ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

พระคำของพระยะโฮวาจำเริญขึ้นใน “แดนนกอินทรี”

พระคำของพระยะโฮวาจำเริญขึ้นใน “แดนนกอินทรี”

พระ​คำ​ของ​พระ​ยะโฮวา​จำเริญ​ขึ้น​ใน “แดน​นก​อินทรี

“แดน​นก​อินทรี” เป็น​ชื่อ​ภาษา​แอลเบเนีย​ที่​ชาว​แอลเบเนีย​เรียก​ประเทศ​ของ​ตน. ประเทศ​นี้​อยู่​ติด​ฝั่ง​ทะเล​เอเดรียติก​บน​คาบสมุทร​บอลข่าน ตั้ง​อยู่​ระหว่าง​ประเทศ​กรีซ​และ​อดีต​ยูโกสลาเวีย. แม้​มี​ความ​คิด​เห็น​หลาก​หลาย​ใน​เรื่อง​ต้น​กำเนิด​ชาว​แอลเบเนีย นัก​ประวัติศาสตร์​ส่วน​ใหญ่​เห็น​พ้อง​กัน​ว่า​เชื้อ​สาย​ชาว​แอลเบเนีย​และ​ภาษา​ของ​เขา​มา​จาก​ชาว​อิลลีเรีย​โบราณ ซึ่ง​มี​วัฒนธรรม​ย้อน​หลัง​ไป 2,000 ปี​ก่อน​สากล​ศักราช ตาม​ที่​สารานุกรม​บริแทนนิกา กล่าว.

ทิวทัศน์​ทาง​ธรรมชาติ​อัน​งดงาม​ของ​แอลเบเนีย​ประกอบ​ด้วย​เทือก​เขา​ที่​เป็น​ชะง่อน​ผา​ทาง​เหนือ​และ​หาด​ทราย​สี​ขาว​ยาว​เหยียด​ทาง​ใต้​บน​ฝั่ง​ทะเล​เอเดรียติก. แต่​ความ​งาม​ล้ำ​เลิศ​หา​พบ​ได้​ใน​ตัว​ผู้​คน. พวก​เขา​รับรอง​แขก​ด้วย​อัธยาศัย​ไมตรี​อัน​อบอุ่น, เป็น​คน​ร่าเริง, แสดง​ความ​รู้สึก, เป็น​คน​เรียน​รู้​เร็ว​ด้วย​การ​แสดง​ความ​คิด​เห็น​ความ​รู้สึก​ออก​มา​เป็น​อากัปกิริยา​ที่​มี​ชีวิต​ชีวา.

มิชชันนารี​ชื่อเสียง​โด่งดัง​เคย​แวะ​เยี่ยม​ที่​นี่

บุคลิก​ของ​ประชาชน​ที่​น่า​ดึงดูด​ใจ​และ​ภูมิทัศน์​อัน​งดงาม​ของ​ประเทศ​คง​ได้​ดึงดูด​ความ​สนใจ​นัก​เดิน​ทาง​ผู้​หนึ่ง​ที่​โดด​เด่น​กว่า​ใคร​อื่น​เป็น​แน่​เมื่อ​หลาย​ศตวรรษ​มา​แล้ว. ประมาณ​ปี​สากล​ศักราช 56 อัครสาวก​เปาโล​ซึ่ง​เดิน​ทาง​ไป​หลาย​แห่ง​เขียน​ว่า “ข้าพเจ้า​ได้​ประกาศ​ข่าว​ประเสริฐ​ของ​พระ​คริสต์​อย่าง​ถ้วนถี่​ตั้ง​แต่​กรุง​เยรูซาเล็ม​อ้อม​ไป​ยัง​เมือง​อิลลีริคุม.” (โรม 15:19, ฉบับ​แปล​ใหม่) พื้น​ที่​ภาค​ใต้​ของ​เมือง​อิลลีริคุม​ตรง​กับ​ดินแดน​ส่วน​กลาง​และ​ตอน​เหนือ​ของ​แอลเบเนีย​ใน​ปัจจุบัน. เปาโล​เขียน​จาก​เมือง​โครินท์ ประเทศ​กรีซ ทาง​ใต้​ของ​เมือง​อิลลีริคุม. การ​ที่​ท่าน​กล่าว​ว่า​ได้​ประกาศ​อย่าง​ถ้วนถี่ “อ้อม​ไป​ยัง​เมือง​อิลลีริคุม” แสดง​ว่า​ท่าน​เดิน​ทาง​ไป​ไกล​จน​ถึง​ชายแดน​หรือ​ได้​เข้า​ไป​ใน​ภูมิภาค​นั้น​จริง ๆ. ไม่​ว่า​จะ​อย่าง​ไร ท่าน​คง​เผยแพร่​ไป​ถึง​ดินแดน​ซึ่ง​ใน​ปัจจุบัน​คือ​ภาค​ใต้​ของ​แอลเบเนีย. ดัง​นั้น จึง​สามารถ​บอก​ได้​ว่า​งาน​ประกาศ​ราชอาณาจักร​ซึ่ง​รู้​จัก​กัน​ใน​แอลเบเนีย​นั้น​เริ่ม​ต้น​จาก​เปาโล​นั่น​เอง.

