มารีนครโบราณอันโดดเด่นแห่งทะเลทราย
มารีนครโบราณอันโดดเด่นแห่งทะเลทราย
“ข้าพเจ้ารู้สึกดีใจจนบอกไม่ถูกขณะเดินมาที่ห้องนอนในคืนนั้นหลังจากฉลองความโชคดีของพวกเรากับเพื่อนร่วมงาน” อองเดร ปาโร นักโบราณคดีชาวฝรั่งเศสเล่า. ในเดือนมกราคม 1934 ที่เทล ฮารีรี ใกล้กับเมืองอาบู เคมัลซึ่งเป็นเมืองเล็ก ๆ บนฝั่งแม่น้ำยูเฟรทิสในซีเรีย ปาโรและทีมงานของเขาขุดพบรูปปั้นที่มีคำจารึกว่า “ลามกี-มารี กษัตริย์แห่งมารี มหาปุโรหิตแห่งเอนลิล.” พวกเขาตื่นเต้นกับการค้นพบครั้งนี้.
ในที่สุดก็ค้นพบเมืองมารี! เหตุใดการค้นพบเมืองนี้จึงน่าสนใจสำหรับนักศึกษาพระคัมภีร์?
เหตุใดจึงน่าสนใจ?
แม้ข้อเขียนโบราณจะช่วยให้เรารู้ว่าเมืองมารีมีอยู่จริง แต่สถานที่ตั้งของเมืองนี้เป็นเรื่องลึกลับมานาน. ตามที่อาลักษณ์ชาวซูเมอเรียนจารึกไว้ มารีเป็นราชธานีของราชวงศ์หนึ่งที่อาจเคยปกครองดินแดนเมโสโปเตเมียทั้งหมดมาครั้งหนึ่ง. เนื่องจากเมืองมารีอยู่บนฝั่งแม่น้ำยูเฟรทิส จึงตั้งอยู่ ณ ศูนย์กลางของเส้นทางการค้าที่เชื่อมระหว่างอ่าวเปอร์เซียกับอัสซีเรีย, เมโสโปเตเมีย, อะนาโตเลีย, และชายฝั่งเมดิเตอร์เรเนียน ซึ่งเป็นทำเลที่เหมาะอย่างมาก. สินค้าที่ผ่านเส้นทางนี้มีทั้งไม้, โลหะ, และหิน ซึ่งทั้งหมดนี้เมโสโปเตเมียขาดแคลนมาก. การเก็บภาษีค่าผ่านทางสร้างรายได้มหาศาลให้แก่เมืองมารี และทำให้เมืองนี้มีอิทธิพลเหนือภูมิภาคนี้. อย่างไรก็ตาม อิทธิพล
ของเมืองนี้ก็มาถึงจุดจบเมื่อดินแดนซีเรียถูกพิชิตโดยซาร์กอนแห่งอักกาด.ประมาณ 300 ปีหลังชัยชนะของซาร์กอน เมืองมารีถูกปกครองโดยผู้สำเร็จราชการหลายรุ่น. ผู้สำเร็จราชการเหล่านี้ทำให้เมืองมารีมั่งคั่งขึ้นมาอีกครั้ง. อย่างไรก็ตาม เมืองนี้ก็ตกต่ำลงเมื่อมาถึงยุคของผู้ปกครองคนสุดท้าย คือซิมรี-ลิม. ซิมรี-ลิม พยายามเสริมความเข้มแข็งให้แก่จักรวรรดิของตนโดยอาศัยกำลังทหาร, สนธิสัญญา, และการสร้างพันธมิตรโดยอาศัยการสมรส. แต่ประมาณปี 1760 ก่อนสากลศักราช กษัตริย์ฮัมมูราบีแห่งบาบิโลนได้พิชิตและทำลายเมืองนี้ นำจุดจบมาสู่เมืองที่ปาโรเรียกว่า “หนึ่งในเมืองที่มีอารยธรรมเจริญรุ่งเรืองที่สุดแห่งโลกโบราณ.”
เมื่อกองทัพของฮัมมูราบีทำลายเมืองมารี พวกทหารทำสิ่งหนึ่งซึ่งเป็นการช่วยนักโบราณคดีและนักประวัติศาสตร์สมัยปัจจุบันทางอ้อม. เมื่อกองทัพรื้อกำแพงอิฐที่ทำจากโคลนซึ่งไม่ได้เผาลงมาทับถมสิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ บางอาคารจมอยู่ใต้อิฐเหล่านี้ลึกถึง 5 เมตร วิธีนี้เป็นการช่วยไม่ให้สิ่งปลูกสร้างเหล่านี้ทรุดโทรมลงเมื่อเวลาผ่านไป. นักโบราณคดีขุดพบซากปรักหักพังของวิหารและพระราชวัง รวมทั้งวัตถุอื่น ๆ มากมายที่มนุษย์ทำขึ้นและคำจารึกนับพัน ๆ ชิ้นที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับอารยธรรมโบราณ.
เหตุใดซากปรักหักพังของเมืองมารีจึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจสำหรับเรา? ขอพิจารณาช่วงเวลาที่อับราฮามปฐมบรรพบุรุษมีชีวิตอยู่. อับราฮามเกิดในปี 2018 ก่อน ส.ศ. หลังน้ำท่วมโลก 352 ปี. ท่านเป็นคนชั่วอายุที่สิบนับจากโนฮา. อับราฮามออกจากเมืองอูร์บ้านเกิดเมืองนอนตามพระบัญชาของพระเจ้าเพื่อเดินทางไปยังเมืองฮาราน. ในปี 1943 ก่อน ส.ศ. อับราฮามซึ่งมีอายุได้ 75 ปีแล้วเดินทางออกจากฮารานไปยังดินแดนคะนาอัน. ปาโอโล มาตีโอ นักโบราณคดีชาวอิตาลีกล่าวว่า “อับราฮามเดินทางจากเมืองอูร์ไปยังเยรูซาเลม [ในคะนาอัน] ในสมัยที่เมืองมารียังมีอยู่.” ด้วยเหตุนี้ การค้นพบเมืองมารีจึงมีประโยชน์อย่างมาก โดยช่วยให้เราเห็นว่าโลกในสมัยที่อับราฮามผู้รับใช้ที่ซื่อสัตย์ของพระเจ้ามีชีวิตอยู่นั้นเป็นอย่างไร. *—เยเนซิศ 11:10–12:4.
ซากปรักหักพังเหล่านี้เผยให้เห็นอะไร?
ศาสนาเฟื่องฟูในเมืองมารีเหมือนกับทั่วทุกแห่งในเมโสโปเตเมีย. มีการถือว่า หน้าที่ของมนุษย์คือการรับใช้เทพเจ้า. ก่อนที่จะทำการตัดสินใจใด ๆ ที่สำคัญต้องถามพระประสงค์ของเทพเจ้าเสมอ. นักโบราณคดีพบซากวิหารหกแห่ง. ในจำนวนนี้มีวิหารแห่งราชสีห์ (บางคนถือว่าเป็นวิหารดากาน ซึ่งในคัมภีร์ไบเบิลเรียกว่าพระดาโฆน) และอารามแห่งอิชทาร์ เทพธิดาแห่งการเจริญพันธุ์ รวมทั้งอารามของสุริยเทพชามาช. เดิมทีวิหารเหล่านี้มีรูปปั้นเทพเจ้าองค์หนึ่งซึ่งผู้คนจะมาถวายเครื่องสักการะบูชาและอธิษฐานต่อหน้ารูปปั้นนี้. คนที่มาสักการะบูชาจะวางรูปจำลองของตนเองที่มีใบหน้ายิ้มแย้มในท่าอธิษฐานบนแท่นในอาราม โดยเชื่อว่ารูปปั้นนั้นเป็นตัวแทนการสวดภาวนาที่ยาวนาน. ปาโรกล่าวว่า “รูปปั้นนั้นเป็นเหมือนเทียนที่ชาวคาทอลิกทุกวันนี้ใช้ในการ
นมัสการ แต่สำคัญกว่าในแง่ที่ว่ารูปปั้นนี้เป็นตัวแทนของผู้ที่ทำการสักการะบูชาเลยทีเดียว.”การค้นพบซากปรักหักพังที่สำคัญที่สุดในบริเวณเทล ฮารีรี คือ ส่วนที่เหลืออยู่ของพระราชวังอันใหญ่โตซับซ้อน ซึ่งเรียกกันตามชื่อของผู้ครอบครองคนสุดท้ายคือ กษัตริย์ซิมรี-ลิม. ลุย-อูก แวงซองนักโบราณคดีชาวฝรั่งเศส พรรณนาพระราชวังนี้ว่าเป็น “อัญมณีแห่งสถาปัตยกรรมโบราณของประเทศทางตะวันออก.” พระราชวังนี้ครอบคลุมเนื้อที่มากกว่า 15 ไร่ มีประมาณ 300 ห้องรวมทั้งลานกว้าง. ว่ากันว่าพระราชวังนี้เป็นหนึ่งในสิ่งปลูกสร้างอันมหัศจรรย์ของโลกสมัยโบราณด้วยซ้ำ. ชอร์ช รู แสดงความเห็นของเขาไว้ในหนังสือที่ชื่ออิรักในสมัยโบราณ (ภาษาอังกฤษ) ว่า “พระราชวังนี้มีชื่อเสียงเลื่องลือมากจนกษัตริย์แห่งเมืองอูการิตที่อยู่บนชายฝั่งทะเลของซีเรียตั้งใจส่งราชบุตรมาไกลถึงราว ๆ 600 กิโลเมตรเพื่อเยี่ยมชม ‘ราชวังของซิมรี-ลิม.’ ”
