ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

ความเชื่อกระตุ้นคุณให้ลงมือปฏิบัติไหม?

ความเชื่อกระตุ้นคุณให้ลงมือปฏิบัติไหม?

ความ​เชื่อ​กระตุ้น​คุณ​ให้​ลง​มือ​ปฏิบัติ​ไหม?

นาย​ร้อย​มั่น​ใจ​ว่า​พระ​เยซู​สามารถ​รักษา​ทาส​ของ​เขา​ที่​เป็น​ง่อย​ได้. แต่​นาย​ร้อย​ไม่​กล้า​เชิญ​พระ​เยซู​ไป​ที่​บ้าน บาง​ที​เขา​อาจ​รู้สึก​ไม่​คู่​ควร​หรือ​เนื่อง​จาก​เป็น​คน​ต่าง​ชาติ. ดัง​นั้น เขา​จึง​ส่ง​ผู้​เฒ่า​ผู้​แก่​ชาว​ยิว​บาง​คน​ไป​หา​พระ​เยซู​และ​ขอร้อง​ว่า “ข้าพเจ้า​เป็น​คน​ไม่​สม​ควร​ที่​พระองค์​จะ​เสด็จ​เข้า​ใต้​ชายคา​ของ​ข้าพเจ้า แต่​ขอ​พระองค์​ตรัส​เพียง​คำ​เดียว, บ่าว​ของ​ข้าพเจ้า​ก็​จะ​หาย​โรค.” เนื่อง​จาก​สังเกต​เห็น​ความ​เชื่อ​ของ​นาย​ร้อย​คน​นี้ ซึ่ง​มั่น​ใจ​ว่า​พระองค์​สามารถ​รักษา​โรค​ได้​แม้​จะ​ไม่​ได้​อยู่​ใกล้​คน​ป่วย​ก็​ตาม พระ​เยซู​ตรัส​กับ​ฝูง​ชน​ที่​ติด​ตาม​พระองค์​ว่า “เรา​บอก​ท่าน​ทั้ง​หลาย​ตาม​จริง​ว่า, เรา​หา​ได้​พบ​ความ​เชื่อ​มาก​เช่น​นี้​ใน​พวก​ยิศราเอล​ไม่.”—มัดธาย 8:5-10; ลูกา 7:1-10.

ประสบการณ์​นี้​ช่วย​เรา​ให้​เห็น​ข้อ​เท็จ​จริง​สำคัญ​เกี่ยว​กับ​ความ​เชื่อ. ความ​เชื่อ​แท้​ไม่​ได้​ทำ​ให้​คน​เรา​อยู่​เฉย ๆ แต่​เป็น​ความ​เชื่อ​ที่​กระตุ้น​ให้​ลง​มือ​ปฏิบัติ. ยาโกโบ​ผู้​เขียน​คัมภีร์​ไบเบิล​กล่าว​ว่า “ความ​เชื่อ . . . ถ้า​ไม่​มี​การ​กระทำ ก็​ตาย​อยู่​ใน​ตัว​แล้ว.” (ยาโกโบ 2:17, ล.ม.) เรา​จะ​เข้าใจ​ข้อ​เท็จ​จริง​นี้​ดี​ขึ้น​เมื่อ​เรา​พิจารณา​ตัว​อย่าง​จริง​ที่​ว่า จะ​เกิด​อะไร​ขึ้น​ได้​ถ้า​ไม่​ปฏิบัติ​ตาม​ความ​เชื่อ.

ใน​ปี 1513 ก่อน​สากล​ศักราช ชาติ​อิสราเอล​มี​สัมพันธภาพ​กับ​พระ​ยะโฮวา​พระเจ้า​โดย​ทาง​สัญญา​ไมตรี​แห่ง​พระ​บัญญัติ. โมเซ​ใน​ฐานะ​ผู้​กลาง​แห่ง​สัญญา​ไมตรี​ถ่ายทอด​พระ​คำ​ของ​พระเจ้า​แก่​ชาว​อิสราเอล​ว่า “ถ้า​เจ้า​ทั้ง​หลาย​จะ​ฟัง​ถ้อย​คำ​ของ​เรา​จริง ๆ, และ​รักษา​คำ​สัญญา​ไมตรี​ของ​เรา​ไว้ เจ้า​จะ​เป็น . . . ชน​ชาติ​อัน​บริสุทธิ์​สำหรับ​เรา.” (เอ็กโซโด 19:3-6) ใช่​แล้ว ความ​บริสุทธิ์​แห่ง​ชาติ​อิสราเอล​ขึ้น​อยู่​กับ​การ​เชื่อ​ฟัง.

