ที่คุณเป็นคริสเตียน!

คริสเตียน​ทั้ง​หลาย—จง​ภูมิ​ใจ ที่​คุณ​เป็น​คริสเตียน!

“ผู้​ที่​อวด​นั้น ให้​เขา​อวด​ใน​พระ​ยะโฮวา​เถิด.”—1 โกรินโธ 1:31, ล.ม.

1. แนว​โน้ม​อะไร​ที่​เห็น​ได้​ชัด​เกี่ยว​กับ​เจตคติ​ที่​ผู้​คน​มี​ต่อ​ศาสนา?

“แอเพอธิอิซึม.” เมื่อ​ไม่​นาน​มา​นี้ นัก​วิจารณ์​เรื่อง​ศาสนา​คน​หนึ่ง​ใช้​คำ​นี้​ใน​การ​พรรณนา​เจตคติ​ที่​หลาย​คน​มี​ต่อ​ความ​เชื่อ​ของ​ตน. เขา​อธิบาย​ว่า “การ​เปลี่ยน​แปลง​มาก​ที่​สุด​ใน​ศาสนา​ทุก​วัน​นี้​ไม่​ได้​เกิด​ขึ้น​กับ​ตัว​ศาสนา​เอง แต่​เกิด​ขึ้น​กับ​เจตคติ [ของ​ศาสนิกชน] ซึ่ง​พรรณนา​ได้​อย่าง​เหมาะเจาะ​ว่า​เป็น ‘แอเพอธิอิซึม.’ ” เมื่อ​อธิบาย​ต่อ​ไป เขา​ให้​นิยาม​แอเพอธิอิซึม​ว่า​เป็น “ความ​ไม่​อยาก​สนใจ​อะไร​มาก​นัก​เกี่ยว​กับ​ศาสนา​ของ​ตน.” เขา​กล่าว​ว่า หลาย​คน “เชื่อ​ว่า​มี​พระเจ้า . . . แต่​ไม่​สนใจ​ไยดี​พระองค์​เท่า​ไร​นัก.”

2. (ก) เหตุ​ใด​จึง​ไม่​ใช่​เรื่อง​น่า​ประหลาด​ใจ​ที่​ผู้​คน​กลาย​เป็น​คน​ไม่​สนใจ​ศาสนา? (ข) ความ​เฉยเมย​ก่อ​อันตราย​อะไร​แก่​คริสเตียน​แท้?

2 แนว​โน้ม​ที่​ผู้​คน​เฉยเมย​เรื่อง​พระเจ้า​มาก​ขึ้น​นี้​ไม่​ใช่​เรื่อง​น่า​ประหลาด​ใจ​สำหรับ​นัก​ศึกษา​คัมภีร์​ไบเบิล. (ลูกา 18:8) และ​สำหรับ​ศาสนา​โดย​ทั่ว​ไป ความ​เฉยเมย​เช่น​นั้น​ก็​เป็น​ที่​คาด​หมาย​ได้. ศาสนา​เท็จ​ชัก​นำ​ผู้​คน​ให้​หลง​และ​ก่อ​ความ​ผิด​หวัง​แก่​สังคม​มนุษย์​มา​นมนาน​แล้ว. (วิวรณ์ 17:15, 16) อย่าง​ไร​ก็​ตาม น้ำใจ​เฉยเมย​และ​ขาด​ความ​กระตือรือร้น​ที่​แพร่​หลาย​เช่น​นั้น​เป็น​อันตราย​สำหรับ​คริสเตียน​แท้. เรา​จะ​ได้​รับ​ผล​เสียหาย​หาก​เรา​ปล่อย​ให้​ตัว​เอง​กลาย​เป็น​คน​ไม่​ทุกข์​ไม่​ร้อน​เกี่ยว​กับ​ความ​เชื่อ​และ​ขาด​ความ​กระตือรือร้น​ต่อ​ความ​จริง​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล​และ​ใน​การ​รับใช้​พระเจ้า. พระ​เยซู​ทรง​เตือน​เกี่ยว​กับ​ความ​เฉยเมย​เช่น​นั้น​เมื่อ​ตรัส​กับ​คริสเตียน​สมัย​ศตวรรษ​แรก​ใน​เมือง​ลาโอดิเคีย​ว่า “เจ้า​ไม่​เย็น​หรือ​ไม่​ร้อน เรา​ใคร่​ให้​เจ้า​เย็น​หรือ​ร้อน. . . . เจ้า​เป็น​แต่​อุ่น ๆ.”—วิวรณ์ 3:15-18.

การ​รู้​ว่า​ตัว​เรา​เอง​เป็น​ใคร

3. คริสเตียน​จะ​ภูมิ​ใจ​ใน​เอกลักษณ์​ของ​ตน​ใน​ด้าน​ใด​ได้​บ้าง?

