ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

ได้รับความรอดไม่ใช่เฉพาะโดยการกระทำ แต่โดยพระกรุณาอันไม่พึงได้รับ

ได้รับความรอดไม่ใช่เฉพาะโดยการกระทำ แต่โดยพระกรุณาอันไม่พึงได้รับ

ได้​รับ​ความ​รอด​ไม่​ใช่​เฉพาะ​โดย​การ​กระทำ แต่​โดย​พระ​กรุณา​อัน​ไม่​พึง​ได้​รับ

“ท่าน​ทั้ง​หลาย​รอด​นั้น . . . เพราะ​ความ​เชื่อ . . . เป็น​ด้วย​การ​ประพฤติ​ก็​หา​มิ​ได้ เพื่อ​มิ​ให้​คน​หนึ่ง​คน​ใด​อวด​ได้.”—เอเฟโซ 2:8, 9.

1. คริสเตียน​ต่าง​จาก​คน​ทั่ว​ไป​อย่าง​ไร​ใน​เรื่อง​ความ​สำเร็จ​ของ​ตน​เอง และ​เพราะ​เหตุ​ใด?

ผู้​คน​ใน​ทุก​วัน​นี้​ภูมิ​ใจ​อย่าง​ยิ่ง​กับ​ความ​สำเร็จ​ของ​ตน​เอง และ​บ่อย​ครั้ง​ก็​ไม่​รอ​ช้า​ที่​จะ​โอ้อวด​ความ​สำเร็จ​เหล่า​นั้น. คริสเตียน​ต่าง​ออก​ไป. พวก​เขา​หลีก​เว้น​การ​เน้น​มาก​เกิน​ไป​กับ​ความ​สำเร็จ​ของ​ตน แม้​แต่​ใน​เรื่อง​ที่​เกี่ยว​ข้อง​กับ​การ​นมัสการ​แท้. ขณะ​ที่​พวก​เขา​ชื่นชม​ยินดี​กับ​สิ่ง​ที่​ประชาชน​ของ​พระ​ยะโฮวา​โดย​รวม​ทำ​ได้​สำเร็จ พวก​เขา​จะ​ไม่​เน้น​ที่​บทบาท​ของ​ตัว​เอง​ใน​ความ​สำเร็จ​เหล่า​นั้น. พวก​เขา​ตระหนัก​ว่า​ใน​งาน​รับใช้​พระ​ยะโฮวา​นั้น แรง​กระตุ้น​ที่​ถูก​ต้อง​มี​ความ​สำคัญ​ยิ่ง​กว่า​ความ​สำเร็จ​ผล​ของ​แต่​ละ​คน. ใคร​ก็​ตาม​ที่​จะ​ได้​รับ​ชีวิต​นิรันดร์​เป็น​ของ​ประทาน​ใน​ที่​สุด​นั้น จะ​ได้​รับ​ไม่​ใช่​โดย​ความ​สำเร็จ​ของ​ตน​เอง แต่​โดย​การ​มี​ความ​เชื่อ​และ​โดย​พระ​กรุณา​อัน​ไม่​พึง​ได้​รับ​ของ​พระเจ้า.—ลูกา 17:10; โยฮัน 3:16.

2, 3. เปาโล​อวด​ใน​เรื่อง​ใด และ​เพราะ​อะไร?

2 อัครสาวก​เปาโล​รู้​ดี​ถึง​ข้อ​เท็จ​จริง​นี้. หลัง​จาก​อธิษฐาน​สาม​ครั้ง​ขอ​ให้​ขจัด “หนาม​ใน​เนื้อหนัง” ท่าน​ได้​รับ​คำ​ตอบ​จาก​พระ​ยะโฮวา​ว่า “ความ​กรุณาคุณ​ของ​เรา​มี​พอ​สำหรับ​เจ้า​แล้ว เพราะ​โดย​ความ​อ่อนแอ​ของ​เจ้า เดช​ของ​เรา​จึง​ปรากฏ​มี​ฤทธิ์​ขึ้น​เต็ม​ขนาด.” โดย​ถ่อม​ใจ​ยอม​รับ​การ​ตัดสิน​พระทัย​ของ​พระ​ยะโฮวา เปาโล​กล่าว​ว่า “เหตุ​ฉะนั้น ข้าพเจ้า​จึง​ภูมิ​ใจ​ใน [“อวด​ใน​เรื่อง,” ล.ม.] ความ​อ่อนแอ​ของ​ข้าพเจ้า, เพื่อ​ฤทธิ์​เดช​ของ​พระ​คริสต์​จะ​ได้​สถิต​อยู่​ใน​ข้าพเจ้า.” เจตคติ​ที่​ถ่อม​ใจ​ของ​เปาโล​เป็น​สิ่ง​ที่​เรา​ควร​ต้องการ​จะ​เลียน​แบบ.—2 โกรินโธ 12:7-9.

