‘จงรู้จักอดกลั้นในสภาพการณ์ที่ไม่ดี’
‘จงรู้จักอดกลั้นในสภาพการณ์ที่ไม่ดี’
“ทาสขององค์พระผู้เป็นเจ้าต้องไม่ต่อสู้ แต่ต้องสุภาพต่อคนทั้งปวง . . . รู้จักอดกลั้นในสภาพการณ์ที่ไม่ดี.”—2 ติโมเธียว 2:24, ล.ม.
1. เมื่อทำกิจกรรมของคริสเตียน ทำไมเราจึงพบคนที่พูดจาไม่สุภาพกับเราเป็นครั้งคราว?
คุณมีปฏิกิริยาอย่างไรเมื่อพบคนที่แสดงความไม่พอใจคุณหรือองค์การศาสนาของคุณ? ในคำพรรณนาเกี่ยวกับสมัยสุดท้าย อัครสาวกเปาโลบอกไว้ล่วงหน้าว่าผู้คนจะ “เป็นคนหลู่เกียรติยศของพระเจ้า . . . เป็นคนหาความใส่เขา, เป็นคนไม่มีสติรั้งใจ, เป็นคนดุร้าย.” (2 ติโมเธียว 3:1-5, 12) คุณอาจพบคนแบบนั้นในงานประกาศหรือกิจกรรมอื่น ๆ.
2. ข้อคัมภีร์ใดบ้างสามารถช่วยเราให้ปฏิบัติอย่างสุขุมต่อผู้คนที่พูดหยาบคายต่อเรา?
2 ใช่ว่าทุกคนที่ใช้วาจาแข็งกร้าวจะเป็นคนไม่สนใจสิ่งที่ถูกต้อง. ความลำบากยากแค้นหรือความคับข้องใจอาจทำให้เขาเกรี้ยวกราดใส่ใครก็ตามที่อยู่รอบข้าง. (ท่านผู้ประกาศ 7:7) หลายคนทำแบบนั้นเนื่องจากทำงานหรืออาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมที่การใช้คำพูดหยาบคายเป็นเรื่องปกติธรรมดา. นั่นไม่ได้ทำให้คำพูดเช่นนั้นเป็นที่ยอมรับได้สำหรับเราที่เป็นคริสเตียน แต่ช่วยเราให้เข้าใจว่าทำไมคนอื่น ๆ จึงใช้คำพูดแบบนั้น. เราควรมีปฏิกิริยาเช่นไรต่อคำพูดเกรี้ยวกราด? สุภาษิต 19:11 (ล.ม.) กล่าวว่า “คนที่เข้าใจเรื่องราวอย่างลึกซึ้งย่อมไม่โกรธเร็ว.” และโรม 12:17, 18 แนะนำว่า “อย่าทำชั่วตอบแทนชั่วแก่ผู้หนึ่งผู้ใดเลย. . . . หากท่านจัดได้จงกระทำตนให้เป็นที่สงบสุขแก่คนทั้งปวง.”
3. การเป็นคนรักสันติเกี่ยวข้องกับข่าวสารที่เราประกาศอย่างไร?
สุภาษิต 17:27) เมื่อพระเยซูส่งอัครสาวกออกไปประกาศ พระองค์แนะนำพวกเขาว่า “ขณะเมื่อขึ้นเรือน จงให้พรแก่ครัวเรือนนั้น [“จงขอให้สันติสุขมีแก่ครัวเรือนนั้น,” เดอะ นิว อิงลิช ไบเบิล] ถ้าครัวเรือนนั้นสมควรรับพร ก็ให้สันติสุขของท่านอยู่กับเรือนนั้น แต่ถ้าครัวเรือนนั้นไม่สมควรรับพร ก็ให้สันติสุขนั้นกลับคืนมาสู่ท่านอีก.” (มัดธาย 10:12, 13, ฉบับแปลใหม่) ข่าวสารที่เราประกาศคือข่าวดี. คัมภีร์ไบเบิลเรียกข่าวสารนี้ว่า “ข่าวดีแห่งสันติสุข,” “ข่าวดีเกี่ยวกับพระกรุณาอันไม่พึงได้รับของพระเจ้า,” และ “ข่าวดีเรื่องราชอาณาจักร.” (เอเฟโซ 6:15, ล.ม.; กิจการ 20:24, ล.ม.; มัดธาย 24:14, ล.ม.) เป้าหมายของเราไม่ใช่วิพากษ์วิจารณ์ความเชื่อของคนอื่น หรือโต้แย้งความคิดเห็นของเขา แต่เพื่อแบ่งปันข่าวดีจากพระคำของพระเจ้า.
