ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

ตัวอย่างของพ่อแม่ทำให้ผมมีกำลังเข้มแข็ง

ตัวอย่างของพ่อแม่ทำให้ผมมีกำลังเข้มแข็ง

เรื่อง​ราว​ชีวิต​จริง

ตัว​อย่าง​ของ​พ่อ​แม่​ทำ​ให้​ผม​มี​กำลัง​เข้มแข็ง

เล่า​โดย​ยาเนส เรเคลจ์

ตอน​นั้น​เป็น​ปี 1958. ผม​กับ​สแตนคา​ภรรยา​ได้​ขึ้น​เขา​สูง​แห่ง​คาราวาน​เกน​ใน​เทือก​เขา​แอลป์ พรม​แดน​ระหว่าง​ยูโกสลาเวีย​กับ​ออสเตรีย ด้วย​ความ​พยายาม​จะ​หนี​ไป​ประเทศ​ออสเตรีย. นี่​เป็น​เรื่อง​อันตราย เนื่อง​จาก​กอง​กำลัง​ตำรวจ​ตระเวน​ชายแดน​ของ​ยูโกสลาเวีย​มุ่ง​ป้องกัน​ไม่​ให้​ผู้​คน​ข้าม​พรม​แดน. ขณะ​ที่​เรา​มา​ถึง​ขอบ​หน้าผา​ที่​สูง​ชัน ผม​และ​สแตนคา​ต่าง​ก็​ไม่​เคย​เห็น​ภูเขา​ด้าน​ประเทศ​ออสเตรีย​มา​ก่อน. เรา​มุ่ง​ไป​ทาง​ตะวัน​ออก​กระทั่ง​มา​ถึง​ที่​เนิน​ลาด​เขา​ขรุขระ​เป็น​หิน​เป็น​กรวด. เรา​เอา​ผ้า​ใบ​ที่​นำ​มา​ด้วย​พัน​รอบ​ตัว​และ​มัด​ให้​กระชับ แล้ว​เรา​ก็​ลื่น​ไถล​ลง​เขา​สูง​ชัน​โดย​ไม่​รู้​ว่า​อนาคต​จะ​เป็น​อย่าง​ไร.

ขอ​ให้​ผม​เล่า​ว่า​เรา​ตก​อยู่​ใน​สภาพการณ์​เช่น​นี้​ได้​อย่าง​ไร​และ​ตัว​อย่าง​ความ​ซื่อ​สัตย์​ของ​พ่อ​แม่​เป็น​แรง​กระตุ้น​ผม​อย่าง​ไร​ที่​จะ​รักษา​ความ​ภักดี​ต่อ​พระ​ยะโฮวา​ใน​ยาม​ทุกข์​ยาก​ลำบาก.

ผม​เติบโต​ใน​ประเทศ​สโลวีเนีย ปัจจุบัน​เป็น​ประเทศ​เล็ก ๆ ใน​ยุโรป​ส่วน​กลาง ตั้ง​อยู่​ใน​เทือก​เขา​แอลป์ ทิศ​เหนือ​คือ​ประเทศ​ออสเตรีย ด้าน​ตะวัน​ตก​คือ​อิตาลี ทาง​ใต้​ของ​ประเทศ​คือ​โครเอเชีย และ​ด้าน​ตะวัน​ออก​ได้​แก่​ฮังการี. อย่าง​ไร​ก็​ตาม สมัย​ที่​พ่อ​กับ​แม่​คือ​ฟรันส์​และ​โรซัลอียา เรเคลจ์​เกิด​นั้น สโลวีเนีย​เป็น​ส่วน​หนึ่ง​ของ​จักรวรรดิ​ออสโตร-ฮังการี. แต่​พอ​สิ้น​สงคราม​โลก​ครั้ง​ที่ 1 สโลวีเนีย​กลาย​เป็น​ส่วน​หนึ่ง​ของ​รัฐ​ใหม่​ที่​เรียก​ว่า​อาณาจักร​ของ​ชาว​เซิร์บ, โครแอท, และ​สโลวีน. ใน​ปี 1929 ชื่อ​ประเทศ​ถูก​เปลี่ยน​เป็น​ยูโกสลาเวีย ความ​หมาย​ตาม​ตัว​อักษร​คือ “สลาเวีย​ใต้.” ผม​เกิด​วัน​ที่ 9 มกราคม​ของ​ปี​นั้น​เอง ณ ชาน​เมือง​ของ​หมู่​บ้าน​โพด​โฮม ใกล้​กับ​ทะเลสาบ​เบลด​ที่​สวย​งาม.

แม่​ของ​ผม​รับ​การ​เลี้ยง​ดู​และ​ถูก​ปลูกฝัง​เป็น​ชาว​คาทอลิก​ที่​เคร่ง​ศาสนา. อา​ของ​แม่​เป็น​บาทหลวง และ​ป้า​สาม​คน​ของ​แม่​เป็น​แม่ชี. แม่​ปรารถนา​แรง​กล้า​อยาก​มี​คัมภีร์​ไบเบิล​เป็น​สมบัติ​ส่วน​ตัว​เพื่อ​จะ​ได้​อ่าน​และ​เข้าใจ. แต่​พ่อ​ไม่​ค่อย​ชอบ​เรื่อง​ศาสนา. ท่าน​รู้สึก​รังเกียจ​สะอิดสะเอียน​บทบาท​ของ​ศาสนา​ใน​สงคราม​โลก​ปี 1914-1918.

