ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

บัญญัติแห่งความรักซึ่งจารึกไว้ในหัวใจ

บัญญัติแห่งความรักซึ่งจารึกไว้ในหัวใจ

บัญญัติ​แห่ง​ความ​รัก​ซึ่ง​จารึก​ไว้​ใน​หัวใจ

“เรา​จะ​ใส่​บทบัญญัติ​ของ​เรา​ไว้ ณ ภาย​ใน​ตัว​เขา​ทั้ง​ปวง, แล​จะ​เขียน​บทบัญญัติ​นั้น​ใน​ใจ [“หัวใจ,” ล.ม.] เขา.”—ยิระมะยา 31:33.

1, 2. (ก) เรา​จะ​พิจารณา​เรื่อง​อะไร​ใน​ตอน​นี้? (ข) พระ​ยะโฮวา​ทรง​สำแดง​พระองค์​อย่าง​ไร​ที่​ภูเขา​ไซนาย?

ใน​สอง​บทความ​ก่อน เรา​เรียน​รู้​ว่า​เมื่อ​โมเซ​ลง​มา​จาก​ภูเขา​ไซนาย ใบ​หน้า​ของ​ท่าน​เปล่ง​แสง​ซึ่ง​สะท้อน​พระ​รัศมี​ของ​พระ​ยะโฮวา. และ​เรา​ยัง​ได้​พิจารณา​เรื่อง​ผ้า​คลุม​หน้า​ของ​โมเซ​อีก​ด้วย. ตอน​นี้ ให้​เรา​มา​พิจารณา​อีก​เรื่อง​หนึ่ง​ที่​เกี่ยว​ข้อง​กัน​ซึ่ง​มี​ความ​หมาย​ต่อ​คริสเตียน​ใน​ทุก​วัน​นี้.

2 ขณะ​อยู่​บน​ภูเขา โมเซ​ได้​รับ​พระ​โอวาท​จาก​พระ​ยะโฮวา. ขณะ​ชุมนุม​กัน​ตรง​หน้า​ภูเขา​ไซนาย ชาว​อิสราเอล​ได้​เห็น​พระเจ้า​สำแดง​พระองค์​อย่าง​น่า​ตื่น​ตะลึง. “บังเกิด​ฟ้า​ร้อง​ฟ้า​แลบ, มี​เมฆ​อัน​หนา​ทึบ​หุ้ม​ภูเขา​นั้น​ไว้, กับ​มี​เสียง​แตร​ดัง​สนั่น​ยิ่ง, จน​คน​ทั้ง​ปวง​ซึ่ง​อยู่​ใน​ที่​พัก​ต่าง​ตกใจ​อก​สั่น​ขวัญ​หาย. . . . ภูเขา​ซีนาย​นั้น​มี​ควัน​กลุ้ม​หุ้ม​อยู่​ทั่ว​ไป, เพราะ​พระ​ยะโฮวา​เสด็จ​ลง​มา​บน​ภูเขา​นั้น​โดย​ไฟ​วิถี; และ​ควัน​ไฟ​นั้น​พลุ่ง​ขึ้น​เหมือน​ควัน​เตา​ใหญ่, ภูเขา​นั้น​ก็​สะเทือน​หวั่นไหว​ไป​หมด.”—เอ็กโซโด 19:16-18.

3. พระ​ยะโฮวา​ประทาน​บัญญัติ​สิบ​ประการ​แก่​ชาติ​อิสราเอล​ด้วย​วิธี​ใด และ​ชน​ชาติ​นั้น​ได้​มา​เข้าใจ​อะไร?

3 พระ​ยะโฮวา​ตรัส​กับ​ชาว​อิสราเอล​ผ่าน​ทาง​ทูตสวรรค์​องค์​หนึ่ง และ​ประทาน​ข้อ​กฎหมาย​ซึ่ง​ต่อ​มา​เป็น​ที่​รู้​จัก​กัน​ว่า​บัญญัติ​สิบ​ประการ. (เอ็กโซโด 20:1-17) ด้วย​เหตุ​นี้ จึง​ไม่​มี​ข้อ​สงสัย​เลย​ว่า​ข้อ​กฎหมาย​เหล่า​นี้​มา​จาก​องค์​ทรง​ฤทธานุภาพ​ทุก​ประการ. พระ​ยะโฮวา​ทรง​จารึก​บัญญัติ​สิบ​ประการ​นี้​ลง​บน​แผ่น​ศิลา ซึ่ง​โมเซ​ได้​ทำ​แตก​เมื่อ​เห็น​ชาว​อิสราเอล​กำลัง​บูชา​รูป​ลูก​วัว​ทองคำ. พระ​ยะโฮวา​จารึก​บัญญัติ​เหล่า​นั้น​ลง​บน​แผ่น​ศิลา​ให้​ใหม่. ใน​ครั้ง​นี้ เมื่อ​ลง​มา​จาก​ภูเขา​พร้อม​กับ​แผ่น​ศิลา​นั้น ใบ​หน้า​ของ​โมเซ​เปล่ง​แสง​รัศมี. ใน​ตอน​นั้น ทุก​คน​ได้​เข้าใจ​ว่า​ข้อ​กฎหมาย​ดัง​กล่าว​มี​ความ​สำคัญ​อย่าง​ยิ่ง.—เอ็กโซโด 32:15-19; 34:1, 4, 29, 30.

4. ทำไม​บัญญัติ​สิบ​ประการ​จึง​มี​ความ​สำคัญ​มาก?

