ใครจะได้กลับเป็นขึ้นจากตาย?
ใครจะได้กลับเป็นขึ้นจากตาย?
“อย่าประหลาดใจในข้อนี้ เพราะจะมีเวลาที่บรรดาผู้ซึ่งอยู่ในอุโมงค์รำลึกจะได้ยินพระสุรเสียงของพระองค์และจะออกมา.”—โยฮัน 5:28, 29, ล.ม.
1. โมเซได้ยินคำแถลงที่โดดเด่นอะไรตรงพุ่มไม้ที่มีไฟลุกโชน และต่อมามีใครนำคำแถลงนั้นมากล่าวอีกครั้ง?
มีสิ่งแปลกประหลาดเกิดขึ้นเมื่อ 3,500 กว่าปีมาแล้ว. โมเซกำลังเฝ้าฝูงแกะของยิธโรหัวหน้าครอบครัวใหญ่. ทูตสวรรค์ของพระยะโฮวาปรากฏแก่โมเซเป็นเปลวไฟกลางพุ่มไม้ ใกล้ภูเขาโฮเรบ. บันทึกในพระธรรมเอ็กโซโดบอกว่า “โมเซได้พิจารณาดู, เห็นพุ่มไม้นั้นมีไฟลุกโชนอยู่แต่มิได้ไหม้โทรมไป.” ครั้นแล้วก็มีเสียงออกมาจากพุ่มไม้นั้นว่า “เราเป็นพระเจ้าของเจ้า: เราเป็นพระเจ้าของอับราฮาม, พระเจ้าของยิศฮาค, และพระเจ้าของยาโคบ.” (เอ็กโซโด 3:1-6) ต่อมาในศตวรรษแรกแห่งสากลศักราช มีการนำถ้อยคำนี้มากล่าวอีกครั้งไม่ใช่โดยใครอื่น แต่โดยพระเยซูพระบุตรของพระเจ้านั่นเอง.
2, 3. (ก) อับราฮาม, ยิศฮาค, และยาโคบมีความหวังอะไรสำหรับอนาคต? (ข) เกิดคำถามอะไรขึ้น?
2 พระเยซูกำลังสนทนากับบางคนในพวกซาดูกาย ซึ่งไม่เชื่อเรื่องการกลับเป็นขึ้นจากตาย. พระเยซูแถลงว่า “ที่คนตายจะเป็นขึ้นใหม่นั้น โมเซก็ยังได้สำแดงในเรื่องพุ่มไม้ คือที่ได้เรียกพระองค์ว่าเป็น ‘พระเจ้าของอับราฮาม, พระเจ้าของยิศฮาค, และพระเจ้าของยาโคบ.’ เพราะว่าพระเจ้ามิได้เป็นพระเจ้าของคนตาย, แต่เป็นพระเจ้าของคนเป็น ด้วยว่าจำเพาะพระเจ้าคนทุกคนยังเป็นอยู่.” (ลูกา 20:27, 37, 38) โดยการตรัสถ้อยคำเหล่านี้ พระเยซูยืนยันว่าในทัศนะของพระเจ้า อับราฮาม, ยิศฮาค, และยาโคบ ซึ่งล่วงลับไปนานแล้ว ยังมีชีวิตอยู่ในความทรงจำของพระองค์. เช่นเดียวกับโยบ ทั้งสามคอยท่าวันที่ “ช่วงเวลาประจำการ” หรือเวลาที่พวกเขาหลับอยู่ในความตายจะสิ้นสุดลง. (โยบ 14:14, ล.ม.) ในโลกใหม่ของพระเจ้า พวกเขาจะได้รับการปลุกให้เป็นขึ้นมาจากตาย.
3 แต่สำหรับอีกหลายพันล้านคนที่เสียชีวิตไปตลอดประวัติศาสตร์ของมนุษย์ล่ะ พวกเขาจะได้รับการปลุกให้เป็นขึ้นมาจากตายด้วยไหม? ก่อนที่เราจะทราบคำตอบที่น่าพอใจสำหรับคำถามนี้ ให้เรามาดูจากพระคำของพระเจ้ากันก่อนว่าคนเราตายแล้วไปไหน.