หลาย​ศตวรรษ​ต่อ​มา ชาว​ยิว​เริ่ม​ให้​ความ​สำคัญ​กับ​การ​ศึกษา​ค้นคว้า​พระ​บัญญัติ​มาก​กว่า​การ​นำ​เอา​หลักการ​นั้น​ไป​ใช้. อัลเฟรด เอเดอร์ไชม์​เขียน​ไว้​ใน​หนังสือ​ของ​เขา​ที่​ชื่อ​ชีวิต​และ​ช่วง​เวลา​ต่าง ๆ ของ​พระ​เยซู​พระ​มาซีฮา (ภาษา​อังกฤษ) ว่า “[พวก​รับบี] ซึ่ง​ก็​คือ ‘พวก​หัวหน้า​ศาสนา’ ตั้ง​กฎ​มา​นาน​แล้ว​ว่า​การ​ศึกษา​ค้นคว้า​สำคัญ​กว่า​การ​ประพฤติ.”

จริง​อยู่ ชาว​อิสราเอล​โบราณ​ได้​รับ​คำ​สั่ง​ให้​ศึกษา​ข้อ​เรียก​ร้อง​ของ​พระเจ้า​อย่าง​ขยัน​ขันแข็ง. พระเจ้า​ตรัส​ว่า “ถ้อย​คำ​เหล่า​นี้, ซึ่ง​เรา​สั่ง​ไว้​แก่​เจ้า​ทั้ง​หลาย​ใน​วัน​นี้, ก็​ให้​ตั้ง​อยู่​ใน​ใจ​ของ​เจ้า​ทั้ง​หลาย; และ​จง​อุตส่าห์​สั่ง​สอน​บุตร​ทั้ง​หลาย​ของ​เจ้า​ด้วย​ถ้อย​คำ​เหล่า​นี้, และ​เมื่อ​เจ้า​ทั้ง​หลาย​จะ​นั่ง​อยู่​ใน​เรือน หรือ​เดิน​ใน​หน​ทาง, หรือ​นอน​ลง, และ​ตื่น​ขึ้น.” (พระ​บัญญัติ 6:6, 7) แต่​พระ​ยะโฮวา​ทรง​มุ่ง​หมาย​จะ​ให้​การ​ศึกษา​พระ​บัญญัติ​สำคัญ​กว่า​การ​ประพฤติ​ตาม​พระ​บัญญัติ​หรือ​การ​ได้​รับ​การ​ชี้​นำ​โดย​พระ​บัญญัติ​นั้น​ไหม? ให้​เรา​มา​ดู​กัน.

การ​ศึกษา​แบบ​ผู้​คง​แก่​เรียน

การ​เน้น​ถึง​ความ​สำคัญ​ของ​การ​ศึกษา​พระ​บัญญัติ​อาจ​เป็น​เรื่อง​ที่​มี​เหตุ​ผล​สำหรับ​ชาว​อิสราเอล เนื่อง​จาก​ชาว​ยิว​มี​ความ​เชื่อ​ที่​สืบ​ต่อ​กัน​มา​ว่า พระเจ้า​เอง​ก็​ทรง​ใช้​เวลา​วัน​ละ​สาม​ชั่วโมง​ศึกษา​พระ​บัญญัติ. คุณ​คง​เข้าใจ​แล้ว​ว่า เหตุ​ใด​ชาว​ยิว​บาง​คน​จึง​หา​เหตุ​ผล​ว่า ‘ถ้า​พระเจ้า​ศึกษา​พระ​บัญญัติ​อยู่​เป็น​ประจำ ไม่​ควร​หรือ​ที่​สิ่ง​ทรง​สร้าง​ของ​พระองค์​ที่​อยู่​บน​โลก​จะ​ทำ​เช่น​นั้น​อย่าง​เต็ม​ที่​ด้วย?’

