ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

ฉันได้รับ “ตามที่ใจปรารถนา”

ฉันได้รับ “ตามที่ใจปรารถนา”

เรื่อง​ราว​ชีวิต​จริง

ฉัน​ได้​รับ “ตาม​ที่​ใจ​ปรารถนา”

เล่า​โดย​โดมินิก มอร์กู

ใน​ที่​สุด ฉัน​ก็​ได้​มา​อยู่​แอฟริกา​ใน​เดือน​ธันวาคม 1998! ความ​ฝัน​ใน​วัย​เด็ก​บัด​นี้​เป็น​จริง​แล้ว. ฉัน​ตื่นเต้น​เสมอ​เมื่อ​นึก​ภาพ​ทุ่ง​โล่ง​กว้าง​ของ​แอฟริกา​และ​ชีวิต​สัตว์​ป่า​ที่​น่า​สนใจ. ตอน​นี้ ฉัน​ได้​มา​ที่​นี่​จริง ๆ! ใน​เวลา​เดียว​กัน ความ​ฝัน​อีก​อย่าง​หนึ่ง​กลาย​เป็น​จริง​ด้วย. ฉัน​เป็น​ผู้​เผยแพร่​ประเภท​เต็ม​เวลา​ปฏิบัติ​งาน​ใน​ต่าง​ประเทศ. สำหรับ​หลาย​คน เรื่อง​ทำนอง​นี้​อาจ​ดู​เหมือน​ว่า​เป็น​ไป​ไม่​ได้. สายตา​ฉัน​มอง​อะไร​แทบ​ไม่​เห็น และ​ขณะ​เดิน​บน​ถนน​ทราย​ตาม​หมู่​บ้าน​ใน​แอฟริกา ฉัน​ได้​อาศัย​สุนัข​นำ​ทาง​ที่​ถูก​ฝึก​ให้​รู้​จัก​ถนน​ใน​เมือง​ใหญ่​ทาง​ยุโรป. ฉัน​ขอ​เล่า​ว่า​เป็น​ไป​ได้​อย่าง​ไร​ที่​ฉัน​ได้​มา​รับใช้​ใน​แอฟริกา และ​พระ​ยะโฮวา​ทรง​ให้​ฉัน “ตาม​ที่​ใจ​ปรารถนา.”—บทเพลง​สรรเสริญ 37:4.

ฉัน​เกิด​วัน​ที่ 9 มิถุนายน 1966 ทาง​ภาค​ใต้​ของ​ฝรั่งเศส. พ่อ​แม่​มี​ลูก​เจ็ด​คน เป็น​ชาย​สอง​และ​หญิง​ห้า ฉัน​เป็น​คน​สุด​ท้อง ลูก​ทุก​คน​ได้​รับ​การ​เลี้ยง​ดู​จาก​พ่อ​แม่​ด้วย​ความ​รักใคร่. อย่าง​ไร​ก็​ดี ชีวิต​ฉัน​ใน​วัย​เด็ก​น่า​เศร้า. ฉัน​ป่วย​เป็น​โรค​ทาง​พันธุกรรม​ซึ่ง​ใน​ที่​สุด​แล้ว​ตา​จะ​บอด​สนิท เช่น​เดียว​กับ​ยาย, แม่, และ​พี่​สาว​คน​หนึ่ง.

ขณะ​ที่​ยัง​เป็น​วัยรุ่น ฉัน​ต้อง​เผชิญ​การ​เหยียด​เชื้อ​ชาติ, การ​เลือก​หน้า​ลำเอียง, และ​ความ​หน้า​ซื่อ​ใจ​คด ซึ่ง​เป็น​เหตุ​ให้​ฉัน​ต่อ​ต้าน​สังคม. ใน​ช่วง​ที่​ทำ​ใจ​ได้​ยาก​นี้​เอง พวก​เรา​ย้าย​ไป​อยู่​ใน​มณฑล​เอโรต์. มี​สิ่ง​ที่​ยอด​เยี่ยม​เกิด​ขึ้น​ที่​นั่น.

เช้า​วัน​อาทิตย์​วัน​หนึ่ง สตรี​พยาน​พระ​ยะโฮวา​สอง​คน​มา​ที่​ประตู​บ้าน​ของ​เรา. แม่​รู้​จัก​คน​ทั้ง​สอง​จึง​ได้​เชิญ​เข้า​บ้าน. คน​หนึ่ง​ถาม​แม่​ว่า​ยัง​จำ​ที่​เคย​สัญญา​ได้​หรือ​เปล่า​ที่​ว่า​สัก​วัน​หนึ่ง​จะ​ยอม​ศึกษา​พระ​คัมภีร์. แม่​จำ​ได้​และ​ถาม​ว่า “เรา​จะ​เริ่ม​เมื่อ​ไร?” แล้ว​จึง​ตก​ลง​กัน​ว่า​ทุก​เช้า​วัน​อาทิตย์ และ​ด้วย​วิธี​นี้​แม่​จึง​เริ่ม​เรียน​รู้ “ความ​จริง​แห่ง​ข่าว​ดี.”—ฆะลาเตีย 2:14, ล.ม.