เรียน​รู้​ความ​จริง

ระยะ​หนึ่ง​หลัง​สงคราม ยาเนส แบรเยส​ลูก​พี่​ลูก​น้อง​ของ​แม่ พร้อม​ด้วย​อันชคา​ภรรยา​เริ่ม​เข้า​มา​เป็น​นัก​ศึกษา​พระ​คัมภีร์ ชื่อ​เรียก​พยาน​พระ​ยะโฮวา​สมัย​นั้น. ตอน​นั้น​พวก​เขา​อยู่​ที่​ประเทศ​ออสเตรีย. นับ​จาก​ปี 1936 เป็น​ต้น​มา อันชคา​ได้​แวะ​มา​เยี่ยม​แม่​หลาย​ครั้ง. เธอ​มอบ​คัมภีร์​ไบเบิล​ให้​แม่​เล่ม​หนึ่ง​และ​แม่​ก็​อ่าน​อย่าง​รวด​เร็ว อ่าน​ควบ​กับ​วารสาร​หอสังเกตการณ์ และ​สิ่ง​พิมพ์​อื่น ๆ เกี่ยว​กับ​คัมภีร์​ไบเบิล​ใน​ภาษา​สโลวีเนีย. ใน​ที่​สุด เนื่อง​จาก​ประเทศ​ออสเตรีย​ถูก​ฮิตเลอร์​ยึด​ครอง​เมื่อ​ปี 1938 ยาเนส​และ​อันชคา​จึง​ได้​ย้าย​กลับ​สโลวีเนีย. ผม​จำ​ได้​ว่า​สามี​ภรรยา​คู่​นี้​มี​การ​ศึกษา ความ​หยั่ง​รู้​และ​ความ​เข้าใจ​พร้อม ๆ กับ​มี​ความ​รัก​แท้​ต่อ​พระ​ยะโฮวา. คน​ทั้ง​สอง​มัก​จะ​สนทนา​กับ​แม่​บ่อย ๆ เรื่อง​ความ​จริง​ของ​คัมภีร์​ไบเบิล​ซึ่ง​เป็น​แรง​กระตุ้น​ให้​แม่​อุทิศ​ชีวิต​แด่​พระ​ยะโฮวา. แม่​รับ​บัพติสมา​ใน​ปี 1938.

แม่​เป็น​เหตุ​ให้​คน​ใน​ละแวก​บ้าน​เกิด​ความ​ขัด​แย้ง​กัน​เมื่อ​ท่าน​เลิก​ปฏิบัติ​ตาม​ธรรมเนียม​ประเพณี​ซึ่ง​ผิด​หลักการ​พระ​คัมภีร์ เช่น การ​ฉลอง​วัน​คริสต์มาส; การ​ไม่​รับประทาน​ไส้กรอก​เลือด​อีก​ต่อ​ไป; และ​โดย​เฉพาะ​อย่าง​ยิ่ง​เมื่อ​ท่าน​ยก​เอา​รูป​จำลอง​ทุก​อย่าง​ออก​ไป​เผา​เสีย​ทั้ง​หมด. ไม่​ช้า​การ​ต่อ​ต้าน​ขัด​ขวาง​ก็​เริ่ม​ขึ้น. บรรดา​ป้า ๆ ที่​เป็น​แม่ชี​ก็​เขียน​จดหมาย​ถึง​แม่ โดย​หวัง​ว่า​จะ​ทำ​ให้​แม่​หวน​กลับ​ไป​นับถือ​แม่​พระ​มาเรีย​และ​คริสตจักร​คาทอลิก​อีก. แต่​ครั้น​แม่​เขียน​ขอ​ให้​พวก​เขา​ตอบ​คำ​ถาม​บาง​ข้อ​เกี่ยว​กับ​พระ​คัมภีร์ แม่​ไม่​เคย​ได้​รับ​จดหมาย​ตอบ​กลับ​เลย. คุณ​ตา​ก็​ต่อ​ต้าน​แม่​อย่าง​หนัก​หน่วง​เช่น​กัน. คุณ​ตา​ไม่​ใช่​คน​ดุ​ร้าย​หรือ​หยาบคาย แต่​เพราะ​พวก​ญาติ​และ​ผู้​คน​ใน​ชุมชน​รวมหัว​กดดัน ท่าน​ถึง​กับ​ทำลาย​สรรพหนังสือ​เกี่ยว​กับ​พระ​คัมภีร์​ของ​แม่​เสียหาย​ไป​หลาย​ครั้ง แต่​ไม่​เคย​แตะ​ต้อง​พระ​คัมภีร์​ฉบับ​ส่วน​ตัว​ของ​แม่. คุณ​ตา​ถึง​กับ​คุกเข่า​ขอร้อง​แม่​ให้​หวน​กลับ​สู่​คริสตจักร กระทั่ง​ใช้​มีด​ข่มขู่​ด้วย​ซ้ำ. แต่​พ่อ​ของ​ผม​พูด​หนักแน่น​กับ​คุณ​ตา​ว่า​พ่อ​จะ​ไม่​ยอม​ทน​การ​กระทำ​เช่น​นั้น.

