ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

ไม่อยู่เพื่อตนเองอีกต่อไป

ไม่อยู่เพื่อตนเองอีกต่อไป

ไม่​อยู่​เพื่อ​ตน​เอง​อีก​ต่อ​ไป

“[พระ​คริสต์] สิ้น​พระ​ชนม์​เพื่อ​คน​ทั้ง​ปวง เพื่อ​คน​ที่​มี​ชีวิต​จะ​ไม่​อยู่​เพื่อ​ตน​เอง​อีก​ต่อ​ไป.”—2 โกรินโธ 5:15, ล.ม.

1, 2. บัญญัติ​อะไร​ใน​พระ​คัมภีร์​ที่​กระตุ้น​เหล่า​สาวก​ของ​พระ​เยซู​ใน​ศตวรรษ​แรก​ให้​เอา​ชนะ​ความ​เห็น​แก่​ตัว?

คืน​นั้น​เป็น​คืน​สุด​ท้าย​ของ​พระ​เยซู​บน​แผ่นดิน​โลก. อีก​ไม่​กี่​ชั่วโมง พระองค์​จะ​สละ​ชีวิต​เพื่อ​ทุก​คน​ที่​สำแดง​ความ​เชื่อ​ใน​พระองค์. ใน​คืน​นั้น พระ​เยซู​บอก​หลาย​เรื่อง​ที่​สำคัญ​แก่​พวก​อัครสาวก​ที่​ซื่อ​สัตย์​ของ​พระองค์. หนึ่ง​ใน​เรื่อง​เหล่า​นั้น​คือ​บัญญัติ​เกี่ยว​ข้อง​กับ​คุณลักษณะ​ที่​จะ​ใช้​ระบุ​ตัว​สาวก​ของ​พระองค์. พระองค์​ตรัส​ว่า “เรา​ให้​บัญญัติ​ใหม่​ไว้​แก่​เจ้า​ทั้ง​หลาย, คือ​ให้​เจ้า​รัก​ซึ่ง​กัน​และ​กัน. เรา​รัก​เจ้า​ทั้ง​หลาย​มา​แล้ว​ฉัน​ใด, เจ้า​จง​รัก​ซึ่ง​กัน​และ​กัน​ด้วย​ฉัน​นั้น. คน​ทั้ง​ปวง​จะ​รู้​ได้​ว่า​เจ้า​เป็น​เหล่า​สาวก​ของ​เรา​ก็​เพราะ​ว่า​เจ้า​ทั้ง​หลาย​รัก​ซึ่ง​กัน​และ​กัน.”—โยฮัน 13:34, 35.

2 คริสเตียน​แท้​ต้อง​แสดง​ความ​รัก​แบบ​เสีย​สละ​ตน​เอง​ต่อ​กัน​และ​กัน และ​ให้​ความ​จำเป็น​ของ​เพื่อน​ร่วม​ความ​เชื่อ​มา​ก่อน​ของ​ตน. พวก​เขา​ไม่​ควร​ลังเล​แม้​แต่​ที่​จะ ‘สละ​ชีวิต​เพื่อ​มิตร​สหาย​ของ​ตน.’ (โยฮัน 15:13) คริสเตียน​ยุค​แรก​ตอบรับ​บัญญัติ​ใหม่​นี้​อย่าง​ไร? ใน​งาน​เขียน​โด่งดัง​ที่​ชื่อ​ข้อ​แก้​ต่าง เทอร์ทูลเลียน​นัก​เขียน​ใน​ศตวรรษ​ที่​สอง​ได้​ยก​คำ​พูด​ของ​คน​อื่น​ที่​กล่าว​ถึง​คริสเตียน​ว่า ‘ดู​เถอะ​ว่า​พวก​เขา​รัก​กัน​มาก​ขนาด​ไหน พวก​เขา​พร้อม​จะ​ตาย​แทน​กัน​ด้วย​ซ้ำ.’

3, 4. (ก) เหตุ​ใด​เรา​ควร​เอา​ชนะ​ความ​เห็น​แก่​ตัว? (ข) เรา​จะ​พิจารณา​อะไร​ใน​บทความ​นี้?

3 เรา​ก็​เช่น​กัน​ต้อง “ช่วย​แบก​ภาระ (ร่วม​ทุกข์​ร่วม​สุข) ซึ่ง​กัน​และ​กัน . . . ดัง​นั้น​จึง​เป็น​ที่​ให้​พระ​บัญญัติ​ของ​พระ​คริสต์​สำเร็จ.” (ฆะลาเตีย 6:2) อย่าง​ไร​ก็​ตาม ความ​เห็น​แก่​ตัว​เป็น​อุปสรรค​ใหญ่​ที่​สุด​อย่าง​หนึ่ง ที่​ขัด​ขวาง​การ​เชื่อ​ฟัง​บัญญัติ​ของ​พระ​คริสต์​และ ‘รัก​พระองค์​ผู้​เป็น​พระเจ้า​ด้วย​สุด​ใจ​สุด​จิตต์​ของ​เรา, และ​ด้วย​สิ้น​สุด​ความ​คิด​ของ​เรา.’ (มัดธาย 22:37-39) เนื่อง​จาก​เรา​ไม่​สมบูรณ์ เรา​จึง​มี​แนว​โน้ม​ใน​ทาง​เห็น​แก่​ตัว​กัน​อยู่​แล้ว. นอก​จาก​นี้ ความ​เครียด​ใน​ชีวิต​แต่​ละ​วัน, บรรยากาศ​การ​แข่งขัน​ใน​โรง​เรียน​หรือ​ที่​ทำ​งาน, และ​การ​ดิ้นรน​หา​เลี้ยง​ชีพ​ให้​มี​พอ​ใช้​จ่าย ยิ่ง​ทำ​ให้​แนว​โน้ม​ที่​ติด​ตัว​เรา​มา​แต่​กำเนิด​นี้​รุนแรง​ขึ้น. แนว​โน้ม​ใน​ทาง​เห็น​แก่​ตัว​นี้​ไม่​ลด​ลง. อัครสาวก​เปาโล​เตือน​ไว้​ว่า “วาระ​สุด​ท้าย​นั้น . . . ผู้​คน​จะ​เห็น​แก่​ตัว.”—2 ติโมเธียว 3:1, 2, ฉบับ​แปล 2002.

