พระยะโฮวาจะไม่ละคุณไว้เลย
พระยะโฮวาจะไม่ละคุณไว้เลย
คริสเตียนในยูเดียได้ประสบการต่อต้านอย่างรุนแรง และพวกเขาต้องต่อสู้กับทัศนะที่ฝักใฝ่ทางวัตถุของผู้คนรอบข้าง. เพื่อให้กำลังใจพวกเขา อัครสาวกเปาโลได้ยกถ้อยคำที่พระยะโฮวาตรัสแก่ชาวอิสราเอลขณะที่พวกเขาเข้าสู่แผ่นดินตามคำสัญญาขึ้นมากล่าว. เปาโลเขียนว่า “เราจะไม่ละท่านไว้เลย, หรือเราจะไม่ทิ้งท่านเสียเลย.” (เฮ็บราย 13:5; พระบัญญัติ 31:6) คำสัญญาข้อนี้เสริมกำลังคริสเตียนชาวฮีบรูในศตวรรษแรกอย่างไม่ต้องสงสัย.
คำสัญญาข้อเดียวกันนี้น่าจะเสริมกำลังเราให้รับมือกับความกังวลต่าง ๆ ที่เกิดจากการดำรงชีวิตอยู่ใน “วิกฤตกาลซึ่งยากที่จะรับมือได้.” (2 ติโมเธียว 3:1, ล.ม.) หากเราไว้วางใจพระยะโฮวาและปฏิบัติตามนั้น พระองค์จะทรงค้ำจุนเราแม้แต่ในสภาพการณ์ที่ยากลำบากที่สุด. เพื่อจะเห็นวิธีที่พระยะโฮวาสามารถปฏิบัติตามคำสัญญาข้อนี้ ขอให้เราพิจารณาตัวอย่างของคนที่หมดหนทางทำมาหากินอย่างกะทันหัน.
เผชิญกับการเปลี่ยนแปลงที่ไม่คาดฝัน
จำนวนคนตกงานกำลังเพิ่มขึ้นทั่วโลก. ตามที่วารสารฉบับหนึ่งของโปแลนด์กล่าวนั้น การตกงานถือว่าเป็น “หนึ่งในปัญหาทางเศรษฐกิจสังคมที่ยากที่สุด.” ประเทศอุตสาหกรรมก็ไม่มีข้อยกเว้น. ตัวอย่างเช่น เมื่อถึงปี 2004 แม้แต่ในท่ามกลางสมาชิกขององค์กรเพื่อความร่วมมือและพัฒนาทางเศรษฐกิจ จำนวนคนตกงานได้ “เพิ่มขึ้นถึงกว่า 32 ล้านคน มาถึงระดับที่สูงกว่าจำนวนในช่วงภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ในทศวรรษ 1930.” ในโปแลนด์ สำนักงานสถิติส่วนกลางลงบัญชีไว้ว่ามีคนตกงานสามล้านคนในเดือนธันวาคม 2003 ซึ่ง “เท่ากับ 18 เปอร์เซ็นต์ของพลเมืองที่อยู่ในวัยทำงาน.” แหล่งข่าวหนึ่งกล่าวว่าอัตราการตกงานท่ามกลางประชากรชาวแอฟริกาผิวดำในแอฟริกาใต้มีถึง 47.8 เปอร์เซ็นต์ในปี 2002!
การตกงานอย่างกะทันหันและการเลิกจ้างโดยไม่คาดคิดเป็นการคุกคามอย่างแท้จริงสำหรับหลายคน รวมทั้งผู้รับใช้ของพระยะโฮวาด้วย. “วาระและเหตุการณ์ที่ไม่ได้คาดล่วงหน้า” เกิดขึ้นกับใคร ๆ ก็ได้. (ท่านผู้ประกาศ 9:11, ล.ม.) เราอาจกล่าวได้เช่นเดียวกับดาวิดผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญที่ว่า “ความทุกข์ในใจของข้าพเจ้าทวีมากขึ้นแล้ว.” (บทเพลงสรรเสริญ 25:17) คุณจะสามารถรับมือกับสภาพการณ์ที่ไม่ราบรื่นดังกล่าวได้ไหม? สภาพการณ์เช่นนั้นอาจมีผลกระทบต่อสวัสดิภาพของคุณทางด้านอารมณ์, ด้านวิญญาณ, และด้านวัตถุ. หากตกงาน คุณจะหาทางกลับมาอยู่ในสภาพเดิมอีกได้ไหม?