พอ​ถึง​ศตวรรษ​แรก​สากล​ศักราช การ​หมกมุ่น​อยู่​กับ​การ​วิเคราะห์​และ​การ​ตี​ความ​พระ​บัญญัติ​ทำ​ให้​ความ​คิด​ของ​พวก​รับบี​บิดเบือน​ไป​อย่าง​สิ้นเชิง. พระ​เยซู​ตรัส​ว่า “พวก​อาลักษณ์​กับ​พวก​ฟาริซาย . . . เขา​เป็น​แต่​ผู้​สั่ง​สอน, แต่​เขา​เอง​หา​ทำ​ตาม​ไม่. ด้วย​เขา​ดี​แต่​ผูก​มัด​ของ​หนัก​ซึ่ง​แบก​ยาก​วาง​บน​บ่า​มนุษย์ ส่วน​เขา​เอง​แม้​แต่​นิ้ว​เดียว​ก็​ไม่​จับ​ต้อง​เลย.” (มัดธาย 23:2-4) พวก​หัวหน้า​ศาสนา​เพิ่ม​ภาระ​หนัก​ให้​ประชาชน​โดย​วาง​กฎ​และ​ข้อ​กำหนด​มาก​มาย​นับ​ไม่​ถ้วน แต่​พวก​เขา​เอง​กลับ​ใช้​เล่ห์​เหลี่ยม​โดย​อาศัย​ช่อง​โหว่​เพื่อ​ไม่​ต้อง​ทำ​ตาม​กฎ​ข้อ​เดียว​กัน​นั้น. ยิ่ง​กว่า​นั้น คน​ที่​ตั้งใจ​ศึกษา​ค้นคว้า​อย่าง​ลึกซึ้ง​ได้ ‘ละ​เว้น​ข้อ​สำคัญ​แห่ง​พระ​บัญญัติ​คือ​ความ​ชอบธรรม​ความ​เมตตา​ความ​เชื่อ.’—มัดธาย 23:16-24.

น่า​ขัน​จริง ๆ ที่​พวก​อาลักษณ์​และ​ฟาริซาย​พยายาม​ตั้ง​ความ​ชอบธรรม​ของ​ตน​เอง​ขึ้น แต่​กลับ​ฝ่าฝืน​พระ​บัญญัติ​ที่​พวก​เขา​อ้าง​ว่า​สนับสนุน! การ​โต้​เถียง​เรื่อง​ถ้อย​คำ​และ​ราย​ละเอียด​ปลีกย่อย​อื่น ๆ เกี่ยว​กับ​พระ​บัญญัติ​ตลอด​หลาย​ศตวรรษ​ไม่​ได้​ทำ​ให้​พวก​เขา​เข้า​ใกล้​พระเจ้า​เลย. ผล​ของ​การ​ทำ​เช่น​นี้​คล้าย​กัน​กับ​การ​หลง​ไป​อัน​มี​สาเหตุ​มา​จาก​สิ่ง​ที่​อัครสาวก​เปาโล​เรียก​ว่า “การ​พูด​ที่​ไร้​สาระ,” “ข้อ​ขัด​แย้ง,” และ “ความ​รู้” เท็จ. (1 ติโมเธียว 6:20, 21, ล.ม.) อย่าง​ไร​ก็​ตาม ปัญหา​สำคัญ​อีก​อย่าง​หนึ่ง​คือ ผล​กระทบ​ของ​การ​ศึกษา​ค้นคว้า​อย่าง​ไม่​จบ​ไม่​สิ้น. สิ่ง​นี้​ไม่​ได้​ทำ​ให้​พวก​เขา​มี​ความ​เชื่อ​ที่​กระตุ้น​ให้​เกิด​การ​กระทำ​ที่​ถูก​ต้อง.

มี​ความ​รู้​มาก​มาย​แต่​หัวใจ​ไม่​มี​ความ​เชื่อ

ความ​คิด​ของ​พวก​หัวหน้า​ศาสนา​ชาว​ยิว​ช่าง​แตกต่าง​กัน​เสีย​จริง ๆ กับ​พระ​ดำริ​ของ​พระเจ้า! ไม่​นาน​ก่อน​ที่​ชาว​อิสราเอล​จะ​เข้า​สู่​แผ่นดิน​ตาม​คำ​สัญญา โมเซ​บอก​พวก​เขา​ว่า “เจ้า​ทั้ง​หลาย​จง​สนใจ​ใน​ถ้อย​คำ​ทั้ง​ปวง​เหล่า​นี้​ที่​เรา​ได้​สำแดง​แก่​เจ้า​ทั้ง​หลาย​ใน​วัน​นี้, เจ้า​ทั้ง​หลาย​จง​สั่ง​ให้​บุตร​หลาน​ของ​เจ้า, เชื่อ​ฟัง​ทำ​ตาม​บรรดา​ถ้อย​คำ​พระ​บัญญัติ​เหล่า​นี้.” (พระ​บัญญัติ 32:46) เห็น​ได้​ชัด​ว่า ประชาชน​ของ​พระเจ้า​ไม่​ควร​เป็น​เพียง​นัก​ศึกษา​ค้นคว้า​พระ​บัญญัติ​ที่​เอา​จริง​เอา​จัง แต่​พวก​เขา​ต้อง​ประพฤติ​ตาม​พระ​บัญญัติ​ด้วย.

