ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

จุดเด่นจากพระธรรมโครนิกาฉบับสอง

จุดเด่นจากพระธรรมโครนิกาฉบับสอง

พระ​คำ​ของ​พระ​ยะโฮวา​มี​ชีวิต

จุด​เด่น​จาก​พระ​ธรรม​โครนิกา​ฉบับ​สอง

พระ​ธรรม​โครนิกา​ฉบับ​สอง​เริ่ม​ต้น​ด้วย​เรื่อง​ที่​ซะโลโม​กำลัง​ปกครอง​เป็น​กษัตริย์​เหนือ​อิสราเอล. พระ​ธรรม​เล่ม​นี้​จบ​ลง​ด้วย​ถ้อย​คำ​ที่​ไซรัส​กษัตริย์​เปอร์เซีย​ตรัส​กับ​ชาว​ยิว​ที่​ถูก​เนรเทศ​ไป​ยัง​บาบิโลน​ดัง​นี้: “[พระ​ยะโฮวา] ทรง​พระ​ดำริ​ให้​เรา​สร้าง​โบสถ์​วิหาร​สำหรับ​พระองค์​ที่​กรุง​ยะรูซาเลม, ใน​เขต​ยูดา. มี​ผู้​ใด ๆ ใน​ท่ามกลาง​ท่าน​ทั้ง​หลาย​ที่​เป็น​พลไพร่​ของ​พระองค์? ให้​พระ​ยะโฮวา​พระเจ้า​ของ​เขา​ทรง​สถิต​อยู่​ด้วย​ผู้​นั้น, และ​ให้​ผู้​นั้น​ขึ้น​ไป [กรุง​เยรูซาเลม].” (2 โครนิกา 36:23) ปุโรหิต​เอษรา​เขียน​พระ​ธรรม​เล่ม​นี้​เสร็จ​ใน​ปี 460 ก่อน​สากล​ศักราช ครอบ​คลุม​ระยะ​เวลา 500 ปี นับ​ตั้ง​แต่​ปี 1037 ก่อน ส.ศ. ถึง​ปี 537 ก่อน ส.ศ.

กฤษฎีกา​ของ​ไซรัส​ทำ​ให้​ชาว​ยิว​มี​โอกาส​กลับ​ไป​ยัง​เยรูซาเลม​และ​ฟื้นฟู​การ​นมัสการ​พระ​ยะโฮวา​ขึ้น​ที่​กรุง​นั้น​อีก. อย่าง​ไร​ก็​ตาม การ​เป็น​เชลย​ใน​บาบิโลน​นาน​หลาย​ปี​ก่อ​ผล​เสีย​ต่อ​พวก​เขา. เหล่า​ผู้​ถูก​เนรเทศ​ขาด​ความ​รู้​เกี่ยว​กับ​ประวัติศาสตร์​บ้าน​เกิด​เมือง​นอน​ของ​ตน. โครนิกา​ฉบับ​สอง​ได้​สรุป​ให้​พวก​เขา​เห็น​อย่าง​ชัดเจน​เกี่ยว​กับ​เหตุ​การณ์​ซึ่ง​เกิด​ขึ้น​ใน​ช่วง​ที่​กษัตริย์​องค์​ต่าง ๆ แห่ง​เชื้อ​วงศ์​ของ​ดาวิด​ปกครอง. นอก​จาก​นั้น เรื่อง​ราว​ใน​พระ​ธรรม​นี้​น่า​สนใจ​สำหรับ​เรา​เพราะ​มี​การ​เน้น​ให้​เห็น​พระ​พร​ต่าง ๆ ซึ่ง​เป็น​ผล​จาก​การ​เชื่อ​ฟัง​พระเจ้า​เที่ยง​แท้​และ​ผล​ที่​ตาม​มา​เนื่อง​จาก​ไม่​เชื่อ​ฟัง​พระองค์.