3 เพื่อ​จะ​ต่อ​สู้​กับ​ความ​เฉยเมย​ทาง​ฝ่าย​วิญญาณ คริสเตียน​ต้อง​เข้าใจ​ชัดเจน​ว่า​พวก​เขา​เอง​เป็น​ใคร และ​พวก​เขา​ต้อง​ภูมิ​ใจ​อย่าง​พอ​เหมาะ​พอ​ควร​ใน​เอกลักษณ์​ที่​แตกต่าง. ฐานะ​ผู้​รับใช้​ของ​พระ​ยะโฮวา​และ​สาวก​ของ​พระ​คริสต์ เรา​พบ​คำ​พรรณนา​ได้​จาก​คัมภีร์​ไบเบิล​ว่า​เรา​เป็น​ใคร. เรา​เป็น “พยาน” ของ​พระ​ยะโฮวา เป็น “ผู้​ร่วม​ทำ​การ​ด้วย​กัน​กับ​พระเจ้า” ขณะ​ที่​เรา​บอก “ข่าว​ดี” อย่าง​แข็งขัน​แก่​คน​อื่น ๆ. (ยะซายา 43:10; 1 โกรินโธ 3:9; มัดธาย 24:14, ล.ม.) เรา​เป็น​กลุ่ม​ชน​ซึ่ง “รัก​ซึ่ง​กัน​และ​กัน.” (โยฮัน 13:34) คริสเตียน​แท้​เป็น​ผู้​ที่ “เคย​ฝึก​หัด​ความ​คิด​ของ​เขา​จน​สังเกต​ได้​ว่า​ไหน​ดี​ไหน​ชั่ว.” (เฮ็บราย 5:14) เรา​เป็น ‘ดวง​สว่าง​ใน​โลก.’ (ฟิลิปปอย 2:15) เรา​พยายาม “รักษา​ความ​ประพฤติ [ของ​เรา] ให้​ดี​งาม​ท่ามกลาง​นานา​ชาติ.”—1 เปโตร 2:12, ล.ม.; 2 เปโตร 3:11, 14.

4. ผู้​นมัสการ​พระ​ยะโฮวา​จะ​รู้​ได้​อย่าง​ไร​ว่า​เขา​ไม่​เป็น​ส่วน​ของ​โลก?

4 เหล่า​ผู้​นมัสการ​แท้​ของ​พระ​ยะโฮวา​ยัง​รู้​ด้วย​ว่า​พวก​เขา​จะ​ไม่​เป็น​แบบ​ใด. “พวก​เขา​ไม่​เป็น​ส่วน​ของ​โลก” เช่น​เดียว​กับ​พระ​เยซู​คริสต์​ผู้​นำ​ของ​พวก​เขา​ไม่​เป็น​ส่วน​ของ​โลก. (โยฮัน 17:16, ล.ม.) พวก​เขา​อยู่​ต่าง​หาก​จาก “นานา​ชาติ” ซึ่ง “อยู่​ใน​ความ​มืด​ทาง​จิตใจ​และ​เหินห่าง​ไป​จาก​ชีวิต​ซึ่ง​เป็น​ของ​พระเจ้า.” (เอเฟโซ 4:17, 18, ล.ม.) ผล​คือ สาวก​ของ​พระ​เยซู “ละ​ทิ้ง​ความ​อธรรม​และ​ความ​ปรารถนา​ทาง​โลก​และ . . . ดำเนิน​ชีวิต​โดย​มี​สุขภาพ​จิต​ดี มี​ความ​ชอบธรรม​และ​ความ​เลื่อมใส​ใน​พระเจ้า​ใน​ระบบ​ปัจจุบัน​นี้.”—ติโต 2:12, ล.ม.

5. คำ​กระตุ้น​เตือน​ที่​ให้ “อวด​ใน​พระ​ยะโฮวา” นั้น​หมาย​ความ​อย่าง​ไร?

5 การ​ที่​เรา​เข้าใจ​ชัดเจน​ใน​เรื่อง​เอกลักษณ์​ของ​เรา​และ​ใน​เรื่อง​สัมพันธภาพ​ระหว่าง​เรา​กับ​องค์​บรม​มหิศร​แห่ง​เอกภพ​ทำ​ให้​เรา​อยาก “อวด​ใน​พระ​ยะโฮวา.” (1 โกรินโธ 1:31, ล.ม.) นั่น​เป็น​การ​อวด​แบบ​ไหน? ฐานะ​คริสเตียน​แท้ เรา​ภูมิ​ใจ​ที่​มี​พระ​ยะโฮวา​เป็น​พระเจ้า​ของ​เรา. เรา​ทำ​ตาม​คำ​กระตุ้น​เตือน​ที่​ว่า “ให้​ผู้​ที่​อวด ๆ ด้วย​ตัว​เข้าใจ​แล​รู้​จัก​เรา​ว่า​เรา​เป็น​พระ​ยะโฮวา ผู้​ที่​ได้​ทรง​ความ​เมตตา​ประกอบ​ด้วย​ความ​รัก, แล​ทรง​ความ​ปัญญา, แล​ความ​สัตย์​ธรรม​ใน​แผ่นดิน​โลก.” (ยิระมะยา 9:24) เรา “อวด” ที่​เรา​ได้​รับ​สิทธิ​พิเศษ​ได้​มา​รู้​จัก​พระเจ้า​และ​ที่​พระองค์​ทรง​ใช้​เรา​ให้​ช่วยเหลือ​คน​อื่น ๆ.

ข้อ​ท้าทาย

6. ทำไม​บาง​คน​จึง​รู้สึก​ว่า​เป็น​เรื่อง​ท้าทาย​ที่​จะ​คง​ไว้​ซึ่ง​ความ​เข้าใจ​ที่​ชัด​แจ้ง​ใน​เรื่อง​เอกลักษณ์​ของ​พวก​เขา​ฐานะ​คริสเตียน?

