เมื่อสามีภรรยามีเรื่องขัดแย้งกัน
เมื่อสามีภรรยามีเรื่องขัดแย้งกัน
คงไม่มีสามีหรือภรรยาที่มีสุขภาพจิตดีคนใดอยากให้ชีวิตสมรสมีแต่การทะเลาะเบาะแว้ง แต่นี่เป็นสิ่งที่แพร่หลายไปทั่ว. ส่วนใหญ่แล้ว ฝ่ายหนึ่งจะพูดอะไรบางอย่างที่ทำให้อีกฝ่ายหนึ่งขุ่นเคือง. ต่างฝ่ายต่างขึ้นเสียงและระเบิดอารมณ์ใส่กันซึ่งทำให้เกิดการทะเลาะกันอย่างรุนแรงโดยใช้คำพูดประชดประชัน. ต่อมา ทั้งสองฝ่ายต่างแสดงความเย็นชาและถือทิฐิไม่ยอมพูดจากัน. เมื่อเวลาผ่านไป ทั้งคู่ก็หายโกรธและกล่าวคำขอโทษซึ่งกันและกัน. ความสงบสุขกลับคืนมาอีก—อย่างน้อยก็จนกว่าจะมีเรื่องขัดแย้งกันครั้งถัดไป.
ความขัดแย้งระหว่างสามีภรรยาถูกนำมาทำเป็นเรื่องขำขันและละครโทรทัศน์อย่างไม่ขาดสาย แต่ในความเป็นจริงแล้ว เรื่องนี้ไม่ตลกเลย. ที่จริง สุภาษิตในคัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่า “คำพูดพล่อย ๆ ของคนบางจำพวกเหมือนการแทงของกระบี่.” (สุภาษิต 12:18) ถูกแล้ว คำพูดเจ็บแสบอาจทำให้เกิดความบอบช้ำทางอารมณ์ที่ฝังลึก ซึ่งอาจติดอยู่ในใจไปอีกนานหลังจากทะเลาะกันแล้ว. การทะเลาะเบาะแว้งอาจทำให้ถึงขั้นลงไม้ลงมือกันด้วยซ้ำ.—เอ็กโซโด 21:18.
แน่นอนว่า ความไม่สมบูรณ์ของมนุษย์อาจทำให้เกิดปัญหาในชีวิตสมรสเป็นบางครั้งซึ่งไม่อาจหลีกเลี่ยงได้. (เยเนซิศ 3:16; 1 โกรินโธ 7:28) กระนั้น ไม่ควรถือว่าการทะเลาะกันอย่างรุนแรงบ่อย ๆ เป็นเรื่องธรรมดา. ผู้เชี่ยวชาญให้ข้อสังเกตว่า สามีภรรยาที่ทะเลาะกันเป็นประจำมีโอกาสมากขึ้นที่จะลงเอยด้วยการหย่าร้าง. ฉะนั้น นับว่าสำคัญที่คุณและคู่สมรสจะเรียนรู้วิธีจัดการกับความขัดแย้งที่เกิดขึ้นด้วยสันติวิธี.
การวิเคราะห์สถานการณ์
ถ้าชีวิตสมรสของคุณมีแต่การทะเลาะเบาะแว้ง จงพยายามสังเกตว่าอะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้คุณต้องทะเลาะกันบ่อย ๆ. ตามปกติแล้ว เกิดอะไรขึ้นเมื่อคุณและคู่สมรสไม่เห็นพ้องกันในเรื่องหนึ่ง? เรื่องนั้นลุกลามใหญ่โตและเลวร้ายลงถึงขั้นใช้คำพูดดูถูกเหยียดหยามและกล่าวหากันและกันไหม? ถ้าเป็นเช่นนั้น คุณจะทำอะไรได้?
ประการแรกคือ จงสำรวจตัวเองอย่างซื่อสัตย์ว่า คุณอาจมีส่วนทำให้เกิดปัญหาขึ้นโดยวิธีใด. คุณเป็นคนโมโหง่ายไหม? คุณเป็นคนชอบโต้เถียงไหม? คู่สมรสคิดอย่างไรเกี่ยวกับนิสัยในด้านนี้ของคุณ? คำถามสุดท้ายเป็นคำถามสำคัญที่ต้องคิดให้ดี เพราะคุณและคู่สมรสอาจมีความคิดเห็นไม่ตรงกันในเรื่องที่ว่า แบบไหนถึงจะเรียกว่าเป็นคนชอบโต้เถียง.
