จุดเด่นจากพระธรรมโครนิกาฉบับต้น
พระคำของพระยะโฮวามีชีวิต
จุดเด่นจากพระธรรมโครนิกาฉบับต้น
ประมาณ 77 ปีผ่านไปนับตั้งแต่ชาวยิวกลับคืนสู่มาตุภูมิหลังจากถูกเนรเทศไปยังบาบิโลน. พระวิหารหลังใหม่ที่ผู้สำเร็จราชการซะรูบาเบลสร้างขึ้นอยู่มาได้ 55 ปีแล้ว. เหตุผลสำคัญที่ชาวยิวกลับมาก็คือ เพื่อฟื้นฟูการนมัสการแท้ในกรุงเยรูซาเลม. อย่างไรก็ตาม ประชาชนไม่ค่อยมีความกระตือรือร้นในการนมัสการพระยะโฮวา จึงเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องให้การหนุนใจพวกเขา และพระธรรมโครนิกาฉบับต้นก็บันทึกสิ่งที่ให้การหนุนใจเช่นนั้น.
นอกจากจะบันทึกลำดับวงศ์วานแล้ว พระธรรมโครนิกาฉบับต้นยังบันทึกเรื่องราวที่ครอบคลุมเหตุการณ์ในช่วงเวลาประมาณ 40 ปีนับตั้งแต่การสิ้นพระชนม์ของกษัตริย์ซาอูลจนถึงการสิ้นพระชนม์ของกษัตริย์ดาวิด. เชื่อกันว่าปุโรหิตเอษราเป็นผู้เขียนพระธรรมนี้ในช่วงปี 460 ก่อนสากลศักราช. โครนิกาฉบับต้นเป็นพระธรรมที่น่าสนใจ เนื่องจากพระธรรมนี้ช่วยให้เราเข้าใจลึกซึ้งเกี่ยวกับการนมัสการในพระวิหารและมีรายละเอียดเกี่ยวกับการสืบเชื้อสายของพระมาซีฮา. ในฐานะเป็นส่วนหนึ่งแห่งพระคำของพระเจ้าที่ได้รับการดลใจ ข่าวสารในพระธรรมนี้ช่วยเสริมสร้างความเชื่อและช่วยให้เข้าใจคัมภีร์ไบเบิลดีขึ้น.—เฮ็บราย 4:12.
บันทึกรายชื่อที่สำคัญ
การที่เอษราบันทึกรายชื่อลำดับวงศ์วานอย่างละเอียดเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งด้วยเหตุผลอย่างน้อยสามประการคือ เพื่อให้แน่ใจว่าเฉพาะผู้มีสิทธิ์จึงจะได้รับใช้ในฐานะปุโรหิต, เพื่อจะยืนยันการสืบมรดกของตระกูล, และเพื่อจะรักษาบันทึกการสืบเชื้อสายที่นำไปถึงพระมาซีฮา. ลำดับวงศ์วานนี้เชื่อมโยงชาวยิวกับประวัติความเป็นมาของพวกเขาย้อนไปไกลถึงมนุษย์คนแรก. มีการกล่าวถึงสิบชั่วอายุนับจากอาดามถึงโนฮา และอีกสิบชั่วอายุต่อมาจนถึงอับราฮาม. หลังจากกล่าวถึงรายชื่อเหล่าบุตรชายของยิศมาเอ็ล, เหล่าบุตรชายของนางคะตูราภรรยาน้อยของอับราฮาม, และเหล่าบุตรชายของเอซาวแล้ว เรื่องราวมุ่งเน้นไปที่ลูกหลานของบุตรชาย 12 คนของอิสราเอล.—1 โครนิกา 2:1.