ได้​มา​ซึ่ง​การ​หยั่ง​เห็น​เข้าใจ

แม่​ไม่​ย่อท้อ ตั้งใจ​จริง​เพื่อ​ให้​เข้าใจ​และ​พยายาม​จด​จำ​สิ่ง​ที่​ได้​เรียน. เนื่อง​จาก​ตา​บอด แม่​ต้อง​ท่อง​จำ​ทุก​สิ่ง​ทุก​อย่าง. พยาน​ฯ ที่​สอน​แม่​มี​ความ​พากเพียร​อด​ทน​มาก​ที​เดียว. ส่วน​ตัว​ฉัน เมื่อ​พยาน​ฯ มา​ที่​บ้าน ฉัน​หลบ​เข้า​ไป​อยู่​ใน​ห้อง​ของ​ฉัน​จน​กว่า​พวก​เขา​กลับ​ไป​แล้ว ฉัน​ถึง​ได้​ออก​มา. อย่าง​ไร​ก็​ดี บ่าย​วัน​หนึ่ง เออเชนี​ซึ่ง​เป็น​พยาน​ฯ พบ​ฉัน​และ​ได้​พูด​คุย​ด้วย. เธอ​บอก​ว่า​ราชอาณาจักร​ของ​พระเจ้า​จะ​ขจัด​ความ​หน้า​ซื่อ​ใจ​คด, ความ​เกลียด​ชัง, รวม​ทั้ง​การ​เลือก​หน้า​ลำเอียง​ทุก​อย่าง​ให้​หมด​ไป​จาก​โลก. เธอ​พูด​ว่า “พระเจ้า​แต่​องค์​เดียว​ทรง​มี​วิธี​แก้.” แล้ว​ก็​ถาม​ฉัน​ว่า​อยาก​เรียน​รู้​มาก​กว่า​นี้​ไหม? วัน​ถัด​ไป ฉัน​ก็​เริ่ม​ต้น​ศึกษา​พระ​คัมภีร์.

สิ่ง​ที่​ฉัน​เรียน​ทุก​อย่าง​ล้วน​เป็น​เรื่อง​ใหม่​ทั้ง​นั้น. มา​ถึง​ตอน​นี้​ฉัน​ได้​เข้าใจ​ว่า ด้วย​เหตุ​ผล​ที่​ดี พระเจ้า​ยอม​ให้​ความ​ชั่ว​ร้าย​มี​อยู่​บน​แผ่นดิน​โลก​ชั่ว​คราว. (เยเนซิศ 3:15; โยฮัน 3:16; โรม 9:17) ฉัน​ยัง​เรียน​รู้​ด้วย​ว่า​พระ​ยะโฮวา​ไม่​ได้​ปล่อย​เรา​ให้​อยู่​อย่าง​ปราศจาก​ความ​หวัง. พระองค์​ทรง​ให้​คำ​สัญญา​ที่​ดี​เยี่ยม​แก่​เรา​ใน​เรื่อง​ชีวิต​ยั่งยืน​ตลอด​ไป​ใน​อุทยาน​บน​แผ่นดิน​โลก. (บทเพลง​สรรเสริญ 37:29; 96:11, 12; ยะซายา 35:1, 2; 45:18) ใน​อุทยาน​นั้น สายตา​ของ​ฉัน​ที่​เสื่อม​ลง​เรื่อย ๆ นี้​จะ​มอง​เห็น​ได้​อีก​ครั้ง.—ยะซายา 35:5.

ฉัน​เริ่ม​ทำ​งาน​รับใช้​เต็ม​เวลา

วัน​ที่ 12 ธันวาคม 1985 ฉัน​ได้​แสดง​สัญลักษณ์​การ​อุทิศ​ตัว​แด่​พระ​ยะโฮวา​โดย​การ​รับ​บัพติสมา​ใน​น้ำ สมทบ​กับ​มารี แคลร์​พี่​สาว​ซึ่ง​ก้าว​มา​ถึง​ขั้น​นี้​แล้ว. ไม่​นาน​หลัง​จาก​นั้น ชอง ปีแอร์​พี่​ชาย และ​แม่​ที่​รัก​ของ​ฉัน​ก็​รับ​บัพติสมา​เช่น​เดียว​กัน.