กษัตริย์​องค์​หนึ่ง​สร้าง​วิหาร​ถวาย​แด่​พระ​ยะโฮวา

(2 โครนิกา 1:1–9:31)

พระ​ยะโฮวา​ประทาน​สิ่ง​ที่​กษัตริย์​ซะโลโม​ปรารถนา​มาก​ที่​สุด นั่น​คือ สติ​ปัญญา​และ​ความ​รู้ อีก​ทั้ง​ยัง​ประทาน​ความ​มั่งคั่ง​ร่ำรวย​และ​เกียรติยศ​แก่​ท่าน​ด้วย. กษัตริย์​สร้าง​พระ​วิหาร​ที่​สง่า​งาม​ใน​กรุง​เยรูซาเลม​ถวาย​แด่​พระ​ยะโฮวา และ​ประชาชน “ต่าง​ก็​มี​ใจ​รื่น​ชื่นชม.” (2 โครนิกา 7:10) ซะโลโม​ทรง “มี​ทรัพย์​สมบัติ, และ​สติ​ปัญญา​เจริญ​ขึ้น​ยิ่ง​กว่า​กษัตริย์​ทั้ง​หลาย​ทั่ว​พิภพ.”—2 โครนิกา 9:22.

หลัง​จาก​ปกครอง​อิสราเอล 40 ปี ซะโลโม​ก็​ได้ ‘ล่วง​ลับ​ไป​ตาม​ปู่​ย่า​ตา​ยาย​ของ​ท่าน ระฮับอาม​ราชบุตร​จึง​ได้​ขึ้น​เสวย​ราชย์​สมบัติ​แทน​ราชบิดา.’ (2 โครนิกา 9:31) เอษรา​ไม่​ได้​บันทึก​เรื่อง​ที่​ซะโลโม​หันเห​ออก​ไป​จาก​การ​นมัสการ​แท้. ข้อ​ผิด​พลาด​ของ​กษัตริย์​เพียง​เรื่อง​เดียว​ที่​มี​การ​บันทึก​ไว้ คือ​การ​ได้​ม้า​มาก​มาย​จาก​อียิปต์​และ​การ​อภิเษก​กับ​ราชธิดา​ฟาโรห์​ซึ่ง​เป็น​การ​กระทำ​ที่​ไม่​ฉลาด​นัก. ด้วย​เหตุ​นั้น ผู้​บันทึก​พระ​ธรรม​นี้​จึง​หยิบ​ยก​เฉพาะ​แง่​คิด​ที่​เสริม​สร้าง​มา​กล่าว.

คำ​ตอบ​สำหรับ​คำ​ถาม​เกี่ยว​กับ​ข้อ​พระ​คัมภีร์:

2:14—เหตุ​ใด​เชื้อ​สาย​ของ​ช่าง​ฝีมือ​ที่​กล่าว​ถึง​ใน​ข้อ​นี้​จึง​ต่าง​จาก​ใน 1 กษัตริย์ 7:14? พระ​ธรรม​หนึ่ง​กษัตริย์​กล่าว​ถึง​มารดา​ของ​ช่าง​ฝีมือ​ว่า​เป็น “แม่​ม่าย​คน​หนึ่ง​ใน​ตระกูล​นัพธาลี” เนื่อง​จาก​นาง​แต่งงาน​กับ​ชาย​คน​หนึ่ง​ใน​ตระกูล​นั้น. แต่​ตัว​นาง​เอง​มา​จาก​ตระกูล​ดาน. หลัง​จาก​สามี​เสีย​ชีวิต นาง​แต่งงาน​ใหม่​กับ​ชาว​เมือง​ตุโร และ​ช่าง​ฝีมือ​คน​นี้​ก็​เป็น​บุตร​ที่​เกิด​จาก​การ​สมรส​ครั้ง​นี้.

2:18; 8:10—ทั้ง​สอง​ข้อ​นี้​กล่าว​ว่า​จำนวน​ของ​เจ้าหน้าที่​ชั้น​ผู้​ใหญ่​ซึ่ง​ทำ​หน้า​ที่​เป็น​ผู้​ควบคุม​ดู​แล​และ​หัวหน้า​คน​งาน​มี​จำนวน 3,600 และ 250 คน แต่​ที่ 1 กษัตริย์ 5:16; 9:23 กล่าว​ว่า​มี​จำนวน 3,300 และ 550 คน. เหตุ​ใด​จึง​ต่าง​กัน? ความ​แตกต่าง​นี้​ดู​เหมือน​เกิด​จาก​วิธี​แบ่ง​ประเภท​เจ้าหน้าที่​ชั้น​ผู้​ใหญ่. อาจ​เป็น​ได้​ว่า​สอง​โครนิกา​แบ่ง​ระหว่าง​คน​ที่​ไม่​ใช่​ชาว​อิสราเอล 3,600 คน​และ​ชาว​อิสราเอล 250 คน ขณะ​ที่​พระ​ธรรม​หนึ่ง​กษัตริย์​แบ่ง​ระหว่าง​หัวหน้า​คน​งาน 3,300 คน​กับ​ผู้​ควบคุม​ดู​แล​ที่​มี​ตำแหน่ง​สูง​กว่า 550 คน. ไม่​ว่า​จะ​เป็น​กรณี​ใด เจ้าหน้าที่​ชั้น​ผู้​ใหญ่​มี​จำนวน​ทั้ง​สิ้น 3,850 คน.