หลาย​ศตวรรษ​ผ่าน​ไป. จักรวรรดิ​ต่าง ๆ เรือง​อำนาจ​แล้ว​ก็​ล่ม​จม. ชาติ​ต่าง ๆ มี​บทบาท​ใน​การ​ปกครอง​อนุ​ภูมิภาค​แถบ​นี้​ของ​ยุโรป กระทั่ง​แอลเบเนีย​ประกาศ​เป็น​รัฐ​เอกราช​ใน​ปี 1912. ประมาณ​สิบ​ปี​ต่อ​มา งาน​ประกาศ​ข่าว​ราชอาณาจักร​ของ​พระ​ยะโฮวา​ใน​แอลเบเนีย​ได้​เริ่ม​ขึ้น​อีก​ครั้ง.

การ​เริ่ม​ต้น​อัน​น่า​ตื่นเต้น​ใน​สมัย​ปัจจุบัน

ใน​ช่วง​ทศวรรษ 1920 ชาว​แอลเบเนีย​เพียง​ไม่​กี่​คน​ที่​ได้​ย้าย​เข้า​ไป​อยู่​ใน​สหรัฐ ได้​สมทบ​กับ​นัก​ศึกษา​พระ​คัมภีร์​นานา​ชาติ ชื่อ​เรียก​พยาน​พระ​ยะโฮวา​สมัย​นั้น แล้ว​กลับ​ประเทศ​แอลเบเนีย​เพื่อ​บอก​กล่าว​ให้​ความ​รู้​แก่​ผู้​อื่น​ตาม​ที่​พวก​เขา​ได้​เรียน​รู้. นาโช อิดริซี​เป็น​หนึ่ง​ใน​กลุ่ม​ดัง​กล่าว. บาง​คน​ตอบรับ​ด้วย​ความ​พึง​พอ​ใจ. ที่​จะ​ดู​แล​พวก​ผู้​สนใจ​ที่​มี​จำนวน​เพิ่ม​ขึ้น ใน​ปี 1924 สำนักงาน​ใน​ประเทศ​โรมาเนีย​ได้​รับ​มอบหมาย​ให้​ดู​แล​งาน​ประกาศ​ใน​แอลเบเนีย.

ช่วง​นั้น ทานัส ดูลิ (อาทาน ดูลิส) อยู่​ใน​กลุ่ม​ผู้​ได้​เรียน​รู้​เรื่อง​พระ​ยะโฮวา​ใน​แอลเบเนีย. เขา​จำ​ได้​ว่า “ปี 1925 มี​การ​จัด​ตั้ง​ประชาคม​ขึ้น​สาม​แห่ง​ใน​แอลเบเนีย รวม​ถึง​กลุ่ม​นัก​ศึกษา​พระ​คัมภีร์​และ​ผู้​สนใจ​ซึ่ง​อยู่​โดด​เดี่ยว​ที่​นั่น​บ้าง​ที่​นี่​บ้าง​ทั่ว​ประเทศ. ความ​รัก​ซึ่ง​กัน​และ​กัน​ท่ามกลาง​พวก​เขา​เมื่อ​เทียบ​กับ​ผู้​คน​รอบ​ข้าง​ช่าง​ต่าง​กัน​ลิบ!” *

เพราะ​ขาด​เส้น​ทาง​สัญจร​ที่​ดี การ​เดิน​ทาง​จึง​ลำบาก​มาก. กระนั้น ผู้​ประกาศ​ที่​กระตือรือร้น​ต่าง​ก็​รับ​เอา​ภารกิจ​นี้. เพื่อ​เป็น​ตัว​อย่าง บน​ฝั่ง​ทะเล​ทาง​ใต้​ใน​เมือง​วโลเร อเรทิ พีนา​ได้​รับ​บัพติสมา​ใน​ปี 1928 ตอน​นั้น​เธอ​อายุ 18 ปี. เธอ​เดิน​ขึ้น​เขา​ลง​ห้วย มือ​ถือ​พระ​คัมภีร์​ประกาศ​เผยแพร่​ไป​ตาม​เส้น​ทาง​ที่​ขรุขระ. เธอ​ทำ​งาน​ร่วม​กับ​ประชาคม​ที่​เข้มแข็ง​ใน​เมือง​วโลเร ใน​ช่วง​ต้น​ทศวรรษ 1930.