เอษราให้ความสำคัญกับบันทึกการสืบเชื้อสายของยูดาห์ เนื่องจากเป็นเชื้อวงศ์ของกษัตริย์ดาวิด. มีการกล่าวถึง 14 ชั่วอายุนับจากอับราฮามถึงดาวิด และอีก 14 ชั่วอายุจนถึงเหตุการณ์ที่ชาวยิวถูกเนรเทศไปยังบาบิโลน. (1 โครนิกา 1:27, 34; 2:1-15; 3:1-17; มัดธาย 1:17) จากนั้น เอษราบันทึกรายชื่อลูกหลานของตระกูลต่าง ๆ ที่อยู่ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำจอร์แดน ตามด้วยลำดับวงศ์วานของบุตรชายเลวี. (1 โครนิกา 5:1-24; 6:1) จากนั้น เอษรากล่าวโดยสรุปถึงบางตระกูลที่อยู่ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำจอร์แดนและลำดับวงศ์วานโดยละเอียดของตระกูลเบนยามิน. (1 โครนิกา 8:1) นอกจากนั้น มีการทำรายชื่อผู้ที่อาศัยในเยรูซาเลมรุ่นแรก ๆ หลังจากกลับมาจากการเป็นเชลยในบาบิโลน.—1 โครนิกา 9:1-16.
คำตอบสำหรับคำถามเกี่ยวกับข้อพระคัมภีร์:
1:18—บิดาของซะลา (เซลัค) เป็นใคร—เคนานหรือ อาระฟัคซัต? (ลูกา 3:35, 36) อาระฟัคซัตเป็นบิดาของซะลา. (เยเนซิศ 10:24; 11:12) คำว่า “เคนาน” ในลูกา 3:36 คงจะเป็นคำที่แผลงมาจากคำว่า “ชาวแคลเดีย.” หากเป็นเช่นนั้นจริง ข้อความต้นฉบับอาจอ่านได้ว่า “เป็นบุตรชายของอาระฟัคซัตชาวแคลเดีย.” หรืออาจเป็นไปได้ว่าชื่อเคนานและอาระฟัคซัตหมายถึงคนคนเดียวกัน. เราไม่ควรมองข้ามข้อเท็จจริงที่ว่า คำ “บุตรชายของเคนาน” ไม่พบในสำเนาต้นฉบับบางเล่ม.—ลูกา 3:36, ล.ม.
2:15—ดาวิดเป็นบุตรชายคนที่เจ็ดของยิซัยไหม? ไม่. ยิซัยมีบุตรชายแปดคน และดาวิดเป็นบุตรคนสุดท้อง. (1 ซามูเอล 16:10, 11; 17:12) ดูเหมือนว่า บุตรชายคนหนึ่งของยิซัยเสียชีวิตโดยไม่มีบุตรสืบสกุล. เนื่องจากบุตรชายคนดังกล่าวไม่มีผลอะไรต่อบันทึกลำดับวงศ์วาน เอษราจึงไม่บันทึกชื่อของเขา.
3:17—เหตุใดลูกา 3:27 จึงกล่าวว่าบุตรชายของยะคันยาที่ชื่อซะอันธิเอ็ลเป็นบุตรของเนรี? ยะคันยาเป็นบิดาของซะอันธิเอ็ล. อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าเนรีได้ยกบุตรสาวให้เป็นภรรยาซะอันธิเอ็ล. ลูกาเรียกบุตรเขยของเนรีว่าเป็นบุตรชายของเนรี เหมือนกับที่ท่านเรียกโยเซฟว่าเป็นบุตรชายของเฮลี ทั้ง ๆ ที่เฮลีเป็นบิดาของมาเรีย.—ลูกา 3:23.