4:2-4—เหตุ​ใด​จึง​ใช้​รูป​โค​เป็น​ฐาน​ของ​ทะเล​หล่อ? ใน​คัมภีร์​ไบเบิล โค​เป็น​สัญลักษณ์​ของ​ความ​แข็งแรง. (ยะเอศเคล 1:10; วิวรณ์ 4:6, 7) การ​เลือก​รูป​โค​จึง​นับ​ว่า​เหมาะ​เนื่อง​จาก​รูป​โค​ทองแดง 12 ตัว​หนุน “ทะเล​หล่อ” ซึ่ง​มี​ขนาด​ใหญ่​มาก​โดย​มี​น้ำหนัก​ประมาณ 30 ตัน. การ​สร้าง​รูป​โค​เพื่อ​วัตถุ​ประสงค์​นี้​ไม่​ขัด​ต่อ​พระ​บัญญัติ​ข้อ​สอง​ที่​ห้าม​การ​สร้าง​รูป​เคารพ.—เอ็กโซโด 20:4, 5.

4:5—ทะเล​หล่อ​บรรจุ​น้ำ​เต็ม​ที่​ได้​เท่า​ใด? ทะเล​หล่อ​สามารถ​จุ​น้ำ​ได้​สาม​พัน​ปี๊บ (ถัง) หรือ​ประมาณ 66,000 ลิตร. แต่​ตาม​ปกติ​แล้ว​อาจ​มี​การ​ใส่​น้ำ​เพียง​สอง​ใน​สาม​ของ​ความ​จุ​เท่า​นั้น. หนึ่ง​กษัตริย์ 7:26 กล่าว​ว่า “จุ​น้ำ​ได้​สอง​พัน​ถัง.”

5:4, 5, 10—ของ​สิ่ง​ใด​จาก​พลับพลา​เดิม​ถูก​นำ​มา​เก็บ​ไว้​ใน​วิหาร​ของ​ซะโลโม? ของ​สิ่ง​เดียว​จาก​พลับพลา​ประชุม​หลัง​เดิม​ที่​ถูก​นำ​มา​เก็บ​ไว้​ใน​วิหาร​ของ​ซะโลโม​คือ​หีบ​สัญญา​ไมตรี. หลัง​จาก​สร้าง​พระ​วิหาร​เสร็จ​แล้ว มี​การ​ย้าย​พลับพลา​จาก​กิบโอน (ฆิบโอน) มา​ยัง​เยรูซาเลม​และ​ดู​เหมือน​ว่า มี​การ​เก็บ​พลับพลา​ไว้​ที่​นั่น.—2 โครนิกา 1:3, 4.

บทเรียน​สำหรับ​เรา:

1:11, 12. คำ​ขอ​ของ​ซะโลโม​ทำ​ให้​พระ​ยะโฮวา​ทราบ​ว่า กษัตริย์​องค์​นี้​ปรารถนา​อย่าง​ยิ่ง​ที่​จะ​ได้​รับ​สติ​ปัญญา​และ​ความ​รู้. ที่​จริง คำ​อธิษฐาน​ของ​เรา​ทำ​ให้​พระเจ้า​รู้​ว่า​อะไร​อยู่​ใน​ใจ​ของ​เรา. นับ​ว่า​สุขุม​ที่​จะ​ตรวจ​สอบ​คำ​อธิษฐาน​ของ​เรา.

6:4. ความ​หยั่ง​รู้​ค่า​จาก​หัวใจ​สำหรับ​ความ​กรุณา​รักใคร่​และ​คุณ​ความ​ดี​ของ​พระ​ยะโฮวา​น่า​จะ​กระตุ้น​เรา​ให้​ถวาย​พระ​พร​แด่​พระ​ยะโฮวา นั่น​คือ สรรเสริญ​พระองค์​ด้วย​ความ​รัก​และ​สำนึก​บุญคุณ.

