งานประกาศแผ่ขยายไปในประเทศที่ศาสนาคริสเตียนยุคแรกเคยเฟื่องฟู
งานประกาศแผ่ขยายไปในประเทศที่ศาสนาคริสเตียนยุคแรกเคยเฟื่องฟู
อิตาลีตั้งอยู่บนคาบสมุทรรูปรองเท้าบูตที่ยื่นออกไปในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน เหตุการณ์ทางด้านศาสนาและวัฒนธรรมที่เคยเกิดขึ้นที่นี่มีอิทธิพลต่อประวัติศาสตร์โลก. ภูมิทัศน์งดงามหลากหลายดึงดูดนักท่องเที่ยวนับล้าน ๆ คนให้มาเยือนและชมงานศิลปะที่ขึ้นชื่อ อีกทั้งอาหารอันโอชะ. นอกจากนี้ ยังเป็นประเทศที่การเรียนรู้ด้านคัมภีร์ไบเบิลเจริญเฟื่องฟูอีกด้วย.
ศาสนาคริสเตียนแท้อาจจะแผ่ไปถึงกรุงโรมนครหลวงของมหาอำนาจโลกในสมัยนั้นเป็นครั้งแรก เมื่อชาวยิวและผู้ที่เปลี่ยนมานับถือศาสนายิวเข้ามาเป็นคริสเตียนในวันเพนเทคอสต์ปีสากลศักราช 33 แล้วเดินทางออกจากเยรูซาเลมกลับบ้านเมืองของตน. ประมาณปี ส.ศ. 59 อัครสาวกเปาโลไปเยือนอิตาลีเป็นครั้งแรก. ท่าน “ได้พบพวกพี่น้อง” ที่มีความเชื่อ ณ เมืองโปติโอลอยที่ชายทะเล.—กิจการ 2:5-11; 28:11-16.
อย่างที่พระเยซูและเหล่าอัครสาวกบอกล่วงหน้า ก่อนสิ้นศตวรรษที่หนึ่ง พวกผู้ออกหากค่อย ๆ ถอนตัวจากศาสนาคริสเตียนแท้. อย่างไรก็ดี ก่อนถึงกาลอวสานของระบบชั่วนี้ สาวกแท้ของพระเยซูเริ่มเผยแพร่ข่าวดีไปทั่วโลก รวมถึงอิตาลีด้วย.—มัดธาย 13:36-43; กิจการ 20:29, 30; 2 เธซะโลนิเก 2:3-8; 2 เปโตร 2:1-3.
การเริ่มต้นที่น่าผิดหวัง
ปี 1891 ชาลส์ เทซ รัสเซลล์ ผู้นำหน้างานเผยแพร่ทั่วโลกของกลุ่มนักศึกษาพระคัมภีร์ (ชื่อเรียกพยานพระยะโฮวาสมัยนั้น) ได้เดินทางเยือนบางเมืองของประเทศอิตาลีเป็นครั้งแรก. ท่านยอมรับว่าการเผยแพร่ที่นั่นดูท่าไม่ค่อยจะมีหวังสักเท่าใด: “เราไม่เห็นวี่แววว่าจะเสริมกำลังใจเราให้หวังผลการเก็บเกี่ยวใด ๆ ในอิตาลี.” ฤดูใบไม้ผลิของปี 1910 บราเดอร์รัสเซลล์กลับไปที่อิตาลีอีก และได้บรรยายเกี่ยวกับคัมภีร์ไบเบิล ณ โรงพลศึกษากลางกรุงโรม. ผลเป็นอย่างไร? รัสเซลล์รายงานว่า “กล่าวโดยรวม ค่อนข้างจะผิดหวังกับการประชุมครั้งนี้.”
ที่จริง งานเผยแพร่ข่าวดีในอิตาลีตอนเริ่มต้นนั้นก้าวหน้าช้า ส่วนหนึ่งเป็นเพราะพยานพระยะโฮวาถูกฝ่ายเผด็จการฟาสซิสต์กดขี่ข่มเหง. ช่วงนั้นพยานพระยะโฮวาในประเทศมีแค่ 150 คน ส่วนใหญ่เรียนรู้ความจริงในคัมภีร์ไบเบิลจากญาติหรือเพื่อนที่อยู่ต่างประเทศ.
