ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

ชื่นชมเต็มที่กับ “ชีวิตปัจจุบัน”!

ชื่นชมเต็มที่กับ “ชีวิตปัจจุบัน”!

เรื่อง​ราว​ชีวิต​จริง

ชื่นชม​เต็ม​ที่​กับ “ชีวิต​ปัจจุบัน”!

เล่า​โดย​เทด บัคกิงแฮม

ผม​เป็น​ผู้​เผยแพร่​เต็ม​เวลา​มา​แล้ว​หก​ปี ครั้น​แต่งงาน​ได้​หก​เดือน​ก็​ล้ม​ป่วย​กะทันหัน​ด้วย​โรค​โปลิโอ. เหตุ​การณ์​เกิด​ขึ้น​เมื่อ​ปี 1950 และ​อายุ​ผม​ก็​เพิ่ง 24 ปี. ระหว่าง​อยู่​ใน​โรง​พยาบาล​เก้า​เดือน ผม​คิด​หนัก​เกี่ยว​กับ​ชีวิต​ของ​ตัว​เอง. ผม​ไร้​สมรรถภาพ​เสีย​แล้ว​ใน​หลาย ๆ ด้าน อนาคต​ของ​ผม​และ​จอยซ์​ภรรยา​จะ​เป็น​อย่าง​ไร?

เมื่อ​ปี 1938 พ่อ​ของ​ผม​ซึ่ง​เป็น​คน​ไม่​เคร่ง​ศาสนา​รับ​หนังสือ​เล่ม​หนึ่ง​ชื่อ​การ​ปกครอง. * การ​ที่​พ่อ​รับ​หนังสือ​อาจ​เนื่อง​มา​จาก​ความ​ปั่นป่วน​ทาง​การ​เมือง​และ​คาด​การณ์​ว่า​จะ​เกิด​สงคราม. เท่า​ที่​รู้ ท่าน​ไม่​เคย​อ่าน​เล่ม​นั้น​เลย แต่​แม่​ซึ่ง​ฝักใฝ่​ศาสนา​มาก​กลับ​เป็น​คน​ได้​อ่าน. ข่าวสาร​ใน​หนังสือ​ส่ง​ผล​กระทบ​ต่อ​แม่​ทันที. ท่าน​ถอน​ตัว​จาก​คริสตจักร​แห่ง​อังกฤษ และ​แม้​จะ​ถูก​พ่อ​ต่อ​ต้าน แต่​แม่​ก็​ได้​เข้า​มา​เป็น​พยาน​สัตย์​ซื่อ​ของ​พระ​ยะโฮวา​และ​คง​สถานะ​เช่น​นั้น​ตราบ​เท่า​วัน​ตาย​เมื่อ​ปี 1990.

แม่​พา​ผม​ไป​ยัง​การ​ประชุม​คริสเตียน​ครั้ง​แรก​ที่​หอ​ประชุม​ใน​เมือง​เอปซอม ทาง​ภาค​ใต้​ของ​ลอนดอน. ประชาคม​จัด​การ​ประชุม​ใน​ห้อง​ซึ่ง​เคย​เป็น​ร้าน​ค้า​มา​ก่อน และ​เรา​ได้​ฟัง​แผ่น​เสียง​บันทึก​คำ​บรรยาย​ของ​เจ. เอฟ. รัทเทอร์ฟอร์ด ผู้​ดู​แล​กิจการ​งาน​ของ​พยาน​พระ​ยะโฮวา​สมัย​นั้น. ผม​ซาบซึ้ง​ใน​คำ​บรรยาย​นั้น​มาก​จริง ๆ.

ภัย​อันตราย​เพิ่ม​มาก​ขึ้น​ใน​ช่วง​การ​ทิ้ง​ระเบิด​โจมตี​ลอนดอน​แบบ​สาย​ฟ้า​แลบ. ดัง​นั้น ใน​ปี 1940 พ่อ​จึง​ตัดสิน​ใจ​ย้าย​ครอบครัว​ไป​ยัง​ที่​ที่​ปลอด​ภัย​กว่า​คือ​เมดเดนเฮด เมือง​เล็ก ๆ ทาง​ตะวัน​ตก​ของ​ลอนดอน​ราว 45 กิโลเมตร. การ​ย้าย​คราว​นี้​เป็น​ประโยชน์ เพราะ​สมาชิก 30 คน​ของ​ประชาคม​ที่​นั่น​เป็น​แหล่ง​แห่ง​การ​สนับสนุน​เป็น​อย่าง​ดี. เฟรด สมิท คริสเตียน​ที่​เข้มแข็ง​มั่นคง​ฝ่าย​วิญญาณ​ซึ่ง​รับ​บัพติสมา​ใน​ปี 1917 ช่วย​เอา​ใจ​ใส่​สนับสนุน​และ​ฝึก​อบรม​ผม​เป็น​ส่วน​ตัว จน​กระทั่ง​ผม​มี​คุณสมบัติ​เป็น​ผู้​ประกาศ​ที่​มี​ประสิทธิภาพ. ผม​ยัง​คง​สำนึก​บุญคุณ​อยู่​เสมอ เนื่อง​ด้วย​ตัว​อย่าง​ของ​เขา​และ​การ​ช่วยเหลือ​ด้วย​ความ​รัก.

