แม้จะอ่อนแอ แต่ก็แข็งแรง
เรื่องราวชีวิตจริง
แม้จะอ่อนแอ แต่ก็แข็งแรง
เล่าโดยเลโอโพลท์ เองไลท์เนอร์
นายทหารหน่วยเอสเอสชักปืนออกมาจ่อที่หัวผม แล้วถามว่า “แกพร้อมจะตายหรือยัง? ฉันจะยิงแกซะ เพราะยังไงแกก็ไม่รอดอยู่แล้ว.” “ผมพร้อมแล้ว” ผมตอบเขาโดยพยายามไม่ให้เสียงสั่น. ผมหลับตาพร้อมจะตาย และรอให้เขาลั่นไก แต่ก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น. นายทหารคนนั้นตะโกนว่า “แกมันโง่เกินกว่าจะตายด้วยซ้ำ!” แล้วก็เอาปืนออกจากขมับผม. ผมตกอยู่ในสถานการณ์อันตรายเช่นนี้ได้อย่างไร?
ผมเกิดวันที่ 23 กรกฎาคม ปี 1905 ที่เมืองไอเกน-โฟกล์ฮุบ ในเทือกเขาแอลป์ประเทศออสเตรีย. ผมเป็นลูกชายคนโตของคนงานโรงเลื่อยกับลูกสาวชาวนาในเมืองนั้น. พ่อแม่ของผมยากจนแต่ก็ขยันทำงาน. ผมใช้ชีวิตวัยเด็กอยู่ที่เมืองบาท อิชเชล ใกล้กับเมืองซาลซ์บูร์ก ท่ามกลางทะเลสาบน้อยใหญ่ที่งดงามและยอดเขาสวยงามน่าทึ่ง.
เมื่อผมเป็นเด็ก ผมมักจะคิดถึงความอยุติธรรมในชีวิตอยู่บ่อย ๆ เพราะครอบครัวของผมยากจน และตัวผมเองก็ทุกข์ทรมานกับกระดูกสันหลังที่คดงอมาตั้งแต่เกิด. โรคนี้ทำให้ผมปวดหลังจนแทบจะยืนตัวตรงไม่ได้. ที่โรงเรียน ผมไม่ได้รับอนุญาตให้เล่นยิมนาสติก เพื่อนร่วมชั้นจึงรุมหัวเราะเยาะผม.
เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 1 ยุติ ก่อนผมอายุครบ 14 ปีไม่นาน ผมตัดสินใจจะหางานทำเพื่อหนีความยากจน. ความหิวอันแสนทรมานเป็นเพื่อนคู่ทุกข์คู่ยากของผม แถมร่างกายผมยังอ่อนแอเพราะพิษไข้หวัดใหญ่สเปนซึ่งคร่าชีวิตผู้คนไปแล้วหลายล้านคน. เมื่อผมไปขอใครทำงาน ชาวนาส่วนใหญ่
มักพูดว่า “คนขี้โรคอย่างนายจะทำอะไรได้?” แต่ก็มีชาวนาใจดีคนหนึ่งจ้างผม.ตื่นเต้นยินดีกับความรักของพระเจ้า
แม้ว่าแม่จะเป็นคาทอลิกที่เคร่ง แต่ผมแทบไม่ได้ไปโบสถ์เลย สาเหตุหลักก็เพราะพ่อของผมมีทัศนะที่เปิดกว้างในเรื่องศาสนา. ส่วนผมเองก็ไม่ชอบการนมัสการรูปเคารพซึ่งทำกันอย่างแพร่หลายในคริสตจักรโรมันคาทอลิก.
วันหนึ่งในเดือนตุลาคม ปี 1931 เพื่อนคนหนึ่งชวนผมไปเป็นเพื่อนเขาที่การประชุมทางศาสนาซึ่งจัดโดยกลุ่มนักศึกษาคัมภีร์ไบเบิล ซึ่งเป็นชื่อเรียกพยานพระยะโฮวาในขณะนั้น. ที่การประชุมนั้น ผมได้รับคำตอบสำหรับคำถามสำคัญ ๆ เช่น พระเจ้าทรงพอพระทัยกับการนมัสการรูปเคารพไหม? (เอ็กโซโด 20:4, 5) ไฟนรกมีจริงไหม? (ท่านผู้ประกาศ 9:5) คนตายจะถูกปลุกให้มีชีวิตอีกไหม?—โยฮัน 5:28, 29.
