ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

จุดเด่นจากพระธรรมนะเฮมยา

จุดเด่นจากพระธรรมนะเฮมยา

พระ​คำ​ของ​พระ​ยะโฮวา​มี​ชีวิต

จุด​เด่น​จาก​พระ​ธรรม​นะเฮมยา

เวลา​ผ่าน​ไป​สิบ​สอง​ปี​นับ​ตั้ง​แต่​เหตุ​การณ์​สุด​ท้าย​ที่​บันทึก​ใน​พระ​ธรรม​เอษรา​ได้​เกิด​ขึ้น. ตอน​นี้​ใกล้​จะ​ถึง​เวลา​ที่ “มี​ถ้อย​คำ​ออก​ไป​ให้​กู้​กรุง​เยรูซาเลม​และ​สร้าง​ขึ้น​ใหม่” ซึ่ง​เป็น​เหตุ​การณ์​ที่​ชี้​ถึง​การ​เริ่ม​ต้น​ของ​เวลา 70 สัปดาห์​แห่ง​ปี​ซึ่ง​นำ​ไป​ถึง​พระ​มาซีฮา. (ดานิเอล 9:24-27, ล.ม.) พระ​ธรรม​นะเฮมยา​เป็น​ประวัติ​เกี่ยว​กับ​ประชาชน​ของ​พระเจ้า​ซึ่ง​เกี่ยว​ข้อง​กับ​การ​สร้าง​กำแพง​กรุง​เยรูซาเลม​ขึ้น​ใหม่. พระ​ธรรม​นี้​ครอบ​คลุม​ช่วง​เวลา​สำคัญ​มาก​กว่า 12 ปี ตั้ง​แต่​ปี 456 ก่อน​สากล​ศักราช​จน​ถึง​ช่วง​ระยะ​หนึ่ง​หลัง​จาก​ปี 443 ก่อน ส.ศ.

พระ​ธรรม​เล่ม​นี้​ซึ่ง​เขียน​โดย​ผู้​สำเร็จ​ราชการ​นะเฮมยา เป็น​เรื่อง​ราว​ที่​น่า​ตื่นเต้น​เกี่ยว​กับ​วิธี​ที่​การ​นมัสการ​แท้​ได้​รับ​การ​ยก​ชู​เมื่อ​มี​การ​กระทำ​อย่าง​เด็ด​เดี่ยว​ควบ​คู่​ไป​กับ​ความ​ไว้​วางใจ​อย่าง​เต็ม​ที่​ใน​พระ​ยะโฮวา​พระเจ้า. พระ​ธรรม​นี้​แสดง​ให้​เห็น​อย่าง​ชัดเจน​ถึง​วิธี​ที่​พระ​ยะโฮวา​ทรง​ชี้​นำ​เรื่อง​ต่าง ๆ เพื่อ​ให้​พระทัย​ประสงค์​ของ​พระองค์​บรรลุ​ผล​สำเร็จ. พระ​ธรรม​นี้​ยัง​เป็น​เรื่อง​ราว​เกี่ยว​กับ​ผู้​นำ​คน​หนึ่ง​ที่​เข้มแข็ง​และ​กล้า​หาญ. ข่าวสาร​ใน​พระ​ธรรม​นะเฮมยา​ให้​บทเรียน​อัน​ทรง​คุณค่า​สำหรับ​บรรดา​ผู้​นมัสการ​แท้​ใน​ทุก​วัน​นี้ “เพราะ​พระ​คำ​ของ​พระเจ้า​มี​ชีวิต​และ​ทรง​พลัง.”—เฮ็บราย 4:12, ล.ม.

ใน​ที่​สุด​กำแพง​ก็​สำเร็จ

(นะเฮมยา 1:1–6:19)

นะเฮมยา​อยู่​ใน​พระ​ราชวัง ณ กรุง​ชูชาน (ซูซัร) ปรนนิบัติ​กษัตริย์​อะระธาสัศธา (อาร์ทาเซอร์เซส ลอนกีมานุส) ใน​ตำแหน่ง​ที่​ได้​รับ​ความ​วางใจ. เมื่อ​ได้​ยิน​ข่าว​ว่า​ชน​ชาติ​ของ​ท่าน “มี​ความ​ทุกข์​ยาก​ได้​รับ​ความ​อับอาย​เป็น​ที่​ถูก​ดูหมิ่น​นัก: กำแพง​ที่​กรุง​ยะรูซาเลม​ก็​หัก​พัง, และ​ประตู​ทั้ง​ปวง​ไฟ​ก็​ไหม้​เสีย​หมด​แล้ว” นะเฮมยา​รู้สึก​ไม่​สบาย​ใจ​อย่าง​มาก. ท่าน​อธิษฐาน​ด้วย​ใจ​แรง​กล้า​ถึง​พระเจ้า​เพื่อ​ขอ​การ​ชี้​นำ. (นะเฮมยา 1:3, 4) ต่อ​มา กษัตริย์​ทรง​สังเกต​เห็น​ความ​โศก​เศร้า​ของ​นะเฮมยา จึง​ทรง​อนุญาต​ให้​ท่าน​ไป​กรุง​เยรูซาเลม.