6 เป็น​ที่​ยอม​รับ​ว่า​ไม่​ง่าย​เสมอ​ไป​ที่​จะ​คง​ไว้​ซึ่ง​ความ​เข้าใจ​ที่​ชัด​แจ้ง​ใน​เรื่อง​เอกลักษณ์​ที่​แตกต่าง​ของ​เรา​ฐานะ​เป็น​คริสเตียน. ชาย​หนุ่ม​คน​หนึ่ง​ที่​ได้​รับ​การ​เลี้ยง​ดู​ฐานะ​คริสเตียน​เล่า​ถึง​ช่วง​หนึ่ง​ที่​เขา​เคย​อยู่​ใน​สภาพ​อ่อนแอ​ฝ่าย​วิญญาณ​ว่า “บาง​ครั้ง ผม​รู้สึก​ว่า​ไม่​รู้​ว่า​ทำไม​ผม​จึง​เป็น​พยาน​พระ​ยะโฮวา. ผม​ได้​รับ​การ​สอน​ความ​จริง​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล​มา​ตั้ง​แต่​ทารก. บาง​ครั้ง​ผม​รู้สึก​ว่า​พยาน​พระ​ยะโฮวา​เป็น​เพียง​ศาสนา​หลัก​อีก​ศาสนา​หนึ่ง​ซึ่ง​เป็น​ที่​ยอม​รับ​กัน.” บาง​คน​อาจ​ปล่อย​ให้​เอกลักษณ์​ของ​ตน​ถูก​ครอบ​งำ​โดย​โลก​บันเทิง, สื่อมวลชน, และ​ทัศนะ​ใน​เรื่อง​ชีวิต​ตาม​กระแส​นิยม​ที่​ไม่​คำนึง​ถึง​พระเจ้า. (เอเฟโซ 2:2, 3) เป็น​ครั้ง​คราว​ที่​คริสเตียน​บาง​คน​อาจ​ตก​อยู่​ใน​ภาวะ​ที่​ไม่​แน่​ใจ​ใน​ตัว​เอง​และ​ประเมิน​ค่า​นิยม​และ​เป้าหมาย​ของ​ตน​เสีย​ใหม่.

7. (ก) การ​ตรวจ​สอบ​ตัว​เอง​แบบ​ใด​ที่​เหมาะ​สม​สำหรับ​ผู้​รับใช้​ของ​พระเจ้า? (ข) มี​อันตราย​แฝง​อยู่​ตรง​ไหน?

7 ผิด​ไหม​หาก​เรา​จะ​ตรวจ​สอบ​ชีวิต​ของ​เรา​อย่าง​รอบคอบ​เป็น​ครั้ง​คราว? ไม่​ผิด. คุณ​อาจ​จำ​ได้​ที่​อัครสาวก​เปาโล​สนับสนุน​คริสเตียน​ให้​ตรวจ​สอบ​ตัว​เอง​อยู่​เสมอ​เมื่อ​กล่าว​ว่า “จง​ตรวจ​สอบ​อยู่​เสมอ​ว่า​ท่าน​ทั้ง​หลาย​อยู่​ใน​ความ​เชื่อ​หรือ​ไม่ จง​พิสูจน์​ให้​เห็น​เสมอ​ว่า​ตัว​ท่าน​เป็น​เช่น​ไร.” (2 โกรินโธ 13:5, ล.ม.) ใน​ข้อ​นี้​ท่าน​อัครสาวก​กำลัง​ส่ง​เสริม​ให้​คริสเตียน​พยายาม​อย่าง​ที่​ก่อ​ประโยชน์​เพื่อ​ตรวจ​ดู​ว่า​ตน​เอง​มี​จุด​ที่​อ่อนแอ​ใด ๆ ทาง​ฝ่าย​วิญญาณ​ไหม โดย​มี​วัตถุ​ประสงค์​จะ​ดำเนิน​การ​แก้ไข​ตาม​ที่​จำเป็น. ใน​การ​ตรวจ​สอบ​ว่า​ตน​อยู่​ใน​ความ​เชื่อ​หรือ​ไม่ คริสเตียน​ต้อง​ประเมิน​ดู​ว่า​คำ​พูด​และ​การ​กระทำ​ของ​เขา​ประสาน​กับ​สิ่ง​ที่​เขา​ประกาศ​ว่า​เชื่อ​หรือ​ไม่. อย่าง​ไร​ก็​ตาม หาก​การ​ตรวจ​สอบ​ตัว​เอง​นั้น​ทำ​ไป​ผิด​ทาง​ซึ่ง​กระตุ้น​เรา​ให้​อยาก​ค้น​หา “เอกลักษณ์” ของ​ตัว​เอง หรือ​ค้น​หา​คำ​ตอบ​ที่​ไม่​มี​ความ​เกี่ยว​ข้อง​กับ​สัมพันธภาพ​ของ​เรา​กับ​พระ​ยะโฮวา​หรือ​กับ​ประชาคม​คริสเตียน ก็​จะ​ไม่​เกิด​ประโยชน์​แต่​ประการ​ใด​และ​อาจ​ก่อ​ความ​เสียหาย​ร้ายแรง​ฝ่าย​วิญญาณ​ได้. * เรา​คง​ไม่​อยาก​จะ ‘เสีย​ความ​เชื่อ​เหมือน​เรือ​อับปาง.’—1 ติโมเธียว 1:19.

คริสเตียน​ก็​หนี​ไม่​พ้น​ข้อ​ท้าทาย​ต่าง ๆ

8, 9. (ก) โมเซ​แสดง​ออก​ถึง​ความ​รู้สึก​ไม่​แน่​ใจ​ใน​ตัว​เอง​อย่าง​ไร? (ข) พระ​ยะโฮวา​ทำ​ประการ​ใด​เมื่อ​โมเซ​รู้สึก​ว่า​ตัว​เอง​ขาด​คุณสมบัติ? (ค) การ​รับรอง​จาก​พระ​ยะโฮวา​มี​ผล​ต่อ​คุณ​อย่าง​ไร?