การ​เข้า​สู่​งาน​รับใช้​เต็ม​เวลา

ปี 1941 พอ​อายุ 15 ปี ผม​ได้​รับ​บัพติสมา​ใน​แม่น้ำ​เทมส์ อากาศ​วัน​นั้น​ของ​เดือน​มีนาคม​หนาว​เย็น. จิม​พี่​ชาย​คน​โต​ได้​สมัคร​เป็น​ผู้​เผยแพร่​เต็ม​เวลา​อยู่​ก่อน​แล้ว. เวลา​นี้ จิม​พร้อม​ด้วย​แมจ​ภรรยา​อยู่​ที่​เมือง​เบอร์มิงแฮม หลัง​จาก​เกือบ​ตลอด​ชีวิต​ของ​เขา​ได้​รับใช้​พระ​ยะโฮวา​ใน​งาน​มอบหมาย​ให้​เดิน​ทาง​ดู​แล​หมวด​และ​ภาค​ทั่ว​บริเตน. โร​บี​นา น้อง​สาว​ของ​ผม​และ​แฟรงก์​สามี​ยัง​คง​เป็น​ผู้​รับใช้​ที่​ซื่อ​สัตย์​ของ​พระ​ยะโฮวา​เช่น​กัน.

ใน​เวลา​นั้น​ผม​ทำ​งาน​เป็น​นัก​บัญชี​ใน​โรง​งาน​ผลิต​เสื้อ​ผ้า. วัน​หนึ่ง​ผู้​อำนวย​การ​ฝ่าย​จัด​การ​เรียก​ผม​เข้า​พบ​ที่​ห้อง​ทำ​งาน​ของ​เขา และ​เสนอ​งาน​ซึ่ง​มี​ท่า​ว่า​มั่นคง​ดี​ให้​ผม​ทำ​ใน​หน้า​ที่​เป็น​ฝ่าย​จัด​ซื้อ​ของ​บริษัท. แต่​ก่อน​หน้า​นั้น ผม​คิด​ถึง​เรื่อง​การ​ติด​ตาม​ตัว​อย่าง​พี่​ชาย​ของ​ผม ดัง​นั้น ผม​จึง​ได้​ชี้​แจง​ให้​เหตุ​ผล​แก่​นาย​จ้าง​และ​ปฏิเสธ​ข้อ​เสนอ​อย่าง​สุภาพ. ผม​ประหลาด​ใจ​เมื่อ​เขา​ชมเชย​ผม​ด้วย​ความ​รู้สึก​จาก​ใจ เพราะ​ผม​มุ่ง​ติด​ตาม​กิจกรรม​คริสเตียน​ที่​มี​คุณค่า​เช่น​นั้น. ดัง​นั้น ภาย​หลัง​การ​ประชุม​ภาค​ที่​นอร์ทแทมป์ตัน ใน​ปี 1944 ผม​ได้​มา​เป็น​ผู้​เผยแพร่​ข่าว​ดี​เต็ม​เวลา.

เขต​งาน​มอบหมาย​แรก​ของ​ผม​อยู่​ที่​เมือง​เอ็กเซเทอร์ ใน​เขต​เด​วอน. ตอน​นั้น​เมือง​เอ็กเซเทอร์​เพิ่ง​ฟื้น​ตัว​หลัง​การ​ทิ้ง​ระเบิด​ใน​ช่วง​สงคราม. ไพโอเนียร์​สอง​คน​คือ​แฟรงก์​กับ​รูท มิดเดิลทัน​กรุณา​ผม​มาก เขา​แบ่ง​ห้อง​ให้​ผม​เข้า​ไป​อยู่​ใน​อพาร์ตเมนต์​ที่​เขา​อยู่​ก่อน​แล้ว. อายุ​ผม​เพิ่ง 18 แทบ​ไม่​มี​ประสบการณ์​ด้าน​ซัก​รีด​และ​ทำ​อาหาร แต่​สภาพการณ์​ก็​ดี​ขึ้น​ขณะ​ที่​ผม​พัฒนา​ทักษะ​ด้าน​ต่าง ๆ.

เพื่อน​ของ​ผม​ใน​งาน​เผยแพร่​คือ​วิกเตอร์ เกิร์ด ชาว​ไอริช​วัย 50 ปี เขา​ประกาศ​ให้​คำ​พยาน​ตั้ง​แต่​ทศวรรษ 1920. เขา​สอน​ผม​จัด​ตาราง​เวลา​อย่าง​ที่​เป็น​ประโยชน์, สอน​ผม​พัฒนา​ความ​สนใจ​ให้​ลึกซึ้ง​ใน​การ​อ่าน​พระ​คัมภีร์​และ​ให้​หยั่ง​รู้​คุณค่า​ของ​คัมภีร์​ฉบับ​แปล​ต่าง ๆ. ช่วง​หลาย​ปี​เหล่า​นั้น​มี​ความ​หมาย​และ​มี​แรง​จูง​ใจ​ให้​ผม​ได้​พัฒนา​บุคลิกภาพ ตัว​อย่าง​ของ​วิกเตอร์​ที่​แสดง​ความ​แน่วแน่​มั่นคง​เป็น​สิ่ง​ที่​ผม​ต้องการ​อยู่​ที​เดียว.

