ฟิโลแห่งอะเล็กซานเดรียผู้เพิ่มการคาดเดาเข้ากับพระคัมภีร์
ฟิโลแห่งอะเล็กซานเดรียผู้เพิ่มการคาดเดาเข้ากับพระคัมภีร์
ในปี 332 ก่อนสากลศักราช อะเล็กซานเดอร์มหาราชบุกเข้าไปในอียิปต์. ก่อนจะเคลื่อนทัพต่อไปทางตะวันออกเพื่อพิชิตโลก เขาได้สร้างเมืองหนึ่งขึ้นและให้ชื่อว่าอะเล็กซานเดรีย. เมืองนี้กลายเป็นศูนย์กลางวัฒนธรรมกรีก. ครั้นถึงประมาณปี 20 ก่อน ส.ศ. ผู้พิชิตอีกคนหนึ่งก็เกิดมาในเมืองนี้ อาวุธของเขาไม่ใช่หอกหรือดาบ หากแต่เป็นการหาเหตุผลในแนวปรัชญา. เขาเป็นที่รู้จักในชื่อฟิโลแห่งอะเล็กซานเดรีย หรือฟิโล จูเดอุส เพราะพื้นเพเป็นชาวยิว.
เมื่อกรุงเยรูซาเลมถูกทำลายในปี 607 ก่อน ส.ศ. ชาวยิวต้องกระจัดกระจายไปตั้งถิ่นฐานในที่ต่าง ๆ จึงมีชาวยิวจำนวนมากเข้ามาอาศัยในอียิปต์. หลายพันคนอาศัยอยู่ในอะเล็กซานเดรีย. แต่เกิดมีปัญหาระหว่างชาวยิวกับชาวกรีก. ชาวยิวไม่ยอมนมัสการเทพเจ้าของชาวกรีก ส่วนชาวกรีกก็ดูถูกพระคัมภีร์ภาษาฮีบรู. ฟิโลได้รับการศึกษาแบบชาวกรีก แต่ถูกเลี้ยงดูแบบชาวยิว เขาจึงคุ้นเคยดีกับความขัดแย้งดังกล่าว. เขาเชื่อว่าศาสนายิวเป็นศาสนาแท้. แต่ฟิโลไม่เหมือนคนส่วนมาก เขาหาทางจะทำให้คนต่างชาติสนใจพระเจ้าในแบบสันติวิธี. เขาต้องการทำให้ศาสนายิวเป็นที่ยอมรับของคนเหล่านั้น.
ข้อเขียนเก่า แต่ความหมายใหม่
ภาษาหลักของฟิโลคือภาษากรีก เช่นเดียวกับชาวยิวจำนวนมากในอะเล็กซานเดรีย. ดังนั้น เขาจึงศึกษาพระคัมภีร์โดยใช้พระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูฉบับกรีกเซปตัวจินต์เป็นพื้นฐาน. เมื่อเขาพิจารณาข้อความในฉบับเซปตัวจินต์ เขาก็มั่นใจว่าพระคัมภีร์มีหลักปรัชญาพื้นฐานแฝงอยู่และโมเซเป็น “นักปรัชญาอัจฉริยะ.”
หลายศตวรรษก่อนหน้านั้น พวกปราชญ์ชาวกรีกรู้สึกว่ายากที่จะยอมรับเรื่องราวต่าง ๆ เกี่ยวกับเทพเจ้าและเทพธิดา ทั้งยักษ์และมารในเทพนิยายกรีกโบราณ. พวกเขาจึงนำนิยายปรัมปราเหล่านั้นมาตีความเสียใหม่. เจมส์ ดรัมมอนด์ ปราชญ์ด้านศิลปวิทยาสมัยกรีกและโรมันได้กล่าวเกี่ยวกับวิธีการที่คนเหล่านั้นใช้ดังนี้: “นักปรัชญาจะเริ่มมองหาความหมายที่แฝงอยู่ใต้พื้นผิวที่เป็นเรื่องเล่าในตำนานต่าง ๆ แล้วก็สรุปเอาจากเนื้อหาที่น่ารังเกียจและไร้สาระของตำนานเหล่านั้นว่าผู้ประพันธ์คงต้องเจตนาซ่อนความจริงที่ลึกซึ้งและให้ความกระจ่างแจ้งบางอย่างไว้.” วิธีการนี้เรียกว่าการตีความโดยการอุปมาอุปไมย และเป็นวิธีที่ฟิโลพยายามใช้เพื่ออธิบายพระคัมภีร์.