พ่อ​ยัง​คง​สนับสนุน​สิทธิ​ของ​แม่​ที่​จะ​อ่าน​พระ​คัมภีร์​และ​ให้​ตัดสิน​ใจ​เอา​เอง​ใน​เรื่อง​ของ​ความ​เชื่อ. ใน​ปี 1946 พ่อ​ได้​รับ​บัพติสมา​เช่น​เดียว​กัน. การ​ได้​รู้​เห็น​ว่า​พระ​ยะโฮวา​ทรง​เสริม​ความ​เข้มแข็ง​ให้​แม่​กล้า​ยืนหยัด​เพื่อ​ความ​จริง​โดย​ไม่​หวั่น​กลัว มาตร​ว่า​มี​การ​ต่อ​ต้าน และ​การ​ได้​เห็น​แม่​ได้​รับ​พระ​พร​จาก​พระ​ยะโฮวา​เนื่อง​ด้วย​ความ​ซื่อ​สัตย์​เช่น​นั้น​จึง​เป็น​กำลัง​กระตุ้น​ผม​ที่​จะ​พัฒนา​ความ​สัมพันธ์​ระหว่าง​ผม​กับ​พระเจ้า. นอก​จาก​นั้น ผม​ยัง​ได้​ประโยชน์​มาก​มาย​จาก​การ​ที่​แม่​อ่าน​พระ​คัมภีร์​ให้​ผม​ฟัง​เป็น​ประจำ รวม​ไป​ถึง​การ​อ่าน​สรรพหนังสือ​ที่​ยึด​หลัก​พระ​คัมภีร์​อีก​ด้วย.

อนึ่ง แม่​มัก​จะ​ใช้​เวลา​นาน​สนทนา​กับ​น้อง​สาว​คือ น้า​มาริยา เรเป และ​ใน​ที่​สุด กลาง​เดือน​กรกฎาคม 1942 น้า​มา​ริ​ยา​กับ​ผม​ได้​รับ​บัพติสมา​วัน​เดียว​กัน. บราเดอร์​คน​หนึ่ง​กล่าว​คำ​บรรยาย​สั้น ๆ และ​เรา​ได้​รับ​บัพติสมา​ใน​ถัง​ไม้​บรรจุ​น้ำ​ขนาด​ใหญ่​ที่​บ้าน​ของ​เรา.

ถูก​บังคับ​ทำ​งาน​หนัก​ใน​ช่วง​สงคราม​โลก​ครั้ง​ที่ 2

ปี 1942 ช่วง​กลาง​สงคราม​โลก​ครั้ง​ที่ 2 กองทัพ​เยอรมัน​และ​อิตาลี​บุก​ประเทศ​สโลวีเนีย และ​ดินแดน​ที่​ยึด​ได้​ก็​แบ่ง​ระหว่าง​กัน​และ​แบ่ง​ให้​ฮังการี​ด้วย. พ่อ​แม่​ของ​ผม​ปฏิเสธ​ที่​จะ​ร่วม​สมทบ​องค์การ​โฟลคส์บุนด์ ซึ่ง​เป็น​องค์การ​ประชาชน​ของ​นาซี. ผม​ไม่​ยอม​พูด “ไฮล์ ฮิตเลอร์” ที่​โรง​เรียน. ดู​เหมือน​ว่า​ครู​ประจำ​ชั้น​ได้​รายงาน​สถานการณ์​ที่​เกิด​ขึ้น​แก่​เจ้าหน้าที่.

พวก​เรา​ถูก​นำ​ตัว​ขึ้น​รถไฟ​มุ่ง​ไป​ที่​ปราสาท​แห่ง​หนึ่ง​ใกล้​หมู่​บ้าน​ฮึเทนบัค แคว้น​บาวาเรีย ซึ่ง​ถูก​ใช้​เป็น​ค่าย​แรงงาน. พ่อ​จัด​การ​ให้​ผม​เข้า​ทำ​งาน​และ​พัก​อยู่​กับ​คน​ทำ​ขนมปัง​และ​ครอบครัว​ของ​เขา​ที่​หมู่​บ้าน. ระหว่าง​อยู่​ที่​นั่น ผม​เรียน​ทำ​ขนมปัง​ซึ่ง​เป็น​ประโยชน์​อย่าง​มาก​ใน​เวลา​ต่อ​มา. ใน​ที่​สุด คน​อื่น ๆ ทุก​คน​ใน​ครอบครัว​ของ​เรา (รวม​ถึง​น้า​มา​ริ​ยา​พร้อม​ด้วย​ครอบครัว) ถูก​ย้าย​ไป​อยู่​ที่​ค่าย​กุนเซนเฮาเซน.