4 แผ่น​ศิลา​สอง​แผ่น​ที่​จารึก​บัญญัติ​สิบ​ประการ​ไว้​นั้น​ถูก​เก็บ​ไว้​ใน​หีบ​สัญญา​ไมตรี​ซึ่ง​ตั้ง​อยู่​ใน​ห้อง​บริสุทธิ์​ที่​สุด​ของ​พลับพลา​และ​ต่อ​มา​อยู่​ใน​ห้อง​บริสุทธิ์​ที่​สุด​ของ​พระ​วิหาร. บัญญัติ​ที่​จารึก​บน​แผ่น​ศิลา​นั้น​กล่าว​ถึง​หลักการ​สำคัญ​ของ​สัญญา​ไมตรี​แห่ง​พระ​บัญญัติ​ที่​มี​โมเซ​เป็น​คน​กลาง และ​วาง​พื้น​ฐาน​ไว้​สำหรับ​การ​ปกครอง​ที่​จะ​มี​การ​บริหาร​งาน​ตาม​ระบอบ​ของ​พระเจ้า. บัญญัติ​เหล่า​นั้น​เป็น​หลักฐาน​แสดง​ว่า​พระ​ยะโฮวา​ทรง​ดำเนิน​การ​เกี่ยว​ข้อง​กับ​ชน​ชาติ​หนึ่ง​โดย​เฉพาะ เป็น​ชน​ชาติ​ที่​พระองค์​ทรง​เลือก​สรร​ไว้.

5. กฎหมาย​ของ​พระเจ้า​ที่​ประทาน​แก่​ชาติ​อิสราเอล​สะท้อน​ให้​เห็น​ความ​รัก​ของ​พระเจ้า​ใน​ทาง​ใด​บ้าง?

5 บัญญัติ​สิบ​ประการ​เผย​ให้​ทราบ​หลาย​อย่าง​เกี่ยว​กับ​พระ​ยะโฮวา โดย​เฉพาะ​อย่าง​ยิ่ง​ความ​รัก​ที่​ทรง​มี​ต่อ​ประชาชน​ของ​พระองค์. กฎหมาย​เหล่า​นี้​ช่าง​เป็น​ของ​ประทาน​ล้ำ​ค่า​แก่​ผู้​ที่​นำ​กฎหมาย​นั้น​ไป​ปฏิบัติ! ผู้​คง​แก่​เรียน​คน​หนึ่ง​เขียน​ไว้​ว่า “ไม่​เคย​มี​ประมวล​กฎ​ทาง​ศีลธรรม​ใด​ที่​มนุษย์​คิด​ขึ้น​มา ไม่​ว่า​จะ​ก่อน​หรือ​ตั้ง​แต่​ที่​มี​พระ​บัญญัติ​เป็น​ต้น​มา . . . จะ​ใกล้​เคียง, เทียบ​ได้, หรือ​ดี​กว่า​บัญญัติ​สิบ​ประการ​ของ​พระเจ้า.” พระ​ยะโฮวา​กล่าว​เกี่ยว​กับ​ประมวล​กฎหมาย​ที่​ทรง​ประทาน​ผ่าน​ทาง​โมเซ​นั้น​ว่า “ถ้า​เจ้า​ทั้ง​หลาย​จะ​ฟัง​ถ้อย​คำ​ของ​เรา​จริง ๆ, และ​รักษา​คำ​สัญญา​ไมตรี​ของ​เรา​ไว้, เจ้า​จะ​เป็น​ทรัพย์​ประเสริฐ​ของ​เรา​ยิ่ง​กว่า​ชาติ​ทั้ง​ปวง: เพราะ​เรา​เป็น​เจ้าของ​โลก​ทั้ง​สิ้น: เจ้า​ทั้ง​หลาย​จะ​เป็น​อาณาจักร​แห่ง​ปุโรหิต, และ​จะ​เป็น​ชน​ชาติ​อัน​บริสุทธิ์​สำหรับ​เรา.”—เอ็กโซโด 19:5, 6.

พระ​บัญญัติ​ซึ่ง​จารึก​ไว้​ใน​หัวใจ

6. กฎหมาย​อะไร​ที่​มี​ค่า​ยิ่ง​กว่า​กฎหมาย​ที่​จารึก​ลง​บน​แผ่น​ศิลา?

6 ใช่​แล้ว กฎหมาย​ต่าง ๆ ที่​พระเจ้า​ประทาน​ให้​นั้น​ทรง​คุณค่า​ยิ่ง. แต่​คุณ​รู้​ไหม​ว่า​คริสเตียน​ผู้​ถูก​เจิม​ได้​รับ​อะไร​บาง​อย่าง​ที่​มี​ค่า​ยิ่ง​กว่า​กฎหมาย​ที่​จารึก​ไว้​บน​แผ่น​ศิลา​นั้น​มาก​นัก? พระ​ยะโฮวา​บอก​ล่วง​หน้า​ถึง​การ​ทำ​สัญญา​ใหม่ ไม่​เหมือน​กับ​สัญญา​ไมตรี​ที่​ได้​กระทำ​กับ​ชาติ​อิสราเอล. “เรา​จะ​ใส่​บทบัญญัติ​ของ​เรา​ไว้ ณ ภาย​ใน​ตัว​เขา​ทั้ง​ปวง, แล​จะ​เขียน​บทบัญญัติ​นั้น​ใน​ใจ [“หัวใจ,” ล.ม.] เขา.” (ยิระมะยา 31:31-34) พระ​เยซู คน​กลาง​แห่ง​สัญญา​ใหม่ ไม่​ได้​มอบ​ประมวล​กฎหมาย​ใน​รูป​ลายลักษณ์​อักษร​แก่​สาวก​ของ​พระองค์. พระองค์​พร่ำ​สอน​กฎหมาย​ของ​พระ​ยะโฮวา​ลง​ใน​จิตใจ​และ​หัวใจ​ของ​สาวก​โดย​ทาง​คำ​พูด​และ​การ​กระทำ​ของ​พระองค์.

