ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

การเป็นผู้เผยแพร่ที่พร้อมจะปรับเปลี่ยนและคิดหาวิธีที่เหมาะกับสภาพการณ์

การเป็นผู้เผยแพร่ที่พร้อมจะปรับเปลี่ยนและคิดหาวิธีที่เหมาะกับสภาพการณ์

การ​เป็น​ผู้​เผยแพร่​ที่​พร้อม​จะ​ปรับ​เปลี่ยน​และ​คิด​หา​วิธี​ที่​เหมาะ​กับ​สภาพการณ์

“ข้าพเจ้า​ทำ​ตัว​เป็น​คน​ทุก​อย่าง​กับ​ผู้​คน​ทุก​ชนิด เพื่อ​ข้าพเจ้า​จะ​ช่วย​บาง​คน​ให้​รอด​ให้​ได้.” —1 โกรินโธ 9:22, ล.ม.

1, 2. (ก) อัครสาวก​เปาโล​เป็น​ผู้​เผยแพร่​ที่​มี​ประสิทธิภาพ​ใน​ทาง​ใด​บ้าง? (ข) เปาโล​พรรณนา​เช่น​ไร​ถึง​เจตคติ​ของ​ท่าน​ต่อ​งาน​มอบหมาย?

เขา​รู้สึก​ผ่อน​คลาย​เมื่อ​อยู่​กับ​ผู้​ทรง​ความ​รู้​หรือ​อยู่​กับ​ช่าง​เย็บ​กระโจม​ผู้​ต่ำต้อย. เขา​มี​ความ​สามารถ​ใน​การ​โน้ม​น้าว​ใจ​ทั้ง​บุคคล​ชั้น​สูง​ชาว​โรมัน​และ​คน​ด้อย​การ​ศึกษา​ชาว​ฟรูเกีย. ข้อ​เขียน​ของ​เขา​ก่อ​แรง​บันดาล​ใจ​แก่​ชาว​กรีก​ที่​เปิด​กว้าง​ทาง​ความ​คิด​และ​ชาว​ยิว​หัว​อนุรักษ์. การ​ชัก​เหตุ​ผล​ของ​เขา​ไม่​อาจ​โต้​แย้ง​ได้ เช่น​เดียว​กับ​ที่​คำ​พูด​ของ​เขา​ดึงดูด​ความ​สนใจ​อย่าง​มี​พลัง. เขา​พยายาม​หา​จุด​เห็น​พ้อง​กับ​ทุก​คน​เพื่อ​ว่า​จะ​สามารถ​ช่วย​บาง​คน​ให้​มี​ความ​เชื่อ​ใน​พระ​คริสต์.—กิจการ 20:21.

2 ชาย​ผู้​นี้​คือ​อัครสาวก​เปาโล ซึ่ง​ไม่​มี​ข้อ​สงสัย​ว่า​ท่าน​เป็น​ผู้​เผยแพร่​ที่​มี​ประสิทธิภาพ​และ​พร้อม​จะ​ปรับ​ตัว​ให้​เข้า​กับ​สภาพการณ์. (1 ติโมเธียว 1:12) ท่าน​ได้​รับ​มอบหมาย​จาก​พระ​เยซู​ให้ “นำ​นาม [ของ​พระ​คริสต์] ไป​ยัง​คน​ต่าง​ชาติ, กษัตริย์​และ​พวก​ยิศราเอล.” (กิจการ 9:15) ท่าน​มี​เจตคติ​เช่น​ไร​ต่อ​งาน​มอบหมาย​นี้? ท่าน​กล่าว​ว่า “ข้าพเจ้า​ทำ​ตัว​เป็น​คน​ทุก​อย่าง​กับ​ผู้​คน​ทุก​ชนิด เพื่อ​ข้าพเจ้า​จะ​ช่วย​บาง​คน​ให้​รอด​ให้​ได้. แต่​ข้าพเจ้า​ทำ​ทุก​สิ่ง​เพื่อ​เห็น​แก่​ข่าว​ดี เพื่อ​ข้าพเจ้า​จะ​เป็น​ผู้​มี​ส่วน​ร่วม​ใน​ข่าว​ดี​กับ​คน​อื่น ๆ.” (1 โกรินโธ 9:19-23, ล.ม.) เรา​จะ​เรียน​อะไร​ได้​จาก​ตัว​อย่าง​ของ​เปาโล​ซึ่ง​จะ​ช่วย​เรา​ให้​มี​ประสิทธิภาพ​ใน​การ​ประกาศ​และ​การ​สอน​มาก​ยิ่ง​ขึ้น?

ชาย​ที่​เปลี่ยน​ไป​เผชิญ​งาน​ที่​ท้าทาย​ได้​สำเร็จ

3. ก่อน​เข้า​มา​เป็น​ผู้​เชื่อถือ เปาโล​มี​ความ​รู้สึก​เช่น​ไร​ต่อ​พวก​คริสเตียน?