เพื่อเป็นตัวอย่าง ลองพิจารณาเยเนซิศ 3:22 ในฉบับเซปตัวจินต์ ของแบกสเตอร์ ซึ่งกล่าวว่า “พระเจ้าทรงทำเสื้อหนังให้อาดามกับภรรยาของเขา และทรงสวมให้เขาทั้งสอง.” ชาวกรีกรู้สึกว่าพระเจ้าองค์สูงสุดทรงสูงส่งเกินกว่าจะทำเสื้อผ้าให้มนุษย์. ดังนั้น ฟิโลจึงเห็นความหมายเชิงสัญลักษณ์ในข้อนี้และกล่าวว่า “เสื้อหนังเป็นการกล่าวโดยนัยถึงเนื้อหนังมนุษย์ตามธรรมชาติ ซึ่งก็คือร่างกายของเรานี้เอง เพราะแรกสุดเมื่อพระเจ้าทรงสร้างเชาวน์ปัญญาหนึ่งขึ้น ทรงเรียกว่าอาดาม ต่อมา พระองค์ทรงสร้างประสาทรับรู้ภาย นอก แล้วประทานชื่อว่าชีวิต. ขั้นที่สาม พระองค์ทรงเห็นว่าจำเป็นต้องสร้างร่างกายขึ้น และทรงเรียกกายนั้นด้วยคำที่มีความหมายเป็นนัยคือ เสื้อหนัง.” โดยวิธีนี้ ฟิโลพยายามทำให้การที่พระเจ้าสวมเสื้อผ้าให้อาดามกับฮาวากลายเป็นประเด็นทางปรัชญาที่ต้องขบคิด.
นอกจากนี้ ขอพิจารณาเยเนซิศ 2:10-14 ซึ่งพรรณนาแหล่งน้ำในสวนเอเดนและกล่าวถึงแควสี่สายที่ไหลออกจากสวนนั้น. ฟิโลพยายามที่จะมองหาความหมายลึกที่อยู่ในคำต่าง ๆ และมองลึกกว่าความเป็นสถานที่. หลังจากได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับแผ่นดินไปแล้ว เขากล่าวว่า “บางทีข้อความนี้อาจมีความหมายเชิงอุปมาแฝงอยู่ด้วย เพราะแควสี่สายเป็นสัญลักษณ์ของคุณธรรมสี่ประการ.” เขาคิดว่าแควพีโซนเป็นสัญลักษณ์ของความสุขุมรอบคอบ, แควฆีโฮนเป็นสัญลักษณ์ของความเคร่งขรึม, แควฮิเดะเค็ล (ไทกริส) เป็นสัญลักษณ์ของความแข็งแกร่ง, และแควฟะราธ (ยูเฟรทิส) หมายถึงความยุติธรรม. ด้วยเหตุนี้ การอุปมาอุปไมยโดยใช้สัญลักษณ์จึงเข้ามาแทนที่ภูมิศาสตร์.
ฟิโลใช้วิธีการตีความโดยการอุปมาอุปไมยเพื่อวิเคราะห์บันทึกเรื่องการสร้าง, เรื่องของคายินที่ฆ่าเฮเบล, เรื่องน้ำท่วมใหญ่สมัยโนฮา, การทำให้ภาษาสับสนที่บาเบล, และบัญญัติของโมเซอีกหลายข้อ. ดังที่เห็นจากตัวอย่างในย่อหน้าก่อน ฟิโลมักยอมรับข้อความในคัมภีร์ไบเบิลที่มีความหมายตามตัวอักษร จากนั้นจึงเสนอความเข้าใจในรูปแบบสัญลักษณ์ของตนเอง โดยใช้คำพูดทำนองนี้ “บางทีเราอาจต้องมองดูถ้อยคำเหล่านี้ในลักษณะของอุปมาอุปไมย.” ในข้อเขียนของฟิโล มีการใช้สัญลักษณ์แทนสิ่งต่าง ๆ มากมาย
แต่น่าเสียดายที่ความหมายที่ชัดเจนของพระคัมภีร์ต้องเลือนหายไป.ใครคือพระเจ้า?