4 ใน​ช่วง​ท้าย ๆ ของ​งาน​รับใช้​ทาง​แผ่นดิน​โลก​ของ​พระ​เยซู พระองค์​ตรัส​ถึง​สาม​ขั้น​ตอน​ที่​จะ​ช่วย​สาวก​ของ​พระองค์​ให้​เอา​ชนะ​ความ​เห็น​แก่​ตัว. ขั้น​ตอน​เหล่า​นั้น​คือ​อะไร และ​เรา​จะ​ได้​ประโยชน์​จาก​คำ​แนะ​นำ​ของ​พระองค์​โดย​วิธี​ใด?

วิธี​แก้​ที่​ชะงัด!

5. ขณะ​ทำ​งาน​ประกาศ​ทาง​ตอน​เหนือ​ของ​แคว้น​แกลิลี พระ​เยซู​ทรง​เผย​อะไร​แก่​เหล่า​สาวก และ​ทำไม​การ​เปิด​เผย​นั้น​จึง​ทำ​ให้​พวก​เขา​ตกตะลึง?

5 ใน​ตอน​นั้น พระ​เยซู​กำลัง​ทำ​งาน​ประกาศ​ใกล้​เมือง​ซีซาเรีย​ฟิลิปปี ทาง​ตอน​เหนือ​ของ​แคว้น​แกลิลี. อาณา​บริเวณ​ที่​งดงาม​และ​เงียบ​สงบ​แห่ง​นี้​ดู​เหมือน​เหมาะ​เป็น​ที่​สำหรับ​ปล่อย​ตัว​ตาม​สบาย​มาก​กว่า​จะ​เป็น​สถาน​ที่​เรียน​รู้​เรื่อง​การ​หัก​ห้าม​ตน. อย่าง​ไร​ก็​ตาม ขณะ​อยู่​ที่​นั่น พระ​เยซู​เริ่ม​เผย​แก่​เหล่า​สาวก​ว่า “พระองค์​จะ​ต้อง​เสด็จ​ไป​กรุง​ยะรูซาเลม, เพื่อ​จะ​รับ​ความ​ทน​ทุกข์​ทรมาน​ต่าง ๆ อย่าง​สาหัส​จาก​พวก​ผู้​เฒ่า​และ​พวก​ปุโรหิต​ใหญ่​และ​พวก​อาลักษณ์. จน​ต้อง​ถึง​แก่​ประหาร​ชีวิต แต่​ใน​วัน​ที่​สาม​พระองค์​จะ​เป็น​ขึ้น​มา​ใหม่.” (มัดธาย 16:21) การ​เปิด​เผย​ดัง​กล่าว​คง​ทำ​ให้​เหล่า​สาวก​ของ​พระ​เยซู​ตกตะลึง​สัก​เพียง​ไร เนื่อง​จาก​จน​ถึง​ขณะ​นั้น พวก​เขา​คาด​หวัง​ให้​ผู้​นำ​ของ​ตน​ตั้ง​อาณาจักร​ของ​พระองค์​ขึ้น​บน​แผ่นดิน​โลก!—ลูกา 19:11; กิจการ 1:6.

6. เหตุ​ใด​พระ​เยซู​ทรง​ตำหนิ​เปโตร​อย่าง​แรง?

6 เปโตร​รีบ “พา​พระ​เยซู​ออก​ไป แล้ว​เริ่ม​ทัก​ท้วง​พระองค์​ดัง​นี้: ‘พระองค์​เจ้าข้า จง​กรุณา​พระองค์​เอง​เถิด พระองค์​จะ​ไม่​ประสบ​เหตุ​การณ์​เช่น​นั้น​เลย.’ ” พระ​เยซู​มี​ปฏิกิริยา​อย่าง​ไร? “พระองค์​ทรง​หัน​หลัง​ให้​และ​ตรัส​แก่​เปโตร​ว่า ‘จง​ไป​อยู่​ข้าง​หลัง​เรา ซาตาน! เจ้า​เป็น​หิน​สะดุด​แก่​เรา เพราะ​ที่​เจ้า​คิด​นั้น ไม่​ใช่​ความ​คิด​ของ​พระเจ้า แต่​เป็น​ความ​คิด​ของ​มนุษย์.’ ” เจตคติ​สอง​อย่าง​นี้​นับ​ว่า​ต่าง​กัน​เสีย​จริง ๆ! พระ​เยซู​เต็ม​พระทัย​ยอม​รับ​แนว​ทาง​แห่ง​การ​เสีย​สละ​ตน​เอง​ซึ่ง​พระเจ้า​มอบหมาย​ให้​พระองค์ อัน​เป็น​แนว​ทาง​ที่​จะ​นำ​ไป​สู่​การ​สิ้น​พระ​ชนม์​บน​หลัก​ทรมาน​ใน​อีก​ไม่​กี่​เดือน​ข้าง​หน้า. ส่วน​เปโตร​เสนอ​แนะ​แนว​ทาง​ที่​สะดวก​สบาย. เปโตร​ทูล​ว่า “จง​กรุณา​พระองค์​เอง​เถิด.” ไม่​ต้อง​สงสัย​เลย​ว่า​เปโตร​มี​เจตนา​ดี. ถึง​กระนั้น พระ​เยซู​ทรง​ตำหนิ​เปโตร​เนื่อง​จาก​ใน​โอกาส​นั้น​ท่าน​ปล่อย​ให้​ความ​คิด​ของ​ซาตาน​เข้า​ครอบ​งำ. เปโตร​ไม่​ได้​มี “ความ​คิด​ของ​พระเจ้า แต่​เป็น​ความ​คิด​ของ​มนุษย์.”—มัดธาย 16:22, 23, ล.ม.

