ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

รอยัลไบเบิลผลงานชิ้นเอกทางวิชาการ

รอยัลไบเบิลผลงานชิ้นเอกทางวิชาการ

รอยัล​ไบเบิล​ผล​งาน​ชิ้น​เอก​ทาง​วิชาการ

ช่วง​ต้น​ศตวรรษ​ที่ 16 เรือ​ลำ​หนึ่ง​แล่น​ออก​จาก​สเปน​มุ่ง​หน้า​ไป​ยัง​คาบสมุทร​อิตาลี. เรือ​ลำ​นี้​บรรทุก​สินค้า​อัน​ประเมิน​ค่า​มิ​ได้​จำนวน​หนึ่ง นั่น​คือ คัมภีร์​ไบเบิล​ฉบับ​คอมพลูเทนเชียน โพลิกลอท​ทั้ง​หมด​ที่​พิมพ์​ใน​ปี 1514 และ​ปี 1517. แต่​แล้ว​ก็​เกิด​พายุ​ใหญ่​ขึ้น​อย่าง​กะทันหัน. ลูกเรือ​พยายาม​รักษา​เรือ​ไว้​แต่​ก็​ไม่​สำเร็จ. ทั้ง​เรือ​และ​สินค้า​อัน​ประเมิน​ค่า​มิ​ได้​จม​ดิ่ง​ลง​สู่​ท้อง​ทะเล.

ความ​หายนะ​ครั้ง​นั้น​ทำ​ให้​ต้อง​มี​การ​พิมพ์​คัมภีร์​ไบเบิล​ฉบับ​โพลิกลอท​ขึ้น​ใหม่. ใน​ที่​สุด คริสตอฟ ปลองแตง ช่าง​พิมพ์​ผู้​ชำนาญ​ก็​รับ​เอา​งาน​ที่​ท้าทาย​นี้. เขา​ต้องการ​ผู้​สนับสนุน​ทาง​การ​เงิน​ที่​มั่งคั่ง​เพื่อ​จะ​ทำ​งาน​สำคัญ​ชิ้น​นี้​ได้ ดัง​นั้น เขา​จึง​ขอ​กษัตริย์​ฟิลิป​ที่ 2 แห่ง​สเปน​ให้​เป็น​ผู้​สนับสนุน​อย่าง​เป็น​ทาง​การ. ก่อน​ที่​จะ​ทำ​การ​ตัดสิน​พระทัย กษัตริย์​ได้​ปรึกษา​ผู้​คง​แก่​เรียน​ชาว​สเปน​หลาย​คน รวม​ถึง​เบนิโต อารยาส มอนตาโน ผู้​คง​แก่​เรียน​ด้าน​คัมภีร์​ไบเบิล​ที่​มี​ชื่อเสียง. เขา​ทูล​กษัตริย์​ฟิลิป​ว่า “นอก​จาก​จะ​เป็น​การ​รับใช้​พระเจ้า​และ​เป็น​ประโยชน์​ต่อ​คริสตจักร​โรมัน​คาทอลิก​แล้ว การ​สนับสนุน​ของ​พระองค์​ยัง​จะ​นำ​ชื่อเสียง​และ​พระ​เกียรติ​อัน​ยิ่ง​ใหญ่​มา​สู่​ราชวงศ์​ของ​ฝ่า​พระ​บาท​และ​พระองค์​เอง​ก็​จะ​เป็น​ที่​ยกย่อง​สรรเสริญ​ด้วย.”

