โลกที่ปราศจากความยากจนมาใกล้แล้ว
โลกที่ปราศจากความยากจนมาใกล้แล้ว
ภาพอุทยานที่ปรากฏบนปกวารสารนี้ดึงดูดใจคนยากจนข้นแค้น. อาดามและฮาวามนุษย์คู่แรกเคยอยู่ในอุทยาน. บ้านของเขาคือสวนเอเดน. (เยเนซิศ 2:7-23) แม้อุทยานนั้นสูญสิ้นไปแล้ว แต่ความเชื่อที่ว่าอุทยานในอนาคตอันได้แก่โลกใหม่ที่ปราศจากความยากจนไม่ใช่แค่ความฝัน. ความเชื่อนั้นมีหลักฐานแน่นหนาอาศัยคำสัญญาต่าง ๆ ในคัมภีร์ไบเบิล.
จงพิจารณาคำสัญญาที่พระเยซูคริสต์ได้ตรัสในวันสุดท้ายที่พระองค์มีชีวิตบนแผ่นดินโลก. ผู้ร้ายคนหนึ่งซึ่งถูกตรึงให้ตายกับพระเยซูนั้นมีความเชื่อว่าพระเจ้าสามารถแก้ปัญหาของมนุษย์ได้. เขาทูลว่า “พระเยซูเจ้าข้า ขอทรงระลึกถึงข้าพเจ้าเมื่อพระองค์เสด็จเข้าในราชอาณาจักรของพระองค์.” ถ้อยคำเหล่านี้แสดงว่าผู้ร้ายคนนั้นเชื่อว่าพระเยซูจะปกครองเป็นกษัตริย์ และคนตายจะกลับมีชีวิตอีก. พระเยซูตรัสตอบดังนี้: “แท้จริง เราบอกเจ้าวันนี้ เจ้าจะอยู่กับเราในอุทยาน.”—ลูกา 23:42, 43, ล.ม.
เมื่อพูดถึงคนเหล่านั้นที่จะดำรงชีวิตในอุทยาน คัมภีร์ไบเบิลแจ้งว่า “คนไหนปลูกสร้าง, คนนั้นก็ได้อยู่, และคนไหนทำสวนองุ่น, คนนั้นก็ได้กินผล.” (ยะซายา 65:21) ใช่แล้ว “ต่างคนก็จะนั่งอยู่ใต้ซุ้มเถาองุ่นและใต้ต้นมะเดื่อเทศของตน; และจะไม่มีอะไรมาทำให้เขาสะดุ้งกลัว: ด้วยว่าพระโอษฐ์ของพระยะโฮวาเจ้าแห่งพลโยธาตรัสไว้อย่างนั้น.”—มีคา 4:4.
ทว่า เพราะอะไรเวลานี้ยังมีความยากจนอยู่? พระเจ้าทรงให้การสงเคราะห์อะไรแก่คนยากจน? ในที่สุด ความยากจนจะจบสิ้นเมื่อไร?
ทำไมความยากจนข้นแค้นยังมีอยู่?
อุทยานที่ให้อาดามและฮาวาอยู่อาศัยนั้นสาบสูญไปเนื่องด้วยทูตสวรรค์ชั่วตนหนึ่งคือซาตานพญามารเริ่มขืนอำนาจ. ด้วยการใช้งูเป็นกระบอกเสียง ซาตานได้ล่อลวงฮาวาให้ละเมิดกฎหมายของพระเจ้าที่ห้ามกินผลไม้จากต้นไม้ต้นหนึ่ง. ซาตานทำให้นางหลงเชื่อว่าการไม่พึ่งพาพระเจ้าจะทำให้ชีวิตดีกว่าเดิม. เมื่อฮาวายื่นผลไม้ต้องห้ามให้อาดาม เขาก็กินด้วย อาดามได้ละทิ้งพระเจ้าและเห็นดีเห็นชอบกับภรรยา.—เยเนซิศ 3:1-6; 1 ติโมเธียว 2:14.
คนทั้งสองที่ได้ขืนอำนาจสมควรถูกไล่ออกจากอุทยาน และนับแต่นั้นเขาต้องดิ้นรนหาเลี้ยงชีพ. กระทั่งเวลานี้ พระยะโฮวาทรงยอมให้ซาตานปกครองมนุษยชาติที่ผิดบาป ทำให้เห็นหลักฐานแสดงผลของการไม่เชื่อฟังพระเจ้า. ประวัติศาสตร์มนุษยชาติได้พิสูจน์ว่ามนุษย์ไม่อาจทำให้แผ่นดินโลกเป็นอุทยานได้. (ยิระมะยา 10:23) ถ้าจะพูดให้ถูก การไม่หมายพึ่งพระเจ้าทำให้เกิดปัญหาร้ายแรงตามมา รวมไปถึงความยากจนด้วย.—ท่านผู้ประกาศ 8:9.
