ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

ความหวังท่ามกลางความสิ้นหวังการประชุมในค่ายลี้ภัย

ความหวังท่ามกลางความสิ้นหวังการประชุมในค่ายลี้ภัย

ความ​หวัง​ท่ามกลาง​ความ​สิ้น​หวัง​การ​ประชุม​ใน​ค่าย​ลี้​ภัย

ค่าย​ลี้​ภัย​คาคูมา​ตั้ง​อยู่​ทาง​ตอน​เหนือ​ของ​ประเทศ​เคนยา ใกล้​พรม​แดน​ซูดาน. ประชาชน​มาก​กว่า 86,000 คน​พัก​อาศัย​ใน​ค่าย​แห่ง​นี้. พื้น​ที่​แห้ง​แล้ง​กันดาร กลางวัน​อุณหภูมิ​สูง​ถึง 50 องศา​เซลเซียส. ความ​รุนแรง​ระหว่าง​ชุมชน​ผู้​อพยพ​เป็น​เรื่อง​ปกติ. ผู้​ลี้​ภัย​จำนวน​มาก​ใน​ค่าย​แห่ง​นี้​อยู่​อย่าง​สิ้น​หวัง แต่​ผู้​ลี้​ภัย​บาง​คน​มี​ความ​หวัง.

ท่ามกลาง​ผู้​ลี้​ภัย​เหล่า​นี้ จำนวน​หนึ่ง​เป็น​พยาน​พระ​ยะโฮวา​ที่​ขะมักเขม้น​ทำ​งาน​ประกาศ​ข่าว​ดี​เรื่อง​ราชอาณาจักร. พวก​เขา​เป็น​ส่วน​หนึ่ง​ของ​ประชาคม​เล็ก ๆ ใน​ชุมชน​ลอดวาร์ ห่าง​จาก​ค่าย​ไป​ทาง​ใต้​ประมาณ 120 กิโลเมตร. ระยะ​ทาง​จาก​ประชาคม​ที่​ใกล้​ลอดวาร์​มาก​ที่​สุด​ก็​ยัง​ต้อง​ใช้​เวลา​ขับ​รถ​นาน​แปด​ชั่วโมง.

เนื่อง​จาก​เป็น​ไป​ไม่​ได้​ที่​ผู้​ลี้​ภัย​จะ​ออก​จาก​ค่าย​อย่าง​อิสระ หลาย​คน​จึง​ไม่​สามารถ​ไป​ร่วม​การ​ประชุม​ใหญ่​ที่​พยาน​พระ​ยะโฮวา​จัด​ขึ้น อาทิ การ​ประชุม​พิเศษ​วัน​เดียว, การ​ประชุม​หมวด, และ​การ​ประชุม​ภาค. ด้วย​เหตุ​นี้ จึง​ได้​จัด​เตรียม​การ​ประชุม​พิเศษ​หนึ่ง​วัน​ภาย​ใน​ค่าย.

เดิน​ทาง​ขึ้น​เหนือ

เพื่อ​สนับสนุน​การ​ประชุม พยาน​ฯ 15 คน​จาก​เมือง​เอลดอเรต ห่าง​จาก​ค่าย​ไป​ทาง​ทิศ​ใต้ 480 กิโลเมตร ได้​อาสา​เดิน​ทาง​อัน​แสน​ลำบาก​ขึ้น​เหนือ​ผ่าน​พื้น​ที่​แห้ง​แล้ง พร้อม​กับ​นัก​ศึกษา​พระ​คัมภีร์​ซึ่ง​เสนอ​ให้​ใช้​รถ​โดยสาร​เล็ก​ของ​เขา​พร้อม​คน​ขับ​รถ. ความ​ปรารถนา​แห่ง​หัวใจ​ของ​พวก​เขา​คือ​ให้​การ​สนับสนุน​และ​เป็น​กำลังใจ​แก่​พี่​น้อง​ของ​เขา.