3:17-19—ซะรูบาเบ็ล, ฟะดายา, และซะอันธิเอ็ลเกี่ยวข้องกันอย่างไร? ซะรูบาเบ็ลเป็นบุตรชายของฟะดายา ซึ่งเป็นน้องชายของซะอันธิเอ็ล. อย่างไรก็ตาม บางครั้งคัมภีร์ไบเบิลเรียกซะรูบาเบ็ลว่าบุตรชายของซะอันธิเอ็ล. (มัดธาย 1:12; ลูกา 3:27) ที่เป็นเช่นนี้อาจเพราะฟะดายาเสียชีวิตและซะอันธิเอ็ลก็เป็นผู้เลี้ยงดูซะรูบาเบ็ล. หรือบางทีอาจเนื่องจากซะอันธิเอ็ลเสียชีวิตโดยไม่มีบุตร ฟะดายาจึงแต่งงานกับภรรยาของซะอันธิเอ็ลซึ่งเป็นม่าย และซะรูบาเบ็ลก็เป็นบุตรคนแรกของทั้งสอง.—พระบัญญัติ 25:5-10.
5:1, 2—การรับสิทธิบุตรหัวปีมีความหมายเช่นไรสำหรับโยเซฟ? หมายความว่าโยเซฟได้รับส่วนมรดกสองเท่า. (พระบัญญัติ 21:17) ด้วยเหตุนี้ เขาจึงเป็นบิดาของสองตระกูลคือ เอฟรายิมและมะนาเซห์. บุตรชายคนอื่น ๆ ของอิสราเอลเป็นบิดาของตระกูลเดียวเท่านั้น.
บทเรียนสำหรับเรา:
1:1–9:44. ลำดับวงศ์วานของบุคคลที่เคยมีชีวิตอยู่จริงพิสูจน์ว่าการจัดเตรียมทุกอย่างที่เกี่ยวกับการนมัสการแท้ไม่ได้มีพื้นฐานมาจากนิยาย แต่มาจากเรื่องจริง.
4:9, 10. พระยะโฮวาตอบคำอธิษฐานด้วยใจแรงกล้าของยาเบซ ที่ขอให้อาณาเขตของท่านแผ่ขยายออกไปอย่างมีสันติสุข เพื่อจะเป็นที่อยู่อาศัยของประชาชนที่เกรงกลัวพระเจ้าซึ่งกำลังเพิ่มจำนวนขึ้น. เช่นเดียวกัน เราต้องอธิษฐานขอด้วยใจแรงกล้าให้ผู้นมัสการพระเจ้าเพิ่มจำนวนขึ้น ขณะเดียวกันเราก็ต้องเข้าส่วนร่วมในงานทำให้คนเป็นสาวกด้วยใจแรงกล้า.
5:10, 18-22. ในสมัยของกษัตริย์ซาอูล ตระกูลต่าง ๆ ที่อยู่ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำจอร์แดนรบชนะพวกชาวฮัฆรี แม้ว่าทหารในตระกูลเหล่านี้มีจำนวนน้อยกว่าพวกฮัฆรีถึงสองเท่า. ที่เป็นอย่างนั้นก็เพราะบุรุษผู้กล้าหาญในตระกูลเหล่านี้ได้วางใจในพระยะโฮวาและแสวงหาการช่วยเหลือจากพระองค์. ขอเรามั่นใจเต็มเปี่ยมในพระยะโฮวาขณะที่เราเข้าร่วมในการต่อสู้ทางฝ่ายวิญญาณกับศัตรูที่มีจำนวนมากกว่าเรา.—เอเฟโซ 6:10-17.
9:26, 27. ชาวเลวีได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่เฝ้าประตูซึ่งเป็นงานที่ต้องมีความรับผิดชอบสูง. พวกเขาได้รับกุญแจสำหรับเข้าไปในบริเวณที่บริสุทธิ์ของพระวิหาร. พวกเขาได้รับความไว้วางใจว่าจะเปิดประตูในแต่ละวัน. เรามีหน้าที่รับผิดชอบที่จะเข้าถึงทุกคนในเขตทำงานและช่วยเขาให้เข้ามานมัสการพระยะโฮวา. ไม่ควรหรอกหรือที่เราจะ พิสูจน์ตัวว่าเป็นที่วางใจได้และคู่ควรแก่การไว้วางใจเหมือนคนเฝ้าประตูชาวเลวี?