หลัง​จาก​มา​ถึง​กรุง​เยรูซาเลม​แล้ว นะเฮมยา​ได้​ตรวจตรา​ดู​กำแพง​เมือง​ใน​ยาม​ราตรี และ​ท่าน​ได้​เปิด​เผย​ให้​ชาว​ยิว​ทราบ​แผนการ​ของ​ท่าน​ที่​จะ​สร้าง​กำแพง​เมือง​ขึ้น​ใหม่. การ​ก่อ​สร้าง​เริ่ม​ต้น. การ​ต่อ​ต้าน​งาน​นี้​ได้​เริ่ม​ขึ้น​ด้วย. อย่าง​ไร​ก็​ดี ภาย​ใต้​การ​นำ​อย่าง​กล้า​หาญ​ของ​นะเฮมยา “เช่น​นั้น​แหละ [“ใน​ที่​สุด,” ล.ม.] กำแพง​ก็​สำเร็จ​ลง.”—นะเฮมยา 6:15.

คำ​ตอบ​สำหรับ​คำ​ถาม​เกี่ยว​กับ​ข้อ​พระ​คัมภีร์:

1:1; 2:1ปี​ที่​ยี่​สิบที่​กล่าว​ถึง​ใน​สอง​ข้อ​นี้​นับ​จาก​การ​อ้างอิง​จุด​เดียว​กัน​ไหม? ใช่​แล้ว ปี​ที่ 20 เป็น​ปี​แห่ง​การ​ปกครอง​ของ​กษัตริย์​อะระธาสัศธา. อย่าง​ไร​ก็​ดี วิธี​การ​นับ​ที่​ใช้​ใน​สอง​ข้อ​นี้​ต่าง​กัน. หลักฐาน​ทาง​ประวัติศาสตร์​ชี้​ถึง​ปี 475 ก่อน ส.ศ. ว่า​เป็น​ปี​ที่​อะระธาสัศธา​ขึ้น​ครอง​บัลลังก์. เนื่อง​จาก​ตาม​ธรรมเนียม​แล้ว​พวก​อาลักษณ์​ชาว​บาบิโลน​นับ​ปี​แห่ง​การ​ปกครอง​ของ​กษัตริย์​ชาว​เปอร์เซีย​ตั้ง​แต่​เดือน​ไนซาน (มีนาคม/เมษายน) ถึง​เดือน​ไนซาน ฉะนั้น ปี​แรก​แห่ง​การ​ปกครอง​ของ​อะระธาสัศธา​ได้​เริ่ม​ใน​เดือน​ไนซาน​ของ​ปี 474 ก่อน ส.ศ. ดัง​นั้น ปี​ที่ 20 ของ​การ​ปกครอง​ที่​กล่าว​ถึง​ใน​นะเฮมยา 2:1 จึง​เริ่ม​ใน​เดือน​ไนซาน​ปี 455 ก่อน ส.ศ. เดือน​ซิศลิว (“ชิสเลฟ,” ล.ม. ตรง​กับ​เดือน​พฤศจิกายน/ธันวาคม) ที่​กล่าว​ถึง​ใน​นะเฮมยา 1:1 ตาม​เหตุ​ผล​แล้ว​เป็น​เดือน​ชิสเลฟ​ของ​ปี​ก่อน​หน้า​นั้น คือ​ปี 456 ก่อน ส.ศ. นะเฮมยา​อ้าง​ถึง​เดือน​นั้น​ว่า​ตก​อยู่​ใน​ปี​ที่ 20 แห่ง​รัชกาล​ของ​อะระธาสัศธา​ด้วย. บาง​ที​ใน​กรณี​นี้ ท่าน​นับ​ปี​ตั้ง​แต่​วัน​ที่​กษัตริย์​ขึ้น​ครอง​ราชย์. นอก​จาก​นี้​อาจ​เป็น​ได้​ที่​นะเฮมยา​นับ​เวลา​โดย​อาศัย​สิ่ง​ที่​ชาว​ยิว​ใน​ทุก​วัน​นี้​เรียก​ว่า​ปี​ตาม​ปฏิทิน​ที่​คน​ธรรมดา​ใช้​กัน ซึ่ง​เริ่ม​ต้น​ใน​เดือน​ทิชรี ตรง​กับ​เดือน​กันยายน/ตุลาคม. ไม่​ว่า​จะ​อย่าง​ไร ปี​ที่​มี​คำ​สั่ง​ออก​ไป​ให้​กู้​กรุง​เยรูซาเลม​คือ ปี 455 ก่อน ส.ศ.