เมื่อ​สิ้น​สงคราม ผม​กำลัง​จะ​ออก​เดิน​ทาง​กับ​กลุ่ม​ไป​ยัง​ค่าย​ที่​พ่อ​แม่​อยู่. ตอน​เย็น​วัน​ก่อน​ออก​เดิน​ทาง พ่อ​มา​หา​ผม​อย่าง​ไม่​ได้​คาด​ฝัน. ผม​ไม่​รู้​ว่า​จะ​เกิด​อะไร​ขึ้น​หาก​ผม​ไป​กับ​คน​กลุ่ม​นั้น เพราะ​ลักษณะ​ของ​พวก​เขา​ไม่​น่า​ไว้​ใจ. อีก​ครั้ง​หนึ่ง ผม​สำนึก​ถึง​การ​ใฝ่​พระทัย​ด้วย​ความ​รักใคร่​ของ​พระ​ยะโฮวา​เมื่อ​พระองค์​ทรง​ใช้​พ่อ​แม่​ปก​ป้อง​และ​ฝึก​อบรม​ผม. ผม​เดิน​ไป​กับ​พ่อ​เป็น​เวลา​สาม​วัน​กระทั่ง​ได้​มา​พบ​ครอบครัว. เมื่อ​ถึง​เดือน​มิถุนายน 1945 พวก​เรา​ทุก​คน​ก็​กลับ​ถึง​บ้าน.

หลัง​สงคราม พวก​คอมมิวนิสต์​ภาย​ใต้​ประธานาธิบดี​โยซิพ บรอส ติโต​กุม​อำนาจ​ใน​ยูโกสลาเวีย. ผล​ที่​ตาม​มา​คือ สภาพการณ์​ยุ่งยาก​ลำบาก​สำหรับ​พยาน​พระ​ยะโฮวา​ยัง​คง​มี​อยู่.

ปี 1948 เพื่อน​ร่วม​ความ​เชื่อ​คน​หนึ่ง​มา​จาก​ออสเตรีย​และ​ได้​รับประทาน​อาหาร​กับ​พวก​เรา​มื้อ​หนึ่ง. ไม่​ว่า​เขา​ไป​ที่​ไหน ตำรวจ​สะกด​รอย​ตาม และ​พวก​พี่​น้อง​ที่​เขา​แวะ​เยี่ยม​ก็​ถูก​ตำรวจ​จับ. พ่อ​ผม​ถูก​จับ​เหมือน​กัน​เพราะ​การ​เอื้อเฟื้อ​ให้​ที่​พัก​แก่​เขา​และ​ไม่​ได้​รายงาน​ให้​ตำรวจ​ทราบ พ่อ​จึง​ต้อง​ติด​คุก​นาน​สอง​ปี. ช่วง​นั้น​เป็น​เวลา​ที่​แม่​ประสบ​ความ​ยุ่งยาก​ลำบาก​มาก ไม่​ใช่​เพียง​แต่​ขาด​พ่อ​เท่า​นั้น แต่​เพราะ​แม่​รู้​ว่า​ใน​ไม่​ช้า​ผม​และ​น้อง​ชาย​ต้อง​เผชิญ​การ​ทดสอบ​ความ​เป็น​กลาง.

กำหนด​ติด​คุก​ใน​มาซิโดเนีย

เดือน​พฤศจิกายน 1949 ผม​ได้​รับ​หมาย​เกณฑ์​เข้า​รับ​ราชการ​ทหาร. ผม​เข้า​รายงาน​ตัว​และ​ชี้​แจง​เหตุ​ผล​การ​ปฏิเสธ​เนื่อง​ด้วย​สติ​รู้สึก​ผิด​ชอบ. เจ้าหน้าที่​ไม่​ฟัง​ผม และ​ได้​ต้อน​ผม​ขึ้น​รถไฟ​พร้อม​ทหาร​เกณฑ์​มุ่ง​ไป​ที่​มาซิโดเนีย สุด​ปลาย​ทาง​อีก​ด้าน​หนึ่ง​ของ​ยูโกสลาเวีย.

เป็น​เวลา​นาน​สาม​ปี​ที​เดียว​ที่​ผม​ขาด​การ​ติด​ต่อ​กับ​ครอบครัว​และ​สังคม​พี่​น้อง ไม่​มี​หนังสือ​หรือ​แม้​แต่​พระ​คัมภีร์​สัก​เล่ม​ก็​ไม่​มี​อ่าน. ตอน​นั้น​เป็น​ช่วง​ที่​ยาก​ลำบาก​จริง ๆ. ผม​ได้​รับ​การ​ค้ำจุน​ด้วย​การ​คิด​รำพึง​ถึง​พระ​ยะโฮวา​และ​คิด​ทบทวน​ตัว​อย่าง​พระ​เยซู​คริสต์​พระ​บุตร​ของ​พระองค์. ตัว​อย่าง​ของ​พ่อ​แม่​ช่วย​ให้​ผม​เข้มแข็ง​ด้วย​เช่น​กัน. นอก​จาก​นั้น การ​อธิษฐาน​ขอ​กำลัง​อย่าง​ไม่​ละลด​ช่วย​ผม​ผ่าน​พ้น​ความ​รู้สึก​สิ้น​หวัง​ไป​ได้.