คอมพลูเทนเชียน โพลิกลอท​ฉบับ​ปรับ​ปรุง​ใหม่​จะ​เป็น​ผล​งาน​ชิ้น​เอก​ทาง​วัฒนธรรม​ที่​โดด​เด่น ดัง​นั้น กษัตริย์​ฟิลิป​จึง​ตัดสิน​พระทัย​ว่า​จะ​สนับสนุน​โครงการ​ของ​ปลองแตง​อย่าง​เต็ม​ที่. พระองค์​แต่ง​ตั้ง​ให้​อารยาส มอนตาโน​เป็น​ผู้​ตรวจ​แก้ไข​งาน​สำคัญ​ชิ้น​นี้ ซึ่ง​ต่อ​มา​เป็น​ที่​รู้​จัก​กัน​ใน​นาม​รอยัล​ไบเบิล หรือ​แอนทเวิร์ป โพลิกลอท. *

กษัตริย์​ฟิลิป​สน​พระทัย​ความ​คืบ​หน้า​ของ​คัมภีร์​ไบเบิล​ฉบับ​โพลิกลอท​อย่าง​มาก​จน​ถึง​กับ​มี​รับสั่ง​ให้​ส่ง​สำเนา​ทุก​แผ่น​ไป​ให้​พระองค์​พิสูจน์​อักษร. แน่นอน​ว่า ปลองแตง​ไม่​อยาก​รอ​จน​กระทั่ง​แผ่น​สำเนา​ผ่าน​การ​พิสูจน์​อักษร​จาก​กษัตริย์​ซึ่ง​ประทับ​ใน​สเปน​แล้ว​ค่อย​ส่ง​กลับ​มา​ที่​แอนทเวิร์ป. ผล​ก็​คือ กษัตริย์​ฟิลิป​ได้​รับ​แผ่น​พิมพ์​แผ่น​แรก​เท่า​นั้น และ​บาง​ที​อาจ​ได้​รับ​หน้า​แรก ๆ ไม่​กี่​หน้า. ขณะ​เดียว​กัน มอนตาโน​ทำ​หน้า​ที่​เป็น​ผู้​พิสูจน์​อักษร​ตัว​จริง​และ​งาน​ของ​เขา​ก็​คืบ​หน้า​เป็น​อย่าง​ดี โดย​ได้​รับ​ความ​ช่วยเหลือ​เป็น​พิเศษ​จาก​ศาสตราจารย์​สาม​คน​จาก​เมือง​ลู​แวง​รวม​ทั้ง​บุตร​สาว​วัยรุ่น​ของ​ช่าง​พิมพ์​ด้วย.

ผู้​รัก​พระ​คำ​ของ​พระเจ้า

อารยาส มอนตาโน​เข้า​กัน​ได้​ดี​กับ​ผู้​คง​แก่​เรียน​คน​อื่น ๆ ใน​แอนทเวิร์ป. เนื่อง​จาก​มอนตาโน​เป็น​คน​ใจ​กว้าง ปลองแตง​จึง​สนิทสนม​กับ​เขา​มาก ทั้ง​สอง​คน​มี​มิตรภาพ​ที่​ดี​ต่อ​กัน​และ​ให้​ความ​ร่วม​มือ​กัน​เป็น​อย่าง​ดี​ตลอด​ชีวิต​ของ​พวก​เขา. มอนตาโน​มี​ชื่อเสียง​ไม่​เฉพาะ​แต่​ที่​เขา​เป็น​ผู้​คง​แก่​เรียน​เท่า​นั้น แต่​เพราะ​เขา​รัก​พระ​คำ​ของ​พระเจ้า​อย่าง​ลึกซึ้ง​อีก​ด้วย. * เมื่อ​เป็น​หนุ่ม เขา​ต้องการ​เรียน​ให้​จบ​เร็ว ๆ เพื่อ​จะ​อุทิศ​ชีวิต​ศึกษา​คัมภีร์​ไบเบิล​อย่าง​เต็ม​ที่.

