คัมภีร์ไบเบิลภาษาอิตาลีความเป็นมาที่เต็มไปด้วยปัญหา
คัมภีร์ไบเบิลภาษาอิตาลีความเป็นมาที่เต็มไปด้วยปัญหา
“คัมภีร์ไบเบิลเป็นหนังสือที่แพร่หลายที่สุดในประเทศของเรา [อิตาลี] แต่ก็อาจมีคนอ่านน้อยที่สุดด้วย. ชาวคาทอลิกยังคงแทบไม่ได้รับการสนับสนุนให้ศึกษาคัมภีร์ไบเบิลและแทบจะไม่มีใครสอนพวกเขาให้อ่านคัมภีร์ไบเบิลโดยตระหนักว่านี่เป็นพระคำของพระเจ้า. มีบางคนที่ต้องการรู้จักคัมภีร์ไบเบิล แต่มักจะไม่มีใครสอนพวกเขา.”
คำกล่าวนี้ซึ่งมาจากการประชุมคณะบิชอปแห่งอิตาลีในปี 1995 ได้ก่อให้เกิดคำถามมากมาย. ชาวอิตาลีอ่านคัมภีร์ไบเบิลมากน้อยเพียงไรในศตวรรษต่าง ๆ ที่ผ่านมา? เหตุใดคัมภีร์ไบเบิลจึงไม่ค่อยมีแพร่หลายเหมือนกับในประเทศอื่น ๆ? เหตุใดยังคงมีชาวอิตาลีจำนวนน้อยที่อ่านคัมภีร์ไบเบิล? การตรวจสอบความเป็นมาของคัมภีร์ไบเบิลฉบับแปลต่าง ๆ ในภาษาอิตาลีช่วยให้พบคำตอบบางอย่าง.
กว่าที่ภาษาฝรั่งเศส, อิตาลี, โปรตุเกส, สเปน, และภาษาอื่น ๆ ที่เรียกกันว่ากลุ่มภาษาโรมันซ์จะพัฒนาขึ้นมาจากภาษาลาติน ก็กินเวลาหลายศตวรรษ. สำหรับประเทศต่าง ๆ แถบยุโรปที่ใช้ภาษาซึ่งมีต้นตอมาจากภาษาลาติน ภาษาถิ่นที่คนทั่วไปพูดกันค่อย ๆ ได้รับการยอมรับมากขึ้นและถึงกับนำมาใช้ในวรรณกรรมด้วยซ้ำ. พัฒนาการของภาษาถิ่นมีผลกระทบโดยตรงต่อการแปลคัมภีร์ไบเบิล. เพราะเหตุใด? ในช่วงหนึ่ง ช่องว่างระหว่างภาษาลาตินซึ่งเป็นภาษาที่คริสตจักรคาทอลิกใช้อย่างเป็นทางการ กับภาษาถิ่นซึ่งมีทั้งภาษาพื้นเมืองที่ออกเสียงต่างกันไปในแต่ละท้องถิ่น เริ่มจะขยายกว้างมากขึ้นทุกที จนทำให้คนที่มีความรู้น้อยไม่อาจเข้าใจภาษาลาตินได้อีกต่อไป.
พอถึงปี 1000 ผู้คนส่วนใหญ่แถบคาบสมุทรอิตาลีรู้สึกว่าฉบับแปลลาตินวัลเกตอ่านเข้าใจยาก แม้พวกเขาจะมีฉบับแปลนี้ก็ตาม. เป็นเวลาหลายศตวรรษที่คณะนักบวชแห่งคริสต์ศาสนจักรได้ผูกขาดระบบการศึกษา รวมถึงสิ่งที่สอนในมหาวิทยาลัยซึ่งมีอยู่ไม่กี่แห่งในเวลานั้น. ชนชั้นสูงเพียงไม่กี่คนเท่านั้นที่ได้รับการศึกษา. ฉะนั้น คัมภีร์ไบเบิลจึงกลายเป็น “หนังสือที่ไม่มีใครรู้จัก” ในที่สุด. กระนั้น หลายคนปรารถนาที่จะเป็นเจ้าของและเข้าใจพระคำของพระเจ้าในภาษาของพวกเขาเอง.