สิ่งที่ทำให้ผมประทับใจมากที่สุดคือความจริงที่ว่า พระเจ้าไม่ทรงเห็นชอบกับสงครามกระหายเลือดของมนุษย์ แม้จะเป็นสงครามที่อ้างว่าทำกันในนามของพระองค์ก็ตาม. ผมได้เรียนรู้ว่า “พระเจ้าทรงเป็นความรัก” และพระองค์ทรงมีพระนามสูงส่ง คือ ยะโฮวา. (1 โยฮัน 4:8; บทเพลงสรรเสริญ 83:18) ผมตื่นเต้นยินดีที่รู้ว่าราชอาณาจักรของพระยะโฮวาจะทำให้มนุษย์มีชีวิตอยู่ตลอดไปในสภาพเปี่ยมสุขในอุทยานซึ่งจะมีขึ้นทั่วทั้งแผ่นดินโลก. ผมยังได้เรียนรู้ว่ามนุษย์ไม่สมบูรณ์บางคนซึ่งได้รับการทรงเรียกจากพระเจ้าจะมีความหวังอันยอดเยี่ยมได้ร่วมปกครองกับพระเยซูในราชอาณาจักรฝ่ายสวรรค์ของพระเจ้า. ผมพร้อมจะทุ่มเทสุดตัวเพื่อจะได้เข้าในราชอาณาจักรนั้น. ดังนั้น ในเดือนพฤษภาคม ปี 1932 ผมได้รับบัพติสมาและมาเป็นพยานพระยะโฮวาคนหนึ่ง. การทำเช่นนี้ต้องใช้ความกล้ามากทีเดียว เพราะมีอคติทางศาสนาแพร่หลายอยู่ในออสเตรียซึ่งขณะนั้นเป็นประเทศคาทอลิกที่เคร่งครัด.
ถูกดูหมิ่นและต่อต้าน
พ่อแม่ของผมตกใจและโกรธมากที่ผมลาออกจากโบสถ์ ส่วนบาทหลวงก็รีบประกาศจากธรรมาสน์ให้รู้ทั่วกัน. เพื่อนบ้านแสดงอาการดูถูกด้วยการถ่มน้ำลายลงพื้นต่อหน้าผม. อย่างไรก็ตาม ผมตั้งใจแล้วว่าจะเข้าร่วมกับกลุ่มผู้รับใช้เต็มเวลา และผมได้เริ่มเป็นไพโอเนียร์ในเดือนมกราคม ปี 1934.
สถานการณ์ทางการเมืองเริ่มตึงเครียดขึ้น เนื่องจากพรรคนาซีมีอิทธิพลมากขึ้นในเมืองของเรา. ระหว่างที่ผมเป็นไพโอเนียร์ในเขตสตีเรียน แวลลีย์ แถบแม่น้ำเอนส์ ตำรวจติดตามผมทุกฝีก้าว ผมจึงต้องเป็น “คนฉลาดเหมือนงู.” (มัดธาย 10:16) ตั้งแต่ปี 1934 จนถึงปี 1938 ผมเจอการข่มเหงไม่เว้นแต่ละวัน. แม้จะตกงาน แต่ผมก็ไม่ได้รับเงินชดเชยสำหรับคนว่างงาน ซ้ำยังถูกจำคุกระยะสั้น ๆ หลายครั้งและระยะยาวอีกสี่ครั้ง เนื่องจากทำงานประกาศ.