7. พระ​เยซู​วาง​แนว​ทาง​อะไร​ให้​สาวก​ของ​พระองค์​ปฏิบัติ ดัง​บันทึก​ไว้​ที่​มัดธาย 16:24?

7 คำ​พูด​ซึ่ง​คล้าย​กัน​กับ​ที่​เปโตร​พูด​กับ​พระ​เยซู​ก็​มี​ให้​ได้​ยิน​กัน​ใน​ทุก​วัน​นี้. โลก​มัก​ส่ง​เสริม​ความ​คิด​ที่​ว่า “ให้​สิ่ง​ที่​ดี​แก่​ตัว​คุณ​เอง” หรือ “เลือก​ทาง​ที่​ง่าย​ที่​สุด.” ส่วน​พระ​เยซู​แนะ​นำ​ให้​มี​เจตคติ​ที่​ต่าง​ออก​ไป​อย่าง​สิ้นเชิง. พระองค์​บอก​สาวก​ของ​พระองค์​ว่า “ถ้า​ผู้​ใด​ต้องการ​ติด​ตาม​เรา ให้​เขา​ปฏิเสธ​ตัว​เอง​และ​แบก​เสา​ทรมาน​ของ​ตน​แล้ว​ติด​ตาม​เรา​เรื่อย​ไป.” (มัดธาย 16:24, ล.ม.) เดอะ นิว อินเทอร์พรีเตอร์ส ไบเบิล​กล่าว​ว่า “คำ​ตรัส​นี้​ไม่​ได้​เป็น​การ​เชิญ​ชวน​คน​ภาย​นอก​ให้​เข้า​มา​เป็น​สาวก แต่​เป็น​การ​ชวน​ผู้​ที่​ตอบรับ​การ​ทรง​เรียก​ของ​พระ​คริสต์​อยู่​แล้ว​ให้​ใคร่ครวญ​ถึง​ความ​หมาย​ของ​การ​เป็น​สาวก.” ขั้น​ตอน​ทั้ง​สาม​ที่​พระ​เยซู​วาง​ไว้​ดัง​บันทึก​ไว้​ใน​ข้อ​คัมภีร์​นี้​เป็น​ขั้น​ตอน​ซึ่ง​ผู้​เชื่อถือ​ต้อง​ปฏิบัติ​ตาม. ให้​เรา​มา​พิจารณา​ขั้น​ตอน​เหล่า​นี้​ที​ละ​อย่าง.

8. จง​อธิบาย​ความ​หมาย​ของ​การ​ปฏิเสธ​ตัว​เอง.

8 ขั้น​ตอน​แรก เรา​ต้อง​ปฏิเสธ​ตัว​เอง. คำ​ภาษา​กรีก​ที่​ได้​รับ​การ​แปล​ว่า “ปฏิเสธ​ตัว​เอง” ชี้​ถึง​ความ​เต็ม​ใจ​ที่​จะ​ปฏิเสธ​ความ​ปรารถนา​อัน​เห็น​แก่​ตัว​หรือ​ความ​สะดวก​สบาย​ส่วน​ตัว. การ​ปฏิเสธ​ตัว​เอง​ไม่​ใช่​แค่​เรื่อง​ของ​การ​สละ​ความ​เพลิดเพลิน​บาง​อย่าง​ใน​บาง​โอกาส อีก​ทั้ง​ไม่​ได้​หมาย​ความ​ว่า​เรา​จะ​บำเพ็ญ​พรต​หรือ​ทรมาน​ตน. เรา ‘ไม่​ใช่​เจ้าของ​ตัว​เรา​เอง’ อีก​ต่อ​ไป​ใน​แง่​ที่​ว่า เรา​เต็ม​ใจ​ถวาย​ชีวิต​ของ​เรา​ทั้ง​สิ้น​และ​ทุก​สิ่ง​ใน​ชีวิต​แด่​พระ​ยะโฮวา. (1 โกรินโธ 6:19, 20, ฉบับ​แปล 2002) แทน​ที่​ชีวิต​ของ​เรา​จะ​รวม​จุด​อยู่​ที่​ตัว​เอง แต่​จะ​รวม​จุด​อยู่​ที่​พระเจ้า. การ​ปฏิเสธ​ตัว​เอง​แสดง​นัย​ถึง​การ​มุ่ง​มั่น​ทำ​ตาม​พระทัย​ประสงค์​ของ​พระเจ้า แม้​ว่า​บาง​ครั้ง​การ​ทำ​อย่าง​นั้น​อาจ​ฝืน​แนว​โน้ม​ที่​ไม่​สมบูรณ์​ของ​เรา. เรา​แสดง​ว่า​เรา​มี​ความ​เลื่อมใส​โดย​เฉพาะ​ต่อ​พระเจ้า​เมื่อ​เรา​อุทิศ​ตัว​และ​รับ​บัพติสมา แล้ว​พยายาม​ดำเนิน​ชีวิต​สม​กับ​การ​อุทิศ​ตัว​ของ​เรา​ตลอด​ช่วง​เวลา​ที่​เหลือ​ของ​ชีวิต.

9. (ก) เมื่อ​พระ​เยซู​อยู่​บน​แผ่นดิน​โลก เสา​ทรมาน​หมาย​ถึง​อะไร? (ข) เรา​แบก​เสา​ทรมาน​ใน​ความ​หมาย​เช่น​ไร?