เมื่อ​ถึง​ปี 1930 งาน​เผยแพร่​ใน​ประเทศ​แอลเบเนีย​อยู่​ภาย​ใต้​การ​ดู​แล​ของ​สำนักงาน​สาขา​ใน​เอเธนส์ ประเทศ​กรีซ. ปี 1932 ผู้​ดู​แล​เดิน​ทาง​จาก​กรีซ​ได้​ไป​เยี่ยม​ให้​การ​หนุน​ใจ​และ​ชู​กำลัง​พวก​พี่​น้อง​ใน​แอลเบเนีย. ระยะ​นั้น​คน​ส่วน​ใหญ่​ที่​ได้​เรียน​ความ​จริง​จาก​พระ​คัมภีร์​มี​ความ​หวัง​ทาง​ภาค​สวรรค์. พวก​เขา​มี​ชื่อเสียง​ดี​เป็น​ที่​ยอม​รับ​นับถือ​จาก​ประชาชน​ทุก​แห่ง​เนื่อง​จาก​ความ​ที่​เป็น​คน​สะอาด​และ​ซื่อ​ตรง. การ​งาน​ที่​พี่​น้อง​ผู้​ซื่อ​สัตย์​เหล่า​นี้​ได้​กระทำ​เกิด​ผล​มาก​ที​เดียว. ปี 1935 และ 1936 มี​การ​จ่าย​แจก​สรรพหนังสือ​ใน​แอลเบเนีย​ได้​ปี​ละ​ประมาณ 6,500 เล่ม.

วัน​หนึ่ง ณ ใจ​กลาง​เมือง​วโลเร นาโช อิดริซี ได้​เปิด​แผ่น​เสียง​บันทึก​คำ​บรรยาย​ของ​เจ. เอฟ. รัทเทอร์ฟอร์ด. ประชาชน​ต่าง​พา​กัน​ปิด​ร้าน​ชั่ว​คราว​มา​ฟัง​โดย​มี​บราเดอร์​อิดริซี​ช่วย​แปล​เป็น​ภาษา​แอลเบเนีย. ความ​กระตือรือร้น​ไม่​รู้​จัก​เหน็ด​เหนื่อย​ของ​บรรดา​ผู้​สอน​คัมภีร์​ไบเบิล​สมัย​แรก ๆ นั้น​เกิด​ผล​อุดม. พอ​ถึง​ปี 1940 ก็​มี​พยาน​พระ​ยะโฮวา 50 คน​ใน​แอลเบเนีย.

ประเทศ​ที่​ไม่​เชื่อ​ว่า​มี​พระเจ้า

ปี 1939 ลัทธิ​เผด็จการ​ฟาสซิสต์​แห่ง​อิตาลี​เข้า​ยึด​ครอง​ประเทศ. การ​ยอม​รับ​พยาน​พระ​ยะโฮวา​อย่าง​ถูก​ต้อง​ตาม​กฎหมาย​ถูก​ลบ​ล้าง​ไป และ​มี​การ​สั่ง​ห้าม​งาน​เผยแพร่. ไม่​นาน​หลัง​จาก​นั้น กอง​กำลัง​เยอรมัน​ได้​บุกรุก​เข้า​ไป​ใน​ประเทศ. ครั้น​สิ้น​สงคราม​โลก​ครั้ง​ที่ 2 แล้ว เอนเวร์ โฮจา ผู้​นำ​ทาง​ทหาร​ที่​มี​พลัง​โน้ม​น้าว​ก็​ปรากฏ​ตัว. พรรค​คอมมิวนิสต์​ของ​เขา​ชนะ​การ​เลือก​ตั้ง​ปี 1946 และ​เขา​ได้​ก้าว​ขึ้น​เป็น​นายก​รัฐมนตรี. ปี​หลัง ๆ ต่อ​มา​มัก​จะ​พูด​กัน​ว่า​เป็น​วาระ​ปลด​ปล่อย แต่​เป็น​เวลา​ที่​ประชาชน​ของ​พระ​ยะโฮวา​ถูก​กดขี่.

ที​ละ​เล็ก​ที​ละ​น้อย รัฐบาล​ยิ่ง​ไม่​ยอม​ทน​กับ​ศาสนา​มาก​ขึ้น. เนื่อง​จาก​การ​รักษา​ความ​เป็น​กลาง คริสเตียน​พยาน​พระ​ยะโฮวา​ใน​แอลเบเนีย​จึง​ปฏิเสธ​ที่​จะ​จับ​อาวุธ​ขึ้น​ต่อ​สู้​และ​ไม่​เข้า​ไป​ยุ่ง​เกี่ยว​ทาง​การ​เมือง. (ยะซายา 2:2-4; โยฮัน 15:17-19) หลาย​คน​ถูก​ส่ง​ตัว​เข้า​คุก ไม่​มี​ทั้ง​อาหาร​และ​สิ่ง​จำเป็น​พื้น​ฐาน​สำหรับ​ชีวิต. ใน​หลาย​กรณี พี่​น้อง​หญิง​คริสเตียน​ที่​ไม่​ถูก​จำ​คุก​ได้​ช่วย​ซัก​เสื้อ​ผ้า​และ​ทำ​อาหาร​ให้​พวก​เขา.

