“แสงสว่างที่ชัดเจน” สำหรับคัมภีร์ไบเบิลจากห้องสมุดเก่าแก่ที่สุดในรัสเซีย
“แสงสว่างที่ชัดเจน” สำหรับคัมภีร์ไบเบิลจากห้องสมุดเก่าแก่ที่สุดในรัสเซีย
ผู้คงแก่เรียนสองคนตามหาสำเนาคัมภีร์ไบเบิลโบราณ. พวกเขาแต่ละคนเดินทางผ่านทะเลทรายและค้นหาตามถ้ำ, อาราม, และที่อยู่อาศัยโบราณบริเวณหน้าผา. หลายปีต่อมา พวกเขาเดินทางไปที่ห้องสมุดเก่าแก่ที่สุดในรัสเซีย ที่นั่นเองมีการค้นพบที่น่าตื่นเต้นที่สุดบางอย่างเท่าที่โลกเคยรู้มาเกี่ยวกับสำเนาคัมภีร์ไบเบิล. ชายสองคนนี้เป็นใคร? การค้นหาสิ่งล้ำค่านี้มาลงเอยที่รัสเซียได้อย่างไร?
ฉบับสำเนาโบราณ—ปกป้องพระคำของพระเจ้า
เพื่อจะรู้จักผู้คงแก่เรียนหนึ่งในสองคนนี้ เราต้องย้อนกลับไปช่วงต้นศตวรรษที่ 19 ซึ่งเป็นยุคที่กระแสแห่งการปฏิวัติของปัญญาชนแพร่หลายไปทั่วยุโรป. นั่นเป็นยุคที่มีความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และศิลปะวิทยาการ เป็นยุคที่ส่งเสริมให้ผู้คนสงสัยความเชื่อที่ยึดถือกันมานาน. นักวิจารณ์พยายามเซาะกร่อนความน่าเชื่อถือของคัมภีร์ไบเบิล. ที่จริง ผู้คงแก่เรียนเองกลับสงสัยความน่าเชื่อถือของข้อความในคัมภีร์ไบเบิลด้วยซ้ำ.
บางคนที่ต้องการปกป้องคัมภีร์ไบเบิลอย่างจริงใจได้ตระหนักว่า การค้นพบเครื่องมือชิ้นใหม่—แม้ยังไม่มีการค้นพบสำเนาคัมภีร์ไบเบิลโบราณ—คงจะสนับสนุนความถูกต้องแห่งพระคำของพระเจ้าอย่างแน่นอน. หากมีการค้นพบสำเนาที่เก่าแก่กว่าที่มีอยู่ สิ่งนั้นก็จะเป็นพยานอันปราศจากสำเนียงที่แสดงว่าข้อความในคัมภีร์ไบเบิลยังคงบริสุทธิ์ แม้มีการพยายามทำลายหรือบิดเบือนข่าวสารเหล่านั้นครั้งแล้วครั้งเล่าเป็นเวลานานก็ตาม. นอกจากนี้ สำเนานั้นคงจะช่วยให้รู้ว่ามีการแทรกบางคำที่แปลไม่ถูกต้องในข้อความใดบ้าง.