7. “พระ​บัญญัติ​ของ​พระ​คริสต์” ประทาน​ให้​แก่​ใคร​ใน​ตอน​แรก และ​ต่อ​มา​มี​ใคร​ยินดี​รับ​เอา​บัญญัติ​นั้น​ด้วย?

7 กฎหมาย​นี้​ถูก​เรียก​ว่า “พระ​บัญญัติ​ของ​พระ​คริสต์.” แรก​ที​เดียว บัญญัติ​นี้​ไม่​ได้​ประทาน​ให้​แก่​ชาติ​อิสราเอล​โดย​กำเนิด​ซึ่ง​สืบ​เชื้อ​สาย​มา​จาก​ยาโคบ แต่​ให้​แก่​ชาติ​ฝ่าย​วิญญาณ อัน​ได้​แก่ ชาติ “อิสราเอล​ของ​พระเจ้า.” (ฆะลาเตีย 6:2, 16, ล.ม.; โรม 2:28, 29) อิสราเอล​ของ​พระเจ้า​ประกอบ​ไป​ด้วย​คริสเตียน​ผู้​ได้​รับ​การ​เจิม​ด้วย​พระ​วิญญาณ. ภาย​หลัง มี “ชน​ฝูง​ใหญ่” จาก​ทุก​ชาติ​ซึ่ง​ต้องการ​นมัสการ​พระ​ยะโฮวา​ด้วย​เช่น​กัน มา​ร่วม​สมทบ​กับ​พวก​เขา. (วิวรณ์ 7:9, 10, ล.ม.; ซะคาระยา 8:23) ฐานะ “ฝูง​เดียว” ที่​มี “ผู้​เลี้ยง​ผู้​เดียว” ทั้ง​สอง​กลุ่ม​ยินดี​รับ​เอา “พระ​บัญญัติ​ของ​พระ​คริสต์” และ​ให้​บทบัญญัติ​นั้น​ควบคุม​ทุก​สิ่ง​ที่​พวก​เขา​กระทำ.—โยฮัน 10:16.

8. มี​ความ​แตกต่าง​อะไร​ระหว่าง​พระ​บัญญัติ​ของ​โมเซ​กับ​พระ​บัญญัติ​ของ​พระ​คริสต์?

8 ต่าง​จาก​ชน​อิสราเอล​โดย​กำเนิด ซึ่ง​จะ​ต้อง​ปฏิบัติ​ตาม​พระ​บัญญัติ​ของ​โมเซ​เนื่อง​จาก​เกิด​มา​ใน​ชาติ​อิสราเอล คริสเตียน​อยู่​ภาย​ใต้​พระ​บัญญัติ​ของ​พระ​คริสต์​โดย​ที่​เขา​เลือก​เอา​เอง ไม่​เกี่ยว​กับ​ปัจจัย​ต่าง ๆ เช่น เชื้อชาติ​หรือ​ถิ่น​กำเนิด. พวก​เขา​เรียน​รู้​เกี่ยว​กับ​พระ​ยะโฮวา​และ​วิถี​ทาง​ของ​พระองค์ และ​ปรารถนา​อย่าง​แรง​กล้า​ที่​จะ​ทำ​ตาม​พระทัย​ประสงค์​ของ​พระองค์. เนื่อง​จาก​พระ​บัญญัติ​ของ​พระเจ้า​อยู่ “ภาย​ใน​ตัว​เขา” ดุจ​จารึก​ไว้ “ใน​หัวใจ” คริสเตียน​ผู้​ถูก​เจิม​จึง​เชื่อ​ฟัง​พระเจ้า ไม่​ใช่​เพียง​แต่​เพราะ​พระองค์​สามารถ​ลง​โทษ​ผู้​ที่​ไม่​เชื่อ​ฟัง หรือ​เป็น​เพียง​สำนึก​ใน​พันธะ​หน้า​ที่​ที่​จะ​ต้อง​เชื่อ​ฟัง. การ​เชื่อ​ฟัง​ของ​พวก​เขา​มา​จาก​แหล่ง​ที่​สำคัญ​มาก​กว่า​และ​มี​พลัง​มาก​กว่า​นัก และ​ชน​จำพวก​แกะ​อื่น​ก็​เชื่อ​ฟัง​เพราะ​มี​กฎหมาย​ของ​พระเจ้า​อยู่​ใน​หัวใจ​เช่น​กัน.

บัญญัติ​ที่​มี​ความ​รัก​เป็น​พื้น​ฐาน

9. พระ​เยซู​บ่ง​ชี้​อย่าง​ไร​ว่า​ความ​รัก​เป็น​แก่น​แห่ง​บรรดา​กฎหมาย​ของ​พระ​ยะโฮวา?