ก้าวหน้าอย่างน่าตื่นตาตื่นใจ
หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 มิชชันนารีจำนวนหนึ่งถูกส่งไปที่อิตาลี. แต่ดังที่ค้นพบจดหมายโต้ตอบในเอกสารสำคัญของรัฐ บุคคลที่มีฐานันดรสูงแห่งสำนักวาติกันได้ขอร้องรัฐบาลขับพวกมิชชันนารีออกนอกประเทศ. พวกมิชชันนารียกเว้นไม่กี่คนจึงถูกขับออกนอกประเทศ.
แม้มีอุปสรรค แต่ผู้คนจำนวนมากในอิตาลีก็เริ่มหลั่งไหลมายัง “ภูเขา” แห่งการนมัสการของพระยะโฮวา. (ยะซายา 2:2-4) จำนวนพยานฯ เพิ่มมากขึ้นอย่างน่าสังเกต. ปี 2004 ยอดผู้ประกาศข่าวดีมีจำนวน 233,527 คน เฉลี่ย 1 ต่อ พลเมือง 248 คน และมี 433,242 คนเข้าร่วมประชุมอนุสรณ์ระลึกถึงการวายพระชนม์ของพระคริสต์. ประชาคมของพยานพระยะโฮวา 3,049 ประชาคมประชุมกันในหอประชุมราชอาณาจักรที่สะดวกสบาย. ในปีหลัง ๆ นี้ ประชากรจากที่อื่น ๆ ได้ประสบการเพิ่มทวีอย่างมาก.
ดำเนินการเผยแพร่หลายภาษา
ผู้คนมากมายที่อพยพจากแอฟริกา, เอเชีย, และยุโรปตะวันออกต่างพากันมาหางานทำในประเทศอิตาลี หรือเพราะต้องการมีมาตรฐานการครองชีพที่ดีกว่า หรือในบางกรณี ต้องการหนีสภาพที่เศร้าสลด. หลายล้านคนเหล่านี้จะได้รับการช่วยเหลือฝ่ายวิญญาณอย่างไร?
พยานพระยะโฮวาหลายคนในอิตาลีตอบรับข้อท้าทายด้านนี้ โดยการเรียนภาษาต่างประเทศ เช่น ภาษาจีน, ตากาล็อก, เบงกาลี, ปัญจาบี, สิงหล, อัมฮารา, อาหรับ, และแอลเบเนีย. เริ่มตั้งแต่ปี 2001 มีการจัดเตรียมหลักสูตรสอนภาษาแก่พยานฯ เหล่านี้ที่สมัครใจให้คำพยานภาษาต่างประเทศ. ช่วงสามปีที่แล้ว มีพยาน 3,711 คนได้เรียนหลักสูตรนี้ซึ่งสอนภาษาต่าง ๆ ถึง 17 ภาษา รวมแล้ว 79 รุ่น. ทั้งนี้ทำให้มีความเป็นไปได้ในการจัดตั้งประชาคมและเสริมกำลัง 146 ประชาคมและ 274 กลุ่ม ซึ่งใช้ภาษาต่างกันถึง 25 ภาษา. ด้วยเหตุนี้ สุจริตชนหลายคนจึงได้ยินข่าวดีและเริ่มศึกษาพระคัมภีร์. บ่อยครั้งเกิดผลดีเป็นพิเศษ.