3 ถ้าเราเป็นคนรักสันติจริง ๆ สิ่งนี้จะปรากฏให้เห็นในท่าทีที่เราแสดงออก. การเป็นคนรักสันติจะสะท้อนออกทางคำพูดและการกระทำ และอาจแสดงออกทางสีหน้าและน้ำเสียงของเราด้วย. (4. เราอาจพูดอะไรได้เมื่อเจ้าของบ้านบอกว่า “ฉันไม่สนใจ” เมื่อคุณยังไม่ทันได้บอกเหตุผลที่มาเยี่ยม?
4 โดยยังไม่ทันได้ฟัง เจ้าของบ้านอาจรีบพูดตัดบทว่า “ฉันไม่สนใจ.” ในหลายกรณี คุณอาจกล่าวว่า “ผมเพียงอยากอ่านข้อความสั้น ๆ จากคัมภีร์ไบเบิลในข้อนี้ให้คุณฟัง.” เขาอาจไม่ปฏิเสธข้อเสนอนั้น. หรือบางกรณีอาจเหมาะที่จะพูดว่า “ผมอยากจะบอกคุณเกี่ยวกับสมัยหนึ่งที่ความอยุติธรรมจะหมดไป และทุกคนเรียนรู้ที่จะรักกันและกัน.” ถ้าเจ้าของบ้านไม่มีทีท่าว่าอยากรู้มากขึ้น คุณอาจพูดต่อว่า “แต่ดูเหมือนว่าคุณจะยังไม่สะดวกในตอนนี้.” แม้การตอบรับของเจ้าของบ้านจะเป็นแบบที่ไม่เป็นมิตร เราควรสรุปไหมว่าเขา “ไม่สมควรรับพร”? ไม่ว่าเจ้าของบ้านจะมีปฏิกิริยาอย่างไร จงจำไว้ว่าคัมภีร์ไบเบิลแนะนำเราให้ “สุภาพต่อคนทั้งปวง . . . รู้จักอดกลั้นในสภาพการณ์ที่ไม่ดี.”—2 ติโมเธียว 2:24, ล.ม.
ห้าวหาญแต่ไปผิดทาง
5, 6. เซาโลปฏิบัติกับสาวกของพระเยซูอย่างไร และทำไมท่านจึงกระทำอย่างนั้น?
5 ในศตวรรษแรก ชายคนหนึ่งชื่อเซาโลเป็นที่รู้จักในเรื่องการใช้วาจาเหยียดหยาม รวมถึงการใช้ความรุนแรง. คัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่า ท่าน “ขู่คำรามกล่าวว่าจะฆ่าศิษย์ของพระเยซู.” (กิจการ 9:1, 2) ภายหลัง ท่านยอมรับว่าเคย “เป็นคนหลู่เกียรติยศพระเจ้า, และเป็นคนข่มเหง, และ เป็นคนทำการหมิ่นประมาท.” (1 ติโมเธียว 1:13) ทั้ง ๆ ที่ดูเหมือนญาติบางคนของท่านเข้ามาเป็นคริสเตียนแล้ว แต่ทัศนะของเซาโลต่อสาวกของพระคริสต์ก็ยังเป็นแบบที่ท่านเองได้บอกไว้ว่า “เพราะข้าพเจ้าโกรธเขายิ่งนัก, ข้าพเจ้าได้ตามไปข่มเหงเขาถึงเมืองต่างประเทศ.” (กิจการ 23:16; 26:11; โรม 16:7, 11) ขณะที่เซาโลกระทำเช่นนี้ ไม่มีหลักฐานที่แสดงว่าพวกสาวกพยายามโต้แย้งกับท่านในที่สาธารณะ.