ตัวอย่างเช่น สมมุติว่าคู่สมรสของคุณเป็นคนที่ค่อนข้างเก็บความรู้สึก แต่คุณเป็นคนตรงไปตรงมาและชอบแสดงอารมณ์ออกมาอย่างเต็มที่. คุณอาจพูดว่า “ในครอบครัวที่ฉันเติบโตขึ้นมา ทุกคน ก็คุยกันแบบนี้แหละ. นี่ไม่ใช่การทะเลาะกันสักหน่อย!” และบางทีคุณอาจเป็นฝ่ายเดียวที่คิดว่าไม่ใช่. สิ่งที่คุณเห็นว่าเป็นการคุยกันแบบตรงไปตรงมา แต่เป็นไปได้ที่คู่สมรสของคุณอาจเข้าใจว่านี่เป็นการทะเลาะกันที่ทำให้รู้สึกเจ็บปวด. การตระหนักว่าคุณและคู่สมรสมีวิธีสื่อความที่ต่างกันอาจช่วยป้องกันความเข้าใจผิดได้.
จำไว้เช่นกันว่า การทะเลาะกันไม่ได้หมายความว่าจะต้องตะโกนใส่กันเสมอไป. เปาโลเขียนไปถึงคริสเตียนว่า ‘จงให้การตวาดและคำพูดหยาบหยามอยู่ห่างจากท่านทั้งหลาย.’ (เอเฟโซ 4:31, ล.ม.) การทะเลาะกันไม่ใช่แค่การใช้ เสียงดังเท่านั้นแต่ยังรวมถึงการใช้คำพูดหยาบหยามด้วย. เมื่อคำนึงถึงเรื่องนี้ แม้จะพูดกระซิบแต่ก็ถือว่าเป็นการทะเลาะกันถ้าคำพูดนั้นทำให้รู้สึกขุ่นเคืองหรือเป็นการเหยียดหยาม.
เมื่อคำนึงถึงสิ่งที่กล่าวไป ให้สำรวจตัวคุณเองอีกครั้งหนึ่งว่าคุณกับคู่สมรสจัดการกับความขัดแย้งที่เกิดขึ้นอย่างไร. คุณเป็นคนชอบโต้เถียงไหม? ดังที่เราเห็นแล้ว คำตอบที่แท้จริงส่วนใหญ่ขึ้นอยู่กับมุมมองของคู่สมรสของคุณ. แทนที่จะมองว่าคู่สมรสของคุณมีความรู้สึกไวเกินไป พยายามมองตัวเองอย่างที่คู่สมรสมอง และทำการปรับเปลี่ยนตามที่จำเป็น. เปาโลเขียนว่า “อย่าให้ผู้ใดกระทำอะไรเพื่อประโยชน์ของตนเองเท่านั้น แต่ให้คิดถึงประโยชน์ของคนอื่นด้วย.”—1 โกรินโธ 10:24.
“จงเอาใจใส่ว่าท่านทั้งหลายฟังอย่างไร”
อีกสิ่งหนึ่งที่ช่วยรับมือกับความขัดแย้งพบได้ในคำตรัสของพระเยซูที่ว่า “จงเอาใจใส่ว่า ท่านทั้งหลายฟังอย่างไร.” (ลูกา 8:18, ล.ม.) จริงอยู่ พระเยซูไม่ได้พูดถึงการติดต่อสื่อความในชีวิตสมรส. กระนั้น หลักการนี้ก็ใช้ได้. คุณตั้งใจฟังแค่ไหนเมื่อคู่ของคุณพูด? คุณฟังเรื่องราวทั้งหมดไหม? หรือคุณรีบเสนอวิธีแก้ปัญหาแบบผิวเผินโดยที่ยังไม่ได้เข้าใจเรื่องอย่างถ่องแท้เสียก่อนไหม? คัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่า “ผู้ที่ให้คำตอบก่อนได้ยินเรื่อง, ก็เป็นการโฉดเขลาและเป็นความน่าอายแก่ตน.” (สุภาษิต 18:13) เมื่อเกิดความขัดแย้งขึ้น คุณและคู่สมรสต้องคุยกันเกี่ยวกับเรื่องนั้นและตั้งใจฟังกันและกันจริง ๆ.
