วิทยาศาสตร์และศาสนาที่มาของความขัดแย้ง
วิทยาศาสตร์และศาสนาที่มาของความขัดแย้ง
นักดาราศาสตร์อายุ 70 ปีที่ใกล้จะสิ้นใจกำลังพยายามอ่านเอกสารชิ้นหนึ่งอยู่. เอกสารที่ถืออยู่ในมือเป็นเอกสารที่เขาเขียนขึ้นซึ่งผ่านการพิสูจน์อักษรแล้ว และพร้อมจะนำไปตีพิมพ์. ไม่ว่าเขาจะรู้หรือไม่ก็ตาม งานเขียนของเขาจะเปลี่ยนทัศนะของมนุษยชาติในเรื่องเอกภพอย่างสิ้นเชิง. งานเขียนชิ้นนี้ยังทำให้เกิดความขัดแย้งอย่างรุนแรงภายในคริสต์ศาสนจักรด้วย ซึ่งผลกระทบของความขัดแย้งยังคงรู้สึกได้ในทุกวันนี้.
ชายที่กำลังจะสิ้นชีวิตคนนี้ชื่อ นิโคเลาส์ โคเพอร์นิคัส เป็นชาวคาทอลิกสัญชาติโปแลนด์ และตอนนั้นเป็นปี 1543. งานเขียนของโคเพอร์นิคัสที่มีชื่อว่า เรื่องการโคจรของดวงดาวต่าง ๆ ในท้องฟ้า (ภาษาลาติน) กล่าวว่าดวงอาทิตย์เป็นศูนย์กลางของระบบสุริยะ ไม่ใช่โลก. โดยตีพิมพ์หนังสือเล่มนี้เพียงเล่มเดียว โคเพอร์นิคัสแทนที่ทฤษฎีที่ยุ่งยากซับซ้อนเกี่ยวกับความเชื่อที่ว่าโลกเป็นศูนย์กลางของระบบสุริยะ ด้วยทฤษฎีง่าย ๆ ที่ว่าดวงอาทิตย์เป็นศูนย์กลาง.
ตอนแรก แทบจะไม่มีสัญญาณบอกเหตุว่าจะเกิดความขัดแย้งขึ้นในอนาคต. เหตุผลหนึ่งก็คือ โคเพอร์นิคัสเป็นคนที่ระวังตัวเมื่อเสนอความคิดเห็นของตนเอง. นอกจากนี้ คริสตจักรคาทอลิกซึ่งรับเอาทัศนะที่ว่าโลกเป็นศูนย์กลางของเอกภพ ดูเหมือนว่าได้เปิดรับแนวคิดทางวิทยาศาสตร์มากขึ้นในตอนนั้น. แม้แต่โปปเองก็สนับสนุนให้โคเพอร์นิคัสตีพิมพ์งานเขียนของเขา. ในที่สุดหนังสือของโคเพอร์นิคัสก็ถูกตีพิมพ์ แต่เนื่องจากความกลัว บรรณาธิการจึงเขียนคำนำของตนเองโดยกล่าวว่า แนวคิดเรื่องดวงอาทิตย์เป็นศูนย์กลางเป็นแนวคิดทางคณิตศาสตร์ ไม่จำเป็นต้องเป็นความจริงทางดาราศาสตร์.
ความขัดแย้งรุนแรงขึ้น
บุคคลที่มีส่วนในความขัดแย้งคนถัดไปคือ กาลิเลโอ กาลิเลอี ชาวอิตาลี (ปี 1564-1642) เขาเป็นทั้งนักดาราศาสตร์, นักคณิตศาสตร์, และนักฟิสิกส์ อีกทั้งเป็นชาวคาทอลิกด้วย. โดยใช้กล้องโทรทรรศน์ที่เขาประดิษฐ์เลนส์ขึ้นใหม่ กาลิเลโอเห็นท้องฟ้าในรายละเอียดที่ไม่มีใครเคยเห็นมาก่อน. สิ่งที่เห็นทำให้เขาเชื่อว่าโคเพอร์นิคัสเป็นฝ่ายถูก. นอกจากนี้ กาลิเลโอเห็นจุดบนดวงอาทิตย์หลายจุด ซึ่งในทุกวันนี้เรียกว่าจุดมืด สิ่งที่เขาเห็นจึงขัดแย้งกับความเชื่ออีกอย่างหนึ่งที่บรรดานักปรัชญาและศาสนาพากันเทิดทูนบูชา นั่นคือความเชื่อที่ว่าดวงอาทิตย์ไม่มีวันเปลี่ยนแปลงหรือเสื่อมสลาย.