อย่าง​ไร​ก็​ตาม ชาว​อิสราเอล​ไม่​ซื่อ​สัตย์​ต่อ​พระ​ยะโฮวา​ครั้ง​แล้ว​ครั้ง​เล่า. แทน​ที่​จะ​ทำ​การ​งาน​ที่​ดี แต่​ชาว​อิสราเอล​กลับ “มิ​ได้​เชื่อ​พระองค์, มิ​ได้​ฟัง​คำ​ตรัส​ของ​พระองค์.” (พระ​บัญญัติ 9:23; วินิจฉัย 2:15, 16; 2 โครนิกา 24:18, 19; ยิระมะยา 25:4-7) ใน​ที่​สุด ชาว​ยิว​ก็​แสดง​ความ​ไม่​ซื่อ​สัตย์​อย่าง​ร้ายแรง​ที่​สุด​โดย​การ​ปฏิเสธ​พระ​เยซู​ฐานะ​พระ​มาซีฮา. (โยฮัน 19:14-16) ผล​ก็​คือ พระ​ยะโฮวา​พระเจ้า​ปฏิเสธ​ชาติ​อิสราเอล​และ​หัน​ไป​เอา​ใจ​ใส่​ชาติ​อื่น.—กิจการ 13:46.

แน่นอน เรา​ต้อง​ระวัง​ตัว​ไม่​ตก​เข้า​สู่​หลุมพราง​แบบ​เดียว​กัน นั่น​คือ คิด​ว่า​เรา​สามารถ​นมัสการ​พระเจ้า​ได้​ด้วย​ความ​รู้​ที่​มี​อยู่​มาก​มาย​แต่​หัวใจ​ไม่​มี​ความ​เชื่อ. หรือ​พูด​อีก​อย่าง​หนึ่ง​ก็​คือ การ​ที่​เรา​ศึกษา​คัมภีร์​ไบเบิล​นั้น​ต้อง​ไม่​ใช่​เป็น​เพียง​การ​สั่ง​สม​ความ​รู้​เท่า​นั้น. ความ​รู้​ถ่องแท้​ต้อง​เข้า​ถึง​หัวใจ​ของ​เรา​เพื่อ​จะ​ก่อ​ผล​อัน​เป็น​ประโยชน์​ต่อ​ชีวิต. จะ​มี​ประโยชน์​อะไร​ถ้า​คน​เรา​เรียน​การ​ปลูก​พืช​ผัก​แต่​ไม่​เคย​ปลูก​อะไร​เลย? จริง​อยู่ เรา​อาจ​มี​ความ​รู้​อยู่​บ้าง​เรื่อง​การ​ปลูก​ต้น​ไม้​และ​ดู​แล​รักษา แต่​ถ้า​ไม่​ลง​มือ​ทำ​เรา​ก็​จะ​ไม่​ได้​อะไร​เลย! ใน​ทำนอง​เดียว​กัน คน​ที่​เรียน​รู้​ข้อ​เรียก​ร้อง​ของ​พระเจ้า​โดย​การ​ศึกษา​คัมภีร์​ไบเบิล​ต้อง​ทำ​ให้​เมล็ด​แห่ง​ความ​จริง​นั้น​เข้า​ถึง​หัวใจ​ของ​เขา​เพื่อ​ที่​เมล็ด​นั้น​จะ​งอก​ขึ้น​และ​กระตุ้น​ให้​เกิด​การ​ประพฤติ.—มัดธาย 13:3-9, 19-23.

“จง​เป็น​คน​ประพฤติ​ตาม​คำ​นั้น”

อัครสาวก​เปาโล​กล่าว​ว่า “ความ​เชื่อ​ได้​เกิด​ขึ้น​ก็​เพราะ​ได้​ฟัง.” (โรม 10:17) การ​ที่​เรา​ฟัง​พระ​คำ​ของ​พระเจ้า​จน​กระทั่ง​แสดง​ความ​เชื่อ​ใน​พระ​เยซู​คริสต์​พระ​บุตร​ของ​พระองค์ ทำ​ให้​เรา​มี​ความ​คาด​หวัง​เรื่อง​ชีวิต​นิรันดร์. ถูก​แล้ว มี​บาง​สิ่ง​ที่​เรา​ต้อง​ทำ ไม่​ใช่​เพียง​แต่​พูด​ว่า ‘ฉัน​เชื่อ​ใน​พระเจ้า​และ​พระ​คริสต์.’