ฟิโลสนับสนุนเรื่องการดำรงอยู่ของพระเจ้าด้วยตัวอย่างที่มีพลัง. หลังจากพรรณนาถึงแผ่นดิน, แม่น้ำ, ดาวเคราะห์, และดวงดาวต่าง ๆ แล้ว เขาสรุปว่า “โลกเป็นสิ่งที่ถูกสร้างอย่างวิจิตรบรรจงที่สุดในบรรดาสิ่งต่าง ๆ ทั้งหมด ราวกับว่าถูกประกอบขึ้นโดยผู้ที่มีความสามารถทุกประการและมีความรู้ครบถ้วนสมบูรณ์ที่สุด. เพราะเหตุนี้เราจึงคิดว่าพระเจ้าทรงดำรงอยู่.” นี่เป็นการหาเหตุผลที่ถูกต้อง.—โรม 1:20.
แต่เมื่อฟิโลอธิบายลักษณะของพระเจ้าองค์ทรงฤทธานุภาพทุกประการ คำพูดของเขาไกลจากความจริงไปมาก. ฟิโลอ้างว่าพระเจ้า “ไม่มีคุณลักษณะพิเศษอะไร” และบอกว่าพระเจ้า “ไม่อาจเข้าใจได้.” ฟิโลไม่สนับสนุนความพยายามใด ๆ ที่จะรู้จักพระเจ้า โดยกล่าวว่า “การพยายามมากไปกว่านี้เพื่อจะสืบหาแก่นแท้หรือคุณลักษณะพิเศษของพระเจ้าเป็นเรื่องโง่เขลาที่สุด.” ความคิดเช่นนี้ไม่ได้มาจากคัมภีร์ไบเบิล แต่มาจากนักปรัชญานอกรีตที่ชื่อ เพลโต.
ฟิโลกล่าวไว้ว่าพระเจ้าอยู่เหนือความเข้าใจของมนุษย์มากนัก จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะเรียกพระองค์ด้วยพระนามเฉพาะ. ฟิโลกล่าวว่า “ฉะนั้น จึงเป็นเรื่องที่มีเหตุผลทีเดียวที่ว่าไม่มีนามเฉพาะใดจะเหมาะสมกับพระองค์ ผู้ซึ่งแท้จริงแล้วเป็นพระเจ้าผู้ทรงพระชนม์อยู่.” ช่างขัดแย้งกับความจริงสักเพียงไร!
คัมภีร์ไบเบิลกล่าวชัดเจนว่าพระเจ้าทรงมีพระนามเฉพาะ. บทเพลงสรรเสริญ 83:18 กล่าวว่า “พระองค์ผู้เดียว, ผู้ทรงพระนามว่าพระยะโฮวา เป็นพระเจ้าใหญ่ยิ่งทรงครอบครองทั่วแผ่นดินโลก.” ยะซายา 42:8 ยกคำตรัสของพระเจ้ามากล่าวที่ว่า “เราคือยะโฮวา, นามนี้เป็นนามของเรา.” ทำไมชาวยิวที่รู้ข้อคัมภีร์เหล่านี้ดีอย่างฟิโลจึงสอนว่าพระเจ้าไม่มีพระนาม? นั่นเป็นเพราะผู้ที่เขาพรรณนานั้นไม่ใช่พระเจ้าองค์ที่กล่าวถึงในคัมภีร์ไบเบิล หากแต่เป็นเทพเจ้าไร้นามและไม่อาจเข้าถึงได้ของปรัชญากรีก.
จิตวิญญาณคืออะไร?