8 คริสเตียน​ที่​รู้สึก​ไม่​แน่​ใจ​ใน​ตัว​เอง​เป็น​ครั้ง​คราว​ควร​รู้สึก​ว่า​ตน​เอง​ล้มเหลว​ไหม? ไม่​เลย! ที่​จริง​แล้ว เรา​ได้​กำลังใจ​ที่​รู้​ว่า​ความ​รู้สึก​ดัง​กล่าว​ไม่​ใช่​เรื่อง​ใหม่. พยาน​ที่​ซื่อ​สัตย์​ของ​พระเจ้า​ใน​สมัย​โบราณ​เคย​รู้สึก​เช่น​นั้น​มา​แล้ว. เพื่อ​เป็น​ตัว​อย่าง ขอ​ให้​พิจารณา​โมเซ ผู้​สำแดง​ความ​เชื่อ, ความ​ภักดี, และ​ความ​เลื่อมใส​พระเจ้า​อย่าง​โดด​เด่น. เมื่อ​ท่าน​ได้​รับ​งาน​มอบหมาย​ที่​ดู​เหมือน​ใหญ่​โต โมเซ​ถาม​อย่าง​เจียม​ตัว​ว่า “ข้าพเจ้า​เป็น​ผู้​ใด​เล่า?” (เอ็กโซโด 3:11) ดู​เหมือน​ใน​ที่​นี้​ท่าน​ต้องการ​บอก​ว่า ‘ข้าพเจ้า​ไม่​ใช่​คน​สำคัญ​อะไร!’ หรือ ‘ข้าพเจ้า​ไม่​สามารถ​จะ​ทำ​ได้!’ ภูมิหลัง​หลาย​ด้าน​ของ​โมเซ​อาจ​ทำ​ให้​ท่าน​รู้สึก​ว่า​ตน​เอง​ขาด​คุณสมบัติ เช่น ท่าน​อยู่​ใน​ชาติ​ที่​ตก​เป็น​ทาส, ถูก​ชาว​อิสราเอล​ปฏิเสธ, และ​พูด​ไม่​เก่ง. (เอ็กโซโด 1:13, 14; 2:11-14; 4:10) ท่าน​เป็น​คน​เลี้ยง​แกะ ซึ่ง​เป็น​อาชีพ​ที่​ชาว​อียิปต์​รังเกียจ. (เยเนซิศ 46:32) ไม่​น่า​ประหลาด​ใจ​ที่​ท่าน​รู้สึก​ว่า​ตน​เอง​ไม่​เหมาะ​ที่​จะ​เป็น​ผู้​ปลด​ปล่อย​ประชาชน​ของ​พระเจ้า​ซึ่ง​ตก​เป็น​ทาส​นั้น!

9 พระ​ยะโฮวา​เสริม​ความ​มั่น​ใจ​แก่​โมเซ​โดย​ให้​คำ​สัญญา​ที่​หนักแน่น​แก่​ท่าน​สอง​ประการ​ดัง​นี้: “แท้​จริง​เรา​จะ​อยู่​กับ​เจ้า; นี่​เป็น​หมาย​สำคัญ​ให้​เจ้า​รู้​แน่​ว่า​เรา​ได้​ใช้​ให้​เจ้า​ไป: คือ​เมื่อ​เจ้า​นำ​พลไพร่​ออก​จาก​ประเทศ​อายฆุบโต​แล้ว, เจ้า​ทั้ง​หลาย​จะ​ได้​ปรนนิบัติ​พระเจ้า​บน​ภูเขา​นี้.” (เอ็กโซโด 3:12) พระเจ้า​บอก​ผู้​รับใช้​ของ​พระองค์​ที่​ไม่​แน่​ใจ​ใน​ตน​เอง​ผู้​นี้​ว่า​พระองค์​จะ​อยู่​ด้วย​เสมอ. นอก​จาก​นี้ พระ​ยะโฮวา​บอก​ด้วย​ว่า​พระองค์​จะ​ปลด​ปล่อย​ประชาชน​ของ​พระองค์​อย่าง​แน่นอน. ตลอด​หลาย​ศตวรรษ​ต่อ​มา พระเจ้า​สัญญา​คล้าย ๆ กัน​นั้น​ใน​เรื่อง​การ​เกื้อ​หนุน. ตัว​อย่าง​เช่น พระองค์​ตรัส​กับ​ชาติ​อิสราเอล​ผ่าน​ทาง​โมเซ​ขณะ​ที่​พวก​เขา​กำลัง​จะ​เข้า​สู่​แผ่นดิน​ตาม​คำ​สัญญา​ว่า “จง​มี​กำลัง​เข้มแข็ง, และ​มี​ใจ​กล้า . . . พระ​ยะโฮวา​พระเจ้า​ของ​เจ้า​เสด็จ​ไป​ด้วย​เจ้า; พระองค์​ไม่​ทรง​หย่อน, ไม่​ละ​ทิ้ง​เจ้า​ทั้ง​หลาย​เลย.” (พระ​บัญญัติ 31:6) พระ​ยะโฮวา​ทรง​รับรอง​กับ​ยะโฮซูอะ​ด้วย​ว่า “จะ​ไม่​มี​ผู้​ใด​อาจ​ยืน​ต่อ​สู้​กับ​เจ้า​จน​สิ้น​ชีวิต​ของ​เจ้า . . . เรา​จะ​อยู่​กับ​เจ้า . . . เรา​จะ​ไม่​ละเลย​จาก​เจ้า, หรือ​ทอดทิ้ง​เจ้า​เลย.” (ยะโฮซูอะ 1:5) และ​พระองค์​สัญญา​กับ​คริสเตียน​ว่า “เรา​จะ​ไม่​ละ​ท่าน​ไว้​เลย, หรือ​เรา​จะ​ไม่​ทิ้ง​ท่าน​เสีย​เลย.” (เฮ็บราย 13:5) การ​รับรอง​อย่าง​หนักแน่น​เช่น​นั้น​ควร​ทำ​ให้​เรา​รู้สึก​ภูมิ​ใจ​ที่​ได้​เป็น​คริสเตียน!