โดยทั่วไปแล้ว พวกนักเทศน์นักบวชต่อต้านการแปลคัมภีร์ไบเบิลเนื่องจากกลัวว่าจะเป็นการส่งเสริมคำสอนที่ถือกันว่าเป็นคำสอนนอกรีตให้แพร่หลายออกไป. ตามที่นักประวัติศาสตร์มาสซิโม ฟีร์โป กล่าวไว้ “การใช้ภาษาถิ่น [คงจะหมายถึง] การทำลายกำแพงทางภาษา [การใช้ภาษาลาติน] ที่ปกป้องอำนาจสิทธิ์ขาดของนักเทศน์นักบวชใน
เรื่องต่าง ๆ ทางศาสนา.” ฉะนั้น ปัจจัยทางวัฒนธรรม, ศาสนา, และสังคม เป็นมูลเหตุที่ทำให้ผู้คนส่วนใหญ่ในอิตาลีสมัยปัจจุบันไม่มีโอกาสศึกษาคัมภีร์ไบเบิล.การแปลคัมภีร์ไบเบิลบางส่วนครั้งแรก
ในศตวรรษที่ 13 มีการแปลคัมภีร์ไบเบิลจากภาษาลาตินเป็นภาษาอิตาลีเป็นครั้งแรก. งานแปลดังกล่าวเขียนด้วยมือและมีราคาแพงมาก. เนื่องด้วยช่วงศตวรรษที่ 14 มีฉบับแปลต่าง ๆ เพิ่มขึ้น จึงมีคัมภีร์ไบเบิลเกือบครบชุดในภาษาอิตาลี แม้ว่าพระธรรมต่าง ๆ จะมีผู้แปลคนละคนกัน ต่างเวลาและสถานที่กัน. ฉบับแปลเหล่านี้ส่วนใหญ่ซึ่งไม่มีการระบุชื่อผู้แปล จะตกอยู่ในการครอบครองของคนรวยหรือผู้มีการศึกษาซึ่งมีเงินพอจะซื้อหาฉบับแปลต่าง ๆ ได้. ตามที่นักประวัติศาสตร์จีโยลา ฟรันยิโต กล่าวไว้ แม้การใช้แท่นพิมพ์จะทำให้คัมภีร์ไบเบิลมีราคาถูกลงมาก แต่ “คนส่วนน้อยเท่านั้นที่สามารถมีคัมภีร์ไบเบิล.”
เป็นเวลาหลายศตวรรษที่ประชากรส่วนใหญ่ยังคงไม่รู้หนังสือ. แม้แต่สมัยที่อิตาลีถูกรวมเป็นหนึ่งเดียวในปี 1861 มีคนที่ไม่รู้หนังสือถึง 74.7 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนประชากร. ช่วงนั้น เมื่อรัฐบาลใหม่ของอิตาลีเตรียมที่จะจัดให้มีการศึกษาภาคบังคับสำหรับประชาชนทุกคนโดยไม่ต้องเสียเงิน โปปไพอัสที่ 9 ได้ส่งสารถึงกษัตริย์ในปี 1870 เพื่อยุพระองค์ให้ขัดขวางการออกกฎหมายนี้ โดยโปปพรรณนาว่านั่นเปรียบเหมือน “โรคระบาด” ที่มุ่งหมายจะ “สร้างความหายนะอย่างสิ้นเชิงแก่โรงเรียนคาทอลิก.”