พระ​เยซู​กระตุ้น​เหล่า​สาวก​ของ​พระองค์​ให้​มี​ความ​เชื่อ​แบบ​ที่​กระตุ้น​ให้​ลง​มือ​ปฏิบัติ​โดย​กล่าว​ว่า “พระ​บิดา​ของ​เรา​ได้​รับ​เกียรติยศ​เพราะ​สิ่ง​นี้, คือ​เมื่อ​ท่าน​เกิด​ผล​มาก, ท่าน​ทั้ง​หลาย​จึง​เป็น​สาวก​ของ​เรา.” (โยฮัน 15:8) ต่อ​มา ยาโกโบ​น้อง​ชาย​ร่วม​มารดา​ของ​พระ​เยซู​เขียน​ว่า “จง​เป็น​คน​ประพฤติ​ตาม​คำ​นั้น, ไม่​ใช่​เป็น​แต่​ผู้​ฟัง​เท่า​นั้น.” (ยาโกโบ 1:22) ถ้า​อย่าง​นั้น เรา​จะ​รู้​ได้​อย่าง​ไร​ว่า​ควร​ประพฤติ​เช่น​ไร? พระ​เยซู​ชี้​ให้​เห็น​โดย​ทาง​คำ​สอน​และ​ตัว​อย่าง​ของ​พระองค์​ว่า​เรา​ต้อง​ทำ​อะไร​เพื่อ​ทำ​ให้​พระเจ้า​พอ​พระทัย.

ขณะ​อยู่​บน​แผ่นดิน​โลก พระ​เยซู​ทำ​งาน​หนัก​เพื่อ​ส่ง​เสริม​ผล​ประโยชน์​แห่ง​ราชอาณาจักร​และ​เพื่อ​ถวาย​พระ​เกียรติ​แด่​พระ​นาม​ของ​พระเจ้า. (โยฮัน 17:4-8) ใน​วิธี​ใด? หลาย​คน​อาจ​นึก​ถึง​การ​อัศจรรย์​ที่​พระ​เยซู​ทำ​เพื่อ​รักษา​คน​ป่วย​และ​คน​พิการ. แต่​กิตติคุณ​ของ​มัดธาย​บันทึก​อย่าง​ชัดเจน​ถึง​สิ่ง​สำคัญ​ที่​พระองค์​ทำ​ดัง​นี้: “พระ​เยซู​จึง​เสด็จ​ดำเนิน​ไป​รอบ​บ้าน​รอบ​เมือง​ทรง​สั่ง​สอน​ใน​ธรรมศาลา​ของ​เขา, ประกาศ​กิตติคุณ​แห่ง​แผ่นดิน​ของ​พระเจ้า.” ที่​น่า​สังเกต​ก็​คือ พระ​เยซู​ไม่​ได้​จำกัด​งาน​รับใช้​ของ​พระองค์​ไว้​แค่​การ​พูด​คุย​แบบ​ไม่​เป็น​ทาง​การ​กับ​มิตร​สหาย​และ​คน​สนิท​เพียง​ไม่​กี่​คน​หรือ​แค่​กับ​เพื่อน​บ้าน​เท่า​นั้น. พระองค์​พยายาม​อย่าง​แข็งขัน​โดย​ใช้​ทุก​วิธี​ที่​จะ​ประกาศ​กับ​ผู้​คน “ทั่ว​มณฑล​ฆาลิลาย.”—มัดธาย 4:23, 24; 9:35.

พระ​เยซู​แนะ​นำ​เหล่า​ผู้​ติด​ตาม​พระองค์​ให้​ทำ​คน​เป็น​สาวก​เช่น​กัน. ที่​จริง พระองค์​วาง​แบบ​อย่าง​อัน​ยอด​เยี่ยม​ให้​พวก​เขา​ทำ​ตาม. (1 เปโตร 2:21) พระองค์​ตรัส​กับ​สาวก​ที่​ซื่อ​สัตย์​ของ​พระองค์​ว่า “เหตุ​ฉะนั้น​ท่าน​ทั้ง​หลาย​จง​ออก​ไป​สั่ง​สอน​ชน​ทุก​ประเทศ​ให้​เป็น​สาวก, ให้​รับ​บัพติสมา​ใน​นาม​แห่ง​พระ​บิดา​และ​พระ​บุตร​และ​พระ​วิญญาณ​บริสุทธิ์ สอน​เขา​ให้​ถือ​รักษา​สิ่ง​สารพัตร​ซึ่ง​เรา​ได้​สั่ง​พวก​ท่าน​ไว้.”—มัดธาย 28:19, 20.