การรับมือกับความรู้สึกเครียด
ยานุส เวียตซินสกี นักจิตวิทยาอธิบายว่า “การตกงานทำให้พวกผู้ชายรู้สึกเจ็บปวดมากกว่า” เนื่องจากตามธรรมเนียมแล้วถือกันว่าผู้ชายเป็นคนหาเลี้ยงครอบครัว. เขากล่าวว่า การตกงานสามารถทำให้ “อารมณ์ความรู้สึกของคนเปลี่ยนอย่างรุนแรงโดยฉับพลันเหมือนนั่งรถไฟเหาะ” ความรู้สึกมีตั้งแต่ความโกรธไปจนถึงการยอมรับสภาพโดยไม่ปริปากบ่น. บิดาซึ่งถูกเลิกจ้างงานอาจหมดความนับถือตัวเองและเริ่ม “ทะเลาะวิวาทกับครอบครัวของเขา.”
อัดดัม บิดาคริสเตียนที่มีลูกสองคนอธิบายว่าเขารู้สึกอย่างไรเมื่อตกงาน: “ผมวุ่นวายใจง่าย; ทุกสิ่งทุกอย่างทำให้ผมหงุดหงิด. แม้แต่ตอนกลางคืนผมก็ฝันถึงแต่เรื่องงานและวิธีที่จะหาเลี้ยงลูก ๆ กับภรรยาซึ่งก็ถูกเลิกจ้างงานโดยไม่คาดฝันเช่นเดียวกัน.” เมื่อริชาร์ดกับมารีโอลา คู่สมรสซึ่งมีลูกคนเดียวหมดหนทางหารายได้ ทั้งคู่ได้เป็นหนี้เงินกู้ธนาคารอยู่เป็นเงินก้อนโต. ภรรยาเล่าว่า “ดิฉันไม่สบายใจอยู่เรื่อย ๆ สติรู้สึกผิดชอบบอกตัวเองว่าเป็นความผิดพลาดที่เรากู้เงินก้อนนี้มา. ดิฉันคิดอยู่เสมอว่าทั้งหมดเป็นความผิดของตัวเอง.” เมื่อเผชิญกับสภาพการณ์ดังกล่าว เราอาจรู้สึกโมโหง่าย, วิตกกังวล, หรือรู้สึกขมขื่น และอารมณ์แบบนั้นอาจครอบงำเรา. ถ้าเช่นนั้น เราจะควบคุมอารมณ์ความรู้สึกในแง่ลบที่อาจผุดขึ้นมาในตัวเราได้อย่างไร?
คัมภีร์ไบเบิลให้คำแนะนำที่บังเกิดผลในเรื่องวิธีรักษาทัศนะในแง่บวก. อัครสาวกเปาโลเตือนสติว่า “อย่ากระวนกระวายด้วยสิ่งใด แต่ในทุกสิ่งจงทูลขอต่อพระเจ้าโดยการอธิษฐานและการวิงวอนพร้อมด้วยการขอบพระคุณ; แล้วสันติสุขแห่งพระเจ้าที่เหนือกว่าความคิดทุกอย่างจะป้องกันรักษาหัวใจและความสามารถในการคิดของท่านไว้โดยพระคริสต์เยซู.” (ฟิลิปปอย 4:6, 7, ล.ม.) การเข้าเฝ้าพระยะโฮวาในคำอธิษฐานจะทำให้เรามี “สันติสุขแห่งพระเจ้า” ซึ่งเป็นสภาพจิตใจที่สงบซึ่งอาศัยความเชื่อที่เรามีในพระองค์. อีเรนา ภรรยาของอัดดัมกล่าวว่า “เราทูลพระยะโฮวาในคำอธิษฐานเกี่ยวกับสภาพการณ์ของเราและบอกวิธีที่เราจะทำให้ชีวิตเรียบง่ายขึ้น. สามีของดิฉันซึ่งปกติมักจะมีแนวโน้มที่จะกังวลมากกว่า ก็เริ่มรู้สึกว่าจะมีทางแก้ปัญหา.”