ใน​ที่​สุด ผม​ถูก​ส่ง​ไป​ที่​เรือน​จำ​ชาน​เมือง​อิดริโซโว ใกล้​สโกเปีย. ณ เรือน​จำ​แห่ง​นี้ นัก​โทษ​ถูก​ใช้​ทำ​งาน​หลาย​อย่าง​และ​งาน​ช่าง​ฝีมือ. เริ่ม​แรก​ผม​เป็น​นัก​โทษ​ทำ​ความ​สะอาด​และ​เป็น​คน​เดิน​หนังสือ​ระหว่าง​ห้อง​ทำ​งาน​แผนก​ต่าง ๆ. แม้​ว่า​นัก​โทษ​คน​หนึ่ง​ซึ่ง​เคย​เป็น​สมาชิก​ตำรวจ​ลับ​มา​ก่อน​จะ​รังแก​ผม​อยู่​บ่อย ๆ แต่​ผม​มี​สัมพันธภาพ​ที่​ดี​กับ​ทุก​คน ไม่​ว่า​ผู้​คุม, พวก​นัก​โทษ, กระทั่ง​ผู้​จัด​การ​โรง​งาน​ใน​เรือน​จำ.

ภาย​หลัง ผม​ได้​มา​รู้​ว่า​ใน​เรือน​จำ​กำลัง​ขาด​คน​ทำ​ขนมปัง. สอง​สาม​วัน​หลัง​จาก​นั้น ผู้​จัด​การ​เรียก​นัก​โทษ​ยืน​เข้า​แถว และ​ขณะ​เดิน​ตรวจ​แถว เขา​ได้​หยุด​ยืน​อยู่​ตรง​หน้า​ผม​และ​ถาม​ว่า “คุณ​เป็น​คน​ทำ​ขนมปัง​ใช่​ไหม?” ผม​ตอบ​ว่า “ใช่​ครับ.” เขา​สั่ง​ว่า “พรุ่ง​นี้​เช้า​ไป​รายงาน​ตัว​ที่​โรง​ทำ​ขนมปัง.” นัก​โทษ​ที่​ชอบ​ข่มเหง​ผม​เดิน​ผ่าน​โรง​ทำ​ขนมปัง​บ่อย ๆ แต่​ก็​ทำ​อะไร​ผม​ไม่​ได้. ผม​ทำ​งาน​ที่​นั่น​ตั้ง​แต่​เดือน​กุมภาพันธ์​จน​ถึง​กรกฎาคม​ของ​ปี 1950.

ต่อ​มา ผม​ถูก​ย้าย​ไป​อยู่​ที่​ค่าย​โวล์คโอเดริ ภาค​ใต้​ของ​มาซิโดเนีย ใกล้​ทะเลสาบ​เพรสปา. จาก​เมือง​โอเทซโอโว​ซึ่ง​อยู่​ไม่​ไกล ผม​สามารถ​เขียน​จดหมาย​ถึง​ทาง​บ้าน​ได้. ผม​ทำ​งาน​ใน​กลุ่ม​นัก​โทษ​ทำ​งาน​สร้าง​ถนน แต่​ส่วน​ใหญ่ ผม​ทำ​งาน​ใน​โรง​ทำ​ขนมปัง ซึ่ง​เป็น​งาน​ที่​ไม่​หนัก​เกิน​ไป. เดือน​พฤศจิกายน 1952 ผม​ได้​รับ​การ​ปล่อย​ตัว​เป็น​อิสระ.

ระหว่าง​ที่​ผม​ไม่​อยู่​ที่​โพดโฮม ได้​มี​การ​ตั้ง​ประชาคม​ขึ้น​ใน​ท้องถิ่น​นั้น. ที​แรก ประชาคม​จัด​ประชุม​ใน​โรงแรม​เล็ก ๆ แห่ง​หนึ่ง​ที่​เมือง​สโพดเนีย กอร์เย. ที​หลัง พ่อ​ได้​จัด​ห้อง​ภาย​ใน​บ้าน​ทำ​เป็น​ห้อง​ประชุม​สำหรับ​ประชาคม. ผม​ดีใจ​มาก​ที่​ได้​ร่วม​กับ​ประชาคม​ตอน​ที่​ผม​กลับ​จาก​มาซิโดเนีย. นอก​จาก​นั้น ผม​ติด​ต่อ​ฟื้น​ความ​สัมพันธ์​กับ​สแตนคา​อีก​ครั้ง เพราะ​เรา​เคย​พบ​กัน​ก่อน​ผม​ติด​คุก. แล้ว​เรา​แต่งงาน​เมื่อ​วัน​ที่ 24 เมษายน 1954. อย่าง​ไร​ก็​ตาม ไม่​ช้า​ช่วง​แห่ง​เสรีภาพ​ของ​ผม​ก็​สิ้น​สุด​ลง.