แม้​ถูก​ข่มเหง​แต่​ไม่​กลัว

ช่วง​ต้น​ทศวรรษ 1940 ฟรอซินา เจคา ตอน​นั้น​เป็น​วัยรุ่น​อยู่​ที่​หมู่​บ้าน​ใกล้​กับ​ตำบล​เพอเมต ได้​ยิน​สิ่ง​ที่​พวก​พี่​ชาย​ของ​เธอ​เรียน​รู้​จาก​พยาน​ฯ ชื่อ​นาโช โดรี ช่าง​ทำ​รอง​เท้า. * หน่วย​งาน​รัฐ​เข้มงวด​มาก​ขึ้น​กับ​พยาน​พระ​ยะโฮวา แต่​ความ​เชื่อ​ของ​ฟรอซินา​เข้มแข็ง​ขึ้น​เรื่อย ๆ ทั้ง ๆ ที่​พ่อ​แม่​ไม่​พอ​ใจ. “ท่าน​จะ​เอา​รอง​เท้า​ของ​ฉัน​ไป​ซ่อน​และ​เฆี่ยน​ถ้า​ฉัน​ไป​ร่วม​การ​ประชุม​คริสเตียน. ท่าน​พยายาม​จัดแจง​ให้​ฉัน​แต่งงาน​กับ​คน​ไม่​มี​ความ​เชื่อ. เมื่อ​ฉัน​ปฏิเสธ ท่าน​ก็​ไล่​ฉัน​ออก​จาก​บ้าน. วัน​นั้น​หิมะ​ตก. นาโช โดรี​จึง​ขอร้อง​บราเดอร์​โกเล ฟลอโก​ใน​เมือง​จิโรกัสเตอร์​ช่วย​สงเคราะห์​ฉัน. เขา​จัด​การ​ให้​ฉัน​ไป​อาศัย​อยู่​กับ​ครอบครัว​ของ​เขา. พวก​พี่​ชาย​ของ​ฉัน​ติด​คุก​นาน​สอง​ปี​เพราะ​การ​ยืนหยัด​รักษา​ความ​เป็น​กลาง. หลัง​จาก​พวก​พี่ ๆ ถูก​ปล่อย​ตัว ฉัน​ก็​ย้าย​ไป​อยู่​กับ​พวก​เขา​ที่​เมือง​วโลเร.”

“ตำรวจ​พยายาม​บังคับ​ฉัน​ให้​เข้า​ร่วม​กิจกรรม​การ​เมือง. ฉัน​ปฏิเสธ. พวก​เขา​จับ​กุม​ฉัน​และ​พา​ไป​ที่​ห้อง​แล้ว​ยืน​ล้อม​ฉัน​ไว้. คน​หนึ่ง​ใน​กลุ่ม​ขู่​ฉัน​ว่า ‘เธอ​รู้​ไหม​ว่า​เรา​สามารถ​จะ​จัด​การ​กับ​เธอ​อย่าง​ไร?’ ฉัน​ตอบ​ว่า ‘พวก​คุณ​ทำ​ได้​เท่า​ที่​พระ​ยะโฮวา​ปล่อย​ให้​ทำ​เท่า​นั้น.’ เขา​ย้อน​ตอบ​อย่าง​โมโห​ว่า ‘เธอ​มัน​บ้า​สิ้น​ดี! ออก​ไป​ให้​พ้น​หน้า!’ ”

ความ​ซื่อ​สัตย์​ภักดี​ทำนอง​นี้​เป็น​ลักษณะ​พิเศษ​ของ​พี่​น้อง​ชาว​แอลเบเนีย​ตลอด​หลาย​ปี​ที่​ถูก​สั่ง​ห้าม. ถึง​ปี 1957 ยอด​จำนวน​ผู้​ประกาศ​ราชอาณาจักร​มี 75 คน. ต้น​ทศวรรษ 1960 สำนักงาน​ใหญ่​ของ​พยาน​พระ​ยะโฮวา​ได้​จัด​ให้​จอห์น มาคส์ ชาว​แอลเบเนีย​ซึ่ง​เคย​อพยพ​ไป​อยู่​สหรัฐ​เดิน​ทาง​เยี่ยม​ติรานา​เพื่อ​จัด​ระเบียบ​งาน​คริสเตียน​ที่​นั่น. * แต่​ไม่​นาน​ต่อ​มา ลูชิ เจคา, มิฮัล ซเวซิ, เลโอนิทา โปเป, และ​บราเดอร์​บาง​คน​ที่​มี​หน้า​ที่​รับผิดชอบ​ถูก​ส่ง​ไป​อยู่​ใน​ค่าย​แรงงาน.