กองทัพฮิตเลอร์ยึดออสเตรีย
ในเดือนมีนาคม ปี 1938 กองทัพของฮิตเลอร์เคลื่อนพลเข้ายึดออสเตรีย. ภายในเวลาไม่กี่วัน ประชาชนกว่า 90,000 คน (ประมาณ 2 เปอร์เซ็นต์ของประชากรวัยผู้ใหญ่) ถูกจับกุมและถูกส่งตัวไปยังเรือนจำและค่ายกักกันด้วยข้อกล่าวหาว่าได้ต่อต้านระบอบนาซี. เหตุการณ์นี้เป็นเหมือนการเตรียมพยานพระยะโฮวาไว้สำหรับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต. ในฤดูร้อนปี 1937 พี่น้องหลายคนในประชาคมที่ผมเคยสบทบด้วยในตอนแรกได้เดินทางโดยจักรยานเป็นระยะทาง 350 กิโลเมตร เพื่อเข้าร่วมการประชุมนานาชาติที่กรุงปราก. ที่การประชุมนั้น พวกเขาได้ยินเรื่องการปฏิบัติอย่างโหดเหี้ยมทารุณกับเพื่อนผู้เชื่อถือของเราในเยอรมนี. เห็นได้ชัดว่าถึงคราวเราถูกข่มเหงบ้างแล้ว.
ตั้งแต่วันที่กองกำลังของฮิตเลอร์เหยียบย่างเข้ามาในออสเตรีย พยานพระยะโฮวาต้องจัดการประชุมและทำงานประกาศกันอย่างลับ ๆ. แม้จะมีการลักลอบนำสรรพหนังสือเกี่ยวกับคัมภีร์ไบเบิลเข้ามาทางชายแดนด้านสวิตเซอร์แลนด์ แต่หนังสือเหล่านั้นก็ไม่เพียงพอสำหรับทุกคน. ดังนั้น เพื่อนคริสเตียนในเวียนนาจึงผลิตสรรพหนังสือกันอย่างลับ ๆ. บ่อยครั้งผมเป็นคนนำหนังสือไปส่งให้แก่เหล่าพี่น้องพยานฯ.
ถูกส่งตัวไปยังค่ายกักกัน
ในวันที่ 4 เมษายน ปี 1939 ผมกับพี่น้องสามคนถูกเกสตาโปจับ ขณะกำลังประชุมเพื่อระลึกถึงการวายพระชนม์ของพระเยซูกันที่บาท อิชเชล. พวกเราทั้งหมดถูกนำตัวขึ้นรถไปยังกองบัญชาการตำรวจที่เมืองลินซ์. นั่นเป็นครั้งแรกที่ผมได้นั่งรถยนต์ แต่ผมกังวลเกินกว่าจะรู้สึกสนุก. ที่เมืองลินซ์ ผมถูกสอบสวนอย่างโหดร้ายทารุณครั้งแล้วครั้งเล่า แต่ผมไม่ยอมปฏิเสธความเชื่อ. ห้าเดือนต่อมา ผมถูกนำตัวไปรัฐออสเตรียตอนบนเพื่อให้การต่อหน้าผู้พิพากษาไต่สวน. โดยไม่คาดหมาย ไม่มีการดำเนินคดีกับผมอีกต่อไป แต่การทดลองแสนสาหัสสากรรจ์ยังไม่จบสิ้น. ในระหว่างนั้น พี่น้องอีกสามคนถูกส่งตัวไปยังค่ายกักกัน และได้เสียชีวิตที่นั่นหลังจากรักษาความซื่อสัตย์จนถึงที่สุด.
ผมถูกควบคุมตัว และในวันที่ 5 ตุลาคม ปี 1939 ผมได้รับแจ้งว่าจะถูกนำตัวไปยังค่ายกักกันบูเคนวาลด์ในเยอรมนี. รถไฟขบวนพิเศษรอพวกเราที่เป็นนักโทษอยู่ที่สถานีลินซ์. ตู้โดยสารถูกแบ่งเป็นห้อง ๆ ห้องหนึ่งสำหรับสองคน. ผู้ชายที่อยู่ในห้องเดียวกับผมไม่ใช่ใครอื่น เขาคือ ดร. ไฮน์ริค ไกลซ์เนอร์ อดีตผู้ว่าการรัฐออสเตรียตอนบน.