ต้อง​ยอม​รับ​ว่า​การ​ประกาศ​เป็น​เรื่อง​ที่​ท้าทาย​จริง ๆ. พระ​เยซู​ตรัส​ว่า “นี่​แน่ะ, เรา​ใช้​ท่าน​ทั้ง​หลาย​ไป​ดุจ​ลูก​แกะ​อยู่​ท่ามกลาง​ฝูง​สุนัข​ป่า.” (ลูกา 10:3) เมื่อ​เรา​เผชิญ​การ​ต่อ​ต้าน แนว​โน้ม​ตาม​ธรรมชาติ​ของ​คน​เรา​ก็​คือ​ถอย​กลับ​เพื่อ​จะ​หลีก​เลี่ยง​ความ​เดือดร้อน​หรือ​ความ​กังวล​โดย​ไม่​จำเป็น. นั่น​เป็น​สิ่ง​ที่​เกิด​ขึ้น​ใน​คืน​วัน​ที่​พระ​เยซู​ถูก​จับ. พวก​อัครสาวก​หนี​ไป​เพราะ​กลัว​มาก. คืน​นั้น เปโตร​ปฏิเสธ​ว่า​ไม่​รู้​จัก​พระ​เยซู​ถึง​สาม​ครั้ง.—มัดธาย 26:56, 69-75.

นอก​จาก​นี้ คุณ​อาจ​แปลก​ใจ​ที่​รู้​ว่า​การ​ประกาศ​ข่าว​ดี​ไม่​ใช่​เรื่อง​ง่าย​สำหรับ​อัครสาวก​เปาโล. ท่าน​เขียน​ถึง​ประชาคม​ใน​เมือง​เทสซาโลนิเก​ว่า “เรา​ได้​รวบ​รวม​ความ​กล้า​โดย​พึ่ง​ใน​พระเจ้า​ของ​เรา​เพื่อ​จะ​บอก​ข่าว​ดี​ของ​พระเจ้า​แก่​ท่าน​ทั้ง​หลาย​ด้วย​ความ​บากบั่น​เป็น​อัน​มาก.”—1 เธซะโลนิเก 2:1, 2, ล.ม.

เปาโล​และ​เพื่อน​อัครสาวก​สามารถ​เอา​ชนะ​ความ​กลัว​ใด ๆ ที่​จะ​พูด​คุย​กับ​คน​อื่น​เรื่อง​ราชอาณาจักร​ของ​พระเจ้า และ​คุณ​ก็​ทำ​ได้​เช่น​กัน. โดย​วิธี​ใด? ขั้น​ตอน​สำคัญ​ที่​สุด​คือ​การ​วางใจ​ใน​พระ​ยะโฮวา. หาก​เรา​มี​ความ​เชื่อ​อย่าง​เต็ม​เปี่ยม​ใน​พระ​ยะโฮวา ความ​เชื่อ​นั้น​จะ​กระตุ้น​เรา​ให้​ลง​มือ​ปฏิบัติ และ​เรา​จะ​ทำ​ตาม​พระทัย​ประสงค์​ของ​พระเจ้า​ได้.—กิจการ 4:17-20; 5:18, 27-29.

การ​งาน​ของ​คุณ​จะ​ได้​ผล​ตอบ​แทน

พระ​ยะโฮวา​ทรง​ทราบ​ดี​ว่า​เรา​พยายาม​สุด​ความ​สามารถ​เพื่อ​จะ​รับใช้​พระองค์. ตัว​อย่าง​เช่น พระองค์​รู้​ว่า​เรา​เจ็บ​ป่วย​หรือ​เหนื่อย​ล้า. พระองค์​ทราบ​ว่า​เรา​ไม่​มั่น​ใจ​ใน​ตัว​เอง. เมื่อ​ปัญหา​ทาง​การ​เงิน​ทำ​ให้​เรา​กังวล​ใจ หรือ​ปัญหา​เรื่อง​สุขภาพ​หรือ​จิตใจ​ทำ​ให้​เรา​ท้อ พระ​ยะโฮวา​ทรง​ตระหนัก​ถึง​สภาพการณ์​ของ​เรา​เสมอ.—2 โครนิกา 16:9; 1 เปโตร 3:12.