9 ขั้น​ตอน​ที่​สอง​คือ​เรา​ต้อง​แบก​เสา​ทรมาน. ใน​ศตวรรษ​แรก เสา​ทรมาน​หมาย​ถึง​การ​ทน​ทุกข์, ความ​อัปยศ, และ​ความ​ตาย. ปกติ​แล้ว มี​แต่​อาชญากร​ที่​จะ​ถูก​ประหาร​บน​เสา​ทรมาน​หรือ​ศพ​ถูก​แขวน​ไว้​บน​เสา. ด้วย​ถ้อย​คำ​ดัง​กล่าว พระ​เยซู​แสดง​ว่า​คริสเตียน​ต้อง​พร้อม​ที่​จะ​รับ​เอา​การ​ข่มเหง, การ​ดูหมิ่น​เหยียด​หยาม, หรือ​แม้​กระทั่ง​ความ​ตาย เนื่อง​จาก​เขา​ไม่​เป็น​ส่วน​ของ​โลก. (โยฮัน 15:18-20) มาตรฐาน​คริสเตียน​ของ​เรา​ทำ​ให้​เรา​ต่าง​จาก​โลก ดัง​นั้น โลก​จึง​อาจ ‘กล่าว​ร้าย​พวก​เรา.’ (1 เปโตร 4:4, ล.ม.) เรื่อง​นี้​อาจ​เกิด​ขึ้น​ได้​ที่​โรง​เรียน, ที่​ทำ​งาน, หรือ​แม้​แต่​ใน​ครอบครัว. (ลูกา 9:23) ถึง​กระนั้น เรา​เต็ม​ใจ​ทน​รับ​การ​หมิ่น​ประมาท​จาก​โลก​เพราะ​เรา​ไม่​ได้​อยู่​เพื่อ​ตน​เอง​อีก​ต่อ​ไป. พระ​เยซู​ตรัส​ว่า “เมื่อ​เขา​จะ​ติเตียน​ข่มเหง​และ​นินทา​ท่าน​ทั้ง​หลาย​ต่าง ๆ เป็น​ความ​เท็จ​เพราะ​เรา, ท่าน​ก็​เป็น​สุข. จง​ชื่นชม​ยินดี​อย่าง​ยิ่ง​เพราะ​ว่า​บำเหน็จ​ของ​ท่าน​มี​บริบูรณ์​ใน​สวรรค์.” (มัดธาย 5:11, 12) จริง​ที​เดียว การ​เป็น​ที่​พอ​พระทัย​พระเจ้า​คือ​สิ่ง​สำคัญ​ที่​สุด.

10. การ​ติด​ตาม​พระ​เยซู​เรื่อย​ไป​เกี่ยว​ข้อง​กับ​อะไร?

10 ขั้น​ตอน​ที่​สาม พระ​เยซู​คริสต์​ตรัส​ว่า​เรา​ต้อง​ติด​ตาม​พระองค์​เรื่อย​ไป. ตาม​ที่​อธิบาย​ใน​พจนานุกรม​อธิบาย​ศัพท์​คัมภีร์​ภาค​พันธสัญญา​ใหม่ (ภาษา​อังกฤษ) ของ ดับเบิลยู. อี. ไวน์ คำ​ว่า​ติด​ตาม​หมาย​ถึง​เป็น​เพื่อน​ร่วม​ทาง ซึ่ง​ก็​คือ “ผู้​ที่​เดิน​ทาง​ไป​ทาง​เดียว​กัน.” หนึ่ง​โยฮัน 2:6 (ล.ม.) กล่าว​ว่า “ผู้​ที่​กล่าว​ว่า​ตน​เป็น​อัน​หนึ่ง​อัน​เดียว​กัน​กับ [พระเจ้า] ผู้​นั้น​ต้อง​ดำเนิน​อย่าง​ที่ [พระ​คริสต์] ทรง​ดำเนิน​นั้น​ด้วย.” พระ​เยซู​ทรง​ดำเนิน​แบบ​ไหน? ความ​รัก​ที่​พระ​เยซู​มี​ต่อ​พระ​บิดา​ฝ่าย​สวรรค์​และ​ต่อ​เหล่า​สาวก​ทำ​ให้​พระองค์​ไม่​มี​ที่​สำหรับ​ความ​เห็น​แก่​ตัว. เปาโล​เขียน​ว่า “พระ​คริสต์ . . . มิ​ได้​กระทำ​ตาม​ชอบ​พระทัย​ของ​พระองค์.” (โรม 15:3, ล.ม.) แม้​แต่​ใน​ยาม​ที่​เหนื่อย​หรือ​หิว พระ​เยซู​ก็​ยัง​ให้​ความ​จำเป็น​ของ​ผู้​อื่น​มา​ก่อน​ของ​พระองค์​เอง. (มาระโก 6:31-34) นอก​จาก​นั้น พระ​เยซู​ทุ่มเท​ตัว​อย่าง​แข็งขัน​ใน​งาน​ประกาศ​สั่ง​สอน​เรื่อง​ราชอาณาจักร. เรา​ควร​เลียน​แบบ​พระองค์​มิ​ใช่​หรือ ขณะ​ที่​เรา​ทำ​งาน​มอบหมาย​ของ​เรา​ด้วย​ใจ​แรง​กล้า​ที่​ให้ ‘สั่ง​สอน​ชน​ทุก​ประเทศ​ให้​เป็น​สาวก . . . สอน​เขา​ให้​ถือ​รักษา​สิ่ง​สารพัตร​ซึ่ง​พระ​เยซู​ได้​สั่ง​ไว้’? (มัดธาย 28:19, 20) ใน​การ​กระทำ​ทั้ง​หมด​นี้ พระ​คริสต์​ทรง​วาง​แบบ​อย่าง​ไว้​แก่​เรา และ​เรา​ต้อง “ดำเนิน​ตาม​รอย​พระ​บาท​ของ​พระองค์​อย่าง​ใกล้​ชิด.”—1 เปโตร 2:21, ล.ม.