ดร. ไกลซ์เนอร์กับผมเริ่มคุยกัน. เขาสนใจอย่างจริงใจกับสภาพที่ผมเผชิญอยู่ และตกใจมากที่รู้ว่า แม้แต่ในระหว่างที่เขาดำรงตำแหน่งอยู่นั้น พยานพระยะโฮวาได้ประสบปัญหาด้านกฎหมายนับครั้งไม่ถ้วนในเขตที่เขาดูแล. เขาบอกผมด้วยความเสียใจว่า “คุณเองไลท์เนอร์ ผมไม่สามารถแก้ไขความผิดเหล่านั้นได้ แต่ผมอยากจะขอโทษ. ดูเหมือนรัฐบาลของเราเป็นฝ่ายผิดที่ตัดสินอย่างไม่ยุติธรรม. ถ้าคุณต้องการความช่วยเหลืออะไร ผมยินดีจะช่วยคุณเต็มที่.” เราพบกันอีกครั้งหลังสงคราม. เขาช่วยให้ผมได้รับเงินบำนาญสำหรับผู้ที่เคยถูกข่มเหงโดยระบอบนาซี.
“ฉันจะยิงแก”
ผมมาถึงค่ายกักกันบูเคนวาลด์ในวันที่ 9 ตุลาคม ปี 1939. หลังจากนั้นไม่นาน ผู้คุมเรือนจำก็ได้รับรายงานว่ามีพยานฯ คนหนึ่งอยู่ในกลุ่มนักโทษที่มาใหม่ แล้วผมก็กลายเป็นคนที่เขาให้ความสนใจเป็นพิเศษ. เขาตีผมอย่างไร้ความปรานี. และเมื่อเห็นว่าไม่สามารถทำให้ผมปฏิเสธความเชื่อได้ เขาก็พูดว่า “ฉันจะยิงแก เองไลท์เนอร์. แต่ก่อนที่ฉันจะยิง ฉันจะให้โอกาสแกเขียนจดหมายลาพ่อแม่ของแกก่อน.” ผมคิดว่าจะพูดปลอบโยนพ่อแม่อย่างไร แต่ทุกครั้งที่ผมจรดปากกาลงบนกระดาษ เขาก็ตีที่ข้อศอกขวาของผม ทำให้ผมต้องรีบเขียนหวัด ๆ ไป. แล้วเขาก็พูดเย้ยว่า “โง่อะไรอย่างนี้! แม้แต่จะเขียนหนังสือให้ตรงสักสองบรรทัดเขาก็ยังทำไม่ได้. แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเขาจะอ่านไบเบิลไม่ได้นี่ ใช่ไหม?”
แล้วผู้คุมก็ชักปืนออกมาจ่อหัวผม ทำให้ผมเชื่อว่าเขาจะยิงผมแน่ อย่างที่ผมเล่าไปเมื่อตอนต้นเรื่อง. หลังจากนั้นเขาก็จับผมยัดเข้าห้องขังเล็ก ๆ ที่เต็มไปด้วยนักโทษ. ผมต้องยืนตลอดคืน. ถึงอย่างไรผมก็นอนไม่ได้อยู่ดีเพราะปวดร้าวไปทั้งตัว. “คำปลอบโยน” อย่างเดียวที่ผมได้รับจาก
เพื่อนร่วมห้องขังก็คือคำพูดที่ว่า “ไม่มีประโยชน์เลยสักนิดที่ต้องมาตายเพราะศาสนาโง่ ๆ!” ดร. ไกลซ์เนอร์ อยู่ในห้องขังข้าง ๆ. เขาได้ยินว่าเกิดอะไรขึ้นกับผม จึงพูดอย่างเข้าใจว่า “การข่มเหงคริสเตียนโผล่หัวที่น่าเกลียดออกมาให้เห็นอีกแล้ว!”ในฤดูร้อนปี 1940 มีคำสั่งให้นักโทษทุกคนไปรายงานตัวเพื่อทำงานที่เหมืองในวันอาทิตย์วันหนึ่ง แม้ว่าตามปกติแล้วเราไม่ต้องทำงานวันอาทิตย์. นี่เป็นมาตรการตอบโต้สำหรับ “ความผิดเล็ก ๆ น้อย ๆ” ของผู้ต้องขังบางคน. เราถูกสั่งให้ขนหินก้อนใหญ่ ๆ จากเหมืองไปที่ค่าย. นักโทษสองคนพยายามวางหินก้อนมหึมาบนหลังผม ผมแทบจะทรุดเพราะน้ำหนักของมัน. แต่แล้วโดยไม่คาดหมาย อาร์ทูร์ เริดเดล ผู้ดูแลค่ายซึ่งเป็นที่เกรงขามก็เข้ามาช่วยผมไว้. เขาเห็นผมพยายามแบกหินด้วยความทุกข์ทรมาน จึงบอกผมว่า “นายไม่มีทางแบกหินนั่นกลับค่ายได้แน่! วางมันลงเดี๋ยวนี้!” ผมทำตามคำสั่งด้วยความโล่งอก. แล้วเริดเดลก็ชี้ไปที่หินก้อนหนึ่งซึ่งเล็กกว่ามาก และพูดว่า “ยกหินนั้นไปที่ค่าย. มันแบกง่ายกว่ากันเยอะ!” หลังจากนั้นเขาก็หันไปสั่งผู้คุมของเราว่า “ให้พวกนักศึกษาคัมภีร์ไบเบิลกลับค่ายได้แล้ว. พวกเขาทำงานมากพอแล้วสำหรับหนึ่งวัน!”