ฉัน​ร่วม​ทำ​งาน​ใน​ประชาคม​ที่​หลาย​คน​เป็น​ผู้​เผยแพร่​เต็ม​เวลา หรือ​ที่​เรียก​ว่า​ไพโอเนียร์​ประจำ. ฉัน​ได้​รับ​แรง​กระตุ้น​เนื่อง​ด้วย​ความ​ชื่นชม​ยินดี​และ​ใจ​แรง​กล้า​ของ​พวก​เขา​ที่​มี​ต่อ​งาน​รับใช้. มารี แคลร์​เอง​ก็​ได้​ก้าว​สู่​งาน​รับใช้​เต็ม​เวลา​เช่น​กัน ทั้ง ๆ ที่​ตา​ข้าง​หนึ่ง​มี​ปัญหา แถม​ขา​ข้าง​หนึ่ง​ยัง​ต้อง​ใส่​อุปกรณ์​ช่วย​เดิน. จน​ทุก​วัน​นี้ ตัว​อย่าง​ของ​เธอ​เป็น​แรง​บันดาล​ใจ​เสริม​กำลัง​ฝ่าย​วิญญาณ​แก่​ฉัน​อยู่​เสมอ. การ​ถูก​ห้อม​ล้อม​ด้วย​ไพโอเนียร์​ใน​ประชาคม​และ​ใน​ครอบครัว​ได้​ช่วย​ฉัน​พัฒนา​ความ​ปรารถนา​อัน​แรง​กล้า​ที่​จะ​ร่วม​งาน​รับใช้​เต็ม​เวลา. ดัง​นั้น ใน​เดือน​พฤศจิกายน 1990 ฉัน​เริ่ม​รับใช้​ฐานะ​ไพโอเนียร์​ใน​เมือง​เบซีเย.—บทเพลง​สรรเสริญ 94:17-19.

รับมือ​กับ​ความ​ท้อ​แท้

ขณะ​ออก​ไป​ใน​งาน​รับใช้ พวก​ไพโอเนียร์​คอย​ให้​ความ​ช่วยเหลือ​และ​ดู​แล​ฉัน. กระนั้น​ก็​ดี บาง​ครั้ง​ฉัน​รู้สึก​ท้อ​แท้​เนื่อง​จาก​ตัว​เอง​มี​ขีด​จำกัด​และ​อยาก​จะ​ทำ​ได้​มาก​กว่า​นี้. อย่าง​ไร​ก็​ตาม พระ​ยะโฮวา​ทรง​ค้ำจุน​ฉัน​ใน​ช่วง​ที่​รู้สึก​ท้อ​แท้. ฉัน​ค้น​ดัชนี​สรรพหนังสือ​ของ​ว็อชเทาเวอร์ หา​อ่าน​เรื่อง​ราว​ชีวิต​จริง​ของ​ไพโอเนียร์​ซึ่ง​พิการ​ทาง​สายตา​เช่น​เดียว​กับ​ฉัน. ฉัน​ประหลาด​ใจ​มาก​ที่​รู้​ว่า​คน​พิการ​ทาง​สายตา​มี​จำนวน​มาก! เรื่อง​ราว​ที่​ตรง​กับ​ความ​เป็น​จริง​และ​ให้​การ​หนุน​กำลัง​เช่น​นี้​สอน​ฉัน​ให้​หยั่ง​รู้​ค่า​สิ่ง​ที่​ตน​สามารถ​ทำ​ได้​และ​ยอม​รับ​ขีด​จำกัด​ของ​ตัว​เอง.

เพื่อ​จะ​ช่วยเหลือ​ตัว​เอง​และ​มี​สิ่ง​จำเป็น​ยัง​ชีพ ฉัน​กับ​เพื่อน​ไพโอเนียร์​จึง​รับจ้าง​ทำ​ความ​สะอาด​ใน​ห้าง​สรรพ​สินค้า. วัน​หนึ่ง ฉัน​สังเกต​เพื่อน​ใน​ทีม​งาน​ย้อน​กลับ​ไป​ทำ​ความ​สะอาด​บริเวณ​ที่​ฉัน​เพิ่ง​ทำ. ปรากฏ​ว่า ฉัน​ปัด​กวาด​ที่​ตรง​นั้น​ไม่​สะอาด​พอ. ฉัน​ไป​หา​วาเลรี ซึ่ง​เป็น​ไพโอเนียร์​ที่​คอย​กำกับ​ทีม​งาน​ของ​เรา​ใน​การ​ทำ​ความ​สะอาด และ​ขอ​ให้​เธอ​บอก​ฉัน​ตรง ๆ ว่า​ฉัน​ได้​ทำ​ให้​ทุก​คน​ใน​ทีม​งาน​พลอย​ลำบาก​ใจ​หรือ​ไม่. เธอ​ให้​ฉัน​ตัดสิน​ใจ​เอา​เอง​หาก​รู้​ตัว​ว่า​ไม่​สามารถ​ทำ​งาน​นี้​ได้​ต่อ​ไป. เดือน​มีนาคม 1994 ฉัน​ตัดสิน​ใจ​เลิก​งาน​ทำ​ความ​สะอาด.

ฉัน​ท้อ​แท้​หมด​กำลัง​อีก​เพราะ​รู้สึก​ว่า​ตัว​เอง​เป็น​คน​ไร้​ประโยชน์. ฉัน​ได้​ทูล​อธิษฐาน​ต่อ​พระ​ยะโฮวา​ด้วย​ความ​เร่าร้อน และ​รู้​ว่า​พระองค์​สดับ​คำ​อ้อน​วอน​ของ​ฉัน. อีก​ครั้ง​หนึ่ง การ​ศึกษา​คัมภีร์​ไบเบิล​และ​สรรพหนังสือ​คริสเตียน​ช่วย​ได้​มาก​จริง ๆ. แม้​เป็น​เช่น​นั้น ขณะ​ที่​สายตา​ของ​ฉัน​เสื่อม​ลง​เรื่อย ๆ แต่​ความ​ปรารถนา​จะ​รับใช้​พระ​ยะโฮวา​กลับ​แรง​กล้า​ยิ่ง​ขึ้น. ฉัน​จะ​ทำ​อย่าง​ไร​ดี?