คนตายอยู่ที่ไหน?
4. (ก) คนเราตายแล้วไปไหน? (ข) เชโอลคืออะไร?
4 คัมภีร์ไบเบิลแถลงว่าคนตายแล้ว “ไม่รู้อะไรเลย.” เมื่อ * แทนที่จะเป็นอย่างนั้น พวกเขาเพียงแต่กลับกลายเป็นดิน. ด้วยเหตุนี้ พระคำของพระเจ้าจึงให้คำแนะนำสำหรับคนที่ยังเป็นอยู่ว่า “เมื่อมือไม้ของเจ้าจับการอันใดทำ, จงกระทำการอันนั้นด้วยกำลังวังชาของเจ้าเถิด; เพราะว่าไม่มีการงาน, หรือโครงการ, หรือความรู้หรือสติปัญญาในเมืองผี [“เชโอล,” ล.ม.] ที่เจ้าจะไปนั้น.” (ท่านผู้ประกาศ 9:5, 10; เยเนซิศ 3:19) คำ “เมืองผี” ในที่นี้ ซึ่งแปลมาจากคำฮีบรู “เชโอล” เป็นคำแปลที่ไม่ถูกต้อง. หลายศาสนาสอนว่าคนตายแล้วยังมีชีวิตอยู่ แต่ตามที่พระคำของพระเจ้าที่มีขึ้นโดยการดลใจแสดงให้เห็น คนที่อยู่ในเชโอลไม่มีชีวิต ไม่สามารถรับรู้อะไร. เชโอลคือหลุมศพทั่วไปของมนุษย์.
คนเราตาย เขาไม่ถูกทรมานในไฟนรก หรือไปรอคอยอย่างทนทุกข์อยู่ในลิมโบ5, 6. ยาโคบไปที่ไหนเมื่อสิ้นใจ และท่านไปยังที่เดียวกันกับใคร?
5 ในสำเนาต้นฉบับภาษาฮีบรู เราพบคำ “เชโอล” ครั้งแรกที่เยเนซิศ 37:35 ซึ่งในข้อนี้ คัมภีร์ไบเบิลฉบับที่เราใช้อยู่แปลคำนี้ได้อย่างถูกต้องว่า “ที่ฝังศพ.” หลังจากที่ดูเหมือนว่ายาโคบปฐมบรรพบุรุษสูญเสียโยเซฟบุตรชายสุดที่รักไป ท่านไม่ยอมรับการปลอบโยนและประกาศว่า “เราจะโศกเศร้าถึงบุตรของเรากว่าเราจะลงในที่ฝังศพ [“เชโอล,” ล.ม.] ตามกันไป.” เพราะเชื่อว่าลูกชายตายไปแล้ว ยาโคบจึงอยากตายและอยู่ในเชโอล. ต่อมา บุตรเก้าคนของยาโคบต้องการจะพาเบ็นยามินน้องสุดท้องไปยังอียิปต์ด้วยเพื่อหาเสบียงบรรเทาความอดอยาก. แต่ยาโคบไม่ยอมและกล่าวว่า “เราไม่ยอมให้เบ็นยามินไปกับเจ้า; เพราะพี่ชายก็ตายเสียแล้ว, เหลืออยู่แต่เบ็นยามินคนนี้: ถ้าเกิดอันตรายแก่ลูกเราในทางที่เจ้าจะไปนั้น, เจ้าจะพาผมหงอกของเราลงสู่หลุมฝังศพ [“เชโอล,” ล.ม.] ด้วยความทุกข์.” (เยเนซิศ 42:36, 38) ข้อคัมภีร์ทั้งสองข้อนี้เชื่อมโยงเชโอลกับความตาย ไม่ใช่ชีวิตบางรูปแบบหลังความตาย.