3 แม้​ว่า​เปาโล​มี​ความ​โดด​เด่น​ใน​เรื่อง​การ​งาน​ฝ่าย​คริสเตียน แต่​ท่าน​ตระหนัก​ว่า​ความ​สำเร็จ​ของ​ท่าน​ไม่​ได้​เกิด​จาก​ความ​สามารถ​อย่าง​หนึ่ง​อย่าง​ใด​ของ​ตัว​เอง​เลย. ท่าน​กล่าว​ด้วย​ความ​เจียม​ตัว​ว่า “พระคุณ​นี้​ทรง​โปรด​ประทาน​แก่​ข้าพเจ้า​ผู้​เป็น​คน​เล็ก​กว่า​คน​เล็ก​ที่​สุด​ใน​สิทธชน​ทั้ง​หมด, ให้​ประกาศ​ความ​มั่งคั่ง​อัน​สมบูรณ์​ของ​พระ​คริสต์​ซึ่ง​จะ​หา​ที่​สุด​ไม่​ได้​แก่​พวก​ต่าง​ชาติ.” (เอเฟโซ 3:8) ถ้อย​คำ​นี้​ไม่​ได้​แสดง​ถึง​การ​อวด​ตัว​หรือ​ทะนง​ตน​ว่า​ตัว​เอง​ชอบธรรม. “พระเจ้า​ทรง​ต่อ​สู้​คน​เหล่า​นั้น​ที่​ถือ​ตัว​จองหอง, แต่​พระองค์​ทรง​ประทาน​พระคุณ​แก่​คน​ทั้ง​หลาย​ที่​ถ่อม​ใจ​ลง.” (ยาโกโบ 4:6; 1 เปโตร 5:5) เรา​ติด​ตาม​แบบ​อย่าง​ของ​เปาโล​ไหม ด้วย​ใจ​ถ่อม​ถือ​ว่า​ตน​เอง​ต่ำต้อย​กว่า​ผู้​เล็ก​น้อย​ที่​สุด​ใน​หมู่​พี่​น้อง​ของ​เรา?

“ถือ​ว่า​คน​อื่น​ดี​กว่า​ตัว”

4. ทำไม​บาง​ครั้ง​เรา​จึง​อาจ​รู้สึก​ว่า​ยาก​ที่​จะ​ถือ​ว่า​คน​อื่น​ดี​กว่า​เรา?

4 อัครสาวก​เปาโล​แนะ​นำ​คริสเตียน​ว่า “[อย่า] ทำ​ประการ​ใด​ใน​ทาง​ทุ่มเถียง​กัน​หรือ​อวดดี​ไป​เปล่า ๆ, แต่​ให้​ทุก​คน​มี​ใจ​ถ่อม​ลง​ถือ​ว่า​คน​อื่น​ดี​กว่า​ตัว.” (ฟิลิปปอย 2:3) การ​ทำ​เช่น​นี้​อาจ​เป็น​เรื่อง​ยาก​โดย​เฉพาะ​อย่าง​ยิ่ง​เมื่อ​เรา​อยู่​ใน​ตำแหน่ง​ที่​มี​ความ​รับผิดชอบ. ปัญหา​เรื่อง​การ​ขาด​ความ​ถ่อม​ใจ​อาจ​เกิด​ขึ้น​เนื่อง​จาก​เรา​ได้​รับ​อิทธิพล​ไม่​มาก​ก็​น้อย​จาก​น้ำใจ​แข่งขัน​ที่​แพร่​หลาย​มาก​ใน​โลก​ปัจจุบัน. เมื่อ​เป็น​เด็ก เรา​อาจ​ได้​รับ​การ​สอน​ให้​แข่งขัน​กับ​พี่​น้อง​ใน​ครอบครัว​หรือ​กับ​เพื่อน​นัก​เรียน​ที่​โรง​เรียน. บาง​ที เรา​อาจ​ถูก​กระตุ้น​อยู่​เรื่อย ๆ ให้​มุ่ง​มั่น​พยายาม​เพื่อ​จะ​ได้​ชื่อเสียง​เกียรติยศ​ฐานะ​นัก​กีฬา​ยอด​เยี่ยม​ของ​โรง​เรียน​หรือ​เป็น​นัก​เรียน​ดี​เด่น. แน่นอน การ​ทำ​อย่าง​ดี​ที่​สุด​ใน​การ​งาน​ใด ๆ ที่​ดี​งาม​เป็น​เรื่อง​น่า​ชมเชย. แต่​คริสเตียน​ทำ​เช่น​นั้น ไม่​ใช่​เพื่อ​นำ​ความ​สนใจ​มา​สู่​ตัว​เอง​อย่าง​ไม่​บังควร แต่​เพื่อ​ให้​ได้​รับ​ประโยชน์​เต็ม​ที่​จาก​การ​ทำ​งาน​และ​บาง​ที​เพื่อ​ประโยชน์​ของ​คน​อื่น​ด้วย. อย่าง​ไร​ก็​ตาม การ​อยาก​ได้​รับ​การ​ยกย่อง​สรรเสริญ​ว่า​เป็น​ที่​หนึ่ง​อยู่​เสมอ​นั้น​อาจ​เป็น​อันตราย. เป็น​เช่น​นั้น​อย่าง​ไร?

5. หาก​ปล่อย​ไว้​โดย​ไม่​มี​การ​ควบคุม น้ำใจ​แข่งขัน​ชิง​ดี​อาจ​นำ​ไป​สู่​อะไร?