ดาวิดปกครองเป็นกษัตริย์
ส่วนนี้เริ่มต้นด้วยเรื่องราวของกษัตริย์ซาอูลและราชบุตรสามองค์ที่สิ้นพระชนม์ในการรบกับชาวฟิลิสตินที่ภูเขากิลโบอา (ฆีละโบอะ). ดาวิด บุตรชายของยิซัยได้รับการแต่งตั้งเป็นกษัตริย์ปกครองตระกูลยูดาห์. ประชาชนจากทุกตระกูลมาที่เฮบโรนและตั้งท่านให้เป็นกษัตริย์เหนืออิสราเอลทั้งสิ้น. (1 โครนิกา 11:1-3) หลังจากนั้นไม่นานท่านก็ยึดกรุงเยรูซาเลม. ต่อมา ชาวอิสราเอลนำหีบสัญญาไมตรีมายังกรุงเยรูซาเลม “ด้วยเสียงโห่ร้อง, เสียงแตร, . . . พิณสิบสาย, และกระจับปี่.”—1 โครนิกา 15:28.
ดาวิดปรารถนาจะสร้างราชนิเวศถวายแด่พระเจ้าเที่ยงแท้. พระยะโฮวาสงวนสิทธิพิเศษนั้นไว้ให้ซะโลโม แต่พระองค์ทรงทำสัญญากับดาวิดเกี่ยวด้วยเรื่องราชอาณาจักร. เมื่อดาวิดออกไปรบต่อสู้กับศัตรูของอิสราเอล พระยะโฮวาประทานชัยชนะแก่ท่านครั้งแล้วครั้งเล่า. การนับจำนวนประชากรโดยพลการยังผลให้มี 70,000 คนเสียชีวิต. หลังจากได้รับการชี้นำจากทูตสวรรค์ให้สร้างแท่นบูชาสำหรับพระยะโฮวา ดาวิดจึงซื้อที่ดินจากอะราวนาชาวยะบูศ. ดาวิดเริ่ม “จัดเตรียมไว้พร้อมบริบูรณ์” เพื่อจะสร้างวิหารที่ “งามอย่างยิ่ง” สำหรับพระยะโฮวาบนที่ดินผืนนั้น. (1 โครนิกา 22:5) ดาวิดจัดระเบียบงานรับใช้ของชาวเลวีดังที่พรรณนาไว้ในพระธรรมนี้ โดยรายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องนี้มีมากกว่าพระธรรมอื่น ๆ ทั้งหมด. กษัตริย์และประชาชนมีน้ำใจเอื้อเฟื้อในการบริจาคสำหรับพระวิหาร. ตอนที่ดาวิดสิ้นพระชนม์หลังการปกครองเป็นกษัตริย์นาน 40 ปี ท่าน “บริบูรณ์ทั้งทรัพย์สมบัติและเกียรติยศ: แล้วซะโลโมราชโอรสได้ขึ้นเสวยราชย์ต่อมา.”—1 โครนิกา 29:28.
คำตอบสำหรับคำถามเกี่ยวกับข้อพระคัมภีร์:
11:11—เหตุใดผู้ที่ถูกสังหารมีจำนวน 300 คนไม่ใช่ 800 คนดังที่บันทึกใน 2 ซามูเอล 23:8? หัวหน้าของทหารสามนายที่กล้าหาญที่สุดของดาวิดคือยะโซบะอาม. ส่วนทหารกล้าอีกสองคนคือเอละอาซารและซามา. (2 ซามูเอล 23:8-11) เหตุผลที่เรื่องราวทั้งสองแตกต่างกันอาจเป็นเพราะเรื่องเหล่านั้นอาจพูดถึงคนละเหตุการณ์แต่ก็เป็นฝีมือของคนคนเดียว.
