“คนฉลาดย่อมมองดูทางเดินของเขา”
“คนฉลาดย่อมมองดูทางเดินของเขา”
บุคคลที่ฉลาดรู้จักปฏิบัติและมีปัญญาเฉียบแหลม, มีวิจารณญาณที่ดีและสามารถมองออกอย่างชัดเจน, มีเหตุผลและสุขุม, รู้จักสังเกตเข้าใจ. เขาไม่เป็นคนหลอกลวงหรือใช้เล่ห์เหลี่ยม. สุภาษิต 13:16 กล่าวว่า “คนที่เฉลียวฉลาดทุกคนทำงานด้วยใช้ความรู้.” ใช่แล้ว ความฉลาดหรือความสุขุมเป็นลักษณะนิสัยที่น่าปรารถนา.
เราจะแสดงความฉลาดในชีวิตประจำวันได้โดยวิธีใด? คุณลักษณะนี้ปรากฏชัดอย่างไรจากการเลือกของเรา, จากวิธีที่เราปฏิบัติต่อคนอื่น, และวิธีที่เราตอบสนองต่อสภาพการณ์ต่าง ๆ? คนสุขุมได้รับบำเหน็จอะไร? เขาหลีกเลี่ยงความหายนะอะไร? กษัตริย์ซะโลโมแห่งชาติอิสราเอลโบราณทรงให้คำตอบที่ใช้ได้จริงสำหรับคำถามเหล่านี้ ดังที่เราอ่านในสุภาษิต 14:12-25. *
เลือกแนวทางของคุณอย่างฉลาด
แน่นอนว่าการเลือกอย่างฉลาดและการประสบผลสำเร็จในชีวิตต้องใช้ความสามารถที่จะแยกออกว่าอะไรถูกอะไรผิด. อย่างไรก็ดี คัมภีร์ไบเบิลเตือนว่า “มีทางหนึ่งซึ่งดูเหมือนบางคนเห็นว่าเป็นทางถูก; แต่ปลายทางนั้นเป็นทางแห่งความตาย.” (สุภาษิต 14:12) ดังนั้น เราต้องเรียนรู้ที่จะแยกสิ่งถูกต้องอย่างแท้จริงออกจากสิ่งที่ดูเหมือนว่าถูกต้อง. ในภาษาเดิมถ้อยคำที่ว่า “ทางแห่งความตาย” อยู่ในรูปพหูพจน์ จึงบ่งชี้ว่าทางที่หลอกลวงเช่นนั้นมีอยู่หลายทาง. ขอพิจารณาบางขอบเขตที่เราควรทราบและควรหลีกเลี่ยง.
โดยทั่วไปถือกันว่าคนรวยและผู้มีชื่อเสียงของโลกเป็นคนที่น่านับถือและควรได้รับความนิยมชมชอบ. ความสำเร็จของพวกเขาทางด้านสังคมและด้านการเงินอาจทำให้ดูเหมือนว่าแนวทางที่เขาทำสิ่งต่าง ๆ นั้นถูกต้อง. แต่จะว่าอย่างไรกับวิธีที่บุคคลดังกล่าวหลายคนใช้เพื่อได้รับความมั่งคั่งหรือชื่อเสียง? วิธีของพวกเขาซื่อตรงและมีศีลธรรมเสมอไปไหม? นอกจากนี้ก็มีบางคนซึ่งแสดงความมีใจแรงกล้าอย่างน่าชมเชยในเรื่องความเชื่อทางศาสนาของเขา. แต่ความจริงใจของเขาพิสูจน์ว่าความเชื่อของเขาถูกต้องจริง ๆ ไหม?—โรม 10:2, 3.
นอกจากนี้ ทางหนึ่งอาจดูเหมือนถูกต้องซื่อตรงเนื่องจากการหลอกตัวเอง. หากเราตัดสินใจโดยอาศัยสิ่งที่ตัวเองรู้สึกว่าถูกต้อง ที่จริงแล้วเป็นการอาศัยหัวใจที่ทรยศให้ชี้นำเรา. (ยิระมะยา 17:9) สติรู้สึกผิดชอบที่ไม่มีการเพิ่มเติมความรู้และไม่ได้รับการฝึกอาจทำให้เราคิดว่าทางผิดเป็นทางถูก. ถ้าเช่นนั้น อะไรจะช่วยเราเลือกแนวทางที่ถูกต้อง?