แทนที่จะมองว่า ความคิดเห็นของคู่สมรสไม่สำคัญ จงพยายามแสดง “ความเห็นอกเห็นใจ.” (1 เปโตร 3:8, ล.ม.) ในภาษากรีกเดิม รากศัพท์ของคำนี้หมายถึงการทนทุกข์ด้วยกันกับอีกคนหนึ่ง. ถ้าคู่สมรสของคุณรู้สึกทุกข์ใจเกี่ยวกับบางสิ่ง คุณก็ควรจะร่วมความรู้สึกกับเขา. จงพยายามมองเรื่องราวในมุมมองของเขา.
เห็นได้ชัดว่า ยิศฮาคบุรุษผู้เลื่อมใสพระเจ้าทำเช่นนั้น. คัมภีร์ไบเบิลบอกเราว่า ริบะคาภรรยาของท่านรู้สึกไม่สบายใจอย่างมากเนื่องจากปัญหาที่เกี่ยวกับยาโคบบุตรชาย. นางกล่าวกับยิศฮาคว่า “ฉันเบื่อหน่ายด้วยบุตรสาวชาติเฮธนั้น. ถ้าแม้นยาโคบจะรับบุตรสาวชาติเฮธคือหญิงชาวเมืองนี้เป็นภรรยาแล้ว, ฉันจะมีชีวิตต่อไปเป็นประโยชน์อะไรเล่า?”—เยเนซิศ 27:46.
จริงอยู่ ดูเหมือนว่าริบะคากังวลมากเกินไป. แต่จริง ๆ แล้ว นางเบื่อชีวิตตัวเองไหม? นางอยากตายจริง ๆ อย่างที่พูดไหมถ้าบุตรชายแต่งงานกับบุตรสาวชาติเฮธ? คงจะไม่. กระนั้น ยิศฮาคก็ไม่ได้ถือว่าความรู้สึกของริบะคาเป็นเรื่องไม่สำคัญ. แทนที่จะทำเช่นนั้น ยิศฮาคตระหนักว่าความห่วงใยของริบะคาเป็นเรื่องที่มีเหตุผล และท่านจึงลงมือดำเนินการตามที่ควรทำ. (เยเนซิศ 28:1) คุณก็ควรทำแบบเดียวกันถ้าคู่สมรสรู้สึกกังวลใจเกี่ยวกับเรื่องหนึ่ง. แทนที่จะถือว่านี่เป็นเรื่องไม่สำคัญ จงฟัง คู่สมรสของคุณ, เคารพ ทัศนะของเขา, และตอบรับ ในวิธีที่กรุณา.
การฟังและการหยั่งเห็นเข้าใจ
ภาษิตข้อหนึ่งในคัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่า “คนที่เข้าใจเรื่องราวอย่างลึกซึ้งย่อมไม่โกรธเร็ว.” (สุภาษิต 19:11, ล.ม.) เมื่อเกิดการขัดแย้งกันอย่างรุนแรง ก็เป็นเรื่องง่ายจริง ๆ ที่คู่สมรสของคุณจะโพล่งคำพูดที่เจ็บแสบออกมา. จะว่าไปแล้ว คำพูดเช่นนี้มีแต่จะทำให้ทะเลาะกันหนักขึ้นไปอีก. ด้วยเหตุนี้ เมื่อคุณฟังคู่สมรส จงฟังไม่เพียงคำพูดของเขา แต่ ให้ฟังความรู้สึกที่แฝงอยู่เบื้องหลังคำพูดนั้น. การทำเช่นนี้จะช่วยให้คุณมองลึกยิ่งไปกว่าคำพูดที่ทำให้คุณรู้สึกขุ่นเคืองและเข้าใจต้นตอของปัญหา.
ตัวอย่างเช่น สมมุติว่าภรรยาของคุณบอกว่า “คุณไม่เคยให้เวลาฉันบ้างเลย!” คุณอาจมีแนวโน้มที่จะรู้สึกขุ่นเคืองและปฏิเสธคำกล่าวหาอย่างเย็นชา. คุณอาจตอบว่า “เมื่อเดือนที่แล้วผมให้เวลาคุณวันหนึ่งเต็ม ๆ เลยนะ!” แต่เมื่อคุณฟังดี ๆ คุณอาจพบว่า จริง ๆ แล้วภรรยาของคุณไม่ได้เรียกร้องเวลาจากคุณมากขึ้น. ที่แท้แล้ว เธอต้องการความมั่นใจ เธออาจกำลังบอกคุณว่าเธอรู้สึกถูกทอดทิ้งและรู้สึกว่าคุณไม่รักเธอ.