10, 11. อาซาฟ​ชาว​เลวี​ได้​รับ​ความ​ช่วยเหลือ​ให้​มี​ทัศนะ​ที่​ถูก​ต้อง​ต่อ​คุณค่า​แห่ง​การ​รับใช้​พระ​ยะโฮวา​อย่าง​ไร?

10 ประมาณ​ห้า​ศตวรรษ​หลัง​จาก​สมัย​โมเซ ชาว​เลวี​ที่​ซื่อ​สัตย์​คน​หนึ่ง​ชื่อ​อาซาฟ​เขียน​ตรง​ไป​ตรง​มา​เกี่ยว​กับ​ความ​รู้สึก​ของ​ท่าน​เอง​ที่​สงสัย​ประโยชน์​ของ​การ​ติด​ตาม​แนว​ทาง​ที่​ซื่อ​ตรง. ขณะ​ที่​บากบั่น​รับใช้​พระเจ้า​ทั้ง ๆ ที่​มี​ความ​ทุกข์​ลำบาก​และ​การ​ล่อ​ใจ​ต่าง ๆ นั้น อาซาฟ​เห็น​ว่า​บาง​คน​ที่​เยาะเย้ย​พระเจ้า​เจริญ​รุ่งเรือง​และ​มี​อำนาจ​มาก​ขึ้น. นั่น​ก่อ​ผล​กระทบ​เช่น​ไร​ต่อ​อาซาฟ? ท่าน​ยอม​รับ​ว่า “ฝ่าย​ข้าพเจ้า​เล่า, เท้า​ของ​ข้าพเจ้า​แทบ​หลุด​แล้ว; ย่าง​เท้า​ของ​ข้าพเจ้า​แทบ​จะ​พลาด​พลั้ง​ลง​ไป​แล้ว. เพราะ​ว่า​ข้าพเจ้า​ได้​ริษยา​คน​อหังการ​ใน​เมื่อ​ข้าพเจ้า​เห็น​ความ​จำเริญ​ของ​เขา.” ท่าน​เริ่ม​สงสัย​คุณค่า​ของ​การ​เป็น​ผู้​นมัสการ​พระ​ยะโฮวา. อาซาฟ​คิด​ว่า “การ​ที่​ข้าพเจ้า​ได้​ชำระ​ใจ​ของ​ข้าพเจ้า, และ​ได้​ล้าง​มือ​ให้​หมดจด, ก็​เสีย​เวลา​เปล่า ๆ: เพราะ​ข้าพเจ้า​ต้อง​รับ​ความ​ทุกข์​ลำบาก​วัน​ยัง​ค่ำ.”—บทเพลง​สรรเสริญ 73:2, 3, 13, 14.

11 อาซาฟ​จัด​การ​กับ​ความ​รู้สึก​ที่​รบกวน​ใจ​นี้​อย่าง​ไร? ท่าน​ปฏิเสธ​ความ​รู้สึก​นั้น​ไหม? เปล่า. ท่าน​เผย​ความ​รู้สึก​ใน​คำ​อธิษฐาน​ถึง​พระเจ้า ดัง​ที่​เรา​เห็น​ใน​เพลง​สรรเสริญ​บท 73. จุด​เปลี่ยน​สำหรับ​อาซาฟ​คือ​คราว​ที่​ท่าน​ไป​ยัง​พระ​วิหาร​สถาน​ศักดิ์สิทธิ์. ขณะ​อยู่​ที่​นั่น ท่าน​ได้​มา​ตระหนัก​ว่า​ความ​เลื่อมใส​พระเจ้า​ยัง​คง​เป็น​แนว​ทาง​ดี​ที่​สุด. หลัง​จาก​กลับ​มา​เห็น​คุณค่า​ของ​การ​รับใช้​พระ​ยะโฮวา ท่าน​ก็​เข้าใจ​ว่า​พระ​ยะโฮวา​ทรง​เกลียด​ชัง​ความ​ชั่ว และ​เมื่อ​ถึง​เวลา คน​ชั่ว​จะ​ได้​รับ​การ​ลง​โทษ. (บทเพลง​สรรเสริญ 73:17-19) ด้วย​ทัศนะ​ที่​ปรับ​แล้ว​นั้น อาซาฟ​ยิ่ง​มี​ความ​สำนึก​มาก​ขึ้น​ว่า​ตัว​ท่าน​เป็น​ใคร​ใน​ฐานะ​ผู้​รับใช้​ที่​มี​เกียรติ​ของ​พระ​ยะโฮวา. ท่าน​ทูล​พระเจ้า​ว่า “ข้าพเจ้า​อยู่​กับ​พระองค์​เสมอ; พระองค์​ทรง​จับ​มือ​ขวา​ของ​ข้าพเจ้า​ไว้. พระองค์​จะ​ทรง​นำ​ข้าพเจ้า​ด้วย​คำ​แนะ​นำ​ของ​พระองค์ และ​ภาย​หลัง​จะ​ทรง​พา​ข้าพเจ้า​ไป​สู่​เกียรติศักดิ์​เสีย​ด้วย​ซ้ำ.” (บทเพลง​สรรเสริญ 73:23, 24, ล.ม.) อาซาฟ​กลับ​มา​ภูมิ​ใจ​พระเจ้า​ของ​ท่าน​อีก​ครั้ง.—บทเพลง​สรรเสริญ 34:2.

พวก​เขา​ตระหนัก​ว่า​ตน​เป็น​ใคร

12, 13. จง​ยก​ตัว​อย่าง​บุคคล​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล​ซึ่ง​ภูมิ​ใจ​ใน​สัมพันธภาพ​ที่​มี​กับ​พระเจ้า.