มีการโต้แย้งที่รุนแรงที่สุดเกี่ยวกับความน่าเชื่อถือของคัมภีร์ไบเบิลเกิดขึ้นในเยอรมนี. ที่นั่นเอง ศาสตราจารย์หนุ่มคนหนึ่งได้ละชีวิตนักวิชาการที่สะดวกสบาย เพื่อเดินทางไปสู่หนึ่งในการค้นพบที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ด้านคัมภีร์ไบเบิล. ชื่อของเขาคือ คอนสแตนติน ฟอน ทิเชินดอร์ฟ ผู้คงแก่เรียนด้านคัมภีร์ไบเบิลที่ปฏิเสธการวิพากษ์วิจารณ์พระคัมภีร์ ซึ่งทำให้เขาประสบความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่ในการปกป้องความน่าเชื่อถือของคัมภีร์ไบเบิล. การเดินทางเข้าไปในถิ่นทุรกันดารไซนายครั้งแรกในปี 1844 ประสบความสำเร็จอย่างไม่น่าเชื่อ. การตรวจดูตะกร้าใส่ขยะของอารามแห่งหนึ่งอย่างคร่าว ๆ ทำให้เขาค้น
พบสำเนาโบราณของเซปตัวจินต์ หรือพระคัมภีร์ภาคภาษากรีกที่แปลจากภาษาฮีบรู ซึ่งเป็นสำเนาที่เก่าแก่ที่สุดเท่าที่มีการค้นพบ!ด้วยความดีใจ ทิเชินดอร์ฟต้องการนำสำเนาที่ค้นพบจำนวน 43 แผ่นไปด้วย. แม้เขาเชื่อว่ายังมีอีกมาก แต่เมื่อกลับไปอีกครั้งในปี 1853 เขากลับพบเพียงชิ้นส่วนเล็ก ๆ ชิ้นเดียวเท่านั้น. สำเนาที่เหลือหายไปไหน? เงินทุนของทิเชินดอร์ฟร่อยหรอ เขาจึงพยายามขอเงินทุนจากผู้สนับสนุนที่มั่งคั่งรายหนึ่ง และเขาตัดสินใจออกจากบ้านเกิดเมืองนอนอีกครั้งเพื่อค้นหาฉบับสำเนาโบราณ. แต่ก่อนที่เขาจะทำภารกิจนี้ต่อไป เขาทูลเรื่องนี้ต่อพระเจ้าซาร์แห่งรัสเซีย.
พระเจ้าซาร์สนพระทัย
ทิเชินดอร์ฟอาจสงสัยเป็นอย่างยิ่งว่า เขาเองซึ่งเป็นผู้คงแก่เรียนชาวโปรเตสแตนต์จะได้รับการต้อนรับอย่างไรเมื่อเข้าไปในรัสเซีย ดินแดนอันกว้างใหญ่ที่นับถือศาสนารัสเซียออร์โทด็อกซ์. น่ายินดี รัสเซียได้เข้าสู่ยุคแห่งการเปลี่ยนแปลงและปฏิรูปในทางที่ดี. การมุ่งเน้นที่การศึกษาทำให้มีการสร้างห้องสมุดอิมพีเรียลแห่งเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กในปี 1795 ซึ่งได้รับการอุปถัมภ์จากจักรพรรดินีแคเทอรีนที่ 2 (เป็นที่รู้จักกันในนามพระนางแคเทอรีนมหาราชินี). เนื่องจากเป็นห้องสมุดประชาชนแห่งแรกของรัสเซีย จึงมีหนังสือมากมายนับไม่ถ้วนให้ผู้คนนับล้านเข้าไปศึกษาค้นคว้าได้.
แม้จะได้รับการยกย่องว่าเป็นห้องสมุดที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของยุโรป แต่ห้องสมุดอิมพีเรียลก็มีจุดด้อยอย่างหนึ่ง. ห้าสิบปีหลังจากห้องสมุดแห่งนี้ถูกสร้างขึ้น มีสำเนาพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูอยู่ที่นั่นเพียงหกชุดเท่านั้น. สำเนาที่มีอยู่จึงไม่เพียงพอ เนื่องจากมีชาวรัสเซียจำนวนมากขึ้นที่สนใจศึกษาการแปลและภาษาที่ใช้ในคัมภีร์ไบเบิล. จักรพรรดินีแคเทอรีนที่ 2 ได้ส่งผู้คงแก่เรียนไปมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ในยุโรปเพื่อศึกษาภาษาฮีบรู. หลังจากผู้คงแก่เรียนกลับมา ได้มีการจัดสอนวิชาภาษาฮีบรูขึ้นที่วิทยาลัยใหญ่ ๆ ของรัสเซียออร์โทด็อกซ์ และเป็นครั้งแรกที่ผู้คงแก่เรียนชาวรัสเซียได้เริ่มแปลคัมภีร์ไบเบิลจากภาษาฮีบรูโบราณเป็นภาษารัสเซียอย่างถูกต้องแม่นยำ. แต่พวกเขาก็ประสบปัญหาเรื่องการขาดแคลนทุนทรัพย์และถึงกับถูกต่อต้านจากพวกผู้นำคริสตจักรหัวอนุรักษ์. ที่จริง ยุคสว่างทางปัญญายังไม่เริ่มต้นสำหรับคนที่แสวงหาความรู้จากคัมภีร์ไบเบิล.