การขยันศึกษาส่วนตัวเกี่ยวกับความจริงที่ลึกซึ้งในพระคำของพระเจ้าเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อเราจะได้ “ฝึกฝนความสามารถในการสังเกตเข้าใจเพื่อแยกออกว่าอะไรถูกอะไรผิด.” นอกจากนี้ เราต้องฝึกฝนความสามารถนี้ “ด้วยการใช้” โดยนำหลักการในคัมภีร์ไบเบิลมาใช้. (เฮ็บราย 5:14, ล.ม.) เราต้องระวังที่จะไม่ปล่อยให้ทางที่แค่ดูเหมือนว่าถูกต้องทำให้เราหันเหไปจาก “ทางแคบซึ่งนำไปถึงชีวิต.”—มัดธาย 7:13, 14.
เมื่อ ‘ใจยังเจ็บปวด’
เราจะมีความสุขได้ไหมเมื่อไม่มีความสงบใจ? การหัวเราะและการสนุกสนานบรรเทาความเจ็บปวดที่ฝังรากลึกไหม? เป็นการฉลาดไหมที่จะลองใช้เครื่องดื่มประเภทแอลกอฮอล์เพื่อเอาชนะความรู้สึกซึมเศร้า, หรือใช้ยาเสพติด, หรือพยายามขจัดความรู้สึกนั้นให้หมดไปโดยการใช้ชีวิตแบบที่สำส่อน? คำตอบคือไม่. กษัตริย์ผู้ชาญฉลาดตรัสว่า สุภาษิต 14:13ก.
“แม้ในขณะที่แสดงอาการเบิกบาน ใจก็ยังโศกเศร้า [“เจ็บปวด,” ล.ม.].”—การหัวเราะอาจปกปิดความเจ็บปวดไว้ แต่ก็ไม่สามารถขจัดความรู้สึกนั้นออกไปได้. คัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่า “มีวาระกำหนดไว้สำหรับทุกสิ่ง.” (ท่านผู้ประกาศ 3:1) ที่จริง มี “วารร้องไห้และวารหัวเราะ มีวารไว้ทุกข์และวารเต้นรำ.” (ท่านผู้ประกาศ 3:4, ฉบับแปลใหม่) เมื่อความซึมเศร้ามีอยู่ต่อไป เราต้องลงมือจัดการเพื่อจะเอาชนะความรู้สึกนั้น โดยแสวงหา “การนำที่ฉลาด” ในกรณีที่จำเป็น. (สุภาษิต 24:6, ฉบับแปลใหม่) * การหัวเราะและความสนุกสนานมีประโยชน์อยู่บ้าง แต่ก็ค่อนข้างน้อย. ซะโลโมเตือนให้ระวังความสนุกสนานแบบที่ไม่เหมาะสมและความบันเทิงอย่างเลยเถิดว่า “เมื่อจบการรื่นเริงแล้วก็มีความหนักใจ.”—สุภาษิต 14:13ข.
คนขาดความเชื่อและคนดี—ได้รับผลอย่างไร?
กษัตริย์แห่งชาติอิสราเอลตรัสต่อไปว่า “คนตลบตะแลง [“ขาดความเชื่อ,” ล.ม.] จะได้ผลจากทางของเขาจนเต็มและคนดีก็จะได้ผลดีแห่งการกระทำของเขา.” (สุภาษิต 14:14, ฉบับแปลใหม่) คนขาดความเชื่อและคนดีได้รับผลตอบแทนจากการกระทำของตนอย่างไร?
คนขาดความเชื่อไม่ห่วงเรื่องที่เขาต้องให้การต่อพระเจ้า. ฉะนั้น การทำสิ่งที่ถูกต้องในสายพระเนตรของพระยะโฮวาไม่ใช่เรื่องสำคัญสำหรับคนที่ไม่มีความเชื่อ. (1 เปโตร 4:3-5) คนเช่นนั้นพอใจกับผลจากรูปแบบชีวิตของตนที่ฝักใฝ่ทางวัตถุ. (บทเพลงสรรเสริญ 144:11-15ก) ในอีกด้านหนึ่ง คนดีสนใจในการทำสิ่งที่ถูกต้องในสายพระเนตรของพระเจ้า. ในการกระทำทุกอย่าง เขายึดมั่นกับมาตรฐานอันชอบธรรมของพระเจ้า. คนเช่นนั้นพอใจกับผลที่ได้รับ เพราะพระยะโฮวาเป็นพระเจ้าของเขาและเขาได้รับความยินดีอันหาที่เปรียบไม่ได้จากการรับใช้พระผู้สูงสุด.—บทเพลงสรรเสริญ 144:15ข.