9 สาระ​สำคัญ​ที่​เป็น​แก่น​แห่ง​กฎหมาย​และ​ข้อ​กำหนด​ทั้ง​สิ้น​ของ​พระ​ยะโฮวา​สรุป​ได้​ด้วย​คำ​คำ​เดียว​คือ ความ​รัก. ความ​รัก​เป็น​ส่วน​สำคัญ​แห่ง​การ​นมัสการ​แท้​เรื่อย​มา​และ​จะ​เป็น​อย่าง​นั้น​เรื่อย​ไป. เมื่อ​ถูก​ถาม​ว่า​บัญญัติ​ข้อ​ใด​สำคัญ​ที่​สุด พระ​เยซู​ตอบ​ว่า “จง​รัก​พระองค์​ผู้​เป็น​พระเจ้า​ด้วย​สุด​ใจ​สุด​จิตต์​ของ​เจ้า, และ​ด้วย​สิ้น​สุด​ความ​คิด​ของ​เจ้า.” และ​ข้อ​ที่​สอง​คือ “จง​รัก​เพื่อน​บ้าน​เหมือน​รัก​ตน​เอง.” แล้ว​พระองค์​ตรัส​ว่า “บัญญัติ​และ​คำ​พยากรณ์​ทั้ง​สิ้น​ก็​รวม​อยู่​ใน​พระ​บัญญัติ​สอง​ข้อ​นี้.” (มัดธาย 22:35-40) โดย​การ​ตรัส​อย่าง​นั้น พระ​เยซู​บ่ง​ชี้​ว่า ไม่​เพียง​แต่​พระ​บัญญัติ​และ​บัญญัติ​สิบ​ประการ​เท่า​นั้น แต่​พระ​คัมภีร์​ภาค​ภาษา​ฮีบรู​ทั้ง​สิ้น​ตั้ง​อยู่​บน​ความ​รัก.

10. เรา​รู้​ได้​อย่าง​ไร​ว่า​ความ​รัก​เป็น​แก่น​แห่ง​พระ​บัญญัติ​ของ​พระ​คริสต์?

10 ความ​รัก​ต่อ​พระเจ้า​และ​เพื่อน​บ้าน​เป็น​แก่น​ของ​บัญญัติ​ใน​หัวใจ​ของ​คริสเตียน​ด้วย​ไหม? แน่นอน​ที่​สุด! พระ​บัญญัติ​ของ​พระ​คริสต์​เกี่ยว​ข้อง​กับ​ความ​รัก​ต่อ​พระเจ้า​จาก​ใจ​จริง และ​รวม​ไป​ถึง​บัญญัติ​ใหม่​ด้วย ซึ่ง​ก็​คือ​คริสเตียน​ต้อง​มี​ความ​รัก​แบบ​เสีย​สละ​ตัว​เอง​ต่อ​กัน​และ​กัน. พวก​เขา​ต้อง​รัก​กัน​และ​กัน​อย่าง​ที่​พระ​เยซู​ทรง​รัก​พวก​เขา และ​พระองค์​ก็​เต็ม​พระทัย​สละ​ชีวิต​เพื่อ​มิตร​สหาย​ของ​พระองค์. พระองค์​ทรง​สอน​สาวก​ของ​พระองค์​ให้​รัก​พระเจ้า​และ​รัก​กัน เช่น​เดียว​กับ​ที่​พระองค์​ทรง​รัก​พวก​เขา. ความ​รัก​อัน​โดด​เด่น​ที่​พวก​เขา​แสดง​ต่อ​กัน​เป็น​คุณลักษณะ​สำคัญ​ที่​จะ​ระบุ​ตัว​คริสเตียน​แท้. (โยฮัน 13:34, 35; 15:12, 13) พระ​เยซู​สอน​พวก​เขา​ให้​รัก​ศัตรู​ของ​ตน​ด้วย​ซ้ำ.—มัดธาย 5:44.

11. พระ​เยซู​แสดง​ความ​รัก​ต่อ​พระเจ้า​และ​มวล​มนุษย์​อย่าง​ไร?

11 พระ​เยซู​ทรง​วาง​แบบ​อย่าง​ที่​สมบูรณ์​ใน​การ​แสดง​ความ​รัก. ขณะ​เป็น​กาย​วิญญาณ​องค์​ทรง​ฤทธิ์​ใน​สวรรค์ พระองค์​เต็ม​พระทัย​รับ​เอา​โอกาส​ที่​จะ​ได้​ส่ง​เสริม​ผล​ประโยชน์​ของ​พระ​บิดา​บน​แผ่นดิน​โลก. นอก​จาก​สละ​ชีวิต​ของ​พระองค์​ฐานะ​มนุษย์​เพื่อ​ที่​คน​อื่น ๆ จะ​มี​โอกาส​ได้​รับ​ชีวิต​นิรันดร์​แล้ว พระองค์​ยัง​แสดง​ให้​ผู้​คน​เห็น​วิธี​ที่​พวก​เขา​ควร​ดำเนิน​ชีวิต. พระองค์​ถ่อม​พระทัย, กรุณา, และ​คำนึง​ถึง​ผู้​อื่น, อีก​ทั้ง​ช่วยเหลือ​ผู้​คน​ที่​มี​ภาระ​หนัก​และ​ถูก​กดขี่. นอก​จาก​นี้ พระองค์​แบ่ง​ปัน “คำ​ซึ่ง​ให้​มี​ชีวิต​นิรันดร์” และ​ช่วย​คน​อื่น ๆ อย่าง​ไม่​รู้​จัก​เหน็ด​เหนื่อย​ให้​มา​รู้​จัก​พระ​ยะโฮวา.—โยฮัน 6:68.

12. เหตุ​ใด​จึง​กล่าว​ว่า​ความ​รัก​ต่อ​พระเจ้า​และ​ต่อ​เพื่อน​บ้าน​นั้น​เกี่ยว​พัน​กัน​อย่าง​แยก​ไม่​ออก?