5 ถ้า​ปล่อย​ไว้​โดย​ไม่​มี​การ​ควบคุม น้ำใจ​แข่งขัน​ชิง​ดี​หรือ​การ​ถือ​ว่า​ตน​ดี​กว่า​ผู้​อื่น​อาจ​ทำ​ให้​คน​เรา​กลาย​เป็น​คน​ที่​ไม่​ให้​ความ​นับถือ​ผู้​อื่น​และ​อวด​ตัว. เขา​อาจ​กลาย​เป็น​คน​ที่​อิจฉา​ความ​สามารถ​ของ​คน​อื่น​หรือ​สิทธิ​พิเศษ​ที่​คน​อื่น​ได้​รับ. สุภาษิต 28:22 กล่าว​ว่า “คน​ที่​มี​ตา​สำแดง​ใจ​แคบ [“อิจฉา​ผู้​อื่น,” ล.ม.] ก็​รีบ​เร่ง​แสวง​หา​ทรัพย์ [“สิ่ง​มี​ค่า,” ล.ม.], และ​ไม่​รู้​ว่า​ความ​ยาก​จน​จะ​มา​ถึง​ตัว.” เขา​อาจ​ถึง​กับ​พยายาม​ทำ​เกิน​สิทธิ์​เพื่อ​จะ​ได้​ตำแหน่ง​ที่​เขา​ไม่​สม​ควร​ได้​รับ. เพื่อ​ทำ​ให้​การ​กระทำ​ของ​ตน​ดูถูก​ต้อง เขา​อาจ​เริ่ม​บ่น​และ​ตำหนิ​วิจารณ์​คน​อื่น ซึ่ง​เป็น​แนว​โน้ม​ที่​คริสเตียน​พึง​หลีก​เลี่ยง. (ยาโกโบ 3:14-16) ไม่​ว่า​จะ​อย่าง​ไร เขา​กำลัง​เสี่ยง​ต่อ​การ​พัฒนา​น้ำใจ​ที่​คิด​ถึง​แต่​ตัว​เอง.

6. คัมภีร์​ไบเบิล​เตือน​เรา​อย่าง​ไร​ให้​ระวัง​น้ำใจ​แข่งขัน​ชิง​ดี?

6 ด้วย​เหตุ​นี้ คัมภีร์​ไบเบิล​จึง​กระตุ้น​คริสเตียน​ว่า “อย่า​ให้​เรา​กลาย​เป็น​คน​ถือ​ดี, ยั่ว​ยุ​ให้​มี​การ​แข่งขัน​ชิง​ดี​กัน, ริษยา​กัน​และ​กัน​เลย.” (ฆะลาเตีย 5:26, ล.ม.) อัครสาวก​โยฮัน​กล่าว​ถึง​เพื่อน​คริสเตียน​คน​หนึ่ง​ที่​ตก​เป็น​เหยื่อ​ของ​น้ำใจ​เช่น​นี้. ท่าน​กล่าว​ว่า “ข้าพเจ้า​ได้​เขียน​บาง​สิ่ง​ถึง​ประชาคม แต่​ดิโอเตรเฟส​ซึ่ง​ชอบ​เป็น​เอก​ท่ามกลาง​พวก​เขา ไม่​รับ​เอา​สิ่ง​ใด​จาก​พวก​เรา​ด้วย​ความ​นับถือ​เลย. นี่​เป็น​เหตุ​ที่​ว่า หาก​ข้าพเจ้า​มา ข้าพเจ้า​จะ​เตือน​ให้​ระลึก​ถึง​การ​ของ​เขา​ซึ่ง​เขา​ทำ​อยู่​ต่อ​ไป โดย​พูด​มาก​ถึง​พวก​เรา​ด้วย​คำ​ที่​ชั่ว​ช้า.” ช่าง​น่า​เศร้า​เสีย​จริง ๆ ที่​คริสเตียน​กลาย​เป็น​คน​อย่าง​นั้น!—3 โยฮัน 9, 10, ล.ม.

7. คริสเตียน​ปรารถนา​จะ​หลีก​เลี่ยง​สิ่ง​ใด​ใน​ที่​ทำ​งาน​ซึ่ง​มี​การ​แข่งขัน​กัน​สูง​ใน​ทุก​วัน​นี้?

7 แน่​ล่ะ ไม่​ตรง​กับ​ความ​เป็น​จริง​ที่​จะ​คิด​ว่า​คริสเตียน​จะ​หลีก​เลี่ยง​การ​งาน​ทุก ๆ อย่าง​ที่​มี​การ​แข่งขัน​กัน​ได้​อย่าง​สิ้นเชิง. ตัว​อย่าง​เช่น การ​งาน​อาชีพ​ของ​เขา​อาจ​เกี่ยว​ข้อง​กับ​การ​แข่งขัน​ทาง​การ​ค้า​กับ​ผู้​อื่น​หรือ​บริษัท​อื่น ๆ ที่​ผลิต​สินค้า​หรือ​เสนอ​บริการ​ที่​คล้าย ๆ กัน. อย่าง​ไร​ก็​ตาม แม้​แต่​ใน​กรณี​อย่าง​นี้ คริสเตียน​ก็​ปรารถนา​จะ​ดำเนิน​ธุรกิจ​ของ​ตน​ด้วย​น้ำใจ​ที่​ให้​ความ​นับถือ, แสดง​ความ​รัก, และ​คำนึง​ถึง​ผู้​อื่น. เขา​จะ​ปฏิเสธ​ที่​จะ​ใช้​วิธี​การ​ที่​ผิด​กฎหมาย​หรือ​ขัด​กับ​คำ​สอน​คริสเตียน และ​หลีก​เลี่ยง​การ​กลาย​เป็น​คน​ที่​ขึ้น​ชื่อ​ใน​เรื่อง​การ​มี​น้ำใจ​แข่งขัน​แบบ​ไร้​ความ​ปรานี​และ​เอา​ผล​ประโยชน์​ของ​ตน​เป็น​ที่​ตั้ง. เขา​จะ​ไม่​คิด​ว่า​การ​เป็น​ที่​หนึ่ง—ไม่​ว่า​ใน​เรื่อง​ใด​ก็​ตาม—คือ​สิ่ง​สำคัญ​ที่​สุด​ใน​ชีวิต. หาก​คริสเตียน​ต้อง​สำแดง​น้ำใจ​ดัง​กล่าว​ใน​การ​ทำ​งาน​อาชีพ จะ​สำคัญ​ยิ่ง​กว่า​นั้น​สัก​เท่า​ใด​ที่​จะ​มี​น้ำใจ​แบบ​นั้น​ใน​แวดวง​ของ​การ​นมัสการ!