12 วิธี​หนึ่ง​ที่​จะ​เสริม​ความ​สำนึก​ของ​เรา​ให้​แรง​กล้า​ขึ้น​ใน​เรื่อง​ที่​ว่า​เรา​เป็น​ใคร​ใน​ฐานะ​คริสเตียน​คือ การ​พิจารณา​ความ​เชื่อ​และ​เอา​อย่าง​ความ​เชื่อ​ของ​ผู้​นมัสการ​ที่​ภักดี ผู้​ซึ่ง​แม้​จะ​เผชิญ​ความ​ยาก​ลำบาก​ต่าง ๆ แต่​ก็​ยัง​ภูมิ​ใจ​อย่าง​แท้​จริง​ใน​สัมพันธภาพ​ที่​มี​กับ​พระเจ้า. ขอ​พิจารณา​โยเซฟ บุตร​ของ​ยาโคบ. ขณะ​ยัง​เด็ก ท่าน​ถูก​หัก​หลัง​ด้วย​การ​ขาย​ไป​เป็น​ทาส​และ​ถูก​พา​ไป​ยัง​อียิปต์​ซึ่ง​อยู่​ห่าง​หลาย​ร้อย​กิโลเมตร​จาก​บิดา​ผู้​ยำเกรง​พระเจ้า และ​ไม่​มี​บรรยากาศ​ที่​อบอุ่น​และ​ให้​การ​เกื้อ​หนุน​อย่าง​ที่​บ้าน​ของ​ท่าน. ขณะ​อยู่​ใน​อียิปต์ ไม่​มี​มนุษย์​คน​ใด​เลย​ที่​โยเซฟ​จะ​ขอ​คำ​แนะ​นำ​ตาม​แนว​ทาง​ของ​พระเจ้า​ได้ และ​ท่าน​ต้อง​เผชิญ​สถานการณ์​ยุ่งยาก​ที่​ทดสอบ​เรื่อง​ศีลธรรม​และ​การ​หมาย​พึ่ง​พระเจ้า. แม้​กระนั้น ท่าน​พยายาม​จริงจัง​อย่าง​เห็น​ได้​ชัด​ที่​จะ​รักษา​ความ​สำนึก​อัน​แรง​กล้า​ที่​ว่า​ท่าน​เป็น​ผู้​รับใช้​ของ​พระเจ้า และ​ท่าน​รักษา​ความ​ซื่อ​สัตย์​ใน​สิ่ง​ที่​ท่าน​รู้​ว่า​ถูก​ต้อง. ท่าน​ภูมิ​ใจ​ที่​ได้​เป็น​ผู้​นมัสการ​พระ​ยะโฮวา​แม้​อยู่​ใน​สภาพการณ์​ที่​ยาก​ลำบาก และ​ท่าน​ไม่​อาย​ที่​จะ​บอก​ให้​รู้​ว่า​ท่าน​รู้สึก​อย่าง​ไร.—เยเนซิศ 39:7-11.

13 แปด​ศตวรรษ​ต่อ​มา เด็ก​หญิง​ชาว​อิสราเอล​คน​หนึ่ง​ใน​หมู่​เชลย​ซึ่ง​ได้​เป็น​คน​รับใช้​ของ​นามาน​แม่ทัพ​ซีเรีย​ไม่​ลืม​เอกลักษณ์​ของ​เธอ​ฐานะ​ผู้​นมัสการ​พระ​ยะโฮวา. เมื่อ​ได้​โอกาส เธอ​ให้​คำ​พยาน​เป็น​อย่าง​ดี​ด้วย​ความ​กล้า​หาญ​เกี่ยว​กับ​พระ​ยะโฮวา เมื่อ​เธอ​บอก​ว่า​อะลีซา​เป็น​ผู้​พยากรณ์​ของ​พระเจ้า​องค์​เที่ยง​แท้. (2 กษัตริย์ 5:1-19) หลัง​จาก​นั้น​อีก​หลาย​ปี กษัตริย์​โยซียา​ผู้​ทรง​พระ​เยาว์ แม้​ว่า​อยู่​ใน​สภาพ​แวด​ล้อม​ที่​เสื่อม​ทราม ได้​ดำเนิน​การ​ปฏิรูป​ทาง​ศาสนา​ซึ่ง​มี​ผล​ใน​ระยะ​ยาว, ซ่อมแซม​พระ​วิหาร​ของ​พระเจ้า, และ​นำ​พา​ชาติ​กลับ​มา​สู่​การ​นมัสการ​พระ​ยะโฮวา. ท่าน​ภูมิ​ใจ​ใน​ความ​เชื่อ​และ​การ​นมัสการ​ของ​ท่าน. (2 โครนิกา บท 34, 35) ดานิเอล​และ​เพื่อน​ชาว​ฮีบรู​สาม​คน​ใน​บาบิโลน​ไม่​เคย​ลืม​เอกลักษณ์​ของ​พวก​เขา​ฐานะ​ผู้​รับใช้​ของ​พระ​ยะโฮวา และ​แม้​อยู่​ภาย​ใต้​ความ​กดดัน​และ​การ​ล่อ​ใจ พวก​เขา​ก็​ยัง​รักษา​ความ​ซื่อ​สัตย์​มั่นคง. เห็น​ได้​ชัด พวก​เขา​ภูมิ​ใจ​ที่​เป็น​ผู้​รับใช้​ของ​พระ​ยะโฮวา.—ดานิเอล 1:8-20.

จง​ภูมิ​ใจ​ใน​เอกลักษณ์​คริสเตียน​ของ​คุณ

14, 15. การ​ภูมิ​ใจ​ใน​เอกลักษณ์​คริสเตียน​ของ​เรา​เกี่ยว​ข้อง​กับ​อะไร?