โทษ​จำ​คุก​ใน​เมือง​มาริโบร์

ใน​เดือน​กันยายน 1954 ผม​ได้​รับ​หมาย​เกณฑ์​อีก​ครั้ง​หนึ่ง. คราว​นี้ ผม​ถูก​พิจารณา​ตัดสิน​ให้​จำ​คุก​ใน​เมือง​มาริโบร์​นาน​กว่า​สาม​ปี​ครึ่ง เมือง​นี้​ตั้ง​อยู่​สุด​ทาง​ตะวัน​ออก​ของ​สโลวีเนีย. ทันที​ที่​ได้​โอกาส ผม​หา​ซื้อ​กระดาษ​และ​ดินสอ. ผม​เริ่ม​จด​ทุก​อย่าง​เท่า​ที่​ผม​สามารถ​จำ​ได้ อาทิ ข้อ​คัมภีร์​ต่าง ๆ, ข้อ​ความ​บาง​ตอน​จาก​วารสาร​หอสังเกตการณ์, และ​แง่​คิด​หลาย​อย่าง​จาก​สรรพหนังสือ​ที่​เป็น​หลัก​คำ​สอน​คริสเตียน. ผม​อ่าน​ที่​จด​บันทึก​เอา​ไว้ และ​จด​ข้อ​ความ​ที่​ผม​จำ​ได้​เพิ่ม​ลง​ไป​อีก​บน​แผ่น​กระดาษ​ที่​ผม​ผูก​รวม​เล่ม. ใน​ที่​สุด เมื่อ​พ้น​กำหนด​ติด​คุก ผม​ทำ​หนังสือ​ได้​เล่ม​หนึ่ง และ​วิธี​นี้​ช่วย​ผม​เพ่งเล็ง​อยู่​กับ​ความ​จริง​และ​คง​สภาพ​เข้มแข็ง​ฝ่าย​วิญญาณ​ไว้​ได้. การ​อธิษฐาน​และ​การ​คิด​รำพึง​ก็​เป็น​เครื่อง​ช่วย​อัน​ล้ำ​ค่า​ที่​เสริม​กำลัง​ฝ่าย​วิญญาณ​เช่น​กัน ทำ​ให้​ผม​กล้า​มาก​ขึ้น​ที่​จะ​บอก​เล่า​ความ​จริง​แก่​ผู้​อื่น.

ใน​เวลา​นั้น ทาง​เรือน​จำ​อนุญาต​ให้​ผม​รับ​จดหมาย​ได้​หนึ่ง​ฉบับ​ใน​เดือน​หนึ่ง ๆ และ​ให้​ญาติ​เข้า​เยี่ยม​ได้​เดือน​ละ​ครั้ง ครั้ง​ละ 15 นาที. สแตนคา​เดิน​ทาง​โดย​รถไฟ​ตลอด​คืน​เพื่อ​จะ​มา​ถึง​เรือน​จำ​แต่​เช้า​และ​เข้า​เยี่ยม​ผม​ได้ แล้ว​ก็​กลับ​ใน​วัน​เดียว​กัน. การ​เยี่ยม​แต่​ละ​ครั้ง​หนุน​กำลังใจ​มาก. ครั้น​แล้ว ผม​วาง​แผน​เพื่อ​จะ​มี​พระ​คัมภีร์​สัก​เล่ม​หนึ่ง​ไว้​อ่าน. สแตนคา​นั่ง​ที่​ด้าน​หนึ่ง​ของ​โต๊ะ ส่วน​ผม​ก็​นั่ง​อีก​ด้าน​หนึ่ง มี​ผู้​คุม​คอย​เฝ้า​ดู​อยู่. พอ​ผู้​คุม​เผลอ ผม​ก็​สอด​จดหมาย​ลง​ใน​กระเป๋า​ถือ​ของ​เธอ ขอ​ให้​เธอ​เอา​พระ​คัมภีร์​ใส่​กระเป๋า​มา​ด้วย​เมื่อ​จะ​เยี่ยม​ครั้ง​ต่อ​ไป.

สแตนคา​และ​พ่อ​แม่​ของ​ผม​คิด​ว่า​การ​ทำ​เช่น​นั้น​อันตราย​เกิน​ไป ดัง​นั้น พวก​เขา​จึง​ได้​แยก​คัมภีร์​ภาค​พันธสัญญา​ใหม่​ออก​เป็น​ส่วน ๆ แล้ว​พับ​ยัด​เป็น​ไส้​ขนมปัง​ก้อน​กลม ๆ. โดย​วิธี​นี้ ผม​ได้​รับ​พระ​คัมภีร์​ตาม​ที่​ต้องการ และ​ด้วย​วิธี​เดียว​กัน​นี้​ทำ​ให้​ผม​ได้​รับ​สำเนา​หอสังเกตการณ์ ที่​สแตนคา​ได้​ลอก​ด้วย​ลายมือ​เธอ​เอง. ผม​จะ​รีบ​ลอก​สำเนา​อีก​ที​หนึ่ง​และ​ทำลาย​สำเนา​เดิม เผื่อ​คน​ที่​พบ​เห็น​บทความ​ไม่​อาจ​บอก​ได้​ว่า​ผม​เอา​มา​จาก​ที่​ไหน.