6 ทำไมเซาโลจึงกระทำอย่างนั้น? หลายปีต่อมา ท่านเขียนว่า “ข้าพเจ้าได้กระทำอย่างนั้นก็กระทำไปโดยความเขลาเพราะความไม่เชื่อ.” (1 ติโมเธียว 1:13) ท่านเป็นฟาริซาย และได้เล่าเรียน ‘ตามบัญญัติของบรรพบุรุษโดยถี่ถ้วนทุกประการ.’ (กิจการ 22:3) แม้ฆามาลิเอลครูของเซาโลดูจะเป็นคนใจกว้างอยู่ แต่มหาปุโรหิตกายะฟาซึ่งเซาโลสนิทสนมด้วยนั้นเป็นคนคลั่งศาสนาอย่างเห็นได้ชัด. กายะฟาเป็นตัวตั้งตัวตีวางแผนการจนทำให้พระเยซูคริสต์ถูกประหาร. (มัดธาย 26:3, 4, 63-66; กิจการ 5:34-39) ต่อมา กายะฟาจัดการให้เหล่าอัครสาวกของพระเยซูถูกเฆี่ยน และสั่งพวกเขาอย่างเด็ดขาดให้เลิกประกาศในนามเยซู. กายะฟาเป็นประธานศาลซันเฮดรินในการพิจารณาคดีที่มีการใช้อารมณ์รุนแรง ซึ่งทำให้ซะเตฟาโนถูกพาตัวออกไปเอาหินขว้าง. (กิจการ 5:27, 28, 40; 7:1-60) เซาโลเฝ้าดูการฆ่าซะเตฟาโนในครั้งนั้น และกายะฟาให้อำนาจท่านดำเนินการปราบปรามสาวกของพระเยซูต่อไปโดยไปจับมัดพวกเขาที่เมืองดามัสกัส (ดาเมเซ็ก). (กิจการ 8:1; 9:1, 2) ด้วยอิทธิพลจากกายะฟา เซาโลจึงคิดว่าการกระทำของตนเป็นหลักฐานแสดงถึงความมีใจแรงกล้าเพื่อพระเจ้า แต่จริง ๆ แล้ว ท่านขาดความเชื่อที่ถูกต้อง. (กิจการ 22:3-5) ผลคือ เซาโลมองไม่ออกว่าพระเยซูคือพระมาซีฮาจริง ๆ. แต่เซาโลได้มารู้สำนึกในคราวที่พระเยซูผู้ถูกปลุกให้คืนพระชนม์ ได้ตรัสกับท่านในวิธีที่น่าอัศจรรย์บนเส้นทางสู่เมืองดามัสกัส.—กิจการ 9:3-6.
7. การได้พบกับพระเยซูบนเส้นทางไปสู่เมืองดามัสกัสส่งผลเช่นไรต่อเซาโล?
7 ไม่นานหลังจากนั้น สาวกอะนาเนียถูกส่งไปให้คำพยานแก่เซาโล. ถ้าคุณเป็นอะนาเนีย คุณจะเต็มใจยินดีไปไหม? อะนาเนียรู้สึกหวาดหวั่น แต่ก็ได้พูดกับเซาโลอย่างกรุณา. ทัศนะของเซาโลเปลี่ยนไปเนื่องจากได้พบกับพระเยซูอย่างน่าอัศจรรย์บนเส้นทางสู่เมืองดามัสกัส. (กิจการ 9:10-22) ต่อมาท่านกลายเป็นที่รู้จักฐานะอัครสาวกเปาโล มิชชันนารีคริสเตียนผู้มีใจแรงกล้า.
จิตใจอ่อนโยนแต่ก็องอาจ
8. พระเยซูสะท้อนทัศนะของพระบิดาที่มีต่อคนที่ประพฤติชั่วอย่างไร?