4:17, 18—ผู้​คน​จะ​ทำ​งาน​ใน​การ​สร้าง​กำแพง​ขึ้น​ใหม่​ด้วย​มือ​ข้าง​เดียว​ได้​อย่าง​ไร? สำหรับ​คน​แบก​หาม การ​ทำ​เช่น​นี้​คง​จะ​ไม่​เป็น​ปัญหา. เมื่อ​เทิน​ของ​ไว้​บน​ศีรษะ​หรือ​แบก​ของ​ไว้​บน​บ่า​แล้ว เขา​ก็​สามารถ​ทำ​ให้​สมดุล​กัน​ด้วย​มือ​ข้าง​หนึ่ง​อย่าง​ง่าย​ดาย​ขณะ​ที่​มือ “อีก​ข้าง​หนึ่ง​ถือ​อาวุธ.” พวก​ช่าง​ก่อ​ซึ่ง​จำเป็น​ต้อง​ใช้​มือ​ทั้ง​สอง​ข้าง​ทำ​งาน “ทุก​คน​ได้​เอา​ดาบ​เหน็บ​เอว​กระทำ​การ​ไป​อย่าง​นั้น.” พวก​เขา​เตรียม​พร้อม​ที่​จะ​ต่อ​สู้​ป้องกัน​ตัว​หาก​ศัตรู​จู่​โจม.

5:7—ใน​ความ​หมาย​เช่น​ไร​ที่​นะเฮมยา​เริ่ม​ต้น “ต่อ​ว่า​ตักเตือน​เจ้านาย, และ​ขุนนาง​ทั้ง​ปวง”? คน​เหล่า​นี้​ขูดรีด​ดอกเบี้ย​จาก​เพื่อน​ชาว​ยิว​ของ​พวก​เขา​ซึ่ง​เป็น​การ​ละเมิด​พระ​บัญญัติ​ของ​โมเซ. (เลวีติโก 25:36; พระ​บัญญัติ 23:19) นอก​จาก​นี้ ผู้​ให้​ยืม​ก็​เรียก​ร้อง​เอา​ดอกเบี้ย​สูง​เกิน​ไป. ถ้า​มี​การ​เรียก​เก็บ​ดอกเบี้ย​เป็น​ราย​เดือน “ส่วน​ร้อย” คง​จะ​เท่า​กับ 12 เปอร์เซ็นต์​ต่อ​ปี. (นะเฮมยา 5:11) เป็น​การ​โหด​ร้าย​ที่​จะ​เรียก​เอา​ดอกเบี้ย​เช่น​นี้​กับ​ประชาชน​ที่​มี​ภาระ​หนัก​อยู่​แล้ว​ใน​การ​เสีย​ภาษี​และ​การ​ขาด​แคลน​อาหาร. นะเฮมยา​ต่อ​ว่า​ตักเตือน​คน​รวย​โดย​ใช้​พระ​บัญญัติ​ของ​พระเจ้า​ว่า​กล่าว​และ​ตำหนิ​พวก​เขา และ​โดย​วิธี​นี้​จึง​เปิดโปง​การ​ทำ​ผิด​ของ​พวก​เขา.

6:5—เนื่อง​จาก​จดหมาย​ที่​เป็น​ความ​ลับ​มัก​จะ​ใส่​ไว้​ใน​ซอง​ที่​ปิด​ผนึก ทำไม​ซันบาลาต​จึง​ส่ง “จดหมาย​อย่าง​เปิด​เผย” มา​ให้​นะเฮมยา? ซันบาลาต​อาจ​ตั้งใจ​ที่​จะ​เปิด​เผย​ข้อ​กล่าวหา​เท็จ​ที่​ยก​ขึ้น​มา​โดย​ส่ง​เรื่อง​ดัง​กล่าว​มา​ใน​จดหมาย​อย่าง​เปิด​เผย. บาง​ที​เขา​อาจ​หวัง​ว่า​จดหมาย​นี้​จะ​ทำ​ให้​นะเฮมยา​โกรธ​มาก​จน​ถึง​กับ​ทิ้ง​งาน​ก่อ​สร้าง​แล้ว​มา​ปก​ป้อง​ตัว​เอง. หรือ​ซันบาลาต​อาจ​คิด​ว่า​เนื้อ​ความ​ใน​จดหมาย​นั้น​จะ​ทำ​ให้​เกิด​ความ​ตื่น​ตระหนก​ใน​ท่ามกลาง​ชาว​ยิว​จน​พวก​เขา​จะ​หยุด​งาน​ของ​ตน​อย่าง​สิ้นเชิง. นะเฮมยา​ไม่​หวั่น​กลัว​และ​ทำ​งาน​ที่​พระเจ้า​ทรง​มอบหมาย​ให้​ท่าน​ต่อ​ไป​อย่าง​สงบ.