การ​เดิน​ทาง​ได้​เริ่ม​ขึ้น​ตอน​เช้า​มืด ซึ่ง​อากาศ​หนาว​เย็น​ใน​แถบ​ภูเขา​ทาง​ตะวัน​ตก​ของ​เคนยา. รถ​แล่น​ไป​ตาม​ทาง​ขึ้น​ดอย​เป็น​หลุม​เป็น​บ่อ​ผ่าน​ไร่​นา​ป่า​ไม้​ก่อน​แล่น​ลง​สู่​ดง​ไม้​เตี้ย ๆ แถบ​ทะเล​ทราย​ที่​อากาศ​ร้อน​ระอุ. ฝูง​แพะ​ฝูง​อูฐ​และ​เล็ม​ผัก​หญ้า​บน​พื้น​ดิน​ที่​แห้ง​ผาก. ชาว​เผ่า​ที่​เดิน​ตาม​ทาง​สวม​ใส่​ผ้า​ตาม​ธรรมเนียม​ของ​เผ่า หลาย​คน​ถือ​กระบอง ธนู​และ​ลูก​ธนู. หลัง​การ​เดิน​ทาง​นาน 11 ชั่วโมง เหล่า​พยาน​ฯ ได้​มา​ถึง​ลอดวาร์ ชุมชน​ที่​มี​อากาศ​ร้อน​และ​เต็ม​ไป​ด้วย​ฝุ่น​ละออง มี​ประชากร​เกือบ 20,000 คน. ภาย​หลัง​การ​ต้อนรับ​ทักทาย​อย่าง​อบอุ่น​จาก​พยาน​ฯ เจ้าภาพ นัก​เดิน​ทาง​เหล่า​นี้​ก็​พักผ่อน​เอา​แรง​ไว้​สำหรับ​ทำ​กิจกรรม​ต่าง ๆ มาก​มาย​ใน​ช่วง​สุด​สัปดาห์.

เช้า​วัน​รุ่ง​ขึ้น พยาน​ฯ ทั้ง 15 คน​ไป​เที่ยว​ชม​บาง​สิ่ง​บาง​อย่าง​ที่​น่า​ดู. ทะเลสาบ​เทอร์คานา ทะเลสาบ​ใหญ่​ที่​สุด​ของ​เคนยา​เป็น​ที่​ที่​พวก​เขา​ไป​เป็น​อันดับ​แรก. รอบ​ทะเลสาบ​แห่ง​นี้​เป็น​แนว​ป่า​เตี้ย ๆ ยาว​หลาย​กิโลเมตร ที่​นี่​เป็น​แหล่ง​อาศัย​ของ​ฝูง​จระเข้​จำนวน​มาก​ที่​สุด​ของ​โลก. น้ำ​ที่​เป็น​ด่าง​เป็น​แหล่ง​ค้ำจุน​ชีวิต​ผู้​คน​จำนวน​ไม่​มาก​ที่​อาศัย​อยู่​ริม​ทะเลสาบ. ตก​เย็น ผู้​มา​เยี่ยม​ต่าง​ก็​ชื่นชม​ที่​ได้​ร่วม​ประชุม​ใน​โรง​เรียน​การ​รับใช้​ตาม​ระบอบ​ของ​พระเจ้า​และ​การ​ประชุม​การ​รับใช้​กับ​ประชาคม​ใน​ท้องถิ่น. พวก​เขา​มี​หอ​ประชุม​ราชอาณาจักร​ที่​สวย ก่อ​สร้าง​เมื่อ​ปี 2003 เป็น​หนึ่ง​ใน​โครงการ​ก่อ​สร้าง​โดย​พยาน​พระ​ยะโฮวา​สำหรับ​ประเทศ​ต่าง ๆ ที่​มี​ทุน​จำกัด.