อย่างไรก็ดี คนจนไม่ถูกทอดทิ้งให้อยู่อย่างสิ้นหวังในโลกที่เต็มไปด้วยความยากลำบาก. การชี้นำที่สุขุมสำหรับพวกเขามีอยู่แล้วในคัมภีร์ไบเบิล พระคำที่มีขึ้นโดยการดลใจจากพระเจ้า.
“อย่ากระวนกระวาย”
เมื่อบรรยายต่อฝูงชนซึ่งมีทั้งคนยากจนมากมาย พระเยซูตรัสว่า “จงดูฝูงนกในอากาศ มันมิได้หว่านมิได้เกี่ยวมิได้สะสมไว้ในยุ้งฉาง, แต่พระบิดาของท่านทั้งหลายผู้อยู่ในสวรรค์ทรงเลี้ยงนกไว้. ท่านทั้งหลายมิประเสริฐยิ่งกว่าฝูงนกอีกหรือ? . . . เหตุฉะนั้นอย่ากระวนกระวายว่า ‘จะเอาอะไรกินหรือจะเอาอะไรดื่มหรือจะเอาอะไรนุ่งห่ม’ เพราะว่าพวกต่างประเทศแสวงหาสิ่งของทั้งปวงนี้, แต่ว่าพระบิดาของท่านผู้สถิตในสวรรค์ทรงทราบแล้วว่าท่านต้องการสิ่งทั้งปวงเหล่านี้. แต่ท่านทั้งหลายจงแสวงหาแผ่นดิน [“ราชอาณาจักร,” ล.ม.] ของพระเจ้า และความชอบธรรมของพระองค์ก่อน, แล้วพระองค์จะทรงเพิ่มเติมสิ่งทั้งปวงเหล่านี้ให้.”—มัดธาย 6:26-33.
คนจนไม่จำเป็นต้องขโมย. (สุภาษิต 6:30, 31) เขาจะมีหนทางหาเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง หากเขาจัดเอาพระเจ้าไว้เป็นอันดับแรกในชีวิต. ขอพิจารณากรณีของชายที่ชื่อตูคีโซในประเทศเลโซโท แอฟริกาตอนใต้. เมื่อปี 1998 กองทหารต่างชาติได้เข้าไปประเทศเลโซโทเพื่อระงับการจลาจลต่อต้านรัฐบาล. ผลจากการสู้รบครั้งนั้น ร้านค้าถูกปล้น, ประชาชนสูญเสียงานอาชีพ, และเกิดการขาดแคลนอาหารอย่างรุนแรง.
ตูคีโซอาศัยในย่านที่ยากจนที่สุดของเมืองหลวง. ชาวบ้านใกล้เคียงละแวกนั้นได้ขโมยของจากร้านค้าเพื่อความอยู่รอด. เมื่อตูคีโซกลับมาถึงที่พักซึ่งมีเพียงห้องเดียวก็พบว่ามาเซโซ ผู้หญิงที่เขาอยู่กินด้วยมีของกินของใช้หลายอย่างที่เธอฉกฉวยมาจากร้าน. ตูคีโซบอกเธอว่า “เอาของพวกนี้ออกไปจากห้อง” และชี้แจงว่าการทำเช่นนี้เป็นการละเมิดกฎหมายของพระเจ้าที่ห้ามขโมย. มาเซโซปฏิบัติตาม. เพื่อนบ้านหัวเราะเยาะคนทั้งสองและพากันฉวยเอาอาหารที่ได้จากการขโมยไปจนหมด.