พระเจ้าซาร์อะเล็กซานเดอร์ที่ 2 เห็นว่า งานของทิเชินดอร์ฟมีความสำคัญอย่างยิ่ง พระองค์จึงเป็นผู้สนับสนุนด้านการเงินแก่เขา. แม้จะมี “การต่อต้านด้วยความริษยาและบ้าคลั่ง” จากบางคน แต่ทิเชินดอร์ฟก็ทำงานมอบหมายจนสำเร็จและกลับมาจากไซนายพร้อมกับสำเนาฉบับเซปตัวจินต์ ส่วนที่เหลือ. * สำเนาดังกล่าวได้รับการขนานนามว่า โคเดกซ์ไซนายติคุส ซึ่งยังคงเป็นหนึ่งในสำเนาคัมภีร์ไบเบิลที่เก่าแก่ที่สุดเท่าที่มีอยู่. ย้อนกลับไปที่เซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ทิเชินดอร์ฟรีบเดินทางไปยังพระราชวังอิมพีเรียล วินเทอร์ของพระเจ้าซาร์. เขาเสนอให้พระเจ้าซาร์สนับสนุน “การตรวจแก้ไขและค้นคว้าคัมภีร์ไบเบิลซึ่งถือว่าเป็นงานใหญ่ที่สุดงานหนึ่ง” นั่นคือ การพิมพ์สำเนาของพระคัมภีร์ที่พบใหม่นี้ ซึ่งถูกเก็บไว้ในห้องสมุดแห่งนี้ในเวลาต่อมา. พระเจ้าซาร์เห็นด้วยทันที และทิเชินดอร์ฟผู้มีความสุขอย่างมากได้เขียนในเวลาต่อมาว่า “พระเจ้าประทานคัมภีร์ไบเบิลฉบับไซนายติกแก่ผู้คนในยุคของเรา . . . เพื่อจะเป็นแสงสว่างที่ส่องจ้าและชัดเจน ซึ่งจะช่วยให้รู้ว่าอะไรคือข้อความที่แท้จริงแห่งพระคำของพระเจ้าที่ได้รับการบันทึก และเพื่อช่วยเราปกป้องความจริงโดยให้มีสำเนาที่ไว้ใจได้.”
คัมภีร์ไบเบิลอันล้ำค่าจากแหลมไครเมีย
มีผู้คงแก่เรียนอีกคนหนึ่งซึ่งกล่าวถึงในตอนต้นที่ค้นหาสำเนาคัมภีร์ไบเบิลอันล้ำค่า. เขาเป็นใคร? ไม่กี่ปีก่อนที่ทิเชินดอร์ฟจะกลับไปรัสเซีย มีการเสนอบางอย่างที่เหลือเชื่อให้แก่ห้องสมุดอิมพีเรียลซึ่งทำให้พระเจ้าซาร์สนพระทัยอย่างมาก และทำให้บรรดาผู้คงแก่เรียนทั่วทั้งยุโรปเดินทางมาที่รัสเซีย. พวกเขาได้เห็นสิ่งที่น่าทึ่งอย่างยิ่ง. สิ่งที่อยู่ตรงหน้าพวกเขาคือสำเนาคัมภีร์ไบเบิลกองโตและสิ่งอื่น ๆ. ในจำนวนนี้มีข้อความที่ยังไม่รู้ที่มา 2,412 ชิ้น รวมถึงสำเนาพระคัมภีร์และม้วนหนังสือ 975 ชิ้น. ในจำนวนเหล่านี้มีสำเนาของพระคัมภีร์ถึง 45 ชิ้นที่เขียนขึ้นในช่วงก่อนศตวรรษที่สิบ. แม้ดูเหมือนเหลือเชื่อ สำเนาเหล่านี้แทบทั้งหมดล้วนถูกเก็บรวบรวมโดยชายคนหนึ่งที่มีชื่อว่า อัฟราอัม เฟอร์โควิช ซึ่งเป็นผู้คงแก่เรียนชาวคาราอิเตที่มีอายุมากกว่า 70 ปีในตอนนั้น! แต่พวกคาราอิเตเป็นใคร? *
นี่เป็นคำถามที่น่าสนใจยิ่งสำหรับพระเจ้าซาร์. ในเวลานั้น รัสเซียได้แผ่ขยายอาณาเขตของตนโดยยึดครองดินแดนที่ประเทศอื่นเคยปกครองอยู่ก่อนหน้านี้. การแผ่ขยายนี้ทำให้กลุ่มชาติพันธุ์ใหม่ ๆ เข้ามาอยู่ภายใต้การครอบครองของจักรวรรดิ. ภูมิภาคไครเมียอันสวยงามตั้งอยู่บริเวณชายฝั่งทะเลดำ ผู้คนที่อาศัยในแถบนี้ดูเหมือนเป็นชาวยิวแต่มีธรรมเนียมแบบชาวตุรกีและพูดภาษาที่คล้ายกับภาษาทาทาร์. พวกคาราอิเตสืบเชื้อสายมาจากชาวยิวที่ถูกเนรเทศไปยังบาบิโลนหลังจากที่กรุงเยรูซาเลมถูกทำลายในปี 