สามัญสำนึกเหตุใดจึงมีน้อยเหลือเกิน?
สามัญสำนึกเหตุใดจึงมีน้อยเหลือเกิน?
“เขาเป็นอะไรไป? เขาน่าจะรู้ว่าไม่ควรทำอย่างนั้น” คนที่เห็นกล่าว. ส่วนอีกคนหนึ่งส่ายหัวเพราะไม่อยากจะเชื่อและเดินออกไปพร้อมกับบ่นพึมพำว่า “ถ้าเขามีสามัญสำนึกสักนิด เขาก็คงไม่ทำแบบนี้.” คุณอาจเคยได้ยินคำพูดคล้ายกันนี้ไหม? อย่างไรก็ดี “สามัญสำนึก” คืออะไร?
คำว่า “สามัญสำนึก” ได้รับการนิยามว่า “ความรู้, ความเข้าใจ, หรือสติปัญญาของสามัญชน.” คำนี้บ่งชี้ว่าคนคนนั้นมีความสามารถที่จะวินิจฉัยและตัดสินใจโดยใช้สติปัญญา. เห็นได้ชัดว่า ที่จะมีสามัญสำนึกเราต้องใช้ความสามารถในการคิด. หลายคนชอบให้คนอื่นคิดแทนพวกเขา. พวกเขายอมให้สื่อต่าง ๆ, เพื่อนฝูง, หรือทัศนะที่กำลังเป็นที่นิยมตัดสินใจแทน.
ผู้คนในโลกทุกวันนี้ดูเหมือนขาดสามัญสำนึก จนทำให้คนที่สังเกตเห็นเรื่องนี้กล่าวว่า ‘ในความเป็นจริงแล้วสามัญสำนึกมีน้อยเหลือเกิน.’ เราจะมีสามัญสำนึกได้อย่างไร? สิ่งนี้ให้ประโยชน์อะไร?
มีได้อย่างไร?
การพิจารณาเรื่องราวอย่างละเอียดทุกแง่มุม และความพยายามอย่างต่อเนื่องเพื่อจะมีวิจารณญาณที่ดีและการตัดสินใจอย่างถูกต้อง จะทำให้คนเรามีสามัญสำนึกอย่างแน่นอนแม้อาจต้องใช้เวลาก็ตาม. ขอพิจารณาปัจจัยสามประการที่อาจช่วยเราให้มีสามัญสำนึก.
ศึกษาคัมภีร์ไบเบิลและนำคำแนะนำไปใช้. คัมภีร์ไบเบิลซึ่งเขียนขึ้นด้วยสำนวนภาษาที่ดีที่สุดและมีวิธีการหาเหตุผลที่ชัดเจน เป็นเครื่องมืออันยอดเยี่ยมที่ช่วยให้ได้มาซึ่งสติปัญญาและวิจารณญาณที่ดี. (เอเฟโซ 1:8) ตัวอย่างเช่น อัครสาวกเปาโลกระตุ้นเตือนเพื่อนคริสเตียนว่า “สิ่งใดที่จริง, สิ่งใดที่น่านับถือ, สิ่งใดที่ยุติธรรม, สิ่งใดที่บริสุทธิ์, สิ่งใดที่น่ารัก, สิ่งใดที่น่าฟัง, คือถ้ามีความดีประการใด, ถ้ามีการน่าสรรเสริญประการใด, ก็จงใคร่ครวญสิ่งเหล่านี้.” (ฟิลิปปอย 4:8) ถ้าเราทำตามคำแนะนำนี้เสมอ เราก็จะตัดสินใจอย่างถูกต้องและประพฤติอย่างฉลาดสุขุม.
เรียนจากประสบการณ์. สามัญสำนึกเกี่ยวข้องกับประสบการณ์ในชีวิต กวีชาวสวิสกล่าวว่า “สามัญสำนึก . . . ประกอบด้วยประสบการณ์และการคาดการณ์ [การมองเห็นผลล่วงหน้า].” จริงทีเดียว “คนใดที่ขาดประสบการณ์เชื่อคำพูดทุกคำ แต่คนฉลาดพิจารณาก้าวเท้าของตน.” (สุภาษิต 14:15, ล.ม.) คนเราอาจพัฒนาสามัญสำนึกได้โดยอาศัยการรู้จักสังเกต, การฝึกฝน, และประสบการณ์. เราสามารถเรียนรู้ที่จะทำสิ่งต่าง ๆ ดีขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป. อย่างไรก็ตาม การเรียนจากความผิดพลาดของเราเองต้องอาศัยความถ่อมใจ. น้ำใจที่อวดตัว, จองหอง, และหัวแข็งของคน ในสมัยสุดท้ายนี้ไม่ได้เป็นการแสดงออกว่ามีสามัญสำนึก.—2 ติโมเธียว 3:1-5.