ความ​หวัง​จะ​ได้​รับ​การ​ปลด​เปลื้อง​จาก​สภาพการณ์​ที่​ยาก​ลำบาก

กระทั่ง​ปี 1967 แอลเบเนีย​ไม่​เห็น​ชอบ​กับ​ศาสนา​ใด ๆ ทั้ง​สิ้น. ใน​เวลา​ต่อ​มา​ก็​ไม่​มี​การ​ผ่อนปรน​อีก​ต่อ​ไป. บาทหลวง​คาทอลิก, บาทหลวง​นิกาย​ออร์โทด็อกซ์, หรือ​ผู้​นำ​ศาสนา​อิสลาม​ไม่​สามารถ​ประกอบ​พิธีกรรม​ทาง​ศาสนา. มี​การ​ปิด​โบสถ์​และ​สุเหร่า​หรือ​เปลี่ยน​ให้​เป็น​สถาน​ออก​กำลัง​กาย, พิพิธภัณฑสถาน, หรือ​ที่​จำหน่าย​สินค้า. ไม่​อนุญาต​ให้​ใคร​มี​คัมภีร์​ไบเบิล​ใน​ครอบครอง. ไม่​อนุญาต​ให้​พูด​หรือ​แสดง​แนว​คิด​ใด ๆ เกี่ยว​กับ​ความ​เชื่อ​ศรัทธา​พระเจ้า.

การ​ประกาศ​และ​การ​ประชุม​แทบ​เป็น​ไป​ไม่​ได้. พยาน​ฯ แต่​ละ​คน​พยายาม​สุด​ความ​สามารถ​ที่​จะ​รับใช้​พระ​ยะโฮวา ทั้ง​ที่​ถูก​แยก​ให้​อยู่​ห่าง​กัน. ระหว่าง​ช่วง​ทศวรรษ 1960 ถึง​ทศวรรษ 1980 จำนวน​พยาน​พระ​ยะโฮวา​ลด​น้อย​ลง เหลือ​เพียง​ไม่​กี่​คน. กระนั้น พยาน​ฯ เหล่า​นี้​มั่นคง​เข้มแข็ง​ฝ่าย​วิญญาณ.

ตอน​ปลาย​ทศวรรษ 1980 การ​เมือง​ใน​แอลเบเนีย​เริ่ม​เปลี่ยน​แปลง​อย่าง​ค่อย​เป็น​ค่อย​ไป. อาหาร​และ​เสื้อ​ผ้า​เป็น​ของ​หา​ยาก. ประชาชน​เดือดร้อน​ลำเค็ญ. การ​ปฏิรูป​ที่​แผ่​ไป​ทั่ว​ภูมิภาค​ตะวัน​ออก​ของ​ยุโรป​ใน​ช่วง​ต้น ๆ ทศวรรษ 1990 ก็​เกิด​ขึ้น​ที่​แอลเบเนีย​ด้วย. หลัง​การ​ปกครอง​แบบ​รวบ​อำนาจ​นาน 45 ปี รัฐบาล​ใหม่​จึง​ยอม​ให้​มี​เสรีภาพ​ทาง​ศาสนา​อีก​ครั้ง​หนึ่ง.

โดย​การ​ชี้​นำ​จาก​คณะ​กรรมการ​ปกครอง​ของ​พยาน​พระ​ยะโฮวา สำนักงาน​สาขา​ใน​ประเทศ​ออสเตรีย​และ​กรีซ​จึง​เริ่ม​ติด​ต่อ​พี่​น้อง​ใน​แอลเบเนีย​ทันที. พี่​น้อง​ชาว​กรีก​ที่​รู้​ภาษา​แอลเบเนีย​ได้​นำ​เอา​สรรพหนังสือ​อธิบาย​คัมภีร์​ไบเบิล​เล่ม​ใหม่ ๆ ที่​เพิ่ง​แปล​ไป​ให้​พวก​พี่​น้อง​ที่​เมือง​ติรานา​และ​เบอรัท. พี่​น้อง​ท้องถิ่น​ซึ่ง​เคย​กระเจิดกระเจิง​ไป​รู้สึก​ตื้นตัน​ใจ​มาก​เมื่อ​ได้​พบ​ปะ​พี่​น้อง​พยาน​ฯ จาก​ต่าง​ประเทศ​เป็น​ครั้ง​แรก​หลัง​จาก​เวลา​ผ่าน​ไป​หลาย​ปี.