6:18-21. แม้​พระเจ้า​ไม่​ได้​สถิต​อยู่​ใน​สิ่ง​ปลูก​สร้าง​ใด ๆ แต่​วิหาร​ก็​เป็น​ศูนย์กลาง​แห่ง​การ​นมัสการ​พระ​ยะโฮวา. ทุก​วัน​นี้​หอ​ประชุม​ราชอาณาจักร​ของ​พยาน​พระ​ยะโฮวา​เป็น​ศูนย์กลาง​แห่ง​การ​นมัสการ​แท้​ใน​ชุมชน.

6:19, 22, 32. พระ​ยะโฮวา​สดับ​ฟัง​คำ​อธิษฐาน​ของ​ทุก​คน ตั้ง​แต่​กษัตริย์​ไป​จน​ถึง​คน​ที่​ต่ำต้อย​ที่​สุด​ใน​ชาติ และ​แม้​แต่​คน​ต่าง​ชาติ​ที่​เข้า​มา​หา​พระองค์​ด้วย​ความ​จริง​ใจ. *บทเพลง​สรรเสริญ 65:2.

การ​ครอง​ราชย์​สืบ​ต่อ​กัน​ของ​กษัตริย์​ต่าง ๆ ใน​เชื้อ​วงศ์​ดาวิด

(2 โครนิกา 10:1–36:23)

อาณาจักร​อิสราเอล​ที่​เป็น​หนึ่ง​เดียว​ถูก​แบ่ง​เป็น​สอง คือ อาณาจักร​สิบ​ตระกูล​ทาง​เหนือ และ​อาณาจักร​สอง​ตระกูล​ทาง​ใต้​คือ​ยูดาห์​และ​เบนยามิน. พวก​ปุโรหิต​และ​ชาว​เลวี​ทั่ว​ทั้ง​อิสราเอล​แสดง​ความ​ภักดี​ต่อ​สัญญา​ไมตรี​เรื่อง​ราชอาณาจักร​มาก​กว่า​ชาติ​นิยม​และ​เลือก​อยู่​ข้าง​ระฮับอาม​ราชบุตร​ของ​ซะโลโม. 30 ปี​เศษ​หลัง​จาก​สร้าง​เสร็จ ทรัพย์​สมบัติ​ของ​พระ​วิหาร​ก็​ถูก​ปล้น.

ใน​บรรดา​กษัตริย์ 19 องค์​ภาย​หลัง​ระฮับอาม มี 5 องค์​ที่​ซื่อ​สัตย์, 3 องค์​เริ่ม​ต้น​อย่าง​ดี​แต่​ภาย​หลัง​กลับ​ไม่​ซื่อ​สัตย์, และ​มี​องค์​หนึ่ง​ที่​หัน​กลับ​จาก​แนว​ทาง​ชั่ว. ส่วน​กษัตริย์​องค์​ที่​เหลือ​ล้วน​แต่​ทำ​ชั่ว​ใน​สาย​พระ​เนตร​ของ​พระ​ยะโฮวา. * พระ​ธรรม​นี้​เน้น​การ​งาน​ของ​กษัตริย์​ห้า​องค์​ที่​วางใจ​ใน​พระ​ยะโฮวา. เรื่อง​ราว​ที่​ฮิศคียา​ฟื้นฟู​งาน​รับใช้​ใน​พระ​วิหาร​และ​โยซียา​จัด​การ​ฉลอง​ปัศคา​อย่าง​ใหญ่​โต คง​ต้อง​เป็น​การ​หนุน​ใจ​อย่าง​มาก​สำหรับ​ชาว​ยิว​ที่​สนใจ​การ​ฟื้นฟู​การ​นมัสการ​พระ​ยะโฮวา​ใน​กรุง​เยรูซาเลม.