ก่อนจะเข้าไปถึงลานที่กว้างใหญ่เป็นพิเศษ ผู้ที่มาเยี่ยมชมจะเข้าไปยังพระราชวังที่มีกำแพงแน่นหนาโดยผ่านทางเข้าทางเดียวที่มีหอคอยขนาบทั้งสองด้าน. บนบัลลังก์ที่ตั้งอยู่บนพื้นยกระดับ ซิมรี-ลิม กษัตริย์องค์สุดท้ายแห่งเมืองมารีเคยนั่งบัญชาการทหาร, ดูแลการค้า, และจัดการเรื่องราวในบ้านเมือง; ประกาศการพิพากษา; และต้อนรับแขกเมืองรวมถึงเหล่าราชทูต. มีที่พักสำหรับอาคันตุกะ ซึ่งกษัตริย์จะจัดเลี้ยงต้อนรับอย่างยิ่งใหญ่เป็นประจำด้วยเหล้าองุ่นและความบันเทิง. อาหารก็มีทั้งเนื้อวัว, เนื้อแกะ, เนื้อกวาง, ปลา, และไก่ ซึ่งมีทั้งย่าง, ปิ้ง, หรือต้ม โดยอาหารทุกชนิดจะราดด้วยซอสกระเทียมรสจัดรวมทั้งมีผักหลากหลายชนิดและเนยแข็ง. ของหวานก็ประกอบด้วยผลไม้
ซึ่งมีทั้งสด, แห้ง, หรือเคลือบน้ำตาลและเค้กที่ประณีตสวยงาม. มีการเสิร์ฟเบียร์และเหล้าองุ่นให้แขกเพื่อดับกระหาย.ในพระราชวังก็มีมาตรการด้านสุขอนามัยที่ดีด้วย. ห้องน้ำที่ถูกค้นพบมีถังน้ำดินเผาและโถส้วมที่ไม่มีที่นั่ง. มีการยาชันพื้นและส่วนล่างของกำแพงห้องน้ำเพื่อกันน้ำ. น้ำเสียจะไหลผ่านรางน้ำที่ก่อด้วยอิฐและท่อน้ำที่ทำจากดินเหนียวที่ยาชันไว้เพื่อกันน้ำ ซึ่งยังคงใช้การได้แม้เวลาจะล่วงเลยมาถึง 3,500 ปีแล้วก็ตาม. เมื่อนางสนมสามคนจากฮาเร็มของกษัตริย์เป็นโรคที่ทำให้ถึงตาย มีการวางมาตรการอย่างเข้มงวดเพื่อป้องกันโรค. หญิงที่ป่วยหนักคนหนึ่งถูกแยกไว้ต่างหากและถูกกักตัวไว้เพื่อควบคุมโรคติดต่อ. ข้อความจารึกโบราณกล่าวว่า “ไม่ควรมีใครดื่มจากถ้วยของนาง, กินร่วมโต๊ะกับนาง, นั่งบนที่นั่งของนาง.”
เราเรียนอะไรได้จากข้อเขียนที่ถูกค้นพบ?
ปาโรและทีมงานของเขาค้นพบแผ่นจารึกอักษรรูปลิ่มประมาณ 20,000 แผ่นซึ่งเขียนในภาษาอักกาด. แผ่นจารึกมีทั้งจดหมายและข้อความเกี่ยวกับการบริหารและเศรษฐกิจ. ในจำนวนข้อความเหล่านี้ มีเพียงหนึ่งในสามเท่านั้นที่ถูกนำไปตีพิมพ์. กระนั้น เอกสารที่นำไปตีพิมพ์รวมเป็นหนังสือได้ถึง 28 เล่ม. ข้อความเหล่านี้มีคุณค่าขนาดไหน? ชอง-โคลด มาเกอรง ผู้อำนวยการภารกิจด้านโบราณคดีเกี่ยวกับเมืองมารีกล่าวว่า “ก่อนที่จะค้นพบข้อเขียนเกี่ยวกับเมืองมารี เราแทบไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับประวัติศาสตร์, อารยธรรม, และชีวิตประจำวันของผู้คนในดินแดนเมโสโปเตเมียและซีเรียในช่วงต้น ๆ ของสหัสวรรษที่สองก่อน ส.ศ. แต่โดยทางแผ่นจารึกอักษรรูปลิ่มเหล่านี้ เราจึงมีโอกาสรู้ประวัติศาสตร์ทั้งหมด. ดังที่ปาโรกล่าวไว้ ข้อเขียนเหล่านี้ “เปิดเผยว่า วิถีชีวิตของผู้คนที่จารึกในข้อเขียนเหล่านี้ คล้ายคลึงกันอย่างมากกับวิถีชีวิตของปฐมบรรพบุรุษที่พระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาเดิมบันทึกไว้.”