“ไม่​ใช่​โดย​เปรียบ​เทียบ​กับ​คน​อื่น”

8, 9. (ก) เหตุ​ใด​คริสเตียน​ผู้​ปกครอง​จึง​ไม่​มี​เหตุ​ผล​ที่​จะ​แข่งขัน​ชิง​ดี​กัน? (ข) เพราะ​เหตุ​ใด 1 เปโตร 4:10 จึง​เป็น​คำ​แนะ​นำ​สำหรับ​ผู้​รับใช้​ทุก​คน​ของ​พระเจ้า?

8 เจตคติ​ที่​คริสเตียน​ควร​มี​ใน​การ​นมัสการ​นั้น​มี​กล่าว​ไว้​ใน​ถ้อย​คำ​ที่​มี​ขึ้น​โดย​การ​ดล​ใจ​ต่อ​ไป​นี้: “ให้​แต่​ละ​คน​พิสูจน์​ดู​ว่า​งาน​ของ​เขา​เอง​เป็น​อย่าง​ไร และ​ครั้น​แล้ว​เขา​จะ​มี​เหตุ​ที่​จะ​ปีติ​ยินดี​เกี่ยว​กับ​ตัว​เขา​เอง​เท่า​นั้น และ​ไม่​ใช่​โดย​เปรียบ​เทียบ​กับ​คน​อื่น.” (ฆะลาเตีย 6:4, ล.ม.) เหล่า​ผู้​ปกครอง​ใน​ประชาคม​ให้​ความ​ร่วม​มือ​กัน​และ​ทำ​งาน​ใกล้​ชิด​กัน​เป็น​คณะ โดย​ตระหนัก​ว่า​พวก​เขา​ไม่​แข่งขัน​ชิง​ดี​กัน. พวก​เขา​ชื่นชม​ยินดี​ที่​แต่​ละ​คน​สามารถ​มี​ส่วน​ส่ง​เสริม​สวัสดิภาพ​โดย​รวม​ของ​ประชาคม. โดย​วิธี​นี้ พวก​เขา​หลีก​เลี่ยง​การ​ชิง​ดี​ชิง​เด่น​ที่​ทำ​ให้​แตก​แยก และ​วาง​ตัว​อย่าง​ที่​ดี​แก่​สมาชิก​ของ​ประชาคม​ใน​เรื่อง​การ​เป็น​เอกภาพ.

9 สืบ​เนื่อง​จาก​อายุ, ประสบการณ์, หรือ​ความ​สามารถ​ที่​มี​มา​แต่​กำเนิด ผู้​ปกครอง​บาง​คน​อาจ​มี​ความ​สามารถ​มาก​กว่า​คน​อื่น ๆ หรือ​อาจ​มี​ความ​หยั่ง​เห็น​เข้าใจ​มาก​กว่า. ด้วย​เหตุ​นี้ ผู้​ปกครอง​จึง​มี​หน้า​ที่​รับผิดชอบ​ต่าง​กัน​ไป​ใน​องค์การ​ของ​พระ​ยะโฮวา. แทน​ที่​จะ​เปรียบ​เทียบ​กัน พวก​เขา​จด​จำ​ไว้​เสมอ​ถึง​คำ​แนะ​นำ​ที่​ว่า “ตาม​ส่วน​ที่​แต่​ละ​คน​ได้​รับ​ของ​ประทาน จง​ใช้​ของ​ประทาน​นั้น​เพื่อ​ประโยชน์​ของ​กัน​และ​กัน​ใน​ฐานะ​เป็น​คน​ต้น​เรือน​ที่​ดี​แห่ง​พระ​กรุณา​อัน​ไม่​พึง​ได้​รับ​ของ​พระเจ้า​ที่​แสดง​ออก​ใน​วิธี​ต่าง ๆ.” (1 เปโตร 4:10, ล.ม.) ที่​จริง​แล้ว ข้อ​คัมภีร์​นี้​ใช้​ได้​กับ​ผู้​รับใช้​ทุก​คน​ของ​พระ​ยะโฮวา เนื่อง​จาก​ทุก ๆ คน​ได้​รับ​ของ​ประทาน​ใน​ระดับ​หนึ่ง​เกี่ยว​กับ​ความ​รู้​ถ่องแท้ และ​ต่าง​ได้​รับ​สิทธิ​พิเศษ​ที่​จะ​มี​ส่วน​ร่วม​ใน​งาน​รับใช้​ของ​คริสเตียน.

10. ใน​ทาง​ใด​เท่า​นั้น​ที่​งาน​รับใช้​อัน​ศักดิ์สิทธิ์​ของ​เรา​จะ​เป็น​ที่​ยอม​รับ​สำหรับ​พระ​ยะโฮวา?