12 อัน​ที่​จริง ความ​รัก​ต่อ​พระเจ้า​และ​ต่อ​เพื่อน​บ้าน​นั้น​เกี่ยว​พัน​กัน​อย่าง​แยก​ไม่​ออก. อัครสาวก​โยฮัน​กล่าว​ว่า “ความ​รัก​เป็น​มา​จาก​พระเจ้า . . . ถ้า​ผู้​ใด​ว่า ‘ข้าพเจ้า​รัก​พระเจ้า’ และ​ใจ​ยัง​เกลียด​ชัง​พี่​น้อง​ของ​ตัว, ผู้​นั้น​เป็น​คน​พูด​มุสา. เพราะ​ว่า​ผู้​ที่​ไม่​รัก​พี่​น้อง​ของ​ตน​ที่​แล​เห็น​แล้ว จะ​รัก​พระเจ้า​ที่​ยัง​ไม่​ได้​แล​เห็น​อย่าง​ไร​ได้?” (1 โยฮัน 4:7, 20) พระ​ยะโฮวา​เป็น​ทั้ง​บ่อ​เกิด​และ​แบบ​ฉบับ​แห่ง​ความ​รัก. ทุก​สิ่ง​ที่​พระองค์​กระทำ​ล้วน​ได้​รับ​แรง​ผลัก​ดัน​จาก​ความ​รัก. เรา​สามารถ​รัก​คน​อื่น ๆ ได้​เพราะ​เรา​ถูก​สร้าง​ให้​มี​คุณลักษณะ​เหมือน​อย่าง​พระองค์. (เยเนซิศ 1:27) โดย​การ​แสดง​ความ​รัก​ต่อ​เพื่อน​บ้าน เรา​แสดง​ให้​เห็น​ว่า​เรา​รัก​พระเจ้า.

การ​รัก​หมาย​ถึง​การ​เชื่อ​ฟัง

13. ถ้า​เรา​จะ​รัก​พระเจ้า เรา​ต้อง​ทำ​อะไร​ก่อน?

13 เรา​จะ​รัก​พระเจ้า​ที่​เรา​มอง​ไม่​เห็น​ได้​อย่าง​ไร? ขั้น​แรก​ซึ่ง​สำคัญ​ยิ่ง​ก็​คือ​เรา​ต้อง​มา​รู้​จัก​พระองค์. เรา​ไม่​อาจ​รัก​หรือ​วางใจ​ผู้​ใด​ได้​จริง ๆ หาก​เรา​ไม่​เคย​รู้​จัก​เขา​มา​ก่อน. ด้วย​เหตุ​นี้ พระ​คำ​ของ​พระเจ้า​จึง​สนับสนุน​เรา​ให้​เรียน​รู้​เกี่ยว​กับ​พระเจ้า​โดย​การ​อ่าน​คัมภีร์​ไบเบิล, การ​อธิษฐาน, และ​การ​คบหา​กับ​คน​ที่​รู้​จัก​และ​รัก​พระองค์​อยู่​แล้ว. (บทเพลง​สรรเสริญ 1:1, 2; ฟิลิปปอย 4:6; เฮ็บราย 10:25) ใน​เรื่อง​นี้ กิตติคุณ​ทั้ง​สี่​ช่วย​ได้​มาก​เป็น​พิเศษ เนื่อง​จาก​เผย​ให้​ทราบ​บุคลิก​ลักษณะ​ของ​พระ​ยะโฮวา​ที่​สะท้อน​ให้​เห็น​ใน​ชีวิต​และ​งาน​รับใช้​ของ​พระ​เยซู​คริสต์. ความ​ปรารถนา​ของ​เรา​ที่​จะ​เชื่อ​ฟัง​พระเจ้า​และ​เลียน​แบบ​บุคลิก​ลักษณะ​ของ​พระองค์​จะ​ทวี​ขึ้น​เรื่อย ๆ ขณะ​ที่​เรา​ได้​มา​รู้​จัก​พระองค์​และ​หยั่ง​รู้​ค่า​ความ​รัก​ที่​พระองค์​ทรง​สำแดง​ต่อ​เรา. ใช่​แล้ว ความ​รัก​ต่อ​พระเจ้า​หมาย​รวม​ถึง​การ​เชื่อ​ฟัง.

14. ทำไม​จึง​กล่าว​ได้​ว่า​บัญญัติ​ของ​พระเจ้า​ไม่​เป็น​ภาระ​หนัก?

14 เมื่อ​เรา​รัก​ใคร เรา​รู้​ว่า​เขา​ชอบ​หรือ​ไม่​ชอบ​อะไร และ​เรา​ทำ​ใน​สิ่ง​ที่​เขา​ชอบ​และ​ไม่​ทำ​ใน​สิ่ง​ที่​เขา​ไม่​ชอบ. เรา​ไม่​อยาก​ทำ​ให้​คน​ที่​เรา​รัก​รู้สึก​ไม่​พอ​ใจ. อัครสาวก​โยฮัน​เขียน​ว่า “นี่​แหละ​หมาย​ถึง​ความ​รัก​ต่อ​พระเจ้า คือ​ที่​เรา​ปฏิบัติ​ตาม​บัญญัติ​ของ​พระองค์; และ​กระนั้น​บัญญัติ​ของ​พระองค์​ไม่​เป็น​ภาระ​หนัก.” (1 โยฮัน 5:3, ล.ม.) บัญญัติ​ของ​พระเจ้า​ไม่​เป็น​ภาระ​หนัก อีก​ทั้ง​ก็​ไม่​ได้​มี​มาก​มาย. ความ​รัก​ชี้​นำ​วิธี​ที่​เรา​ดำเนิน. เรา​ไม่​จำเป็น​ต้อง​จด​จำ​กฎ​ระเบียบ​มาก​มาย​เพื่อ​ชี้​นำ​ทุก​สิ่ง​ที่​เรา​ทำ ความ​รัก​ที่​เรา​มี​ต่อ​พระเจ้า​ชี้​นำ​เรา. ถ้า​เรา​รัก​พระเจ้า เรา​จะ​มี​ความ​สุข​ที่​ได้​ทำ​ตาม​พระทัย​ประสงค์​ของ​พระองค์. ด้วย​เหตุ​นี้ เรา​จึง​ได้​รับ​ความ​พอ​พระทัย​จาก​พระเจ้า​และ​เรา​เอง​ก็​ได้​ประโยชน์ การ​ชี้​นำ​ของ​พระองค์​เป็น​ประโยชน์​แก่​เรา​เสมอ.—ยะซายา 48:17.