8 พระเยซูผู้ประกาศราชอาณาจักรด้วยใจแรงกล้า เป็นบุคคลที่มีจิตใจอ่อนโยนแต่ก็องอาจเมื่อติดต่อสัมพันธ์กับผู้อื่น. (มัดธาย 11:29) พระองค์สะท้อนทัศนะของพระบิดาของพระองค์ผู้สถิตในสวรรค์ ซึ่งกระตุ้นคนชั่วให้ละทิ้งแนวทางชั่วของตน. (ยะซายา 55:6, 7) เมื่อเกี่ยวข้องกับคนบาป พระเยซูทรงสังเกตเห็นเมื่อมีหลักฐานบ่งชี้ถึงการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดี และทรงหนุนใจคนเหล่านั้น. (ลูกา 7:37-50; 19:2-10) แทนที่จะตัดสินผู้อื่นจากสิ่งที่ปรากฏภายนอก พระเยซูเลียนแบบพระกรุณา, ความอดทนไว้ช้านาน, และความอดกลั้นพระทัยของพระบิดา โดยหวังว่าจะชักนำพวกเขาให้กลับใจเสียใหม่. (โรม 2:4) เป็นพระทัยประสงค์ของพระยะโฮวาที่จะให้คนทุกชนิดกลับใจและได้ความรอด.—1 ติโมเธียว 2:3, 4.
9. เราเรียนอะไรได้จากวิธีที่คำพยากรณ์ในยะซายา 42:1-4 สำเร็จเป็นจริงกับพระเยซู?
9 เมื่อกล่าวถึงทัศนะของพระยะโฮวาต่อพระเยซูคริสต์ มัดธายผู้เขียนพระธรรมกิตติคุณยกคำพยากรณ์นี้ขึ้นมากล่าว: “นี่แน่ะบุตรของเราซึ่งได้เลือกไว้เป็นที่รักและที่ชอบใจของเรา เราจะตั้งวิญญาณของเราสวมทับท่าน, แล้วท่านจะกล่าวพิพากษาชนต่างประเทศ. ท่านจะไม่ทะเลาะวิวาทกัน, ไม่กล่าวขึ้นเสียงดัง, ไม่มีใครจะได้ยินสำเนียงของท่านตามถนนหลวง ไม้อ้อช้ำแล้วท่านจะไม่หัก, ไส้ตะเกียงเป็นควันจวนดับแล้วท่านจะไม่ดับ, กว่าท่านจะได้นำความชอบธรรมให้มีชัยชนะ และนามของท่านจะเป็นที่หวังของชนต่างประเทศ.” (มัดธาย 12:17-21; ยะซายา 42:1-4) สอดคล้องกับคำพยากรณ์ข้อนี้ พระเยซูไม่ร่วมในการโต้เถียงกันเสียงดัง. แม้แต่เมื่ออยู่ภายใต้ความกดดัน พระองค์ตรัส ถึงความจริงอย่างที่ดึงดูดใจผู้มีใจสุจริต.—โยฮัน 7:32, 40, 45, 46.
10, 11. (ก) ทั้ง ๆ ที่พวกฟาริซายอยู่ในบรรดาผู้ต่อต้านที่พูดจารุนแรงต่อพระองค์มากที่สุด ทำไมพระเยซูจึงให้คำพยานแก่พวกเขาบางคน? (ข) บางครั้งพระเยซูให้คำตอบแบบไหนแก่ผู้ต่อต้าน แต่อะไรที่พระองค์ไม่ทำ?
10 ในระหว่างงานรับใช้ของพระเยซู พระองค์ตรัสกับฟาริซายหลายคน. แม้ว่าพวกเขาบางคนพยายามหลอกล่อให้พระเยซูติดกับทางคำพูด แต่พระองค์ไม่ลงความเห็นว่าฟาริซายทุกคนมีเจตนาไม่ดี. ซีโมน ฟาริซายคนหนึ่งที่ชอบตัดสินคนอื่นอยู่บ้าง ดูเหมือนอยากจะเห็นพระเยซูใกล้ ๆ จึงเชิญพระองค์มาเสวยพระกระยาหาร. พระเยซูตอบรับคำเชิญและให้คำพยานแก่ผู้คนในบ้านนั้น. (ลูกา 7:36-50) ในอีกโอกาสหนึ่ง ฟาริซายที่มีตำแหน่งสำคัญชื่อนิโกเดโมแอบมาหาพระเยซูในเวลากลางคืน. พระเยซูไม่ได้ตำหนิเขาที่มาในยามค่ำคืน. แทนที่จะทำเช่นนั้น พระองค์ให้คำพยานแก่นิโกเดโมถึงความรักที่พระเจ้าสำแดงด้วยการส่งพระบุตรของพระองค์มาเพื่อเปิดทางสู่ความรอดสำหรับผู้แสดงความเชื่อ. พระเยซูยังชี้อย่างกรุณาถึงความสำคัญของการอ่อนน้อมต่อการจัดเตรียมของพระเจ้าด้วย. (โยฮัน 3:1-21) ต่อมา นิโกเดโมได้พูดปกป้องพระเยซูเมื่อฟาริซายคนอื่น ๆ ลดความน่าเชื่อถือของรายงานที่กล่าวถึงพระองค์ในทางที่ดี.—โยฮัน 7:46-51.