11. เหตุ​ใด​นับ​ว่า​สำคัญ​ที่​เรา​จะ​ปฏิเสธ​ตัว​เอง, แบก​เสา​ทรมาน, และ​ติด​ตาม​พระ​เยซู​คริสต์​เรื่อย​ไป?

11 การ​ปฏิเสธ​ตัว​เอง, แบก​เสา​ทรมาน, และ​ติด​ตาม​พระ​ผู้​เป็น​แบบ​อย่าง​ของ​เรา​เรื่อย​ไป​นั้น​นับ​ว่า​สำคัญ. การ​ทำ​เช่น​นั้น​เป็น​วิธี​แก้​ความ​เห็น​แก่​ตัว อัน​เป็น​อุปสรรค​อย่าง​แท้​จริง​ต่อ​การ​แสดง​ความ​รัก​แบบ​เสีย​สละ​ตัว​เอง. นอก​จาก​นั้น พระ​เยซู​ตรัส​ว่า “ผู้​ใด​จะ​ใคร่​เอา​ชีวิต​ของ​ตน​รอด, ผู้​นั้น​จะ​เสีย​ชีวิต. แต่​ผู้​ใด​จะ​เสีย​ชีวิต​ของ​ตน​เพราะ​เห็น​แก่​เรา ผู้​นั้น​จะ​ได้​ชีวิต​รอด. เพราะ​ถ้า​ผู้​ใด​จะ​ได้​สิ่ง​ของ​สิ้น​ทั้ง​โลก, แต่​ต้อง​เสีย​ชีวิต​ของ​ตน​จะ​เป็น​ประโยชน์​อะไร? หรือ​ใคร​จะ​เอา​อะไร​มา​แลก​กับ​ชีวิต​ของ​ตน?”—มัดธาย 16:25, 26.

เรา​รับใช้​นาย​สอง​นาย​ไม่​ได้

12, 13. (ก) ขุนนาง​หนุ่ม​ที่​ขอ​คำ​แนะ​นำ​จาก​พระ​เยซู​เป็น​ห่วง​เรื่อง​อะไร? (ข) พระ​เยซู​ให้​คำ​แนะ​นำ​อะไร​แก่​ชาย​หนุ่ม​ผู้​นี้ และ​เพราะ​เหตุ​ใด?

12 ไม่​กี่​เดือน​ต่อ​มา​หลัง​จาก​พระ​เยซู​เน้น​ความ​จำเป็น​ที่​สาวก​ของ​พระองค์​ต้อง​ปฏิเสธ​ตัว​เอง มี​ขุนนาง​หนุ่ม​ผู้​ร่ำรวย​คน​หนึ่ง​มา​หา​พระองค์​ทูล​ว่า “ท่าน​อาจารย์, ข้าพเจ้า​จะ​ต้อง​ทำ​ดี​ประการ​ใด​จึง​จะ​ได้​ชีวิต​นิรันดร์?” พระ​เยซู​บอก​ให้​เขา “ถือ​รักษา​พระ​บัญญัติ​ไว้” และ​ทรง​อ้าง​ถึง​พระ​บัญญัติ​บาง​ข้อ. ชาย​หนุ่ม​นั้น​กล่าว​ว่า “ข้อ​เหล่า​นั้น​ข้าพเจ้า​ได้​ถือ​รักษา​ไว้​แล้ว​ทุก​ประการ.” ชาย​ผู้​นี้​ดู​เหมือน​ว่า​จริง​ใจ​และ​พยายาม​เต็ม​ที่​เพื่อ​ถือ​รักษา​พระ​บัญญัติ. ดัง​นั้น เขา​จึง​ถาม​ว่า “ข้าพเจ้า​ยัง​ขาด​อะไร​อีก​บ้าง.” พระ​เยซู​ทรง​ตอบ​ชาย​หนุ่ม​นั้น​ด้วย​คำ​เชิญ​ที่​ไม่​มี​ใด​เหมือน​ว่า “ถ้า​ท่าน​ปรารถนา​เป็น​ผู้​ดี​รอบคอบ จง​ไป​ขาย​บรรดา​สิ่ง​ของ​ซึ่ง​ท่าน​มี​อยู่​แจก​จ่าย​ให้​คน​อนาถา ท่าน​จึง​จะ​มี​ทรัพย์​สมบัติ​ใน​สวรรค์ แล้ว​จง​ตาม​เรา​มา.”—มัดธาย 19:16-21.