ทุกวันหลังเลิกงาน ผมมีความสุขเสมอที่ได้อยู่กับครอบครัวฝ่ายวิญญาณ. เราจัดให้มีวิธีแจกจ่ายอาหารฝ่ายวิญญาณ. พี่น้องชายคนหนึ่งจะเขียนข้อคัมภีร์หนึ่งข้อในเศษกระดาษและส่งต่อให้คนอื่น ๆ. ก่อนหน้านี้มีการแอบนำคัมภีร์ไบเบิลเข้ามาในค่าย. เราฉีกแบ่งพระคัมภีร์ออกเป็นพระธรรมต่าง ๆ. ผมได้รับมอบหมายให้เก็บส่วนที่เป็นพระธรรมโยบอยู่สามเดือน. ผมซ่อนมันไว้ในถุงเท้า. เรื่องราวในพระธรรมโยบช่วยให้ผมรักษาความมั่นคงเอาไว้.
ในที่สุด ผมถูกส่งตัวไปยังค่ายกักกันนีเดอฮาเกนพร้อมกับขบวนคุ้มกันกลุ่มใหญ่ ในวันที่ 7 มีนาคม ปี 1941. สุขภาพของผมทรุดโทรมลงทุกวัน. วันหนึ่ง ผมกับพี่น้องชายสองคนได้รับคำสั่งให้เก็บเครื่องมือใส่ในลัง. เมื่อทำงานเสร็จ เราก็กลับไปที่ค่ายพร้อมกับนักโทษอีกกลุ่มหนึ่ง. ทหารหน่วยเอสเอสนายหนึ่งสังเกตเห็นว่าผมเดินช้ากว่าคนอื่น ๆ. เขาโกรธมาก ถึงกับเตะผมอย่างแรงจากด้านหลังโดยที่ผมไม่ทันรู้ตัว ทำให้ผมบาดเจ็บสาหัส. ผมเจ็บปวดทรมานมาก แต่วันรุ่งขึ้นผมก็ยังไปทำงาน.
ถูกปล่อยตัวโดยไม่ได้คาดหมาย
ในที่สุด ค่ายนีเดอฮาเกนก็ถูกรื้อในเดือนเมษายน ปี 1943. หลังจากนั้น ผมถูกย้ายไปยังค่ายมรณะที่ราเฟนส์บรึค.