11 พระเยซูใช่ว่ามองไม่ออกถึงความหน้าซื่อใจคดของคนที่พยายามหลอกล่อให้พระองค์ติดกับ. พระองค์ไม่ยอมให้พวกผู้ต่อต้านดึงพระองค์เข้าไปสู่การถกเถียงที่ไร้ประโยชน์. อย่างไรก็ตาม เมื่อเห็นว่าเหมาะสม พระองค์ให้คำตอบที่กระชับและมีพลังโดยอ้างถึงหลักการ, ยกตัวอย่าง, หรือยกข้อความจากพระคัมภีร์. (มัดธาย 12:38-42; 15:1-9; 16:1-4) บางครั้งพระเยซูก็ไม่ตอบอะไรเมื่อเห็นชัดว่าจะไม่เกิดประโยชน์.—มาระโก 15:2-5; ลูกา 22:67-70.
12. แม้เมื่อถูกร้องตะโกนใส่ พระเยซูยังสามารถช่วยผู้คนอย่างไร?
12 เป็นครั้งคราว พระเยซูถูกคนที่ผีโสโครกเข้าสิงร้องตะโกนใส่. ในโอกาสเช่นนั้น พระองค์แสดงความอดกลั้น และกระทั่งใช้ฤทธิ์อำนาจที่พระเจ้าประทานให้เพื่อช่วยเหลือคนเหล่านั้น. (มาระโก 1:23-28; 5:2-8, 15) ถ้าบางคนโกรธและตวาดใส่เราระหว่างงานประกาศ เราต้องแสดงความอดกลั้นเช่นเดียวกัน และควรพยายามรับมือกับสถานการณ์เช่นนั้นด้วยท่าทีที่กรุณาและอย่างสุขุม.—โกโลซาย 4:6.
ในวงครอบครัว
13. เหตุใดบางครั้งผู้คนต่อต้านสมาชิกครอบครัวของตนที่เริ่มศึกษาคัมภีร์ไบเบิลกับพยานพระยะโฮวา?
13 ความจำเป็นที่สาวกของพระเยซูต้องรู้จักอดกลั้นนั้นบ่อยครั้งปรากฏชัดที่สุดในวงครอบครัว. ผู้ที่ประทับใจความจริงในคัมภีร์ไบเบิลอย่างลึกซึ้งปรารถนาจะให้ครอบครัวของตนตอบรับในทำนองเดียวกัน. แต่ดังที่พระเยซูบอกไว้ สมาชิกครอบครัวอาจต่อต้าน. (มัดธาย 10:32-37; โยฮัน 15:20, 21) มีหลายสาเหตุที่เป็นเช่นนั้น. ตัวอย่างเช่น ขณะที่คำสอนในคัมภีร์ไบเบิลช่วยเราให้เป็นคนซื่อสัตย์, สำนึกถึงความรับผิดชอบ, และให้เกียรติผู้อื่น พระคัมภีร์ก็ยังสอนเราด้วยว่าไม่ว่าในสถานการณ์ใด พันธะหน้าที่ที่มีต่อพระผู้สร้างของเรานั้นสำคัญที่สุด. (ท่านผู้ประกาศ 12:1, 13; กิจการ 5:29) คนในครอบครัวอาจไม่พอใจเพราะเขารู้สึกว่าอำนาจในครอบครัวของเขาถูกบั่นทอนไปในทางใดทางหนึ่งเนื่องจากการที่เราภักดีต่อพระยะโฮวา. เมื่อรับมือกับกรณีเช่นนี้ เป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งที่เราจะติดตามตัวอย่างของพระเยซูในการแสดงความอดกลั้น!—1 เปโตร 2:21-23; 3:1, 2.