การ​ประชุม​พิเศษ​วัน​เดียว

วัน​อาทิตย์​ถูก​กัน​ไว้​สำหรับ​การ​ประชุม​พิเศษ​วัน​เดียว. ประชาคม​ลอดวาร์​และ​พี่​น้อง​พยาน​ฯ 15 คน​ที่​ได้​มา​เยี่ยม​ได้​รับ​อนุญาต​เข้า​ไป​ใน​ค่าย​ได้​ตั้ง​แต่ 8:00 น. ดัง​นั้น เหล่า​พยาน​ฯ กระตือรือร้น​อยาก​จะ​เริ่ม​แต่​เช้า. รถ​แล่น​ไป​ตาม​ถนน​ที่​คดเคี้ยว​ผ่าน​พื้น​ที่​แห้ง​แล้ง​มุ่ง​ไป​ยัง​พรม​แดน​ซูดาน. ยอด​แหลม​ของ​เทือก​เขา​ปรากฏ​อยู่​เหนือ​ถนน. ภูมิ​ประเทศ​เอื้อ​เรา​ให้​มอง​เห็น​พื้น​ที่​โล่ง​กว้าง​แห่ง​หมู่​บ้าน​คาคูมา. ฝน​ได้​หยุด​ตก และ​ถนน​ดิน​ที่​จะ​ไป​ค่าย​มี​น้ำ​ท่วม​ขัง​เป็น​บาง​ช่วง. บ้าน​เรือน​ส่วน​ใหญ่​สร้าง​ด้วย​โคลน หลังคา​มุง​สังกะสี​หรือ​ผ้า​ใบ. กลุ่ม​ชาว​เอธิโอเปีย, โซมาลี, ซูดาน, และ​ชน​เผ่า​อื่น ๆ ต่าง​ก็​อยู่​ภาย​ใน​เขต​พื้น​ที่​ของ​ตน. นัก​เดิน​ทาง​ได้​รับ​การ​ต้อนรับ​ทักทาย​ด้วย​ความ​กระตือรือร้น​จาก​ผู้​ลี้​ภัย.

การ​ประชุม​ถูก​จัด​ขึ้น​ใน​ศูนย์​อบรม. ภาพ​วาด​ตาม​ผนัง​ห้อง​ของ​ศูนย์​แห่ง​นี้​บอก​เล่า​เรื่อง​ราว​ชีวิต​ที่​ทุกข์​ยาก​แสน​ลำเค็ญ​ของ​ผู้​ลี้​ภัย ทว่า​ท่าที​ของ​ผู้​คน​ภาย​ใน​ห้อง​ประชุม​ใน​วัน​นั้น​แสดง​ออก​ถึง​ความ​หวัง. ทุก​หัวเรื่อง​บรรยาย​เป็น​ภาษา​อังกฤษ​และ​ภาษา​สวาฮิลี. ผู้​บรรยาย​บาง​คน​คล่อง​สอง​ภาษา จึง​บรรยาย​สอง​ภาษา​ใน​เวลา​เดียว​กัน. บราเดอร์​คน​หนึ่ง​ที่​ลี้​ภัย​จาก​ซูดาน​บรรยาย​เปิด​ประชุม “การ​ตรวจ​สอบ​หัวใจ​โดย​นัย​ของ​เรา.” รายการ​ส่วน​อื่น ๆ นอก​นั้น​บรรยาย​โดย​ผู้​ปกครอง​ที่​มา​เยี่ยม.