3 เปาโล​เป็น​คน​มี​ความ​อด​กลั้น​ไว้​นาน​และ​คำนึง​ถึง​ผู้​อื่น​เสมอ​มา เหมาะ​กับ​งาน​ที่​ได้​รับ​มอบหมาย​อยู่​แล้ว​อย่าง​นั้น​ไหม? ไม่​เลย! ความ​คลั่ง​ศาสนา​ทำ​ให้​เซาโล (ชื่อ​เก่า​ของ​เปาโล) กลาย​เป็น​ผู้​ข่มเหง​สาวก​ของ​พระ​คริสต์​อย่าง​รุนแรง. ตอน​ที่​ยัง​เป็น​หนุ่ม ท่าน​เห็น​ชอบ​กับ​การ​สังหาร​ซะเตฟาโน. ต่อ​จาก​นั้น ก็​ตาม​จับ​ตัว​คริสเตียน​อย่าง​ไร้​ความ​ปรานี. (กิจการ 7:58; 8:1, 3; 1 ติโมเธียว 1:13) ท่าน “ขู่​คำราม​กล่าว​ว่า​จะ​ฆ่า​ศิษย์​ของ​พระ​เยซู” ต่อ​ไป. ท่าน​ไม่​จุ​ใจ​กับ​การ​จับ​ตัว​เหล่า​สาวก​เฉพาะ​ใน​กรุง​เยรูซาเลม​เท่า​นั้น ท่าน​เริ่ม​ขยาย​การ​ตาม​ล่า​ด้วย​ความ​รู้สึก​ชิง​ชัง​ไป​ทาง​เหนือ​ไกล​ถึง​เมือง​ดาเมเซ็ก.—กิจการ 9:1, 2.

4. เปาโล​ต้อง​ทำ​การ​ปรับ​เปลี่ยน​อะไร​เพื่อ​ที่​จะ​ทำ​งาน​มอบหมาย​ที่​ได้​รับ​ให้​สำเร็จ?

4 สาเหตุ​หลัก​ที่​เปาโล​มี​ความ​จง​เกลียด​จง​ชัง​ศาสนา​คริสเตียน​ก็​อาจ​เป็น​ไป​ได้​ที่​ท่าน​เชื่อ​ว่า​ลัทธิ​ใหม่​นี้​จะ​ทำ​ให้​ศาสนา​ยิว​เสื่อม​เสีย​ด้วย​การ​นำ​เอา​แนว​ความ​คิด​ของ​คน​ต่าง​ชาติ​เข้า​มา​ผสมผเส. ที่​จริง เปาโล​เคย​เป็น “คน​ฟาริซาย” ซึ่ง​ชื่อ​นี้​มี​ความ​หมาย​ว่า “ผู้​แยก​ตัว​อยู่​ต่าง​หาก.” (กิจการ 23:6) ลอง​วาด​มโนภาพ​ดู​สิ​ว่า เปาโล​คง​ต้อง​ตกใจ​สัก​เพียง​ไร​เมื่อ​ได้​รู้​ว่า​พระเจ้า​เลือก​ท่าน​ให้​เป็น​ผู้​ประกาศ​เรื่อง​พระ​คริสต์​แก่​คน​ต่าง​ชาติ​นั่น​เอง! (กิจการ 22:14, 15; 26:16-18) พวก​ฟาริซาย​ถึง​กับ​ไม่​ยอม​กิน​อาหาร​ร่วม​กับ​คน​ที่​เขา​ถือ​ว่า​เป็น​คน​บาป​ด้วย​ซ้ำ! (ลูกา 7:36-39) จึง​ไม่​ต้อง​สงสัย​เลย​ว่า​ท่าน​จะ​ต้อง​ใช้​ความ​พยายาม​อย่าง​มาก​เพื่อ​ปรับ​เปลี่ยน​ทัศนคติ​ของ​ตน​เสีย​ใหม่​ให้​สอดคล้อง​กับ​น้ำ​พระทัย​ของ​พระเจ้า​ซึ่ง​ประสงค์​ให้​คน​ทุก​ชนิด​ได้​รับ​ความ​รอด.—ฆะลาเตีย 1:13-17.

5. เรา​จะ​เลียน​แบบ​เปาโล​ได้​อย่าง​ไร​ใน​งาน​เผยแพร่​ของ​เรา?

5 เรา​อาจ​ต้อง​ปรับ​เปลี่ยน​เช่น​เดียว​กัน. เมื่อ​เรา​พบ​คน​หลาก​หลาย​ชนิด​มาก​ขึ้น​เรื่อย ๆ ใน​เขต​งาน​ของ​เรา​ที่​มี​หลาย​ชาติ​หลาย​ภาษา เรา​ต้อง​พยายาม​อย่าง​จริงจัง​ที่​จะ​ตรวจ​สอบ​เจตคติ​ของ​เรา​เอง​และ​ขจัด​อคติ​ใด ๆ ที่​มี​ใน​ตัว​เรา​ออก​ไป. (เอเฟโซ 4:22-24) ไม่​ว่า​เรา​จะ​รู้​ตัว​หรือ​ไม่ ความ​คิด​ของ​เรา​ถูก​หล่อ​หลอม​ด้วย​การ​ศึกษา​ที่​เรา​ได้​รับ​และ​สังคม​ที่​เรา​เติบ​ใหญ่​ขึ้น​มา. นี่​อาจ​บ่ม​เพาะ​ท่าที​ที่​มี​อคติ ไม่​ยอม​ปรับ​เปลี่ยน​ตัว​เอง. เรา​ต้อง​เอา​ชนะ​เจตคติ​เหล่า​นี้​หาก​เรา​อยาก​จะ​ประสบ​ความ​สำเร็จ​ใน​การ​เสาะ​หา​และ​ช่วยเหลือ​คน​เยี่ยง​แกะ. (โรม 15:7) นี่​เป็น​สิ่ง​ที่​เปาโล​ได้​ทำ. ท่าน​ยอม​รับ​เอา​ข้อ​ท้าทาย​ใน​การ​ขยาย​งาน​รับใช้. ด้วย​แรง​กระตุ้น​จาก​ความ​รัก ท่าน​พัฒนา​ทักษะ​การ​สอน​ที่​ควร​ค่า​แก่​การ​เลียน​แบบ. ที่​จริง การ​ศึกษา​งาน​รับใช้​ของ “อัครสาวก​มา​ยัง​พวก​ต่าง​ประเทศ” เผย​ให้​เห็น​ว่า​ท่าน​คำนึง​ถึง​ผู้​ฟัง, พร้อม​จะ​ปรับ​เปลี่ยน, และ​รู้​จัก​ปรับ​วิธี​การ​เสนอ​ให้​เข้า​กับ​สภาพการณ์​ต่าง ๆ ใน​การ​ประกาศ​และ​การ​สอน. *โรม 11:13.