หากคุณตกงานโดยไม่คาดฝัน คุณก็มีโอกาสนำคำกระตุ้นเตือนของพระเยซูคริสต์ในคำเทศน์บนภูเขามาใช้ที่ว่า “อย่ากระวนกระวายถึงการเลี้ยงชีพของตนว่า, จะเอาอะไรกินหรือจะเอาอะไรดื่ม และอย่ากระวนกระวายถึงร่างกายของตนว่า, จะเอาอะไรนุ่งห่ม. . . . ท่านทั้งหลายจงแสวงหาแผ่นดินของพระเจ้า และความชอบธรรมของพระองค์ก่อน, แล้วพระองค์จะทรงเพิ่มเติมสิ่งทั้งปวงเหล่านี้ให้.” (มัดธาย 6:25, 33) ริชาร์ดกับมารีโอลาได้เอาคำแนะนำนี้มาใช้ในการแก้ปัญหาด้านอารมณ์ความรู้สึกของเขา. มารีโอลาเล่าว่า “สามีปลอบโยนดิฉันเสมอและเน้นว่าพระยะโฮวาจะไม่ละทิ้งเรา.” สามีของเธอกล่าวเสริมว่า “โดยการอธิษฐานด้วยกันอย่างไม่ละลด เราได้เข้าใกล้พระเจ้าและใกล้ชิดกันและกันมากขึ้น และนั่นทำให้เราได้รับการปลอบประโลมใจที่จำเป็น.”
พระวิญญาณบริสุทธิ์ของพระเจ้าจะช่วยเราให้รับมือได้ด้วย. การรู้จักบังคับตนซึ่งพระวิญญาณสามารถก่อขึ้นในตัวเรา ช่วยเรารักษาตัวและความรู้สึกของเราให้สงบได้. (ฆะลาเตีย 5:22, 23) การทำเช่นนั้นอาจไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็มีทางเป็นไปได้ เพราะพระเยซูทรงสัญญาว่า “พระบิดาผู้อยู่ ในสวรรค์จะประทานพระวิญญาณบริสุทธิ์แก่คนทั้งปวงที่ขอจากพระองค์.”—ลูกา 11:13; 1 โยฮัน 5:14, 15.
อย่าละเลยความจำเป็นฝ่ายวิญญาณ
การต้องออกจากงานโดยไม่คาดฝันอาจทำให้แม้แต่คริสเตียนที่เป็นคนสมดุลจริง ๆ รู้สึกวิตกกังวลในตอนแรก แต่เราไม่ควรละเลยความจำเป็นฝ่ายวิญญาณของเรา. ขอยกโมเซตอนอายุ 40 ปีเป็นตัวอย่าง ทั้งชีวิตได้เปลี่ยนไปเมื่อท่านสูญเสียตำแหน่งในชนชั้นขุนนางและต้องกลายมาเป็นคนเลี้ยงแกะ ซึ่งเป็นงานที่ชาวอียิปต์รังเกียจ. (เยเนซิศ 46:32) โมเซต้องปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่ของตัวเอง. ตลอด 40 ปีต่อจากนั้น ท่านได้ยอมให้พระยะโฮวาขัดเกลาและเตรียมท่านไว้พร้อมสำหรับงานใหม่ที่รออยู่ข้างหน้า. (เอ็กโซโด 2:11-22; กิจการ 7:29, 30; เฮ็บราย 11:24-26) ทั้ง ๆ ที่เผชิญกับความยากลำบาก โมเซได้มุ่งความสนใจไปที่สิ่งฝ่ายวิญญาณ เต็มใจยอมรับการฝึกอบรมจากพระยะโฮวา. ขออย่าให้เรายอมให้สภาพการณ์ที่ไม่ราบรื่นบดบังหลักการทางศีลธรรมและความเชื่อของเรา!