ไพโอเนียร์​ใจ​แรง​กล้า​จาก​ประเทศ​อื่น​เป็น​กอง​หน้า​ทำ​งาน

ช่วง​ต้น​ปี 1992 คณะ​กรรมการ​ปกครอง​ได้​ดำเนิน​การ​ย้าย​ไมเคิล​และ​ลินดา ดิเกรกอริโอ​สอง​สามี​ภรรยา​มิชชันนารี​เชื้อ​สาย​แอลเบเนีย​ไป​ที่​ประเทศ​แอลเบเนีย. พวก​เขา​ติด​ต่อ​ช่วยเหลือ​พี่​น้อง​ผู้​สูง​อายุ​ที่​ซื่อ​สัตย์​มั่นคง​ให้​ได้​เข้า​ร่วม​การ​ประชุม​ด้วย​กัน​ฐานะ​เป็น​ครอบครัว​นานา​ชาติ​ฝ่าย​วิญญาณ. กลุ่ม​ไพโอเนียร์​พิเศษ หรือ​ผู้​เผยแพร่​เต็ม​เวลา​ชาว​อิตาลี​จำนวน 16 คน​ซึ่ง​มี​ความ​บากบั่น​พยายาม​ได้​เดิน​ทาง​มา​ถึง​เมื่อ​เดือน​พฤศจิกายน พร้อม​กับ​พี่​น้อง​ไพโอเนียร์​ชาว​กรีก​สี่​คน. มี​การ​จัด​หลัก​สูตร​สอน​ภาษา​แอลเบเนีย​เพื่อ​ช่วย​ไพโอเนียร์​เหล่า​นี้​ใน​ด้าน​ภาษา.

ชีวิต​ประจำ​วัน​ลำบาก​สำหรับ​ไพโอเนียร์​จาก​ต่าง​ประเทศ. การ​จ่าย​กระแส​ไฟฟ้า​ไม่​แน่นอน ปิด ๆ เปิด ๆ, ฤดู​หนาว​อากาศ​หนาว​และ​ชื้น. ประชาชน​เข้า​แถว​นาน​หลาย​ชั่วโมง​รอ​รับ​อาหาร​และ​สิ่ง​จำเป็น​เพื่อ​ปาก​ท้อง. กระนั้น ปัญหา​ใหญ่​ที่​สุด​ที่​พี่​น้อง​ต้อง​เผชิญ​คือ​จะ​หา​สถาน​ที่​กว้างขวาง​พอ​รับรอง​ผู้​สนใจ​ที่​ตอบรับ​ความ​จริง​จำนวน​มาก​ได้​อย่าง​ไร!

ไพโอเนียร์​ที่​พยายาม​จะ​ฝึก​พูด​ภาษา​แอลเบเนีย​พบ​ว่า​การ​พูด​ภาษา​อย่าง​ถูก​ต้อง​เป็น​สิ่ง​ช่วย​อย่าง​หนึ่ง​เพื่อ​ที่​จะ​บรรลุ​ผล​สำเร็จ. แต่​ผู้​สอน​คัมภีร์​ไบเบิล​ที่​มี​ประสบการณ์​บอก​พวก​ไพโอเนียร์​ว่า “ไม่​จำเป็น​ต้อง​พูด​ให้​ถูก​ไวยากรณ์​ตรง​เผง​เพื่อ​จะ​สร้าง​รอย​ยิ้ม​แห่ง​ความ​เป็น​มิตร​หรือ​สวมกอด​พี่​น้อง​ของ​เรา. ชาว​แอลเบเนีย​จะ​ตอบ​สนอง​ความ​รัก​จาก​ใจ​จริง​ของ​คุณ ไม่​ใช่​ด้วย​คำ​พูด​ที่​ถูก​ไวยากรณ์. อย่า​วิตก ถึง​อย่าง​ไร​เขา​ก็​จะ​เข้าใจ.”