อารยาส มอนตาโน​เชื่อ​ว่า​คัมภีร์​ไบเบิล​ควร​แปล​ตาม​ตัว​อักษร​เท่า​ที่​เป็น​ไป​ได้. เขา​พยายาม​แปล​ให้​ตรง​ตาม​ที่​จารึก​ไว้​ใน​ข้อ​ความ​ต้น​ฉบับ จึง​ทำ​ให้​ผู้​อ่าน​มี​โอกาส​อ่าน​พระ​คำ​ของ​พระเจ้า​จริง ๆ. มอนตาโน​ปฏิบัติ​ตาม​คติ​พจน์​ของ​เอราสมุส​ที่​กระตุ้น​ผู้​คง​แก่​เรียน​ว่า “ให้​ประกาศ​เรื่อง​พระ​คริสต์​ตาม​ที่​มี​เขียน​ไว้​ใน​ภาษา​ดั้งเดิม.” เนื่อง​จาก​เป็น​เรื่อง​ยาก​ที่​จะ​เข้าใจ​พระ​คัมภีร์​ภาษา​ลาติน ประชาชน​จึง​ไม่​มี​โอกาส​เข้าใจ​ความ​หมาย​ของ​สิ่ง​ที่​จารึก​ไว้​ใน​พระ​คัมภีร์​ภาษา​เดิม​นาน​หลาย​ศตวรรษ​ก่อน​หน้า​นั้น.

การ​จัด​รูป​เล่ม

สำเนา​คัมภีร์​ไบเบิล​ทุก​ชิ้น​ที่​อัลฟองโซ เด ซาโมรา​รวบ​รวม​ไว้​และ​ปรับ​ปรุง​แก้ไข​เพื่อ​จะ​นำ​มา​พิมพ์​คอมพลูเทนเชียน โพลิกลอท​ได้​ตก​มา​ถึง​มือ​อารยาส มอนตาโน เขา​จึง​ใช้​ข้อมูล​เหล่า​นั้น​สำหรับ​ทำ​รอยัล​ไบเบิล. *

ที​แรก ผู้​จัด​พิมพ์​ตั้งใจ​จะ​ให้​รอยัล​ไบเบิล​เป็น​คอมพลูเทนเชียน โพลิกลอท​ฉบับ​ที่​สอง แต่​ปรากฏ​ว่า​นี่​ไม่​ใช่​แค่​ฉบับ​ปรับ​ปรุง​แก้ไข​ธรรมดา ๆ. มี​การ​ยก​ข้อ​ความ​ภาษา​ฮีบรู​และ​กรีก​ของ​เซปตัวจินต์ จาก​คอมพลูเทนเชียน​ไบเบิล อีก​ทั้ง​มี​การ​เพิ่ม​ข้อ​ความ​ใหม่​เข้า​ไป​และ​มี​ภาค​ผนวก​ที่​ครอบ​คลุม​เนื้อหา​อย่าง​กว้างขวาง​ด้วย. สุด​ท้าย​แล้ว โพลิกลอท​ฉบับ​ใหม่​นี้​มี​ทั้ง​หมด​แปด​เล่ม. การ​พิมพ์​ใช้​เวลา​ห้า​ปี​โดย​เริ่ม​ตั้ง​แต่​ปี 1568 ถึง 1572 ซึ่ง​นับ​ว่า​ใช้​เวลา​น้อย​มาก​เมื่อ​คำนึง​ถึง​ความ​ซับซ้อน​ของ​งาน​ชิ้น​นี้. ใน​ที่​สุด​มี​การ​พิมพ์​ออก​มา 1,213 ชุด.

ขณะ​ที่​คอมพลูเทนเชียน โพลิกลอท​ซึ่ง​พิมพ์​ใน​ปี 1517 เป็น “อนุสรณ์​ทาง​ด้าน​ศิลปะ​การ​พิมพ์” แต่​แอนทเวิร์ป โพลิกลอท​เล่ม​ใหม่​นี้​เหนือ​กว่า​โพลิกลอท​ฉบับ​ก่อน​ใน​ด้าน​คุณค่า​ทาง​วิชาการ​และ​เนื้อหา. นี่​เป็น​เหตุ​การณ์​สำคัญ​อีก​อย่าง​หนึ่ง​ของ​ประวัติศาสตร์​การ​พิมพ์ และ​ที่​สำคัญ​กว่า​นั้น เป็น​การ​รวบ​รวม​ข้อ​ความ​ที่​ขัด​เกลา​แล้ว​ซึ่ง​ใช้​เป็น​แบบ​ฉบับ​ของ​คัมภีร์​ไบเบิล.