6 เรื่องราวในพระธรรมเยเนซิศเผยว่าโยเซฟได้กลายมาเป็นผู้อำนวยการด้านเสบียงอาหารในอียิปต์. ด้วยเหตุนี้ ยาโคบจึงสามารถเดินทางไปที่นั่นเพื่ออยู่กับโยเซฟอย่างมีความสุขอีกครั้ง. หลังจากนั้น ยาโคบอาศัยอยู่ในดินแดนนั้นจนกระทั่งตายจากไปเมื่อชราภาพมากแล้วขณะอายุได้ 147 ปี. ลูก ๆ นำศพของยาโคบไปฝังในถ้ำมัคเพลาในแผ่นดินคะนาอันตามคำขอของท่านก่อนสิ้นใจ. (เยเนซิศ 47:28; 49:29-31; 50:12, 13) โดยวิธีนี้ ยาโคบจึงไปยังที่เดียวกันกับยิศฮาคและอับราฮาม บิดากับปู่ของท่าน.
‘ถูกรวมไว้กับบรรพบุรุษของพวกเขา’
7, 8. (ก) อับราฮามไปที่ไหนเมื่อสิ้นชีวิต? จงอธิบาย. (ข) อะไรแสดงว่าคนอื่น ๆ ก็ไปยังเชโอลเมื่อสิ้นชีวิต?
7 ก่อนหน้านั้น ในคราวที่พระยะโฮวายืนยันคำสัญญากับอับราฮามและให้คำรับรองว่าพงศ์พันธุ์ของท่านจะทวีขึ้นเป็นจำนวนมากมาย พระองค์ทรงบอกถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับอับราฮาม. พระยะโฮวาตรัสว่า “เจ้าจะไปตามปู่ย่าตายายโดยผาสุก; เวลาชรามากแล้ว เขาจะฝังศพเจ้าไว้.” (เยเนซิศ 15:15) แล้วนี่ก็คือสิ่งที่เกิดขึ้นจริง. เยเนซิศ 25:8 (ล.ม.) กล่าวว่า “อับราฮามสิ้นลมและตายเมื่อชรามาก ชราและพึงพอใจ และถูกรวมไว้กับบรรพบุรุษของท่าน.” บรรพบุรุษของท่านมีใครบ้าง? เยเนซิศ 11:10-26 ลงรายชื่อบรรพบุรุษของท่านย้อนหลังไปถึงเซมบุตรชายของโนฮา. เพราะฉะนั้น ผู้อยู่ในเชโอลเหล่านี้แหละที่อับราฮามถูกรวมไว้ด้วยกันกับพวกเขาเมื่อท่านสิ้นชีวิต.
8 สำนวน “ถูกรวมไว้กับบรรพบุรุษของท่าน” (ล.ม.) ปรากฏบ่อยครั้งในพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรู. ฉะนั้น จึงเป็นเรื่องสมเหตุสมผลที่จะสรุปว่า ยิศมาเอลบุตรชายอับราฮามและอาโรนพี่ชายโมเซ ต่างไปยังเชโอลเมื่อสิ้นชีวิตและคอยการกลับเป็นขึ้นจากตาย. (เยเนซิศ 25:17; อาฤธโม 20:23-29) เพราะเหตุผลนี้ โมเซย่อมไปยังเชโอลด้วย แม้ว่าไม่มีใครรู้ว่าที่ฝังศพของท่านอยู่ที่ไหน. (อาฤธโม 27:13; พระบัญญัติ 34:5, 6) ด้วยเหตุผลเดียวกัน ยะโฮซูอะผู้สืบตำแหน่งผู้นำชาติอิสราเอลต่อจากโมเซ รวมทั้งคนชั่วอายุนั้นทั้งสิ้น ก็ไปยังเชโอลเช่นกันเมื่อสิ้นชีวิต.—วินิจฉัย 2:8-10.
