เมื่อไรจึงมีเหตุผลสมควรที่จะขุ่นเคือง?
เมื่อไรจึงมีเหตุผลสมควรที่จะขุ่นเคือง?
คัมภีร์ไบเบิลกล่าวไว้ที่ท่านผู้ประกาศ 7:9 ว่า “ความโกรธ [“ความขุ่นเคือง,” ล.ม.] มีประจำอยู่ในทรวงอกของคนโฉดเขลา.” ข้อนี้แสดงว่าเราไม่ควรมีความรู้สึกไวเกินไปเมื่อบางคนทำให้เราขุ่นเคือง ในทางตรงกันข้าม เราควรให้อภัยเขา.
อย่างไรก็ตาม ท่านผู้ประกาศ 7:9 บอกว่า เราไม่ควรรู้สึกขุ่นเคืองต่อสิ่งใดหรือต่อใคร ๆ แต่ต้องให้อภัยการกระทำทุกอย่างที่ทำให้ขุ่นเคืองถึงแม้การกระทำดังกล่าวเป็นเรื่องร้ายแรงและเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีกและไม่ควรทำอะไรเพื่อแก้ไขสถานการณ์ไหม? เราไม่ต้องสนใจไหมว่าคำพูดหรือการกระทำของเราจะทำให้ คนอื่นขุ่นเคือง ในเมื่อเรารู้ว่าคนที่ทำผิดควรได้รับการให้อภัยอยู่แล้ว? ไม่ใช่อย่างนั้นแน่.
พระยะโฮวาพระเจ้าเป็นแบบอย่างอันยอดเยี่ยมในเรื่องความรัก, ความเมตตา, การให้อภัย, และความอดกลั้นทนนาน. กระนั้น มีหลายครั้งที่คัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่าพระองค์ทรงพิโรธ. เมื่อมีการทำผิดร้ายแรง พระองค์ทรงจัดการกับผู้ทำผิด. ขอพิจารณาบางตัวอย่าง.
การทำให้พระยะโฮวาขุ่นเคืองพระทัย
เรื่องราวที่พระธรรม 1 กษัตริย์ 15:30 กล่าวถึงบาปของยาราบะอามที่ “นำให้พวกยิศราเอลผิดด้วย, เพราะทำให้เคืองพระทัยพระยะโฮวา.” ที่ 2 โครนิกา 28:25 คัมภีร์ไบเบิลกล่าวเกี่ยวกับกษัตริย์อาฮาศแห่งยูดาห์ว่า “ท่านได้ทำที่สูงสำหรับนมัสการเผาเครื่องหอมถวายแก่พระเทียมเท็จ, ได้ทำให้พระยะโฮวาพระเจ้าแห่งปู่ย่าตายายของท่านทรงพระพิโรธ.” อีกตัวอย่างหนึ่งพบได้ในวินิจฉัย 2:11-14 ที่กล่าวว่า “พวกยิศราเอลกระทำผิดในคลองพระเนตรพระยะโฮวา, คือปฏิบัติพระบะอาลิม . . . กระทำให้พระยะโฮวาทรงพระพิโรธ. . . . พระพิโรธแห่งพระยะโฮวาก็กำเริบขึ้นต่อพวกยิศราเอล, พระองค์จึงทรงมอบเขาไว้ในมือพวกปล้น.”
มีสิ่งอื่นที่ทำให้พระยะโฮวาพิโรธและส่งผลให้พระองค์ทรงลงมือกระทำอย่างเด็ดขาด. ตัวอย่างเช่น ที่เอ็กโซโด 22:18-20 เราอ่านว่า “หญิงแม่มดเจ้าอย่าให้รอดชีวิตอยู่เลย. ผู้ใดได้ส้องเสพประเวณีกับสัตว์, ผู้นั้นจะต้องถูกลงโทษถึงตายเป็นแน่. ผู้ใดบูชายัญแก่พระต่าง ๆ, เว้นแต่พระยะโฮวาองค์เดียว, ผู้นั้นต้องถูกปรับโทษถึงตายทีเดียว.”
พระยะโฮวาไม่ทรงให้อภัยเรื่อยไปต่อการทำผิดร้ายแรงของชนอิสราเอลโบราณ ในเมื่อพวกเขาทำให้พระองค์พิโรธครั้งแล้วครั้งเล่าและไม่แสดงการกลับใจอย่างแท้จริง. ตราบใดที่พวกเขาไม่กลับใจจริง ๆ และไม่มีการกระทำที่บ่งชี้ว่าหันกลับมาเชื่อฟังพระยะโฮวา พระองค์ก็จะปล่อยให้พวกเขาประสบความหายนะในที่สุด. สิ่งนี้เกิดขึ้นกับชนทั้งชาติ เมื่อพวกเขาตกอยู่ในเงื้อมมือของพวกบาบิโลนในปี 607 ก่อนสากลศักราช และพวกโรมันในปีสากลศักราช 70.