ข้อ​ท้าทาย​ใน​เรื่อง​ความ​เป็น​กลาง

สงคราม​ใกล้​จะ​เลิก แต่​เจ้าหน้าที่​รัฐ​ยัง​คง​ระดม​เกณฑ์​ชาย​หนุ่ม​ไป​เป็น​ทหาร. ผม​เคย​ไป​แสดง​ตัว​ต่อ​ศาล​เมือง​เมดเดนเฮด​ใน​ปี 1943 เพื่อ​ขอ​รับ​การ​ยก​เว้น​ฐานะ​ผู้​เผยแพร่​กิตติคุณ. แม้​คำ​ร้อง​ของ​ผม​ไม่​ได้​ผล ผม​ตัดสิน​ใจ​ย้าย​ไป​ยัง​เมือง​เอ็กเซเทอร์​อัน​เป็น​เขต​มอบหมาย. ดัง​นั้น ณ เอ็กเซเทอร์​นี้​เอง ผม​ถูก​หมาย​เรียก​ให้​ไป​รายงาน​ตัว​ที่​ศาล​ท้อง​ที่. ผม​ถูก​ตัดสิน​ต้อง​โทษ​จำ​คุก​และ​ทำ​งาน​หนัก​นาน​หก​เดือน ผู้​พิพากษา​ศาล​ท้อง​ที่​บอก​ว่า​เขา​เสียใจ​ที่​ไม่​ได้​รับ​อนุญาต​ให้​ตัดสิน​ลง​โทษ​ผม​ให้​นาน​กว่า​นี้. หลัง​การ​ต้อง​โทษ​หก​เดือน​ผ่าน​ไป เขา​ส่ง​ผม​กลับ​เข้า​คุก​ต่อ​อีก​สี่​เดือน.

เนื่อง​จาก​ผม​เป็น​พยาน​ฯ คน​เดียว​ใน​คุก พวก​ผู้​คุม​เรียก​ผม​ว่า​ยะโฮวา. พอ​ถึง​เวลา​เรียก​ชื่อ ผม​รู้สึก​อึดอัด​เมื่อ​ต้อง​ขาน​รับ​ชื่อ​นี้ แต่​จริง ๆ แล้ว​ผม​ถือ​ว่า​เป็น​ประโยชน์​ที่​ได้​ยิน​เสียง​ป่าว​ร้อง​ออก​พระ​นาม​พระเจ้า​ทุก ๆ วัน! เสียง​เรียก​ชื่อ​ดัง ๆ แบบ​นี้​ทำ​ให้​นัก​โทษ​คน​อื่น ๆ รู้​ว่า เนื่อง​จาก​สติ​รู้สึก​ผิด​ชอบ​ของ​ผม​ฐานะ​พยาน​พระ​ยะโฮวา ผม​ถึง​ได้​มา​อยู่​ท่ามกลาง​พวก​เขา. ใน​เวลา​ต่อ​มา นอร์มัน คาสโตร​ถูก​ส่ง​มา​ที่​เรือน​จำ​แห่ง​เดียว​กัน ชื่อ​ก็​เลย​เปลี่ยน​ไป. เขา​ตั้ง​ชื่อ​ให้​เรา​สอง​คน​ว่า​โมเซ​และ​อาโรน.

เขา​ย้าย​ผม​ออก​จาก​เรือน​จำ​ที่​เอ็กเซเทอร์​ไป​ยัง​เรือน​จำ​บริสตอล และ​ใน​ที่​สุด​ไป​ที่​วินเชสเตอร์. สภาพการณ์​ต่าง ๆ ไม่​ใช่​ว่า​ดี​เสมอ​ไป แต่​สิ่ง​ที่​ช่วย​ได้​คือ​อารมณ์​ขัน. ผม​กับ​นอร์มัน​ดีใจ​ที่​ได้​ร่วม​กัน​รำลึก​การ​วาย​พระ​ชนม์​ของ​พระ​คริสต์​ขณะ​อยู่​ใน​เรือน​จำ​วินเชสเตอร์. ฟรันซิส คุก​ได้​ไป​เยี่ยม​เรา​ใน​เรือน​จำ เขา​เป็น​ผู้​บรรยาย​ที่​ดี​เยี่ยม ณ การ​ประชุม​อนุสรณ์​ที่​นั่น.