ตูคีโซยึดจุดยืนนี้เนื่องจากสิ่งที่เขาได้เรียนจากการศึกษาพระคัมภีร์กับพยานพระยะโฮวา. การเชื่อฟังกฎหมายของพระเจ้าทำให้เขาอดอยากไหม? เปล่าเลย. หลังจากนั้นไม่นาน ผู้ปกครองในประชาคมพยานพระยะโฮวาที่เขาเข้าร่วมด้วยได้ติดต่อตูคีโซและนำอาหารมาให้. ที่จริง เหล่าพยานพระยะโฮวาในประเทศเพื่อนบ้านของแอฟริกาใต้ได้ส่งสิ่งของบรรเทาทุกข์น้ำหนักกว่าสองตันไปให้พี่น้องคริสเตียนชายหญิงในเลโซโท. มาเซโซรู้สึกประทับใจที่ตูคีโซเชื่อฟังพระเจ้า และความช่วยเหลือด้วยความรักจากประชาคม. เธอเองก็เริ่มต้นศึกษาพระคัมภีร์เช่นกัน. ในที่สุด ทั้งสองได้แต่งงานอย่างถูกต้องตามกฎหมายและด้วยเหตุนั้นจึงมีคุณสมบัติรับบัพติสมาเป็นพยานพระยะโฮวา. เวลานี้คนทั้งสองยังคงรับใช้พระเจ้าอย่างซื่อสัตย์.
พระยะโฮวาพระเจ้าทรงใฝ่พระทัยคนยากจน (ดูข้อความในกรอบเรื่อง “พระเจ้ามีทัศนะเช่นไรต่อคนยากจน?”) พระองค์ได้จัดเตรียมการช่วยเหลือด้วยความรักให้คนอื่น ๆ เรียนรู้มากขึ้นเกี่ยวกับพระองค์เช่นเดียวกับที่ทรงช่วยตูคีโซ
และมาเซโซ. และในพระคำของพระองค์ก็ทรงเตรียมคำแนะนำสำหรับใช้ในชีวิตประจำวัน.การจัดเตรียมที่อำนวยประโยชน์
พยานพระยะโฮวาพยายามสะท้อนความห่วงใยของพระเจ้าที่มีต่อคนจนเสมอ. (ฆะลาเตีย 2:10) บ่อยครั้ง เมื่อเกิดภัยพิบัติในประเทศหนึ่งและคริสเตียนแท้ได้รับผลกระทบ มีการดำเนินงานจัดเตรียมให้ความช่วยเหลือที่จำเป็น. สำคัญยิ่งกว่านั้น เหล่าพยานฯ แสดงความห่วงใยต่อความจำเป็นฝ่ายวิญญาณของทุกคน รวมไปถึงคนจนด้วย. (มัดธาย 9:36-38) ตลอดช่วงเวลา 60 ปีที่ผ่านมา ผู้เผยแพร่หลายพันคนที่รับการฝึกอบรมแล้วได้อาสาไปปฏิบัติงานฐานะมิชชันนารีในต่างแดน. ตัวอย่างเช่น มิชชันนารีสามีภรรยาคู่หนึ่งจากฟินแลนด์ เนื่องจากเรียนรู้ภาษาเซโซโทจึงสามารถสอนตูคีโซและมาเซโซกระทั่งได้เข้ามาเป็นสาวกของพระเยซู. (มัดธาย 28:19, 20) งานมิชชันนารีดังกล่าว บ่อยครั้งรวมไปถึงการเสียสละความเป็นอยู่อย่างสะดวกสบายในประเทศที่มั่งคั่งและย้ายไปยังประเทศที่ยากจน.
การลักขโมยเพื่อความอยู่รอดไม่ใช่ทางเลือกสำหรับคริสเตียนแท้. แทนที่จะเป็นเช่นนั้น พวกเขาวางใจในพระปรีชาสามารถของพระยะโฮวาพระเจ้าในการจัดหาสิ่งจำเป็น. (เฮ็บราย 13:5, 6) ทางหนึ่งที่พระยะโฮวาจัดเตรียมเพื่อประชาชนของพระองค์คือโดยทางองค์การของผู้นมัสการพระองค์ที่มีอยู่ทั่วโลก ซึ่งเอาใจใส่ดูแลซึ่งกันและกัน.
อีกทางหนึ่งที่พระยะโฮวาช่วยคนยากจนก็โดยให้คำแนะนำที่ใช้ได้ผลในวิถีชีวิตแต่ละวัน. ยกตัวอย่าง พระคัมภีร์สั่งดังนี้: “ฝ่ายคนที่เคยลักขโมยก็อย่าให้ลักขโมยอีกต่อไป แต่ให้ใช้มือกระทำการงานที่ดีดีกว่า, เพื่อจะได้มีอะไร ๆ แจกให้แก่คนเหล่านั้นที่ขัดสน.” (เอเฟโซ 4:28) หลายคนเคยตก งานแต่สามารถสร้างงานให้ตัวเองได้โดยทำงานหนัก เป็นต้นว่า ปลูกพืชผักทำสวนครัว. พระคัมภีร์ยังช่วยคนจนประหยัดเงินได้ด้วย โดยการสอนพวกเขาให้หลีกเลี่ยงนิสัยไม่ดี อาทิ การใช้เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในทางให้โทษ.—เอเฟโซ 5:18.