อย่า “เชื่อคำบอกเล่าทุกคำ”
โดยเปรียบเทียบทางของคนที่ขาดประสบการณ์กับทางของคนฉลาดสุขุม ซะโลโมกล่าวว่า “คนโง่ [“ขาดประสบการณ์,” ล.ม.] เชื่อคำบอกเล่าทุกคำ; แต่คนฉลาดย่อมมองดูทางเดินของเขาด้วยความระวัง.” (สุภาษิต 14:15) คนฉลาดไม่ใช่คนที่ถูกหลอกได้ง่าย. แทนที่จะเชื่อทุกสิ่งที่ได้ยินหรือปล่อยให้คนอื่นคิดแทนเขา เขาพิจารณาก้าวเท้าของ ตนอย่างฉลาด. โดยรวบรวมข้อเท็จจริงทั้งหมดที่หาได้ เขาจึงปฏิบัติด้วยความรู้.
ขอยกตัวอย่างคำถามที่ว่า “พระเจ้ามีจริงไหม?” คนที่ขาดประสบการณ์มีแนวโน้มจะคล้อยตามสิ่งที่คนทั่วไปนิยมชมชอบหรือสิ่งที่คนมีชื่อเสียงเชื่อกัน. ในอีกด้านหนึ่ง คนฉลาดใช้เวลาตรวจสอบดูข้อเท็จจริง. เขาไตร่ตรองดูข้อคัมภีร์ เช่น โรม 1:20 และเฮ็บราย 3:4. ในเรื่องเกี่ยวกับศาสนา คนฉลาดไม่เพียงแค่ยอมรับความคิดเห็นของผู้นำศาสนา. เขา ‘ตรวจดูว่าถ้อยคำที่กล่าวโดยการดลใจนั้นมาจากพระเจ้าหรือไม่.’—1 โยฮัน 4:1, ล.ม.
นับว่าฉลาดสักเพียงไรที่จะเอาใจใส่ฟังคำเตือนที่ว่า อย่า “เชื่อคำบอกเล่าทุกคำ”! คนเหล่านั้นที่ได้รับมอบหมายหน้าที่รับผิดชอบในการให้คำแนะนำคนอื่นในประชาคมคริสเตียนต้องเอาใจใส่คำแนะนำนี้เป็นพิเศษ. ผู้ให้คำแนะนำต้องมีภาพรวมของเรื่องที่ได้เกิดขึ้น. เขาต้องฟังอย่างถี่ถ้วนและรวบรวมข้อเท็จจริงจากทุกด้านเพื่อที่คำแนะนำของเขาจะไม่ผิดพลาดหรืออาศัยความคิดเห็นเพียงด้านเดียว.—สุภาษิต 18:13; 29:20.
“ชายที่รู้จักคิดถูกเกลียดชัง”
โดยชี้ถึงความแตกต่างอีกอย่างหนึ่งระหว่างคนฉลาดกับคนโง่ กษัตริย์ชาติอิสราเอลตรัสว่า “คนมีปัญญานั้นกลัวและหลีกออกจากความชั่ว; แต่คนโฉดเขลานั้นถือทิฏฐิจองหองและไว้ใจในตัวเอง. บุคคลผู้โกรธเร็วย่อมประพฤติในสิ่งโฉดเขลา; และคนที่คิดทำการชั่วร้ายย่อมเป็นที่เกลียดชัง [“แต่ชายที่รู้จักคิดถูกเกลียดชัง,” ล.ม.].”—สุภาษิต 14:16, 17.