พยานพระยะโฮวาคนหนึ่งได้สนทนาเรื่องคัมภีร์ไบเบิลกับจอร์จ ชาวอินเดียที่พูดภาษามาลายาลัม. แม้เขาเผชิญปัญหาหนักด้านการงาน แต่จอร์จยินดีตอบรับการศึกษาพระคัมภีร์. สองสามวันต่อมา เพื่อนของจอร์จชื่อกิล เป็นชาวอินเดียพูดภาษาปัญจาบีได้ไปที่หอประชุม แล้วเขาก็เริ่มต้นศึกษาพระคัมภีร์. กิลได้แนะนำเดวิด คนอินเดียพูดภาษาเทลูกูให้รู้จักกับพยานฯ. อีกไม่นาน เดวิดก็เริ่มศึกษาพระคัมภีร์. ชาวอินเดียอีกสองคนคือซันนีและชูบัชซึ่งอาศัยในบ้านเดียวกันกับเดวิดก็ร่วมศึกษาพระคัมภีร์ด้วย.
ไม่กี่สัปดาห์ต่อมา พยานฯ ได้รับโทรศัพท์จากชายชื่อดาลิป พูดภาษามาราติ. เขาแนะนำตัวว่า “ผมเป็นเพื่อนของจอร์จ. คุณจะสอนพระคัมภีร์ให้ผมได้ไหม?” จากนั้นก็มีสุมิต พูดภาษาทมิฬ. ต่อมา เพื่อนอีกคนหนึ่งของจอร์จได้โทรศัพท์ขอศึกษาพระคัมภีร์. หลังจากนั้นจอร์จได้พาชายหนุ่มอีกคนหนึ่งชื่อแมกซ์ไปยังหอประชุม. แมกซ์ต้องการศึกษาพระคัมภีร์เช่นกัน. ถึงตอนนี้ การศึกษาพระคัมภีร์ดำเนินไปแล้วหกราย และกำลังเตรียมจะศึกษาอีกสี่ราย. บุคคลเหล่านี้ใช้ภาษาอังกฤษขณะศึกษาพระคัมภีร์ แต่อาศัยหนังสือภาษาอื่นควบไปด้วย อาทิ ภาษาทมิฬ, เทลูกู, ปัญจาบี, มาราติ, มาลายาลัม, อูรดู, และฮินดี.
คนหูหนวก “ได้ยิน” ข่าวดี
มีคนหูหนวกมากกว่า 90,000 คนในประเทศอิตาลี. ช่วงกลางทศวรรษ 1970 เหล่าพยานฯ เริ่มเพ่งเล็งการสอนพวกเขาให้รู้ความจริงในคัมภีร์ไบเบิล. เริ่มแรก พยานฯ หูหนวกบางคนได้สอนภาษามืออิตาลีแก่เพื่อนพยานฯ ที่สมัครใจรับใช้ในเขตงานแบบนั้น. ในเวลาต่อมา คนหูหนวกที่เริ่มแสดงความสนใจเรียนพระคัมภีร์มีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ. เวลานี้ มีมากกว่า 1,400 คนใช้ภาษามืออิตาลีเมื่อเข้าร่วมการประชุมคริสเตียน. ประชาคม 15 แห่งและ 52 กลุ่มใช้ภาษามืออิตาลีในการประชุม.
เมื่อแรกเริ่ม งานประกาศเผยแพร่แก่คนหูหนวกส่วนใหญ่ขึ้นอยู่กับการริเริ่มของพยานฯ แต่ละคน. แต่ในปี 1978 สำนักงานสาขาของพยานพระยะโฮวาในอิตาลีได้เริ่มจัดการประชุมภาคเพื่อคนหูหนวก. เดือนพฤษภาคมปีนั้นได้มีคำประกาศแจ้งให้ทราบว่า ณ การประชุมนานาชาติครั้งต่อไปที่เมืองมิลาน จะมีระเบียบวาระสำหรับคนหูหนวก. การ
ประชุมหมวดครั้งแรกเพื่อคนหูหนวกถูกจัดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ 1979 ณ หอประชุมใหญ่ของพยานฯ ในเมืองมิลาน.ตั้งแต่นั้นมา สำนักงานสาขาให้ความสนใจอย่างใกล้ชิดเพื่อการบำรุงเลี้ยงฝ่ายวิญญาณแก่คนหูหนวก โดยสนับสนุนผู้เผยแพร่ที่เพิ่มจำนวนขึ้นเหล่านี้ให้ปรับปรุงทักษะการใช้ภาษากับคนหูหนวก. ตั้งแต่ปี 1995 ไพโอเนียร์พิเศษ (ผู้เผยแพร่ประเภทเต็มเวลา) ถูกส่งไปสมทบบางกลุ่มเพื่อให้การอบรมแก่พยานฯ หูหนวกในการประกาศ และจัดระเบียบการประชุมคริสเตียน. หอประชุมใหญ่สามแห่งของพยานฯ ติดตั้งระบบวิดีโอที่ทันสมัยเพื่อจะสามารถเห็นภาษามือชัดขึ้น. นอกจากนั้น ตลับวีดิทัศน์เกี่ยวกับสรรพหนังสือคริสเตียนซึ่งเป็นอาหารฝ่ายวิญญาณสำหรับคนหูหนวกก็จัดเตรียมไว้พร้อม.