บทเรียน​สำหรับ​เรา:

1:4; 2:4; 4:4, 5. เมื่อ​เผชิญ​กับ​สภาพการณ์​ที่​ยาก​ลำบาก หรือ​เมื่อ​ตัดสิน​ใจ​เรื่อง​ที่​สำคัญ เรา​ควร “หมั่น​อธิษฐาน​อยู่​เสมอ” และ​ปฏิบัติ​สอดคล้อง​กับ​การ​ชี้​นำ​ตาม​ระบอบ​ของ​พระเจ้า.—โรม 12:12.

1:11–2:8; 4:4, 5, 15, 16; 6:16. พระ​ยะโฮวา​ทรง​ตอบ​คำ​อธิษฐาน​อย่าง​จริง​ใจ​ของ​ผู้​รับใช้​พระองค์.—บทเพลง​สรรเสริญ 86:6, 7.

1:4; 4:19, 20; 6:3, 15. ถึง​แม้​นะเฮมยา​เป็น​คน​ที่​มี​ความ​รู้สึก​อัน​อ่อน​ละมุน​ก็​ตาม ท่าน​ได้​วาง​ตัว​อย่าง​ที่​ดี​ฐานะ​เป็น​คน​ที่​เอา​จริง​เอา​จัง มั่นคง​เพื่อ​ความ​ชอบธรรม.

1:11–2:3. แหล่ง​สำคัญ​แห่ง​ความ​ยินดี​ของ​นะเฮมยา​ไม่​ใช่​ตำแหน่ง​อัน​ทรง​เกียรติ​ใน​ฐานะ​พนักงาน​เชิญ​จอก​เสวย. แหล่ง​ที่​มา​แห่ง​ความ​ยินดี​ของ​ท่าน​คือ​การ​ส่ง​เสริม​การ​นมัสการ​แท้. การ​นมัสการ​พระ​ยะโฮวา​และ​ทุก​สิ่ง​ที่​ส่ง​เสริม​การ​นมัสการ​นั้น​ควร​เป็น​เรื่อง​สำคัญ​ที่​เรา​ห่วงใย​และ​เป็น​แหล่ง​สำคัญ​แห่ง​ความ​ยินดี​ของ​เรา​มิ​ใช่​หรือ?

2:4-8. พระ​ยะโฮวา​ทรง​บันดาล​ให้​อะระธาสัศธา​อนุญาต​ให้​นะเฮมยา​ไป​และ​สร้าง​กำแพง​กรุง​เยรูซาเลม​ขึ้น​ใหม่. สุภาษิต 21:1 (ล.ม.) กล่าว​ว่า “ดวง​หทัย​ของ​กษัตริย์​เปรียบ​เสมือน​ร่อง​น้ำ​ทั้ง​หลาย​ใน​พระ​หัตถ์​ของ​พระ​ยะโฮวา. พระองค์​ทรง​ดัด​ดวง​หทัย​นั้น​ให้​ไป​ใน​ทาง​ที่​พระองค์​พอ​พระทัย.”

3:5, 27. เรา​ไม่​ควร​ถือ​ว่า​งาน​ที่​ใช้​แรง​กาย​ซึ่ง​ทำ​เพื่อ​ผล​ประโยชน์​ของ​การ​นมัสการ​แท้​ไม่​สม​กับ​ฐานะ​ของ​เรา เหมือน​กับ “เจ้านาย” ของ​ชาว​เมือง​ธะโคอา. แทน​ที่​จะ​เป็น​เช่น​นั้น เรา​สามารถ​เลียน​แบบ​ชาว​ธะโคอา​โดย​ทั่ว​ไป​ซึ่ง​เต็ม​ใจ​ทุ่มเท​ตัว​เอง.

3:10, 23, 28-30. ขณะ​ที่​บาง​คน​สามารถ​ย้าย​ไป​ยัง​ที่​ที่​มี​ความ​ต้องการ​ผู้​ประกาศ​ราชอาณาจักร​มาก​กว่า หลาย​คน​ใน​พวก​เรา​สนับสนุน​การ​นมัสการ​แท้​ใกล้​บ้าน​ของ​ตัว​เอง. เรา​สามารถ​ทำ​เช่น​นั้น​ได้​โดย​มี​ส่วน​ร่วม​ใน​งาน​ก่อ​สร้าง​หอ​ประชุม​และ​งาน​ช่วยเหลือ​บรรเทา​ทุกข์ แต่​มี​ส่วน​ร่วม​ใน​งาน​ประกาศ​ราชอาณาจักร​เป็น​ประการ​สำคัญ.