9. (ก) คัมภีร์ไบเบิลแสดงอย่างไรว่า คำ “เชโอล” ในภาษาฮีบรู กับคำ “ฮาเดส” ในภาษากรีก ต่างหมายถึงสถานที่เดียวกัน? (ข) มีความหวังเช่นไรสำหรับคนที่อยู่ในเชโอล หรือฮาเดส?
9 หลายศตวรรษต่อมา ดาวิดขึ้นเป็นกษัตริย์ครองอิสราเอล 12 ตระกูล. เมื่อสิ้นชีวิต ดาวิด “ไปอยู่กับบรรพบุรุษของพระองค์.” (1 กษัตริย์ 2:10, ฉบับแปลใหม่) ดาวิดไปยัง เชโอลด้วยไหม? น่าสนใจ ในวันเพนเทคอสต์ ส.ศ. 33 อัครสาวกเปโตรกล่าวถึงความตายของดาวิด และยกข้อความจากบทเพลงสรรเสริญ 16:10 ที่ว่า “พระองค์จะไม่ทรงสละทิ้งจิตต์วิญญาณของข้าพเจ้าไว้ในเมืองผี [“เชโอล,” ล.ม.].” หลังจากกล่าวว่าดาวิดยังอยู่ในอุโมงค์ฝังศพ เปโตรนำข้อคัมภีร์นี้มาใช้กับพระเยซู และชี้ว่าดาวิด “ล่วงรู้เหตุนี้ก่อน, จึงกล่าวถึงการคืนพระชนม์ของพระคริสต์ว่าวิญญาณจิตต์ของพระองค์ไม่ต้องละไว้ในเมืองผี [“ฮาเดส,” ล.ม.], ทั้งพระมังสะของพระองค์ก็ไม่เปื่อยเน่าไป. พระเยซูนี้พระเจ้าได้ทรงบันดาลให้คืนพระชนม์แล้ว ข้าพเจ้าทั้งหลายเป็นพยานด้วยเหตุการณ์นี้.” (กิจการ 2:29-32) ในที่นี้เปโตรใช้คำ “ฮาเดส” ซึ่งเป็นคำภาษากรีกที่มีความหมายตรงกับคำ “เชโอล” ในภาษาฮีบรู. ด้วยเหตุนี้ คนที่พระคัมภีร์กล่าวว่าอยู่ในฮาเดสจึงอยู่ในสภาพเดียวกันกับคนที่อยู่ในเชโอล. พวกเขาหลับอยู่ คอยท่าการกลับเป็นขึ้นจากตาย.
มีคนอธรรมในเชโอลไหม?
10, 11. ทำไมเรากล่าวได้ว่าคนอธรรมบางคนไปยังเชโอล (หรือฮาเดส) เมื่อจบชีวิต?
10 หลังจากโมเซนำชาติอิสราเอลออกจากอียิปต์แล้ว บางคนได้ก่อการกบฏขณะอยู่ในถิ่นทุรกันดาร. โมเซบอกประชาชนให้แยกตัวจากผู้นำการกบฏ คือ โครา, ดาธาร, และอะบีราม. ในอีกไม่ช้าพวกเขาจะเสียชีวิตด้วยเหตุอันผิดธรรมดา. โมเซอธิบายว่า “ถ้าคนเหล่านี้ตายตามธรรมดา, หรือถ้าคนเหล่านี้ตายเพราะภัยอันซึ่งเคยปรากฏแก่คนทั้งปวงจึงจะรู้ว่าพระยะโฮวาไม่ได้ใช้ข้าพเจ้า. แต่ทว่า, ถ้าพระยะโฮวาสำแดงการอัศจรรย์บันดาลให้แผ่นดินอ้าปากกลืนคนเหล่านี้ลงไป, กับสิ่งของทั้งปวงของเขาให้ลงไปในเหวอันลึก [“เชโอล,” ล.ม.] ทันที, ท่านทั้งหลายจงได้รู้เข้าใจว่า, คนเหล่านี้ได้ประมาทหมิ่นต่อพระยะโฮวา.” (อาฤธโม 16:29, 30) ฉะนั้น ไม่ว่าโดยถูกธรณีสูบ หรือถูกไฟเผาผลาญเช่นในกรณีของโครากับชาวเลวี 250 คนที่อยู่ฝ่ายเขา ทุกคนที่กบฏต่างไปยังเชโอล (หรือฮาเดส) ในที่สุด.—อาฤธโม 26:10.