14 ผู้​รับใช้​ของ​พระเจ้า​ดัง​ที่​กล่าว​มา​ประสบ​ความ​สำเร็จ​เนื่อง​จาก​พวก​เขา​พัฒนา​ความ​รู้สึก​ภูมิ​ใจ​ใน​ทาง​ที่​ถูก​ที่​ควร​เกี่ยว​กับ​ฐานะ​ของ​ตน​จำเพาะ​พระเจ้า. สำหรับ​พวก​เรา​ใน​ทุก​วัน​นี้​ล่ะ? การ​ภูมิ​ใจ​ใน​เอกลักษณ์​คริสเตียน​ของ​เรา​เกี่ยว​ข้อง​กับ​อะไร?

15 ส่วน​ใหญ่​แล้ว นี่​เกี่ยว​ข้อง​กับ​การ​สำนึก​บุญคุณ​อย่าง​สุด​ซึ้ง​ที่​ได้​เป็น​คน​หนึ่ง​ใน​ท่ามกลาง​ประชาชน​ซึ่ง​มี​ชื่อ​ตาม​พระ​นาม​พระ​ยะโฮวา อีก​ทั้ง​ได้​รับ​พระ​พร​และ​ความ​โปรดปราน​จาก​พระองค์. พระเจ้า​ไม่​มี​ข้อ​สงสัย​ว่า ใคร​ที่​เป็น​ของ​พระองค์. อัครสาวก​เปาโล​ซึ่ง​มี​ชีวิต​ใน​ยุค​ที่​มี​ความ​สับสน​ทาง​ศาสนา​อย่าง​มาก​เขียน​ว่า พระ​ยะโฮวา “ทรง​รู้​จัก​คน​เหล่า​นั้น​ที่​เป็น​ของ​พระองค์.” (2 ติโมเธียว 2:19, ฉบับ​แปล​ใหม่; อาฤธโม 16:5) พระ​ยะโฮวา​ภูมิ​ใจ​คน​เหล่า​นั้น “ที่​เป็น​ของ​พระองค์.” พระองค์​แถลง​ว่า “ผู้​ใด​แตะ​ต้อง​เจ้า​ก็​แตะ​ต้อง​นัยน์​ตา​เรา.” (ซะคาระยา 2:8, ล.ม.) เห็น​ได้​ชัด​ว่า​พระ​ยะโฮวา​ทรง​รัก​เรา. ด้วย​เหตุ​นี้ สัมพันธภาพ​ระหว่าง​เรา​กับ​พระเจ้า​ก็​ควร​อาศัย​ความ​รัก​อย่าง​ลึกซึ้ง​ที่​เรา​มี​ต่อ​พระองค์​เช่น​กัน. เปาโล​ให้​ข้อ​สังเกต​ว่า “ถ้า​คน​ใด​รัก​พระเจ้า พระเจ้า​ก็​ทรง​รู้​จัก​คน​นั้น.”—1 โกรินโธ 8:3.

16, 17. เหตุ​ใด​คริสเตียน ทั้ง​เยาวชน​และ​ผู้​ใหญ่ จึง​ภูมิ​ใจ​ใน​มรดก​ฝ่าย​วิญญาณ​ที่​พวก​เขา​ได้​รับ​สืบ​ทอด​มา?

16 เยาวชน​ที่​ได้​รับ​การ​เลี้ยง​ดู​ฐานะ​พยาน​พระ​ยะโฮวา​ควร​ตรวจ​สอบ​ดู​ว่า​เอกลักษณ์​คริสเตียน​ของ​ตน​เข้มแข็ง​ขึ้น​เนื่อง​จาก​การ​มี​สัมพันธภาพ​ที่​ใกล้​ชิด​มาก​ขึ้น​กับ​พระเจ้า​เป็น​ส่วน​ตัว​หรือ​ไม่. พวก​เขา​ไม่​อาจ​อาศัย​แค่​เพียง​ความ​เชื่อ​ของ​บิดา​มารดา. เปาโล​เขียน​เกี่ยว​กับ​ผู้​รับใช้​พระเจ้า​แต่​ละ​คน​ว่า “บ่าว​คน​นั้น​จะ​ได้​ดี​หรือ​จะ​ล่ม​จม​ก็​สุด​แล้ว​แต่​นาย​ของ​ตัว.” ด้วย​เหตุ​นี้ เปาโล​จึง​กล่าว​ต่อ​ไป​ว่า “เรา​ทั้ง​หลาย​ทุก​คน​ต้อง​ให้​การ​ด้วย​ตัว​เอง​แก่​พระเจ้า.” (โรม 14:4, 12) เห็น​ได้​ชัด การ​ยอม​รับ​เอา​การ​นมัสการ​พระ​ยะโฮวา​ตาม​บิดา​มารดา​แบบ​ที่​ไม่​ได้​มา​จาก​หัวใจ​ไม่​อาจ​ค้ำจุน​สัมพันธภาพ​ที่​ใกล้​ชิด​และ​ยาว​นาน​กับ​พระ​ยะโฮวา​ไว้​ได้.

17 พยาน​ของ​พระ​ยะโฮวา​มี​สืบ​ต่อ​กัน​มา​ตลอด​ประวัติศาสตร์. พยาน​ของ​พระองค์​เริ่ม​จาก​เฮเบล บุรุษ​ผู้​ซื่อ​สัตย์ เมื่อ​ประมาณ 6,000 ปี​มา​แล้ว มา​จน​ถึง “ชน​ฝูง​ใหญ่” แห่ง​พยาน​ใน​ปัจจุบัน และ​ต่อ​ไป​ยัง​ผู้​นมัสการ​พระ​ยะโฮวา​หมู่​ใหญ่​ใน​อนาคต​ซึ่ง​จะ​มี​ชีวิต​ไม่​สิ้น​สุด. (วิวรณ์ 7:9, ล.ม.; เฮ็บราย 11:4) เรา​เป็น​กลุ่ม​ล่า​สุด​ของ​เหล่า​ผู้​นมัสการ​ที่​ซื่อ​สัตย์​ซึ่ง​สืบ​ต่อ​กัน​มา​ยาว​นาน. ช่าง​เป็น​มรดก​ฝ่าย​วิญญาณ​ที่​ยอด​เยี่ยม​เสีย​จริง ๆ ที่​เรา​ได้​รับ​สืบ​ทอด​มา!