13 พระ​เยซู​ทรง​เห็น​ว่า เพื่อ​ชาย​คน​นี้​จะ​รับใช้​พระ​ยะโฮวา​สุด​ชีวิต เขา​ต้อง​ขจัด​อุปสรรค​สำคัญ​ใน​ชีวิต​ของ​ตน นั่น​คือ​ความ​มั่งคั่ง​ด้าน​วัตถุ. สาวก​แท้​ของ​พระ​คริสต์​รับใช้​นาย​สอง​นาย​ไม่​ได้. เขา “จะ​รับใช้​พระเจ้า​และ​เงิน​ทอง​พร้อม​กัน​ไม่​ได้.” (มัดธาย 6:24, ฉบับ​แปล 2002) เขา​ต้อง​มี ‘ตา​ปกติ’ คือ​สายตา​ที่​จดจ่อ​กับ​เรื่อง​ฝ่าย​วิญญาณ. (มัดธาย 6:22) การ​สละ​สิ่ง​ของ​ที่​มี​อยู่​และ​ให้​แก่​คน​อนาถา​เป็น​การ​เสีย​สละ​ตัว​เอง. เพื่อ​แลก​กับ​การ​เสีย​สละ​สิ่ง​ฝ่าย​วัตถุ พระ​เยซู​เสนอ​โอกาส​อัน​ล้ำ​ค่า​แก่​ขุนนาง​หนุ่ม​ให้​เขา​ได้​สะสม​ทรัพย์​สมบัติ​ไว้​ใน​สวรรค์ ซึ่ง​เป็น​ทรัพย์​สมบัติ​ที่​จะ​หมาย​ถึง​ชีวิต​นิรันดร์​สำหรับ​เขา​และ​นำ​ไป​สู่​ความ​หวัง​ที่​จะ​ได้​ปกครอง​ทาง​ภาค​สวรรค์​ร่วม​กับ​พระ​คริสต์​ใน​ที่​สุด. ชาย​หนุ่ม​ผู้​นี้​ไม่​พร้อม​จะ​เสีย​สละ​ตัว​เอง. เขา “ออก​ไป​เป็น​ทุกข์​นัก เพราะ​เขา​มี​ทรัพย์​สิ่ง​ของ​เป็น​อัน​มาก.” (มัดธาย 19:22) อย่าง​ไร​ก็​ตาม สาวก​ของ​พระ​เยซู​คน​อื่น ๆ ตอบ​สนอง​ต่าง​ออก​ไป.

14. ชาว​ประมง​สี่​คน​ตอบ​สนอง​อย่าง​ไร​ต่อ​คำ​เชิญ​ของ​พระ​เยซู​ที่​ให้​ติด​ตาม​พระองค์?

14 ประมาณ​สอง​ปี​ก่อน​หน้า​นั้น พระ​เยซู​เสนอ​คำ​เชิญ​คล้าย ๆ กัน​นี้​แก่​ชาว​ประมง​สี่​คน คือ เปโตร, อันดะเรอา, ยาโกโบ, และ​โยฮัน. ใน​ตอน​นั้น สอง​คน​ตี​อวน​อยู่ ส่วน​อีก​สอง​คน​กำลัง​ชุน​อวน. พระ​เยซู​ตรัส​แก่​พวก​เขา​ว่า “จง​ตาม​เรา​มา​เถิด เรา​จะ​ตั้ง​ท่าน​ให้​เป็น​ผู้​จับ​คน.” ใน​ที่​สุด ทั้ง​สี่​คน​เลิก​กิจการ​ประมง​ของ​พวก​ตน​แล้ว​ติด​ตาม​พระ​เยซู​ไป​ตลอด​ช่วง​ชีวิต​ที่​เหลือ​อยู่​ของ​พวก​เขา.—มัดธาย 4:18-22.

15. พยาน​พระ​ยะโฮวา​คน​หนึ่ง​ใน​สมัย​ปัจจุบัน​เสีย​สละ​อย่าง​ไร​เพื่อ​ติด​ตาม​พระ​เยซู?

15 คริสเตียน​หลาย​คน​ใน​ปัจจุบัน​ก็​ได้​เลียน​แบบ​ชาว​ประมง​สี่​คน​นี้ แทน​ที่​จะ​เป็น​อย่าง​ขุนนาง​หนุ่ม​ผู้​ร่ำรวย. พวก​เขา​ได้​สละ​ทรัพย์​สมบัติ​และ​โอกาส​ที่​จะ​มี​ชื่อเสียง​ใน​โลก​นี้​เพื่อ​รับใช้​พระ​ยะโฮวา. เด็บบรา​กล่าว​ว่า “ตอน​ที่​อายุ 22 ดิฉัน​ทำ​การ​ตัดสิน​ใจ​ครั้ง​สำคัญ.” เธอ​อธิบาย​ว่า “หลัง​จาก​ศึกษา​คัมภีร์​ไบเบิล​ได้​ประมาณ​หก​เดือน ดิฉัน​ต้องการ​อุทิศ​ชีวิต​แด่​พระ​ยะโฮวา แต่​ถูก​ครอบครัว​ต่อ​ต้าน​อย่าง​หนัก. พวก​เขา​เป็น​มหา​เศรษฐี และ​รู้สึก​ว่า​การ​ที่​ดิฉัน​เข้า​มา​เป็น​พยาน​พระ​ยะโฮวา​จะ​นำ​ความ​อับอาย​มา​สู่​ครอบครัว. พวก​เขา​ให้​เวลา​ดิฉัน​ตัดสิน​ใจ 24 ชั่วโมง​ว่า​จะ​เลือก​อย่าง​ไหน ระหว่าง​ชีวิต​ที่​หรูหรา​มั่งคั่ง​หรือ​ความ​จริง. ถ้า​ไม่​เลิก​คบหา​เด็ดขาด​กับ​พวก​พยาน​ฯ ดิฉัน​จะ​ถูก​ตัด​ออก​จาก​กอง​มรดก. พระ​ยะโฮวา​ช่วย​ให้​ดิฉัน​ตัดสิน​ใจ​อย่าง​ถูก​ต้อง และ​ประทาน​ความ​เข้มแข็ง​ใน​การ​ตัดสิน​ใจ. ดิฉัน​รับใช้​เต็ม​เวลา​มา​จน​ถึง​บัด​นี้ 42 ปี​แล้ว และ​ไม่​นึก​เสียใจ​แต่​อย่าง​ใด. เมื่อ​ได้​หัน​หลัง​ให้​กับ​รูป​แบบ​ชีวิต​ที่​เห็น​แก่​ตัว​และ​มุ่ง​แสวง​หา​ความ​เพลิดเพลิน ดิฉัน​หลุด​พ้น​จาก​ชีวิต​ที่​ว่าง​เปล่า​และ​ไร้​ความ​สุข​ซึ่ง​เห็น​ได้​ใน​หมู่​ญาติ​พี่​น้อง. ดิฉัน​กับ​สามี​ได้​ช่วย​ผู้​คน​นับ​ร้อย​ให้​เรียน​รู้​ความ​จริง. ลูก ๆ ฝ่าย​วิญญาณ​เหล่า​นี้​มี​ค่า​สำหรับ​ดิฉัน​มาก​ยิ่ง​กว่า​ความ​มั่งคั่ง​ใด ๆ ฝ่าย​วัตถุ.” พยาน​พระ​ยะโฮวา​อีก​หลาย​ล้าน​คน​ก็​รู้สึก​แบบ​เดียว​กัน​นั้น. แล้ว​คุณ​ล่ะ?