การ​เปลี่ยน​แปลง​ใน​ปี​ต่าง ๆ หลัง​สงคราม

ณ การ​ประชุม​ใหญ่​ใน​เมือง​บริสตอล ปี 1946 นั้น มี​การ​ออก​หนังสือ​คู่มือ​ศึกษา​พระ​คัมภีร์ “จง​ให้​พระเจ้า​เป็น​องค์​สัตย์​จริง” ผม​ได้​รู้​จัก​สาว​งาม​ชื่อ​จอยซ์ มัวร์ เธอ​เป็น​ไพโอเนียร์​ใน​เขต​เด​วอน​เช่น​เดียว​กัน. มิตรภาพ​ของ​เรา​ผลิ​บาน และ​สี่​ปี​ต่อ​มา​เรา​แต่งงาน​กัน​ที่​เมือง​ทิเวอร์ตัน ผม​มา​อยู่​ที่​เมือง​นี้​ตั้ง​แต่​ปี 1947. เรา​แต่ง​ห้อง​ที่​ได้​จ่าย​ค่า​เช่า​สัปดาห์​ละ 15 ชิลลิง ( 50 บาท) ให้​เป็น​วิมาน​รัก​ของ​เรา. ชีวิต​ช่วง​นั้น​มี​ความ​สุข​จริง ๆ!

ช่วง​ปี​แรก​ใน​ชีวิต​สมรส​ของ​เรา มี​การ​โยกย้าย​เรา​ลง​ใต้​ไป​ถึง​บริกซ์แฮม เมือง​ท่า​ที่​น่า​อยู่ ซึ่ง​เริ่ม​พัฒนา​วิธี​ลาก​อวน​จับ​ปลา​เป็น​แห่ง​แรก. แต่​เรา​ไม่​ได้​อยู่​ที่​นั่น​นาน ผม​ล้ม​ป่วย​ด้วย​โรค​โปลิโอ​ระหว่าง​เดิน​ทาง​เข้า​ร่วม​การ​ประชุม​ใหญ่​ที่​ลอนดอน. ผม​ป่วย​หนัก​เข้า​ขั้น​โคม่า. หลัง​จาก​เข้า​รับ​การ​รักษา​เก้า​เดือน​ใน​โรง​พยาบาล ใน​ที่​สุด​ผม​ก็​ออก​จาก​โรง​พยาบาล​ดัง​ได้​กล่าว​ไว้​ข้าง​ต้น. มือ​ข้าง​ขวา​และ​ขา​ทั้ง​สอง​ข้าง​ของ​ผม​ได้​รับ​ผล​กระทบ​มาก และ​ผม​ต้อง​ใช้​ไม้เท้า อาการ​ตอน​นี้​ก็​ยัง​ไม่​ปกติ. ภรรยา​ของ​ผม​เป็น​เพื่อน​แสน​ดี​ร่าเริง​อยู่​เสมอ และ​เป็น​แหล่ง​ให้​การ​หนุน​ใจ โดย​เฉพาะ​อย่าง​ยิ่ง​เมื่อ​เธอ​จัด​การ​เพื่อ​จะ​ทำ​งาน​รับใช้​เต็ม​เวลา​ได้​ต่อ ๆ ไป. แต่​มา​ถึง​ขั้น​นี้ เรา​จะ​ทำ​อะไร​ล่ะ? ไม่​นาน ผม​ก็​ได้​เรียน​รู้​ว่า​พระ​หัตถ์​พระ​ยะโฮวา​ไม่​สั้น​เกิน​ที่​จะ​ช่วย​เรา.

ปี​ถัด​มา​เรา​ได้​ไป​ร่วม​การ​ประชุม​ใหญ่​ที่​วิมเบิลดัน กรุง​ลอนดอน. เวลา​นั้น ผม​เดิน​ได้​โดย​ไม่​ต้อง​อาศัย​ไม้เท้า. ณ การ​ประชุม เรา​ได้​พบ​ไพรซ์ ฮิวส์ ซึ่ง​ดู​แล​การ​งาน​ใน​บริเตน​ใน​เวลา​นั้น. เขา​ทักทาย​ผม​ทันที​ว่า “ดี​จัง! เรา​ต้องการ​คุณ​เป็น​ผู้​ดู​แล​หมวด!” คำ​พูด​เช่น​นี้​ให้​กำลังใจ​มาก​จริง ๆ อย่าง​ที่​ผม​ไม่​เคย​ได้​รับ​มา​ก่อน! สุขภาพ​ของ​ผม​แข็งแรง​พอ​จะ​ทำ​งาน​ไหว​ไหม? ผม​กับ​จอยซ์​ไม่​ค่อย​แน่​ใจ​นัก แต่​เมื่อ​ได้​รับ​การ​ฝึก​อบรม​หนึ่ง​สัปดาห์​และ​วางใจ​พระ​ยะโฮวา​เต็ม​ที่ เรา​ก็​เดิน​ทาง​กลับ​ไป​ที่​ภาค​ตะวัน​ตก​เฉียง​ใต้​ของ​ประเทศ​อังกฤษ ที่​นั่น​ผม​ได้​รับ​มอบหมาย​ให้​รับใช้​ฐานะ​ผู้​ดู​แล​หมวด. ตอน​นั้น อายุ​ผม​แค่ 25 ปี แต่​ผม​ยัง​คง​รำลึก​ด้วย​ความ​หยั่ง​รู้​ค่า​อย่าง​ซาบซึ้ง​ต่อ​ความ​กรุณา​และ​ความ​อด​ทน​ของ​พยาน​ฯ เหล่า​นั้น​ที่​อำนวย​ประโยชน์​แก่​ผม​มาก​เหลือ​เกิน.