4:14 (ล.ม.). เมื่อ​เผชิญ​กับ​การ​ต่อ​ต้าน เรา​สามารถ​เอา​ชนะ​ความ​กลัว​ได้​เช่น​กัน​โดย​ระลึก​ถึง “องค์​ยิ่ง​ใหญ่​และ​น่า​เกรง​ขาม.”

5:14-19. สำหรับ​คริสเตียน​ผู้​ดู​แล ผู้​สำเร็จ​ราชการ​นะเฮมยา​เป็น​ตัว​อย่าง​ที่​ดี​เลิศ​ใน​เรื่อง​ความ​ถ่อม​ใจ, ความ​ไม่​เห็น​แก่​ตัว, และ​ความ​สุขุม​รอบคอบ. ถึง​แม้​มี​ใจ​แรง​กล้า​ใน​การ​บังคับ​ให้​เป็น​ไป​ตาม​กฎหมาย​ของ​พระเจ้า ท่าน​ก็​มิ​ได้​ใช้​อำนาจ​บาตร​ใหญ่​เหนือ​คน​อื่น​เพื่อ​ได้​ผล​กำไร​ที่​เห็น​แก่​ตัว. ตรง​กัน​ข้าม ท่าน​ได้​แสดง​ความ​ห่วงใย​ต่อ​ผู้​ที่​ถูก​กดขี่​และ​คน​ยาก​จน. ใน​การ​แสดง​ความ​เอื้อเฟื้อ​เผื่อแผ่ นะเฮมยา​วาง​ตัว​อย่าง​ที่​โดด​เด่น​สำหรับ​ผู้​รับใช้​ทุก​คน​ของ​พระเจ้า.

“โอ้​พระเจ้า​ของ​ข้าพเจ้า​ขอ​ทรง​ระลึก​ถึง​ข้าพเจ้า​ด้วย​ความ​โปรดปราน”

(นะเฮมยา 7:1–13:31)

ทันที​ที่​กำแพง​กรุง​เยรูซาเลม​สร้าง​เสร็จ นะเฮมยา​ตั้ง​ประตู​และ​จัด​เตรียม​การ​เพื่อ​ดู​แล​ความ​ปลอด​ภัย​ของ​เมือง. ท่าน​ทำ​บันทึก​ลำดับ​วงศ์​ตระกูล​ของ​ประชาชน. ขณะ​ที่​คน​ทั้ง​ปวง​มา​ชุมนุม​กัน “ที่​ลาน​เมือง​หน้า​ประตู​น้ำ” เอษรา​ปุโรหิต​อ่าน​พระ​บัญญัติ​ของ​โมเซ และ​นะเฮมยา​กับ​พวก​เลวี​อธิบาย​พระ​บัญญัติ​ให้​แก่​ประชาชน. (นะเฮมยา 8:1, ฉบับ​แปล​ใหม่) การ​เรียน​รู้​เกี่ยว​กับ​เทศกาล​ตั้ง​ทับ​อาศัย​ทำ​ให้​พวก​เขา​ฉลอง​เทศกาล​นี้​ด้วย​ความ​ยินดี.