หลัง​จาก​เข้า​ชั้น​เรียน​แรก​และ​ผ่าน​หลัก​สูตร​การ​เรียน​ภาษา​แล้ว พวก​ไพโอเนียร์​ได้​เริ่ม​งาน​ที่​เมือง​เบอรัท, เดอร์เรส, จิโรกัสเตอร์, ชโกเดอร์, ติรานา, และ​วโลเร. จาก​นั้น​ไม่​นาน ใน​เมือง​เหล่า​นั้น​ก็​มี​ประชาคม​ต่าง ๆ ผุด​ขึ้น​มา​อย่าง​รวด​เร็ว. ตอน​นั้น​อเรทิ พีนา ซึ่ง​อายุ 80 กว่า​และ​สุขภาพ​ร่าง​กาย​ไม่​แข็งแรง ยัง​คง​อาศัย​อยู่​ใน​เมือง​วโลเร. ไพโอเนียร์​พิเศษ​สอง​คน​ถูก​ส่ง​ไป​ประกาศ​ด้วย​กัน​กับ​อเรทิ​ที่​นั่น. ผู้​คน​รู้สึก​ทึ่ง​ที่​ชาว​ต่าง​ชาติ​พูด​คุย​ภาษา​แอลเบเนีย: “มิชชันนารี​คณะ​อื่น ๆ ที่​เข้า​มา​สอน​ศาสนา​บอก​เรา​ให้​เรียน​ภาษา​อังกฤษ​หรือ​ภาษา​อิตาลี หาก​เรา​ต้องการ​รู้​เรื่อง​อะไร​ก็​แล้ว​แต่. ส่วน​พวก​คุณ​คง​รัก​เรา​แน่ ๆ และ​มี​เรื่อง​สำคัญ​อยาก​บอก​ให้​รู้ เพราะ​คุณ​ตั้งใจ​เรียน​ภาษา​แอลเบเนีย​จริง ๆ!” อเรทิ​สิ้น​ชีวิต​ทาง​แผ่นดิน​โลก​อย่าง​ซื่อ​สัตย์​เมื่อ​เดือน​มกราคม 1994 เธอ​ขยัน​ขันแข็ง​ทำ​การ​ประกาศ​จน​ถึง​เดือน​สุด​ท้าย​ของ​ชีวิต. การ​แสดง​ความ​กระตือรือร้น​ของ​เธอ​และ​ของ​พวก​ไพโอเนียร์​ได้​รับ​การ​อวย​พร. ประชาคม​หนึ่ง​ใน​วโลเร​ได้​รับ​การ​บูรณะ​ขึ้น​ใหม่​ใน​ปี 1995. ปัจจุบัน สาม​ประชาคม​ที่​กำลัง​เจริญ​เติบโต​ต่าง​ก็​ขันแข็ง​ทำ​งาน​ประกาศ​เผยแพร่​ที่​เมือง​ท่า​นี้.

ผู้​คน​ทั่ว​ประเทศ​อดอยาก​ฝ่าย​วิญญาณ​และ​ไม่​ค่อย​จะ​มี​อคติ​เรื่อง​ศาสนา. พวก​เขา​เต็ม​ใจ​รับ​สรรพหนังสือ​ที่​อธิบาย​คัมภีร์​ไบเบิล​และ​กระตือรือร้น​อ่าน​ทุก​เล่ม​ที่​ได้​รับ​จาก​พยาน​ฯ. หนุ่ม​สาว​จำนวน​มาก​เริ่ม​ต้น​ศึกษา​และ​ก้าว​หน้า​อย่าง​รวด​เร็ว.

มาก​กว่า 90 ประชาคม​และ​กลุ่ม​ต่าง ๆ ทั่ว​ทั้ง​ประเทศ “ได้​รับ​การ​เสริม​ต่อ ๆ ไป​ให้​มั่นคง​อยู่​ใน​ความ​เชื่อ และ​ทวี​จำนวน​มาก​ขึ้น​ทุก​วัน.” (กิจการ 16:5, ล.ม.) เหล่า​พยาน​ฯ 3,513 คน​ใน​แอลเบเนีย​ยัง​คง​มี​งาน​ที่​จะ​ทำ​อีก​มาก. เดือน​มีนาคม 2005 ใน​การ​ประชุม​อนุสรณ์​ระลึก​การ​วาย​พระ​ชนม์​ของ​พระ​คริสต์​นั้น​มี 10,144 คน​ได้​เข้า​ร่วม​ประชุม. การ​พิจารณา​โต้​ตอบ​เมื่อ​พยาน​ฯ ประกาศ​แก่​ชาว​แอลเบเนีย​ที่​เอื้อเฟื้อ​นั้น​ก่อ​ผล​ดี​ที​เดียว มี​การ​ศึกษา​คัมภีร์​ไบเบิล​มาก​กว่า 6,000 ราย. เห็น​ได้​ชัด​ว่า หลาย​พัน​คน​จะ​ได้​รับ​ประโยชน์​จาก​พระ​คัมภีร์​ฉบับ​แปล​โลก​ใหม่ ที่​ออก​เป็น​ภาษา​แอลเบเนีย​ไม่​นาน​มา​นี้. จริง​ที​เดียว พระ​คำ​ของ​พระ​ยะโฮวา​จำเริญ​ขึ้น​ใน “แดน​นก​อินทรี” เป็น​คำ​สรรเสริญ​แด่​พระ​ยะโฮวา.

[เชิงอรรถ]

^ วรรค 9 สำหรับ​ชีวประวัติ​ของ​ทานัส ดูลิ โปรด​อ่าน​จาก​หอสังเกตการณ์ ฉบับ 1 ธันวาคม 1968 (ภาษา​อังกฤษ).

^ วรรค 17 อ่าน​ชีวประวัติ​ของ​นาโช โดรี​ได้​จาก​หอสังเกตการณ์ ฉบับ 1 มกราคม 1996.

^ วรรค 19 อ่าน​ชีวประวัติ​ของ​เฮเลน ภรรยา​ของ​จอห์น มาคส์​ได้​จาก​หอสังเกตการณ์ ฉบับ 1 มกราคม 2002.

[กรอบ​หน้า 20]

การ​ต่อ​สู้​กัน​อัน​เนื่อง​มา​จาก​ชาติ​พันธุ์​มลาย​หาย​ไป​ใน​โคโซโว!