สมมุติว่าคุณเป็นภรรยา และสามีของคุณบ่นเรื่องของราคาแพงที่คุณซื้อเมื่อไม่นานมานี้. เขาถามด้วยความไม่อยากเชื่อว่า “คุณใช้จ่ายเงินไปมากขนาดนั้นได้อย่างไร?” คุณอาจปกป้องตัวเองในทันทีโดยอ้างเรื่องค่าใช้จ่ายในครอบครัวหรือเปรียบเทียบของที่คุณซื้อมากับของที่เขาซื้อ. อย่างไรก็ตาม การหยั่งเห็นเข้าใจจะช่วยให้คุณรู้ว่า สามีของคุณไม่ได้พูดถึงเรื่องเงิน. แต่เขาอาจไม่พอใจที่คุณไม่ได้ปรึกษาเขาก่อนจะตัดสินใจซื้อของราคาแพง.
แน่นอน คู่สมรสแต่ละคู่อาจตกลงกันเองว่าเขาจะให้เวลาแก่กันมากน้อยแค่ไหนและการตัดสินใจเรื่องการซื้อของ. จุดสำคัญก็คือว่า การหยั่งเห็นเข้าใจจะช่วยให้คุณโกรธช้าลงเมื่อถึงเรื่องที่เกิดความขัดแย้งและช่วยให้คุณเข้าใจประเด็นที่แท้จริง. แทนที่จะตอบโต้ทันที จงติดตามคำเตือนของยาโกโบผู้เขียนคัมภีร์ไบเบิลที่กล่าวว่า “จงให้ทุกคนว่องไวในการฟัง, ช้าในการพูด, ช้าในการโกรธ.”—ยาโกโบ 1:19.
เมื่อคุณจะพูด จงจำไว้ว่าวิธีที่คุณพูดกับคู่สมรสเป็นเรื่องสำคัญ. คัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่า “ลิ้นของคนมีปัญญาย่อมรักษาแผลให้หาย.” (สุภาษิต 12:18) เมื่อคุณและคู่สมรสมีปากเสียงกัน คำพูดของคุณสร้างบาดแผลที่เจ็บปวดไหมหรือเป็นยาสมานแผล? คำพูดของคุณก่อให้เกิดอุปสรรคขัดขวางหรือช่วยปูทางสำหรับการคืนดีไหม? ดังที่เราเห็นกันอยู่แล้ว การโมโหหรือการตอบโต้ทันควันมีแต่จะยั่วยุให้เกิดการทะเลาะเบาะแว้ง.—สุภาษิต 29:22.
ถ้าความขัดแย้งลุกลามจนทำให้ทะเลาะกันใหญ่โต จงพยายามอย่างยิ่งที่จะพูดให้ตรงประเด็นมากขึ้น. จงเพ่งเล็งที่สาเหตุ ไม่ใช่ตัวบุคคล. จงสนใจในเรื่องที่ว่า อะไร เป็นสิ่งสุภาษิต 15:1) ถูกแล้ว คุณจะได้รับความร่วมมือจากคู่สมรสหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับคำพูดและวิธีพูดของคุณ.
ที่ถูกต้องมากกว่าสนใจว่าใคร เป็นฝ่ายถูก. จงระวังที่จะไม่ใช้คำพูดที่ยั่วยุให้เกิดความขัดแย้งมากขึ้น. คัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่า “คำขมเผ็ดร้อนกระทำให้โทโสพลุ่งขึ้น.” (ตั้งใจแก้ปัญหา ไม่ใช่เอาชนะ
เป้าหมายในการจัดการกับความขัดแย้งคือการแก้ปัญหา ไม่ใช่การเอาชนะกัน. คุณจะแก้ปัญหาได้อย่างไร? วิธีที่ได้ผลที่สุดคือ จงแสวงหาคำแนะนำในคัมภีร์ไบเบิลและนำไปใช้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสามีควรเป็นฝ่ายริเริ่มที่จะทำเช่นนั้น. แทนที่จะรีบแสดงจุดยืนด้วยท่าทีที่แข็งกร้าวในประเด็นหรือปัญหาที่เกิดขึ้น ทำไมไม่มองปัญหาหรือเรื่องราวในมุมมองของพระยะโฮวาล่ะ? จงอธิษฐานถึงพระองค์ และแสวงหาสันติสุขจากพระเจ้าซึ่งจะป้องกันหัวใจและความสามารถในการคิดของคุณ. (เอเฟโซ 6:18; ฟิลิปปอย 4:6, 7) จงพยายามอย่างจริงจังที่จะไม่เห็นแก่ประโยชน์ของคุณเองเท่านั้น แต่เห็นแก่ประโยชน์ของคู่สมรสด้วย.—ฟิลิปปอย 2:4.