607 ก่อนสากลศักราช อย่างไรก็ตาม พวกคาราอิเตไม่เหมือนรับบีชาวยิว พวกเขาปฏิเสธคัมภีร์ทัลมุด และเน้นที่การอ่านพระคัมภีร์. พวกคาราอิเตที่อาศัยในแถบไครเมียปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะแสดงหลักฐานให้พระเจ้าซาร์เห็นว่าพวกเขาไม่เหมือนกับรับบีชาวยิว เพื่อที่จะทำให้พวกเขาได้รับสถานภาพที่ต่างกัน. โดยการเสนอสำเนาพระคัมภีร์โบราณที่พวกคาราอิเตเป็นเจ้าของ พวกเขาหวังจะพิสูจน์ว่าพวกตนสืบเชื้อสายมาจากชาวยิวที่อพยพไปยังไครเมียหลังจากถูกเนรเทศไปยังบาบิโลน.
เมื่อตอนที่เฟอร์โควิชรับอาสาค้นหาบันทึกและสำเนาพระคัมภีร์โบราณ เขาเริ่มงานค้นหาที่บริเวณผาไครเมียซึ่งเป็นที่พักอาศัยของพวกชูฟุต-คาเล. ชาวคาราอิเตหลายชั่วอายุอาศัยในบ้านเล็ก ๆ ที่เจาะเข้าไปในผาหินซึ่งใช้เป็นที่นมัสการด้วย. ชาวคาราอิเตไม่เคยทำลายสำเนาพระคัมภีร์ที่ชำรุดซึ่งมีพระนามของพระเจ้า ยะโฮวา เนื่องจากพวกเขาถือว่าการทำเช่นนั้นเป็นการดูหมิ่นอย่างร้ายแรง. สำเนาพระคัมภีร์จึงถูกเก็บไว้อย่างดีในห้องเล็ก ๆ ที่เรียกว่าเกนิซาห์ ซึ่งในภาษาฮีบรูมีความหมายว่า “ที่ซ่อน.” เนื่องจากพวกคาราอิเตมีความนับถืออย่างสุดซึ้งต่อพระนามของพระเจ้า ชิ้นส่วนเล็ก ๆ ของสำเนาจึงไม่ถูกทำลาย.
แม้จะมีฝุ่นจับหนาเตอะ แต่เฟอร์โควิชก็ค้นหาในเกนิซาห์อย่างระมัดระวัง. ในเกนิซาห์แห่งหนึ่ง เขาพบสำเนาพระคัมภีร์ที่มีชื่อเสียงซึ่งเขียนในปี ส.ศ. 916 สำเนานี้ได้รับการขนานนามว่า โคเดกซ์ปีเตอร์สเบิร์กของพวกผู้พยากรณ์น้อย เป็นหนึ่งในสำเนาพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูที่เก่าแก่ที่สุดเท่าที่มีอยู่.
เฟอร์โควิชได้เก็บรวบรวมสำเนาพระคัมภีร์ได้จำนวนมากทีเดียว และในปี 1859 เขาตัดสินใจเสนอสำเนามากมายที่เขาเก็บรวบรวมไว้แก่ห้องสมุดอิมพีเรียล. ในปี 1862 พระเจ้าซาร์อะเล็กซานเดอร์ที่ 2 ช่วยซื้อสำเนาเหล่านี้ด้วยเงินก้อนใหญ่ถึง 125,000 รูเบิลเพื่อเก็บไว้ในห้องสมุด. ในเวลานั้น ห้องสมุดมีงบประมาณไม่เกิน 10,000 รูเบิลต่อปี! A) ที่มีชื่อเสียง. โคเดกซ์นี้เขียนในปี 1008 และเป็นสำเนาพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูฉบับสมบูรณ์ที่เก่าแก่ที่สุด. ผู้คงแก่เรียนคนหนึ่งกล่าวว่า โคเดกซ์นี้ “อาจเป็นสำเนาคัมภีร์ไบเบิลที่สำคัญที่สุดชิ้นเดียว เนื่องจากเป็นคัมภีร์ไบเบิลภาคภาษาฮีบรูฉบับที่เป็นพื้นฐานสำหรับพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูส่วนใหญ่ที่ได้รับการตรวจสอบแก้ไขในปัจจุบัน.” (ดูในกรอบ.) ในปีเดียวกันนั้นเอง คือปี 1862 โคเดกซ์ไซนายติคุสของทิเชินดอร์ฟก็ถูกตีพิมพ์ และได้รับการยกย่องไปทั่วโลก.