10 งาน​รับใช้​อัน​ศักดิ์สิทธิ์​ของ​เรา​จะ​เป็น​ที่​พอ​พระทัย​พระ​ยะโฮวา​ก็​ต่อ​เมื่อ​เรา​ทำ​ด้วย​ความ​รัก​และ​ความ​เลื่อมใส ไม่​ใช่​เพื่อ​จะ​ยก​ตัว​เอง​ให้​เหนือ​กว่า​คน​อื่น. ด้วย​เหตุ​นี้ จึง​เป็น​เรื่อง​สำคัญ​ที่​เรา​ต้อง​มี​ทัศนะ​ที่​สมดุล​ใน​การ​ทำ​กิจกรรม​เพื่อ​ส่ง​เสริม​การ​นมัสการ​แท้. ขณะ​ที่​ไม่​มี​มนุษย์​คน​ใด​จะ​คาด​เดา​ได้​อย่าง​ถูก​ต้อง​ว่า​คน​อื่น​มี​เจตนา​เช่น​ไร แต่​พระ​ยะโฮวา “ทรง​ชั่ง​ใจ​มนุษย์.” (สุภาษิต 24:12; 1 ซามูเอล 16:7) ดัง​นั้น เรา​ควร​ตรวจ​สอบ​ตัว​เอง​เป็น​ครั้ง​คราว​ว่า ‘อะไร​เป็น​แรง​กระตุ้น​ของ​ฉัน​ใน​การ​ทำ​งาน​รับใช้​ที่​ฉัน​ทำ​อยู่​นี้?’—บทเพลง​สรรเสริญ 24:3, 4; มัดธาย 5:8.

ทัศนะ​ที่​ถูก​ต้อง​ต่อ​งาน​ของ​เรา

11. คำ​ถาม​อะไร​บ้าง​เกี่ยว​กับ​กิจกรรม​การ​รับใช้​ของ​เรา​ที่​นับ​ว่า​มี​เหตุ​ผล​ที่​จะ​พิจารณา?

11 ถ้า​แรง​กระตุ้น​มี​ความ​สำคัญ​ที่​สุด​เพื่อ​จะ​ได้​รับ​ความ​โปรดปราน​จาก​พระ​ยะโฮวา​แล้ว เรา​ควร​จะ​เป็น​ห่วง​ขนาด​ไหน​ใน​เรื่อง​การ​งาน​ของ​เรา​เกี่ยว​กับ​ความ​เชื่อ? ตราบ​ใด​ที่​เรา​ทำ​งาน​รับใช้​ด้วย​แรง​กระตุ้น​ที่​ถูก​ต้อง​แล้ว จำเป็น​จริง ๆ หรือ​ที่​เรา​จะ​ต้อง​เก็บ​บันทึก​ว่า​เรา​ได้​ทำ​อะไร​และ​ปริมาณ​เท่า​ใด? คำ​ถาม​เหล่า​นี้​นับ​ว่า​มี​เหตุ​ผล เนื่อง​จาก​เรา​ไม่​ต้องการ​ให้​สถิติ​มี​ความ​สำคัญ​ยิ่ง​กว่า​งาน​รับใช้​ที่​เรา​ทำ หรือ​ให้​ตัว​เลข​ที่​ดี​ใน​รายงาน​กลาย​เป็น​เรื่อง​หลัก​ที่​เรา​เป็น​ห่วง​เกี่ยว​กับ​กิจกรรม​คริสเตียน​ของ​เรา.

12, 13. (ก) อะไร​คือ​เหตุ​ผล​บาง​ประการ​ที่​เรา​เก็บ​บันทึก​รายงาน​การ​รับใช้? (ข) เรา​มี​เหตุ​ผล​อะไร​บ้าง​ที่​จะ​ชื่นชม​ยินดี​เมื่อ​เห็น​รายงาน​กิจกรรม​การ​ประกาศ​ทั่ว​โลก?