ถูก​โจมตี​จาก​ศัตรู​แห่ง​พระ​คำ​ของ​พระเจ้า

ไม่​นาน ผู้​ที่​ไม่​เห็น​ด้วย​กับ​การ​แปล​คัมภีร์​ไบเบิล​อย่าง​ซื่อ​สัตย์​ได้​ปรากฏ​ตัว​ขึ้น ซึ่ง​ไม่​ใช่​เรื่อง​ที่​น่า​แปลก​ใจ​เลย. แม้​แอนทเวิร์ป โพลิกลอท​จะ​ได้​รับ​ความ​เห็น​ชอบ​จาก​สันตะปาปา และ​อารยาส มอนตาโน​ก็​สม​ควร​จะ​ได้​รับ​ชื่อเสียง​ฐานะ​นัก​วิชาการ​ผู้​ทรง​เกียรติ แต่​เขา​ก็​ยัง​ถูก​ศาล​ศาสนา​กล่าว​โทษ. ผู้​ต่อ​ต้าน​กล่าว​ว่า ผล​งาน​ของ​เขา​บ่ง​ชี้​ว่า​ข้อ​ความ​ภาษา​ลาติน​ฉบับ​ปรับ​ปรุง​ใหม่​ของ​แซงเตส ปันยีโน แปล​พระ​คัมภีร์​ภาค​ภาษา​ฮีบรู​และ​กรีก​ได้​ถูก​ต้อง​แม่นยำ​กว่า​วัลเกต ซึ่ง​มี​การ​แปล​ก่อน​หน้า​นี้​นาน​หลาย​ศตวรรษ. นอก​จาก​นี้ พวก​เขา​ยัง​กล่าวหา​ว่า การ​ที่​มอนตาโน​อ้างอิง​ภาษา​ดั้งเดิม​เพื่อ​ผลิต​ฉบับ​แปล​ที่​ถูก​ต้อง​แม่นยำ​นั้น​เป็น​วิธี​ของ​พวก​นอก​รีต.

ศาล​ศาสนา​ถึง​กับ​อ้าง​ว่า “การ​ที่​กษัตริย์​สนับสนุน​งาน​นี้​ก็​ไม่​ได้​ทำ​ให้​พระองค์​ได้​รับ​เกียรติยศ​มาก​ขึ้น​แต่​อย่าง​ใด.” พวก​เขา​แสดง​ความ​เสียใจ​ที่​มอนตาโน​ไม่​ได้​ให้​เกียรติ​ฉบับ​แปล​วัลเกต อย่าง​เพียง​พอ เพราะ​พวก​เขา​ถือ​ว่า​นั่น​คือ​ฉบับ​แปล​ที่​ใช้​อย่าง​เป็น​ทาง​การ. แม้​จะ​มี​ข้อ​กล่าวหา​เหล่า​นี้ พวก​เขา​ก็​ไม่​อาจ​หา​ข้อ​พิสูจน์​เพียง​พอ​ที่​จะ​ตัดสิน​ว่า​มอนตาโน​และ​คัมภีร์​ไบเบิล​ฉบับ​โพลิกลอท​มี​ความ​ผิด. สุด​ท้าย รอยัล​ไบเบิล​ก็​ได้​รับ​ความ​นิยม​อย่าง​มาก และ​กลาย​เป็น​ฉบับ​มาตรฐาน​ที่​ใช้​ใน​มหาวิทยาลัย​ต่าง ๆ.