คนฉลาดกลัวผลที่เกิดจากการดำเนินตามแนวทางที่ผิด. เพราะฉะนั้น เขาระมัดระวังและเห็นคุณค่าของคำแนะนำใด ๆ ที่ช่วยเขาให้หลีกเลี่ยงความชั่วร้าย. คนโง่ไม่มีความกลัวดังกล่าว. เนื่องจากไว้ใจในตนเอง เขาจึงละเลยคำแนะนำของคนอื่นอย่างจองหอง. เพราะมีแนวโน้มที่จะโกรธง่าย คนเช่นนั้นจึงปฏิบัติอย่างโง่เขลา. แต่ทำไมคนที่รู้จักคิดจึงจะกลายเป็นเป้าของความเกลียดชัง?
ถ้อยคำภาษาเดิมที่ได้รับการแปลว่า “รู้จักคิด” มีความหมายสองอย่าง. ตามความหมายในแง่บวก คำนี้อาจหมายถึงการสังเกตเข้าใจหรือความเฉียบแหลม. (สุภาษิต 1:4; 2:11; 3:21) หรือในแง่ลบ วลีนี้อาจหมายถึงความคิดชั่วร้ายหรือการคิดมุ่งร้าย.—บทเพลงสรรเสริญ 37:7; สุภาษิต 12:2; 24:8.
หากถ้อยคำ “ชายที่รู้จักคิด” ในภาษาเดิมหมายถึงคนที่คิดทำการชั่วร้าย ก็ไม่ยากที่จะเข้าใจเหตุผลที่คนเช่นนั้นถูกเกลียดชัง. แต่ถ้าถ้อยคำในภาษาเดิมมีความหมายในแง่ดี ทำไมชายที่รู้จักคิดจึงกลายเป็นคนที่ถูกเกลียดชัง? เอาละ เป็นความจริงมิใช่หรือที่ชายที่รู้จักคิดอาจได้รับความเกลียดชังจากคนที่ไม่มีคุณลักษณะนี้? ตัวอย่างเช่น คนเหล่านั้นซึ่งใช้ความสามารถด้านความคิดของตนและตัดสินใจเลือกที่จะ “ไม่เป็นส่วนของโลก” ได้รับความเกลียดชังจากโลก. (โยฮัน 15:19, ล.ม.) หนุ่มสาวคริสเตียนซึ่งใช้ความสามารถในการคิดของตนและต้านทานแรงกดดันที่ไม่ดีจากคนรุ่นเดียวกันเพื่อจะหลีกเลี่ยงความประพฤติที่ไม่เหมาะสมถูกเยาะเย้ย. ความเป็นจริงคือว่าโลกซึ่งอยู่ในอำนาจของซาตานพญามารเกลียดชังผู้นมัสการแท้.—1 โยฮัน 5:19.
“คนชั่วนั้นน้อมคำนับลง”
คนสุขุมหรือคนฉลาดยังต่างจากคนขาดประสบการณ์ในอีกด้านหนึ่ง. “คนโง่ [“ขาดประสบการณ์,” ล.ม.] ได้รับความโฉดเป็นมรดก; แต่ผู้ฉลาดก็ได้รับความรู้สวมเป็นมงกุฎ.” (สุภาษิต 14:18) เนื่องจากขาดความสังเกตเข้าใจ คนที่ขาดประสบการณ์จึงเลือกสิ่งที่โง่เขลา. สภาพการณ์ในชีวิตของเขาเป็นเช่นนี้. ในอีกด้านหนึ่ง ความรู้เป็นเครื่องประดับของคนฉลาดดุจดังมงกุฎทำให้กษัตริย์มีเกียรติยศ.