สำเนาที่ห้องสมุดได้มานี้รวมถึงโคเดกซ์เลนินกราด (B 19ยุคสว่างแห่งพระคำของพระเจ้าในปัจจุบัน
ห้องสมุดดังกล่าวซึ่งทุกวันนี้เป็นที่รู้จักกันในนามห้องสมุดแห่งชาติรัสเซีย เป็นหนึ่งในห้องสมุดที่เก็บรวบรวมสำเนาต้นฉบับโบราณไว้มากที่สุด. * สืบเนื่องจากประวัติศาสตร์ของรัสเซีย ห้องสมุดนี้จึงมีการเปลี่ยนชื่อไปแล้วเจ็ดครั้งตลอดช่วงสองศตวรรษที่ผ่านมา. ชื่อหนึ่งที่รู้จักกันดีก็คือ ห้องสมุดประชาชนแห่งรัฐซัลตีคอฟ เชดริน. แม้ช่วงศตวรรษที่ 20 จะเกิดความวุ่นวายขึ้นในรัสเซีย และห้องสมุดได้รับความเสียหายอยู่บ้าง แต่สำเนาพระคัมภีร์ไม่ได้รับความเสียหายจากสงครามโลกทั้งสองครั้ง รวมทั้งการยึดอำนาจของเลนินกราดด้วย. เราได้รับประโยชน์อย่างไรจากสำเนาเหล่านี้?
สำเนาพระคัมภีร์โบราณเป็นแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้สำหรับการแปลคัมภีร์ไบเบิลสมัยปัจจุบันหลายฉบับ. สำเนาเหล่านั้นช่วยให้ผู้ที่ตั้งใจแสวงหาความจริงมีพระคัมภีร์บริสุทธิ์ที่มีความถูกต้องยิ่งขึ้น. ทั้งโคเดกซ์ไซนายติคุสและเลนินกราดเป็นเครื่องมืออันล้ำค่าที่อยู่เบื้องหลังพระคัมภีร์ไบเบิลบริสุทธิ์ฉบับแปลโลกใหม่ ซึ่งจัดพิมพ์โดยพยานพระยะโฮวา โดยแปลเสร็จสมบูรณ์ทั้งเล่มในปี 1961. ตัวอย่างเช่น บิบลิอา เฮบราอีกา สตุทท์การ์เทนเซีย และ บิบลิอา เฮบราอีกา ของคิตเทลที่คณะกรรมการการแปลฉบับแปลโลกใหม่ใช้นั้น อาศัยโคเดกซ์เลนินกราดเป็นพื้นฐานในการแปล และใช้เททรากรัมมาทอนหรือพระนามของพระเจ้าถึง 6,828 ครั้งในข้อความต้นฉบับ.
คงมีผู้อ่านคัมภีร์ไบเบิลเพียงไม่กี่คนที่ตระหนักว่า ตนเป็นหนี้ห้องสมุดอันเงียบสงบแห่งเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กและสำเนาพระคัมภีร์ที่เก็บรักษาอยู่ที่นั่น โดยสำเนาบางฉบับถูกตั้งชื่อตามชื่อเมืองเดิม คือเลนินกราด. อย่างไรก็ตาม เราเป็นหนี้พระยะโฮวาอย่างมหาศาล ผู้ซึ่งประพันธ์คัมภีร์ไบเบิล และผู้ประทานความเข้าใจในพระคำของพระองค์. ด้วยเหตุนี้ ผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญจึงทูลวิงวอนว่า “ขอทรงโปรดใช้ความสว่างและความจริงของพระองค์ออกไปให้นำข้าพระองค์.”—บทเพลงสรรเสริญ 43:3, ฉบับแปลใหม่.