พระ​ยะโฮวา​คง​มี​พระทัย​ยินดี​มาก​จริง ๆ ถ้า​ความ​เชื่อ​ของ​เรา​กระตุ้น​ให้​ลง​มือ​ปฏิบัติ ถึง​แม้​เรา​เป็น​มนุษย์​ไม่​สมบูรณ์​และ​ประสบ​ความ​ยาก​ลำบาก​ก็​ตาม! ความ​รักใคร่​ของ​พระ​ยะโฮวา​ต่อ​ผู้​รับใช้​ที่​ซื่อ​สัตย์​ของ​พระองค์​ไม่​ใช่​เป็น​เพียง​ความ​รู้สึก​ผิว​เผิน แต่​พระองค์​แสดง​ความ​รักใคร่​โดย​การ​ประทาน​คำ​สัญญา​แก่​เรา. ภาย​ใต้​การ​ดล​ใจ​จาก​พระเจ้า อัครสาวก​เปาโล​เขียน​ว่า “พระเจ้า​ไม่​ใช่​อธรรม​ที่​จะ​ทรง​ลืม​การ​งาน​ของ​ท่าน​และ​ความ​รัก​ที่​ท่าน​ได้​สำแดง​ต่อ​พระ​นาม​ของ​พระองค์, ใน​การ​ที่​ท่าน​ได้​ปรนนิบัติ​สิทธชน​นั้น, และ​ยัง​กำลัง​ปรนนิบัติ​อยู่.”—เฮ็บราย 6:10.

คุณ​สามารถ​วางใจ​คำ​พรรณนา​ของ​คัมภีร์​ไบเบิล​เกี่ยว​กับ​พระ​ยะโฮวา​ได้​ที่​ว่า พระองค์​เป็น “พระเจ้า​แห่ง​ความ​ซื่อ​สัตย์ ซึ่ง​กับ​พระองค์​นั้น​ไม่​มี​ความ​อยุติธรรม” และ​เป็น “ผู้​ประทาน​บำเหน็จ​ให้​แก่​คน​เหล่า​นั้น​ที่​แสวง​หา​พระองค์​อย่าง​จริงจัง.” (พระ​บัญญัติ 32:4, ล.ม.; เฮ็บราย 11:6, ล.ม.) เพื่อ​เป็น​ตัว​อย่าง สตรี​คน​หนึ่ง​ใน​แคลิฟอร์เนีย สหรัฐ​อเมริกา​เล่า​ว่า “พ่อ​ของ​ดิฉัน​เป็น​ผู้​รับใช้​เต็ม​เวลา​สิบ​ปี​ก่อน​ที่​ท่าน​จะ​มี​ครอบครัว. ดิฉัน​ชื่น​ชอบ​ที่​ท่าน​เล่า​หลาย​เรื่อง​ให้​ฟัง​ที่​ว่า พระ​ยะโฮวา​ค้ำจุน​ท่าน​อย่าง​ไร​ใน​งาน​รับใช้. หลาย​ครั้ง​ที่​ท่าน​ใช้​เงิน​จำนวน​สุด​ท้าย​ที่​มี​เพื่อ​เติม​น้ำมัน​ไป​ประกาศ. เมื่อ​กลับ​จาก​งาน​รับใช้​ก็​มัก​จะ​มี​คน​นำ​อาหาร​มา​ไว้​ให้​ที่​ประตู​บ้าน​โดย​ไม่​ได้​คาด​หมาย.”

นอก​จาก​ความ​ช่วยเหลือ​ทาง​ด้าน​วัตถุ​แล้ว “พระ​บิดา​แห่ง​ความ​เมตตา​อัน​อ่อน​ละมุน​และ​พระเจ้า​แห่ง​การ​ชู​ใจ​ทุก​อย่าง” ประทาน​การ​ค้ำจุน​ทาง​จิตใจ​และ​ฝ่าย​วิญญาณ​แก่​เรา​ด้วย. (2 โกรินโธ 1:3, ล.ม.) พยาน​ฯ คน​หนึ่ง​ที่​เคย​อด​ทน​ความ​ยาก​ลำบาก​ตลอด​หลาย​ปี​กล่าว​ว่า “การ​วางใจ​พระ​ยะโฮวา​ทำ​ให้​คุณ​รู้สึก​อุ่น​ใจ. นั่น​ทำ​ให้​คุณ​มี​โอกาส​วางใจ​ใน​พระองค์​และ​คอย​ดู​ว่า​พระองค์​จะ​ช่วย​คุณ​อย่าง​ไร.” คุณ​สามารถ​อธิษฐาน​ด้วย​ความ​ถ่อม​ใจ​ถึง “พระองค์​ผู้​สดับ​คำ​อธิษฐาน” โดย​แน่​ใจ​ได้​ว่า​พระองค์​จะ​ใฝ่​พระทัย​เรื่อง​ที่​คุณ​กังวล.—บทเพลง​สรรเสริญ 65:2.