18. ค่า​นิยม​และ​มาตรฐาน​ศีลธรรม​ของ​เรา​ทำ​ให้​เรา​อยู่​ต่าง​หาก​จาก​โลก​อย่าง​ไร?

18 เอกลักษณ์​คริสเตียน​ของ​เรา​ยัง​รวม​ไป​ถึง​ค่า​นิยม, คุณลักษณะ, มาตรฐาน​ศีลธรรม, และ​ลักษณะ​เฉพาะ​ต่าง ๆ ที่​ระบุ​ตัว​เรา​ว่า​เป็น​คริสเตียน. เอกลักษณ์​คริสเตียน​เป็น “ทาง​นั้น” อัน​เป็น​วิถี​ชีวิต​อย่าง​เดียว​ที่​จะ​ทำ​ให้​ชีวิต​ประสบ​ความ​สำเร็จ​และ​ทำ​ให้​พระเจ้า​พอ​พระทัย. (กิจการ 9:2; เอเฟโซ 4:22-24) คริสเตียน “ทำ​ให้​แน่​ใจ​ใน​ทุก​สิ่ง” และ​เขา ‘ยึด​สิ่ง​ที่​ดี​ไว้​มั่น.’ (1 เธซะโลนิเก 5:21, ล.ม.) เรา​ได้​รับ​ความ​เข้าใจ​ชัดเจน​ถึง​ความ​แตกต่าง​กัน​อย่าง​มาก​ระหว่าง​แนว​ทาง​คริสเตียน​กับ​โลก​ซึ่ง​ห่าง​เหิน​จาก​พระเจ้า. พระ​ยะโฮวา​ทำ​ให้​เห็น​ความ​แตกต่าง​อย่าง​ชัดเจน​ระหว่าง​การ​นมัสการ​แท้​กับ​การ​นมัสการ​เท็จ. พระองค์​แถลง​ผ่าน​ทาง​ผู้​พยากรณ์​มาลาคี​ว่า “เจ้า​ทั้ง​หลาย​ก็​จะ​เห็น​ความ​แตกต่าง​ระหว่าง​คน​ชอบธรรม​และ​คน​ชั่ว, ระหว่าง​คน​ปรนนิบัติ​พระ​ยะโฮวา​และ​คน​ไม่​ปรนนิบัติ​พระ​ยะโฮวา.”—มาลาคี 3:18.

19. คริสเตียน​แท้​จะ​ไม่​กลาย​เป็น​คน​เช่น​ไร?

19 เนื่อง​จาก​การ​อวด​ใน​พระ​ยะโฮวา​มี​ความ​สำคัญ​มาก​ใน​โลก​ที่​สับสน​นี้​และ​ไม่​รู้​ว่า​จะ​มุ่ง​หน้า​ไป​ทาง​ใด อะไร​จะ​ช่วย​เรา​ให้​คง​รักษา​ความ​ภูมิ​ใจ​อย่าง​เหมาะ​สม​ใน​พระเจ้า​และ​รักษา​ความ​สำนึก​อย่าง​แรง​กล้า​ใน​เอกลักษณ์​คริสเตียน​ไว้​ได้? จะ​มี​คำ​แนะ​นำ​ที่​เป็น​ประโยชน์​ใน​บทความ​ถัด​ไป. ขณะ​ที่​พิจารณา​เรื่อง​เหล่า​นี้ คุณ​มั่น​ใจ​ได้​ว่า​คริสเตียน​แท้​จะ​ไม่​กลาย​เป็น​คน​ที่​ได้​รับ​อิทธิพล​ที่​ไม่​ดี​จาก “แอเพอธิอิซึม.”

[เชิงอรรถ]

^ วรรค 7 ใน​ที่​นี้ เรา​พิจารณา​เฉพาะ​เอกลักษณ์​ใน​แง่​ฝ่าย​วิญญาณ​เท่า​นั้น. สำหรับ​กรณี​ของ​ความ​ผิด​ปกติ​บาง​อย่าง​ด้าน​จิตใจ ก็​อาจ​จำเป็น​ต้อง​รับ​การ​บำบัด​รักษา​จาก​แพทย์.

คุณ​จำ​ได้​ไหม?

• คริสเตียน​จะ “อวด​ใน​พระ​ยะโฮวา” ได้​อย่าง​ไร?

• คุณ​ได้​เรียน​อะไร​จาก​ตัว​อย่าง​ของ​โมเซ​และ​อาซาฟ?

• บุคคล​ใด​บ้าง​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล​ซึ่ง​ภูมิ​ใจ​ใน​การ​รับใช้​พระเจ้า?

• การ​ภูมิ​ใจ​ใน​เอกลักษณ์​คริสเตียน​ของ​เรา​เกี่ยว​ข้อง​กับ​อะไร?

[คำ​ถาม]

[ภาพ​หน้า 14]

ครั้ง​หนึ่ง โมเซ​รู้สึก​ไม่​แน่​ใจ​ใน​ตน​เอง

[ภาพ​หน้า 15]

ผู้​รับใช้​พระ​ยะโฮวา​สมัย​โบราณ​หลาย​คน​ภูมิ​ใจ​ใน​เอกลักษณ์​ของ​ตน​ที่​แตกต่าง