ที​แรก​ต้อง​รอ​ก่อน ครั้น​แล้ว​ตัดสิน​ใจ​ทันที

ฉัน​กรอก​ใบ​สมัคร​เข้า​รับ​การ​อบรม ณ ศูนย์​ฟื้นฟู​สมรรถนะ​คน​ตา​บอด​และ​พิการ​ทาง​สายตา​ที่​เมือง​นีมส์ ใน​ที่​สุด​ก็​ถูก​รับ​เข้า​เรียน​ระยะ​สาม​เดือน. นั่น​นับ​ว่า​คุ้มค่า​ที​เดียว. ฉัน​ได้​มา​เข้าใจ​ขอบ​เขต​ความ​พิการ​ของ​ตัว​เอง และ​เรียน​รู้​ที่​จะ​ปรับ​ตัว​ให้​เข้า​กับ​ข้อ​จำกัด​นั้น. การ​อยู่​ปะปน​กับ​ผู้​คน​ซึ่ง​ทน​อยู่​กับ​ความ​ทุพพลภาพ​สารพัด​รูป​แบบ​ช่วย​ฉัน​ตระหนัก​ว่า​ความ​หวัง​ของ​คริสเตียน​มี​ค่า​มาก​เพียง​ใด. อย่าง​น้อย​ฉัน​ก็​มี​เป้าหมาย​และ​สามารถ​ทำ​สิ่ง​ที่​จะ​บังเกิด​ผล. และ​ฉัน​ได้​เรียน​อักษร​เบรลล์​ภาษา​ฝรั่งเศส.

เมื่อ​ฉัน​กลับ​บ้าน คน​ใน​ครอบครัว​ของ​ฉัน​สังเกต​เห็น​ว่า​การ​ฝึก​อบรม​ได้​ช่วย​ฉัน​มาก​เพียง​ใด. แต่​อย่าง​หนึ่ง​ที่​ฉัน​ไม่​ชอบ​เลย​คือ​ไม้เท้า​สี​ขาว​ซึ่ง​ฉัน​จำ​ต้อง​ใช้. ไม่​ง่าย​เสีย​ที​เดียว​ที่​จะ​ยอม​รับ​ว่า​ฉัน​ต้อง​ใช้ “ไม้เท้า” นั้น. คง​จะ​ดู​เข้า​ท่า​สัก​หน่อย​หาก​มี​เครื่อง​ช่วย​อีก​แบบ​หนึ่ง บาง​ที​สุนัข​นำ​ทาง​ก็​ยัง​ดี.

ฉัน​ได้​ยื่น​คำ​ร้อง​ขอ​สุนัข แต่​ได้​รับ​คำ​ตอบ​ว่า​ต้อง​รอ​คิว​อีก​นาน. อนึ่ง ตัว​แทน​องค์กร​ต้อง​เข้า​มา​สำรวจ​ดู​ก่อน. ไม่​ใช่​ว่า​จะ​มอบ​สุนัข​นำ​ทาง​แก่​ใคร ๆ ก็​ได้. วัน​หนึ่ง สตรี​ผู้​ก่อ​ตั้ง​ชมรม​คน​ตา​บอด​บอก​ฉัน​ว่า​ที่​สโมสร​นัก​เทนนิส​ท้องถิ่น​จะ​บริจาค​สุนัข​นำ​ทาง​ให้​คน​ตา​บอด​หรือ​คน​พิการ​ทาง​สายตา​บาง​ส่วน​ที่​มี​ภูมิลำเนา​อยู่​ใน​ท้อง​ที่. เธอ​บอก​ว่า​เธอ​นึก​ถึง​ฉัน. ฉัน​จะ​ตก​ลง​รับ​เอา​ไหม? ฉัน​มอง​ออก​ว่า​พระ​ยะโฮวา​ทรง​ยื่น​พระ​หัตถ์​เข้า​มา​ช่วย ฉัน​จึง​ตอบ​ตก​ลง​รับ​เอา​สุนัข​ตัว​นั้น​ที่​เธอ​เสนอ​ให้​ด้วย​ความ​หวัง​ดี. แต่​ฉัน​ยัง​ต้อง​รอ​ไป​ก่อน.

