คุณต่อสู้กับความรู้สึกของตัวเองไหม?
คุณต่อสู้กับความรู้สึกของตัวเองไหม?
ตลอดหลายปีที่ผ่านมา เลนาต่อสู้กับความรู้สึกในแง่ลบต่อตัวเอง. เธอกล่าวว่า “ตอนเป็นเด็ก ดิฉันถูกทำร้ายทางเพศนานหลายปีจนแทบจะหมดความนับถือตัวเอง. ดิฉันรู้สึกว่าตัวเองไม่มีค่าอะไรเลย.” ซีโมนก็เช่นกัน เมื่อมองย้อนไปถึงวัยเด็ก เธอกล่าวว่า “ลึก ๆ ภายในใจของดิฉันมีแต่ความว่างเปล่าและรู้สึกว่าตัวเองไร้ค่า.” การไร้ความสุขอย่างสิ้นเชิงเป็นผลจากความรู้สึกในแง่ลบซึ่งดูเหมือนกำลังแพร่หลายในขณะนี้. หน่วยงานหนึ่งที่บริการให้คำแนะนำทางโทรศัพท์แก่เด็กวัยรุ่นกล่าวว่า คนที่โทรศัพท์เข้ามาเกือบครึ่งหนึ่งกล่าวว่า “รู้สึกอยู่ตลอดเวลาว่าตนเองไม่มีค่า.”
ตามที่ผู้เชี่ยวชาญบางคนกล่าว ความรู้สึกว่าตนไม่ดีพอเกิดขึ้นเมื่อคนอื่นทำให้เขารู้สึกไร้ค่า. ความรู้สึกเช่นนั้นอาจเกิดขึ้นเมื่อคนเราถูกดุด่า, ถูกวิจารณ์อย่างรุนแรง, หรือถูก
แสวงประโยชน์อย่างไม่เป็นธรรมอยู่เรื่อย ๆ. ไม่ว่าจะเพราะอะไรก็ตาม นั่นอาจทำให้คนเราหมดแรงและถึงกับก่อผลเสียด้วยซ้ำ. การวิจัยทางการแพทย์เมื่อเร็ว ๆ นี้พบว่า คนที่มองตัวเองในแง่ลบมีแนวโน้มจะไม่ไว้ใจตัวเองและคนอื่น ผลก็คือ ความสัมพันธ์ที่สนิทสนมและมิตรภาพจึงถูกบ่อนทำลายโดยไม่ตั้งใจ. รายงานของงานวิจัยดังกล่าวเผยว่า “ในแง่หนึ่ง พวกเขานั่นแหละที่เป็นผู้ ‘สร้าง’ สถานการณ์ที่ตนกลัวที่สุดขึ้นมา.”คนที่รู้สึกเช่นนั้นบ่อยครั้งจะประสบสิ่งที่คัมภีร์ไบเบิลเรียกว่า “ความสาละวนในใจ.” (บทเพลงสรรเสริญ 94:19) พวกเขารู้สึกว่าตนเองไม่เคยดีพอ. เมื่อเกิดความผิดพลาดขึ้นก็จะโทษตัวเองทันที. แม้คนอื่นอาจยกย่องความสำเร็จของเขา แต่ลึก ๆ แล้วเขารู้สึกเป็นเหมือนคนหลอกลวงที่จะถูกเปิดโปงไม่ช้าก็เร็ว. เนื่องจากเชื่อว่าตนเองไม่คู่ควรกับความสุข หลายคนจึงมีพฤติกรรมที่ก่อผลเสียต่อตัวเอง ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่พวกเขารู้สึกว่าไม่สามารถแก้ไขได้. เลนาที่กล่าวถึงในตอนต้นมีความผิดปกติในการกินอย่างร้ายแรงเนื่องจากสูญเสียความนับถือตัวเอง และยอมรับว่า “ดิฉันรู้สึกว่าไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้เลย.”
คนที่พยายามต่อสู้กับ “ความสาละวนในใจ” จะต้องรู้สึกเช่นนั้นไปตลอดชีวิตไหม? จะทำอะไรได้บ้างเพื่อต่อสู้กับความรู้สึกเช่นนั้น? คัมภีร์ไบเบิลมีหลักการและคำแนะนำที่ใช้ได้จริงซึ่งช่วยให้หลายคนรับมือได้อย่างประสบผลสำเร็จมาแล้ว. หลักการเหล่านั้นมีอะไรบ้าง และหลักการที่ว่านั้นได้ช่วยคนที่ท้อแท้ให้พบความสุขในชีวิตอย่างไร? บทความถัดไปจะอธิบาย.