ฟิโลสอนว่าจิตวิญญาณแยกต่างหากจากร่างกาย. เขากล่าวว่ามนุษย์ “ประกอบด้วยร่างกายและจิตวิญญาณ.” จิตวิญญาณตายได้ไหม? ขอให้สังเกตคำอธิบายของฟิโลที่ว่า “เมื่อเรายังมีชีวิตอยู่ ร่างกายของเราก็มีชีวิตอยู่แม้จิตวิญญาณของเราจะตายไปแล้วและฝังอยู่ในร่างของเราเสมือนอยู่ในที่ฝังศพ. แต่เมื่อร่างกายของเราตาย เมื่อนั้นจิตวิญญาณของเราจะดำรงอยู่ในแบบที่เหมาะกับจิตวิญญาณตามที่ควรจะเป็น โดยถูกปลดปล่อยจากกายที่ชั่วซึ่งตายแล้ว.” สำหรับฟิโล การตายของจิตวิญญาณมีความหมายเป็นนัย. จิตวิญญาณไม่เคยตายจริง ๆ. จิตวิญญาณเป็นอมตะ.
แต่คัมภีร์ไบเบิลสอนอย่างไรเรื่องจิตวิญญาณ? เยเนซิศ 2:7 กล่าวว่า “พระยะโฮวาเจ้าได้ทรงสร้างมนุษย์ด้วยผงคลีดิน, ระบายลมแห่งชีวิตเข้าทางจมูกให้มีชีวิตหายใจเข้าออก; มนุษย์จึงเกิดเป็นจิตต์วิญญาณมีชีวิตอยู่.” ตามที่กล่าวในคัมภีร์ไบเบิล มนุษย์ไม่ได้มี จิตวิญญาณ แต่พวกเขาเป็น จิตวิญญาณ.
คัมภีร์ไบเบิลยังสอนด้วยว่าจิตวิญญาณไม่เป็นอมตะ. ยะเอศเคล 18:4 กล่าวว่า “จิตวิญญาณที่ได้ทำบาป, จิตวิญญาณนั้นจะตายเอง.” จากข้อคัมภีร์เหล่านี้ เราสามารถได้ข้อสรุปที่ถูกต้องว่า มนุษย์คือจิตวิญญาณ. ฉะนั้น เมื่อมนุษย์ตาย จิตวิญญาณก็ตาย.—เยเนซิศ 19:19. *
หลังจากฟิโลเสียชีวิต ชาวยิวไม่ได้ให้ความสนใจเขามากนัก. แต่คริสต์ศาสนจักรกลับยอมรับเขา. ยูเซบิอุสและผู้นำคนอื่น ๆ ของคริสตจักรเชื่อว่าฟิโลได้เปลี่ยนมานับถือศาสนาคริสเตียน. เจโรมกล่าวถึงชื่อของฟิโลรวมกับรายชื่อนักเขียนแห่งคริสตจักรโบราณ. ผู้ที่เก็บรักษาข้อเขียนของฟิโลไว้กลับกลายเป็นคริสเตียนที่ออกหาก แทนที่จะเป็นชาวยิว.
ข้อเขียนของฟิโลนำไปสู่การปฏิวัติทางศาสนา. อิทธิพลของเขาทำให้คริสเตียนในนามรับเอาหลักคำสอนที่ไม่เป็นไปตามหลักพระคัมภีร์เรื่องจิตวิญญาณอมตะ. และคำสอน
ของฟิโลเกี่ยวกับโลโกส (หรือพระวาทะ) ก่อให้เกิดคำสอนเรื่องตรีเอกานุภาพ ซึ่งไม่ได้เป็นตามหลักพระคัมภีร์แต่เป็นคำสอนของศาสนาคริสเตียนที่ออกหาก.อย่าหลงเชื่อ
ขณะที่ฟิโลศึกษาพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรู เขาคอยดูให้แน่ใจว่าไม่ได้ “มองข้ามความหมายเชิงอุปมาใด ๆ ที่อาจซ่อนอยู่ในภาษาธรรมดา ๆ.” อย่างไรก็ตาม ในพระบัญญัติ 4:2 โมเซได้กล่าวถึงพระบัญญัติของพระเจ้าว่า “เจ้าทั้งหลายอย่าได้เพิ่มเติมคำที่เราสั่งสอนเจ้าทั้งหลาย, และอย่าได้ลดหย่อนจากถ้อยคำนั้น, เพื่อเจ้าทั้งหลายจะได้ประพฤติตามข้อบัญญัติแห่งพระยะโฮวาพระเจ้าของเจ้า ซึ่งเราได้สั่งเจ้าทั้งหลาย.” ด้วยการกระทำซึ่งดูเหมือนว่าเป็นเจตนาดีทั้งสิ้น ฟิโลได้เพิ่มการคาดเดาซึ่งเป็นเหมือนชั้นหมอกหนาทึบที่บดบังคำสอนอันชัดเจนแห่งพระคำของพระเจ้าที่มีขึ้นโดยการดลใจ.