คัมภีร์ไบเบิลภาษาอิตาลีครบชุดฉบับแรก
คัมภีร์ไบเบิลครบชุดฉบับแรกในภาษาอิตาลีพิมพ์ที่เมืองเวนิซในปี 1471 เป็นเวลาประมาณ 16 ปีหลังจากมีการใช้แท่นพิมพ์ระบบตัวเรียงพิมพ์ครั้งแรกในยุโรป. นิโคโล มาเลอร์บี นักบวชนิกายคามัลโดลิผลิตฉบับแปลนี้โดยใช้เวลาแปดเดือน. เขาเอาข้อความมาจากฉบับแปลหลายฉบับที่มีอยู่ในเวลานั้นและตรวจแก้ไขโดยอาศัยฉบับลาตินวัลเกต เป็นเกณฑ์ เขาแทนที่คำบางคำโดยใช้คำที่พูดกันในเขตเวนิซซึ่งเป็นบ้านเกิดของเขา. ฉบับแปลนี้เป็นคัมภีร์ไบเบิลภาษาอิตาลีฉบับแรกที่พิมพ์ขึ้นซึ่งมีการแจกจ่ายอย่างกว้างขวาง.
อีกคนหนึ่งที่พิมพ์คัมภีร์ไบเบิลอีกฉบับแปลหนึ่งในเวนิซคือ อันโตนโย บรูโชลี. เขาเป็นนักมานุษยวิทยาที่นิยมแนวคิดโปรเตสแตนต์แต่ไม่เคยลาออกจากคริสตจักรคาทอลิกอย่างเป็นทางการ. ในปี 1532 บรูโชลีแปลคัมภีร์ไบเบิลจากต้นฉบับภาษาฮีบรูและกรีก. ฉบับแปลนี้จึงเป็นคัมภีร์ไบเบิลฉบับแรกที่แปลจากสำเนาต้นฉบับเป็นภาษาอิตาลี. แม้ไม่ใช่วรรณกรรมภาษาอิตาลีชั้นเยี่ยม แต่การแปลโดยยึดกับต้นฉบับอย่างแม่นยำก็เป็นเรื่องที่น่าทึ่งเมื่อนึกถึงขีดจำกัดของความรู้ทางภาษาของคนในสมัยนั้น. ในข้อความบางตอนและบางฉบับพิมพ์ บรูโชลีรักษาพระนามของพระเจ้าในรูปของคำว่า “เยโอวา.” เป็นเวลาเกือบหนึ่งศตวรรษ คัมภีร์ไบเบิลของเขาได้รับความนิยมมากท่ามกลางชาวอิตาลีที่เป็นโปรเตสแตนต์และคนที่ไม่เห็นด้วยทางศาสนา.
ฉบับแปลอื่น ๆ ในภาษาอิตาลี—ซึ่งในความเป็นจริงก็คือคัมภีร์ไบเบิลฉบับปรับปรุงใหม่ของบรูโชลี—ได้รับการตีพิมพ์ บางฉบับแปลจัดพิมพ์โดยพวกคาทอลิก. แต่ไม่มีฉบับแปลใดที่แพร่หลายอย่างโดดเด่น. ในปี 1607 โจวานนี ดีโอดาตี ศิษยาภิบาลของนิกายคาลวินิสต์ซึ่งบิดามารดาของเขาหนีการข่มเหงทางศาสนาไปยังสวิตเซอร์แลนด์ ได้พิมพ์คัมภีร์ไบเบิลอีกฉบับแปลหนึ่งในกรุงเจนีวา โดยแปลจากภาษาเดิมเป็นภาษาอิตาลี. ฉบับแปลของเขากลายเป็นคัมภีร์ไบเบิลที่ชาวโปรเตสแตนต์ในอิตาลีใช้เป็นเวลานานหลายศตวรรษ. เมื่อคำนึงถึงสมัยนั้น ฉบับแปลนี้ถือว่าเป็นฉบับแปลภาษาอิตาลีที่ยอดเยี่ยมทีเดียว. คัมภีร์ไบเบิลของดีโอดาตีช่วยให้ชาวอิตาลีเข้าใจคำสอนของคัมภีร์ไบเบิล. แต่พวกนักเทศน์นักบวชที่ทำหน้าที่ตรวจสอบได้ขัดขวางการแจกจ่ายคัมภีร์ไบเบิลของดีโอดาตีรวมทั้งฉบับแปลอื่น ๆ ด้วย.