14-16. อะไรทำให้บางคนที่แต่ก่อนเคยต่อต้านสมาชิกครอบครัวเปลี่ยนแปลงไป?
14 หลายคนที่รับใช้พระยะโฮวาอยู่ในปัจจุบันเคยถูกคู่สมรสหรือสมาชิกครอบครัวคนอื่น ๆ ต่อต้านที่พวกเขาทำการเปลี่ยนแปลงเมื่อมาศึกษาคัมภีร์ไบเบิล. คนที่ต่อต้านนั้นอาจเคยได้ยินความเห็นในแง่ลบเกี่ยวกับพยานพระยะโฮวา และบางทีกลัวว่าจะเกิดผลกระทบที่ไม่ดีต่อครอบครัว. แต่อะไรทำให้พวกเขาเปลี่ยนท่าทีไป? ในหลายกรณี ตัวอย่างที่ดีเป็นปัจจัยสำคัญ. เนื่องจากผู้มีความเชื่อนำคำแนะนำจากคัมภีร์ไบเบิลไปใช้อย่างซื่อสัตย์—เข้าร่วมการประชุมคริสเตียนและร่วมในงานเผยแพร่เป็นประจำ ขณะเดียวกันก็เอาใจใส่หน้าที่รับผิดชอบต่าง ๆ ในครอบครัวด้วย และแสดงความอดกลั้นต่อคำพูดที่ไม่ดี—บางครั้งจึงทำให้การต่อต้านจากครอบครัวเบาลง.—1 เปโตร 2:12.
15 นอกจากนี้ คนที่ต่อต้านนั้นอาจไม่ยอมรับฟังคำอธิบายใด ๆ จากคัมภีร์ไบเบิลเนื่องจากมีอคติหรือเพราะความหยิ่ง. นี่เป็นกรณีที่เกิดขึ้นจริงกับชายคนหนึ่งในสหรัฐซึ่งบอกว่าตนเองเป็นคนรักชาติอย่างยิ่ง. ครั้งหนึ่งเมื่อภรรยาของเขาอยู่ที่การประชุมใหญ่ เขาเก็บเสื้อผ้าของเขาทั้งหมดออกจากบ้านไป. ในอีกโอกาสหนึ่ง เขาออกจากบ้านพร้อมกับปืนและขู่จะฆ่าตัวตาย. เขาโทษว่าการประพฤติใด ๆ ก็ตามที่ไร้เหตุผลของเขานั้นเป็นเพราะศาสนาของภรรยา. ถึงกระนั้น ภรรยาของเขาพยายามเอาคำแนะนำในคัมภีร์ไบเบิลไปใช้ต่อ ๆ ไป. ยี่สิบปีผ่านไปหลังจากเธอเป็นพยานพระยะโฮวา สามีก็เข้ามาเป็นพยานฯ เช่นกัน. ที่ประเทศแอลเบเนีย สตรีคนหนึ่งไม่พอใจที่ลูกสาวศึกษาคัมภีร์ไบเบิลกับพยานพระยะโฮวาและได้รับบัพติสมา. มารดาผู้นี้ได้ทำลายคัมภีร์ไบเบิลของลูกสาวถึง 12 ครั้ง. อยู่มาวันหนึ่งเธอเปิดดูพระคัมภีร์เล่มใหม่ของลูกสาวที่วางไว้บนโต๊ะ. โดยบังเอิญ เธอเปิดไปที่มัดธาย 10:36 และสำนึกว่าข้อความนั้นตรงกับกรณีของเธอ. กระนั้น ด้วยความเป็นห่วงสวัสดิภาพของลูกสาว เธอไปส่งลูกขึ้นเรือซึ่งจะเดินทางไปอิตาลีพร้อมกับพยานฯ คนอื่น ๆ เพื่อเข้าร่วมการประชุมภาค. เมื่อมารดาผู้นี้ได้เห็นถึงความรัก, การโอบกอด, และรอยยิ้มท่ามกลางกลุ่มที่จะเดินทางไปด้วยกันนั้น ทั้งยังได้ยินเสียงหัวเราะที่มีความสุข ความรู้สึกของเธอก็เริ่มเปลี่ยนไป. ไม่นานหลังจากนั้น เธอตกลงที่จะศึกษาคัมภีร์ไบเบิล. ทุกวันนี้ เธอพยายามช่วยเหลือคนอื่น ๆ ซึ่งเคยต่อต้านในตอนแรก.