คำ​ตอบ​สำหรับ​คำ​ถาม​เกี่ยว​กับ​ข้อ​พระ​คัมภีร์:

13:5—คำ​ว่า “คำ​สัญญา​ใช้​เกลือ” หมาย​ความ​อย่าง​ไร? เนื่อง​จาก​เกลือ​มี​คุณสมบัติ​ถนอม​อาหาร เกลือ​จึง​เป็น​สัญลักษณ์​ของ​ความ​ยั่งยืน​และ​ไม่​เปลี่ยน​แปลง. ด้วย​เหตุ​นั้น “คำ​สัญญา​ใช้​เกลือ” จึง​หมาย​ถึง​ข้อ​ตก​ลง​ที่​มี​ผล​ผูก​มัด.

14:2-5; 15:17—กษัตริย์​อาซา​ทำลาย “ที่​นมัสการ​บน​เนิน​สูง” ทั้ง​หมด​ไหม? ดู​เหมือน​ว่า​ท่าน​ไม่​ได้​ทำ​อย่าง​นั้น. อาจ​เป็น​ได้​ว่า อาซา​ทำลาย​ที่​นมัสการ​บน​เนิน​สูง​เฉพาะ​ที่​เกี่ยว​ข้อง​กับ​การ​นมัสการ​พระ​เท็จ แต่​ไม่​ได้​ทำลาย​ใน​ส่วน​ที่​ประชาชน​ใช้​นมัสการ​พระ​ยะโฮวา. นอก​จาก​นั้น อาจ​เป็น​ไป​ได้​ว่า ที่​นมัสการ​บน​เนิน​สูง​เหล่า​นั้น​ถูก​สร้าง​ขึ้น​อีก​ใน​ช่วง​หลัง​แห่ง​การ​ปกครอง​ของ​อาซา. ยะโฮซาฟาด​ราชบุตร​ของ​ท่าน​ได้​ทำลาย​สถาน​ที่​เหล่า​นี้. ที่​จริง ที่​นมัสการ​บน​เนิน​สูง​ก็​ไม่​ได้​หมด​ไป​เสีย​เลย​ที​เดียว แม้​แต่​ใน​ช่วง​การ​ปกครอง​ของ​ยะโฮซาฟาด.—2 โครนิกา 17:5, 6; 20:31-33.

15:9; 34:6—ตระกูล​ซีโมน​เลือก​อยู่​ฝ่าย​ใด​ใน​คราว​การ​แบ่ง​อาณาจักร​อิสราเอล? เนื่อง​จาก​แผ่นดิน​ที่​ซีโมน​ได้​รับ​เป็น​มรดก​อยู่​ใน​เขต​แดน​ของ​ตระกูล​ยูดาห์ ดัง​นั้น ใน​ทาง​ภูมิศาสตร์​แล้ว​ตระกูล​ซีโมน​จึง​อยู่​ภาย​ใน​อาณาจักร​ยูดาห์​และ​เบนยามิน. (ยะโฮซูอะ 19:1) อย่าง​ไร​ก็​ตาม เมื่อ​คำนึง​ถึง​การ​นมัสการ​และ​การ​เมือง ตระกูล​นี้​เลือก​ที่​จะ​อยู่​ฝ่าย​อาณาจักร​ทาง​เหนือ. (1 กษัตริย์ 11:30-33; 12:20-24) ฉะนั้น ตระกูล​ซีโมน​จึง​ถูก​นับ​อยู่​ใน​อาณาจักร​สิบ​ตระกูล.

16:13, 14—พระ​ศพ​ของ​อาซา​ถูก​เผา​ไหม? ไม่. “การ​ถวาย​เพลิง​เป็น​การ​ใหญ่​หลวง” ไม่​ได้​หมาย​ถึง​การ​เผา​พระ-​ศพ​ของ​อาซา แต่​หมาย​ถึง​การ​เผา​เครื่อง​หอม.—หมายเหตุ​ใน​ฉบับ​แปล​โลก​ใหม่​ที่​มี​ข้อ​อ้างอิง (ภาษา​อังกฤษ).

35:3—โยซียา​นำ​หีบ​ศักดิ์สิทธิ์​จาก​ที่​ไหน​มา​ไว้​ใน​พระ​วิหาร? ไม่​ว่า​หีบ​จะ​ถูก​ย้าย​ออก​ไป​ก่อน​หน้า​นี้​แล้ว​โดย​กษัตริย์​ที่​ชั่ว​ร้าย​องค์​ใด​องค์​หนึ่ง หรือ​ไม่​ก็​โยซียา​อาจ​สั่ง​ให้​มี​การ​ย้าย​หีบ​ไป​เก็บ​ไว้​ใน​สถาน​ที่​ที่​ปลอด​ภัย​ใน​ช่วง​การ​ซ่อมแซม​พระ​วิหาร คัมภีร์​ไบเบิล​ไม่​ได้​กล่าว​ถึง. มี​ประวัติ​บันทึก​อ้าง​ถึง​หีบ​ดัง​กล่าว​เพียง​ครั้ง​เดียว​หลัง​จาก​สมัย​ซะโลโม​ก็​คือ​ใน​คราว​ที่​โยซียา​นำ​หีบ​เข้า​มา​ใน​พระ​วิหาร.