ผู้​เผยแพร่​ที่​ปรับ​ใช้​วิธี​ใหม่ ๆ ใน​ภาค​ปฏิบัติ

6. เปาโล​คำนึง​ถึง​ภูมิ​หลัง​ของ​ผู้​ฟัง​อย่าง​ไร และ​ผล​เป็น​ประการ​ใด?

6 เปาโล​คำนึง​ถึง​ความ​เชื่อ​และ​ภูมิ​หลัง​ของ​ผู้​ฟัง. เมื่อ​พูด​กับ​กษัตริย์​อะกริปปา​ที่ 2 เปาโล​ยอม​รับ​ว่า​พระองค์ “ทรง​เชี่ยวชาญ​ใน​ธรรมเนียม​ทั้ง​สิ้น​อีก​ทั้ง​ข้อ​ขัด​แย้ง​ท่ามกลาง​พวก​ยิว.” จาก​นั้น เปาโล​ก็​ใช้​ความ​รู้​ที่​ท่าน​มี​เกี่ยว​กับ​ความ​เชื่อ​ของ​อะกริปปา​อย่าง​มี​ประสิทธิภาพ​และ​พิจารณา​กับ​กษัตริย์​ใน​เรื่อง​ที่​พระองค์​เข้าใจ​ดี. การ​ชัก​เหตุ​ผล​ของ​เปาโล​ชัดเจน​และ​มี​พลัง​มาก​จน​อะกริปปา​ถึง​กับ​เอ่ย​ว่า “ไม่​ช้า เจ้า​จะ​โน้ม​น้าว​ใจ​เรา​ให้​เป็น​คริสเตียน.”—กิจการ 26:2, 3, 27, 28, ล.ม.

7. เปาโล​แสดง​อย่าง​ไร​ว่า​พร้อม​จะ​ปรับ​เปลี่ยน​ใน​คราว​ที่​ท่าน​ประกาศ​แก่​ฝูง​ชน​ใน​เมือง​ลุศตรา?

7 เปาโล​พร้อม​จะ​ปรับ​เปลี่ยน​วิธี​ด้วย. ขอ​สังเกต​ว่า​ท่าน​ใช้​วิธี​ต่าง​ออก​ไป​อย่าง​ไร​เมื่อ​พยายาม​ห้าม​ปราม​ฝูง​ชน​ใน​เมือง​ลุศตรา​ไม่​ให้​บูชา​ท่าน​กับ​บาระนาบา​เป็น​พระเจ้า. กล่าว​กัน​ว่า​คน​เหล่า​นี้ ซึ่ง​พูด​ภาษา​ลุกาโอเนีย มี​การ​ศึกษา​น้อย​กว่า​และ​เชื่อถือ​โชค​ลาง​มาก​กว่า​ประชากร​กลุ่ม​อื่น ๆ. ตาม​ที่​กล่าว​ใน​กิจการ 14:14-18 เปาโล​ชี้​ว่า​สิ่ง​ทรง​สร้าง​และ​สิ่ง​ต่าง ๆ ซึ่ง​มี​อย่าง​บริบูรณ์​ใน​ธรรมชาติ​เป็น​หลักฐาน​ถึง​ความ​ยิ่ง​ใหญ่​กว่า​ของ​พระเจ้า​องค์​เที่ยง​แท้. การ​หา​เหตุ​ผล​ดัง​กล่าว​ไม่​ยาก​ที่​จะ​เข้าใจ และ​ดู​เหมือน​ว่า​จะ “ห้าม​ประชาชน​มิ​ให้​เขา​กระทำ​สักการบูชา​ถวาย” แก่​เปาโล​และ​บาระนาบา.

8. เปาโล​แสดง​อย่าง​ไร​ว่า​ท่าน​พร้อม​จะ​ปรับ​เปลี่ยน​ถึง​แม้​จะ​รู้สึก​ขุ่นเคือง​ใน​บาง​ครั้ง?