ใช่แล้ว พระยะโฮวาพิโรธต่อสิ่งชั่วที่ผู้คนพูดและทำ และพระองค์ถึงกับประหารผู้ทำผิดที่ไม่กลับใจจากบาปร้ายแรงของเขา. แต่เมื่อคำนึงถึงคำแนะนำในท่านผู้ประกาศ 7:9 เป็นการผิดไหมที่พระองค์พิโรธ? ไม่อย่างแน่นอน. พระองค์มีเหตุผลสมควรที่จะพิโรธต่อบาปร้ายแรงและทรงพิพากษาอย่างยุติธรรมเสมอ. คัมภีร์ไบเบิลกล่าวถึงพระยะโฮวาว่า “กิจการของพระองค์ดีรอบคอบ; เพราะทางทั้งปวงของพระองค์ยุติธรรม: พระองค์เป็นพระเจ้าแห่งความจริงปราศจากความอสัตย์, เป็นผู้ชอบธรรมและซื่อสัตย์.”—พระบัญญัติ 32:4.
การทำผิดร้ายแรงต่อคนอื่น
กฎหมายที่พระเจ้าประทานแก่อิสราเอลโบราณบอกถึงโทษที่ได้รับหากทำผิดร้ายแรงต่อผู้อื่น. ตัวอย่างเช่น หากขโมยคนหนึ่งเข้ามาในบ้านตอนกลางคืนและถูกเจ้าของบ้านฆ่าตาย เจ้าของบ้านไม่มีความผิดฐานทำให้โลหิตตก. เพราะเจ้าของบ้านคือผู้บริสุทธิ์ที่ตกเป็นเหยื่อของอาชญากรรมร้ายแรง. ฉะนั้น เราจึงอ่านพบว่า “ถ้าผู้ใดเห็นขโมยกำลังขุดช่องเข้าไปแล้วตีขโมยนั้นตาย [เจ้าของบ้าน] ไม่มีโทษถึงตายเพราะการตีคนนั้น.”—เอ็กโซโด 22:2, ฉบับแปลใหม่.
หญิงที่ถูกข่มขืนมีสิทธิ์ที่จะขุ่นเคืองใจอย่างมาก เนื่องจากนี่เป็นอาชญากรรมร้ายแรงในสายพระเนตรของพระเจ้า. ภายใต้พระบัญญัติของโมเซ ผู้ชายที่ข่มขืนผู้หญิงต้องได้รับโทษถึงตาย “เหมือนกับคดีเรื่องชายคนหนึ่งเข้าต่อสู้และฆ่าเพื่อนบ้านของตน.” (พระบัญญัติ 22:25, 26, ฉบับแปลใหม่) แม้เราไม่อยู่ใต้พระบัญญัติอีกต่อไป แต่พระบัญญัติก็ทำให้เราเห็นว่าพระยะโฮวาทรงรู้สึกอย่างไรต่อการข่มขืนซึ่งเป็นความผิดร้ายแรง.
ในปัจจุบัน การข่มขืนเป็นอาชญากรรมร้ายแรงที่มีบทลงโทษอย่างหนัก. ผู้ตกเป็นเหยื่อมีสิทธิ์แจ้งตำรวจ. โดยวิธีนี้ เจ้าหน้าที่ก็จะลงโทษคนที่ทำผิด. และถ้าเด็กตกเป็นเหยื่อ บิดามารดาอาจเป็นฝ่ายแจ้งตำรวจ.
การทำผิดเล็ก ๆ น้อย ๆ
อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ความผิดทุกอย่างที่จำเป็นต้องให้เจ้าหน้าที่จัดการ. ด้วยเหตุนี้ เราไม่ควรขุ่นเคืองมากเกินควรมัดธาย 18:21, 22.