การ​ชุมนุม​อีก​ครั้ง​หนึ่ง​ติด​ตาม​มา ซึ่ง​ระหว่าง​ช่วง​นี้ “บรรดา​พงศ์พันธุ์​ยิศราเอล” สารภาพ​บาป​ของ​คน​ทั้ง​ชาติ พวก​เลวี​ทบทวน​วิธี​ที่​พระเจ้า​ทรง​ปฏิบัติ​กับ​ชาติ​อิสราเอล และ​ประชาชน​ให้​คำ​ปฏิญาณ​ว่า “จะ​ดำเนิน​ตาม​ธรรม​บัญญัติ​ของ​พระเจ้า.” (นะเฮมยา 9:1, 2; 10:29, ฉบับ​แปล​ใหม่) เนื่อง​จาก​กรุง​เยรูซาเลม​ยัง​คง​มี​ประชากร​อาศัย​อยู่​น้อย จึง​มี​การ​จับ​ฉลาก​เพื่อ​ให้​ผู้​ชาย​หนึ่ง​คน​จาก​ทุก ๆ 10 คน​ซึ่ง​อาศัย​อยู่​นอก​เมือง​ย้าย​เข้า​ไป​ใน​เมือง. ต่อ​จาก​นั้น ได้​มี​การ​สมโภช​ฉลอง​กำแพง​ด้วย​ความ​ยินดี​จน “เสียง​ความ​ยินดี​แห่ง​ชาว​ยะรูซาเลม​นั้น​มี​คน​ได้​ยิน​ได้​แต่​ไกล.” (นะเฮมยา 12:43) สิบ​สอง​ปี​หลัง​จาก​เดิน​ทาง​มา​ถึง​กรุง​เยรูซาเลม นะเฮมยา​ออก​จาก​กรุง​นี้​เพื่อ​กลับ​ไป​ทำ​หน้า​ที่​ปรนนิบัติ​กษัตริย์​อะระธาสัศธา. ความ​ไม่​สะอาด​ค่อย ๆ ปรากฏ​ท่ามกลาง​ชาว​ยิว. เมื่อ​กลับ​มา​กรุง​เยรูซาเลม​อีก​ครั้ง นะเฮมยา​ลง​มือ​จัด​การ​อย่าง​เด็ดขาด​เพื่อ​แก้ไข​สถานการณ์. ท่าน​ได้​ทูล​ขอ​อย่าง​ถ่อม​ใจ​เพื่อ​ตัว​ท่าน​เอง​ว่า “โอ้​พระเจ้า​ของ​ข้าพเจ้า ขอ​ทรง​ระลึก​ถึง​ข้าพเจ้า​ด้วย​ความ​โปรดปราน.”—นะเฮมยา 13:31, ล.ม.

คำ​ตอบ​สำหรับ​คำ​ถาม​เกี่ยว​กับ​ข้อ​พระ​คัมภีร์:

7:6-67—ทำไม​ตัว​เลข​ของ​นะเฮมยา​ที่​บอก​จำนวน​ชน​ที่​เหลือ​ใน​แต่​ละ​พงศ์พันธุ์​ซึ่ง​กลับ​ไป​เยรูซาเลม​พร้อม​กับ​ซะรูบาเบล​จึง​ต่าง​จาก​ของ​เอษรา? (เอษรา 2:1-65) เหตุ​ผล​สำหรับ​ความ​แตกต่าง​ดัง​กล่าว​นี้​อาจ​เป็น​เพราะ​เอษรา​กับ​นะเฮมยา​ใช้​แหล่ง​ข้อมูล​ที่​ต่าง​กัน. ตัว​อย่าง​เช่น จำนวน​คน​ที่​ลง​ทะเบียน​ว่า​จะ​กลับ​อาจ​ต่าง​จาก​จำนวน​คน​ที่​ได้​กลับ​ไป​จริง ๆ. นอก​จาก​นี้ บันทึก​ทั้ง​สอง​อาจ​ต่าง​กัน​เนื่อง​จาก​ชาว​ยิว​บาง​คน​ที่​ไม่​สามารถ​พิสูจน์​ลำดับ​วงศ์​ตระกูล​ของ​ตน​ใน​ตอน​ต้น​สามารถ​พิสูจน์​ได้​ใน​ตอน​หลัง. อย่าง​ไร​ก็​ดี บัญชี​ตัว​เลข​ทั้ง​สอง​ตรง​กัน​ใน​จุด​หนึ่ง​คือ จำนวน​ผู้​ที่​กลับ​ไป​ใน​ตอน​แรก​คือ 42,360 คน นอก​เหนือ​จาก​พวก​ทาส​และ​นัก​ร้อง.

10:34—ทำไม​จึง​มี​การ​เรียก​ร้อง​ให้​ผู้​คน​จัด​หา​ฟืน​มา? ไม่​ได้​มี​การ​สั่ง​ให้​ถวาย​ฟืน​ใน​พระ​บัญญัติ​ของ​โมเซ. ข้อ​เรียก​ร้อง​นี้​มี​ขึ้น​เนื่อง​จาก​มี​ความ​จำเป็น​อย่าง​แท้​จริง. จำเป็น​ต้อง​มี​ฟืน​จำนวน​มาก​มาย​เพื่อ​เผา​เครื่อง​บูชา​บน​แท่น. ดู​เหมือน​ว่า พวก​นะธีนิม​ซึ่ง​รับใช้​ฐานะ​ทาส​ที่​ไม่​ใช่​ชาว​อิสราเอล​ใน​พระ​วิหาร​มี​จำนวน​ไม่​พอ. ดัง​นั้น จึง​มี​การ​จับ​ฉลาก​เพื่อ​ทำ​ให้​แน่​ใจ​ว่า​จะ​มี​ฟืน​ใช้​เรื่อย​ไป.