8 แน่​ละ เปาโล​ไม่​ใช่​มนุษย์​สมบูรณ์ และ​บาง​ครั้ง​ก็​รู้สึก​ขุ่นเคือง​บ้าง​ใน​บาง​เรื่อง. ตัว​อย่าง​เช่น ครั้ง​หนึ่ง​เมื่อ​ถูก​ปฏิบัติ​อย่าง​เหยียด​หยาม​และ​ไม่​ยุติธรรม ท่าน​กล่าว​ประณาม​ชาว​ยิว​ชื่อ​อะนาเนีย​อย่าง​แรง. แต่​พอ​มี​คน​บอก​เปาโล​ว่า​คน​ที่​ท่าน​พูด​จา​ดูหมิ่น​โดย​ไม่​ทัน​รู้​ตัว​นั้น​คือ​มหา​ปุโรหิต ท่าน​ก็​รีบ​ขอ​โทษ​ใน​ทันที. (กิจการ 23:1-5) เมื่อ​อยู่​ใน​กรุง​เอเธนส์ ที​แรก​ท่าน “มี​ความ​เดือดร้อน​วุ่นวาย​ใจ [“รู้สึก​ขุ่นเคือง,” ล.ม.] เพราะ​ได้​เห็น​รูป​เคารพ​เต็ม​ไป​ทั้ง​เมือง.” กระนั้น เมื่อ​กล่าว​ปราศรัย​บน​เนิน​เขา​มารส์ เปาโล​ไม่​ได้​แสดง​ความ​ขุ่นเคือง​ดัง​กล่าว. แทน​ที่​จะ​ทำ​เช่น​นั้น ท่าน​กล่าว​ต่อ​ชาว​เอเธนส์ ณ ที่​ชุมนุม​ของ​พวก​เขา หา​เหตุ​ผล​อาศัย​จุด​ที่​เห็น​พ้อง​กัน​โดย​อ้าง​ถึง​แท่น​บูชา​ของ​พวก​เขา​ที่​มี​คำ​จารึก​ว่า “สำหรับ​พระเจ้า​ที่​ไม่​รู้​จัก” และ​ยก​คำ​พูด​ของ​กวี​คน​หนึ่ง​ของ​พวก​เขา​ขึ้น​มา​กล่าว.—กิจการ 17:16-28.

9. เปาโล​แสดง​ให้​เห็น​อย่าง​ไร​ว่า​ท่าน​สามารถ​หา​วิธี​ที่​เหมาะ​กับ​สภาพการณ์​เมื่อ​พูด​กับ​ผู้​ฟัง​ที่​ต่าง​กัน?

9 เมื่อ​พูด​กับ​ผู้​ฟัง​ที่​ต่าง​กัน เปาโล​แสดง​ให้​เห็น​ถึง​ความ​สามารถ​ใน​การ​หา​วิธี​ที่​เหมาะ​กับ​สภาพการณ์​ได้​อย่าง​น่า​ทึ่ง. ท่าน​คำนึง​ถึง​วัฒนธรรม​และ​สภาพ​แวด​ล้อม​ที่​มี​อิทธิพล​ต่อ​ความ​คิด​ของ​ผู้​ฟัง. เมื่อ​เขียน​จดหมาย​ถึง​คริสเตียน​ใน​กรุง​โรม ท่าน​ตระหนัก​ว่า​พวก​เขา​อยู่​ใน​เมือง​หลวง​ของ​รัฐบาล​ที่​มี​อำนาจ​ครอบ​งำ​มาก​ที่​สุด​ใน​ยุค​นั้น. ประเด็น​สำคัญ​ใน​จดหมาย​ที่​เปาโล​เขียน​ถึง​คริสเตียน​ใน​กรุง​โรม​คือ​อำนาจ​ครอบ​งำ​ที่​ทำ​ให้​เสื่อม​เสีย​เนื่อง​จาก​บาป​ของ​อาดาม​พ่าย​ต่อ​อำนาจ​ใน​การ​ไถ่​ของ​พระ​คริสต์. ท่าน​พูด​กับ​คริสเตียน​ใน​กรุง​โรม​และ​ผู้​คน​ใน​ที่​อื่น ๆ ที่​อยู่​โดย​รอบ​ด้วย​ภาษา​ที่​จะ​ดึงดูด​ใจ​พวก​เขา.—โรม 1:4; 5:14, 15.

10, 11. เปาโล​ปรับ​ใช้​ตัว​อย่าง​เปรียบ​เทียบ​ให้​เหมาะ​กับ​ผู้​ฟัง​อย่าง​ไร? (ดู​เชิงอรรถ​ด้วย.)

10 เปาโล​ทำ​อย่าง​ไร​เมื่อ​ท่าน​ต้องการ​จะ​อธิบาย​ความ​จริง​ที่​ลึกซึ้ง​จาก​คัมภีร์​ไบเบิล​แก่​ผู้​ฟัง? ท่าน​อัครสาวก​ชำนิ​ชำนาญ​ใน​การ​ใช้​ตัว​อย่าง​เปรียบ​เทียบ​ที่​ผู้​คน​ทั่ว​ไป​รู้​จัก​ดี​ที่​เข้าใจ​ได้​ง่าย​เพื่อ​อธิบาย​แนว​คิด​ที่​ซับซ้อน​จาก​พระ​คำ​ของ​พระเจ้า. ตัว​อย่าง​เช่น เปาโล​รู้​ว่า​ผู้​คน​ใน​กรุง​โรม​คุ้น​เคย​กับ​ระบบ​ทาส​ใน​จักรวรรดิ​โรมัน. ที่​จริง หลาย​คน​ที่​เปาโล​เขียน​จดหมาย​ไป​ถึง​นั้น​คง​อยู่​ใน​ฐานะ​ทาส​ด้วย. ดัง​นั้น เปาโล​จึง​ยก​เอา​เรื่อง​ทาส​มา​ใช้​เป็น​ตัว​อย่าง​เสริม​การ​หา​เหตุ​ผล​ที่​หนักแน่น​ของ​ท่าน​ใน​เรื่อง​การ​เลือก​ของ​คน​เรา​ว่า​จะ​ยอม​ตัว​อยู่​ใต้​อำนาจ​ความ​บาป​หรือ​ว่า​ความ​ชอบธรรม.—โรม 6:16-20.