กษัตริย์ผู้ชาญฉลาดตรัสว่า “คนชั่วนั้นน้อมคำนับลงต่อหน้าคนดี; และคนอธรรมนั้น, น้อมคำนับลงที่ประตูบ้านของผู้ชอบธรรม.” (สุภาษิต 14:19) กล่าวอีกนัยหนึ่ง คนดีจะมีชัยเหนือคนชั่วในที่สุด. ขอพิจารณาการเพิ่มจำนวนของประชาชนของพระเจ้าและแนวทางชีวิตที่ดีกว่าซึ่งพวกเขาประสบอยู่ในทุกวันนี้. เมื่อเห็นว่าผู้รับใช้ของพระยะโฮวาได้รับพระพรเหล่านี้ ผู้ต่อต้านบางคนจะต้องฝืนใจ “น้อมคำนับ” ผู้หญิงโดยนัยทางภาคสวรรค์ของพระยะโฮวา ซึ่งมีชนที่เหลือผู้ถูกเจิมบนแผ่นดินโลกเป็นตัวแทน. ถึงแม้พวกเขาไม่ยอมรับเรื่องนี้ก่อนสงครามอาร์มาเก็ดดอนก็ตาม บรรดา ผู้ต่อต้านจะถูกบีบบังคับให้ยอมรับว่าส่วนแห่งองค์การของพระเจ้าทางแผ่นดินโลกทำหน้าที่แทนส่วนแห่งองค์การทางภาคสวรรค์อย่างแท้จริง.—ยะซายา 60:1, 14; ฆะลาเตีย 6:16; วิวรณ์ 16:14, 16.
“มีใจเมตตาคนยากจน”
โดยตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับลักษณะนิสัยของมนุษย์ ซะโลโมกล่าวว่า “คนจนเป็นที่เกลียดชังถึงแม้ว่าเป็นเพื่อนบ้านของเขาเอง; แต่คนมั่งคั่งมีมิตรสหายมากหลาย.” (สุภาษิต 14:20) เรื่องนี้เป็นความจริงสักเพียงไรกับมนุษย์ไม่สมบูรณ์! เนื่องจากมีแนวโน้มที่เห็นแก่ตัว พวกเขามักจะชื่นชอบคนรวยมากกว่าคนจน. ขณะที่มิตรสหายของคนรวยมีมากมาย คนเหล่านั้นก็มีอยู่ชั่วคราวเหมือนความมั่งคั่งของเขา. ดังนั้น เราควรหลีกเลี่ยงการหาเพื่อนโดยใช้เงินหรือการยกยอปอปั้นมิใช่หรือ?
จะว่าอย่างไรหากการตรวจสอบตัวเองอย่างซื่อสัตย์เผยให้เห็นว่าเราประจบประแจงคนรวยและดูถูกคนที่มีทรัพย์สินน้อย? เราต้องตระหนักว่าคัมภีร์ไบเบิลได้ตำหนิการแสดงความลำเอียงเช่นนั้น. พระคัมภีร์กล่าวว่า “บุคคลผู้เหยียดเพื่อนบ้านของตนก็ทำบาปแล้ว; แต่บุคคลผู้มีใจเมตตาคนยากจน, เขาก็เกิดมีความสุข.”—สุภาษิต 14:21.
เราควรแสดงความเห็นอกเห็นใจคนเหล่านั้นที่อยู่ในสภาพยากลำบาก. (ยาโกโบ 1:27) เราจะทำเช่นนี้ได้โดยวิธีใด? โดยการให้ “ทรัพย์สมบัติในโลกนี้” ซึ่งอาจรวมถึงเงิน, อาหาร, ที่พักพิง, เครื่องนุ่งห่ม, และความเอาใจใส่เป็นส่วนตัว. (1 โยฮัน 3:17) ผู้ที่แสดงความเมตตาแก่คนเช่นนั้นก็มีความสุข เนื่องจาก “การให้เป็นเหตุให้มีความสุขยิ่งกว่าการรับ.”—กิจการ 20:35.
จะเกิดอะไรขึ้นกับคนฉลาดและคนโง่?
หลักการที่ว่า “คนใดหว่านพืชอย่างใดลง, ก็จะเกี่ยวเก็บผลอย่างนั้น” นำมาใช้กับคนฉลาดและคนโง่ด้วย. (ฆะลาเตีย 6:7) คนฉลาดทำสิ่งที่ดี คนโง่คิดแผนการร้าย. กษัตริย์ผู้ชาญฉลาดตรัสถามว่า “คนเหล่านั้นที่คิดทำการชั่วย่อมเป็นคนหนึ่ง [“ร่อนเร่ไปมา,” ล.ม.] มิใช่หรือ?” คำตอบคือ ใช่แล้ว พวกเขาร่อนเร่ไปมาหรือว่าหลงทางไป. “แต่ความเมตตาและความจริงคงได้แก่คนเหล่านั้นที่คิดทำการดี.” (สุภาษิต 14:22) คนเหล่านั้นที่ทำดีได้รับไมตรีจิตจากคนอื่นอีกทั้งความกรุณารักใคร่จากพระเจ้า.