ว่า​กัน​ถึง​ขอบ​เขต​กิจกรรม​ใน​ระบอบ​ของ​พระเจ้า ผม​กับ​จอยซ์​ได้​ประสบ​ว่า​การ​เยี่ยม​ประชาคม​ต่าง ๆ ทำ​ให้​เรา​ใกล้​ชิด​คริสเตียน​พี่​น้อง​ชาย​หญิง​ของ​เรา​ได้​มาก​ที่​สุด. เรา​ไม่​มี​รถยนต์ ฉะนั้น เรา​เดิน​ทาง​โดย​รถไฟ หรือ​ไม่​ก็​รถ​โดยสาร​ประจำ​ทาง. ถึง​แม้​ผม​ยัง​ต้อง​ปรับ​ตัว​ให้​เข้า​กับ​ขีด​จำกัด​สืบ​เนื่อง​จาก​ความ​เจ็บ​ป่วย แต่​เรา​ชื่นชม​ที่​มี​โอกาส​ได้​ทำ​งาน​รับใช้​พิเศษ​นี้​กระทั่ง​ปี 1957. นับ​ว่า​เป็น​ชีวิต​ที่​น่า​พอ​ใจ​จริง ๆ แต่​ปี​นั้น​เรา​เจอ​การ​ท้าทาย​อีก​อย่าง​หนึ่ง.

ก้าว​สู่​งาน​รับใช้​ฐานะ​มิชชันนารี

เรา​ตื่นเต้น​ดีใจ​มาก​เมื่อ​ได้​รับ​คำ​เชิญ​ให้​เข้า​เรียน​ใน​รุ่น​ที่ 30 ของ​โรง​เรียน​กิเลียด. ผม​รับมือ​ได้​ดี​กับ​อาการ​อัมพาต ดัง​นั้น ผม​และ​จอยซ์​ตก​ลง​รับ​คำ​เชิญ​ด้วย​ความ​ยินดี. เรา​ได้​เรียน​รู้​จาก​ประสบการณ์​ว่า​พระ​ยะโฮวา​ประทาน​กำลัง​ให้​เรา​เสมอ หาก​เรา​ตั้งใจ​ทำ​ตาม​พระทัย​ประสงค์​ของ​พระองค์. การ​ฝึก​อบรม​อย่าง​คร่ำ​เคร่ง​จาก​หลัก​สูตร​ห้า​เดือน​ของ​โรง​เรียน​ว็อชเทาเวอร์​ไบเบิล​แห่ง​กิเลียด บน​บริเวณ​พื้น​ที่​อัน​สวย​งาม​แห่ง​เซาท์แลนซิง รัฐ​นิวยอร์ก สหรัฐ​อเมริกา​ได้​ผ่าน​ไป​อย่าง​รวด​เร็ว. นัก​เรียน​ส่วน​ใหญ่​เป็น​คู่​สามี​ภรรยา​ซึ่ง​เดิน​ทาง​เยี่ยม​หมวด. เมื่อ​มี​การ​ถาม​นัก​เรียน​ใน​ชั้น​ว่า​มี​ใคร​บ้าง​อยาก​อาสา​เป็น​มิชชันนารี​ทำ​งาน​ใน​ต่าง​แดน เรา​อยู่​ใน​กลุ่ม​ที่​พร้อม​จะ​ไป. เรา​จะ​ไป​ที่​ไหน? เรา​ถูก​มอบหมาย​ให้​ไป​ประเทศ​ยูกันดา​ทาง​แอฟริกา​ตะวัน​ออก!

เนื่อง​จาก​ตอน​นั้น​งาน​ของ​พยาน​พระ​ยะโฮวา​ใน​ยูกันดา​ถูก​สั่ง​ห้าม ผม​ได้​รับ​คำ​แนะ​นำ​ให้​ตั้ง​หลัก​ปัก​ฐาน​อยู่​ใน​ประเทศ​และ​หา​งาน​ทำ. หลัง​การ​เดิน​ทาง​ระยะ​ไกล​ทั้ง​ทาง​รถไฟ​และ​ทาง​เรือ เรา​ก็​มา​ถึง​กรุง​กัมปาลา ประเทศ​ยูกันดา. เจ้าหน้าที่​ตรวจ​คน​เข้า​เมือง​ไม่​ค่อย​ชอบ​ใจ​ที่​เห็น​เรา​และ​อนุญาต​ให้​เรา​อยู่​แค่​สอง​สาม​เดือน​แล้ว​ที​หลัง​ก็​มี​คำ​สั่ง​ให้​เรา​เดิน​ทาง​ออก​นอก​ประเทศ. เมื่อ​ได้​รับ​คำ​ชี้​แนะ​จาก​สำนักงาน​ใหญ่ เรา​จึง​เดิน​ทาง​ต่อ​ไป​ยัง​โรดีเซีย​เหนือ (ปัจจุบัน​คือ​แซมเบีย). ที่​นั่น เรา​ดีใจ​มาก​เมื่อ​ได้​มา​เจอ​นัก​เรียน​ร่วม​รุ่น​สี่​คน​จาก​กิเลียด​อีก​ครั้ง​หนึ่ง—แฟรงก์​กับ​แคร์รี ลูอิส และ​เฮส์​กับ​แฮเรียต ฮอส​กินส์. หลัง​จาก​นั้น​ไม่​นาน เรา​ถูก​มอบหมาย​ให้​ไป​โรดีเซีย​ใต้ (ปัจจุบัน​คือ​ซิมบับเว).