11 แหล่ง​อ้างอิง​หนึ่ง​กล่าว​ว่า “ท่ามกลาง​ชาว​โรมัน เจ้าของ​ทาส​สามารถ​ปลด​ปล่อย​ทาส​ให้​เป็น​อิสระ​อย่าง​ไม่​มี​เงื่อนไข หรือ​ทาส​ก็​สามารถ​ซื้อ​อิสรภาพ​ให้​ตัว​เอง​ได้​โดย​ชำระ​ค่า​ไถ่​แก่​ผู้​เป็น​เจ้าของ​ของ​ตน. การ​หลุด​พ้น​จาก​การ​เป็น​ทาส​ยัง​เป็น​ไป​ได้​ด้วย​หาก​กรรมสิทธิ์​การ​เป็น​เจ้าของ​ถูก​โอน​ไป​ให้​เทพเจ้า.” ทาส​ที่​เป็น​อิสระ​แล้ว​จะ​ทำ​งาน​ให้​นาย​เก่า​ของ​ตน​ต่อ​ไป​ได้​เพื่อ​จะ​ได้​ค่า​จ้าง. เป็น​ไป​ได้​ว่า​เปาโล​พาด​พิง​ถึง​การ​ปฏิบัติ​ดัง​กล่าว​เมื่อ​ท่าน​เขียน​เกี่ยว​กับ​การ​เลือก​ของ​แต่​ละ​คน​ว่า​เขา​จะ​เชื่อ​ฟัง​นาย​ไหน—ความ​บาป​หรือ​ความ​ชอบธรรม. คริสเตียน​ใน​กรุง​โรม​หลุด​พ้น​จาก​บาป​แล้ว และ​บัด​นี้​มี​พระเจ้า​เป็น​เจ้าของ​พวก​เขา. พวก​เขา​มี​อิสระ​ที่​จะ​รับใช้​พระเจ้า กระนั้น​ก็​ยัง​จะ​เลือก​เป็น​ทาส​บาป​คือ​นาย​เก่า​ต่อ​ไป​ได้ หาก​ว่า​เขา​ต้องการ​อย่าง​นั้น. ตัว​อย่าง​เปรียบ​เทียบ​ง่าย ๆ แต่​เป็น​เรื่อง​ที่​คุ้น​เคย​กัน​อยู่​แล้ว​ดัง​กล่าว​คง​กระตุ้น​ให้​คริสเตียน​ใน​กรุง​โรม​ถาม​ตัว​เอง​ว่า ‘ฉัน​กำลัง​รับใช้​นาย​ไหน​อยู่?’ *

เรียน​รู้​จาก​ตัว​อย่าง​ของ​เปาโล

12, 13. (ก) ความ​พยายาม​แบบ​ไหน​นับ​ว่า​จำเป็น​ใน​ทุก​วัน​นี้​เพื่อ​จะ​เข้า​ถึง​หัวใจ​ของ​ผู้​ฟัง​ของ​เรา​ที่​มี​ภูมิ​หลัง​ต่าง​กัน? (ข) คุณ​พบ​ว่า​อะไร​ทำ​ให้​การ​ประกาศ​แก่​ผู้​คน​ที่​มี​ภูมิ​หลัง​ต่าง​กัน​บังเกิด​ผล?

12 เช่น​เดียว​กับ​เปาโล เรา​ต้อง​คำนึง​ถึง​ผู้​ฟัง, พร้อม​จะ​ปรับ​เปลี่ยน, และ​รู้​จัก​ปรับ​วิธี​การ​เสนอ​ให้​เหมาะ​กับ​สภาพการณ์​เพื่อ​จะ​เข้า​ถึง​หัวใจ​ผู้​ฟัง​ของ​เรา​ที่​มี​ภูมิ​หลัง​ต่าง​กัน. เพื่อ​ช่วย​ผู้​ฟัง​ให้​เข้าใจ​ความ​หมาย​ของ​ข่าว​ดี เรา​ต้องการ​ทำ​มาก​กว่า​พบ​ปะ​กัน​ชั่ว​เวลา​สั้น ๆ, เสนอ​ข่าวสาร​ที่​เตรียม​ไว้, หรือ​ฝาก​สิ่ง​พิมพ์​อธิบาย​คัมภีร์​ไบเบิล​ไว้​ให้​อ่าน. เรา​พยายาม​สังเกต​เข้าใจ​ถึง​ความ​จำเป็น​และ​สิ่ง​ที่​เขา​เป็น​ห่วง, เขา​ชอบ​หรือ​ไม่​ชอบ​อะไร, เขา​กลัว​หรือ​มี​อคติ​ต่อ​สิ่ง​ใด. แม้​การ​ทำ​เช่น​นี้​ต้อง​ใช้​ความ​คิด​และ​ความ​พยายาม​อย่าง​มาก แต่​ผู้​ประกาศ​ราชอาณาจักร​ตลอด​ทั่ว​โลก​ก็​กำลัง​ทำ​อย่าง​นั้น​อยู่​อย่าง​เอา​จริง​เอา​จัง. ตัว​อย่าง​เช่น สำนักงาน​สาขา​ของ​พยาน​พระ​ยะโฮวา​ใน​ฮังการี​รายงาน​ว่า “พวก​พี่​น้อง​แสดง​ความ​นับถือ​ต่อ​ขนบธรรมเนียม​และ​รูป​แบบ​การ​ใช้​ชีวิต​ของ​คน​ต่าง​ชาติ และ​ไม่​คาด​หมาย​ให้​คน​เหล่า​นั้น​ปรับ​เปลี่ยน​ตัว​เอง​ให้​เข้า​กับ​ธรรมเนียม​ท้องถิ่น.” พยาน​ฯ ใน​ที่​อื่น ๆ ก็​พยายาม​ทำ​อย่าง​เดียว​กัน.