ยัง​คง​ใฝ่ฝัน​ถึง​แอฟริกา

ระหว่าง​การ​รอ​คอย ฉัน​เบน​ความ​สนใจ​ไป​อีก​เรื่อง​หนึ่ง. ดัง​กล่าว​ไว้​ตอน​ต้น ตั้ง​แต่​วัย​เด็ก ฉัน​สนใจ​อยาก​รู้​อยาก​เห็น​แอฟริกา​เหลือ​เกิน. ทั้ง​ที่​สายตา​เสื่อม​ไป​มาก แต่​ความ​สนใจ​นั้น​ยัง​มี​อยู่​และ​ยิ่ง​แก่​กล้า​กว่า​เดิม โดย​เฉพาะ​อย่าง​ยิ่ง เมื่อ​รู้​มา​ว่า​ผู้​คน​มาก​มาย​ใน​แอฟริกา​สนใจ​เรียน​คัมภีร์​ไบเบิล​และ​สนใจ​จะ​รับใช้​พระ​ยะโฮวา. ก่อน​หน้า​นั้น ฉัน​เคย​พูด​เปรย ๆ ให้​วาเลรี​ฟัง​ว่า​ฉัน​อยาก​ไป​เที่ยว​ทวีป​แอฟริกา. ฉัน​อยาก​ชวน​เธอ​ไป​ด้วย. เธอ​ตอบ​ตก​ลง แล้ว​เรา​ได้​เขียน​จดหมาย​ส่ง​ไป​ยัง​สำนักงาน​สาขา​พยาน​พระ​ยะโฮวา​หลาย​ประเทศ​ใน​แอฟริกา​ที่​ใช้​ภาษา​ฝรั่งเศส.

เรา​ได้​จดหมาย​ตอบรับ​จาก​โต​โก. ฉัน​ตื่นเต้น​มาก​และ​ขอ​วาเลรี​อ่าน​ให้​ฟัง. จดหมาย​ฉบับ​นั้น​ทำ​ให้​เรา​มี​กำลังใจ วาเลรี​จึง​พูด​ว่า “เรา​ไป​ด้วย​กัน​นะ.” หลัง​จาก​ติด​ต่อ​ทาง​จดหมาย​กับ​พี่​น้อง​ที่​สาขา เขา​แนะ​นำ​ให้​ฉัน​ติด​ต่อ​กับ​ซันดรา ไพโอเนียร์​หญิง​ที่​กรุง​โล​เม เมือง​หลวง​ของ​โตโก. เรา​ออก​เดิน​ทาง​วัน​ที่ 1 ธันวาคม 1998.

ช่าง​ต่าง​กัน​ลิบ แต่​น่า​ดีใจ​เหลือ​หลาย! พอ​เครื่องบิน​ลง​สู่​พื้น​ดิน​ที่​โล​เม​แล้ว เรา​ออก​มา​ข้าง​นอก​และ​สัมผัส​ความ​ร้อน​ของ​แอฟริกา รู้สึก​เหมือน​กับ​ว่า​มี​ผ้า​ห่ม​ห่อ​ตัว. ซันดรา​มา​รับ​เรา. เรา​ไม่​เคย​รู้​จัก​กัน​มา​ก่อน แต่​เรา​กลับ​รู้สึก​เหมือน​เป็น​เพื่อน​ที่​รู้​จัก​คุ้น​เคย​กัน​ดี​ใน​ทันที​ทันใด. ไม่​นาน​ก่อน​เรา​มา ซันดรา​กับ​คริสติน​เพื่อน​ร่วม​งาน​ได้​รับ​การ​แต่ง​ตั้ง​เป็น​ไพโอเนียร์​พิเศษ​ใน​ทาบลิกโบ ซึ่ง​เป็น​เมือง​เล็ก ๆ ภาย​ใน​ประเทศ. เรา​ถือ​โอกาส​เดิน​ทาง​ไป​ยัง​เขต​งาน​ใหม่​ที่​เขา​รับ​มอบหมาย​และ​อยู่​ที่​นั่น​นาน​สอง​เดือน. ตอน​ที่​เรา​จาก​ลา ฉัน​รู้​ว่า​ฉัน​จะ​กลับ​มา​อีก.

ปีติ​ยินดี​ที่​ได้​กลับ​ไป​อีก

พอ​กลับ​ถึง​ฝรั่งเศส ฉัน​เริ่ม​เตรียม​การ​สำหรับ​การ​เดิน​ทาง​ไป​โตโก​ครั้ง​ที่​สอง​ทันที. ด้วย​การ​สนับสนุน​ของ​ครอบครัว ฉัน​สามารถ​เตรียม​การ​จะ​ไป​อยู่​ที่​โตโก​ได้​นาน​หก​เดือน. ดัง​นั้น ใน​เดือน​กันยายน 1999 ฉัน​ขึ้น​เครื่องบิน​มุ่ง​สู่​ประเทศ​โตโก​อีก​ครั้ง. แต่​คราว​นี้​ฉัน​ไป​คน​เดียว. นึก​ภาพ​ความ​รู้สึก​ของ​คน​ใน​ครอบครัว​เมื่อ​พวก​เขา​เห็น​ฉัน​ออก​จาก​บ้าน​ไป​โดย​ลำพัง ทั้ง ๆ ที่​สายตา​พิการ! แต่​ก็​ไม่​มี​อะไร​น่า​วิตก. ฉัน​รับรอง​ให้​พ่อ​แม่​มั่น​ใจ​ว่า​เพื่อน ๆ ของ​ฉัน​ซึ่ง​เป็น​เสมือน​คน​ใน​ครอบครัว​อยู่​แล้ว​จะ​รอ​พบ​ฉัน​ที่​กรุง​โลเม.