11:20, 21—อะบีซัยอยู่ในตำแหน่งใดเกี่ยวข้องกับผู้กล้าหาญสามคนของดาวิด? อะบีซัยไม่ได้เป็นหนึ่งในทหารสามนายที่กล้าหาญที่สุดที่คอยรับใช้ดาวิด. อย่างไรก็ตาม ดังที่กล่าวใน 2 ซามูเอล 23:18, 19, ฉบับแปลใหม่ อะบีซัยเป็นหัวหน้าของทหาร 30 นายและมีตำแหน่งสูงกว่าพวกทหารเหล่านั้น. ชื่อเสียงของอะบีซัยทัดเทียมกับชื่อเสียงของทหารกล้าสามนาย เนื่องจากเขากระทำสิ่งที่แสดงถึงความกล้าหาญคล้ายกันกับที่ยะโซบะอามได้กระทำ.
12:8—ทหารของตระกูลกาด “มีหน้าเหี้ยมเหมือนสิงโต” ในแง่ใด? ทหารกล้าเหล่านี้อยู่เคียงข้างดาวิดในถิ่นทุรกันดาร. พวกเขามีผมยาว. การมีหนวดเครายาวและหนาทำให้พวกเขาดูดุร้ายและมองดูคล้ายสิงโต.
13:5—“แม่น้ำซีโอระเขตแผ่นดินอายฆุบโต” คืออะไร? บางคนคิดว่าคำนี้หมายถึงแม่น้ำสายหนึ่งที่แยกออกมาจากแม่น้ำไนล์. อย่างไรก็ดี โดยทั่วไปแล้วเข้าใจกันว่าเป็นการพาดพิงถึง “ลำธารอียิปต์” ซึ่งก็คือหุบเขาที่ยาวและลึก เป็นแนวพรมแดนทางฝั่งตะวันตกเฉียงใต้ของแผ่นดินตามคำสัญญา.—อาฤธโม 34:2, 5, ฉบับแปลใหม่; เยเนซิศ 15:18.
16:30 (ฉบับแปลใหม่)—“จงตัวสั่น” ต่อพระยะโฮวาหมายความเช่นไร? คำว่า “ตัวสั่น” ในที่นี้ใช้ในแง่ความหมายเป็นนัยที่บ่งชี้ถึงความยำเกรงและความนับถืออย่างสุดซึ้งต่อพระยะโฮวา.
16:1, 37-40; 21:29, 30; 22:19—มีการจัดเตรียมเช่นไรเกี่ยวกับการนมัสการที่ยังคงทำกันอยู่ในอิสราเอลนับตั้งแต่มีการนำหีบสัญญาไมตรีมาไว้ที่กรุงเยรูซาเลมจนกระทั่งวิหารถูกสร้างขึ้น? ก่อนที่ดาวิดจะนำหีบสัญญาไมตรีมาไว้ที่กรุงเยรูซาเลมและตั้งไว้ในเต็นท์ที่ท่านสร้างขึ้น หีบดังกล่าวก็ไม่ได้อยู่ที่พลับพลานานหลายปีแล้ว. หลังจากย้ายหีบมาที่กรุงเยรูซาเลม มีการนำหีบมาไว้ในเต็นท์ภายในกรุง. มหาปุโรหิตซาโดคกับพี่น้องของท่านทำหน้าที่ถวายเครื่องบูชาดังที่แนะไว้ในพระบัญญัติ ณ พลับพลาที่ตั้งอยู่ในเมืองกิบโอน. การจัดเตรียมดังกล่าวยังคงทำกันเรื่อยมาจนกระทั่งพระวิหารในกรุงเยรูซาเลมแล้วเสร็จ. เมื่อพระวิหารมีความพร้อม มีการย้ายพลับพลาจากเมืองกิบโอนมาที่กรุงเยรูซาเลม และหีบสัญญาไมตรีถูกนำมาตั้งไว้ในห้องบริสุทธิ์ที่สุดของพระวิหาร.—1 กษัตริย์ 8:4, 6.