อัครสาวกเปโตรกล่าวว่า “เพราะว่าเมื่อเราได้สำแดงให้ท่านทั้งหลายทราบถึงฤทธิ์เดชของพระเยซูคริสต์ของเรา และการที่พระองค์จะเสด็จมานั้น, เราไม่ได้คล้อยตามนิยายที่เขาคิดแต่งไว้ด้วยความเฉลียวฉลาด.” (2 เปโตร 1:16) ต่างจากข้อเขียนของฟิโล คำแนะนำที่เปโตรให้กับประชาคมคริสเตียนสมัยแรก ๆ อาศัยข้อเท็จจริงและการชี้นำโดยพระวิญญาณของพระเจ้า ซึ่งเป็น “พระวิญญาณแห่งความจริง” ที่นำพวกเขาไปสู่ความจริงทุกอย่าง.—โยฮัน 16:13.
ถ้าคุณสนใจจะนมัสการพระเจ้าแห่งคัมภีร์ไบเบิล คุณจำเป็นต้องมีการชี้นำที่ถูกต้อง ไม่ใช่การตีความที่อาศัยความคิดของมนุษย์เป็นหลัก. คุณจำเป็นต้องมีความรู้ถ่องแท้เกี่ยวกับพระยะโฮวาและพระทัยประสงค์ของพระองค์ และเพื่อจะเป็นนักศึกษาที่มีความจริงใจ คุณต้องมีความถ่อมใจ. ถ้าคุณศึกษาคัมภีร์ไบเบิลด้วยเจตคติที่ดีเช่นนั้น คุณจะได้รู้ ‘คำจารึกอันศักดิ์สิทธิ์ซึ่งมีฤทธิ์อาจให้คุณได้ปัญญาถึงที่รอดโดยความเชื่อในพระเยซูคริสต์.’ คุณจะเห็นว่าพระคำของพระเจ้าสามารถทำให้คุณ “เป็นผู้รอบคอบ, คือเป็นผู้ที่ได้ถูกเตรียมไว้พร้อมแล้วสำหรับการดีทุกอย่าง.”—2 ติโมเธียว 3:15-17.
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 18 สารานุกรมเดอะ จูวิช ปี 1910 ได้ให้ความเห็นเรื่องจิตวิญญาณไว้ว่า “ความเชื่อที่ว่าจิตวิญญาณยังมีอยู่หลังจากร่างกายสูญสลายไปแล้วเป็นการคาดคะเนทางปรัชญาหรือทางเทววิทยามากกว่าจะเป็นความเชื่อดั้งเดิม ฉะนั้นจึงไม่มีการสอนเรื่องนี้ในพระคัมภีร์บริสุทธิ์ไม่ว่าที่ใด.”
[กรอบ/ภาพหน้า 10]
เมืองของฟิโล
ฟิโลอาศัยและทำงานในเมืองอะเล็กซานเดรียของอียิปต์. เป็นเวลาหลายร้อยปีที่เมืองนี้เป็นศูนย์กลางแห่งหนังสือของโลกและการถกปัญหาของเหล่าผู้คงแก่เรียน.
นักเรียนจะเล่าเรียนกับผู้คงแก่เรียนที่มีชื่อเสียงซึ่งสอนอยู่ตามโรงเรียนต่าง ๆ ในเมือง. ห้องสมุดของอะเล็กซานเดรียมีชื่อเสียงไปทั่วโลก. เหล่าบรรณารักษ์พยายามหาสำเนาของหนังสือทุกเล่มที่มีการเขียนกัน จนมีหนังสือหลายแสนเล่มอยู่ในห้องสมุด.