คนที่เฝ้าสังเกตได้กล่าวว่าพวกพยานฯ เอาใจใส่ดีมากในด้านการจัดหาสิ่งจำเป็นฝ่ายวิญญาณให้แก่คนหูหนวก. นิตยสาร ปาโรเล เอ เซนยี (ถ้อยคำและเครื่องหมาย) จัดพิมพ์โดยสมาคมคนหูหนวกในอิตาลีได้ยกข้อความในจดหมายของพระราชาคณะองค์หนึ่งในนิกายโรมันคาทอลิกที่ว่า “การเป็นคนหูหนวกนั้นลำบากเนื่องจากต้องมีคนเอาใจใส่เสมอ. ตัวอย่างเช่น เขามาถึงโบสถ์โดยลำพังได้ไม่ยาก แต่ต้องมีคนเป็นล่ามแปลสิ่งที่มีการอ่าน, แถลงการณ์, หรือร้องเพลงในการนมัสการ.” นิตยสารนั้นเสริมอีกว่า พระราชาคณะ “ยอมรับว่า น่าเสียดายที่คริสตจักรยังไม่เตรียมตัวให้การช่วยเหลือคนพิการแบบนี้ และยังชี้แจงต่ออีกว่าในหอประชุมพยานพระยะโฮวา คนหูหนวกหลายคนได้รับการดูแลดีกว่าที่ได้รับจากโบสถ์ประจำตำบลเสียอีก.”
ข่าวดีได้ประกาศแก่นักโทษ
คนเราจะเป็นอิสระได้ไหมทั้ง ๆ ที่ถูกจำคุก? ได้ เพราะพระคำของพระเจ้ามีฤทธิ์ทำให้คนเหล่านั้นที่ยอมรับพระคำและนำไปใช้ในการดำเนินชีวิต “เป็นอิสระ” ได้. ข่าวสารที่พระเยซูประกาศ “แก่พวกเชลย” ได้ปลดปล่อยผู้คนพ้นจากโยฮัน 8:32, ล.ม.; ลูกา 4:16-19) ที่อิตาลี การประกาศในเรือนจำบังเกิดผลดีเยี่ยม. พยานพระยะโฮวาผู้เผยแพร่เกือบ 400 คนได้รับอนุญาตอย่างเป็นทางการให้เข้าเยี่ยมนักโทษเพื่อกล่อมเกลาจิตใจ. นอกเหนือจากองค์กรคาทอลิก พยานพระยะโฮวาเป็นพวกแรกที่ยื่นคำร้องและได้รับอนุญาตดังกล่าว.
บาปและศาสนาเท็จ. (ข่าวสารของคัมภีร์ไบเบิลอาจแพร่ออกไปในวิธีที่คาดไม่ถึง. นักโทษบอกเล่าแก่นักโทษด้วยกันถึงเรื่องงานส่งเสริมการศึกษาพระคัมภีร์ของพยานพระยะโฮวา. ครั้นแล้ว นักโทษบางคนได้ขอพยานฯ ผู้เผยแพร่ไปเยี่ยม. หรือสมาชิกครอบครัวซึ่งเริ่มศึกษาพระคัมภีร์ได้สนับสนุนนักโทษให้ยื่นคำร้องขอพยานพระยะโฮวาไปเยี่ยม. นักโทษบางคนติดคุกตลอดชีวิตเพราะความผิดฐานฆ่าคน หรือกระทำความผิดร้ายแรงอื่น ๆ ได้สำนึกผิดและปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตของตนอย่างสิ้นเชิง. ที่กล่าวมานี้เป็นการเตรียมพวกเขาให้พร้อมเพื่อการอุทิศตัวแด่พระยะโฮวาพระเจ้าและการรับบัพติสมา.