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 11 นอกจากนี้ เขายังนำสำเนาพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีกฉบับสมบูรณ์มาด้วย สำเนานี้เขียนขึ้นในศตวรรษที่สี่สากลศักราช.
^ วรรค 13 สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับพวกคาราอิเต ดูบทความเรื่อง “พวกคาราอิเตกับการแสวงความจริง” จากหอสังเกตการณ์ ฉบับ 15 กรกฎาคม 1995.
^ วรรค 19 โคเดกซ์ไซนายติคุสส่วนใหญ่ถูกขายให้แก่พิพิธภัณฑสถานแห่งบริเตน. มีเพียงชิ้นส่วนเล็ก ๆ เท่านั้นที่ยังคงเหลืออยู่ในห้องสมุดแห่งชาติของรัสเซีย.
[กรอบหน้า 13]
การรู้จักและใช้พระนามของพระเจ้า
ด้วยพระสติปัญญา พระยะโฮวาทรงปกป้องคัมภีร์ไบเบิล พระคำของพระองค์ไว้จนถึงสมัยของเรา. งานที่ผู้คัดลอกพระคัมภีร์ทำอย่างขยันขันแข็งตลอดหลายยุคหลายสมัยเกี่ยวข้องกับการเก็บรักษาพระคำของพระองค์. กลุ่มคนที่ทำงานอย่างพิถีพิถันที่สุดคือพวกมาโซเรต ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการคัดลอกพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูที่มีชีวิตอยู่ตั้งแต่ศตวรรษที่หกถึงสิบสากลศักราช. ภาษาฮีบรูโบราณไม่มีสระ. เมื่อเวลาผ่านไป การออกเสียงอย่างถูกต้องก็ยิ่งเลือนหายไปเรื่อย ๆ เนื่องจากผู้คนใช้ภาษาอาระเมอิกแทนภาษาฮีบรู. พวกมาโซเรตจึงคิดระบบเครื่องหมายการออกเสียงสำหรับใส่ในข้อความของคัมภีร์ไบเบิล เพื่อจะช่วยให้ออกเสียงคำภาษาฮีบรูได้อย่างถูกต้อง.
ที่สำคัญก็คือ เครื่องหมายการออกเสียงที่พวกมาโซเรตคิดขึ้น ซึ่งมีอยู่ในโคเดกซ์เลนินกราด ช่วยให้ทราบวิธีการออกเสียงเททรากรัมมาทอน อักษรฮีบรูสี่ตัวที่ประกอบกันเป็นพระนามของพระเจ้า ดังที่อ่านได้ว่า เยห์วาห์, เยห์วีห์, และเยโฮวาห์. ปัจจุบัน การออกเสียง “ยะโฮวา” เป็นที่รู้จักกันกว้างขวางที่สุด. พระนามของพระเจ้าเป็นคำที่ยังใช้กันอยู่และเป็นคำที่ผู้เขียนคัมภีร์ไบเบิลและคนอื่น ๆ ในสมัยโบราณคุ้นเคยเป็นอย่างดี. ทุกวันนี้ ผู้คนนับล้านรู้จักและใช้พระนามของพระเจ้าโดยยอมรับว่า “พระยะโฮวาเป็นพระเจ้าใหญ่ยิ่งทรงครอบครองทั่วแผ่นดินโลก.”—บทเพลงสรรเสริญ 83:18.
[ภาพหน้า 10]
ห้องเก็บสำเนาพระคัมภีร์ของห้องสมุดแห่งชาติ
[ภาพหน้า 11]
จักรพรรดินีแคเทอรีนที่ 2
[ภาพหน้า 11]
คอนสแตนติน ฟอน ทิเชินดอร์ฟ (กลาง) และพระเจ้าซาร์อะเล็กซานเดอร์ที่ 2 แห่งรัสเซีย
[ภาพหน้า 12]
อัฟราอัม เฟอร์โควิช
[ที่มาของภาพหน้า 10]
Both images: National Library of Russia, St. Petersburg
[ที่มาของภาพหน้า 11]
Catherine II: National Library of Russia, St. Petersburg; Alexander II: From the book Spamers Illustrierte Weltgeschichte, Leipzig, 1898