13 ใน​ประเทศ​หนึ่ง​ทาง​เอเชีย​ตะวัน​ออก ประชากร​ส่วน​ใหญ่​เป็น​ห่วง​เรื่อง​สุขภาพ, การ​อบรม​บุตร, และ​การ​ศึกษา. ผู้​ประกาศ​ราชอาณาจักร​ที่​นั่น​พยายาม​เน้น​หัวเรื่อง​เหล่า​นี้​แทน​ที่​จะ​พิจารณา​เรื่อง​สภาพการณ์​ของ​โลก​ที่​กำลัง​เสื่อม​ลง​หรือ​ปัญหา​สังคม​ที่​ซับซ้อน. คล้าย​กัน ผู้​ประกาศ​ราชอาณาจักร​ใน​เมือง​ใหญ่​แห่ง​หนึ่ง​ของ​สหรัฐ​สังเกต​ว่า ผู้​คน​ย่าน​หนึ่ง​ใน​เขต​ประกาศ​ของ​พวก​เขา​เป็น​ห่วง​เรื่อง​การ​ฉ้อ​ราษฎร์​บัง​หลวง, ปัญหา​จราจร, และ​อาชญากรรม. พยาน​ฯ ประสบ​ความ​สำเร็จ​ใน​การ​ใช้​เรื่อง​เหล่า​นี้​เพื่อ​เริ่ม​การ​พิจารณา​คัมภีร์​ไบเบิล. ไม่​ว่า​จะ​เลือก​ใช้​หัวข้อ​ใด ครู​สอน​พระ​คัมภีร์​ที่​บังเกิด​ผล​ทำ​ให้​แน่​ใจ​ว่า​พวก​เขา​จะ​พยายาม​เสมอ​ที่​จะ​รักษา​ทัศนะ​ใน​แง่​บวก​และ​ให้​การ​ชู​ใจ โดย​เน้น​คุณค่า​ที่​ใช้​การ​ได้​จริง​จาก​การ​นำ​หลักการ​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล​ไป​ใช้​ใน​ขณะ​นี้​และ​เน้น​ความ​หวัง​อัน​สดใส​ที่​พระเจ้า​จัด​เตรียม​ไว้​ให้​สำหรับ​อนาคต.—ยะซายา 48:17, 18; 52:7.

14. จง​พรรณนา​วิธี​ต่าง ๆ ที่​เรา​สามารถ​ปรับ​ให้​เข้า​กับ​ความ​จำเป็น​และ​สภาพการณ์​ที่​ต่าง​กัน​ของ​ผู้​คน?

14 เป็น​ประโยชน์​ด้วย​ที่​จะ​ปรับ​วิธี​เสนอ​ใน​การ​ประกาศ​ให้​หลาก​หลาย เนื่อง​จาก​ว่า​ผู้​คน​มี​ภูมิ​หลัง​ต่าง​กัน​มาก​ใน​ด้าน​วัฒนธรรม, การ​ศึกษา, และ​ศาสนา. วิธี​ที่​เรา​ใช้​กับ​ผู้​คน​ที่​เชื่อ​ว่า​มี​พระ​ผู้​สร้าง​แต่​ไม่​เชื่อถือ​คัมภีร์​ไบเบิล​ย่อม​จะ​ต่าง​กับ​วิธี​ที่​เรา​ใช้​พูด​กับ​คน​ที่​ไม่​เชื่อ​ว่า​มี​พระเจ้า. กับ​บาง​คน​ที่​รู้สึก​ว่า​สิ่ง​พิมพ์​ทาง​ศาสนา​ทุก​รูป​แบบ​เป็น​เครื่อง​มือ​ใน​การ​โฆษณา​ชวน​เชื่อ วิธี​เสนอ​ที่​เรา​ใช้​กับ​เขา​ก็​จะ​ต่าง​จาก​วิธี​ที่​เรา​ใช้​กับ​คน​ที่​ยอม​รับ​สิ่ง​ที่​คัมภีร์​ไบเบิล​สอน. เรา​ต้อง​พร้อม​จะ​ปรับ​เปลี่ยน​เช่น​กัน​เมื่อ​พูด​คุย​กับ​ผู้​คน​ที่​มี​ระดับ​การ​ศึกษา​ต่าง​กัน​ไป. ผู้​สอน​ที่​มี​ความ​ชำนิ​ชำนาญ​จะ​ใช้​การ​หา​เหตุ​ผล​และ​ตัว​อย่าง​เปรียบ​เทียบ​ให้​เหมาะ​กับ​สภาพการณ์.—1 โยฮัน 5:20.

ความ​ช่วยเหลือ​สำหรับ​ผู้​ประกาศ​ใหม่

15, 16. ทำไม​จึง​มี​ความ​จำเป็น​ที่​จะ​ต้อง​ฝึก​อบรม​ผู้​ประกาศ​ใหม่?

15 เปาโล​ไม่​ได้​สนใจ​แค่​การ​ปรับ​ปรุง​วิธี​การ​สอน​ของ​ตัว​เอง​เท่า​นั้น. ท่าน​เห็น​ความ​จำเป็น​ที่​จะ​ต้อง​ฝึก​อบรม​และ​เตรียม​คน​รุ่น​หลัง เช่น ติโมเธียว​และ​ติโต ให้​เป็น​ผู้​เผยแพร่​ที่​มี​ประสิทธิภาพ. (2 ติโมเธียว 2:2; 3:10, 14; ติโต 1:4) ทุก​วัน​นี้​ก็​มี​ความ​จำเป็น​เร่ง​ด่วน​ที่​จะ​ต้อง​จัด​ให้​มี​การ​อบรม​เช่น​กัน.