โคโซโว​เป็น​ชื่อ​ที่​ได้​ยิน​บ่อย​ใน​ช่วง​ปลาย​ทศวรรษ 1990 ใน​คราว​ที่​เกิด​กรณี​พิพาท​แยก​ดินแดน​และ​การ​เกลียด​ชัง​ทาง​ด้าน​ชาติ​พันธุ์​ที่​ฝัง​ราก​ลึก​ซึ่ง​นำ​ไป​สู่​สงคราม​และ​การ​แทรกแซง​จาก​นานา​ชาติ.

ช่วง​สงคราม​บน​คาบสมุทร​บอลข่าน พยาน​ฯ หลาย​คน​ต้อง​ลี้​ภัย​เข้า​ไป​ยัง​ประเทศ​ใกล้​เคียง. หลัง​สงคราม​สงบ พยาน​ฯ กลุ่ม​เล็ก ๆ ก็​ได้​กลับ​มา​ที่​โคโซโว พร้อม​จะ​ทำ​งาน​ให้​คำ​พยาน​ที่​นั่น. ไพโอเนียร์​พิเศษ​ทั้ง​ชาว​แอลเบเนีย​และ​ชาว​อิตาลี​ได้​อาสา​ไป​เผยแพร่​ที่​โคโซโว เพื่อ​ช่วย​ผู้​คน 2,350,000 คน​ใน​ดินแดน​แห่ง​นี้. สี่​ประชาคม​และ​หก​กลุ่ม​ประกอบ​ด้วย​ผู้​ประกาศ​ที่​ทำ​งาน​ขยัน​ขันแข็ง​รวม​ทั้ง​สิ้น 130 คน​กำลัง​รับใช้​พระ​ยะโฮวา​ใน​เขต​งาน​นี้.

การ​ประชุม​พิเศษ​หนึ่ง​วัน​ได้​จัด​ขึ้น​ที่​เมือง​พ​ริ​สติ​นา ใน​ฤดู​ใบ​ไม้​ผลิ​ปี 2003 มี​ผู้​เข้า​ร่วม​ประชุม 252 คน. ท่ามกลาง​คน​เหล่า​นั้น​มี​ผู้​คน​ซึ่ง​พื้นเพ​เป็น​ชาว​แอลเบเนีย, เยอรมัน, อิตาลี, ยิปซี, และ​เซิร์บ. ตอน​จบ​คำ​บรรยาย​การ​รับ​บัพติสมา ผู้​บรรยาย​ขอ​ให้​ตอบ​คำ​ถาม​สอง​ข้อ. มี​สาม​คน​ได้​ยืน​ขึ้น​ตอบ​ให้​คำ​ยืน​ยัน เป็น​ผู้​ชาย​เชื้อ​สาย​แอลเบเนีย​คน​หนึ่ง, หญิง​ยิปซี, และ​อีก​คน​เป็น​หญิง​ชาว​เซิร์บ.

เสียง​ปรบ​มือ​ดัง​กึกก้อง​หลัง​จาก​ผู้​ร่วม​ประชุม​ได้​ยิน​ผู้​ที่​พร้อม​รับ​บัพติสมา​สาม​คน​เปล่ง​เสียง​ตอบ​พร้อม​กัน​คือ “วา!,” “ดา!,” และ “โป!” แล้ว​ทั้ง​สาม​ก็​โผ​เข้า​กอด​กัน. พวก​เขา​พบ​คำ​ตอบ​สำหรับ​ปัญหา​ที่​ฝัง​ราก​ลึก​เกี่ยว​กับ​ชาติ​พันธุ์​ซึ่ง​เป็น​ต้น​เหตุ​แห่ง​ความ​ยาก​ลำบาก​ภาย​ใน​ประเทศ​ของ​พวก​เขา.

[แผนที่​หน้า 17]

(ราย​ละเอียด​ดู​จาก​วารสาร)

ทะเล​เมดิเตอร์เรเนียน

อิตาลี

แอลเบเนีย

กรีซ

[ภาพ​หน้า 18]

เยาวชน​พยาน​ฯ เลียน​แบบ​อย่าง​ความ​กระตือรือร้น​ของ​ผู้​สูง​อายุ

[ภาพ​หน้า 18]

อเรทิ พีนา​รับใช้​ด้วย​ความ​ซื่อ​สัตย์​ตั้ง​แต่​ปี 1928 กระทั่ง​เสีย​ชีวิต​ใน​ปี 1994

[ภาพ​หน้า 19]

ไพโอเนียร์​ชาว​ต่าง​ชาติ​รุ่น​แรก​ได้​เรียน​หลัก​สูตร​สอน​ภาษา

[ที่​มา​ของ​ภาพ​หน้า 16]

Eagle: © Brian K. Wheeler/VIREO