แผ่นจารึกที่พบในเมืองมารียังช่วยให้เราเข้าใจข้อความบางตอนในคัมภีร์ไบเบิลมากขึ้น. ตัวอย่างเช่น แผ่นจารึกเหล่านั้นบ่งชี้ว่า การยึดภรรยาและนางสนมของศัตรูเป็น “กิจปฏิบัติทั่วไปของกษัตริย์ในสมัยนั้น.” ดังนั้น การที่อะฮีโธเฟลผู้คิดคดทรยศแนะนำให้อับซาโลมโอรสของดาวิดไปมีความสัมพันธ์กับนางสนมของกษัตริย์จึงไม่ใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใด.—2 ซามูเอล 16:21, 22.
นับตั้งแต่ปี 1933 เป็นต้นมา มีการขุดค้นในเทล ฮารีรีถึง 41 โครงการ. อย่างไรก็ตาม มาถึงตอนนี้การสำรวจในเมืองมารีทำได้เพียง 50 ไร่จากพื้นที่ทั้งหมดที่มีถึง 675 ไร่. ดูเหมือนว่า ยังจะต้องมีการสำรวจอันน่าทึ่งอีกมากในเมืองมารี นครโบราณอันโดดเด่นแห่งทะเลทราย.
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 8 ดูเหมือนเป็นไปได้ด้วยว่าชาวยิวที่ถูกเนรเทศไปยังบาบิโลนหลังจากกรุงเยรูซาเลมถูกทำลายในปี 607 ก่อน ส.ศ. เดินทางผ่านซากปรักหักพังของเมืองมารีด้วย.
[แผนที่หน้า 10]
(รายละเอียดดูจากวารสาร)
อ่าวเปอร์เซีย
อูร์
เมโสโปเตเมีย
ยูเฟรทิส
มารี
อัสซีเรีย
ฮาราน
อะนาโตเลีย
คะนาอัน
เยรูซาเลม
ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน (ทะเลใหญ่)
[ภาพหน้า 11]
เอกสารฉบับนี้บอกว่า กษัตริย์เอียห์ดุน-ลิมแห่งมารีโอ้อวดเกี่ยวกับงานก่อสร้างของท่าน
[ภาพหน้า 11]
การค้นพบรูปปั้นลามกี-มารียังผลให้มีการระบุสถานที่ตั้งของเมืองมารีได้อย่างแน่ชัด
[ภาพหน้า 12]
เวทีของพระราชวังอาจเป็นที่ตั้งของรูปปั้นเทพธิดา
[ภาพหน้า 12]
อีบิฮิล ข้าราชการชั้นสูงแห่งมารี กำลังอธิษฐาน
[ภาพหน้า 12]
ซากปรักหักพังของเมืองมารี แสดงให้เห็นว่าเมืองนี้สร้างด้วยอิฐที่ทำจากโคลนซึ่งไม่ได้เผา
[ภาพหน้า 12]
ห้องอาบน้ำของพระราชวัง
[ภาพหน้า 13]
แผ่นศิลาจารึกแสดงชัยชนะของนาราม-ซิน ผู้พิชิตเมืองมารี
[ภาพหน้า 13]
แผ่นจารึกอักษรรูปลิ่มประมาณ 20,000 แผ่นถูกค้นพบในซากปรักหักพังของพระราชวัง
[ที่มาของภาพหน้า 10]
© Mission archéologique française de Tell Hariri - Mari (Syrie)
[ที่มาของภาพหน้า 11]
Document: Musée du Louvre, Paris; statue: © Mission archéologique française de Tell Hariri - Mari (Syrie)
[ที่มาของภาพหน้า 12]
Statue: Musée du Louvre, Paris; podium and bathroom: © Mission archéologique française de Tell Hariri - Mari (Syrie)
[ที่มาของภาพหน้า 13]
Victory stele: Musée du Louvre, Paris; palace ruins: © Mission archéologique française de Tell Hariri - Mari (Syrie)