ต่อมา ในเดือนมิถุนายน ปี 1943 ผมมีโอกาสจะได้รับการปล่อยตัวจากค่ายกักกันโดยไม่คาดหมาย. คราวนี้เงื่อนไขไม่ใช่การปฏิเสธความเชื่อ. ผมเพียงแต่ต้องยอมทำงานหนักในฟาร์มตลอดชีวิตที่เหลืออยู่. ผมเต็มใจรับข้อเสนอนั้นเพื่อจะได้ไปจากค่ายที่น่ากลัวนี้. ผมไปหาหมอประจำค่ายเพื่อให้เขาตรวจร่างกายเป็นครั้งสุดท้าย. หมอแปลกใจที่เห็นผม. เขาอุทานออกมาว่า “นายยังเป็นพยานพระยะโฮวาอยู่อีกหรือนี่!” ผมตอบว่า “ครับ คุณหมอ.” “ถ้าอย่างนั้นผมก็ไม่เห็นความจำเป็นที่เราต้องปล่อยตัวนายไป. แต่ก็ดีเหมือนกัน โล่งใจจริง ๆ ที่กำจัดคนน่าสมเพชอย่างนายไปซะได้.”หมอไม่ได้พูดเกินจริงเลย. สุขภาพของผมแย่เอามาก ๆ. ตัวหมัดกัดกินผิวหนังของผม, หูข้างหนึ่งหนวกเพราะถูกตี, และตามเนื้อตัวเต็มไปด้วยตุ่มหนอง. หลังจากระยะเวลา 46 เดือนที่ถูกกักกัน ทั้งต้องเผชิญความหิวโหยตลอดเวลาและทำงานหนัก น้ำหนักผมเหลือเพียง 28 กิโลกรัม. ผมถูกปล่อยตัวจากค่ายที่ราเฟนส์บรึคในสภาพเช่นนั้น เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม ปี 1943.
ผมถูกส่งตัวขึ้นรถไฟกลับไปยังบ้านเกิดโดยไม่มีทหารคุม และได้ไปรายงานตัวที่กองบัญชาการของเกสตาโปที่เมืองลินซ์. เจ้าหน้าที่เกสตาโปออกเอกสารการปล่อยตัวให้ผมแล้วเตือนว่า “ถ้าแกคิดว่าเราปล่อยตัวแกเพื่อให้กลับไปทำงานลับ ๆ อย่างเดิมละก็ แกคิดผิดแล้ว! ถ้าเราเจอแกประกาศอยู่เมื่อไรละก็ แกตายแน่.”
ในที่สุดผมก็ได้กลับบ้าน! แม่ไม่ได้เปลี่ยนอะไรในห้องผมเลยตั้งแต่ที่ผมถูกจับครั้งแรกเมื่อวันที่ 4 เมษายน ปี 1939. แม้แต่พระคัมภีร์ของผมก็ยังวางเปิดอยู่บนโต๊ะข้างเตียง! ผมคุกเข่าลงอธิษฐานขอบพระคุณพระเจ้าด้วยความรู้สึกจากใจ.
ไม่ช้าผมก็ได้รับคำสั่งให้ไปทำงานที่ฟาร์มแห่งหนึ่งบนเขา. เจ้าของฟาร์มซึ่งเป็นเพื่อนสมัยเด็กจ่ายเงินเดือนให้ผมเล็กน้อย แม้ว่าตามจริงแล้วเขาไม่ต้องทำเช่นนั้น. ก่อนเกิดสงครามเพื่อนคนนี้เคยอนุญาตให้ผมซ่อนสรรพหนังสือเกี่ยวกับคัมภีร์ไบเบิลไว้ในฟาร์มของเขา. ผมดีใจมากที่ได้ใช้ประโยชน์จากคลังสรรพหนังสือเล็ก ๆ นี้เพื่อเสริมกำลังทางฝ่ายวิญญาณให้กับตัวเอง. ผมมีทุกสิ่งที่จำเป็นแล้ว และผมตั้งใจจะทำงานในฟาร์มนี้จนกว่าสงครามจะยุติ.
ซ่อนตัวในภูเขา
อย่างไรก็ตาม ช่วงเวลาที่สงบสุขและมีอิสรภาพนั้นสั้นเหลือเกิน. พอถึงกลางเดือนสิงหาคม ปี 1943 ผมก็ถูกสั่งให้ไปรายงานตัวกับหมอคนหนึ่งของกองทัพเพื่อตรวจร่างกาย. ทีแรก เขาบอกว่าผมไม่แข็งแรงพอที่จะเป็นทหาร เพราะหลังของผมแย่มาก. แต่หลังจากนั้นหนึ่งสัปดาห์หมอคนเดิมก็กลับคำรายงานของเขา และเขียนว่า “แข็งแรงพอที่จะร่วมรบในแนวหน้า.” กองทัพหาตัวผมไม่เจออยู่ระยะหนึ่ง แต่พวกเขาก็ตามผมเจอในที่สุด ในวันที่ 17 เมษายน ปี 1945 ก่อนจะสิ้นสงครามไม่นาน. ผมถูกเกณฑ์ให้ไปรบในแนวหน้า.