ถึงแม้การตกงานอย่างกะทันหันอาจทำให้ชอกช้ำใจ แต่นั่นเป็นโอกาสดีที่จะเสริมความผูกพันของเรากับพระยะโฮวาพระเจ้าและกับประชาชนของพระองค์ให้แน่นแฟ้นขึ้น. อัดดัมที่กล่าวถึงในตอนต้นรู้สึกเช่นนั้น. เขากล่าวว่า “เมื่อผมกับภรรยาตกงานกันทั้งคู่ เราไม่เคยคิดที่จะขาดการประชุมคริสเตียนหรือมีส่วนร่วมน้อยลงในงานเผยแพร่. ทัศนะเช่นนี้ป้องกันมิให้เรากังวลเกินไปในเรื่องอนาคต.” ริชาร์ดก็รู้สึกเช่นกันว่า “หากไม่ใช่เพราะการประชุมและงานรับใช้แล้ว เราจะไม่มีวันรับมือได้เลย; ความกังวลคงได้ครอบงำเราแน่ ๆ. การสนทนาเรื่องฝ่ายวิญญาณกับคนอื่นเป็นสิ่งที่เสริมสร้าง เพราะนั่นเบนความสนใจของเราไปที่ความจำเป็นของพวกเขา ไม่ใช่ของเราเอง.”—ฟิลิปปอย 2:4.
1 โกรินโธ 15:58, ล.ม.
ใช่แล้ว แทนที่จะกังวลเรื่องงาน จงพยายามใช้เวลาที่คุณมีเพิ่มขึ้นสำหรับกิจกรรมฝ่ายวิญญาณ, ศึกษาส่วนตัว, มีส่วนร่วมในกิจกรรมของประชาคม, หรือขยายงานรับใช้ของคุณ. แทนที่จะใช้ชีวิตแบบไม่มีอะไรทำ คุณจะมี “มากมายหลายสิ่งที่จะทำเสมอในงานขององค์พระผู้เป็นเจ้า” ซึ่งจะนำความยินดีมาสู่ทั้งตัวคุณและใครก็ตามที่จริงใจซึ่งตอบรับข่าวสารเรื่องราชอาณาจักรที่คุณประกาศนั้น.—การหาเลี้ยงครอบครัวของคุณ
อย่างไรก็ดี การบำรุงเลี้ยงทางฝ่ายวิญญาณจะไม่ทำให้อิ่มท้อง. เราควรจดจำหลักการต่อไปนี้: “ถ้าแม้นผู้ใดไม่เลี้ยงดูคนเหล่านั้นซึ่งเป็นของตนเอง และโดยเฉพาะคนเหล่านั้นซึ่งเป็นสมาชิกแห่งครอบครัวของตน ผู้นั้นก็ได้ปฏิเสธเสียซึ่งความเชื่อและนับว่าเลวร้ายกว่าคนที่ไม่มีความเชื่อเสียด้วยซ้ำ.” (1 ติโมเธียว 5:8, ล.ม.) อัดดัมยอมรับว่า “ถึงแม้พวกพี่น้องในประชาคมเต็มใจช่วยเหลือให้เรามีสิ่งจำเป็นด้านร่างกาย แต่ในฐานะคริสเตียนเรามีพันธะที่ต้องพยายามหางานทำ.” เราอาจพึ่งอาศัยการเกื้อหนุนจากพระยะโฮวาและประชาชนของพระองค์ แต่เราไม่ควรลืมว่าเราต้องริเริ่มในการหางานทำ.
คุณจะริเริ่มเช่นไร? อัดดัมชี้แจงว่า “อย่าคอยอยู่เฉย ๆ หวังให้พระเจ้าช่วยโดยการอัศจรรย์. เมื่อหางานทำ อย่าลังเลที่จะบอกว่าคุณเป็นพยานพระยะโฮวา. ตามปกติ นายจ้างจะเห็นคุณค่าในเรื่องนี้.” ริชาร์ดให้คำแนะนำดังนี้: “ถามใคร ๆ ที่คุณรู้จักในเรื่องโอกาสที่จะได้งานทำ, ติดต่อสอบถามสำนักจัดหางานอยู่เสมอ, อ่านโฆษณา เช่น ‘ต้องการผู้หญิงดูแลคนทุพพลภาพ’; หรือ ‘งานรับจ้างชั่วคราว: เก็บสตรอเบอร์รี.’ จงหาต่อ ๆ ไป! อย่าเป็นคนช่างเลือกเกินไป ถึงแม้คุณต้องทำงานที่ต่ำต้อยหรืองานที่ไม่สมดังที่ตั้งใจไว้.”