เนื่อง​ด้วย​การ​ให้​คำ​พยาน​อย่าง​ไม่​ลด​ละ เพื่อน​นัก​โทษ​ลง​ความ​เห็น​ว่า​ผม​จะ​เผชิญ​ความ​ยาก​ลำบาก​แน่ ๆ. ณ โอกาส​หนึ่ง ผม​กำลัง​พูด​คุย​เรื่อง​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล​กับ​นัก​โทษ​ด้วย​กัน​อย่าง​ออก​รส​ออก​ชาติ. เรา​ได้​ยิน​เสียง​ไข​กุญแจ​และ​ผู้​คุม​เดิน​เข้า​มา​ใน​ห้อง​ขัง. ผม​ฉุก​คิด​ทันที​ว่า​ผม​คง​ต้อง​ถูก​ขัง​เดี่ยว. แต่​นั่น​หา​ใช่​ความ​ตั้งใจ​ของ​ผู้​คุม​ไม่. เขา​ได้​ยิน​การ​สนทนา​และ​อยาก​เข้า​มา​ร่วม​ฟัง​ด้วย. เมื่อ​ได้​คำ​ตอบ​สำหรับ​ข้อ​สงสัย​ของ​เขา​จน​น่า​พอ​ใจ​แล้ว เขา​ก็​ออก​ไป​จาก​ห้อง​ขัง​และ​ใส่​กุญแจ.

ช่วง​เดือน​สุด​ท้าย​ของ​การ​ติด​คุก ผู้​ทำ​หน้า​ที่​อบรม​ฟื้นฟู​พวก​นัก​โทษ​ได้​กล่าว​ชมเชย​ผม​ใน​จุด​ยืน​อัน​แน่วแน่​เพื่อ​ความ​จริง. ผม​รู้สึก​ว่า​สิ่ง​นี้​เป็น​รางวัล​อย่าง​ดี​สำหรับ​ความ​พยายาม​ของ​ผม​ที่​จะ​ประกาศ​พระ​นาม​ของ​พระ​ยะโฮวา​ให้​คน​อื่น​ได้​รู้​จัก. เดือน​พฤษภาคม 1958 ผม​ได้​รับ​การ​ปล่อย​ตัว​เป็น​อิสระ​อีก​ครั้ง​หนึ่ง.

หลบ​หนี​ไป​ออสเตรีย แล้ว​ต่อ​ไป​ออสเตรเลีย

เดือน​สิงหาคม 1958 แม่​ผม​ได้​สิ้น​ชีวิต​หลัง​จาก​ป่วย​มา​ระยะ​หนึ่ง. พอ​ถึง​เดือน​กันยายน 1958 ผม​ได้​รับ​หมาย​เรียก​เป็น​หน​ที่​สาม. ค่ำ​วัน​นั้น​ผม​กับ​สแตนคา​ตัดสิน​ใจ​ทันที​ซึ่ง​ได้​นำ​สู่​เรื่อง​การ​ข้าม​เทือก​เขา​อย่าง​น่า​ตื่นเต้น​ตาม​ที่​เกริ่น​ไว้​แต่​แรก. โดย​ไม่​ได้​บอก​กล่าว​ใคร เรา​มี​เพียง​เป้​สอง​ใบ​และ​ผ้า​ใบ​หนึ่ง​ผืน​และ​หนี​ออก​ทาง​หน้าต่าง มุ่ง​หน้า​สู่​ชายแดน​ออสเตรีย​ด้าน​ตะวัน​ตก​ของ​ภูเขา​สโทล. ดู​เหมือน​ว่า​พระ​ยะโฮวา​ได้​ทรง​จัด​ทาง​ออก​ให้​เรา​เมื่อ​พระองค์​ทราบ​ว่า​เรา​จำเป็น​ต้อง​ได้​รับ​การ​สงเคราะห์​บาง​ประการ.

เจ้าหน้าที่​ฝ่าย​ออสเตรีย​ส่ง​เรา​ไป​ที่​ค่าย​ผู้​ลี้​ภัย​ใกล้​ซาลซ์บูร์ก. ระหว่าง​อยู่​ที่​นั่น​หก​เดือน เรา​อยู่​กับ​เหล่า​พยาน​ฯ ใน​ท้องถิ่น​ตลอด​เวลา ฉะนั้น เรา​แทบ​ไม่​มี​เวลา​อยู่​ที่​ค่าย. คน​อื่น ๆ ใน​ค่าย​รู้สึก​ทึ่ง​ที่​เรา​หา​เพื่อน​ใหม่​ได้​ภาย​ใน​เวลา​อัน​รวด​เร็ว. ใน​ช่วง​นี้​เอง เรา​ได้​เข้า​ร่วม​การ​ประชุม​ใหญ่​เป็น​ครั้ง​แรก. และ​เป็น​ครั้ง​แรก​ด้วย​ที่​เรา​สามารถ​ออก​ไป​ประกาศ​ตาม​บ้าน​ได้​โดย​อิสระ. เป็น​เรื่อง​ที่​ทำ​ให้​เรา​ลำบาก​ใจ​มาก​เมื่อ​ถึง​เวลา​ที่​ต้อง​จาก​มิตร​สหาย​ที่​รัก​เหล่า​นี้​ไป.