บทเรียนสำหรับเรา:
13:11. แทนที่จะโกรธและตำหนิพระยะโฮวาเมื่อความพยายามของเราล้มเหลว เราต้องวิเคราะห์สถานการณ์และพยายามมองหาสาเหตุที่ทำให้ล้มเหลว. ไม่ต้องสงสัยว่าดาวิดได้ทำเช่นนั้น. ท่านเรียนรู้จากความผิดพลาด และต่อมาท่านใช้วิธีที่ถูกต้องนำหีบสัญญาไมตรีมาไว้ที่กรุงเยรูซาเลมได้สำเร็จ. *
14:10, 13-16; 22:17-19. เราควรเข้าใกล้พระยะโฮวาเสมอโดยการอธิษฐานและแสวงหาการชี้นำก่อนจะลงมือทำสิ่งใดที่จะส่งผลต่อสภาพฝ่ายวิญญาณของเรา.
16:23-29. การนมัสการพระยะโฮวาควรเป็นสิ่งแรกในชีวิตที่เราเป็นห่วง.
18:3. พระยะโฮวาเป็นผู้ทำให้คำสัญญาของพระองค์สำเร็จเป็นจริง. โดยทางดาวิด พระองค์ทำตามคำสัญญาที่จะประทานแผ่นดินทั้งสิ้นของชาวคะนาอันให้แก่ลูกหลานของอับราฮาม “ตั้งแต่แม่น้ำอายฆุบโตไปถึงแม่น้ำใหญ่ชื่อฟะราธ.”—เยเนซิศ 15:18; 1 โครนิกา 13:5.
21:13-15. พระยะโฮวาบัญชาให้ทูตสวรรค์หยุดภัยพิบัติเนื่องจากพระองค์ทรงรู้สึกปวดร้าวพระทัยเมื่อประชาชนของพระองค์ทนทุกข์. จริงทีเดียว “ความเมตตากรุณาของพระองค์เป็นใหญ่เหลือล้น.” *
22:5, 9; 29:3-5, 14-16. แม้ดาวิดไม่ได้รับมอบหมายให้สร้างพระวิหารของพระยะโฮวา แต่ท่านก็มีน้ำใจแห่งการให้. เพราะเหตุใด? เพราะท่านหยั่งรู้ค่าว่า ทุกสิ่งที่ท่านได้รับล้วนแล้วแต่เป็นคุณความดีของพระยะโฮวา. ความรู้สึกหยั่งรู้บุญคุณคล้ายกันนั้นควรกระตุ้นเราให้เป็นคนมีน้ำใจในการให้.
24:7-18. การจัดเตรียมเกี่ยวกับกองเวร 24 กองของพวกปุโรหิตที่ดาวิดจัดระเบียบขึ้นยังคงมีผลบังคับใช้อยู่เมื่อทูตสวรรค์ของพระยะโฮวาปรากฏแก่ซะคาเรีย บิดาของโยฮันผู้ให้บัพติสมา และแจ้งเรื่องการกำเนิดของโยฮัน. ในฐานะที่ซะคาเรียเป็นสมาชิกคนหนึ่งของ “เวรอะบียา” ในเวลานั้น ท่านกำลังอยู่เวรรับใช้ในพระวิหาร. (ลูกา 1:5, 8, 9) การนมัสการแท้เกี่ยวข้องกับบุคคลจริงในประวัติศาสตร์ ไม่ใช่นิยาย. มีผลประโยชน์มากมายเมื่อเราให้ความร่วมมืออย่างภักดีกับ “ทาสสัตย์ซื่อและสุขุม” ในเรื่องการนมัสการพระยะโฮวาซึ่งได้รับการจัดระเบียบอย่างดีในทุกวันนี้.—มัดธาย 24:45, ล.ม.