เครื่อง​มือ​ที่​เป็น​ประโยชน์​สำหรับ​การ​แปล​คัมภีร์​ไบเบิล

แม้​แอนทเวิร์ป โพลิกลอท​ไม่​ได้​ตั้งใจ​ทำ​ขึ้น​เพื่อ​สาธารณชน​ทั่ว​ไป แต่​ไม่​นาน​ฉบับ​แปล​นี้​ก็​เป็น​เครื่อง​มือ​ที่​เป็น​ประโยชน์​สำหรับ​ผู้​แปล​คัมภีร์​ไบเบิล. เช่น​เดียว​กับ​คอมพลูเทนเชียน โพลิกลอท คัมภีร์​ไบเบิล​ฉบับ​นี้​ช่วย​ขัด​เกลา​ข้อ​ความ​ของ​พระ​คัมภีร์​ที่​มี​อยู่. ทั้ง​ยัง​ช่วย​ให้​ผู้​แปล​เข้าใจ​ภาษา​เดิม​ดี​ขึ้น. การ​แปล​คัมภีร์​ไบเบิล​เป็น​ภาษา​หลัก​ต่าง ๆ ใน​ยุโรป​ได้​รับ​ประโยชน์​จาก​ฉบับ​แปล​นี้. ตัว​อย่าง​เช่น ประวัติศาสตร์​คัมภีร์​ไบเบิล​ฉบับ​เคมบริดจ์ (ภาษา​อังกฤษ) รายงาน​ว่า​ผู้​แปล​ฉบับ​แปล​คิงเจมส์​หรือ​ออโทไรซ์ เวอร์ชัน ปี 1611 ใช้​แอนทเวิร์ป โพลิกลอท​เป็น​เครื่อง​ช่วย​ที่​มี​ประโยชน์​อย่าง​มาก​สำหรับ​การ​แปล​ภาษา​โบราณ​ต่าง ๆ. รอยัล​ไบเบิล​ยัง​ส่ง​ผล​กระทบ​ไม่​น้อย​ต่อ​โพลิกลอท​สอง​ฉบับ​ที่​สำคัญ​ซึ่ง​พิมพ์​ขึ้น​ใน​ศตวรรษ​ที่ 17.—ดู​กรอบ “คัมภีร์​ไบเบิล​ฉบับ​โพลิกลอท.”

หนึ่ง​ใน​ข้อ​ดี​หลาย​ประการ​ของ​แอนทเวิร์ป โพลิกลอท​คือ​ข้อ​เท็จ​จริง​ที่​ว่า โพลิกลอท​ฉบับ​นี้​จัด​ให้​มี​พระ​คัมภีร์​ภาค​ภาษา​กรีก​ฉบับ​แปล​ภาษา​ซีเรีย​โบราณ​ให้​ผู้​คง​แก่​เรียน​ใน​ยุโรป​ได้​ศึกษา​เป็น​ครั้ง​แรก. ข้อ​ความ​ภาษา​ซีเรีย​โบราณ​อยู่​ติด​กับ​ข้อ​ความ​ภาษา​ลาติน​ที่​แปล​ตาม​ตัว​อักษร. นี่​คือ​ส่วน​เสริม​ที่​เป็น​ประโยชน์​อย่าง​มาก เนื่อง​จาก​ฉบับ​แปล​ภาษา​ซีเรีย​โบราณ​เป็น​หนึ่ง​ใน​ฉบับ​แปล​ที่​เก่า​แก่​ที่​สุด​ของ​พระ​คัมภีร์​คริสเตียน​ภาค​ภาษา​กรีก. ฉบับ​แปล​ภาษา​ซีเรีย​โบราณ​นี้​มี​อายุ​ย้อน​หลัง​ตั้ง​แต่​ศตวรรษ​ที่​ห้า​สากล​ศักราช ซึ่ง​อาศัย​สำเนา​ต้น​ฉบับ​ที่​มี​อายุ​ย้อน​หลัง​ไป​ถึง​ศตวรรษ​ที่​สอง​สากล​ศักราช. ตาม​ที่​สารานุกรม ดิ อินเตอร์​แนชันแนล สแตนดาร์ด ไบเบิล กล่าว​ไว้ “เป็น​ที่​ยอม​รับ​กัน​ทั่ว​ไป​ว่า ฉบับ​แปล​เพชิตตา [ภาษา​ซีเรีย​โบราณ] มี​ความ​สำคัญ​อย่าง​มาก​ใน​การ​ตรวจ​สอบ​ข้อ​ความ​ใน​พระ​คัมภีร์. เพชิตตา​เป็น​หนึ่ง​ใน​แหล่ง​ข้อมูล​ที่​เก่า​แก่​และ​สำคัญ​ที่​สุด​เกี่ยว​กับ​พระ​คัมภีร์​ดั้งเดิม.”