โลกที่ปราศจากความยากจน—เมื่อไร?
คัมภีร์ไบเบิลแสดงว่าเรากำลังอยู่ใน “สมัยสุดท้าย” แห่งการปกครองของซาตาน. (2 ติโมเธียว 3:1, ล.ม.) ในไม่ช้า พระยะโฮวาพระเจ้าจะส่งพระเยซูคริสต์มาพิพากษามนุษยชาติ. จะเกิดอะไรขึ้น ณ เวลานั้น? พระเยซูทรงให้คำตอบไว้ในอุทาหรณ์เรื่องหนึ่ง. พระองค์ตรัสดังนี้: “เมื่อบุตรมนุษย์จะเสด็จมาด้วยรัศมีภาพของพระองค์กับทั้งหมู่ทูตสวรรค์, เมื่อนั้นพระองค์จะทรงนั่งบนพระที่นั่งอันรุ่งเรืองของพระองค์ บรรดาชนชาติต่าง ๆ จะประชุมพร้อมกันต่อพระพักตร์พระองค์. และพระองค์จะทรงแยกเขาทั้งหลายออกจากกัน. เหมือนอย่างผู้เลี้ยงแกะแยกแกะออกจากแพะ.”—มัดธาย 25:31-33.
แกะที่กล่าวในอุทาหรณ์เรื่องนี้คือคนเหล่านั้นที่ยอมตัวอยู่ใต้อำนาจการปกครองขององค์กษัตริย์เยซู. พระเยซูเปรียบพวกเขาเป็นแกะเพราะเขาติดตามพระองค์ฐานะผู้บำรุงเลี้ยง. (โยฮัน 10:16) คนเยี่ยงแกะเหล่านี้จะได้รับชีวิตภายใต้การปกครองที่ดีเลิศทุกประการของพระเยซู. ชีวิตในโลกใหม่จะมีความสุข พ้นจากความยากจน. บรรดาคนที่เปรียบเหมือนแพะคือพวกที่ปฏิเสธการปกครองของพระเยซูจะถูกทำลายให้สูญสิ้นตลอดไป.—มัดธาย 25:46.
ราชอาณาจักรของพระเจ้าจะปราบความชั่วให้หมดสิ้น. ครั้นแล้ว ความยากจนข้นแค้นจะกลายเป็นอดีต. แผ่นดินโลกจะกลับเป็นที่อยู่อาศัยของผู้คนที่รักและเอาใจใส่ซึ่งกันและกัน. โลกใหม่ดังกล่าวเป็นไปได้ดังเห็นได้จากความรักที่มีอยู่ในท่ามกลางภราดรภาพนานาชาติของเหล่าพยานพระยะโฮวา เพราะพระเยซูตรัสดังนี้: “คนทั้งปวงจะรู้ได้ว่าเจ้าเป็นเหล่าสาวกของเรา ก็เพราะเจ้าทั้งหลายรักซึ่งกันและกัน.”—โยฮัน 13:35.
[กรอบ/ภาพหน้า 6, 7]
พระเจ้ามีทัศนะเช่นไรต่อคนยากจน?
คัมภีร์ไบเบิลพรรณนาพระผู้สร้างมนุษย์ว่า “ผู้ทรงประทานอาหารแก่คนที่หิว.” (บทเพลงสรรเสริญ 146:7) มีข้อคัมภีร์มากกว่าหนึ่งร้อยข้อซึ่งเน้นความห่วงใยของพระเจ้าที่มีต่อคนยากจน.
เพื่อเป็นตัวอย่าง คราวที่พระยะโฮวาประทานกฎหมายแก่ชาติอิสราเอลโบราณ พระองค์ได้บัญชาชาวนาอิสราเอลไม่ให้เก็บเกี่ยวข้าวริมขอบนาจนหมด. พวกเขาต้องไม่กลับไปเก็บผลมะกอกที่เหลือค้างต้นหรือองุ่นที่เหลือติดเถาเป็นคำรบสอง. กฎหมายเหล่านี้เป็นการจัดเตรียมด้วยความรักเผื่อคนต่างชาติ, ลูกกำพร้า, หญิงม่าย, และคนอื่น ๆ ที่ตกทุกข์ได้ยาก.—เลวีติโก 19:9, 10; พระบัญญัติ 24:19-21.