ในเรือนจำหลายแห่ง ได้มีการจัดการบรรยายสาธารณะตามหัวข้อเรื่องที่อาศัยพระคัมภีร์เป็นหลัก, คำบรรยายระลึกถึงการวายพระชนม์ของพระเยซู, และการฉายวีดิทัศน์ที่ให้ความรู้เกี่ยวกับพระคัมภีร์ซึ่งจัดทำโดยพยานพระยะโฮวา. บ่อยครั้งจะมีนักโทษจำนวนมากได้เข้ามาร่วมการประชุมเหล่านั้น.
เพื่อช่วยผู้คนในเรือนจำรู้จักแนวทางปฏิบัติที่ใช้ได้ผล เหล่าพยานฯ แจกจ่ายวารสารเกี่ยวข้องกับเรื่องต่าง ๆ ที่นักโทษจะได้ประโยชน์. ในบรรดาวารสารเหล่านั้นก็มีตื่นเถิด! ฉบับ 8 พฤษภาคม 2001 ซึ่งพิจารณาเรื่อง “นักโทษจะกลับใจได้ไหม?” ฉบับ 8 เมษายน 2003 มีเรื่อง “การใช้สารเสพติดในครอบครัว—คุณจะทำอะไรได้?” (ภาษาอิตาลี) ได้แจกจ่ายให้แก่นักโทษหลายพันเล่ม. ผลก็คือ มีการศึกษาพระคัมภีร์หลายร้อยราย. ผู้คุมบางคนแสดงความสนใจข่าวสารของคัมภีร์ไบเบิลเช่นกัน.
หลังได้รับอนุญาตเป็นพิเศษจากเจ้าหน้าที่ นักโทษชายชื่อกอสตันตีโนได้รับบัพติสมาที่หอประชุมในเมืองซันเรโม มีพยานฯ ในท้องถิ่น 138 คนอยู่ ณ โอกาสนั้นด้วย. “ผมรู้สึกว่าตัวเองได้รับความรักอย่างท่วมท้น” กอสตันตีโนกล่าวด้วยความตื้นตันใจหลังรับบัพติสมา. หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นรายงานคำพูดของพัศดีดังนี้: “ด้วยความปีติยินดีเป็นอย่างยิ่ง . . . ที่เราอนุญาตให้ทำเช่นนี้. ทุกสิ่งทุกอย่างซึ่งอาจส่งเสริมฟื้นฟูนักโทษทางด้านสังคม, ตัวบุคคล, และจิตใจสมควรได้รับการพิจารณา.” ภรรยากับลูกสาวประทับใจในวิธีที่ความรู้ถ่องแท้เกี่ยวกับคัมภีร์ไบเบิลมีผลกระทบชีวิตของกอสตันตีโน: “เราภูมิใจในตัวเขามากที่เขาได้เปลี่ยนแปลงชีวิต. เขากลายเป็นคนรักสันติ และห่วงใยเอาใจใส่เรามากขึ้น. ความไว้เนื้อเชื่อใจและความนับถือที่เรามีต่อเขาหวนกลับมาอีกครั้งหนึ่ง.” ทั้งภรรยาและลูกสาวได้เริ่มศึกษาพระคัมภีร์และเข้าร่วมการประชุมคริสเตียนด้วยเช่นกัน.