คอมพลูเทนเชียน โพลิกลอท​ฉบับ​ปรับ​ปรุง​ใหม่​ที่​มี​การ​เพิ่ม​ราย​ละเอียด​ได้​ปรากฏ​ขึ้น​มา​อีก​ครั้ง​หนึ่ง​ใน​ปี 1572 ใน​นาม​รอยัล​ไบเบิล โดย​ที่​ทั้ง​พายุ​ใน​ทะเล​หรือ​การ​โจมตี​จาก​ศาล​ศาสนา​ใน​สเปน​ก็​ไม่​อาจ​ขัด​ขวาง​ได้. ความ​เป็น​มา​ของ​คัมภีร์​ไบเบิล​ฉบับ​โพลิกลอท​แห่ง​แอนทเวิร์ป​เป็น​อีก​ตัว​อย่าง​หนึ่ง​ที่​แสดง​ให้​เห็น​ความ​พยายาม​อย่าง​จริง​ใจ​ของ​บาง​คน​ที่​จะ​ปก​ป้อง​พระ​คำ​ของ​พระเจ้า.

ไม่​ว่า​พวก​เขา​จะ​รู้​หรือ​ไม่​ก็​ตาม การ​ทำ​งาน​หนัก​อย่าง​ไม่​เห็น​แก่​ตัว​ของ​บุรุษ​ผู้​ทุ่มเท​ตัว​เหล่า​นี้​สะท้อน​ความ​จริง​แห่ง​คำ​พยากรณ์​ของ​ยะซายา. ท่าน​เขียน​ไว้​เมื่อ​เกือบ​สาม​พัน​ปี​มา​แล้ว​ว่า “มนุษยชาติ​นี่​เปรียบ​เหมือน​หญ้า​จริง​ที​เดียว, ส่วน​หญ้า​นั้น​ก็​เหี่ยว​แห้ง, และ​ดอกไม้​ก็​ร่วงโรย​ไป, แต่​พระ​ดำรัส​ของ​พระเจ้า​ของ​เรา​จะ​ยั่งยืน​อยู่​เป็น​นิจ.”—ยะซายา 40:​8.

[เชิงอรรถ]

^ วรรค 4 คัมภีร์​ไบเบิล​ฉบับ​นี้​มี​ชื่อ​ว่า รอยัล​ไบเบิล เนื่อง​จาก​กษัตริย์​ฟิลิป​เป็น​ผู้​ให้​การ​สนับสนุน และ​มี​ชื่อ​ว่า​แอนทเวิร์ป โพลิกลอท​เนื่อง​จาก​พิมพ์​ที่​เมือง​แอนทเวิร์ป ซึ่ง​ใน​ขณะ​นั้น​เป็น​ส่วน​หนึ่ง​ของ​จักรวรรดิ​สเปน.