11 ซิมอีผู้เคยแช่งด่ากษัตริย์ดาวิด ถูกซะโลโมผู้สืบราชบัลลังก์ต่อจากดาวิดลงทัณฑ์. ดาวิดสั่งว่า “อย่าถือว่าเขาไม่มีโทษ: เพราะเจ้าเป็นคนฉลาดมาก, เจ้าก็รู้แล้วว่าควรจะทำอะไรแก่เขา; แต่ศีรษะหงอกของเขาจงให้มายังหลุมฝังศพ [“เชโอล,” ล.ม.] ด้วยโลหิต.” ซะโลโมสั่งบะนายาไปประหารเขา. (1 กษัตริย์ 2:8, 9, 44-46) อีกคนหนึ่งที่ถูกประหารด้วยคมดาบของบะนายาคือโยอาบ อดีตแม่ทัพของอิสราเอล. ศีรษะหงอกของโยอาบไม่ได้ “ลงไปยังหลุมฝังศพ [“เชโอล,” ล.ม.] โดยความสุข.” (1 กษัตริย์ 2:5, 6, 28-34) ตัวอย่างทั้งสองนี้เป็นหลักฐานพิสูจน์ความจริงของเพลงที่ดาวิดเขียนขึ้นโดยการดลใจที่ว่า “คนชั่วต้องกลับไปยังเมืองผี [“เชโอล,” ล.ม.], คือบรรดาชนชาติที่ละลืมพระเจ้า.”—บทเพลงสรรเสริญ 9:17.
12. อะฮีโธเฟลเป็นใคร และเขาไปที่ไหนเมื่อจบชีวิตลง?
12 อะฮีโธเฟลเป็นที่ปรึกษาส่วนพระองค์ของดาวิด. ถือกันว่าคำปรึกษาของเขามีคุณค่ายิ่งราวกับว่ามาจากพระยะโฮวาเอง. (2 ซามูเอล 16:23) น่าเศร้า ผู้รับใช้ซึ่งเป็นที่ไว้วางใจผู้นี้กลับทรยศ หันไปคบคิดกับอับซาโลมผู้นำการกบฏซึ่งเป็นราชบุตรของดาวิด. ดูเหมือนว่าดาวิดพาดพิงถึงการกบฏนี้เมื่อเขียนว่า “หาใช่พวกศัตรูที่ติฉินนินทาข้าพเจ้า; ถ้าเท่านั้นข้าพเจ้าจะอดทนได้: และก็หาใช่คนที่เกลียดชังข้าพเจ้ามาจองหองพองขนเอากับข้าพเจ้า; ถ้าเป็นเช่นนั้นข้าพเจ้าก็จะซ่อนตัวเสียให้พ้นได้.” ดาวิดกล่าวต่อไปว่า “ขอให้ ความพินาศมีแก่เขาทั้งหลายโดยฉับพลัน, ขอให้เขาลงไปยังเมืองผี [“เชโอล,” ล.ม.] ทั้งเป็น; เพราะความชั่วร้ายต่าง ๆ อยู่ในหมู่บ้านของเขา, อยู่ภายในพวกของเขา.” (บทเพลงสรรเสริญ 55:12-15) เมื่อจบชีวิต อะฮีโธเฟลกับพวกพ้องของตนไปยังเชโอล.
ใครอยู่ในเกเฮนนา?
13. เหตุใดยูดาจึงถูกเรียกว่า “ลูกของความพินาศ”?
