คำถามจากผู้อ่าน
คำถามจากผู้อ่าน
การที่อัครสาวกเปาโลกล่าวต่อหน้าศาลซันเฮดรินว่า “ข้าพเจ้าเป็นคนฟาริซาย” นั้น ไม่ใช่เป็นการอะลุ่มอล่วยความเชื่อแบบคริสเตียนหรอกหรือ?
เพื่อจะเข้าใจคำกล่าวของเปาโลที่พบในกิจการ 23:6 เราต้องพิจารณาบริบทของข้อนี้.
หลังจากเปาโลถูกชาวยิวที่อยู่ในกรุงเยรูซาเลมรุมทำร้าย ท่านได้พูดต่อฝูงชน. ท่านกล่าวว่า ท่าน “ได้เล่าเรียนกับท่านอาจารย์ฆามาลิเอลตามบัญญัติของบรรพบุรุษของเราโดยถี่ถ้วนทุกประการ.” แม้ฝูงชนจะฟังคำแก้ต่างของท่านอยู่ครู่หนึ่ง แต่ในที่สุดเมื่อพวกเขาโกรธมากขึ้น ผู้บัญชาการทหารคุ้มกันก็พาเปาโลไปยังค่ายทหาร. ก่อนที่ท่านจะถูกเฆี่ยน เปาโลกล่าวว่า “การที่จะเฆี่ยนคนที่เป็นชาติโรมันก่อนพิพากษาปรับโทษนั้นถูกตามกฎหมายหรือ.”—กิจการ 21:27–22:29.
วันถัดมา ผู้บัญชาการส่งตัวเปาโลไปให้การต่อหน้าศาลซันเฮดริน ซึ่งเป็นศาลสูงของชาวยิว. เปาโลสังเกตว่าเหล่าสมาชิกของศาลซันเฮดรินมีทั้งพวกซาดูกายและฟาริซาย. ท่านจึงกล่าวว่า “ดูก่อนท่านพี่น้องทั้งหลาย, ข้าพเจ้าเป็นคนฟาริซายและเป็นบุตรของคนฟาริซาย ที่ข้าพเจ้าถูกพิพากษานั้นก็เพราะมีความหวังใจว่าคนทั้งหลายจะเป็นขึ้นมาจากความตาย.” ผลก็คือ เกิดการโต้เถียงกันระหว่างพวกฟาริซายกับพวกซาดูกาย เพราะ “พวกซาดูกายถือว่าการที่จะเป็นขึ้นมาจากความตายนั้นไม่มี และทูตสวรรค์หรือวิญญาณก็ไม่มีแต่พวกฟาริซายถือว่ามีทั้งสองอย่าง.” บางคนที่อยู่ฝ่ายพวกฟาริซายก็ลุกขึ้นแย้งด้วยความโกรธว่า “เราไม่เห็นคนนี้มีผิดสิ่งใด.”—กิจการ 23:6-10.
เนื่องจากเป็นที่รู้กันว่าเปาโลเป็นคริสเตียนที่มีใจแรงกล้า ท่านจึงไม่อาจทำให้ศาลซันเฮดรินเชื่อว่าท่านเป็นฟาริซายที่เอาจริงเอาจัง. พวกฟาริซายที่อยู่ที่นั่นก็จะไม่ยอมรับฟาริซายคนใดก็ตามที่ไม่เชื่อคำสอนทุกอย่างของพวกเขา. ด้วยเหตุนี้ คำพูดของเปาโลที่ว่า ท่านเป็นฟาริซายจึงไม่ค่อยมีความหมายเท่าไรนัก และฟาริซายที่อยู่ที่นั่นก็คงต้องเข้าใจคำพูดของเปาโลในท้องเรื่องดังกล่าว.
โดยกล่าวว่าท่านถูกพิพากษาก็เพราะมีความหวังในเรื่องการกลับเป็นขึ้นมาจากตาย เปาโลหมายความอย่างชัดแจ้งว่าท่านเป็นเหมือนฟาริซายในแง่นี้. ไม่ว่าจะมีการโต้แย้งกันอย่างไรเกี่ยวกับเรื่องนี้ เปาโลก็แสดงตัวว่าเห็นด้วยกับพวกฟาริซายมากกว่าพวกซาดูกายซึ่งไม่เชื่อในเรื่องการกลับเป็นขึ้นจากตาย.
สิ่งที่เปาโลเชื่อในฐานะคริสเตียนไม่ขัดแย้งกับความเชื่อบางอย่างของพวกฟาริซาย เช่น เรื่องการกลับเป็นขึ้นจากตาย, ทูตสวรรค์, และกฎหมายบางข้อ. (ฟิลิปปอย 3:5) ดังนั้น ในแง่นี้เอง เปาโลจึงสามารถอ้างว่าตัวท่านเกี่ยวข้องกับฟาริซาย และคนที่อยู่ในศาลซันเฮดรินก็เข้าใจความหมายของท่าน. ท่านจึงใช้ประโยชน์จากภูมิหลังของตนเองเพื่อรับมือกับความมีอคติของศาลสูงสุดของชาวยิว.
อย่างไรก็ตาม หลักฐานหนักแน่นที่สุดที่ว่าเปาโลไม่ได้อะลุ่มอล่วยความเชื่อของท่าน เห็นได้จากข้อเท็จจริงที่ว่า ท่านยังคงได้รับความโปรดปรานจากพระยะโฮวาต่อไป. คืนต่อมาหลังจากเปาโลกล่าวถ้อยคำในคำถามที่อยู่ตอนต้นของบทความนี้ พระเยซูตรัสกับเปาโลว่า “เจ้าจงมีใจกล้าเถิด, เพราะว่าเจ้าได้เป็นพยานฝ่ายเราในกรุงยะรูซาเลมฉันใด, เจ้าจะต้องเป็นพยานในกรุงโรมด้วยฉันนั้น.” เนื่องจากเปาโลได้รับความโปรดปรานจากพระเจ้า เราต้องลงความเห็นว่า เปาโลไม่ได้อะลุ่มอล่วยความเชื่อแบบคริสเตียนของท่าน.—กิจการ 23:11.