น่า​ยินดี​อะไร​เช่น​นั้น​ที่​ได้​กลับ​ไป​ยัง​เขต​งาน​ซึ่ง​หลาย​คน​แสดง​ความ​สนใจ​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล! ไม่​ใช่​เรื่อง​ผิด​ปกติ​แต่​อย่าง​ใด​ที่​เห็น​ผู้​คน​อ่าน​พระ​คัมภีร์​ริม​ถนน. ใน​เมือง​ทาบลิกโบ ผู้​คน​จะ​เรียก​คุณ​แวะ​เข้า​ไป​หา​เพื่อ​พิจารณา​ถาม​ไถ่​เรื่อง​คัมภีร์​ไบเบิล. และ​นับ​ว่า​เป็น​โอกาส​ดี​มาก​ที่​ได้​ห้อง​พัก​ขนาด​ย่อม ๆ และ​อยู่​ร่วม​กับ​ไพโอเนียร์​หญิง​สอง​คน​นั้น! ฉัน​ได้​มา​เข้าใจ​อีก​วัฒนธรรม​หนึ่ง, มี​แง่​มุม​หลาย​อย่าง​ต่าง​ออก​ไป. ประการ​แรก​และ​โดด​เด่น​ที่​สุด ฉัน​สังเกต​เห็น​พี่​น้อง​คริสเตียน​ทั้ง​หญิง​และ​ชาย​ใน​แอฟริกา​จัด​เอา​งาน​รับใช้​พระเจ้า​เป็น​อันดับ​แรก​ใน​ชีวิต​ของ​ตน. ยก​ตัว​อย่าง การ​ที่​ต้อง​เดิน​เท้า​ไป​ยัง​หอ​ประชุม​เป็น​ระยะ​ทาง​หลาย​กิโลเมตร​ไม่​ได้​เป็น​อุปสรรค​ขวาง​กั้น​พวก​เขา​ใน​การ​เข้า​ร่วม​ประชุม. นอก​จาก​นั้น ฉัน​ได้​บทเรียน​มาก​มาย​จาก​อัธยาศัย​ไมตรี​และ​ความ​เอื้อเฟื้อ​เผื่อแผ่​ของ​พวก​เขา.

วัน​หนึ่ง​เมื่อ​กลับ​จาก​เขต​งาน​รับใช้ ฉัน​เผย​ความ​ใน​ใจ​กับ​ซันดรา​ว่า​ฉัน​กลัว​ที่​จะ​กลับ​ไป​ฝรั่งเศส. สายตา​ฉัน​เสื่อม​ลง​ทุก​ที. ฉัน​นึก​ภาพ​ถนน​หน​ทาง​ใน​เมือง​เบซีเย​ซึ่ง​คับคั่ง​ไป​ด้วย​ผู้​คน​และ​เสียง​อึกทึก นึก​ถึง​บันได​ขึ้น​อพาร์ตเมนต์ และ​อีก​หลาย​อย่าง​มาก​มาย​ที่​ทำ​ให้​ชีวิต​ยุ่งยาก​สำหรับ​คน​พิการ​ทาง​สายตา. ตรง​กัน​ข้าม​กับ​เมือง​ทาบลิกโบ แม้​ถนน​ไม่​ได้​ลาดยาง​แต่​ก็​เงียบ, ไม่​มี​ผู้​คน​เดิน​ขวักไขว่ ทั้ง​ไม่​ค่อย​มี​รถ​วิ่ง​ผ่าน. มา​บัด​นี้ ฉัน​จะ​อยู่​อย่าง​ไร​ใน​ฝรั่งเศส​ใน​เมื่อ​ฉัน​ชิน​กับ​เมือง​ทาบลิกโบ​เสีย​แล้ว?

สอง​วัน​ถัด​มา แม่​โทรศัพท์​แจ้ง​ข่าว​เรื่อง​โรง​เรียน​ฝึก​สุนัข​ต้องการ​ให้​ฉัน​ไป​พบ. สุนัข​หนุ่ม​พันธุ์​ลาบราดอร์​รีทริฟเวอร์​ชื่อ​โอเซอัน​พร้อม​จะ​ทำ​หน้า​ที่​เป็น “ดวง​ตา” แทน​ฉัน. ความ​จำเป็น​ของ​ฉัน​ได้​รับ​การ​ตอบ​สนอง​อีก​ครั้ง​หนึ่ง​และ​ช่วย​คลาย​ความ​กังวล​ไป​ได้. หลัง​จาก​ทำ​งาน​รับใช้​อย่าง​มี​ความ​สุข​นาน​หก​เดือน​ใน​ทาบลิกโบ ฉัน​ก็​เดิน​ทาง​กลับ​ฝรั่งเศส​เพื่อ​ไป​พบ​เจ้า​โอเซอัน.