16. เรา​จะ​แสดง​ให้​เห็น​ได้​อย่าง​ไร​ว่า​เรา​ไม่​อยู่​เพื่อ​ตน​เอง​อีก​ต่อ​ไป?

16 ความ​ปรารถนา​ที่​จะ​ไม่​อยู่​เพื่อ​ตน​เอง​อีก​ต่อ​ไป​ได้​กระตุ้น​พยาน​พระ​ยะโฮวา​หลาย​แสน​คน​ให้​รับใช้​ใน​ฐานะ​ไพโอเนียร์ หรือ​ผู้​ประกาศ​ราชอาณาจักร​เต็ม​เวลา. ส่วน​คน​อื่น ๆ ซึ่ง​สภาพการณ์​ไม่​เอื้ออำนวย​ให้​ทำ​งาน​รับใช้​เต็ม​เวลา ก็​ได้​ปลูกฝัง​น้ำใจ​ไพโอเนียร์​และ​สนับสนุน​งาน​ประกาศ​ราชอาณาจักร​สุด​ความ​สามารถ​ของ​ตน. บิดา​มารดา​หลาย​คน​แสดง​น้ำใจ​ที่​คล้าย​กัน​นั้น​เมื่อ​พวก​เขา​อุทิศ​เวลา​มาก​มาย​และ​สละ​สิ่ง​ที่​ตน​เอง​ชอบ​เพื่อ​ให้​การ​อบรม​ฝ่าย​วิญญาณ​แก่​บุตร. ไม่​ทาง​ใด​ก็​ทาง​หนึ่ง เรา​ทุก​คน​สามารถ​แสดง​ให้​เห็น​ว่า เรา​ให้​ผล​ประโยชน์​แห่ง​ราชอาณาจักร​อยู่​ใน​อันดับ​แรก​ใน​ชีวิต​ของ​เรา.—มัดธาย 6:33.

ความ​รัก​ของ​ผู้​ใด​ผลัก​ดัน​เรา​อยู่?

17. อะไร​กระตุ้น​เรา​ให้​เสีย​สละ​ตัว​เอง?

17 การ​แสดง​ความ​รัก​แบบ​เสีย​สละ​ตน​เอง​ไม่​ใช่​แนว​ทาง​ง่าย​ที่​สุด​ที่​จะ​ดำเนิน. แต่​ขอ​ให้​คิด​ดู​ว่า​อะไร​ที่​ผลัก​ดัน​เรา​อยู่. เปาโล​เขียน​ดัง​นี้: “ความ​รัก​ของ​พระ​คริสต์​ผลัก​ดัน​เรา​อยู่ เพราะ​เรา​ได้​ลง​ความ​เห็น​อย่าง​นี้ คือ​ว่า​มนุษย์​ผู้​หนึ่ง​ตาย​เพื่อ​คน​ทั้ง​ปวง . . . และ​พระองค์​สิ้น​พระ​ชนม์​เพื่อ​คน​ทั้ง​ปวง เพื่อ​คน​ที่​มี​ชีวิต​จะ​ไม่​อยู่​เพื่อ​ตน​เอง​อีก​ต่อ​ไป แต่​เพื่อ​พระองค์​ผู้​ได้​สิ้น​พระ​ชนม์​เพื่อ​พวก​เขา​และ​ถูก​ปลุก​ให้​คืน​พระ​ชนม์​แล้ว.” (2 โกรินโธ 5:14, 15, ล.ม.) ความ​รัก​ของ​พระ​คริสต์​นั่น​เอง​ที่​ผลัก​ดัน​ให้​เรา​ไม่​อยู่​เพื่อ​ตน​เอง​อีก​ต่อ​ไป. นั่น​ช่าง​เป็น​แรง​กระตุ้น​ที่​ทรง​พลัง​จริง ๆ! เนื่อง​จาก​พระ​คริสต์​สิ้น​พระ​ชนม์​เพื่อ​เรา เรา​จึง​สำนึก​ถึง​พันธะ​ที่​ควร​จะ​อยู่​เพื่อ​พระองค์​มิ​ใช่​หรือ? แท้​จริง​แล้ว การ​สำนึก​บุญคุณ​ความ​รัก​อัน​ใหญ่​ยิ่ง​ที่​พระเจ้า​และ​พระ​คริสต์​ทรง​สำแดง​ต่อ​เรา​กระตุ้น​เรา​ให้​อุทิศ​ชีวิต​แด่​พระเจ้า​และ​เข้า​มา​เป็น​สาวก​ของ​พระ​คริสต์.—โยฮัน 3:16; 1 โยฮัน 4:10, 11.

18. เหตุ​ใด​แนว​ทาง​ชีวิต​แบบ​เสีย​สละ​ตน​เอง​จึง​คุ้มค่า?