ใช่แล้ว “องค์พระผู้เป็นเจ้า [“พระยะโฮวา,” ล.ม.] เป็นผู้ทรงช่วย [คุณ].” พระองค์จะ ‘ไม่ละคุณไว้เลย, หรือจะไม่ทิ้งคุณเสียเลย.’ (เฮ็บราย 13:5, 6) คุณไม่ต้องกังวลจนเกินไป. ดาวิดผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญได้เขียนว่า “จงมอบทางประพฤติของตนไว้กับพระยะโฮวา; แถมจงวางใจในพระองค์ด้วย, และพระองค์จะทรงกระทำให้สำเร็จดังประสงค์.” (บทเพลงสรรเสริญ 37:5) ‘การมอบทางของเราไว้กับพระยะโฮวา’ หมายความว่าเราพึ่งอาศัยพระองค์และทำสิ่งต่าง ๆ ตามแนวทางของพระองค์ แม้แต่เมื่อสภาพแวดล้อมอาจดูเหมือนไม่ราบรื่นสำหรับเรา.
อัดดัมกับอีเรนาหาเลี้ยงตัวเองโดยการล้างหน้าต่างและทำความสะอาดช่องบันไดและโดยการประหยัดเมื่อใช้จ่าย. ทั้งสองคนไปที่สำนักจัดหางานเป็นประจำด้วย. อีเรนากล่าวว่า “มีการช่วยเหลือเสมอในตอนที่เราจำเป็นพอดี.” สามีของเธอกล่าวเสริมว่า “ประสบการณ์ที่ผ่านมาเผยให้เห็นว่าเรื่องที่เรายกขึ้นมาพูดในคำอธิษฐานไม่ได้ประสานกับพระทัยประสงค์ของพระเจ้าเสมอไป. นี่สอนเราให้พึ่งอาศัยสติปัญญาของพระองค์และไม่ทำตามความเข้าใจของเราเอง. เป็นการดีกว่าที่เราสงบใจรอคอยทางแก้ปัญหาที่พระเจ้าจะทรงเตรียมให้.”—ยาโกโบ 1:4.
ริชาร์ดกับมารีโอลาทำงานเบ็ดเตล็ดต่าง ๆ แต่เวลาเดียวกันก็เข้าร่วมในการให้คำพยานในเขตที่มีความจำเป็นมากกว่า. ริชาร์ดกล่าวว่า “เราได้งานทำพอดีตอนที่เราไม่เหลืออะไรกินเลย. เราปฏิเสธงานที่มีรายได้งามซึ่งจะขัดขวางหน้าที่รับผิดชอบตามระบอบของพระเจ้า. เราสมัครใจที่จะคอยท่าพระยะโฮวามากกว่า.” ทั้งสองเชื่อว่าพระยะโฮวาได้ทรงพลิกผันเหตุการณ์จนเขาสามารถเช่าแฟลตได้ในราคาถูกมากและริชาร์ดก็ได้งานทำในที่สุด.
การหมดหนทางทำมาหากินอาจเป็นเรื่องทำให้ทุกข์ระทมจริง ๆ แต่ไฉนไม่มองดูว่านี่เป็นโอกาสที่คุณจะประสบด้วยตัวเองว่าพระยะโฮวาจะไม่ละทิ้งคุณเลย? พระยะโฮวาทรงดูแลคุณ. (1 เปโตร 5:6, 7) พระองค์ได้ทรงสัญญาผ่านทางผู้พยากรณ์ยะซายาว่า “อย่าท้อใจ, เพราะเราเป็นพระเจ้าของเจ้า, เราจะหนุนกำลังเจ้า, เออ, เราจะช่วยเจ้า.” (ยะซายา 41:10) อย่ายอมให้เหตุการณ์ที่ไม่คาดฝัน รวมทั้งการตกงานทำให้คุณหมดสิ้นเรี่ยวแรง. จงทำทุกสิ่งเท่าที่คุณทำได้ ครั้นแล้ว เรื่องที่นอกเหนือจากนั้นก็ให้ฝากไว้ในพระหัตถ์ของพระยะโฮวา. จง “สงบใจ” รอคอยพระยะโฮวา. (บทเพลงร้องทุกข์ของยิระมะยา 3:26) แล้วคุณจะได้รับพระพรอย่างอุดม.—ยิระมะยา 17:7.
[ภาพหน้า 9]
จงใช้เวลาสำหรับกิจกรรมฝ่ายวิญญาณ
[ภาพหน้า 10]
เรียนรู้ที่จะเป็นคนประหยัด และไม่ช่างเลือกมากเกินไปเมื่อคุณกำลังหางานทำ