16 ใน​ปี 1914 มี​ผู้​ประกาศ​ราชอาณาจักร​ทั่ว​โลก​ประมาณ 5,000 คน แต่​ใน​ทุก​วัน​นี้ มี​คน​ใหม่ ๆ ประมาณ 5,000 คน​รับ​บัพติสมา​ใน​แต่​ละ​สัปดาห์! (ยะซายา 54:2, 3; กิจการ 11:21) เมื่อ​คน​ใหม่ ๆ เริ่ม​สมทบ​กับ​ประชาคม​คริสเตียน​และ​ต้องการ​จะ​เข้า​ร่วม​ใน​งาน​เผยแพร่ พวก​เขา​จำเป็น​ต้อง​ได้​รับ​การ​ฝึก​อบรม​และ​การ​ชี้​แนะ. (ฆะลาเตีย 6:6) นับ​ว่า​สำคัญ​ที่​เรา​ต้อง​ใช้​วิธี​ที่​พระ​เยซู​นาย​ของ​เรา​ใช้​ใน​การ​สอน​และ​ฝึก​อบรม​เหล่า​สาวก. *

17, 18. เรา​จะ​ช่วย​คน​ใหม่ ๆ ได้​อย่าง​ไร​ให้​มี​ความ​มั่น​ใจ​ใน​การ​ประกาศ?

17 พระ​เยซู​ไม่​ได้​ทำ​แค่​พอ​เห็น​ฝูง​ชน​แล้ว​ก็​บอก​ให้​เหล่า​อัครสาวก​เริ่ม​เข้า​ไป​คุย​เลย. แรก​สุด พระองค์​เน้น​ถึง​ความ​จำเป็น​ที่​จะ​ต้อง​เผยแพร่​และ​สนับสนุน​สาวก​ให้​หมั่น​อธิษฐาน​เพื่อ​งาน​นี้. จาก​นั้น พระองค์​ทรง​เตรียม​สาม​สิ่ง​พื้น​ฐาน​ให้​พวก​เขา​คือ เพื่อน​ร่วม​งาน, เขต​ทำ​งาน, และ​ข่าวสาร. (มัดธาย 9:35-38; 10:5-7; มาระโก 6:7; ลูกา 9:2, 6) เรา​สามารถ​ทำ​อย่าง​เดียว​กัน​นั้น. ไม่​ว่า​เรา​กำลัง​ช่วย​ลูก​ของ​เรา, ช่วย​ผู้​ประกาศ​ใหม่, หรือ​ช่วย​คน​ที่​ไม่​ได้​ร่วม​งาน​ประกาศ​มา​สัก​ช่วง​หนึ่ง ก็​ถือ​ว่า​เหมาะ​ที่​จะ​พยายาม​จัด​ให้​มี​การ​ฝึก​อบรม​ใน​วิธี​ดัง​กล่าว.

18 คน​ใหม่ ๆ ต้องการ​ความ​ช่วยเหลือ​มาก​เพื่อ​จะ​มี​ความ​มั่น​ใจ​ใน​การ​เสนอ​ข่าวสาร​ราชอาณาจักร. คุณ​จะ​ช่วย​พวก​เขา​ได้​ไหม​ใน​การ​เตรียม​ตัว​และ​ฝึก​ซ้อม​การ​เสนอ​แบบ​ง่าย ๆ ที่​ดึงดูด​ใจ? เมื่อ​ไป​ใน​เขต​ประกาศ ให้​เขา​เรียน​จาก​ตัว​อย่าง​ของ​คุณ​เมื่อ​คุณ​ประกาศ​สอง​สาม​หลัง​แรก. คุณ​สามารถ​ทำ​ตาม​แบบ​อย่าง​ของ​ฆิดโอน ซึ่ง​บอก​สหาย​ร่วม​รบ​ของ​ท่าน​ว่า “จง​คอย​ดู​เรา, ให้​ทำ​เหมือน​กัน.” (วินิจฉัย 7:17) จาก​นั้น ให้​คน​ใหม่​มี​โอกาส​มี​ส่วน. จง​ชมเชย​คน​ใหม่ ๆ จาก​ใจ​จริง​สำหรับ​ความ​พยายาม​ของ​พวก​เขา และ​เมื่อ​เห็น​ว่า​เหมาะ ก็​ให้​คำ​แนะ​นำ​สั้น ๆ เพื่อ​ปรับ​ปรุง.

19. อะไร​คือ​ความ​ตั้งใจ​ของ​คุณ​ขณะ​ที่​พยายาม​จะ​ทำ​งาน​รับใช้​ให้​สำเร็จ​ครบ​ถ้วน?