เรา​เดิน​ทาง​โดย​รถไฟ และ​เป็น​ครั้ง​แรก​ที่​ได้​เห็น​น้ำ​ตก​วิกตอเรีย​ที่​ใหญ่​โต​น่า​ตื่น​ตา​ตื่น​ใจ​ก่อน​จะ​ถึง​เมือง​บู​ลาวา​โย. เรา​พัก​อยู่​ชั่ว​คราว​กับ​ครอบครัว​แมคลักกี ซึ่ง​เป็น​หนึ่ง​ใน​กลุ่ม​พยาน​ฯ รุ่น​แรก​ที่​ตั้ง​หลัก​แหล่ง​ที่​นั่น. นับ​ว่า​เป็น​โอกาส​ดี​มาก​ที่​เรา​ได้​รู้​จัก​ครอบครัว​นี้​ตลอด 16 ปี​ต่อ​มา.

ปรับ​สภาพ​ให้​เหมาะ​กับ​การ​เปลี่ยน​แปลง

หลัง​การ​อบรม​นาน​สอง​สัปดาห์​เพื่อ​ให้​คุ้น​เคย​เขต​งาน​ใน​แอฟริกา ผม​ก็​ได้​รับ​แต่ง​ตั้ง​เป็น​ผู้​ดู​แล​ภาค. การ​ประกาศ​ให้​คำ​พยาน​แก่​ผู้​คน​ที่​อาศัย​อยู่​ตาม​ป่า​ละเมาะ​ของ​แอฟริกา​นั้น​จะ​ต้อง​ขน​เอา​น้ำ, อาหาร, เครื่อง​นอน, เสื้อ​ผ้า, เครื่อง​ฉาย​ภาพยนตร์​พร้อม​ทั้ง​จอ​และ​เครื่อง​ปั่น​ไฟ, และ​สิ่ง​จำเป็น​อีก​หลาย​อย่าง​ไป​ด้วย. ของ​ทั้ง​หมด​ใส่​ลง​ใน​รถ​บรรทุก​ที่​แข็งแรง​พา​เรา​สมบุกสมบัน​ผ่าน​ภูมิ​ประเทศ​ที่​ขรุขระ​ไป​ได้.

ผม​ทำ​งาน​กับ​ผู้​ดู​แล​หมวด​ชาว​แอฟริกา​หลาย​คน​ใน​ขณะ​ที่​จอยซ์​ทำ​งาน​อย่าง​เพลิดเพลิน​ด้วย​การ​ช่วย​ภรรยา​และ​ลูก​ของ​ผู้​ดู​แล​เหล่า​นั้น​ที่​ร่วม​สมทบ​ด้วย. การ​เดิน​ใน​ทุ่ง​หญ้า​แอฟริกา​นั้น​อาจ​ทำ​ให้​เหนื่อย โดย​เฉพาะ​ช่วง​กลางวัน​เมื่อ​อากาศ​ร้อน​อบอ้าว แต่​ใน​ไม่​ช้า​ผม​ก็​พบ​ว่า​ภูมิอากาศ​แบบ​นี้​ช่วย​ผม​รับมือ​ได้​ง่าย​ขึ้น​กับ​ความ​บกพร่อง​ด้าน​สุขภาพ​ร่าง​กาย ด้วย​เหตุ​นี้​ผม​รู้สึก​ขอบคุณ.

ประชาชน​โดย​ทั่ว​ไป​ยาก​จน. หลาย​คน​จม​อยู่​กับ​ธรรมเนียม​ประเพณี​และ​การ​เชื่อ​โชค​ลาง​และ​ทำ​ตาม​ประเพณี​ที่​ให้​มี​สามี​หรือ​ภรรยา​ได้​หลาย​คน กระนั้น คน​เหล่า​นี้​แสดง​ให้​เห็น​ว่า​พวก​เขา​นับถือ​คัมภีร์​ไบเบิล​อย่าง​มาก. บาง​พื้น​ที่ ประชาคม​ได้​จัด​การ​ประชุม​ใต้​ร่ม​ต้น​ไม้​ใหญ่ และ​เวลา​พลบ​ค่ำ​ก็​อาศัย​แสง​สว่าง​จาก​ตะเกียง​น้ำมัน​ที่​แขวน​ไว้. เรา​ตระหนัก​เสมอ​ถึง​ความ​ครั่นคร้าม​น่า​เกรง​ขาม​ขณะ​ศึกษา​พระ​คำ​ของ​พระเจ้า​ใต้​ท้องฟ้า​ที่​ระยิบระยับ​ด้วย​แสง​ดาว ส่วน​ที่​เลิศ​เลอ​แห่ง​การ​สร้าง​สรรค์​ของ​พระองค์.