13:6—นะเฮมยา​ไม่​อยู่​ใน​กรุง​เยรูซาเลม​นาน​เท่า​ไร? คัมภีร์​ไบเบิล​บอก​เพียง​แต่​ว่า “เป็น​เวลา​หลาย​วัน” หรือ “ต่อ​มา” (ฉบับ​แปล​ใหม่) นะเฮมยา​ได้​ทูล​กษัตริย์​เพื่อ​ขอ​ลา​กลับ​ไป​เยรูซาเลม. เพราะ​ฉะนั้น จึง​เป็น​ไป​ไม่​ได้​ที่​จะ​กำหนด​ว่า​ท่าน​ไม่​อยู่​นาน​เท่า​ไร. แต่​เมื่อ​กลับ​มา​ถึง​เยรูซาเลม นะเฮมยา​ได้​พบ​ว่า​ไม่​มี​การ​สนับสนุน​พวก​ปุโรหิต ทั้ง​ไม่​มี​การ​ปฏิบัติ​ตาม​กฎ​วัน​ซะบาโต. หลาย​คน​ได้​รับ​คน​ต่าง​ชาติ​มา​เป็น​ภรรยา และ​ลูก ๆ ของ​พวก​เขา​พูด​ภาษา​ของ​ชาว​ยิว​ไม่​ได้​ด้วย​ซ้ำ. การ​ที่​สภาพการณ์​ต่าง ๆ เสื่อม​ลง​ขนาด​นั้น แสดง​ว่า​นะเฮมยา​คง​ต้อง​จาก​กรุง​เยรูซาเลม​ไป​เป็น​เวลา​นาน.

13:25, 28—นอก​จาก ‘ว่า​กล่าว​ห้าม​ปราม’ ชาว​ยิว​ที่​เสื่อม​ถอย​แล้ว นะเฮมยา​ได้​ใช้​มาตรการ​อื่น​อะไร​บ้าง​เพื่อ​แก้ไข​สภาพการณ์? นะเฮมยา ‘ได้​แช่ง​สาป​พวก​เขา’ โดย​ที่​ท่าน​ประกาศ​คำ​พิพากษา​ลง​โทษ​พวก​เขา​ตาม​ที่​ปรากฏ​ใน​พระ​บัญญัติ​ของ​พระเจ้า. ท่าน “โบย​ตี​เขา​บาง​คน” อาจ​จะ​โดย​สั่ง​ให้​ดำเนิน​การ​พิพากษา​พวก​เขา. เพื่อ​เป็น​สัญลักษณ์​แสดง​ถึง​ความ​ขุ่นเคือง​ของ​ท่าน​ทาง​ด้าน​ศีลธรรม ท่าน ‘ได้​ถอน​ผม​บาง​คน​ใน​พวก​เขา.’ นอก​จาก​นี้ ท่าน​ได้​ไล่​หลาน​ชาย​ของ​มหา​ปุโรหิต​เอ็ลยาซิพ ซึ่ง​ได้​แต่งงาน​กับ​บุตร​สาว​ของ​ซันบาลาต​ชาว​เมือง​โฮโรน​นั้น​ไป​เสีย.

บทเรียน​สำหรับ​เรา:

8:8. ใน​ฐานะ​ผู้​สอน​พระ​คำ​ของ​พระเจ้า เรา ‘อธิบาย​ให้​รู้​เนื้อ​ความ’ โดย​การ​ออก​เสียง​ชัดเจน​และ​การ​พูด​เน้น และ​โดย​อธิบาย​พระ​คัมภีร์​อย่าง​ถูก​ต้อง​และ​นำ​มา​ใช้​อย่าง​ชัดเจน.

8:10 (ล.ม.). “ความ​ยินดี​ใน​พระ​ยะโฮวา” เกิด​จาก​การ​ที่​คน​เรา​สำนึก​ถึง​ความ​จำเป็น​ทาง​ฝ่าย​วิญญาณ​และ​สนอง​ความ​จำเป็น​นั้น และ​เกิด​จาก​การ​ปฏิบัติ​ตาม​การ​ชี้​นำ​ตาม​ระบอบ​ของ​พระเจ้า. นับ​ว่า​สำคัญ​สัก​เพียง​ไร​ที่​เรา​ขยัน​ศึกษา​คัมภีร์​ไบเบิล, เข้า​ร่วม​การ​ประชุม​คริสเตียน​เป็น​ประจำ, และ​มี​ส่วน​ร่วม​ด้วย​ใจ​แรง​กล้า​ใน​งาน​ประกาศ​ราชอาณาจักร​และ​การ​ทำ​ให้​คน​เป็น​สาวก!