บทเรียน​สำหรับ​เรา:

13:13-18; 14:11, 12; 32:9-23. ช่าง​เป็น​บทเรียน​สำหรับ​เรา​เสีย​จริง ๆ เกี่ยว​กับ​ความ​สำคัญ​ของ​การ​หมาย​พึ่ง​พระ​ยะโฮวา!

16:1-5, 7; 18:1-3, 28-32; 21:4-6; 22:10-12; 28:16-22. การ​สร้าง​สัมพันธไมตรี​กับ​คน​ต่าง​ชาติ​หรือ​ผู้​ไม่​มี​ความ​เชื่อ​ทำ​ให้​เกิด​ผล​อัน​น่า​เศร้า​ตาม​มา. นับ​ว่า​สุขุม​ที่​เรา​จะ​หลีก​เลี่ยง​การ​เกี่ยว​ข้อง​กับ​โลก​โดย​ไม่​จำเป็น.—โยฮัน 17:14, 16; ยาโกโบ 4:4.

16:7-12; 26:16-21; 32:25, 26. ความ​หยิ่ง​ทะนง​ทำ​ให้​กษัตริย์​อาซา​ประพฤติ​ชั่ว​ใน​ช่วง​บั้น​ปลาย​ของ​ชีวิต. น้ำใจ​หยิ่ง​ยโส​ทำ​ให้​อุซียา​สูญ​เสีย​อำนาจ. ฮิศคียา​ปฏิบัติ​อย่าง​ไม่​ฉลาด และ​อาจ​นึก​ลำพอง​ใจ​เมื่อ​ท่าน​พา​ทูต​ของ​บาบิโลน​ไป​ชม​ทรัพย์​สมบัติ​อัน​มี​ค่า​ของ​ท่าน. (ยะซายา 39:1-7) คัมภีร์​ไบเบิล​เตือน​ว่า “ความ​เย่อหยิ่ง​นำ​ไป​ถึง​ความ​พินาศ, และ​จิตต์​ใจ​ที่​จองหอง​นำ​ไป​ถึง​การ​ล้ม​ลง.”—สุภาษิต 16:18.

16:9. พระ​ยะโฮวา​ทรง​ช่วย​คน​ที่​มี​หัวใจ​ซื่อ​สัตย์​สุจริต​ต่อ​พระองค์ และ​พระองค์​เต็ม​พระทัย​ใช้​ฤทธิ์​เดช​ของ​พระองค์​เพื่อ​เห็น​แก่​คน​เช่น​นี้.

18:12, 13, 23, 24, 27. เช่น​เดียว​กับ​มีคา เรา​ควร​ประกาศ​เรื่อง​พระ​ยะโฮวา​และ​พระ​ประสงค์​ของ​พระองค์​อย่าง​กล้า​หาญ.

19:1-3. พระ​ยะโฮวา​มอง​หา​ส่วน​ดี​ใน​ตัว​เรา​แม้​บาง​ครั้ง​เรา​จะ​ทำ​ให้​พระองค์​ไม่​พอ​พระทัย.

20:1-28. เรา​มั่น​ใจ​ได้​ว่า​พระ​ยะโฮวา​จะ​โปรด​ให้​เรา​ประสบ​พระองค์​เมื่อ​เรา​หัน​เข้า​หา​พระองค์​อย่าง​ถ่อม​ใจ​เพื่อ​แสวง​หา​การ​ชี้​นำ.—สุภาษิต 15:29.