13 ขอให้เปรียบเทียบสิ่งที่เกิดขึ้นกับดาวิดกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับดาวิดองค์ยิ่งใหญ่คือพระเยซู. ยูดาอิศการิโอด หนึ่งในอัครสาวก 12 คน กลายเป็นผู้ทรยศเช่นเดียวกับอะฮีโธเฟล. การทรยศของยูดาร้ายแรงกว่าของอะฮีโธเฟลมาก. ยูดาทรยศพระบุตรผู้ได้รับกำเนิดองค์เดียวของพระเจ้า. ในช่วงท้ายของงานรับใช้ทางแผ่นดินโลก พระบุตรของพระเจ้าทูลรายงานเกี่ยวกับสาวกของพระองค์ในคำอธิษฐานดังนี้: “เมื่อข้าพเจ้ายังอยู่ด้วยคนเหล่านั้น ข้าพเจ้าก็ได้พิทักษ์รักษาเขาไว้ในนามของพระองค์, คือพวกที่พระองค์ได้ทรงประทานแก่ข้าพเจ้า, และข้าพเจ้าได้ป้องกันเขาไว้ และมิได้ให้ผู้หนึ่งผู้ใดเสียไปเว้นแต่ลูกของความพินาศ, เพื่อพระคัมภีร์ที่เขียนไว้แล้วจะสำเร็จ.” (โยฮัน 17:12) โดยการเอ่ยถึงยูดาว่า “ลูกของความพินาศ” พระเยซูบ่งชี้ว่าเมื่อยูดาตายไป เขาหมดหวังที่จะได้เป็นขึ้นจากตาย. เขาไม่มีชีวิตอยู่ในความทรงจำของพระเจ้าอีกต่อไป. เขาไม่ได้ไปยังเชโอล แต่ไปยังเกเฮนนา. เกเฮนนาคืออะไร?
14. เกเฮนนาใช้หมายถึงอะไร?
14 พระเยซูกล่าวโทษพวกผู้นำศาสนาในสมัยของพระองค์เพราะคนเหล่านี้ทำให้คนที่ติดตามพวกเขา “เป็นลูกแห่งนรก [“เกเฮนนา,” ล.ม.].” (มัดธาย 23:15) “เกเฮนนา” คือ “หุบเขาฮินนอม.” ในสมัยนั้น ผู้คนคุ้นเคยดีกับหุบเขาฮินนอม บริเวณทิ้งขยะซึ่งซากศพของอาชญากรที่ถูกประหารและไม่คู่ควรกับการฝังจะถูกทิ้งลงที่นี่. ก่อนหน้านี้ พระเยซูเคยกล่าวถึงเกเฮนนามาแล้วในคำเทศน์บนภูเขา. (มัดธาย 5:29, 30) ผู้ฟังของพระองค์เข้าใจความหมายเชิงเปรียบเทียบของสถานที่นี้ดี. เกเฮนนาใช้หมายถึงการถูกทำลายอย่างสิ้นเชิงโดยไม่มีความหวังจะเป็นขึ้นจากตายอีก. นอกจากยูดาอิศการิโอดในสมัยพระเยซูแล้ว มีใครอื่นอีกไหมที่ไปยังเกเฮนนาเมื่อสิ้นชีวิต แทนที่จะไปยังเชโอล หรือฮาเดส?
15, 16. ใครไปยังเกเฮนนาเมื่อตาย และคนเหล่านี้ไปที่นั่นเพราะเหตุใด?
15 อาดามกับฮาวามนุษย์คู่แรกถูกสร้างขึ้นเป็นมนุษย์สมบูรณ์. การกระทำบาปของทั้งสองเป็นการกระทำโดยเจตนา. พวกเขามีโอกาสเลือกระหว่างชีวิตตลอดไปกับความตาย. ทั้งสองไม่เชื่อฟังพระเจ้าและอยู่ฝ่ายซาตาน. เมื่อตายไป อาดามกับฮาวาไม่มีหวังที่จะได้รับประโยชน์จากเครื่องบูชาไถ่ของพระคริสต์. ทั้งสองไปยังเกเฮนนา.