คัมภีร์ไบเบิล—“หนังสือที่ไม่มีใครรู้จัก”
สารานุกรมกัตโตลีกา กล่าวว่า “คริสตจักรประสบความสำเร็จเสมอในการควบคุมหนังสือต่าง ๆ คริสตจักรรู้สึกว่าไม่จำเป็นต้องรวบรวมรายชื่อหนังสือต้องห้ามเนื่องจากข้อเขียนต่าง ๆ ที่ถือว่าเป็นอันตรายถูกเผาไปหมดแล้ว จนกระทั่งมีการประดิษฐ์แท่นพิมพ์ขึ้นมา.” แม้แต่หลังจากการปฏิรูปโปรเตสแตนต์เริ่มต้นแล้ว พวกนักเทศน์นักบวชในประเทศต่าง ๆ ของยุโรปก็ยังพยายามอย่างสุดความสามารถ
ที่จะจำกัดการแจกจ่ายหนังสือซึ่งถือกันว่าเป็นของพวกนอกรีต. การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญเกิดขึ้นหลังการประชุมสังคายนาที่เมืองเทรนต์ในปี 1546 ซึ่งเป็นคราวที่มีการพิจารณาประเด็นเรื่องการแปลคัมภีร์ไบเบิลเป็นภาษาถิ่น. ความคิดเห็นแบ่งออกเป็นสองฝ่าย. ฝ่ายที่สนับสนุนการสั่งห้ามอ้างว่า คัมภีร์ไบเบิลภาษาสามัญชนเป็น “บ่อเกิดและจุดเริ่มต้นของความคิดเห็นแบบนอกรีตทุกอย่าง.” ฝ่ายที่ต่อต้านการสั่งห้ามกล่าวว่า “ปรปักษ์” ของพวกเขาซึ่งก็คือพวกโปรเตสแตนต์จะแย้งได้ว่า คาทอลิกห้ามการแปลคัมภีร์ไบเบิลเป็นภาษาถิ่นเพราะต้องการจะปิดซ่อน “ความฉ้อฉลและการหลอกลวง” ของตนไว้.การไม่เห็นพ้องกันเช่นนี้หมายความว่า การประชุมสังคายนาไม่มีมติเป็นเอกฉันท์เกี่ยวกับประเด็นนี้ แต่ได้มีการยอมรับอย่างเป็นทางการถึงความน่าเชื่อถือของฉบับแปลวัลเกต ซึ่งกลายเป็นฉบับมาตรฐานสำหรับคริสตจักรคาทอลิก. อย่างไรก็ตาม การ์โล บุดเซตตี อาจารย์จากมหาวิทยาลัยของโปปแห่งซาเลซิอานุมในกรุงโรมให้ข้อสังเกตว่าการประกาศให้ฉบับวัลเกต เป็นฉบับแปลที่ “เชื่อถือได้” นั้น “เป็นการสนับสนุนแนวคิดที่ว่า จริง ๆ แล้วนี่เป็นคัมภีร์ไบเบิลฉบับเดียวที่ถูกต้องตามกฎหมาย.” เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเวลาต่อมายืนยันเรื่องนี้.
ในปี 1559 โปปพอลที่ 4 ได้พิมพ์รายชื่อหนังสือต้องห้าม ที่ห้ามชาวคาทอลิกอ่าน, ขาย, แปล, หรือเป็นเจ้าของ. มีการถือว่าหนังสือเหล่านี้เป็นสิ่งชั่วร้ายและอันตรายต่อความเชื่อและความซื่อสัตย์มั่นคงทางศีลธรรม. รายชื่อนี้สั่งห้ามการอ่านคัมภีร์ไบเบิลฉบับแปลต่าง ๆ ในภาษาถิ่น รวมทั้งฉบับแปลของบรูโชลีด้วย. คนที่ไม่เชื่อฟังจะถูกขับออกจากศาสนา. รายชื่อหนังสือต้องห้ามฉบับปี 1596 ยิ่งเพิ่มข้อจำกัดมากขึ้น. ไม่อนุญาตให้แปลหรือพิมพ์คัมภีร์ไบเบิลภาษาถิ่นอีกต่อไป. คัมภีร์ไบเบิลภาษาถิ่นจะต้องถูกทำลาย.