20:17 (ล.ม.). เพื่อ​จะ​เห็น “การ​ช่วย​ให้​รอด​จาก​พระ​ยะโฮวา” เรา​ต้อง “เข้า​ประจำ​ที่” โดย​สนับสนุน​ราชอาณาจักร​ของ​พระเจ้า​อย่าง​ขยัน​ขันแข็ง. แทน​ที่​จะ​จัด​การ​เรื่อง​ราว​ต่าง ๆ ด้วย​ตัว​เรา​เอง เรา​ต้อง “ยืน​นิ่ง” ซึ่ง​หมาย​ถึง​การ​วางใจ​ใน​พระ​ยะโฮวา​อย่าง​สุด​หัวใจ.

24:17-19; 25:14. การ​บูชา​รูป​เคารพ​กลาย​เป็น​บ่วง​แร้ว​แก่​โยอาศ​และ​อะมาซียา​ราชบุตร​ของ​ท่าน. ทุก​วัน​นี้​อาจ​มี​การ​ล่อ​ลวง​ให้​บูชา​รูป​เคารพ​ใน​ทำนอง​เดียว​กัน โดย​เฉพาะ​อย่าง​ยิ่ง อาจ​เป็น​ใน​รูป​ของ​การ​โลภ​วัตถุ​เงิน​ทอง​และ​ชาติ​นิยม ซึ่ง​เป็น​รูป​แบบ​อัน​แฝง​เร้น​อย่าง​หนึ่ง​ของ​การ​บูชา​รูป​เคารพ.—โกโลซาย 3:5; วิวรณ์ 13:4.

32:6, 7. เรา​ต้อง​กล้า​หาญ​และ​เข้มแข็ง​เช่น​เดียว​กัน เมื่อ​เรา “สวม​ยุทธภัณฑ์​ทั้ง​สิ้น​ของ​พระเจ้า” และ​เข้า​ใน​การ​สู้​รบ​ทาง​ฝ่าย​วิญญาณ.—เอเฟโซ 6:11-18.

33:2-9, 12, 13, 15, 16. คน​เรา​จะ​แสดง​การ​กลับ​ใจ​อย่าง​แท้​จริง​ได้​โดย​ละ​ทิ้ง​ทาง​ชั่ว​และ​ตั้งใจ​แน่วแน่​ที่​จะ​ทำ​สิ่ง​ที่​ถูก​ต้อง. โดย​การ​กลับ​ใจ​อย่าง​แท้​จริง แม้​แต่​คน​ที่​ทำ​ชั่ว​อย่าง​กษัตริย์​มะนาเซ​ก็​สามารถ​ได้​รับ​ความ​เมตตา​จาก​พระ​ยะโฮวา.

34:1-3. สภาพ​แวด​ล้อม​ที่​ไม่​ดี​ใน​วัย​เด็ก​ไม่​จำเป็น​จะ​ต้อง​เป็น​สิ่ง​กีด​ขวาง​เรา​ที่​จะ​รู้​จัก​พระเจ้า​และ​รับใช้​พระองค์. ใน​ช่วง​ที่​เป็น​เด็ก โยซียา​อาจ​เห็น​ตัว​อย่าง​ที่​ดี​ของ​มะนาเซ พระ​อัยกา​ผู้​กลับ​ใจ. ไม่​ว่า​โยซียา​อาจ​ได้​รับ​แรง​จูง​ใจ​ใน​ทาง​ดี​จาก​ใคร​ก็​ตาม ใน​ที่​สุด​สิ่ง​นั้น​ก็​ส่ง​ผล​ดี​ต่อ​ท่าน. นั่น​เป็น​สิ่ง​ที่​จะ​เกิด​ขึ้น​กับ​เรา​ได้​เช่น​กัน.

36:15-17. พระ​ยะโฮวา​ทรง​เป็น​พระเจ้า​ที่​เมตตา​กรุณา​และ​อด​ทน. อย่าง​ไร​ก็​ตาม ใช่​ว่า​ความ​กรุณา​และ​ความ​อด​ทน​ของ​พระองค์​จะ​มี​อยู่​เรื่อย​ไป. ประชาชน​ต้อง​ตอบรับ​ต่อ​งาน​ประกาศ​เรื่อง​ราชอาณาจักร​หาก​พวก​เขา​ต้องการ​รอด​ชีวิต​เมื่อ​พระ​ยะโฮวา​นำ​อวสาน​มา​สู่​ระบบ​ชั่ว​นี้.

36:17, 22, 23. พระ​คำ​ของ​พระ​ยะโฮวา​เป็น​จริง​เสมอ.—1 กษัตริย์ 9:7, 8; ยิระมะยา 25:9-11.