19 เพื่อ​จะ ‘ทำ​งาน​รับใช้​ของ​เรา​ให้​สำเร็จ​ครบ​ถ้วน’ เรา​ตั้งใจ​จะ​เป็น​คน​ที่​พร้อม​จะ​ปรับ​เปลี่ยน​มาก​ขึ้น​ใน​การ​เข้า​พบ​ผู้​คน และ​เรา​ต้องการ​ฝึก​ผู้​ประกาศ​ใหม่​ให้​ทำ​อย่าง​เดียว​กัน. เมื่อ​คำนึง​ถึง​ความ​สำคัญ​ของ​เป้าหมาย​ของ​เรา ซึ่ง​ก็​คือ เพื่อ​แบ่ง​ปัน​ความ​รู้​เกี่ยว​กับ​พระเจ้า​ที่​จะ​นำ​ไป​สู่​ความ​รอด เรา​จึง​มั่น​ใจ​ว่า เป็น​เรื่อง​ที่​คุ้มค่า​กับ​ความ​บากบั่น​พยายาม​ที่​จะ “ทำ​ตัว​เป็น​คน​ทุก​อย่าง​กับ​ผู้​คน​ทุก​ชนิด เพื่อ [เรา] จะ​ช่วย​บาง​คน​ให้​รอด​ให้​ได้.”—2 ติโมเธียว 4:5, ล.ม.; 1 โกรินโธ 9:22, ล.ม.

[เชิงอรรถ]

^ วรรค 5 สำหรับ​ตัว​อย่าง​จาก​งาน​รับใช้​ของ​เปาโล​ที่​แสดง​ถึง​คุณลักษณะ​เหล่า​นั้น ให้​ดู​ที่​กิจการ 13:9, 16-42; 17:2-4; 18:1-4; 19:11-20; 20:34; โรม 10:11-15; 2 โกรินโธ 6:11-13.

^ วรรค 11 คล้าย​กัน เมื่อ​อธิบาย​ความ​สัมพันธ์​แบบ​ใหม่​ระหว่าง​พระเจ้า​กับ “บุตร” ที่​ได้​รับ​การ​เจิม​ด้วย​พระ​วิญญาณ เปาโล​ใช้​แนว​คิด​ทาง​กฎหมาย​ที่​ผู้​อ่าน​ของ​ท่าน​ใน​จักรวรรดิ​โรมัน​คุ้น​เคย​กัน​ดี. (โรม 8:14-17) หนังสือ​นัก​บุญ​เปาโล​ใน​กรุง​โรม (ภาษา​อังกฤษ) กล่าว​ว่า “การ​รับ​เป็น​บุตร​บุญธรรม​เป็น​ธรรมเนียม​พื้น​ฐาน​ของ​ชาว​โรมัน และ​เกี่ยว​ข้อง​อย่าง​มาก​กับ​แนว​ความ​คิด​ของ​ชาว​โรมัน​เรื่อง​ครอบครัว.”

^ วรรค 16 ปัจจุบัน โครงการ​ไพโอเนียร์​ช่วยเหลือ​คน​อื่น ๆ มี​ไว้​พร้อม​ใน​ทุก​ประชาคม​ของ​พยาน​พระ​ยะโฮวา. โครงการ​นี้​ใช้​ประโยชน์​จาก​ประสบการณ์​ของ​ผู้​เผยแพร่​เต็ม​เวลา​และ​การ​อบรม​ที่​พวก​เขา​ได้​รับ​เพื่อ​ช่วย​ผู้​ประกาศ​ที่​มี​ประสบการณ์​น้อย​กว่า.

คุณ​จำ​ได้​ไหม?

• เรา​จะ​เลียน​แบบ​เปาโล​ใน​ทาง​ใด​ได้​บ้าง​ใน​งาน​เผยแพร่​ของ​เรา?

• เป็น​ไป​ได้​ว่า​เรา​อาจ​จำเป็น​ต้อง​ปรับ​เปลี่ยน​ทัศนะ​ของ​เรา​ใน​เรื่อง​ใด​บ้าง?

• เรา​จะ​ทำ​อย่าง​ไร​เพื่อ​ให้​ข่าวสาร​ที่​เรา​เสนอ​เป็น​ไป​ใน​แง่​บวก​เสมอ?

• ผู้​ประกาศ​ใหม่ ๆ จำเป็น​ต้อง​ได้​รับ​อะไร​เพื่อ​จะ​มี​ความ​มั่น​ใจ​มาก​ขึ้น?

[คำ​ถาม]

[คำ​โปรย​หน้า 29]

อัครสาวก​เปาโล​คำนึง​ถึง​ผู้​ฟัง, พร้อม​จะ​ปรับ​เปลี่ยน, และ​รู้​จัก​ปรับ​วิธี​การ​เสนอ​ให้​เข้า​กับ​สภาพการณ์​ต่าง ๆ ใน​การ​ประกาศ​และ​การ​สอน

[คำ​โปรย​หน้า 31]

พระ​เยซู​ทรง​เตรียม​สาม​สิ่ง​พื้น​ฐาน​ให้​เหล่า​สาวก​คือ เพื่อน​ร่วม​งาน, เขต​ทำ​งาน, และ​ข่าวสาร

[ภาพ​หน้า 28]

เปาโล​ประสบ​ความ​สำเร็จ​ใน​การ​พูด​กับ​ผู้​ฟัง​ที่​ต่าง​กัน​โดย​การ​เป็น​คน​ที่​ปรับ​เปลี่ยน​ได้

[ภาพ​หน้า 30]

ผู้​เผยแพร่​ที่​บังเกิด​ผล​คำนึง​ถึง​ภูมิ​หลัง​ทาง​วัฒนธรรม​ของ​ผู้​ฟัง

[ภาพ​หน้า 31]

ผู้​เผยแพร่​ที่​รู้​จัก​ปรับ​วิธี​การ​เสนอ​ให้​เข้า​กับ​สภาพการณ์​ช่วยเหลือ​คน​ใหม่ ๆ ใน​การ​เตรียม​ตัว​เพื่อ​การ​ประกาศ