16 คายินบุตรหัวปีของอาดามฆ่าเฮเบลน้องชาย และใช้ชีวิตอย่างผู้หลบหนีนับแต่นั้นมา. อัครสาวกโยฮันกล่าวถึงคายินว่า “มาจากมาร.” (1 โยฮัน 3:12) นับว่าสมเหตุสมผลที่จะลงความเห็นว่า คายินไปยังเกเฮนนาเหมือนอย่าง พ่อแม่ของเขาเมื่อสิ้นชีวิต. (มัดธาย 23:33, 35) นี่ต่างกันอย่างสิ้นเชิงกับกรณีของเฮเบลผู้ชอบธรรม! เปาโลอธิบายว่า “โดยความเชื่อเฮเบลนั้นจึงได้นำเครื่องบูชาอันประเสริฐกว่าเครื่องบูชาของคายินมาถวายแก่พระเจ้า เพราะเหตุเครื่องบูชานั้นจึงมีพยานว่าเขาเป็นคนชอบธรรม, คือพระเจ้าทรงเป็นพยานแก่ของถวายของเขา” และเสริมว่า “โดยความเชื่อนั้น, แม้ว่าเฮเบลตายแล้ว เขาก็ยังพูดอยู่.” (เฮ็บราย 11:4) ใช่แล้ว เฮเบลกำลังอยู่ในเชโอลคอยท่าการกลับเป็นขึ้นจากตาย.
การกลับเป็นขึ้นจากตาย “ที่หนึ่ง” กับ “อันประเสริฐกว่า”
17. (ก) ใครไปยังเชโอลระหว่าง “เวลาอวสาน” นี้? (ข) มีความหวังอะไรสำหรับผู้ที่อยู่ในเชโอล และจะเกิดอะไรขึ้นกับผู้ที่อยู่ในเกเฮนนา?
17 หลายคนที่อ่านเรื่องการกลับเป็นขึ้นจากตายนี้อาจสงสัยว่าผู้ที่เสียชีวิตไประหว่าง “เวลาอวสาน” จะเป็นเช่นไร. (ดานิเอล 8:19, ล.ม.) พระธรรมวิวรณ์บท 6 พรรณนาภาพการขี่ม้าของผู้ขี่ม้าสี่คนระหว่างช่วงอวสานนั้น. น่าสนใจ ผู้ขี่ม้าตัวหลังสุดมีชื่อว่าความตาย และฮาเดสตามหลังเขาไป. ฉะนั้น หลายคนที่ตายก่อนวัยอันควรเนื่องด้วยเหตุการณ์และสภาพการณ์ที่ให้ภาพไว้โดยคนขี่ม้าสามคนหลังจึงถูกรวบไปยังฮาเดส เพื่อคอยท่าการกลับเป็นขึ้นจากตายในโลกใหม่ของพระเจ้า. (วิวรณ์ 6:8) ดังนั้นแล้ว มีอะไรคอยอยู่สำหรับผู้อยู่ในเชโอล (หรือฮาเดส) และผู้อยู่ในเกเฮนนา? กล่าวง่าย ๆ ก็คือ จะมีการกลับเป็นขึ้นจากตายสำหรับผู้ที่อยู่ในเชโอล และจะมีความพินาศตลอดกาล—สูญสิ้นไป—สำหรับผู้ที่อยู่ในเกเฮนนา.
18. มีความหวังอะไรสำหรับผู้มีส่วนใน “การกลับเป็นขึ้นจากตายที่หนึ่ง”?
18 อัครสาวกโยฮันเขียนดังนี้: “ผู้ใดมีส่วนในการกลับเป็นขึ้นจากตายที่หนึ่งก็เป็นสุขและบริสุทธิ์; ความตายที่สองไม่มีอำนาจเหนือคนเหล่านี้ แต่พวกเขาจะเป็นปุโรหิตของพระเจ้าและของพระคริสต์ และจะปกครองเป็นกษัตริย์กับพระองค์ตลอดพันปีนั้น.” คนเหล่านี้ที่จะปกครองร่วมกับพระคริสต์คือคนที่มีส่วนใน “การกลับเป็นขึ้นจากตายที่หนึ่ง” แต่มนุษยชาติที่เหลือนอกนั้นมีความหวังอะไร?—วิวรณ์ 20:6, ล.ม.