หนังสือ​ที่​กระตุ้น​ให้​ลง​มือ​ปฏิบัติ

สอง​โครนิกา 34:33 กล่าว​ว่า “โยซียา​จึง​ได้​กวาด​ของ​อัน​น่า​เกลียด​ทั้ง​ปวง​นั้น​ไป​เสีย​ทั่ว​อาณา​เขต​ชาติ​ยิศราเอล, ได้​เป็น​เหตุ​ให้​คน​ทั้ง​ปวง​ที่​อาศัย​อยู่​ใน​แผ่นดิน​ยิศราเอล​ให้​ปฏิบัติ​พระ​ยะโฮวา​พระเจ้า​ของ​ตน.” อะไร​กระตุ้น​โยซียา​ให้​ทำ​เช่น​นี้? เมื่อ​ซาฟาน ราชเลขา​ของ​กษัตริย์​นำ​หนังสือ​พระ​บัญญัติ​ของ​พระ​ยะโฮวา​ที่​ค้น​พบ​ใหม่​มา​ถวาย กษัตริย์​โยซียา​ให้​ซาฟาน​อ่าน​ด้วย​เสียง​อัน​ดัง. โยซียา​ประทับใจ​อย่าง​ยิ่ง​ใน​สิ่ง​ที่​ท่าน​ได้​ยิน​จน​ถึง​กับ​ส่ง​เสริม​การ​นมัสการ​แท้​อย่าง​กระตือรือร้น​ตลอด​ชีวิต​ของ​ท่าน.

การ​อ่าน​พระ​คำ​ของ​พระเจ้า​และ​ใคร่ครวญ​สิ่ง​ที่​เรา​อ่าน​อาจ​ส่ง​ผล​ต่อ​เรา​อย่าง​ลึกซึ้ง. การ​ใคร่ครวญ​เรื่อง​ราว​ของ​กษัตริย์​องค์​ต่าง ๆ ใน​เชื้อ​วงศ์​ของ​ดาวิด​หนุน​ใจ​เรา​ให้​เลียน​แบบ​ผู้​ที่​วางใจ​ใน​พระ​ยะโฮวา และ​หลีก​เลี่ยง​การ​กระทำ​แบบ​เดียว​กัน​กับ​กษัตริย์​องค์​ต่าง ๆ ที่​ไม่​วางใจ​พระเจ้า​มิ​ใช่​หรือ? พระ​ธรรม​สอง​โครนิกา​กระตุ้น​เรา​ให้​ถวาย​ความ​เลื่อมใส​โดย​เฉพาะ​แด่​พระเจ้า​เที่ยง​แท้​และ​รักษา​ความ​ซื่อ​สัตย์​ต่อ​พระองค์. ข่าวสาร​ใน​พระ​ธรรม​นี้​มี​ชีวิต​และ​ทรง​พลัง​จริง ๆ.—เฮ็บราย 4:12, ล.ม.

[เชิงอรรถ]

^ วรรค 9 สำหรับ​คำ​ถาม​เกี่ยว​กับ​การ​อุทิศ​พระ​วิหาร​และ​บทเรียน​อื่น ๆ ที่​ได้​จาก​คำ​อธิษฐาน​ของ​ซะโลโม​ใน​โอกาส​ดัง​กล่าว ดู​หอสังเกตการณ์ ฉบับ 1 กรกฎาคม 2005 หน้า 28-31.

^ วรรค 11 สำหรับ​ราย​ชื่อ​กษัตริย์​ของ​ยูดาห์​ตาม​ลำดับ​เวลา ดู​หอสังเกตการณ์ ฉบับ 1 สิงหาคม 2005 หน้า 12.

[ภาพ​หน้า 18]

คุณ​ทราบ​ไหม​ว่า เหตุ​ใด​รูป​โค​จึง​เหมาะ​ที่​จะ​ใช้​เป็น​ฐาน​ของ​ทะเล​หล่อ?

[ภาพ​หน้า 21]

แม้​โยซียา​ไม่​ค่อย​ได้​รับ​การ​อบรม​สั่ง​สอน​เท่า​ที่​ควร แต่​ท่าน​ก็​ซื่อ​สัตย์​ต่อ​พระ​ยะโฮวา​เมื่อ​โต​ขึ้น