ต่อมา การยอมรับนับถือที่โลกให้กับอะเล็กซานเดรียและคลังความรู้มหาศาลของเมืองนี้ก็ค่อย ๆ ลดลง. บรรดาจักรพรรดิแห่งโรมได้ให้ความสำคัญกับเมืองของตนมากกว่า และยุโรปกลายเป็นศูนย์กลางวัฒนธรรม. อะเล็กซานเดรียเสื่อมลงถึงขีดสุดในศตวรรษที่เจ็ดสากลศักราชเมื่อผู้บุกรุกพิชิตเมืองนี้ได้. จนบัดนี้ นักประวัติศาสตร์ยังคงคร่ำครวญถึงห้องสมุดอันลือชื่อที่สูญเสียไป บางคนถึงกับอ้างว่าอารยธรรมของมนุษย์ล้าหลังไปถึง 1,000 ปี.
[ที่มาของภาพ]
L. Chapons/Illustrirte Familien-Bibel nach der deutschen Uebersetzung Dr. Martin Luthers
[กรอบหน้า 12]
การตีความโดยการอุปมาอุปไมยในปัจจุบัน
อุปมานิทัศน์ส่วนใหญ่มักเป็น “เรื่องที่แต่งขึ้นโดยสมมุติให้บุคคลหรือสิ่งที่เป็นนามธรรมมีความหมายสองนัย.” ข้อเขียนที่ใช้อุปมานิทัศน์กล่าวกันว่าเป็นการใช้สัญลักษณ์แทนที่สิ่งสำคัญกว่าซึ่งแฝงอยู่. เช่นเดียวกับฟิโลแห่งอะเล็กซานเดรีย ครูสอนศาสนาบางคนในทุกวันนี้ใช้วิธีการตีความโดยการอุปมาอุปไมยเพื่ออธิบายคัมภีร์ไบเบิล.
ขอพิจารณาเยเนซิศบทที่ 1-11 ซึ่งบันทึกเรื่องราวตั้งแต่การสร้างมนุษย์จนถึงเมื่อพระเจ้าทรงทำให้มนุษย์กระจัดกระจายไปจากหอบาเบล. เดอะ นิว อเมริกัน ไบเบิล ซึ่งเป็นฉบับแปลของคาทอลิก กล่าวถึงบันทึกตอนดังกล่าวของคัมภีร์ไบเบิลว่า “เพื่อจะทำให้ความจริงที่มีอยู่ในบทเหล่านั้นเป็นที่เข้าใจได้สำหรับชาวอิสราเอลซึ่งต้องเป็นผู้รักษาความจริงเหล่านั้นไว้ จึงต้องมีการถ่ายทอดความจริงออกมาโดยอาศัยแนวคิดที่รู้จักกันดีในหมู่ผู้คนสมัยนั้น. ด้วยเหตุนี้ ความจริงจึงต้องแยกออกมาอย่างชัดเจนจากข้อความตามตัวอักษรซึ่งเป็นเหมือนเสื้อผ้าที่หุ้มห่ออยู่ภายนอก.” นี่เป็นการกล่าวว่า เยเนซิศบท 1-11 ไม่ควรถือเอาตามตัวอักษร. แทนที่จะเป็นเช่นนั้น ข้อความเหล่านั้นเป็นเหมือนเสื้อผ้าที่ปิดคลุมร่างกายอยู่ กล่าวคือปิดคลุมความหมายที่อยู่ลึกลงไป.
อย่างไรก็ตาม พระเยซูทรงสอนว่าถ้อยคำในบทดังกล่าวของพระธรรมเยเนซิศเป็นความจริงตามตัวอักษร. (มัดธาย 19:4-6; 24:37-39) อัครสาวกเปาโลกับเปโตรก็สอนอย่างนั้นเช่นกัน. (กิจการ 17:24-26; 2 เปโตร 2:5; 3:6, 7) นักศึกษาคัมภีร์ไบเบิลที่จริงใจไม่ยอมรับการอธิบายที่ไม่สอดคล้องลงรอยกับพระคำทั้งเล่มของพระเจ้า.
[ภาพหน้า 9]
ประภาคารใหญ่แห่งอะเล็กซานเดรีย
[ที่มาของภาพ]
Archives Charmet/Bridgeman Art Library