นอกจากนั้น พระเจ้าทรงบัญชาชาวอิสราเอลดังนี้: “อย่าข่มเหงหญิงหม้ายหรือลูกกำพร้าเลย. ถ้าเจ้าได้ข่มเหงเขาในทางใด ๆ, และถ้าเขาจะร้องทุกข์ถึงเรา, เราจะฟังคำร้องของเขาเป็นแน่; ความโกรธของเราจะพลุ่งขึ้น, และเราจะประหารชีวิตของเจ้าด้วยพระแสงดาบ; ภรรยาของเจ้าก็จะต้องเป็นหม้าย, และบุตรของเจ้าก็จะต้องเป็นกำพร้า.” (เอ็กโซโด 22:22-24) น่าเศร้า ชาวอิสราเอลที่ร่ำรวยหลายคนได้ละเลยถ้อยคำดังกล่าว. เพราะเหตุนี้และการกระทำผิดอื่น ๆ พระยะโฮวาพระเจ้าทรงใช้ผู้พยากรณ์ประกาศคำเตือนนานาประการแก่ชาวอิสราเอล. (ยะซายา 10:1, 2; ยิระมะยา 5:28; อาโมศ 4:1-3) ในที่สุด พระเจ้าทรงใช้กองทัพอัสซีเรียและในเวลาต่อมาใช้บาบิโลนพิชิตทั่วเขตแดนอิสราเอล. ชาวอิสราเอลมากมายถูกสังหาร พวกที่รอดชีวิตก็ถูกจับพาไปเป็นเชลยยังแผ่นดินของคนต่างชาติ.
พระเยซูคริสต์ พระบุตรผู้เป็นที่รักยิ่งของพระเจ้าได้สะท้อนความห่วงใยด้วยความรักใคร่ที่พระบิดาของพระองค์มีต่อคนยากจน. พระเยซูทรงแถลงวัตถุประสงค์ของพระองค์เกี่ยวกับงานรับใช้ โดยตรัสว่า “พระวิญญาณของพระเจ้าสถิตอยู่บนข้าพเจ้า, เพราะว่าพระองค์ได้ทรงชโลมตั้งข้าพเจ้าไว้ให้ประกาศกิตติคุณแก่คนยากจน” (ลูกา 4:18) ทั้งนี้ไม่หมายความว่าพระเยซูจำกัดงานรับใช้ของพระองค์ไว้เฉพาะแต่คนจนเท่านั้น. พระองค์ได้ช่วยคนมั่งมีด้วยความรักเช่นเดียวกัน. อย่างไรก็ตาม ขณะที่ทรงช่วยคนมั่งมี พระเยซูก็มักจะแสดงความห่วงใยต่อคนจนอยู่เนือง ๆ. ตัวอย่างเช่น พระองค์ทรงให้คำแนะนำขุนนางที่มั่งมีคนหนึ่งดังนี้: “จงไปขายบรรดาสิ่งของซึ่งท่านมีอยู่แจกจ่ายให้คนอนาถา ท่านจึงจะมีทรัพย์สมบัติในสวรรค์ แล้วจงตามเรามาและเป็นสาวกของเรา.”—ลูกา 14:1, 12-14; 18:18, 22; 19:1-10, ฉบับแปลใหม่.
พระยะโฮวาพระเจ้าและพระบุตรของพระองค์ทรงห่วงใยคนจนอย่างลึกซึ้ง. (มาระโก 12:41-44; ยาโกโบ 2:1-6) ด้วยการสะท้อนทัศนะของพระองค์ที่ทรงห่วงใยคนยากจน พระยะโฮวายังคงระลึกถึงคนจนนับล้าน ๆ คนที่ล่วงลับไป. บุคคลทั้งสิ้นที่พระองค์ระลึกถึงนั้นจะได้รับการปลุกให้มีชีวิตในโลกใหม่ที่ปราศจากความยากจนข้นแค้น.—กิจการ 24:15.
[รูปภาพ]
ภราดรภาพนานาชาติท่ามกลางพยานพระยะโฮวาแสดงว่าโลกใหม่มีทางเป็นไปได้
[ภาพหน้า 5]
ตูคีโซและมาเซโซพร้อมด้วยมิชชันนารีที่ได้นำการศึกษาพระคัมภีร์กับตูคีโซ
[ภาพหน้า 5]
มาเซโซยืนที่ประตูบ้านกับมิชชันนารีที่ได้นำการศึกษาพระคัมภีร์กับเธอ