การ​ฉาย​ภาพยนตร์​ของ​สมาคม​ว็อชเทาเวอร์​ใน​เขต​สงวน​ของ​แอฟริกา​เป็น​อีก​ประสบการณ์​หนึ่ง​ซึ่ง​ไม่​อาจ​ลืม​เสีย​ได้. ประชาคม​หนึ่ง​อาจ​มี​พยาน​ฯ 30 คน แต่​พอ​ถึง​เวลา​ฉาย​ภาพยนตร์ บ่อย​ครั้ง​เรา​คาด​หมาย​ได้​ว่า​จะ​มี 1,000 คน​มา​ชม หรือ​มาก​กว่า​นั้น!

แน่นอน ใน​ประเทศ​เขต​ร้อน คน​เรา​อาจ​เจ็บ​ไข้​ได้​ป่วย​เป็น​ครั้ง​คราว แต่​การ​คิด​ใน​แง่​บวก​ตลอด​เวลา​เป็น​สิ่ง​สำคัญ. ผม​กับ​จอยซ์​เรียน​รู้​วิธี​การ​ดู​แล​เรื่อง​นี้​ได้​ดี​ที​เดียว เป็น​ต้น​ว่า ผม​เรียน​รู้​ที่​จะ​ช่วย​ตัว​เอง​เมื่อ​จับ​ไข้​มาลาเรีย​เป็น​พัก ๆ และ​จอยซ์​รู้​วิธี​รับมือ​กับ​โรค​บิด.

ต่อ​มา เรา​ได้​รับ​มอบหมาย​ไป​ทำ​งาน​ที่​สำนักงาน​สาขา​ใน​ซอลิสเบอรี (ปัจจุบัน​คือ​ฮาราเร) นับ​ว่า​เป็น​สิทธิ​พิเศษ​ที่​ได้​ทำ​งาน​เคียง​ข้าง​กับ​ผู้​รับใช้​ที่​ซื่อ​สัตย์​ของ​พระ​ยะโฮวา​ที่​นั่น อาทิ เลสเตอร์ เดวีย์ และ​จอร์จ​กับ​รูบี แบรดเลย์. รัฐบาล​แต่ง​ตั้ง​ผม​ให้​ปฏิบัติ​งาน​ฐานะ​นาย​ทะเบียน​สมรส ผม​สามารถ​จัด​การ​ให้​พี่​น้อง​ชาว​แอฟริกา​สมรส​กัน​ได้ ด้วย​เหตุ​นั้น สาย​สมรส​ของ​คริสเตียน​ภาย​ใน​ประชาคม​ได้​รับ​การ​เสริม​ให้​แน่นแฟ้น​มั่นคง. หลัง​จาก​นั้น​ไม่​กี่​ปี ผม​ได้​รับ​มอบ​สิทธิ​พิเศษ​อีก​อย่าง​หนึ่ง. ผม​ต้อง​ไป​เยี่ยม​ประชาคม​ต่าง ๆ ใน​ประเทศ ยก​เว้น​ประชาคม​ที่​พูด​ภาษา​บันตู. ผม​กับ​จอยซ์​ชื่นชม​ที่​ได้​รู้​จัก​พี่​น้อง​ของ​เรา​ใน​ช่วง​สิบ​กว่า​ปี​ของ​การ​เดิน​ทาง​เยี่ยม และ​รู้สึก​ปีติ​ยินดี​เมื่อ​เห็น​พวก​เขา​ก้าว​หน้า​ใน​ทาง​แห่ง​ความ​จริง. ระหว่าง​นั้น เรา​ได้​เดิน​ทาง​เยี่ยม​พวก​พี่​น้อง​ใน​บอตสวานา​และ​โมซัมบิก​ด้วย.

ย้าย​ไป​ประเทศ​อื่น​อีก

หลัง​จาก​อยู่​ทาง​ตอน​ใต้​ของ​แอฟริกา​อย่าง​มี​ความ​สุข​เป็น​เวลา​หลาย​ปี เรา​ได้​รับ​มอบหมาย​ให้​ไป​ที่​ประเทศ​เซียร์ราลีโอน แอฟริกา​ตะวัน​ตก ใน​ปี 1975. ไม่​นาน​หลัง​จาก​นั้น เรา​ปัก​หลัก​อยู่​ที่​สำนักงาน​สาขา​เพื่อ​ทำ​งาน​มอบหมาย​ใหม่ แต่​อยู่​ได้​ไม่​นาน. ผม​ล้ม​ป่วย​และ​อ่อน​เปลี้ย​สะบักสะบอม เนื่อง​จาก​จับ​ไข้​มาลาเรีย และ​ใน​ที่​สุด​จำเป็น​ต้อง​เข้า​รับ​การ​รักษา​ใน​ลอนดอน ที่​นี่​เอง​ที่​ผม​ได้​รับ​การ​ชี้​แนะ​ไม่​ให้​กลับ​ไป​แอฟริกา​อีก. เมื่อ​เป็น​เช่น​นี้​เรา​รู้สึก​เศร้า​เสียใจ กระนั้น​ก็​ได้​รับ​การ​ต้อนรับ​อย่าง​อบอุ่น​จาก​ครอบครัว​เบเธล​ที่​ลอนดอน. นอก​จาก​นั้น มี​พี่​น้อง​ชาว​แอฟริกา​จำนวน​มาก​ที่​ร่วม​กับ​หลาย​ประชาคม​ใน​ลอนดอน​ทำ​ให้​เรา​รู้สึก​สบาย​ใจ​เหมือน​อยู่​ที่​บ้าน. ครั้น​สุขภาพ​ของ​ผม​กระเตื้อง​ขึ้น เรา​ก็​ปรับ​ตัว​ให้​เข้า​กับ​กิจวัตร​ใหม่ เขา​ให้​ผม​ดู​แล​แผนก​จัด​ซื้อ. อาศัย​การ​แผ่​ขยาย​มาก​มาย​ที่​เรา​พบ​เห็น​มา​ตลอด​หลาย​ปี​ที่​ผ่าน​มา งาน​นี้​น่า​สนใจ.