15. อะไร​จะ​กระตุ้น​เรา​ให้​เลียน​แบบ​พระ​ยะโฮวา? จง​อธิบาย.

15 ความ​รัก​ต่อ​พระเจ้า​กระตุ้น​เรา​ให้​เลียน​แบบ​คุณลักษณะ​ต่าง ๆ ของ​พระองค์. เมื่อ​เรา​รัก​ใคร​เรา​มัก​จะ​ชื่นชม​คุณลักษณะ​ต่าง ๆ ของ​เขา​และ​จะ​พยายาม​เลียน​แบบ​เขา. ขอ​พิจารณา​ความ​สัมพันธ์​ระหว่าง​พระ​ยะโฮวา​กับ​พระ​เยซู. ทั้ง​สอง​พระองค์​อยู่​ด้วย​กัน​ใน​สวรรค์​อาจ​จะ​หลาย​พัน​ล้าน​ปี. ความ​รัก​ระหว่าง​พระองค์​ทั้ง​สอง​นั้น​ลึกซึ้ง​และ​บริสุทธิ์. พระ​เยซู​เป็น​เหมือน​พระ​บิดา​ฝ่าย​สวรรค์​ของ​พระองค์​มาก​จน​สามารถ​กล่าว​แก่​สาวก​ได้​ว่า “ผู้​ที่​ได้​เห็น​เรา​ก็​ได้​เห็น​พระ​บิดา.” (โยฮัน 14:9) เมื่อ​เรา​มี​ความ​รู้​และ​ความ​หยั่ง​รู้​ค่า​ต่อ​พระ​ยะโฮวา​และ​พระ​บุตร​ของ​พระองค์​มาก​ยิ่ง​ขึ้น เรา​จะ​ถูก​กระตุ้น​ให้​เป็น​เหมือน​พระองค์​ทั้ง​สอง. ความ​รัก​ที่​เรา​มี​ต่อ​พระ​ยะโฮวา พร้อม​กับ​ความ​ช่วยเหลือ​จาก​พระ​วิญญาณ​บริสุทธิ์​ของ​พระองค์ จะ​ทำ​ให้​เรา​สามารถ “ถอด​ทิ้ง​บุคลิกภาพ​เก่า​กับ​กิจ​ปฏิบัติ​ต่าง ๆ ของ​มัน​เสีย และ​สวม​บุคลิกภาพ​ใหม่.”—โกโลซาย 3:9, 10, ล.ม.; ฆะลาเตีย 5:22, 23.

ความ​รัก​ใน​ภาค​ปฏิบัติ

16. กิจกรรม​การ​ประกาศ​และ​การ​สอน​เป็น​การ​แสดง​ความ​รัก​ต่อ​พระเจ้า​และ​เพื่อน​บ้าน​อย่าง​ไร?

16 ฐานะ​คริสเตียน เรา​ให้​ความ​รัก​ที่​เรา​มี​ต่อ​พระเจ้า​และ​เพื่อน​บ้าน​กระตุ้น​เรา​ให้​มี​ส่วน​ร่วม​ใน​งาน​ประกาศ​ข่าว​ดี​และ​งาน​ทำ​ให้​คน​เป็น​สาวก. โดย​การ​ทำ​เช่น​นั้น เรา​จะ​เป็น​ที่​ชอบ​พระทัย​พระ​ยะโฮวา “พระเจ้า​ผู้​มี​พระทัย​ประสงค์​ให้​คน​ทั้ง​ปวง​ถึง​ที่​รอด, และ​ให้​รู้​จัก​ความ​จริง.” (1 ติโมเธียว 2:3, 4) ฉะนั้น เรา​จึง​มี​ความ​สุข​ได้​จาก​การ​ช่วย​คน​อื่น ๆ ให้​มี​พระ​บัญญัติ​ของ​พระ​คริสต์​จารึก​ใน​หัวใจ​ของ​เขา. และ​เรา​ชื่นชม​ยินดี​เมื่อ​เห็น​ว่า​พวก​เขา​ค่อย ๆ เปลี่ยน​แปลง​บุคลิกภาพ​ไป​ใน​ทาง​ที่​สะท้อน​คุณลักษณะ​ของ​พระ​ยะโฮวา. (2 โกรินโธ 3:18) ที่​แท้​แล้ว การ​ช่วย​คน​อื่น ๆ ให้​ได้​มา​รู้​จัก​พระเจ้า​เป็น​ของ​ขวัญ​ล้ำ​ค่า​ที่​สุด​ที่​เรา​จะ​มอบ​ให้​พวก​เขา​ได้. ผู้​ที่​ตอบรับ​และ​เข้า​มา​เป็น​มิตร​กับ​พระ​ยะโฮวา​จะ​ได้​ชื่นชม​กับ​มิตรภาพ​นั้น​ไป​ตลอด​กาล.

17. เหตุ​ใด​จึง​เป็น​การ​ฉลาด​สุขุม​ที่​จะ​ปลูกฝัง​ความ​รัก​ต่อ​พระเจ้า​และ​เพื่อน​บ้าน แทน​ที่​จะ​รัก​สิ่ง​ฝ่าย​วัตถุ?