ส่วน​ที่​เด่น​สำหรับ​การ​ประชุม​ใหญ่​ทุก​ครั้ง​ได้​แก่​การ​รับ​บัพติสมา. เมื่อ​จบ​คำ​บรรยาย​เรื่อง​บัพติสมา ดวง​ตา​ทุก​ดวง​เพ่ง​มอง​ไป​ที่​คน​คน​เดียว​ซึ่ง​พร้อม​จะ​รับ​บัพติสมา​ขณะ​ที่​เขา​ยืน​ขึ้น. ชิลเบิร์ต​กับ​พ่อ​ได้​ลี้​ภัย​จาก​ประเทศ​บ้าน​เกิด​ของ​เขา​ใน​ช่วง​ที่​เกิด​การ​ฆ่า​ล้าง​ชาติ​พันธุ์ ปี 1994. ที​แรก เขา​หวัง​จะ​ได้​ที่​พักพิง​อย่าง​ปลอด​ภัย​ใน​บุรุนดี แต่​ไม่​นาน​ก็​รู้​ว่า​ยัง​ไม่​พ้น​ภัย. ชิลเบิร์ต​จึง​หนี​ไป​ยัง​ซาอีร์ ต่อ​จาก​นั้น​ไป​แทนซาเนีย—บาง​ครั้ง​ซ่อน​ตัว​ใน​ป่า—และ​ใน​ที่​สุด​ไป​ถึง​เคนยา. หลาย​คน​น้ำตา​คลอ​เมื่อ​ผู้​บรรยาย​กล่าว​คำ​ต้อนรับ​เขา​ฐานะ​พี่​น้อง​ใน​ประชาคม. ขณะ​ที่​ยืน​ต่อ​หน้า​กลุ่ม​ชน​จำนวน​ไม่​มาก​คือ 95 คน​ที่​ร่วม​ประชุม​กัน เมื่อ​ผู้​บรรยาย​ขอ​ให้​ตอบ​คำ​ถาม​สอง​ข้อ ชิลเบิร์ต​ตอบ​ด้วย​ความ​มั่น​ใจ​ชัด​ถ้อย​ชัด​คำ​ว่า “นไดโย!”—คำ​สวาฮิลี แปล​ว่า “ใช่!” ชิลเบิร์ต​พร้อม​ด้วย​พี่​น้อง​ชาย​บาง​คน​ได้​ช่วย​กัน​ขุด​สระ​เล็ก​เอา​ไว้ ส่วน​ก้น​สระ​ปู​ด้วย​ผ้า​ใบ ซึ่ง​ก่อน​หน้า​นี้​เขา​ได้​ใช้​ดาด​หลังคา​ที่​พัก​อาศัย​ของ​เขา​เอง​ใน​ค่าย. ความ​กระตือรือร้น​ของ​เขา​ใน​การ​จะ​รับ​บัพติสมา​ปรากฏ​ให้​เห็น​ใน​เช้า​วัน​นั้น เขา​ได้​หิ้ว​น้ำ​ที​ละ​ถัง ถัง​แล้ว​ถัง​เล่า​มา​ใส่​ใน​สระ​จน​เต็ม มิ​หนำ​ซ้ำ​ทำ​คน​เดียว!

หนึ่ง​ใน​เรื่อง​เด่น ๆ ของ​ระเบียบ​วาระ​ภาค​บ่าย​คือ​การ​เล่า​ประสบการณ์​ของ​เหล่า​พยาน​ฯ ผู้​ลี้​ภัย​เกี่ยว​กับ​สภาพการณ์​ที่​ไม่​เหมือน​ใคร. พี่​น้อง​คน​หนึ่ง​เล่า​ว่า​เขา​เริ่ม​เรื่อง​อย่าง​ไร​กับ​ชาย​ผู้​หนึ่ง​ที่​กำลัง​พักผ่อน​ใต้​ต้น​ไม้.

“บอก​ผม​หน่อย ปลอด​ภัย​ตลอด​เวลา ไหม​ที่​จะ​นั่ง​ใต้​ต้น​ไม้​อย่าง​นี้?”

ชาย​ผู้​นั้น​ตอบ​ว่า “ปลอด​ภัย​สิ​ครับ” แล้ว​เขา​ก็​พูด​ต่อ “แต่​ตอน​กลางคืน​ไม่​ปลอด​ภัย​นะ.”

พี่​น้อง​คน​นั้น​จึง​อ่าน​จาก​มีคา 4:3, 4 ที่​ว่า “ต่าง​คน​ก็​จะ​นั่ง​อยู่​ใต้​ซุ้ม​เถา​องุ่น​และ​ใต้​ต้น​มะเดื่อ​เทศ​ของ​ตน; และ​จะ​ไม่​มี​อะไร​มา​ทำ​ให้​เขา​สะดุ้ง​กลัว.” แล้ว​ได้​อธิบาย​ว่า “เห็น​ไหม​ใน​โลก​ใหม่​ของ​พระเจ้า​จะ​ปลอด​ภัย​ตลอด เวลา.” ชาย​ผู้​นั้น​ตก​ลง​รับ​เอา​คู่มือ​ศึกษา​พระ​คัมภีร์.