ช่วง​ต้น​ทศวรรษ 1990 จอยซ์​ภรรยา​ที่​รัก​ล้ม​ป่วย​มี​อาการ​อักเสบ​ของ​ประสาท​บังคับ​การ​เคลื่อน​ไหว และ​เสีย​ชีวิต​ใน​ปี 1994. เธอ​ได้​พิสูจน์​ตัว​เป็น​ภรรยา​ที่​มี​ความ​รัก, ภักดี, และ​ซื่อ​สัตย์ เต็ม​ใจ​เสมอ​ที่​จะ​ปรับ​ตัว​ให้​เข้า​กับ​สภาพการณ์​ที่​ผันผวน​ซึ่ง​เรา​เผชิญ​ด้วย​กัน. เพื่อ​จะ​รับมือ​กับ​การ​สูญ​เสีย​เช่น​นี้ ผม​ได้​พบ​ว่า​จำเป็น​ต้อง​รักษา​มุม​มอง​ฝ่าย​วิญญาณ​ให้​กระจ่าง​ชัด​ต่อ ๆ ไป และ​มอง​ไป​ข้าง​หน้า. การ​อธิษฐาน​ขอ​พระ​ยะโฮวา​ช่วย​ผม​ให้​ยึด​มั่น​กับ​ตาราง​เวลา​ที่​ดี​ทั้ง​ใน​งาน​รับใช้​และ​การ​นมัสการ รวม​ถึง​งาน​ประกาศ​ได้​ช่วย​ให้​ความ​คิด​จิตใจ​ของ​ผม​หมกมุ่น​อยู่​กับ​สิ่ง​ที่​เป็น​ประโยชน์​ด้วย.—สุภาษิต 3:5, 6.

การ​รับใช้​ที่​เบเธล​เป็น​สิทธิ​พิเศษ​และ​เป็น​วิถี​ชีวิต​ที่​ดี​งาม. ผม​ได้​ทำ​งาน​ร่วม​กับ​หนุ่ม​สาว​หลาย​คน​และ​ร่วม​ความ​ชื่นชม​ยินดี​ด้วย​กัน. พระ​พร​ประการ​หนึ่ง​คือ​ที่​นี่​ใน​ลอนดอน เรา​ได้​ต้อนรับ​แขก​ที่​มา​เยือน​จำนวน​มาก. บาง​ครั้ง​ผม​พบ​เพื่อน ๆ ที่​รัก​ซึ่ง​มา​จาก​เขต​มอบหมาย​ใน​แอฟริกา และ​ได้​ย้อน​รำลึก​เรื่อง​ราว​ใน​ความ​ทรง​จำ​อย่าง​น่า​ชื่น​ใจ. สิ่ง​ต่าง ๆ เหล่า​นี้​ช่วย​ให้​ผม​ชื่นชม​เต็ม​ที่​กับ “ชีวิต​ปัจจุบัน” และ​คิด​คำนึง​ถึง “ชีวิต​ใน​อนาคต” ด้วย​ความ​มั่น​ใจ​และ​ด้วย​ความ​หวัง.—1 ติโมเธียว 4:8.

[เชิงอรรถ]

^ วรรค 5 จัด​พิมพ์​ใน​ปี 1928 โดย​พยาน​พระ​ยะโฮวา แต่​ไม่​พิมพ์​อีก​แล้ว.

[ภาพ​หน้า 25]

กับ​คุณ​แม่​ของ​ผม ปี 1946

[ภาพ​หน้า 26]

กับ​จอยซ์​ใน​วัน​แต่งงาน ปี 1950

[ภาพ​หน้า 26]

ณ การ​ประชุม​ใหญ่​ที่​เมือง​บริสตอล ปี 1953

[ภาพ​หน้า 27]

รับใช้​กลุ่ม​โดด​เดี่ยว (ภาพ​บน) และ​ประชาคม​หนึ่ง (ภาพ​ซ้าย) ใน​โรดีเซีย​ใต้ ปัจจุบัน​คือ​ซิมบับเว