17 เรา​มี​ชีวิต​อยู่​ใน​โลก​ที่​ถือ​กัน​ว่า​สิ่ง​ฝ่าย​วัตถุ​มี​ค่า​มาก หรือ​ถึง​กับ​รัก​สิ่ง​เหล่า​นั้น​ด้วย​ซ้ำ. กระนั้น สมบัติ​วัตถุ​ไม่​คง​อยู่​ตลอด​ไป. มัน​อาจ​ถูก​ขโมย​หรือ​เสื่อม​สลาย​ไป​ได้. (มัดธาย 6:19) คัมภีร์​ไบเบิล​เตือน​เรา​ว่า “โลก​นี้​กับ​ความ​ใคร่​ของ​โลก​กำลัง​ผ่าน​พ้น​ไป แต่​ผู้​ที่​ประพฤติ​ตาม​พระทัย​ของ​พระเจ้า​คง​จะ​ตั้ง​อยู่​เป็น​นิตย์.” (1 โยฮัน 2:16, 17) ใช่​แล้ว พระ​ยะโฮวา​จะ​ดำรง​อยู่​ชั่ว​นิจ​นิรันดร์ และ​ผู้​ที่​รัก​และ​รับใช้​พระองค์​ก็​เช่น​กัน. ฉะนั้น เป็น​การ​ฉลาด​สุขุม​กว่า​มิ​ใช่​หรือ​ที่​เรา​จะ​ปลูกฝัง​ความ​รัก​ต่อ​พระเจ้า​และ​ต่อ​ผู้​คน แทน​ที่​จะ​แสวง​หา​สิ่ง​ต่าง ๆ ของ​โลก ซึ่ง​อย่าง​ดี​ที่​สุด​ก็​จะ​ดำรง​อยู่​แค่​ชั่ว​คราว​เท่า​นั้น?

18. มิชชันนารี​คน​หนึ่ง​แสดง​ความ​รัก​แบบ​เสีย​สละ​ตน​เอง​อย่าง​ไร?

18 ผู้​ที่​พยายาม​แสดง​ความ​รัก​ต่อ​คน​อื่น​นำ​คำ​สรรเสริญ​มา​สู่​พระ​ยะโฮวา. ขอ​พิจารณา​ตัว​อย่าง​ของ​ซอนยา มิชชันนารี​คน​หนึ่ง​ใน​เซเนกัล. เธอ​ศึกษา​พระ​คัมภีร์​กับ​สตรี​คน​หนึ่ง​ที่​ชื่อ​ไฮดี ซึ่ง​ติด​เชื้อ​เอช​ไอ​วี​จาก​สามี​ที่​ไม่​มี​ความ​เชื่อ. หลัง​จาก​สามี​เสีย​ชีวิต ไฮดี​รับ​บัพติสมา แต่​ไม่​นาน สุขภาพ​ของ​เธอ​ก็​ทรุด​หนัก และ​เข้า​โรง​พยาบาล​เนื่อง​ด้วย​โรค​เอดส์. ซอนยา​เล่า​ว่า “เจ้าหน้าที่​โรง​พยาบาล​ปฏิบัติ​หน้า​ที่​อย่าง​สุด​กำลัง แต่​พวก​เขา​มี​จำนวน​น้อย. ได้​มี​การ​ขอ​อาสา​สมัคร​จาก​ประชาคม​ไป​ช่วย​ดู​แล​ไฮดี​ที่​โรง​พยาบาล. ใน​คืน​ที่​สอง ดิฉัน​นั่ง​บน​เสื่อ​ข้าง ๆ เตียง​ไฮดี และ​ช่วย​ดู​แล​เธอ​จน​กระทั่ง​เธอ​สิ้น​ลม​หายใจ. หมอ​ที่​ดู​แล​รับผิดชอบ​กล่าว​ว่า ‘ปัญหา​ใหญ่​ที่​สุด​ของ​เรา​คือ บ่อย​ครั้ง แม้​แต่​ญาติ​พี่​น้อง​ก็​ยัง​ละ​ทิ้ง​สมาชิก​ครอบครัว​ของ​ตน​เอง​เมื่อ​รู้​ว่า​พวก​เขา​ป่วย​เป็น​โรค​เอดส์. แต่​ทำไม​คุณ​ซึ่ง​ไม่​ได้​เป็น​ญาติ​พี่​น้อง​ของ​ผู้​ป่วย มา​จาก​คน​ละ​ประเทศ กระทั่ง​มี​สี​ผิว​ต่าง​กัน จึง​ยอม​เอา​ตัว​เอง​มา​เสี่ยง​เช่น​นี้?’ ดิฉัน​อธิบาย​ว่า ดิฉัน​มอง​ว่า​ไฮดี​เป็น​พี่​น้อง​ของ​ดิฉัน​จริง ๆ และ​ใกล้​ชิด​กัน​เหมือน​กับ​เป็น​พี่​น้อง​ร่วม​ท้อง​เดียว​กัน. การ​ได้​มา​รู้​จัก​กับ​เธอ ซึ่ง​ได้​กลาย​มา​เป็น​เหมือน​พี่​น้อง​อีก​คน​หนึ่ง​ของ​ดิฉัน ทำ​ให้​ดิฉัน​ยินดี​ที่​จะ​ดู​แล​เธอ.” อนึ่ง ซอนยา​ไม่​ได้​ติด​โรค​ใด ๆ เลย​จาก​การ​ที่​เธอ​ได้​เอา​ใจ​ใส่​ดู​แล​ไฮดี​ด้วย​ความ​รักใคร่​นั้น.

19. เนื่อง​จาก​เรา​มี​บัญญัติ​ของ​พระเจ้า​อยู่​ใน​หัวใจ เรา​จึง​ควร​ฉวย​ประโยชน์​ที่​จะ​ทำ​สิ่ง​ใด?