ซิสเตอร์​คน​หนึ่ง​ซึ่ง​ได้​เดิน​ทาง​ไป​คาคูมา​เป็น​ทุกข์​โศก​เศร้า เนื่อง​จาก​สมาชิก​ครอบครัว​ที่​ใกล้​ชิด​ถึง​สาม​คน​ได้​เสีย​ชีวิต​เมื่อ​ไม่​นาน​มา​นี้. เธอ​ให้​ความ​เห็น​เกี่ยว​กับ​พวก​พี่​น้อง​ใน​ค่าย​ดัง​นี้: “ที่​นี่​มี​ความ​ทุกข์​ยาก​เดือดร้อน​มาก​เหลือ​เกิน กระนั้น พวก​เขา​มี​ความ​เชื่อ​เข้มแข็ง​เสมอ​มา. พวก​เขา​อาศัย​อยู่​ใน​สภาพ​ที่​มี​แต่​ทุกข์ แต่​พวก​เขา​รับใช้​พระ​ยะโฮวา​อย่าง​มี​ความ​สุข. พวก​เขา​มี​สันติ​สัมพันธ์​กับ​พระเจ้า. ฉัน​ได้​รับ​กำลังใจ​ที่​จะ​อยู่​อย่าง​สงบ​สุข​และ​รับใช้​พระ​ยะโฮวา​ต่อ ๆ ไป. ฉัน​ไม่​มี​เรื่อง​อัน​ใด​จะ​ต้อง​บ่น​คร่ำ​ครวญ​อีก​ต่อ​ไป!”

การ​ประชุม​พิเศษ​วัน​เดียว​ผ่าน​ไป​อย่าง​รวด​เร็ว. ใน​คำ​บรรยาย​สุด​ท้าย ผู้​บรรยาย​ได้​แจ้ง​ว่า​มี​ตัว​แทน​จาก​แปด​ประเทศ​อยู่ ณ ที่​ประชุม. พยาน​ฯ ชาย​ที่​ลี้​ภัย​คน​หนึ่ง​ตั้ง​ข้อ​สังเกต​ว่า การ​ประชุม​ครั้ง​นี้​เป็น​หลักฐาน​ยืน​ยัน​ความ​เป็น​เอกภาพ​และ​ความ​รัก​ท่ามกลาง​พยาน​พระ​ยะโฮวา​ใน​โลก​ที่​แบ่ง​แยก​นี้. ภราดรภาพ​ของ​พวก​เขา​เป็น​ภราดรภาพ​ฉัน​คริสเตียน​อย่าง​แท้​จริง.—โยฮัน 13:35.

[กรอบ/ภาพ​หน้า 25]

เด็ก​หลง​หาย​จาก​ซูดาน

ตั้ง​แต่​สงคราม​กลาง​เมือง​ใน​ซูดาน​เริ่ม​ขึ้น​ใน​ปี 1983 ประชาชน​ห้า​ล้าน​คน​กลาย​เป็น​คน​ไร้​ที่​อยู่. ใน​จำนวน​ดัง​กล่าว มี​เด็ก​ประมาณ 26,000 คน​ที่​พลัด​พราก​จาก​ครอบครัว. เด็ก​หลาย​พัน​คน​ใน​จำนวน​นี้​ได้​ลี้​ภัย​ไป​อยู่​ใน​ค่าย​ประเทศ​เอธิโอเปีย และ​อยู่​ใน​ค่าย​นั้น​ประมาณ​สาม​ปี. ครั้น​ถูก​บังคับ​ให้​ย้าย​อีก พวก​เขา​กลับ​ไป​ยัง​ภาค​เหนือ​ของ​เคนยา​โดย​เดิน​ทาง​ใน​ป่า​หนึ่ง​ปี​ผ่าน​ประเทศ​ซูดาน บาง​คน​ถูก​ทหาร​หรือ​ไม่​ก็​โจร​ทำ​ร้าย​หรือ​จี้​ปล้น, บาง​คน​ล้ม​ป่วย, และ​บาง​คน​ถูก​สัตว์​ป่า​กัด​กิน. เด็ก​ที่​รอด​ตาย​จาก​การ​เดิน​ทาง​อย่าง​ตรากตรำ​จึง​เหลือ​เพียง​ครึ่ง​หนึ่ง​เท่า​นั้น ใน​ที่​สุด​เด็ก​เหล่า​นี้​จึง​กลาย​มา​เป็น​ศูนย์​รวม​หรือ​แก่น​แห่ง​ค่าย​คาคูมา. เด็ก​เหล่า​นี้​เป็น​ที่​รู้​จัก​ของ​หน่วย​บรรเทา​ทุกข์​ว่า​เด็ก​หลง​หาย​จาก​ซูดาน.