รับใช้พระยะโฮวา “ด้วยเต็มใจ”
พระธรรมโครนิกาฉบับต้นไม่ได้เป็นเพียงแค่ลำดับวงศ์วานเท่านั้น. ยังมีบันทึกเรื่องที่ดาวิดนำหีบสัญญาไมตรีกลับมาที่กรุงเยรูซาเลม, ชัยชนะยิ่งใหญ่หลายครั้งของท่าน, การเตรียมการสำหรับสร้างพระวิหาร, และการจัดระเบียบกองเวรปุโรหิตตระกูลเลวี. เรื่องราวทั้งหมดที่เอษราบันทึกไว้ในโครนิกาฉบับต้นคงต้องเป็นประโยชน์ต่อชาวอิสราเอลอย่างแน่นอน ทำให้พวกเขามีความกระตือรือร้นอีกครั้งในการนมัสการพระยะโฮวาที่พระวิหาร.
นับว่าดาวิดเป็นตัวอย่างที่ยอดเยี่ยมจริง ๆ ในเรื่องที่ว่า ท่านเอาการนมัสการพระยะโฮวามาเป็นอันดับแรกในชีวิต! แทนที่จะแสวงหาประโยชน์สำหรับตนเอง ดาวิดพยายามทำตามพระทัยประสงค์ของพระเจ้า. เราได้รับการสนับสนุนให้นำคำแนะนำของท่านไปใช้ นั่นคือให้รับใช้พระยะโฮวา “ด้วยสิ้นสุดจิตต์, และด้วยเต็มใจ.”—1 โครนิกา 28:9.
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 32 สำหรับบทเรียนอื่น ๆ ที่ได้จากเรื่องราวที่ดาวิดพยายามขนหีบสัญญาไมตรีมาที่กรุงเยรูซาเลม ดูหอสังเกตการณ์ 15 พฤษภาคม 2005 หน้า 16-19.
^ วรรค 36 สำหรับบทเรียนเกี่ยวกับเรื่องที่ดาวิดนับจำนวนประชากรโดยพลการ ดูหอสังเกตการณ์ 15 พฤษภาคม 2005 หน้า 16-19.
[แผนภูมิ/ภาพหน้า 8-11]
(รายละเอียดดูจากวารสาร)
นับจากอาดามถึงโนฮา (1,056 ปี)
4026 ก่อน ส.ศ. อาดาม
130 ปี ⇩
เซธ
105 ⇩
อะโนศ
90 ⇩
เคนาน
70 ⇩
มาฮะลาเลล
65 ⇩
ยาเร็ด
162 ⇩
ฮะโนค
65 ⇩
มะธูเซลา
187 ⇩
ลาเม็ค
182 ⇩
2970 ก่อน ส.ศ. โนฮาเกิด
จากโนฮาจนถึงอับราฮาม (952 ปี)
2970 ก่อน ส.ศ. โนฮา
502 ปี ⇩
เซม
100 ⇩
น้ำท่วมโลก 2370 ก.ส.ศ.
อาระฟัคซัต
35 ⇩
ซะลา
30 ⇩
เอเบอร์
34 ⇩
เพเล็ฆ
30 ⇩
ริว
32 ⇩
ซะรูฆ
30 ⇩
นาโฮร
29 ⇩
เธรา
130 ⇩
2018 ก่อน ส.ศ. อับราฮามเกิด
จากอับราฮามถึงดาวิด: 14 ชั่วอายุ (911 ปี)
2018 ก่อน ส.ศ. อับราฮาม
100 ปี
ยิศฮาค
60 ⇩
ยาโคบ
ราว ๆ 88 ⇩
ยูดาห์
⇩
เฟเร็ศ
⇩
เฮ็ศโรน
⇩
ราม
⇩
อะมีนาดาบ
⇩
นาโซน
⇩
ซัลมา
⇩
โบอัศ
⇩
โอเบ็ด
⇩
ยิซัย
⇩
1107 ก่อน ส.ศ. ดาวิดเกิด