^ วรรค 7 เขา​เชี่ยวชาญ​ใน​ภาษา​อาหรับ, กรีก, ฮีบรู, ลาติน, และ​ซีเรีย​โบราณ ซึ่ง​เป็น​ห้า​ภาษา​สำคัญ​ที่​ใช้​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล​ฉบับ​โพลิกลอท. นอก​จาก​นี้ เขา​ยัง​มี​ความ​รู้​มาก​ใน​เรื่อง​โบราณคดี, การ​แพทย์, วิทยาศาสตร์​ธรรมชาติ, และ​เทววิทยา ซึ่ง​เป็น​ความ​รู้​ที่​เขา​นำ​มา​ใช้​เพื่อ​ทำ​ภาค​ผนวก​สำหรับ​คัมภีร์​ไบเบิล​ฉบับ​โพลิกลอท.

^ วรรค 10 สำหรับ​คำ​อธิบาย​เกี่ยว​กับ​ความ​สำคัญ​ของ​คอมพลูเทนเชียน โพลิกลอท ดู​หอสังเกตการณ์ 15 เมษายน 2004.

[คำ​โปรย​หน้า 13]

“พระ​ดำรัส​ของ​พระเจ้า​ของ​เรา​จะ​ยั่งยืน​อยู่​เป็น​นิจ”

[กรอบ/ภาพ​หน้า 12]

คัมภีร์​ไบเบิล​ฉบับ​โพลิกลอท

เฟเดริโก เปเรซ คาสโตร ผู้​คง​แก่​เรียน​ชาว​สเปน​อธิบาย​ว่า “คัมภีร์​ไบเบิล​ฉบับ​โพลิกลอท​เป็น​คัมภีร์​ไบเบิล​ที่​มี​ข้อ​ความ​หลาย​ภาษา. แต่​ตาม​ที่​เข้าใจ​สืบ​ทอด​กัน​มา คำ​นี้​พาด​พิง​ถึง​คัมภีร์​ไบเบิล​ที่​บรรจุ​ข้อ​ความ​ภาษา​ดั้งเดิม. ถ้า​เป็น​ใน​แง่​ความ​หมาย​หลัง​นี้​จริง ๆ คัมภีร์​ไบเบิล​ฉบับ​โพลิกลอท​จะ​มี​น้อย​มาก.”

1. คอมพลูเทนเชียน โพลิกลอท (ปี 1514-1517) ได้​รับ​การ​สนับสนุน​จาก​คาร์ดินัล​ซิสเนรอส พิมพ์​ที่​มหาวิทยาลัย​อัลคาลา เด เฮนาเรส ประเทศ​สเปน. ฉบับ​แปล​นี้​มี​หก​เล่ม และ​มี​ข้อ​ความ​ของ​คัมภีร์​ไบเบิล​สี่​ภาษา​คือ ภาษา​ฮีบรู, กรีก, อาระเมอิก, และ​ลาติน. ผู้​แปล​ใน​สมัย​ศตวรรษ​ที่ 16 ใช้​ประโยชน์​จาก​ฉบับ​แปล​นี้​เพราะ​มี​ข้อ​ความ​ที่​เป็น​แบบ​ฉบับ​ของ​พระ​คัมภีร์​ฉบับ​ภาษา​ฮีบรู-อาระเมอิก.

2. แอนทเวิร์ป โพลิกลอท (ปี 1568-1572) ได้​รับ​การ​ตรวจ​แก้ไข​โดย​เบนิโต อารยาส มอนตาโน เป็น​ฉบับ​คอมพลูเทนเชียน​ที่​มี​ส่วน​ที่​เพิ่ม​เข้า​มา​คือ พระ​คัมภีร์​คริสเตียน​ภาค​ภาษา​กรีก​ฉบับ​แปล​เพชิตตา​ภาษา​ซีเรีย​โบราณ​และ​ทาร์กุม​อาระเมอิก​ของ​โจนาทาน. มี​การ​ปรับ​ปรุง​แก้ไข​ข้อ​ความ​ภาษา​ฮีบรู​ที่​มี​เครื่องหมาย​สระ​และ​การ​ออก​เสียง​โดย​อาศัย​ข้อ​ความ​ภาษา​ฮีบรู​ที่​ได้​รับ​มา​ของ​ยาคอบ เบน ฮายยิม. ดัง​นั้น โพลิกลอท​ฉบับ​นี้​จึง​กลาย​มา​เป็น​พระ​คัมภีร์​ภาค​ภาษา​ฮีบรู​ฉบับ​มาตรฐาน​สำหรับ​ผู้​แปล​คัมภีร์​ไบเบิล.