ภาย​หลัง​การ​ฝึก​หลาย​เดือน ฉัน​ก็​รับ​เอา​โอเซอัน​มา​อยู่​ใน​ความ​ดู​แล. แรก ๆ ก็​ไม่​ง่าย​เสีย​ที​เดียว. ทั้ง​คน​ทั้ง​สุนัข​ต้อง​เรียน​รู้​จาก​กัน​และ​กัน. แต่​ที​ละ​เล็ก​ที​ละ​น้อย ฉัน​ตระหนัก​ว่า​มี​ความ​ต้องการ​มาก​เพียง​ใด​ที่​จะ​พึ่ง​โอเซอัน. ตาม​ความ​เป็น​จริง โอเซอัน​กลาย​มา​เป็น​ส่วน​หนึ่ง​ใน​ชีวิต​ฉัน. ผู้​คน​ใน​เมือง​เบซีเย​แสดง​ปฏิกิริยา​อย่าง​ไร​เมื่อ​เห็น​ฉัน​ไป​ที่​บ้าน​ของ​เขา​พร้อม​กับ​มี​สุนัข​ไป​ด้วย? ฉัน​ได้​รับ​การ​ต้อนรับ​อย่าง​ดี​และ​ด้วย​ความ​กรุณา. ใน​ละแวก​บ้าน โอเซอัน​กลาย​เป็น “ฮีโร่.” เนื่อง​จาก​หลาย​คน​รู้สึก​ไม่​สู้​สบาย​ใจ​นัก​เมื่อ​มี​คน​พิการ​มา​อยู่​ตรง​หน้า การ​มี​สุนัข​ไป​ด้วย​ทำ​ให้​ฉัน​พูด​เรื่อง​ทุพพลภาพ​ของ​ตัว​เอง​ได้​อย่าง​เป็น​ธรรมชาติ. ผู้​คน​รู้สึก​ผ่อน​คลาย​และ​ตั้งใจ​ฟัง. จริง ๆ แล้ว โอเซอัน​กลาย​เป็น​ตัว​กลาง​ให้​เริ่ม​การ​สนทนา​ได้​ดี​มาก.

กับ​โอ​เซ​อัน​ใน​แอฟริกา

ฉัน​ยัง​ไม่​ลืม​แอฟริกา และ​ตอน​นี้​ฉัน​เริ่ม​เตรียม​ตัว​เดิน​ทาง​รอบ​ที่​สาม. คราว​นี้​มี​โอเซอัน​ไป​ด้วย. นอก​จาก​นั้น ยัง​มี​คู่​สามี​ภรรยา​หนุ่ม​สาว​คือ​แอนโทนี​กับ​โอรอโร และ​คาโรลีน​เพื่อน​ของ​ฉัน ทุก​คน​เป็น​ไพโอเนียร์​เหมือน​ฉัน. วัน​ที่ 10 กันยายน 2000 เรา​มา​ถึง​โลเม.

ที​แรก ใคร ๆ ก็​กลัว​โอเซอัน. คน​ส่วน​ใหญ่​ใน​เมือง​โลเม​ไม่​เคย​เห็น​สุนัข​ตัว​ใหญ่​ขนาด​นั้น เพราะ​สุนัข​ที่​ประเทศ​โตโก ส่วน​ใหญ่​เป็น​สุนัข​พันธุ์​เล็ก. พอ​พวก​เขา​เห็น​สาย​จูง บาง​คน​คิด​ว่า​โอเซอัน​เป็น​สุนัข​ดุ​จึง​ต้อง​ใส่​สาย​จูง​เอา​ไว้. สำหรับ​โอเซอัน มัน​ถูก​ฝึก​ให้​ปก​ป้อง​ฉัน ดัง​นั้น มัน​จะ​อยู่​พร้อม​ปก​ป้อง​ฉัน​เมื่อ​เห็น​ว่า​มี​อันตราย. กระนั้น ใน​เวลา​ไม่​นาน โอเซอัน​ก็​รู้สึก​ผ่อน​คลาย​ใน​สภาพ​แวด​ล้อม​ใหม่. เมื่อ​ใส่​สาย​จูง โอเซอัน​กำลัง​ทำ​งาน, อยู่​ใน​ความ​ควบคุม, ปฏิบัติ​หน้า​ที่, อยู่​เคียง​ข้าง​ฉัน. เมื่อ​ปลด​สาย​จูง​ออก​จาก​ตัว โอเซอัน​จะ​วิ่ง​เล่น บาง​ครั้ง​ออก​จะ​ซุก​ซน​ด้วย​ซ้ำ. เรา​เล่น​ด้วย​กัน​อย่าง​สนุกสนาน.