เจ้าหน้าที่​ฝ่าย​ออสเตรีย​แนะ​ช่อง​ทาง​การ​อพยพ​ไป​ยัง​ประเทศ​ออสเตรเลีย. เรา​ไม่​เคย​นึก​เคย​ฝัน​ว่า​จะ​ไป​ไกล​ขนาด​นั้น. เรา​เดิน​ทาง​โดย​รถไฟ​ไป​เมือง​เจนัว ประเทศ​อิตาลี ต่อ​จาก​นั้น​ลง​เรือ​มุ่ง​สู่​ออสเตรเลีย. ใน​ที่​สุด​เรา​ลง​หลัก​ปัก​ฐาน​ใน​เมือง​วุลลันกอง รัฐ​นิวเซาท์เวลส์. ฟิลิป​ลูก​ชาย​ของ​เรา​เกิด​ที่​เมือง​นี้​เมื่อ​วัน​ที่ 30 มีนาคม 1965.

การ​ดำเนิน​ชีวิต​ใน​ออสเตรเลีย​เปิด​ทาง​ให้​เรา​สามารถ​ทำ​งาน​รับใช้​ได้​หลาย​รูป​แบบ รวม​ทั้ง​โอกาส​ที่​จะ​ประกาศ​แก่​ผู้​คน​ที่​อพยพ​มา​จาก​ภูมิภาค​ต่าง ๆ ซึ่ง​เมื่อ​ก่อน​เป็น​ที่​รู้​จัก​ว่า​ยูโกสลาเวีย. เรา​ขอบพระคุณ​ที่​ได้​รับ​พระ​พร​จาก​พระ​ยะโฮวา รวม​ไป​ถึง​โอกาส​ที่​เรา​สามารถ​รับใช้​พระองค์​ใน​ฐานะ​ครอบครัว​ที่​เป็น​เอกภาพ. ฟิลิป​พร้อม​ด้วย​ซูซี ภรรยา​ของ​เขา​มี​สิทธิ​พิเศษ​เข้า​ทำ​งาน​ใน​สำนักงาน​สาขา​ออสเตรเลีย​ของ​พยาน​พระ​ยะโฮวา และ​ทั้ง​สอง​ยัง​มี​โอกาส​ได้​รับใช้​สอง​ปี​ใน​สำนักงาน​สาขา​สโลวีเนีย​อีก​ด้วย.

แม้​อุปสรรค​เกิด​ขึ้น​กับ​คน​ที่​ล่วง​เข้า​สู่​วัย​ชรา และ​มี​ปัญหา​ด้าน​สุขภาพ แต่​ผม​กับ​ภรรยา​ก็​ยัง​คง​ชื่นชม​ต่อ​ไป​ที่​ได้​รับใช้​พระ​ยะโฮวา. ผม​รู้สึก​ซาบซึ้ง​ตัว​อย่าง​ที่​ดี​ของ​พ่อ​แม่​เป็น​อย่าง​ยิ่ง! ตัว​อย่าง​ของ​ท่าน​ยัง​คง​ชู​กำลัง​ผม​ให้​เข้มแข็ง​ต่อ ๆ ไป สนับสนุน​ให้​ผม​ทำ​สิ่ง​ที่​อัครสาวก​เปาโล​พูด​ไว้​ว่า “จง​ยินดี​ใน​ความ​หวัง จง​อด​ทน​ใน​การ​ยาก​ลำบาก จง​หมั่น​อธิษฐาน​อยู่​เสมอ.”—โรม 12:12.

[ภาพ​หน้า 17]

พ่อ​แม่​ของ​ผม​สมัย​ปลาย​ทศวรรษ 1920

[ภาพ​หน้า 17]

แม่​ผม​คน​ขวา​สุด กับ​อันชคา​ที่​ได้​สอน​แม่​ผม​เรียน​รู้​ความ​จริง

[ภาพ​หน้า 18]

กับ​สแตนคา ภรรยา​ไม่​นาน​ภาย​หลัง​ที่​เรา​ได้​แต่งงาน

[ภาพ​หน้า 19]

ประชาคม​ที่​ประชุม​กัน​ใน​บ้าน​ของ​ครอบครัว​เรา​เมื่อ​ปี 1955

[ภาพ​หน้า 20]

ผม​กับ​ภรรยา ฟิลิป​ลูก​ชาย​และ​ซูซี​ภรรยา