11:2. การ​ทิ้ง​ทรัพย์​สิน​ที่​เป็น​มรดก​ตก​ทอด​ไว้​แล้ว​ย้าย​ไป​อยู่​ใน​กรุง​เยรูซาเลม​ต้อง​เสีย​ค่า​ใช้​จ่าย​ส่วน​ตัว​และ​มี​ข้อ​เสีย​เปรียบ​บาง​อย่าง. คน​เหล่า​นั้น​ที่​อาสา​สมัคร​ไป แสดง​ให้​เห็น​น้ำใจ​เสีย​สละ. เรา​สามารถ​แสดง​น้ำใจ​ดัง​กล่าว​ได้​เช่น​กัน​เมื่อ​มี​โอกาส​ที่​จะ​อาสา​สมัคร​ทำ​งาน​เพื่อ​ประโยชน์​ของ​คน​อื่น ณ การ​ประชุม​ใหญ่​และ​ใน​โอกาส​อื่น ๆ.

12:31, 38, 40-42. การ​ร้อง​เพลง​เป็น​วิธี​ที่​เหมาะ​สม​ใน​การ​สรรเสริญ​พระ​ยะโฮวา​และ​แสดง​ความ​ขอบพระคุณ​พระองค์. เรา​ควร​ร้อง​เพลง​อย่าง​สุด​หัวใจ ณ การ​ประชุม​คริสเตียน.

13:4-31. เรา​ต้อง​ระวัง​ไม่​ยอม​ให้​วัตถุ​นิยม, ความ​เสื่อม​ทราม, การ​ออก​หาก​แทรกซึม​เข้า​มา​ใน​ชีวิต​ของ​เรา.

13:22. นะเฮมยา​ตระหนัก​ดี​ว่า​ท่าน​ต้อง​ให้​การ​ต่อ​พระเจ้า. เรา​ก็​ต้อง​ตระหนัก​ว่า​เรา​ต้อง​ให้​การ​ต่อ​พระ​ยะโฮวา​เช่น​กัน.

การ​ได้​รับ​พระ​พร​จาก​พระ​ยะโฮวา​สำคัญ​ยิ่ง!

ผู้​ประพันธ์​เพลง​สรรเสริญ​ได้​ร้อง​เพลง​ว่า “ถ้า​พระ​ยะโฮวา​ไม่​ทรง​สร้าง​ตึก​ขึ้น, ช่าง​ก่อ​ก็​จะ​เสีย​แรง​เปล่า ๆ ใน​การ​ก่อ​สร้าง​นั้น.” (บทเพลง​สรรเสริญ 127:1) พระ​ธรรม​นะเฮมยา​แสดง​ให้​เห็น​ความ​จริง​ของ​ถ้อย​คำ​ดัง​กล่าว​นี้​อย่าง​น่า​จับ​ใจ​สัก​เพียง​ไร!

มี​บทเรียน​ที่​ชัดเจน​สำหรับ​เรา. หาก​เรา​ต้องการ​ประสบ​ผล​สำเร็จ​ใน​ความ​พยายาม​ของ​เรา​ไม่​ว่า​เรื่อง​ใด​ก็​ตาม เรา​ต้อง​ได้​รับ​ความ​พอ​พระทัย​จาก​พระ​ยะโฮวา. เรา​สามารถ​คาด​หมาย​อย่าง​แท้​จริง​ได้​ไหม​ว่า​พระ​ยะโฮวา​จะ​ประทาน​บำเหน็จ​ให้​เรา นอก​จาก​ว่า​เรา​จัด​ให้​การ​นมัสการ​แท้​อยู่​ใน​อันดับ​แรก​ใน​ชีวิต​ของ​เรา? ดัง​นั้น เช่น​เดียว​กับ​นะเฮมยา ขอ​ให้​ความ​ห่วงใย​อันดับ​แรก​ของ​เรา​คือ​การ​นมัสการ​พระ​ยะโฮวา​และ​การ​ส่ง​เสริม​การ​นมัสการ​นั้น.

[ภาพ​หน้า 8]

“ดวง​หทัย​ของ​กษัตริย์​เปรียบ​เสมือน​ร่อง​น้ำ​ทั้ง​หลาย​ใน​พระ​หัตถ์​ของ​พระ​ยะโฮวา”

[ภาพ​หน้า 9]

นะเฮมยา​ซึ่ง​เป็น​คน​ที่​เอา​จริง​เอา​จัง​และ​มี​ความ​รู้สึก​อัน​อ่อน​ละมุน​มา​ยัง​กรุง​เยรูซาเลม

[ภาพ​หน้า 10, 11]

คุณ​รู้​วิธี ‘อธิบาย​เนื้อ​ความ’ ใน​พระ​คำ​ของ​พระเจ้า​ไหม?