เซอร์โจถูกตัดสินจำคุกข้อหาลักขโมย, จี้ปล้น, ลักลอบขนยาเสพติด, และฆ่าคน เขาจะต้องติดคุกไปจนถึงปี 2024. หลังจากเซอร์โจพิจารณาตรวจสอบพระคัมภีร์เป็นเวลาสามปีและทำการเปลี่ยนแปลงชีวิตครั้งใหญ่ เขาจึงตัดสินใจขอรับบัพติสมา. เขาเป็นนักโทษรายที่ 15 ของเรือนจำปอร์โต อัซซุร์โร บนเกาะเอลบา ที่ขอรับบัพติสมาเป็นพยานพระยะโฮวา. เขาได้รับบัพติสมาในสระบัพติสมาที่นำมาตั้งไว้ ณ ลานกีฬาของเรือนจำ และวันนั้นมีนักโทษหลายคนมาร่วมด้วย.
เลโอนาร์โด ซึ่งต้องโทษติดคุก 20 ปี ได้รับอนุญาตเป็นกรณีพิเศษที่จะรับบัพติสมา ณ หอประชุมราชอาณาจักรในปาร์มา. เมื่อให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ท้องถิ่น เลโอนาร์โด
บอกว่าตนต้องการ “แถลงเรื่องราวให้ชัดแจ้งในเรื่องการตัดสินใจเข้ามาเป็นพยานพระยะโฮวานั้นไม่ใช่เพื่อหาทางหลุดพ้นการคุมขัง แต่เพื่อเติมความต้องการอันล้ำลึกฝ่ายวิญญาณ.” เลโอนาร์โดพูดว่า “ชีวิตผมผิดพลาดมาแล้ว ทว่า ผมไม่หวนกลับไปอีก. ผมเปลี่ยนไปแล้วแม้ไม่ใช่ในทันทีทันใด. ผมจะต้องเป็นคนซื่อตรงต่อ ๆ ไป.”ซัลวาโตเร ซึ่งต้องโทษฐานฆ่าคน ถูกขังในเรือนจำสโปเลโตซึ่งการรักษาความปลอดภัยเป็นไปอย่างเข้มงวด. การรับบัพติสมาของเขาซึ่งถูกจัดขึ้นภายในกำแพงคุกทำให้หลายคนรู้สึกทึ่ง. พัศดีที่นั่นพูดว่า “ทางเลือกสำคัญทางสังคมซึ่งก่อให้เกิดพฤติกรรมที่ดีต่อทุกฝ่ายจึงควรได้รับการสนับสนุน เพื่อประโยชน์ของชุมชนเรือนจำและสังคมทุกระดับ.” ผลสืบเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของซัลวาโตเรก็คือ ตอนนี้ภรรยาและลูกสาวของเขาเข้าร่วมการประชุมของพยานพระยะโฮวา. นักโทษที่ซัลวาโตเรประกาศให้คำพยานก็ได้รับบัพติสมาเป็นผู้รับใช้ที่อุทิศตัวแด่พระยะโฮวา.
การแผ่ขยายและการเพิ่มพูนของศาสนาคริสเตียนยุคแรกเคยมีอยู่บ้างในอิตาลี. (กิจการ 2:10; โรม 1:7) ในสมัยนี้ การเก็บเกี่ยว, การเติบโตฝ่ายวิญญาณ, และการแผ่ขยายยังคงมีอยู่ต่อไปในดินแดนเดียวกันนี้ที่เปาโลและบรรดาเพื่อนคริสเตียนของท่านได้ทำงานด้วยความเหนื่อยยากเพื่อประกาศข่าวดี.—กิจการ 23:11; 28:14-16.
[แผนที่หน้า 13]
(รายละเอียดดูจากวารสาร)
อิตาลี
โรม
[ภาพหน้า 15]
หอประชุมใหญ่บีตอนโตและประชาคมหนึ่งในกรุงโรมที่ใช้ภาษามืออิตาลี
[ภาพหน้า 16]
ความจริงจากคัมภีร์ไบเบิลทำให้พวกนักโทษ “เป็นอิสระ”
[ภาพหน้า 17]
การเติบโตฝ่ายวิญญาณยังดำเนินต่อไปในดินแดนที่ศาสนาคริสเตียนยุคแรกเคยเฟื่องฟู