โดยเชื่อมโยงความสำเร็จเข้ากับการทำงานอย่างขยันและเชื่อมโยงความล้มเหลวเข้ากับการพูดมากแต่ไม่ทำงาน ซะโลโมกล่าวว่า “มีกำไรอยู่ในงานทุกอย่าง การเพียงแต่พูดนั้นโน้มไปทางความขาดแคลน.” (สุภาษิต 14:23, ฉบับแปลใหม่) หลักการนี้นำมาใช้ได้อย่างแน่นอนกับความพยายามของเราในงานรับใช้พระเจ้า. เมื่อเราพยายามอย่างขันแข็งในงานเผยแพร่คริสเตียน เราได้รับบำเหน็จในการนำความจริงจากพระคำของพระเจ้าที่ช่วยชีวิตให้รอดไปให้อีกหลายคน. การที่เราทำงานมอบหมายใด ๆ อย่างซื่อสัตย์ให้พระเจ้าและองค์การของพระองค์ย่อมทำให้เรามีความยินดีและความพอใจ.
สุภาษิต 14:24 กล่าวว่า “มงกุฎของคนมีปัญญาก็คือทรัพย์ของเขา; แต่ความโง่ของคนโฉดก็คือความโง่นั้นเอง.” นี่อาจหมายความว่าสติปัญญาที่คนฉลาดพยายามจะได้มานั้นคือทรัพย์อันมีค่าของเขา และนั่นเป็นเหมือนมงกุฎที่ทำให้เขามีเกียรติหรือเป็นเครื่องประดับตัวเขา. ในอีกด้านหนึ่ง คนโง่ได้รับเพียงแค่ความโง่เท่านั้น. ตามที่หนังสืออ้างอิงเล่มหนึ่งกล่าวไว้ สุภาษิตข้อนี้อาจบ่งบอกด้วยว่า “ทรัพย์สมบัติเป็นเครื่องประดับสำหรับคนที่ใช้ทรัพย์นั้นอย่างฉลาด . . . [ในขณะที่] คนโง่ก็มีแต่ความโง่ของเขาเท่านั้น.” ไม่ว่าเป็นเช่นไรก็ตาม คนฉลาดได้รับผลตอบแทนดีกว่าคนโง่.
กษัตริย์ชาติอิสราเอลตรัสว่า “พยานจริงย่อมช่วยคนไว้; แต่บุคคลผู้กล่าวเท็จเป็นต้นเหตุแห่งการล่อลวง.” (สุภาษิต 14:25) ขณะที่เรื่องนี้เป็นความจริงอย่างแน่นอนในการพิจารณาตัดสินคดี ขอพิจารณาการนำข้อนี้มาใช้กับงานเผยแพร่ของเรา. งานประกาศราชอาณาจักรและทำให้คนเป็นสาวกเกี่ยวข้องกับการให้คำพยานถึงความจริงจากพระคำของพระเจ้า. การให้คำพยานเช่นนั้นช่วยคนที่สุจริตใจให้ออกจากศาสนาเท็จและช่วยชีวิตเขาให้รอด. โดยการเอาใจใส่ตัวเองและการสอนของเราเสมอ เราจะช่วยทั้งตัวเราและคนที่ฟังเราให้รอด. (1 ติโมเธียว 4:16) ขณะที่เราทำเช่นนี้ต่อ ๆ ไป ขอให้เราตื่นตัวในการสำแดงความฉลาดในทุกด้านของชีวิต.
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 3 สำหรับการพิจารณาสุภาษิต 14:1-11 โปรดดูหอสังเกตการณ์ ฉบับวันที่ 15 พฤศจิกายน 2004 หน้า 26-29.
^ วรรค 11 โปรดดูตื่นเถิด! (ภาษาอังกฤษ) ฉบับวันที่ 22 ตุลาคม 1987 หน้า 11-16.
[ภาพหน้า 18]
การขยันศึกษาความจริงที่ลึกซึ้งเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อเราจะแยกออกว่าอะไรถูกอะไรผิด
[ภาพหน้า 18]
รูปแบบชีวิตที่ฝักใฝ่ทางวัตถุทำให้พอใจอย่างแท้จริงไหม?