พวก​เรา​ทุก​คน​ได้​รับ​เชิญ​ให้​ไป​อยู่​ที่​บ้าน​ของ​ซันดรา​กับ​คริสติน​ใน​เมือง​ทาบลิกโบ. เพื่อ​จะ​ช่วย​พี่​น้อง​ชาย​หญิง​ใน​ท้องถิ่น​ให้​รู้​จัก​โอเซอัน เรา​ชวน​เขา​มา​เยี่ยม​แล้ว​ชี้​แจง​ให้​เขา​รู้​หน้า​ที่​ของ​สุนัข​นำ​ทาง, สาเหตุ​ที่​ฉัน​ต้อง​ใช้​สุนัข​ช่วย, และ​พวก​เขา​ควร​ปฏิบัติ​อย่าง​ไร​เมื่อ​อยู่​ใกล้ ๆ โอเซอัน. พวก​ผู้​ปกครอง​เห็น​ด้วย​ว่า​ฉัน​ควร​นำ​เจ้า​โอเซอัน​มา​ยัง​หอ​ประชุม. วิธี​การ​จัด​เตรียม​เช่น​นี้​ไม่​ธรรมดา​สำหรับ​ประเทศ​โตโก ฉะนั้น จึง​ได้​มี​การ​แจ้ง​แก่​ประชาคม. ส่วน​งาน​รับใช้​นั้น ฉัน​จะ​พา​โอเซอัน​ไป​ด้วย​ก็​ต่อ​เมื่อ​กลับ​เยี่ยม​ผู้​สนใจ​และ​ไป​นำ​การ​ศึกษา​พระ​คัมภีร์​เท่า​นั้น ซึ่ง​เจ้าของ​บ้าน​จะ​เข้าใจ​สภาพการณ์​ได้​ง่าย​กว่า​ว่า​ทำไม​จึง​มี​โอเซอัน​ไป​ด้วย.

การ​ประกาศ​เผยแพร่​ใน​เขต​งาน​ที่​นี่​ยัง​ความ​เบิกบาน​ยินดี​อย่าง​ต่อ​เนื่อง. ฉัน​รู้สึก​ขอบคุณ​เสมอ​ที่​ผู้​คน​คำนึง​ถึง​ผู้​อื่น​ด้วย​ความ​กรุณา สุภาพ​อ่อนโยน เช่น เขา​จะ​ยก​เก้าอี้​มา​ให้​ฉัน​นั่ง. เดือน​ตุลาคม 2001 ซึ่ง​เป็น​การ​เดิน​ทาง​รอบ​ที่​สี่​ของ​ฉัน แม่​ได้​เดิน​ทาง​มา​ที่​โตโก​ด้วย. แม่​อยู่​นาน​สาม​อาทิตย์​แล้ว​กลับ​ฝรั่งเศส พร้อม​กับ​รู้สึก​มั่น​ใจ​ว่า​ฉัน​มี​ความ​สุข​และ​แม่​ก็​ดีใจ.

ฉัน​ขอบพระคุณ​พระ​ยะโฮวา​อย่าง​สุด​ซึ้ง​ที่​สามารถ​รับใช้​ใน​โตโก. ฉัน​มั่น​ใจ​ว่า​พระ​ยะโฮวา​จะ​ให้​ฉัน​ได้​รับ “ตาม​ที่​ใจ​ปรารถนา” ต่อ ๆ ไป​ขณะ​ที่​ฉัน​ใช้​ทุก​สิ่ง​ที่​มี​อยู่​เพื่อ​รับใช้​พระองค์​เรื่อย​ไป. *

[เชิงอรรถ]

^ วรรค 37 ซิสเตอร์​มอร์กู​ได้​กลับ​ประเทศ​ฝรั่งเศส​และ​สามารถ​ไป​ประเทศ​โตโก​อีก​เป็น​รอบ​ที่​ห้า ระหว่าง​วัน​ที่ 6 ตุลาคม 2003 จน​ถึง 6 กุมภาพันธ์ 2004. น่า​เศร้า เนื่อง​จาก​ความ​ซับซ้อน​ใน​ด้าน​การ​รักษา​ทาง​การ​แพทย์ การ​เดิน​ทาง​ครั้ง​นี้​อาจ​เป็น​การ​ไป​โตโก​เป็น​ครั้ง​สุด​ท้าย​สำหรับ​เธอ​ใน​ระบบ​นี้. ถึง​อย่าง​ไร เธอ​ยัง​คง​มี​ความ​ปรารถนา​แรง​กล้า​ตลอด​เวลา​ที่​จะ​รับใช้​พระ​ยะโฮวา.

[ภาพ​หน้า 10]

ฉัน​ตื่นเต้น​เสมอ​เมื่อ​นึก​ภาพ​ทุ่ง​โล่ง​กว้าง​ของ​แอฟริกา​และ​ชีวิต​สัตว์​ป่า​ที่​น่า​สนใจ

[ภาพ​หน้า 10]

โอเซอัน​ไป​กับ​ฉัน​เมื่อ​กลับ​เยี่ยม​เยียน

[ภาพ​หน้า 11]

พวก​ผู้​ปกครอง​เห็น​ด้วย​ว่า​ฉัน​ควร​พา​โอเซอัน​มา​ยัง​การ​ประชุม