ผลก็คือ มีการเผาคัมภีร์ไบเบิลหน้าลานโบสถ์หลายต่อหลายครั้งหลังสิ้นสุดศตวรรษที่ 16. ในความคิดของคนทั่วไป พระคัมภีร์กลายเป็นหนังสือของพวกนอกรีต และความคิดเช่นนั้นก็ยังคงมีอยู่. คัมภีร์ไบเบิลเกือบทุกเล่มและอรรถาธิบายคัมภีร์ไบเบิลในห้องสมุดสาธารณะและในบ้านส่วนตัวถูกนำมาทำลาย และในช่วง 200 ปีต่อมาไม่มีคาทอลิกคนใดแปลคัมภีร์ไบเบิลเป็นภาษาอิตาลี. คัมภีร์ไบเบิลเพียงฉบับแปลเดียวที่แพร่หลายในคาบสมุทรอิตาลี—แต่เป็นไปอย่างลับ ๆ เนื่องจากกลัวถูกยึด—คือคัมภีร์ไบเบิลที่แปลโดยผู้คงแก่เรียนชาวโปรเตสแตนต์. ด้วยเหตุนั้น นักประวัติศาสตร์มาริโอ ชินโยนีจึงกล่าวว่า “ที่จริง เป็นเวลาหลายศตวรรษที่สมาชิกโบสถ์ไม่ได้อ่านคัมภีร์ไบเบิลเลย. คัมภีร์ไบเบิลแทบจะเป็นหนังสือที่ไม่มีใครรู้จัก และชาวอิตาลีนับล้าน ๆ ตลอดชีวิตไม่เคยอ่านคัมภีร์ไบเบิลแม้แต่หน้าเดียว.”
การผ่อนปรนข้อห้าม
ต่อมา โปปเบเนดิกต์ที่ 14 ได้ออกกฤษฎีกาเกี่ยวกับรายชื่อดังกล่าว ซึ่งลงวันที่ 13 มิถุนายน 1757 เพื่อแก้ไขกฎข้อบังคับก่อนหน้านี้โดย “อนุญาตให้อ่านพระคัมภีร์ฉบับแปลภาษาถิ่นได้ แต่ต้องได้รับความเห็นชอบจากราชสำนักสันตะปาปาและให้มีการพิมพ์ภายใต้การชี้นำของบิชอป.” ผลที่ตามมาคือ อันโตนโย มาร์ตินี ซึ่งต่อมาเป็นอาร์ชบิชอปแห่งฟลอเรนซ์ ได้เตรียมการที่จะแปลฉบับวัลเกต. มีการพิมพ์ส่วนแรกในปี 1769 และการแปลทั้งเล่มเสร็จสิ้นในปี 1781. ตามแหล่งอ้างอิงของคาทอลิกแหล่งหนึ่ง งานแปลของมาร์ตินีเป็น “งานแปลภาษาอิตาลีฉบับแรกที่สมควรจะได้รับการกล่าวขวัญโดยเฉพาะ.” ก่อนหน้านั้น ชาวคาทอลิกที่ไม่เข้าใจภาษาลาตินไม่สามารถอ่านคัมภีร์ไบเบิลฉบับที่ได้รับอนุญาตจากคริสตจักร. ตลอดช่วง 150 ปีต่อมา ฉบับแปลของมาร์ตินีเป็นฉบับแปลเดียวที่ได้รับความเห็นชอบจากคาทอลิกในอิตาลี.
การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญเกิดขึ้นในคราวประชุมสภาวาติกันครั้งที่ 2 แห่งคริสตจักรทั้งมวล. ในปี 1965 เอกสารที่มีชื่อว่าเดอี เวอร์บุม ได้สนับสนุนเป็นครั้งแรกให้ “มีการแปลอย่างเหมาะสมและถูกต้อง . . . เป็นภาษาต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งให้แปลจากข้อความต้นฉบับของหนังสือศักดิ์สิทธิ์.” ไม่นานก่อนหน้านี้ ในปี 1958 ปอนติฟิโช เอสติตูโต บิบลีโก (สถาบันของโปปเกี่ยวกับคัมภีร์ไบเบิล) ได้จัดพิมพ์ “คัมภีร์ไบเบิลครบชุดฉบับแรกของคาทอลิกที่แปลจากต้นฉบับดั้งเดิม.” ฉบับแปลนี้นำพระนามของพระเจ้าซึ่งมีให้เห็นไม่มากนักกลับมาใช้ใหม่ในรูปของคำว่า “ยาห์เว.”