16 อีกตัวอย่างหนึ่ง สามีถือมีดมาหาภรรยา ต่อว่าเธออย่างแรงขณะที่เธอกำลังจะเข้าไปในหอประชุมราชอาณาจักร. เธอตอบอย่างนุ่มนวลว่า “เข้าไปในหอประชุมสิคะ แล้วดูด้วยตัวคุณเอง.” สามีทำอย่างนั้น และต่อมา เขาได้มาเป็นคริสเตียนผู้ปกครอง.
17. ถ้าบางครั้งเกิดความตึงเครียดในครอบครัวคริสเตียน คำแนะนำอะไรจากพระคัมภีร์ที่สามารถช่วยได้?
17 แม้ว่าทุกคนในครอบครัวของคุณเป็นคริสเตียน ก็อาจมีบางครั้งที่ในครอบครัวเกิดความตึงเครียดและมีการใช้ถ้อยคำรุนแรงเนื่องจากเป็นมนุษย์ที่ไม่สมบูรณ์. เป็นที่น่าสังเกตว่าคริสเตียนในเมืองเอเฟโซส์โบราณได้รับคำแนะนำดังนี้: “ใจขมขื่น, และใจขัดเคือง, และใจโกรธ, และการทะเลาะเถียงกัน, และการพูดเสียดสีกัน, กับการคิดปองร้ายทุกอย่าง, จงให้อยู่ห่างจากท่านทั้งหลายเถิด.” (เอเฟโซ 4:31) ดูเหมือนว่า สภาพแวดล้อมของคริสเตียนในเมืองเอเฟโซส์, ความไม่สมบูรณ์ของพวกเขาเอง, และในบางกรณี แนวทางชีวิตในอดีต มีผลกระทบต่อพวกเขา. อะไรจะช่วยพวกเขาให้ทำการเปลี่ยนแปลงได้? พวกเขาต้อง “มีพลังกระตุ้นจิตใจใหม่.” (เอเฟโซ 4:23, ล.ม.) เมื่อพวกเขาศึกษาพระคำของพระเจ้า, คิดรำพึงว่าสิ่งที่พวกเขาเรียนรู้ควรจะมีผลกระทบต่อชีวิตของพวกเขาอย่างไร, คบหาใกล้ชิดกับเพื่อนคริสเตียน, และอธิษฐานอย่างจริงจัง ผลแห่งพระวิญญาณของพระเจ้าก็จะปรากฏให้เห็นเด่นชัดมากยิ่งขึ้นในชีวิตของพวกเขา. พวกเขาจะเรียนรู้ที่จะ “เมตตาซึ่งกันและกัน, มีใจเอ็นดูซึ่งกันและกัน, และอภัยโทษให้กันและกัน, เหมือนพระเจ้าได้ทรงโปรดอภัยโทษให้ [พวกเขา] ในพระคริสต์.” (เอเฟโซ 4:32) ไม่ว่าคนอื่นจะปฏิบัติอย่างไร เราต้องอดกลั้น, มีความเมตตา, มีใจเอ็นดู, และให้อภัย. ใช่แล้ว เราต้องไม่ “ทำชั่วตอบแทนชั่วแก่ผู้หนึ่งผู้ใดเลย.” (โรม 12:17, 18) การสำแดงความรักแท้ตามอย่างพระเจ้าเป็นสิ่งถูกต้องสมควรเสมอ.—1 โยฮัน 4:8.