เลือกการคบหาสมาคมอย่างสุขุม. คนที่เราคบหาช่วยเราหรือไม่ก็เป็นอุปสรรคต่อเราในการใช้สติปัญญาและสามัญสำนึกด้วยเช่นกัน. สุภาษิต 13:20 (ล.ม.) กล่าวว่า “บุคคลที่ดำเนินกับคนมีปัญญาก็จะเป็นคนมีปัญญา แต่คนที่คบกับคนโฉดเขลาย่อมจะรับความเสียหาย.” เราไม่จำเป็นต้องรับเอาวิธีคิดหรือทัศนะของคนที่ไม่เชื่อฟังพระเจ้าและไม่สนใจพระคำของพระองค์. สุภาษิต 17:12 (ฉบับแปลใหม่) กล่าวว่า “ให้คนไปพบแม่หมีที่ลูกถูกขโมยไปยังดีกว่าไปพบคนโง่ในความโง่ของเขา.”
ให้ประโยชน์อะไร?
การพัฒนาสามัญสำนึกก่อผลดี. สิ่งนี้ทำให้ชีวิตน่ายินดีมากขึ้นและช่วยเราไม่ให้เสียเวลา. สามัญสำนึกอาจช่วยลดความคับข้องใจที่มักเป็นผลมาจากการทำอะไรโดยไม่คิดให้รอบคอบ. คนที่ขาดการตัดสินใจที่ถูกต้องทำให้ชีวิตของตนลำบากขึ้น. คัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่า “การงานของคนโฉดเขลากระทำให้เขาเหน็ดเหนื่อย.” (ท่านผู้ประกาศ 10:15) คนเช่นนั้นอาจทำงานหนักอย่างไม่รู้จักจบจักสิ้นและหมดเรี่ยวแรง แต่กลับไม่ได้อะไรที่คุ้มค่าอย่างแท้จริง.
คัมภีร์ไบเบิลมีคำแนะนำที่ใช้ได้จริงมากมายในเรื่องความสะอาด, การติดต่อสื่อความ, ความขยันขันแข็ง, การรับมือกับความยากจน, และแง่มุมอื่น ๆ อีกหลายอย่างในชีวิต. ผู้คนนับล้านพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ชีวิตจะประสบความสำเร็จหรือล้มเหลวนั้นขึ้นอยู่กับการนำหลักการในคัมภีร์ไบเบิลไปใช้มากน้อยแค่ไหน การทำเช่นนี้ช่วยพวกเขาให้สำแดงสติปัญญา.
สามัญสำนึกไม่เพียงแต่ทำให้เราสามารถทำตามคำแนะนำหรือกฎเท่านั้น แต่ยังช่วยเราทำหน้าที่รับผิดชอบให้ลุล่วง. อย่างไรก็ดี สามัญสำนึกใช่ว่าจะเข้ามาแทนที่การรับเอาความรู้. สุภาษิต 1:5 กล่าวว่า “คนผู้ฉลาดแล้วจะพึงฟัง, และทวีในการศึกษา.” นอกจากนี้ เราต้องเรียนรู้ที่จะวิเคราะห์ข้อมูลที่เราได้มาและลงความเห็นอย่างเหมาะสมจากข้อมูลนั้น. การทำเช่นนี้จะช่วยเราให้ “ดำเนินด้วยปัญญา.”—สุภาษิต 28:26, ล.ม.
สามัญสำนึกเกี่ยวข้องกันอย่างใกล้ชิดกับความเจียมตัว. แม้ว่าเราอาจต้องการเอาใจใส่หน้าที่รับผิดชอบหลายอย่าง แต่เราต้องใช้ดุลพินิจและรู้ข้อจำกัดในเรื่องกำลังของเรา. จริงอยู่ อัครสาวกเปาโลบอกให้เรา “ทำการขององค์พระผู้เป็นเจ้าให้บริบูรณ์ทุกเวลา.” (1 โกรินโธ 15:58) กระนั้น คำกระตุ้นเตือนนี้ต้องสมดุลกับหลักการที่บันทึกในท่านผู้ประกาศ 9:4 ที่ว่า “สุนัขที่เป็นอยู่มันก็ยังดีกว่าสิงโตที่ตายแล้ว.” การใส่ใจสุขภาพของเราอย่างพอเหมาะพอควรขณะที่รับใช้พระยะโฮวาอาจทำให้เรามีชีวิตอยู่เพื่อจะทำงานรับใช้ได้อีกนาน. สามัญสำนึกจะช่วยเรามีความสมดุลที่สมเหตุสมผล ซึ่งเปิดโอกาสให้เราทำสิ่งที่จำเป็นให้สำเร็จลุล่วงโดยไม่สูญเสียความยินดี. ใช่แล้ว สามัญสำนึกทำให้เราได้รับประโยชน์หลายประการ.
[ภาพหน้า 14]
คำแนะนำดี ๆ มากมายพบได้ในคัมภีร์ไบเบิล
[ภาพหน้า 15]
สามัญสำนึกอาจได้มาโดยอาศัยการรู้จักสังเกต, การฝึกฝน, และประสบการณ์