12 ขอ​สังเกต​สิ่ง​ที่​มี​กล่าว​ใน​หนังสือ​รวบ​รวม​เป็น​องค์การ​เพื่อ​ทำ​ตาม​พระทัย​ประสงค์​ของ​พระ​ยะโฮวา: “ผู้​ติด​ตาม​พระ​เยซู​คริสต์​รุ่น​แรก ๆ สนใจ​รายงาน​เรื่อง​ความ​ก้าว​หน้า​ใน​งาน​ประกาศ. (มาระโก 6:30) พระ​ธรรม​กิจการ​บอก​เรา​ว่า มี​ประมาณ 120 คน​อยู่​ที่​นั่น​เมื่อ​มี​การ​หลั่ง​พระ​วิญญาณ​บริสุทธิ์​ลง​เหนือ​เหล่า​สาวก​ใน​วัน​เพนเทคอสต์. ไม่​นาน จำนวน​สาวก​ก็​เพิ่ม​ขึ้น​ถึง 3,000 คน แล้ว​ก็​เพิ่ม​ขึ้น​อีก​เป็น 5,000 คน. . . . (กิจการ 1:15; 2:5-11, 41, 47, ฉบับ​แปล​ใหม่; 4:4; 6:7) ข่าว​เรื่อง​การ​เพิ่ม​ทวี​นี้​ต้อง​ทำ​ให้​เหล่า​สาวก​รู้สึก​มี​กำลังใจ​เป็น​อย่าง​มาก!” ด้วย​เหตุ​ผล​อย่าง​เดียว​กัน พยาน​พระ​ยะโฮวา​ใน​ทุก​วัน​นี้​พยายาม​เก็บ​บันทึก​ที่​ถูก​ต้อง​เกี่ยว​กับ​งาน​ที่​ได้​ทำ​ไป​ตลอด​ทั่ว​โลก​ซึ่ง​สำเร็จ​ตาม​คำ​ตรัส​ของ​พระ​เยซู​ที่​ว่า “ข่าว​ดี​เรื่อง​ราชอาณาจักร​นี้​จะ​ได้​รับ​การ​ประกาศ​ทั่ว​ทั้ง​แผ่นดิน​โลก​ที่​มี​คน​อาศัย​อยู่ เพื่อ​ให้​คำ​พยาน​แก่​ทุก​ชาติ; และ​ครั้น​แล้ว​อวสาน​จะ​มา​ถึง.” (มัดธาย 24:14, ล.ม.) รายงาน​ดัง​กล่าว​ทำ​ให้​เห็น​ภาพ​สิ่ง​ที่​มี​การ​ทำ​ตลอด​ทั่ว​โลก. รายงาน​นั้น​ทำ​ให้​รู้​ว่า​ที่​ไหน​ต้อง​ได้​รับ​ความ​ช่วยเหลือ หนังสือ​แบบ​ใด​เป็น​ที่​ต้องการ​และ​ต้องการ​มาก​น้อย​เพียง​ไร​เพื่อ​จะ​ให้​งาน​ประกาศ​รุด​หน้า​ไป.

13 ด้วย​เหตุ​นี้ รายงาน​กิจกรรม​การ​ประกาศ​จึง​ช่วย​เรา​ทำ​งาน​มอบหมาย​ใน​การ​ประกาศ​ข่าว​ดี​เรื่อง​ราชอาณาจักร​ได้​อย่าง​มี​ประสิทธิภาพ​มาก​ขึ้น. นอก​จาก​นี้ เรา​ได้​กำลังใจ​มิ​ใช่​หรือ​เมื่อ​ได้​ยิน​รายงาน​การ​รับใช้​ที่​พี่​น้อง​กำลัง​ทำ​อยู่​ใน​ส่วน​อื่น ๆ ของ​โลก? รายงาน​เกี่ยว​กับ​การ​เพิ่ม​ทวี​และ​การ​แผ่​ขยาย​ทั่ว​โลก​ทำ​ให้​เรา​ชื่นชม​ยินดี กระตุ้น​เรา​ให้​ทำ​งาน​รับใช้​มาก​ขึ้น และ​ทำ​ให้​มั่น​ใจ​ว่า​พระ​ยะโฮวา​ทรง​อวย​พร​เรา. และ​เป็น​ที่​น่า​ชื่น​ใจ​สัก​เพียง​ไร​ที่​รู้​ว่า​รายงาน​การ​ประกาศ​ของ​เรา​เอง ก็​รวม​อยู่​ใน​รายงาน​ทั่ว​โลก​นั้น​ด้วย! รายงาน​ของ​เรา​อาจ​เป็น​ส่วน​น้อย​นิด​เมื่อ​เทียบ​กับ​ยอด​รวม​ของ​ทั้ง​โลก แต่​สิ่ง​ที่​เรา​ทำ​นั้น​ไม่​รอด​พ้น​การ​สังเกต​เห็น​ของ​พระ​ยะโฮวา. (มาระโก 12:42, 43) จำ​ไว้​ว่า​ถ้า​ไม่​มี​รายงาน​ของ​คุณ รายงาน​ทั่ว​โลก​จะ​ไม่​ครบ​ถ้วน​สมบูรณ์.

14. การ​นมัสการ​พระ​ยะโฮวา​ยัง​รวม​ถึง​อะไร​อีก​นอก​เหนือ​จาก​การ​ประกาศ​และ​การ​สั่ง​สอน?

14 แน่​ล่ะ กิจกรรม​หลาย​อย่าง​ที่​พยาน​ฯ แต่​ละ​คน​ทำ​เพื่อ​เอา​ใจ​ใส่​หน้า​ที่​รับผิดชอบ​ของ​ตน​ฐานะ​ผู้​รับใช้​ที่​อุทิศ​ตัว​ของ​พระ​ยะโฮวา​ไม่​ปรากฏ​อยู่​ใน​รายงาน​การ​ประกาศ​ของ​เขา. ตัว​อย่าง​เช่น รายงาน​ของ​เขา​ไม่​ได้​รวม​เอา​การ​ศึกษา​ส่วน​ตัว การ​เข้า​ร่วม​และ​มี​ส่วน​ร่วม​ใน​การ​ประชุม​คริสเตียน การ​เอา​ใจ​ใส่​หน้า​ที่​รับผิดชอบ​ภาย​ใน​ประชาคม การ​ช่วยเหลือ​เพื่อน​ร่วม​ความ​เชื่อ​ที่​ต้องการ​ความ​ช่วยเหลือ การ​สนับสนุน​ด้าน​การ​เงิน​สำหรับ​งาน​ประกาศ​ทั่ว​โลก และ​อื่น ๆ. ด้วย​เหตุ​นี้ ขณะ​ที่​รายงาน​การ​ประกาศ​มี​ความ​สำคัญ ช่วย​เรา​ให้​รักษา​ความ​กระตือรือร้น​ใน​การ​ประกาศ​และ​หลีก​เลี่ยง​การ​เฉื่อย​ชา​ลง แต่​เรา​ต้อง​รักษา​ทัศนะ​ที่​ถูก​ต้อง​ต่อ​รายงาน​นั้น. เรา​ไม่​ควร​มอง​ว่า​ตัว​เลข​ที่​ดี​ใน​รายงาน​การ​ประกาศ​เป็น​เหมือน​ใบ​เบิก​ทาง​ฝ่าย​วิญญาณ​ที่​ทำ​ให้​เรา​มี​สิทธิ์​ได้​รับ​ชีวิต​นิรันดร์.