ผมไปหาที่ซ่อนตัวอยู่ในภูเขาใกล้ ๆ โดยมีข้าวของจำเป็นไม่กี่อย่างกับพระคัมภีร์เล่มหนึ่ง. ทีแรก ผมสามารถนอนกลางแจ้งได้ แต่แล้วอากาศก็เลวร้ายลงและมีหิมะตกหนาครึ่งเมตร. ผมเปียกโชกไปหมดทั้งตัว. ผมเดินไปถึงบ้านเล็ก ๆ หลังหนึ่งในภูเขาซึ่งอยู่สูงเหนือระดับน้ำทะเลเกือบ 1,200 เมตร. ขณะที่เนื้อตัวสั่นเทา ผมจุดไฟที่เตาผิง แล้วก็ผิงไฟจนตัวอุ่นและเสื้อผ้าแห้ง. ด้วยความเหนื่อยอ่อน ผมหลับไปบนม้านั่งยาวหน้าเตาผิง. ไม่นานผมก็สะดุ้งตื่นเพราะเจ็บแปลบอย่างรุนแรง. มีไฟลุกบนตัวผม! ผมกลิ้งตัวไป
มาบนพื้นเพื่อดับไฟ. หลังของผมมีแผลพุพองเต็มไปหมด.แม้จะเสี่ยงกับการถูกจับ ผมแอบกลับไปที่ฟาร์มบนเขาก่อนรุ่งเช้า แต่ภรรยาเจ้าของไร่กลัวมาก เธอไล่ผมและบอกว่ามีคนตามหาตัวผมอยู่. ผมจึงกลับไปหาพ่อแม่. ตอนแรก แม้แต่พ่อแม่ผมก็ยังไม่กล้าให้ผมเข้าบ้าน แต่ในที่สุดพวกเขาก็ยอมให้ผมนอนในที่เก็บฟางในโรงนา และแม่ก็ทำแผลให้ผม. แต่เมื่อผ่านไปได้สองวัน พ่อแม่ก็เริ่มกังวลมาก ผมจึงตัดสินใจกลับไปซ่อนตัวในภูเขาอีก.
วันที่ 5 พฤษภาคม 1945 ผมตื่นขึ้นเพราะมีเสียงดัง. ผมเห็นเครื่องบินฝ่ายพันธมิตรบินอยู่ในระดับต่ำ. ทันใดนั้นผมก็รู้ว่าระบอบนาซีถูกโค่นแล้ว! พระวิญญาณของพระยะโฮวาได้ช่วยผมให้อดทนกับประสบการณ์ที่แสนทรมานซึ่งไม่น่าเชื่อว่าจะเกิดขึ้นได้. ผมได้ประสบกับความเป็นจริงของถ้อยคำซึ่งบันทึกไว้ที่บทเพลงสรรเสริญ 55:22 ซึ่งได้ปลอบโยนผมอย่างมากตั้งแต่เริ่มถูกข่มเหง. ผมได้ ‘ทอดภาระของผมไว้กับพระยะโฮวา’ และแม้ว่าร่างกายผมจะอ่อนแอ แต่พระองค์ก็ค้ำจุนผมขณะที่ผมเดินไปตาม “หว่างเขาอันมัวมืดแห่งความตาย.”—บทเพลงสรรเสริญ 23:4.
ฤทธิ์ของพระยะโฮวา “ถูกทำให้สมบูรณ์ในความอ่อนแอ”
หลังสงคราม ชีวิตของผมค่อย ๆ กลับสู่ภาวะปกติ. ตอนแรกผมทำงานเป็นลูกจ้างในฟาร์มของเพื่อนซึ่งอยู่บนเขา. เมื่อกองทัพสหรัฐเข้าแทรกแซงในเดือนเมษายน ปี 1946 ผมจึงพ้นจากข้อบังคับที่ให้ทำงานหนักในฟาร์มตลอดชีวิต.