19 ตัว​อย่าง​มาก​มาย​เกี่ยว​กับ​ความ​รัก​แบบ​เสีย​สละ​ตน​เอง​อาจ​พบ​ได้​ท่ามกลาง​ผู้​รับใช้​ของ​พระ​ยะโฮวา. ไม่​มี​ประมวล​กฎหมาย​ใด ๆ ที่​เป็น​ลายลักษณ์​อักษร​ใช้​ระบุ​ตัว​ผู้​รับใช้​ของ​พระเจ้า​ใน​ทุก​วัน​นี้. แทน​ที่​จะ​เป็น​อย่าง​นั้น เรา​ได้​เห็น​ความ​สำเร็จ​เป็น​จริง​ของ​ถ้อย​คำ​ที่​เฮ็บราย 8:10 ที่​พระ​ยะโฮวา​ตรัส​ว่า “ ‘นี่​แหละ​เป็น​คำ​สัญญา​ไมตรี​ซึ่ง​เรา​จะ​กระทำ​แก่​วงศ์วาน​ยิศราเอล​ภาย​หลัง​วัน​เหล่า​นั้น. คือ​เรา​จะ​เอา​บัญญัติ​ของ​เรา​ใส่​ไว้​ใน​จิตต์​ใจ​ของ​เขา, และ​จะ​จารึก​ไว้​ที่​หัวใจ​ของ​เขา, และ​เรา​จะ​เป็น​พระเจ้า​ของ​เขา​ทั้ง​หลาย, และ​เขา​จะ​เป็น​คน​ของ​เรา.’ ” ขอ​เรา​ทะนุถนอม​บัญญัติ​แห่ง​ความ​รัก​ไว้​เสมอ ซึ่ง​พระ​ยะโฮวา​จารึก​ไว้​ที่​หัวใจ​ของ​เรา และ​ฉวย​ประโยชน์​จาก​ทุก​โอกาส​ที่​จะ​แสดง​ความ​รัก.

20. เหตุ​ใด​พระ​บัญญัติ​ของ​พระ​คริสต์​จึง​เป็น​สมบัติ​อัน​ล้ำ​ค่า?

20 เป็น​เรื่อง​น่า​ยินดี​สัก​เพียง​ไร​ที่​ได้​รับใช้​พระเจ้า​ร่วม​กับ​พี่​น้อง​ตลอด​ทั่ว​โลก​ที่​แสดง​ความ​รัก​เช่น​นั้น! ผู้​ที่​มี​พระ​บัญญัติ​ของ​พระ​คริสต์​อยู่​ใน​หัวใจ​มี​สมบัติ​อัน​ล้ำ​ค่า​ใน​โลก​ที่​ไร้​ความ​รัก​นี้. พวก​เขา​ไม่​เพียง​แต่​เบิกบาน​ใจ​ที่​ได้​รับ​ความ​รัก​จาก​พระ​ยะโฮวา แต่​ยัง​ชื่นชม​กับ​ความ​รัก​อัน​เป็น​เครื่อง​ผูก​พัน​ที่​เหนียวแน่น​ใน​สังคม​พี่​น้อง​อีก​ด้วย. “จง​ดู​เถอะ, ซึ่ง​พวก​พี่​น้อง​อาศัย​อยู่​พร้อม​เพรียง​เป็น​น้ำ​หนึ่ง​ใจ​เดียว​กัน​ก็​เป็น​การ​ดี​และ​อยู่​เย็น​เป็น​สุข​มาก​เท่า​ใด!” แม้​ว่า​พยาน​พระ​ยะโฮวา​มี​อยู่​ใน​หลาย​ประเทศ, พูด​ภาษา​ต่าง ๆ มาก​มาย, และ​มา​จาก​วัฒนธรรม​ที่​แตกต่าง​กัน แต่​พวก​เขา​ก็​มี​เอกภาพ​ทาง​ศาสนา​อย่าง​ที่​ไม่​มี​กลุ่ม​ศาสนา​ใด​จะ​เทียบ​ได้. เอกภาพ​เช่น​นี้​ทำ​ให้​พวก​เขา​ได้​รับ​พระ​พร​จาก​พระ​ยะโฮวา. ผู้​ประพันธ์​เพลง​สรรเสริญ​เขียน​ว่า “พระ​ยะโฮวา​ได้​ทรง​ประทาน​พระ​พร​ที่​นั่น [ท่ามกลาง​ประชาชน​ที่​อยู่​ด้วย​กัน​ด้วย​ความ​รัก], ให้​ชีวิต​อัน​เจริญ​เป็น​นิตย์.”—บทเพลง​สรรเสริญ 133:1-3.

คุณ​ตอบ​ได้​ไหม?

• บัญญัติ​สิบ​ประการ​สำคัญ​เพียง​ไร?

• อะไร​คือ​บัญญัติ​ที่​จารึก​ไว้​ใน​หัวใจ?

• ความ​รัก​มี​บทบาท​อย่าง​ไร​ใน “พระ​บัญญัติ​ของ​พระ​คริสต์”?

• เรา​อาจ​แสดง​ความ​รัก​ต่อ​พระเจ้า​และ​เพื่อน​บ้าน​ได้​ใน​ทาง​ใด​บ้าง?

[คำ​ถาม]

[ภาพ​หน้า 25]

ชาว​อิสราเอล​มี​ข้อ​กฎหมาย​ที่​จารึก​บน​แผ่น​ศิลา

[ภาพ​หน้า 26]

คริสเตียน​มี​กฎหมาย​ของ​พระเจ้า​ใน​หัวใจ

[ภาพ​หน้า 28]

ซอนยา​กับ​เด็ก​หญิง​ชาว​เซเนกัล ณ การ​ประชุม​ภาค​ปี 2004