คุ้มค่าไหมที่จะเป็นคนซื่อสัตย์ภักดี?
คุ้มค่าไหมที่จะเป็นคนซื่อสัตย์ภักดี?
“คุณจ่ายมากเกินไปสำหรับการประกันสุขภาพ” คาร์ล ตัวแทนบริษัทประกันแห่งหนึ่งกล่าว. * “ถ้าคุณเปลี่ยนมาทำประกันกับบริษัทของผม คุณจะประหยัดเงินได้ถึงเดือนละ 15 ยูโร (ประมาณ 750 บาท) ซึ่งเยอะทีเดียว.”
“ก็อาจจะจริง” เยนส์ตอบ. “แต่ผมทำประกันสุขภาพกับบริษัทนี้มาหลายปีแล้ว. ที่ผ่านมาเขาก็ช่วยเราได้มาก และผมก็อยากจะเป็นลูกค้าที่ซื่อสัตย์ภักดี.”
“ความซื่อสัตย์ภักดีเป็นคุณสมบัติที่ดีมาก” คาร์ลตอบ. “แต่คุณก็ต้องเสียเงินเพื่อจะเป็นคนซื่อสัตย์ภักดี!”
คาร์ลพูดถูก. บ่อยครั้ง การซื่อสัตย์ภักดีต่อใครสักคนอาจทำให้ต้องเสียเงิน. * ทั้งยังเรียกร้องเวลา, กำลัง, และความผูกพันทางอารมณ์ความรู้สึก. ความซื่อสัตย์ภักดีให้ผลคุ้มค่าไหมเมื่อคิดถึงสิ่งที่ต้องเสียไป?
เป็นที่ยกย่องมากกว่าจะปฏิบัติ
จากผลการสำรวจของสถาบันวิจัยความคิดเห็นอัลเลนส์บาค ในเยอรมนี พบว่า 96 เปอร์เซ็นต์ของผู้แสดงความคิดเห็นมองว่าความซื่อสัตย์เป็นคุณสมบัติที่น่าปรารถนา. การสำรวจอีกรายหนึ่งของสถาบันอัลเลนส์บาค ซึ่งได้สอบถามผู้ที่อายุ 18 ถึง 24 ปี แสดงให้เห็นว่า 2 ใน 3 ของผู้ตอบคำถามถือว่าความซื่อสัตย์ภักดีกำลังเป็นที่ต้องการมาก และพวกเขาชอบคุณสมบัติเช่นนี้.
แม้ความซื่อสัตย์ภักดีจะเป็นที่นิยมยกย่องในหมู่คนส่วนใหญ่ แต่การเป็นคนซื่อสัตย์ภักดีเป็นอีกเรื่องหนึ่ง. ตัวอย่างเช่น ในหลายประเทศแถบยุโรป คู่สมรสหรือสมาชิกครอบครัวมักแสดงความซื่อสัตย์ภักดีต่อกันเพียงเล็กน้อย. บ่อยครั้ง เพื่อนก็ไม่ภักดีต่อกัน. และความซื่อสัตย์ภักดีที่ครั้งหนึ่งเคยผูกพันเจ้านายกับลูกน้องหรือบริษัทกับลูกค้าไว้ด้วยกันก็แทบจะไม่มีอีกต่อไปแล้ว. ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น?
บางครั้งจังหวะชีวิตที่เร่งรีบทำให้แทบไม่มีเวลาและแรงใจเหลือพอสำหรับความผูกพันใด ๆ ที่เรียกร้องความซื่อสัตย์ภักดี. คนที่ผิดหวังและชอกช้ำใจเพราะความสัมพันธ์กับเพื่อนมนุษย์อาจไม่กล้าที่จะซื่อสัตย์ภักดีกับใครอีก. คนอื่น ๆ อาจชอบชีวิตแบบชั่วประเดี๋ยวประด๋าวที่ไม่เรียกร้องความซื่อสัตย์ภักดีมากกว่า.
ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใด ความซื่อสัตย์ภักดีเป็นคุณธรรมที่ผู้คนนิยมยกย่องมากกว่าจะปฏิบัติจริง. ดังนั้น จึงเกิดคำถามว่า เป็นเรื่องคุ้มค่าไหมที่จะเป็นคนซื่อสัตย์ภักดี? ถ้าใช่ เราควรซื่อสัตย์ภักดีต่อใครและโดยวิธีใด? การเป็นคนซื่อสัตย์ภักดีเป็นประโยชน์อย่างไรบ้าง?
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 2 มีการเปลี่ยนชื่อบางคนในบทความนี้และบทความถัดไป.
^ วรรค 5 แม้คำว่า “ภักดี” และ “ซื่อสัตย์” ตามปกติจะไม่ใช้ในบริบทเดียวกันเสมอไป แต่บางครั้งมีการใช้สองคำนี้สลับกันในบทความนี้และบทความหน้า.
[คำโปรยหน้า 3]
ความซื่อสัตย์ภักดีเป็นคุณธรรมที่ผู้คนนิยมยกย่องมากกว่าจะปฏิบัติจริง