3. ปารีส โพลิกลอท (ปี 1629-1645) ได้​รับ​การ​สนับสนุน​โดย​ทนาย​ชาว​ฝรั่งเศส​ที่​ชื่อ​กี มิเชล เลอ เช. โพลิกลอท​ฉบับ​นี้​เกิด​จาก​แอนทเวิร์ป โพลิกลอท แต่​ได้​มี​การ​เพิ่ม​ข้อ​ความ​ภาษา​ซะมาเรีย​และ​ภาษา​อาหรับ​ลง​ไป​บาง​ส่วน.

4. ลอนดอน โพลิกลอท (ปี 1655-1657) ได้​รับ​การ​ตรวจ​แก้ไข​โดย​ไบรอัน วอลตัน และ​อาศัย​แอนทเวิร์ป โพลิกลอท​เป็น​พื้น​ฐาน​ด้วย. โพลิกลอท​ฉบับ​นี้​มี​คัมภีร์​ไบเบิล​ฉบับ​แปล​ภาษา​เอธิโอเปีย​และ​เปอร์เซีย​โบราณ​รวม​อยู่​ด้วย แม้​ว่า​ฉบับ​แปล​เหล่า​นี้​ไม่​ได้​ช่วย​ให้​เข้าใจ​ข้อ​ความ​คัมภีร์​ไบเบิล​มาก​ขึ้น​เท่า​ใด​นัก.

[ที่​มา​ของ​ภาพ]

Banner and Antwerp Polyglots (two underneath): Biblioteca Histórica. Universidad Complutense de Madrid; Antwerp Polyglot (on top): By courtesy of Museum Plantin-Moretus/Stedelijk Prentenkabinet Antwerpen; London Polyglot: From the book The Walton Polyglot Bible, Vol. III, 1655-1657

[ภาพ​หน้า 9]

กษัตริย์​ฟิลิป​ที่ 2 แห่ง​สเปน

[ที่​มา​ของ​ภาพ]

Philip II: Biblioteca Nacional, Madrid

[ภาพ​หน้า 10]

อารยาส มอนตาโน

[ที่​มา​ของ​ภาพ]

Montano: Biblioteca Histórica. Universidad Complutense de Madrid

[ภาพ​หน้า 10]

เครื่อง​พิมพ์​ดั้งเดิม​ใน​แอนทเวิร์ป เบลเยียม

[ที่​มา​ของ​ภาพ]

Press: By courtesy of Museum Plantin-Moretus/Stedelijk Prentenkabinet Antwerpen

[ภาพ​หน้า 11]

ซ้าย: คริสตอฟ ปลองแตง​และ​หน้า​ปก แอนทเวิร์ป โพลิกลอท

[ที่​มา​ของ​ภาพ]

Title page and Plantin: By courtesy of Museum Plantin-Moretus/Stedelijk Prentenkabinet Antwerpen

[ภาพ​หน้า 11]

บน: เอ็กโซโด​บท 15 มี​ข้อ​ความ​สี่​คอลัมน์

[ที่​มา​ของ​ภาพ]

Title page and Plantin: By courtesy of Museum Plantin-Moretus/Stedelijk Prentenkabinet Antwerpen

[ที่​มา​ของ​ภาพ​หน้า 13]

Biblioteca Histórica. Universidad Complutense de Madrid