“มี​ใจ​ร้อน​รน​ที่​จะ​ทำ​การ​ดี”

15. แม้​ลำพัง​การ​กระทำ​ต่าง ๆ ไม่​เป็น​เหตุ​ให้​เรา​ได้​รับ​ความ​รอด แต่​เพราะ​เหตุ​ใด​จึง​จำเป็น?

15 เห็น​ได้​ชัด​ว่า แม้​ลำพัง​การ​กระทำ​ต่าง ๆ ไม่​เป็น​เหตุ​ให้​เรา​ได้​รับ​ความ​รอด แต่​ก็​เป็น​สิ่ง​ที่​จำเป็น. นี่​เป็น​เหตุ​ที่​คริสเตียน​ถูก​เรียก​ให้​เป็น “ประชากร​ของ​พระองค์​โดย​เฉพาะ . . . มี​ใจ​ร้อน​รน​ที่​จะ​ทำ​การ​ดี” และ​ได้​รับ​การ​สนับสนุน​ให้ “พิจารณา​ดู​กัน​และ​กัน เพื่อ​เป็น​เหตุ​ให้​บังเกิด​ใจ​รัก​ซึ่ง​กัน​และ​กัน​และ​กระทำ​การ​ดี.” (ติโต 2:14, ฉบับ​แปล 2002; เฮ็บราย 10:24) ยาโกโบ​ผู้​เขียน​พระ​คัมภีร์​อีก​คน​หนึ่ง​พูด​ได้​ตรง​จุด​มาก​กว่า โดย​กล่าว​อย่าง​ชัดเจน​ว่า “ร่าง​กาย​ที่​ปราศจาก​วิญญาณ​ตาย​แล้ว​ฉัน​ใด ความ​เชื่อ​ที่​ปราศจาก​การ​กระทำ​ก็​ตาย​แล้ว​ฉัน​นั้น.”—ยาโกโบ 2:26, ล.ม.

16. อะไร​ที่​สำคัญ​ยิ่ง​กว่า​งาน​ต่าง ๆ แต่​อะไร​ที่​เรา​ควร​ระวัง?

16 แม้​ว่า​การ​ทำ​การ​ดี​ก็​ถือ​ว่า​สำคัญ แต่​แรง​กระตุ้น​ใน​การ​ทำ​การ​ดี​นั้น​สำคัญ​ยิ่ง​กว่า. ด้วย​เหตุ​นี้ จึง​นับ​ว่า​สุขุม​ที่​จะ​ตรวจ​สอบ​แรง​กระตุ้น​ของ​เรา​เป็น​ครั้ง​คราว. อย่าง​ไร​ก็​ตาม เนื่อง​จาก​ไม่​มี​มนุษย์​คน​ใด​จะ​รู้​ได้​อย่าง​แท้​จริง​ว่า​คน​อื่น​มี​เจตนา​เช่น​ไร เรา​จึง​ต้อง​ระวัง​ที่​จะ​ไม่​ตัดสิน​คน​อื่น. เรา​ถูก​ถาม​ว่า “ท่าน​คือ​ผู้​ใด​เล่า​จึง​ปรับ​โทษ​บ่าว​ของ​คน​อื่น?” และ​คำ​ตอบ​ก็​ชัดเจน​ที่​ว่า “บ่าว​คน​นั้น​จะ​ได้​ดี​หรือ​จะ​ล่ม​จม​ก็​สุด​แล้ว​แต่​นาย​ของ​ตัว.” (โรม 14:4) พระ​ยะโฮวา​นาย​องค์​สูง​สุด และ​พระ​คริสต์​เยซู​ผู้​พิพากษา​ที่​พระองค์​ทรง​แต่ง​ตั้ง จะ​ไม่​ตัดสิน​เรา​โดย​ดู​จาก​การ​กระทำ​เท่า​นั้น แต่​จาก​แรง​กระตุ้น, โอกาส, ความ​รัก, และ​ความ​เลื่อมใส​ของ​เรา​ด้วย. เฉพาะ​แต่​พระ​ยะโฮวา​และ​พระ​คริสต์​เยซู​เท่า​นั้น​ที่​จะ​ตัดสิน​ได้​อย่าง​ไม่​ผิด​พลาด​ว่า​เรา​ได้​ทำ​ตาม​คำ​แนะ​นำ​ที่​ให้​กับ​คริสเตียน​หรือ​ไม่ ตาม​ที่​อัครสาวก​เปาโล​กล่าว​ไว้​ว่า “จง​ทำ​สุด​ความ​สามารถ เพื่อ​สำแดง​ตน​ให้​เป็น​ที่​พอ​พระทัย​พระเจ้า เป็น​คน​งาน​ที่​ไม่​มี​อะไร​ต้อง​อาย ใช้​คำ​แห่ง​ความ​จริง​อย่าง​ถูก​ต้อง.”—2 ติโมเธียว 2:15, ล.ม.; 2 เปโตร 1:10; 3:14.