ค่าย​คาคูมา​เวลา​นี้​เป็น​ที่​พักพิง​ของ​ผู้​ลี้​ภัย​หลาย​ชาติ​จาก​ประเทศ​ซูดาน, โซมาเลีย, เอธิโอเปีย, และ​ที่​อื่น ๆ. เมื่อ​ผู้​ลี้​ภัย​มา​ถึง เขา​ได้​รับ​วัสดุ​ที่​จำเป็น​เพื่อ​ใช้​สร้าง​ที่​พัก และ​ได้​ผ้า​ใบ​ใช้​ดาด​เป็น​หลังคา. เดือน​ละ​สอง​ครั้ง​ผู้​ลี้​ภัย​แต่​ละ​คน​ได้​รับ​แจก​แป้ง​ประมาณ 6 กิโลกรัม, ถั่ว 1 กิโลกรัม, น้ำมัน​และ​เกลือ​บ้าง. ผู้​ลี้​ภัย​หลาย​คน​เอา​ส่วน​แบ่ง​ของ​ตัว​เอง​ไป​แลก​สิ่ง​ของ​จำเป็น​อื่น ๆ.

ใน​จำนวน​เด็ก​หลง​หาย​เหล่า​นี้​มี​บาง​คน​ได้​กลับ​ไป​อยู่​ร่วม​กับ​ครอบครัว​ของ​ตน หรือ​ไป​ตั้ง​รกราก​อยู่​ใน​ประเทศ​อื่น. แต่​ดัง​รายงาน​ของ​สำนัก​จัด​ตั้ง​ถิ่น​ฐาน​แก่​ผู้​ลี้​ภัย​แจ้ง​ว่า “หลาย​พัน​คน​ยัง​คง​อยู่​ใน​ค่าย​ผู้​ลี้​ภัย​คาคูมา​ซึ่ง​เต็ม​ไป​ด้วย​ฝุ่น​ละออง​และ​มี​แมลงวัน​ชุกชุม พวก​เขา​ต้อง​ดิ้นรน​สุด​ชีวิต​เสาะ​หา​อาหาร​และ​แสวง​หา​ความ​รู้.”

[ที่​มา​ของ​ภาพ]

Courtesy Refugees International

[แผนที่​หน้า 23]

(ราย​ละเอียด​ดู​จาก​วารสาร)

เคนยา

ค่าย​คาคูมา

ทะเลสาบ​เทอร์คานา

ลอดวาร์

เอลดอเรต

ไนโรบี

[ภาพ​หน้า 23]

สภาพ​ความ​เป็น​อยู่​ใน​ค่าย​ซึ่ง​ยาก​จะ​รับมือ​ได้

[ภาพ​หน้า 23]

น้ำ​ที่​จ่าย​ให้​ตาม​อัตรา​กำหนด​ใน​ค่าย​คาคูมา

[ภาพ​หน้า 23]

พยาน​ฯ ชาว​เคนยา​เดิน​ทาง​ขึ้น​เหนือ​ด้วย​ความ​ยาก​ลำบาก​เพื่อ​ให้​การ​หนุน​ใจ​พี่​น้อง

[ภาพ​หน้า 24]

มิชชันนารี​เป็น​ล่าม​แปล​คำ​บรรยาย​ของ​ไพโอเนียร์​พิเศษ​ใน​ท้องถิ่น

[ภาพ​หน้า 24]

สระ​บัพติสมา

[ที่​มา​ของ​ภาพ​หน้า 23]

Rationing water and Kakuma Refugee Camp: Courtesy Refugees International