คำแนะนำสำหรับคริสเตียนทุกคน
18. เหตุใดคำแนะนำใน 2 ติโมเธียว 2:24 จึงเหมาะกับผู้ปกครองในเมืองเอเฟโซส์โบราณ และคำแนะนำนั้นเป็นประโยชน์สำหรับคริสเตียนทุกคนอย่างไร?
18 คำแนะนำที่ให้ “รู้จักอดกลั้นในสภาพการณ์ที่ไม่ดี” เหมาะกับคริสเตียนทุกคน. (2 ติโมเธียว 2:24, ล.ม.) แต่ทีแรกคำแนะนำนี้ให้กับติโมเธียว ซึ่งต้องมีคุณลักษณะดังกล่าวเมื่อปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ปกครองในเมืองเอเฟโซส์. บางคนในประชาคมนั้นแสดงความคิดเห็นของตนและแพร่คำสอนผิด ๆ อย่างค่อนข้างเปิดเผย. เนื่องจากไม่เข้าใจจุดมุ่งหมายของพระบัญญัติของโมเซอย่างเต็มที่ พวกเขาจึงไม่เข้าใจความสำคัญของความเชื่อ, ความรัก, และสติรู้สึกผิดชอบที่ดี. การอวดทะนงตนก่อให้เกิดความขัดแย้งกันเมื่อพวกเขาทุ่มเถียงกันเรื่องถ้อยคำ ในขณะที่ไม่เข้าใจจุดสำคัญของคำสอนของพระคริสต์และความสำคัญของความเลื่อมใสในพระเจ้า. ในการจัดการกับสภาพการณ์ดังกล่าว ติโมเธียวต้องยืนหยัดสนับสนุนความจริงในพระคัมภีร์ แต่ก็ต้องอ่อนสุภาพเมื่อปฏิบัติกับพี่น้อง. เช่นเดียวกับผู้ปกครองในทุกวันนี้ ติโมเธียวตระหนักว่าฝูงแกะไม่ได้เป็นของท่าน และท่านต้องปฏิบัติกับผู้อื่นอย่างที่จะส่งเสริมความรักและเอกภาพของคริสเตียน.—เอเฟโซ 4:1-3; 1 ติโมเธียว 1:3-11; 5:1, 2; 6:3-5.
19. ทำไมจึงเป็นเรื่องสำคัญที่เราทุกคนจะ “แสวงหาความอ่อนน้อม”?
19 พระเจ้ากระตุ้นให้ประชาชนของพระองค์ “แสวงหาความอ่อนน้อม.” (ซะฟันยา 2:3, ล.ม.) คำภาษาฮีบรูที่นำมาแปลว่า “อ่อนน้อม” นั้นบ่งชี้ถึงทัศนคติที่ช่วยให้คนเราสามารถทนรับความอยุติธรรมได้โดยไม่แค้นเคือง. ขอให้เราทูลวิงวอนอย่างจริงจังขอความช่วยเหลือจากพระยะโฮวาเพื่อเราจะสามารถแสดงความอดกลั้นและเป็นตัวแทนของพระองค์อย่างเหมาะสม แม้จะตกอยู่ในสภาพการณ์ที่ไม่ดี.
คุณได้เรียนรู้อะไร?
• เมื่อมีคนพูดหยาบคายต่อคุณ ข้อคัมภีร์ใดบ้างจะช่วยคุณได้?
• ทำไมเซาโลจึงปฏิบัติต่อผู้อื่นอย่างดูหมิ่นเหยียดหยาม?
• ตัวอย่างของพระเยซูช่วยเราอย่างไรให้ปฏิบัติอย่างเหมาะสมต่อคนทุกชนิด?
• การแสดงความอดกลั้นในการใช้คำพูดในวงครอบครัวอาจก่อผลดีอะไร?
[คำถาม]
[ภาพหน้า 26]
ทั้ง ๆ ที่รู้ถึงกิตติศัพท์ของเซาโล อะนาเนียปฏิบัติต่อท่านอย่างกรุณา
[ภาพหน้า 29]
การที่คริสเตียนเอาใจใส่หน้าที่รับผิดชอบของตนอย่างซื่อสัตย์อาจช่วยลดการต่อต้านจากครอบครัว
[ภาพหน้า 30]
คริสเตียนส่งเสริมความรักและเอกภาพ