17. ทำไม​เรา​ควร​คำนึง​ถึง​ยาโกโบ 3:17 เสมอ ขณะ​ที่​เรา​พยายาม​ทำ​อย่าง​สุด​กำลัง​ความ​สามารถ​ของ​เรา?

17 พระ​ยะโฮวา​มี​เหตุ​ผล​ใน​สิ่ง​ที่​พระองค์​คาด​หมาย​จาก​เรา. ตาม​ที่​ยาโกโบ 3:17 (ล.ม.) กล่าว​ว่า “สติ​ปัญญา​จาก​เบื้อง​บน” ประการ​หนึ่ง​นั้น “มี​เหตุ​ผล.” คง​จะ​เป็น​แนว​ทาง​แห่ง​สติ​ปัญญา​อีก​ทั้ง​เป็น​ความ​สำเร็จ​อย่าง​แท้​จริง​สำหรับ​เรา​มิ​ใช่​หรือ​ที่​จะ​เลียน​แบบ​พระ​ยะโฮวา​ใน​เรื่อง​นี้? ด้วย​เหตุ​นี้ เรา​ไม่​ควร​พยายาม​จะ​คาด​หมาย​จาก​ตัว​เอง​หรือ​พี่​น้อง​ของ​เรา​อย่าง​ไม่​สม​เหตุ​สม​ผล​และ​ไม่​มี​ทาง​บรรลุ​ได้.

18. เรา​สามารถ​จะ​คอย​ท่า​อะไร​เมื่อ​มี​ทัศนะ​ที่​สมดุล​ต่อ​งาน​รับใช้​และ​ต่อ​พระ​กรุณา​อัน​ไม่​พึง​ได้​รับ​ของ​พระ​ยะโฮวา?

18 ตราบ​ใด​ที่​เรา​มี​ทัศนะ​ที่​สมดุล​ต่อ​งาน​รับใช้​และ​พระ​กรุณา​อัน​ไม่​พึง​ได้​รับ​ของ​พระ​ยะโฮวา เรา​จะ​รักษา​ความ​ชื่นชม​ยินดี​ซึ่ง​เป็น​เครื่องหมาย​อัน​โดด​เด่น​ที่​ระบุ​ตัว​ผู้​รับใช้​แท้​ของ​พระ​ยะโฮวา. (ยะซายา 65:13, 14) เรา​สามารถ​ชื่นชม​กับ​พระ​พร​ที่​พระ​ยะโฮวา​ประทาน​แก่​ประชาชน​ของ​พระองค์​ฐานะ​กลุ่ม​ชน ไม่​ว่า​โดย​ส่วน​ตัว​แล้ว​เรา​อาจ​จะ​รับใช้​ได้​แค่​ไหน​ก็​ตาม. โดย “การ​อธิษฐาน​และ​การ​วิงวอน​พร้อม​ด้วย​การ​ขอบพระคุณ” อยู่​เรื่อย​ไป เรา​จะ​ทูล​ขอ​พระเจ้า​ให้​ช่วย​เรา​ทำ​สุด​ความ​สามารถ. แล้ว “สันติ​สุข​แห่ง​พระเจ้า​ที่​เหนือ​กว่า​ความ​คิด​ทุก​อย่าง​จะ​ป้องกัน​รักษา​หัวใจ​และ​ความ​สามารถ​ใน​การ​คิด [ของ​เรา] ไว้​โดย​พระ​คริสต์​เยซู” อย่าง​แน่นอน. (ฟิลิปปอย 4:4-7, ล.ม.) ใช่​แล้ว เรา​รับ​การ​ชู​ใจ​และ​มี​กำลังใจ​จาก​การ​รู้​ว่า เรา​สามารถ​จะ​ได้​รับ​ความ​รอด ไม่​ใช่​เฉพาะ​โดย​การ​กระทำ แต่​โดย​พระ​กรุณา​อัน​ไม่​พึง​ได้​รับ​ของ​พระ​ยะโฮวา!

คุณ​อธิบาย​ได้​ไหม​ว่า​ทำไม​คริสเตียน

• หลีก​เลี่ยง​การ​โอ้อวด​ความ​สำเร็จ​ของ​ตน?

• หลีก​เลี่ยง​การ​แสดง​น้ำใจ​แข่งขัน​ชิง​ดี?

• รายงาน​กิจกรรม​การ​ประกาศ​ของ​พวก​เขา?

• หลีก​เลี่ยง​การ​ตัดสิน​เพื่อน​คริสเตียน?

[คำ​ถาม]

[ภาพ​หน้า 15]

“ความ​กรุณาคุณ​ของ​เรา​มี​พอ​สำหรับ​เจ้า​แล้ว”

[ภาพ​หน้า 16, 17]

ผู้​ปกครอง​ชื่นชม​ยินดี​ที่​แต่​ละ​คน​สามารถ​มี​ส่วน​ส่ง​เสริม​สวัสดิภาพ​ของ​ประชาคม

[ภาพ​หน้า 18, 19]

ถ้า​ไม่​มี​รายงาน​ของ​คุณ รายงาน​ทั่ว​โลก​จะ​ไม่​ครบ​ถ้วน​สมบูรณ์