เมื่อคนอื่น ๆ ทำผิดเล็ก ๆ น้อย ๆ ต่อเรา แต่เราควรให้อภัย. เราควรให้อภัยบ่อยเพียงไร? อัครสาวกเปโตรถามพระเยซูว่า “พระองค์เจ้าข้า, พี่น้องของข้าพเจ้าจะทำผิดต่อข้าพเจ้าได้กี่ครั้งซึ่งข้าพเจ้าควรจะยกความผิดของเขา. ถึงเจ็ดครั้งหรือ.” พระเยซูตรัสตอบเขาว่า “เรามิได้ว่าแก่ท่านถึงเจ็ดครั้งเท่านั้น, แต่ถึงเจ็ดสิบครั้งคูณด้วยเจ็ด [“เจ็ดสิบเจ็ดครั้ง,” ล.ม.].”—ในอีกด้านหนึ่ง เราจำเป็นต้องพัฒนาบุคลิกภาพแบบคริสเตียนต่อ ๆ ไปเพื่อพยายามจะไม่ทำให้คนอื่นขุ่นเคือง. ตัวอย่างเช่น เมื่อคุณปฏิบัติต่อคนอื่น บางครั้งคุณพูดจาแบบโผงผาง, ไม่ผ่อนหนักผ่อนเบา, และดูถูกไหม? การพูดแบบนั้นคงจะทำให้คนอื่นขุ่นเคืองแน่ ๆ. แทนที่จะตำหนิคนที่ขุ่นเคืองและรู้สึกว่าเขาน่าจะให้อภัย คนที่ทำผิดต้องตระหนักว่า เขานั่นแหละที่เป็นต้นเหตุทำให้คนอื่นขุ่นเคือง. คนที่ทำผิดต้องพยายามควบคุมการกระทำและคำพูดของตนเพื่อเป็นฝ่ายที่จะไม่ทำให้ผู้อื่นขุ่นเคืองเสียตั้งแต่แรก. หากเราพยายามทำเช่นนั้น โอกาสที่เราจะเป็นฝ่ายทำให้คนอื่นรู้สึกโกรธก็จะน้อยลง. คัมภีร์ไบเบิลเตือนเราว่า “คำพูดพล่อย ๆ ของคนบางจำพวกเหมือนการแทงของกระบี่; แต่ลิ้นของคนมีปัญญาย่อมรักษาแผลให้หาย.” (สุภาษิต 12:18) เมื่อเราทำให้คนอื่นขุ่นเคือง แม้ว่าไม่ตั้งใจ วิธีที่ดีที่สุดที่จะทำได้คือเราควรเป็นฝ่ายขอโทษเพื่อทำให้สถานการณ์ดีขึ้น.
พระคำของพระเจ้าบอกว่าเราควร “ประพฤติตามสิ่งเหล่านั้นซึ่งทำให้เกิดความสงบสุขแก่กันและกัน และสิ่งเหล่านั้นซึ่งทำให้เกิดมีความเจริญแก่กันและกัน.” (โรม 14:19) เมื่อเราพูดแบบผ่อนหนักผ่อนเบาและกรุณา เราก็กำลังทำตามคำแนะนำในพระธรรมสุภาษิตที่บอกว่า “คำพูดที่เหมาะกับกาลเทศะเปรียบเหมือนผลแอปเปิลทำด้วยทองคำใส่ไว้ในกระเช้าเงิน.” (สุภาษิต 25:11) คำพูดเช่นนั้นช่างสร้างความประทับใจที่น่าพอใจยินดีเสียจริง ๆ! การใช้คำพูดที่อ่อนโยนและผ่อนหนักผ่อนเบาอาจเปลี่ยนทัศนะที่แข็งกร้าวของคนอื่นได้ ดังที่กล่าวไว้ว่า “ลิ้นที่อ่อนหวานอาจกระทำให้กะดูกแตกได้.”—สุภาษิต 25:15.
ฉะนั้น พระคำของพระเจ้าให้คำแนะนำแก่เราว่า “จงให้วาจาของท่านประกอบด้วยเมตตาคุณเสมอ, ปรุงด้วยเกลือให้มีรส, เพื่อท่านทั้งหลายจะได้รู้จักตอบให้จุใจแก่ทุกคนอย่างไร.” (โกโลซาย 4:6) การ “ปรุงด้วยเกลือ” หมายถึง การทำให้คำพูดของเราน่าฟัง ซึ่งเป็นการลดโอกาสที่จะทำให้คนอื่นขุ่นเคือง. ทั้งโดยคำพูดและการกระทำ คริสเตียนพยายามนำคำแนะนำของคัมภีร์ไบเบิลไปใช้ที่ว่า “[จง] แสวงหาสันติสุขและติดตามสันติสุขนั้น.”—1 เปโตร 3:11.
ดังนั้น ท่านผู้ประกาศ 7:9 จึงหมายความอย่างชัดเจนว่า เราไม่ควรขุ่นเคืองผู้ที่ทำบาปต่อเราด้วยเรื่องที่ค่อนข้างเล็กน้อย. ความผิดเล็ก ๆ น้อย ๆ เหล่านั้นอาจเป็นผลมาจากความไม่สมบูรณ์ของมนุษย์ หรือแม้ว่าเขาอาจจงใจทำ แต่นั่นก็ไม่ใช่บาปร้ายแรง. แต่เมื่อความผิดนั้นเป็นบาปร้ายแรง ก็เป็นเรื่องที่เข้าใจได้หากผู้เสียหายจะโกรธและอาจเลือกที่จะริเริ่มทำอะไรบางอย่างที่เหมาะสม.—มัดธาย 18:15-17.
[ภาพหน้า 14]
พระยะโฮวาทรงปล่อยให้ชาวอิสราเอลที่ไม่กลับใจถูกพวกโรมันทำลายในปีสากลศักราช 70
[ภาพหน้า 15]
“คำพูดที่เหมาะกับกาลเทศะเปรียบเหมือนผลแอปเปิลทำด้วยทองคำ”