19. บางคนได้รับประโยชน์อย่างไรจาก “การเป็นขึ้นมาจากตายอันประเสริฐกว่า”?
19 ตั้งแต่สมัยของเอลียากับอะลีซาผู้รับใช้ของพระเจ้าเป็นต้นมา การอัศจรรย์เกี่ยวกับการปลุกคนให้เป็นขึ้นจากตายทำให้ผู้คนกลับมามีชีวิตอีก. เปาโลพรรณนาว่า “พวกผู้หญิงได้รับคนพวกของเขาที่ตายแล้วเป็นขึ้นมาจากตายอีก. บางคนได้ถูกการทรมาน, เพราะไม่ยอมรับการช่วยให้รอดตาย, เพื่อเขาจะได้รับการเป็นขึ้นมาจากตายอันประเสริฐกว่า.” ถูกแล้ว ผู้รักษาความซื่อสัตย์มั่นคงเหล่านี้ตั้งตาคอยการกลับเป็นขึ้นจากตายที่ให้ความหวังว่าจะมีชีวิต ไม่ใช่อีกเพียงไม่กี่ปีแล้วตายไป แต่เป็นชีวิตนิรันดร์! นั่นจะเป็น “การเป็นขึ้นมาจากตายอันประเสริฐกว่า” อย่างแท้จริง.—เฮ็บราย 11:35.
20. บทความถัดไปจะพิจารณาเรื่องใด?
20 หากเราเสียชีวิตไปด้วยความซื่อสัตย์ก่อนพระยะโฮวานำอวสานมาสู่ระบบชั่วนี้ เรามีความหวังที่แน่นอนเรื่อง “การเป็นขึ้นมาจากตายอันประเสริฐกว่า” ประเสริฐกว่าในแง่ที่ว่าเป็นการกลับเป็นขึ้นจากตายพร้อมด้วยความหวังที่จะมีชีวิตนิรันดร์. พระเยซูสัญญาว่า “อย่าประหลาดใจในข้อนี้ เพราะจะมีเวลาที่บรรดาผู้ซึ่งอยู่ในอุโมงค์รำลึกจะได้ยินพระสุรเสียงของพระองค์และจะออกมา.” (โยฮัน 5:28, 29, ล.ม.) บทความถัดไปจะพิจารณาต่อในเรื่องจุดมุ่งหมายของการกลับเป็นขึ้นจากตาย. บทความนั้นจะแสดงให้เห็นว่าความหวังเรื่องการกลับเป็นขึ้นจากตายเสริมกำลังเราที่จะรักษาความซื่อสัตย์มั่นคงและช่วยเราพัฒนาน้ำใจเสียสละอย่างไร.
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 4 ตามคำสอนของศาสนาโรมันคาทอลิก ลิมโบเป็นสถานที่อยู่สำหรับคนดีและทารกที่ตายไปโดยยังไม่ได้รับศีลล้างบาป.
คุณจำได้ไหม?
• ทำไมจึงมีการพรรณนาพระยะโฮวาว่าเป็นพระเจ้า “ของคนเป็น”?
• สภาพของคนที่อยู่ในเชโอลเป็นอย่างไร?
• จะเกิดอะไรขึ้นกับผู้ที่อยู่ในเกเฮนนา?
• บางคนจะได้รับประโยชน์อย่างไรจาก “การเป็นขึ้นมาจากตายอันประเสริฐกว่า”?
[คำถาม]
[ภาพหน้า 15]
เช่นเดียวกับอับราฮาม คนที่ไปเชโอลมีความหวังจะได้เป็นขึ้นมาจากตาย
[ภาพหน้า 16]
อาดามกับฮาวา, คายิน, และยูดาอิศการิโอด ไปเกเฮนนาเพราะเหตุใด?