การ​เป็น​คน​งาน​เก็บ​เกี่ยว​ทาง​ฝ่าย​วิญญาณ​ทำ​ให้​เรา​ได้​รับ​พระ​พร​และ​ผล​ตอบ​แทน​หลาย​ประการ. (มัดธาย 9:37, 38) การ​เข้า​ส่วน​ใน​งาน​ประกาศ​ทำ​ให้​หลาย​คน​มี​สุขภาพ​ดี และ​อาจ​ทำ​ให้​คุณ​มี​สุขภาพ​ดี​ด้วย. แต่​ที่​สำคัญ​ยิ่ง​กว่า​นั้น การ​ให้​คำ​พยาน​กับ​คน​อื่น ๆ ช่วย​เรา​ให้​เสริม​สร้าง​สัมพันธภาพ​ที่​ดี​กับ​พระเจ้า.—ยาโกโบ 2:23.

จง​ทำ​สิ่ง​ดี​ต่อ ๆ ไป

คง​เป็น​ความ​เข้าใจ​ผิด​ถ้า​ผู้​รับใช้​ของ​พระเจ้า​จะ​ลง​ความ​เห็น​ว่า พระ​ยะโฮวา​จะ​ทรง​ผิด​หวัง​ถ้า​คน​ที่​เจ็บ​ป่วย​หรือ​แก่​ชรา​ทำ​งาน​รับใช้​ได้​ไม่​เต็ม​ที่​อย่าง​ที่​ต้องการ​จะ​ทำ. ทั้ง​ยัง​เป็น​การ​เข้าใจ​ผิด​ถ้า​จะ​คิด​ว่า พระองค์​ทรง​รู้สึก​อย่าง​เดียว​กัน​นี้​กับ​คน​ที่​มี​ขีด​จำกัด​เนื่อง​จาก​สุขภาพ​ไม่​ดี, มี​หน้า​ที่​รับผิดชอบ​ใน​ครอบครัว, หรือ​สภาพการณ์​อื่น ๆ ด้วย.

จำ​ไว้​ว่า เมื่อ​อัครสาวก​เปาโล​รู้สึก​ว่า​ท่าน​อ่อนแอ​เพราะ​เจ็บ​ป่วย​หรือ​มี​อุปสรรค ท่าน ‘อธิษฐาน​ถึง​องค์​พระ​ผู้​เป็น​เจ้า​ถึง​สาม​ครั้ง​ให้​มัน​หลุด​ออก​ไป’ จาก​ท่าน. แต่​แทน​ที่​พระ​ยะโฮวา​จะ​รักษา​เปาโล​เพื่อ​ช่วย​ให้​ท่าน​ประสบ​ผล​สำเร็จ​มาก​ขึ้น​ใน​การ​รับใช้​พระองค์ พระเจ้า​กลับ​ตรัส​ว่า “ความ​กรุณาคุณ​ของ​เรา​มี​พอ​สำหรับ​เจ้า​แล้ว เพราะ​โดย​ความ​อ่อนแอ​ของ​เจ้า​เดช​ของ​เรา​จึง​ปรากฏ​มี​ฤทธิ์​ขึ้น​เต็ม​ขนาด.” (2 โกรินโธ 12:7-10) ด้วย​เหตุ​นี้ ขอ​ให้​มั่น​ใจ​ว่า​แม้​มี​สภาพการณ์​ที่​ยุ่งยาก​ใด ๆ ก็​ตาม​ที่​คุณ​อาจ​ต้อง​อด​ทน พระ​บิดา​ผู้​สถิต​ใน​สวรรค์​ทรง​หยั่ง​รู้​ค่า​ไม่​ว่า​สิ่ง​ใด​ก็​ตาม​ที่​คุณ​ทำ​เพื่อ​ส่ง​เสริม​สิ่ง​ที่​พระองค์​ใฝ่​พระทัย.—เฮ็บราย 13:15, 16.

พระ​ผู้​สร้าง​องค์​เปี่ยม​ด้วย​ความ​รัก​ไม่​ทรง​เรียก​ร้อง​มาก​กว่า​ที่​เรา​จะ​ให้​พระองค์​ได้. พระองค์​ขอ​เพียง​แค่​ให้​เรา​มี​ความ​เชื่อ​ชนิด​ที่​จะ​กระตุ้น​เรา​ให้​ลง​มือ​ปฏิบัติ.

[ภาพ​หน้า 26]

การ​ศึกษา​พระ​บัญญัติ​เพียง​อย่าง​เดียว​พอ​ไหม?

[ภาพ​หน้า 29]

ความ​เชื่อ​ของ​เรา​ต้อง​ควบ​คู่​ไป​กับ​การ​ลง​มือ​ปฏิบัติ