การยอมให้ความรู้สึกที่เจ็บปวดและอารมณ์ที่ขาดการควบคุมมีอิทธิพลเหนือความคิดและการกระทำของคุณ มักจะทำให้สถานการณ์แย่ลง. ในอีกด้านหนึ่ง การเต็มใจปรับเปลี่ยนโดยอาศัยคำแนะนำในพระคำของพระเจ้าจะทำให้เกิดสันติสุข, ความปรองดอง, และนำมาซึ่งพระพรจากพระยะโฮวา. (2 โกรินโธ 13:11) ด้วยเหตุนี้ จงรับเอาการชี้นำจาก ‘สติปัญญาจากเบื้องบน,’ แสดงคุณลักษณะอย่างพระเจ้า, และได้รับประโยชน์จากการเป็น ‘คนที่กระทำให้เกิดสันติสุข.’—ยาโกโบ 3:17, 18.
จริง ๆ แล้ว ทุกคนควรเรียนรู้ที่จะจัดการกับความขัดแย้งอย่างสันติ แม้ว่านั่นอาจหมายความว่าเราต้องยอมสละความชอบส่วนตัว. (1 โกรินโธ 6:7) จริงทีเดียว จงนำคำเตือนของเปาโลไปใช้ นั่นคือให้ยับยั้ง “การโกรธแค้น, การมีโทโส, การชั่ว, การพูดหยาบช้า, และการพูดโลนลามกจากปากของท่าน. . . . จงถอดทิ้งบุคลิกภาพเก่ากับกิจปฏิบัติต่าง ๆ ของมันเสียและสวมบุคลิกภาพใหม่.”—โกโลซาย 3:8-10, ล.ม.
แน่นอนว่า บางครั้งคุณอาจพูดอะไรบางอย่างที่ทำให้รู้สึกเสียใจภายหลัง. (ยาโกโบ 3:8) เมื่อเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้น จงขอโทษคู่สมรสของคุณ. จงบากบั่นพยายามต่อ ๆ ไป. ในที่สุด คุณและคู่สมรสก็คงจะเห็นว่าคุณรับมือกับความขัดแย้งได้ดีขึ้นจริง ๆ.
[กรอบ/ภาพหน้า 22]
สามขั้นตอนที่ช่วยลดความขัดแย้ง
• จงฟังคู่สมรสของคุณ. สุภาษิต 10:19
• จงเคารพทัศนะของเขา. ฟิลิปปอย 2:4
• จงตอบรับด้วยท่าทีที่แสดงความรัก. 1 โกรินโธ 13:4-7
[กรอบ/ภาพหน้า 23]
สิ่งที่คุณทำได้ตอนนี้
จงถามคู่สมรสด้วยคำถามดังต่อไปนี้ และฟังคำตอบอย่างตั้งใจโดยไม่พูดแทรก. แล้วให้คู่สมรสถามคุณแบบเดียวกัน.
• ฉันมีแนวโน้มที่จะชอบโต้เถียงไหม?
• ฉันตั้งใจฟังคุณพูดจริง ๆ ไหม หรือฉันพูดแทรกขึ้นมาทันทีขณะที่คุณยังพูดไม่จบ?
• คำพูดที่ฉันใช้กับคุณแสดงถึงความไม่สนใจไยดีหรือโกรธไหม?
• เราสองคนจะทำอะไรได้บ้างเพื่อปรับปรุงวิธีสื่อความ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเรามีความคิดเห็นที่ไม่ตรงกัน?
[ภาพหน้า 21]
คุณตั้งใจฟังไหม?
[ภาพหน้า 22]
“ฉันรู้สึกถูกทอดทิ้งและรู้สึกว่าคุณไม่รักฉัน”
[ภาพหน้า 22]
“คุณไม่เคยให้เวลาฉันบ้างเลย!”
[ภาพหน้า 22]
“เมื่อเดือนที่แล้วผมให้เวลาคุณวันหนึ่งเต็ม ๆ เลยนะ!”