เมื่อสงครามยุติ พี่น้องคริสเตียนในบาท อิชเชลและในเขตใกล้ ๆ เริ่มจัดการประชุมกันเป็นประจำ. พวกเขาเริ่มประกาศด้วยเรี่ยวแรงที่กลับคืนมาอีกครั้ง. มีคนเสนองานให้ผมเป็นยามกะกลางคืนในโรงงานแห่งหนึ่ง ซึ่งทำให้ผมสามารถเป็นไพโอเนียร์ต่อไปได้. ในที่สุด ผมก็ตั้งรกรากอยู่ในเขตซังท์ โวล์ฟกัง และในปี 1949 ผมได้สมรสกับเทเรเซีย คูรทซ์ เธอมีลูกสาวคนหนึ่งจากสามีคนก่อน. เราใช้ชีวิตร่วมกัน 32 ปี จนกระทั่ง ภรรยาที่รักของผมเสียชีวิตในปี 1981. ผมได้ดูแลเธออยู่กว่าเจ็ดปี.
หลังจากเทเรเซียเสียชีวิต ผมก็เริ่มงานไพโอเนียร์อีกครั้ง และงานนี้ช่วยให้ผมคลายเศร้าจากการสูญเสียที่ใหญ่หลวงนี้. ขณะนี้ผมรับใช้เป็นไพโอเนียร์และผู้ปกครองในประชาคมของผมที่เมืองบาท อิชเชล. เนื่องจากผมต้องนั่งเก้าอี้ล้อ ผมจึงเสนอสรรพหนังสืออธิบายคัมภีร์ไบเบิลและพูดคุยกับผู้คนเกี่ยวกับความหวังเรื่องราชอาณาจักรที่สวนบาท อิชเชล หรือไม่ก็ที่หน้าบ้านของผมเอง. สิ่งที่ทำให้ผมมีความสุขมากคือการได้สนทนาเรื่องคัมภีร์ไบเบิลกับคนที่สนใจ.
เมื่อมองย้อนกลับไป ผมยืนยันได้ว่าประสบการณ์อันน่ากลัวที่ผมต้องทนทรมานเมื่อครั้งอดีตนั้นไม่ได้ทำให้ผมรู้สึกขมขื่น. แน่นอนว่าบางครั้งบางคราวผมรู้สึกซึมเศร้าเนื่องจากการทดลองต่าง ๆ ในอดีต. แต่การมีสัมพันธภาพที่ใกล้ชิดกับพระยะโฮวาพระเจ้าช่วยให้ผมรับมือกับช่วงเวลาที่รู้สึกเช่นนั้นได้. คำกระตุ้นเตือนขององค์พระผู้เป็นเจ้าที่ตรัสกับเปาโลว่า “ฤทธิ์ของเราจะถูกทำให้สมบูรณ์ในความอ่อนแอ” พิสูจน์แล้วว่าเป็นจริงในชีวิตของผมด้วย. (2 โกรินโธ 12:9, ล.ม.) บัดนี้ ขณะที่อายุเกือบ 100 ปีแล้ว ผมสามารถกล่าวได้เช่นเดียวกับอัครสาวกเปาโลว่า “ข้าพเจ้าจึงชื่นใจในความอ่อนแอของข้าพเจ้า, ในเหตุร้ายต่าง ๆ, ในการยากลำบาก, ในการถูกข่มเหง, ในความอับจน, เพราะเห็นแก่พระคริสต์ ด้วยว่าข้าพเจ้าอ่อนแอเมื่อใด, ข้าพเจ้าจึงแข็งแรงมากเมื่อนั้น.”—2 โกรินโธ 12:10.
[ภาพหน้า 25]
ถูกเกสตาโปจับในเดือนเมษายน ปี 1939
เอกสารแจ้งข้อกล่าวหาจากหน่วยเกสตาโปพฤษภาคม 1939
[ที่มาของภาพ]
Both images: Privatarchiv; B. Rammerstorfer
[ภาพหน้า 26]
ภูเขาที่อยู่ใกล้ ๆ เป็นที่หลบภัยของผม
[ที่มาของภาพหน้า 23]
Foto Hofer, Bad Ischl, Austria