แต่กาลิเลโอไม่เหมือนโคเพอร์นิคัส กาลิเลโอกล้าหาญ *
และกระตือรือร้นที่จะเผยแพร่แนวคิดของเขา. และเขาก็ทำเช่นนั้นในช่วงที่มีความเป็นปฏิปักษ์กันทางศาสนามากขึ้น เนื่องจากในตอนนั้นคริสตจักรคาทอลิกกำลังต่อต้านทฤษฎีของโคเพอร์นิคัสอย่างเปิดเผย. ดังนั้น เมื่อกาลิเลโอยืนยันว่า แนวคิดเรื่องดวงอาทิตย์เป็นศูนย์กลางไม่เพียงเป็นเรื่องที่ถูกต้องเท่านั้นแต่ยังสอดคล้องกับพระคัมภีร์ด้วย คริสตจักรจึงสงสัยว่าความคิดของเขาเป็นแบบนอกรีต.กาลิเลโอไปกรุงโรมเพื่อแก้ต่างให้กับตัวเอง แต่ก็ล้มเหลว. ในปี 1616 คริสตจักรสั่งให้เขาหยุดเผยแพร่ทฤษฎีของโคเพอร์นิคัส. กาลิเลโอจึงเงียบเสียงไประยะหนึ่ง. ครั้นแล้วในปี 1632 เขาตีพิมพ์งานเขียนอีกเรื่องหนึ่งเพื่อสนับสนุนทฤษฎีของโคเพอร์นิคัส. ในปีถัดมา ศาลศาสนาพิพากษาจำคุกกาลิเลโอตลอดชีวิต. แต่เนื่องจากเขาอายุมากแล้ว ศาลจึงไม่รีรอที่จะลดโทษโดยเปลี่ยนเป็นกักบริเวณอยู่แต่ในบ้าน.
หลายคนมองว่า ความขัดแย้งระหว่างกาลิเลโอกับคริสตจักรทำให้วิทยาศาสตร์ได้รับชัยชนะอันยิ่งใหญ่เหนือศาสนา และยังเป็นชัยชนะเหนือคัมภีร์ไบเบิลอีกด้วย. อย่างไรก็ตาม ดังที่เราจะเห็นในบทความถัดไป การลงความเห็นง่าย ๆ เช่นนี้ได้มองข้ามข้อเท็จจริงหลายอย่างทีเดียว.
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 7 กาลิเลโอสร้างศัตรูที่มีอิทธิพลโดยไม่จำเป็น เพราะเขามักจะโต้แย้งทันทีและใช้คำพูดถากถางที่ทำให้ผู้อื่นขุ่นเคือง. นอกจากนี้ การที่เขาแย้งว่าแนวคิดเรื่องดวงอาทิตย์เป็นศูนย์กลางสอดคล้องกับพระคัมภีร์ ทำให้ดูเหมือนว่าเขารู้มากในเรื่องศาสนา จึงเป็นการยั่วให้คริสตจักรขุ่นเคืองมากขึ้น.
[ภาพหน้า 3]
โคเพอร์นิคัส
[ที่มาของภาพ]
Taken from Giordano Bruno and Galilei (German edition)
[ภาพหน้า 3]
กาลิเลโอแก้ต่างให้ตนเองต่อหน้าศาลศาสนาแห่งกรุงโรม
[ที่มาของภาพ]
From the book The Historian’s History of the World, Vol. IX, 1904
[ที่มาของภาพหน้า 3]
Background: Chart depicting Copernicus’ concept of the solar system