การต่อต้านการแปลคัมภีร์ไบเบิลเป็นภาษาถิ่นได้ก่อให้เกิดผลเสียมากมาย และผลกระทบของการต่อต้านยังมีอยู่. ดังที่จีกลีโอลา แฟรกนีโต กล่าวไว้ การต่อต้านทำให้ “ผู้เชื่อถือสงสัยว่าพวกเขาสามารถคิดและไว้ใจสติรู้สึกผิดชอบของตัวเองได้หรือไม่.” นอกจากนี้ ยังมีการวางข้อกำหนดเกี่ยวกับธรรมเนียมทางศาสนา ซึ่งชาวคาทอลิกหลายคนมองว่าสิ่งนี้มีความสำคัญยิ่งกว่าคัมภีร์ไบเบิล. ทั้งหมดนี้ทำให้ผู้คนเหินห่างจากพระคัมภีร์ แม้ว่าคนส่วนใหญ่จะรู้หนังสือก็ตาม.
อย่างไรก็ดี งานเผยแพร่ข่าวดีของพยานพระยะโฮวาได้กระตุ้นความสนใจในคัมภีร์ไบเบิลภาษาอิตาลีขึ้นมาอีกครั้ง. ในปี 1963 พยานฯ จัดพิมพ์พระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีกฉบับแปลโลกใหม่ ในภาษาอิตาลี. คัมภีร์ไบเบิลครบชุดพิมพ์ออกในปี 1967. มีการแจกจ่ายฉบับแปลนี้มากกว่า 4,000,000 เล่มเฉพาะที่อิตาลีแห่งเดียว. ฉบับแปลโลกใหม่ มีคำว่ายะโฮวาซึ่งเป็นพระนามของพระเจ้า และเป็นฉบับแปลที่โดดเด่นเนื่องจากยึดมั่นอย่างเหนียวแน่นกับความหมายของต้นฉบับ.
พยานพระยะโฮวาไปตามบ้านเพื่ออ่านและอธิบายข่าวสารจากพระคัมภีร์ที่ให้ความหวังแก่ทุกคนที่ต้องการจะฟัง. (กิจการ 20:20) ถ้าคุณพบพยานพระยะโฮวาคราวหน้าล่ะก็ ลองขอให้พวกเขาเปิดจากคัมภีร์ไบเบิลของคุณเองดูสิ เพื่อคุณจะเห็นว่าข้อใดที่กล่าวถึงคำสัญญาอันยอดเยี่ยมของพระเจ้าที่ว่า ในไม่ช้าพระองค์จะทำให้โลกของเรากลายเป็น “แผ่นดินโลกใหม่, ซึ่งจะเป็นที่ที่ความชอบธรรมจะดำรงอยู่.”—2 เปโตร 3:13.
[แผนที่หน้า 13]
(รายละเอียดดูจากวารสาร)
เวนิซ
โรม
[ภาพหน้า 15]
ฉบับแปลของบรูโชลีมีข้อความที่ใช้พระนามของพระเจ้าว่าเยโอวา
[ภาพหน้า 15]
คัมภีร์ไบเบิลฉบับแปลต่าง ๆ ในภาษาอิตาลีเคยอยู่ในรายชื่อหนังสือต้องห้ามที่ถือว่าเป็นอันตราย
[ที่มาของภาพหน้า 13]
Bible title page: Biblioteca Nazionale Centrale di Roma
[ที่มาของภาพหน้า 15]
Brucioli’s translation: Biblioteca Nazionale Centrale di Roma; Index: Su concessione del Ministero per i Beni e le Attività Culturali