18 การ​ไม่​อยู่​เพื่อ​ตน​เอง​อีก​ต่อ​ไป​คุ้มค่า​ไหม? หลัง​จาก​ขุนนาง​หนุ่ม​ผู้​ร่ำรวย​ไม่​รับ​คำ​เชิญ​ของ​พระ​คริสต์​และ​กลับ​ไป​แล้ว เปโตร​ทูล​พระ​เยซู​ว่า “นี่​แหละ, ข้าพเจ้า​ทั้ง​หลาย​ได้​สละ​สิ่ง​สารพัตร​ติด​ตาม​พระองค์​มา, พวก​ข้าพเจ้า​จะ​ได้​อะไร​บ้าง?” (มัดธาย 19:27) เปโตร​กับ​อัครสาวก​คน​อื่น ๆ ได้​ปฏิเสธ​ตน​เอง​อย่าง​แท้​จริง. พวก​เขา​จะ​ได้​รับ​อะไร​ตอบ​แทน? อันดับ​แรก​พระ​เยซู​ตรัส​ถึง​สิทธิ​พิเศษ​ที่​พวก​เขา​จะ​ได้​ร่วม​ปกครอง​กับ​พระองค์​ใน​สวรรค์. (มัดธาย 19:28) ใน​โอกาส​เดียว​กัน​นั้น พระ​เยซู​ตรัส​ถึง​พระ​พร​ที่​สาวก​ทุก​คน​ของ​พระองค์​จะ​ได้​รับ. พระองค์​ตรัส​ว่า “ผู้​ใด​ได้​สละ​เรือน​หรือ​พี่​น้อง​ชาย​หญิง​หรือ​บิดา​มารดา​หรือ​ลูก​หรือ​ไร่​นา​เพราะ​เห็น​แก่​เรา​และ​กิตติคุณ​ของ​เรา, ใน​ชาติ [“เวลา,” ล.ม.] นี้​ผู้​นั้น​จะ​ได้​รับ​ตอบ​แทน​ร้อย​เท่า . . . และ​ใน​ชาติ​หน้า [“ระบบ​ที่​จะ​มี​มา,” ล.ม.] จะ​ได้​ชีวิต​นิรันดร์.” (มาระโก 10:29, 30) เรา​ได้​รับ​ตอบ​แทน​มาก​กว่า​ที่​เรา​เสีย​สละ​ไป. บิดา​มารดา, พี่​น้อง, และ​บุตร​ฝ่าย​วิญญาณ​ของ​เรา​มี​ค่า​มาก​กว่า​สิ่ง​ใด ๆ ที่​เรา​ได้​สละ​เพื่อ​เห็น​แก่​ราชอาณาจักร​มิ​ใช่​หรือ? ใคร​มี​ชีวิต​ที่​ได้​รับ​ผล​ตอบ​แทน​มาก​กว่า​กัน—เปโตร หรือ​ขุนนาง​หนุ่ม​ผู้​ร่ำรวย​นั้น?

19. (ก) ความ​สุข​แท้​ขึ้น​อยู่​กับ​อะไร? (ข) เรา​จะ​พิจารณา​อะไร​ใน​บทความ​ถัด​ไป?

19 โดย​ทาง​คำ​พูด​และ​การ​กระทำ พระ​เยซู​แสดง​ว่า​ความ​สุข​เกิด​จาก​การ​ให้​และ​การ​รับใช้ ไม่​ใช่​จาก​การ​เห็น​แก่​ตัว. (มัดธาย 20:28; กิจการ 20:35) เมื่อ​เรา​ไม่​อยู่​เพื่อ​ตน​เอง​อีก​ต่อ​ไป​แต่​ติด​ตาม​พระ​คริสต์​เรื่อย​ไป เรา​ประสบ​ความ​อิ่ม​ใจ​พอ​ใจ​อย่าง​มาก​ใน​ชีวิต​ปัจจุบัน และ​มี​ความ​หวัง​เรื่อง​ชีวิต​นิรันดร์​ใน​อนาคต. แน่นอน เมื่อ​เรา​ปฏิเสธ​ตัว​เอง พระ​ยะโฮวา​กลาย​เป็น​เจ้าของ​ตัว​เรา. ด้วย​เหตุ​นี้ เรา​จึง​กลาย​เป็น​ทาส​ของ​พระเจ้า. เหตุ​ใด​การ​อยู่​ใน​ฐานะ​ทาส​นี้​จึง​เป็น​ประโยชน์? ฐานะ​เช่น​นั้น​ส่ง​ผล​กระทบ​ต่อ​การ​ตัดสิน​ใจ​ต่าง ๆ ของ​เรา​ใน​ชีวิต​อย่าง​ไร? บทความ​ถัด​ไป​จะ​พิจารณา​คำ​ถาม​เหล่า​นี้.

คุณ​จำ​ได้​ไหม?

• เหตุ​ใด​เรา​ควร​เอา​ชนะ​แนว​โน้ม​ที่​เห็น​แก่​ตัว​ของ​เรา?

• การ​ปฏิเสธ​ตัว​เอง, การ​แบก​เสา​ทรมาน, และ​การ​ติด​ตาม​พระ​เยซู​เรื่อย​ไป​หมาย​ความ​ว่า​อย่าง​ไร?

• อะไร​กระตุ้น​เรา​ไม่​ให้​อยู่​เพื่อ​ตน​เอง​อีก​ต่อ​ไป?

• เหตุ​ใด​การ​ใช้​ชีวิต​แบบ​เสีย​สละ​ตน​เอง​จึง​คุ้มค่า?

[คำ​ถาม]

[ภาพ​หน้า 11]

“พระองค์​เจ้าข้า จง​กรุณา​พระองค์​เอง​เถิด”

[ภาพ​หน้า 13]

อะไร​ขัด​ขวาง​ขุนนาง​หนุ่ม​ไม่​ให้​ติด​ตาม​พระ​เยซู?

[ภาพ​หน้า 15]

ความ​รัก​กระตุ้น​พยาน​พระ​ยะโฮวา​ให้​รับใช้​ด้วย​ใจ​แรง​กล้า​ใน​ฐานะ​ผู้​ประกาศ​ราชอาณาจักร