ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

เงินกับหลักศีลธรรมบทเรียนจากประวัติศาสตร์

เงินกับหลักศีลธรรมบทเรียนจากประวัติศาสตร์

เงิน​กับ​หลัก​ศีลธรรม​บทเรียน​จาก​ประวัติศาสตร์

ใน​วัน​ที่ 7 เมษายน 1630 ผู้​คน​ราว ๆ สี่​ร้อย​คน​ใน​เรือ​สี่​ลำ​ได้​แล่น​จาก​อังกฤษ​ไป​ยัง ‘โลก​ใหม่’—ดัง​ที่​ผู้​คน​ใน​ยุโรป​เรียก​อเมริกา​ใน​สมัย​นั้น. หลาย​คน​ใน​พวก​เขา​เป็น​ผู้​ที่​มี​การ​ศึกษา​สูง. บาง​คน​เป็น​นัก​ธุรกิจ​ที่​ประสบ​ผล​สำเร็จ. บาง​คน​ถึง​กับ​เป็น​สมาชิก​ของ​รัฐสภา​ด้วย​ซ้ำ. เศรษฐกิจ​ใน​บ้าน​เกิด​ของ​พวก​เขา​ที่​ซบเซา​อยู่​แล้ว กลับ​ยิ่ง​ทรุด​หนัก​เนื่อง​จาก​สงคราม​สาม​สิบ​ปี​ที่​ดำเนิน​อยู่​ใน​ยุโรป (ปี 1618-1648). ดัง​นั้น พวก​เขา​จึง​เสี่ยง, จาก​บ้าน​เกิด​ไป, ทิ้ง​ธุรกิจ​และ​ญาติ​พี่​น้อง​แล้ว​เดิน​ทาง​ไป​ต่าง​ประเทศ​เพื่อ​แสวง​หา​ช่อง​ทาง​ที่​ดี​กว่า.

อย่าง​ไร​ก็​ดี กลุ่ม​คน​ที่​เต็ม​ด้วย​ความ​หวัง​ดัง​กล่าว​ไม่​ใช่​เป็น​เพียง​กลุ่ม​พ่อค้า​ที่​ฉวย​โอกาส. คน​เหล่า​นี้​เป็น​พวก​พิวริตัน​ที่​มี​ใจ​แรง​กล้า​ซึ่ง​หนี​การ​ข่มเหง​ทาง​ศาสนา. * เป้าหมาย​จริง ๆ ของ​พวก​เขา​คือ​เพื่อ​ก่อ​ตั้ง​ชุมชน​ที่​นับถือ​กฎหมาย​ของ​พระเจ้า ที่​ซึ่ง​พวก​เขา​กับ​ลูก​หลาน​สามารถ​เจริญ​รุ่งเรือง​ทาง​ด้าน​วัตถุ​โดย​ไม่​ต้อง​อะลุ่มอล่วย​หลักการ​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล. ไม่​นาน​หลัง​จาก​ขึ้น​บก​ที่​เมือง​เซเลม รัฐ​แมสซาชูเซตส์ พวก​เขา​ได้​อ้าง​สิทธิ์​ใน​ที่​ดิน​ผืน​เล็ก ๆ ตาม​ชายฝั่ง​ทะเล. พวก​เขา​เรียก​ที่​อยู่​ใหม่​ของ​ตน​ว่า​บอสตัน.

การ​ทำ​ให้​สมดุล​กัน​เป็น​เรื่อง​ยาก

จอห์น วินทรอป ผู้​นำ​และ​ผู้​สำเร็จ​ราชการ​ของ​พวก​เขา​ได้​พยายาม​สุด​ความ​สามารถ​ที่​จะ​ส่ง​เสริม​ความ​มั่งคั่ง​ส่วน​ตัว​และ​ผล​ประโยชน์​สำหรับ​ชุมชน​ใน​อาณานิคม​ใหม่. เขา​ต้องการ​ให้​ผู้​คน​มี​ทั้ง​เงิน​และ​หลัก​ศีลธรรม. แต่​นี่​ปรากฏ​ว่า​เป็น​เรื่อง​ยาก​ที่​จะ​ทำ​ให้​ทั้ง​สอง​อย่าง​สมดุล​กัน. โดย​คาด​ล่วง​หน้า​ถึง​ปัญหา​ต่าง ๆ เขา​ได้​พูด​อย่าง​ละเอียด​กับ​มิตร​สหาย​เกี่ยว​กับ​บทบาท​ของ​ความ​มั่งคั่ง​ใน​สังคม​ที่ “เกรง​กลัว​พระเจ้า.”

เช่น​เดียว​กับ​ผู้​นำ​พิวริตัน​คน​อื่น ๆ วินทรอป​เชื่อ​ว่า​การ​แสวง​หา​ความ​มั่งคั่ง​ใน​ตัว​เอง​แล้ว​ไม่​ผิด. เขา​อ้าง​เหตุ​ผล​ว่า จุด​ประสงค์​หลัก​ของ​ทรัพย์​สิน​เงิน​ทอง​คือ เพื่อ​ช่วยเหลือ​คน​อื่น. ดัง​นั้น ยิ่ง​คน​เรา​มั่งมี​มาก​เท่า​ใด เขา​ก็​สามารถ​ทำ​ดี​ได้​มาก​เท่า​นั้น. นัก​ประวัติศาสตร์​แพทริเซีย โอทูล​กล่าว​ว่า “ความ​มั่งคั่ง​เป็น​เรื่อง​ที่​ทำ​ให้​พวก​พิวริตัน​ไม่​สบาย​ใจ​จริง ๆ. ความ​มั่งคั่ง​เป็น​ทั้ง​เครื่องหมาย​แสดง​ถึง​พระ​พร​ของ​พระเจ้า​และ​เป็น​การ​ล่อ​ใจ​อัน​ทรง​พลัง​ให้​คน​เรา​ภูมิ​ใจ​ใน​ทรัพย์​สมบัติ​ของ​ตน​ซึ่ง​ความ​ภูมิ​ใจ​เช่น​นั้น​ถือ​ว่า​เป็น​บาป . . . และ​ล่อ​ใจ​ให้​เนื้อหนัง​ทำ​บาป.”

เพื่อ​หลีก​เลี่ยง​บาป​ซึ่ง​อาจ​เกิด​ขึ้น​เนื่อง​จาก​ทรัพย์​สมบัติ​และ​ความ​หรูหรา​ฟุ่มเฟือย วินทรอป​ได้​สนับสนุน​การ​รู้​จัก​ประมาณ​และ​การ​เหนี่ยว​รั้ง​ตน. แต่​ไม่​นาน​นัก ความ​ปรารถนา​ของ​เพื่อน​ร่วม​ชาติ​ที่​จะ​หา​ผล​กำไร​ส่วน​ตัว​มี​แนว​โน้ม​ว่า​จะ​ขัด​กัน​กับ​ความ​พยายาม​ของ​เขา​ที่​จะ​บังคับ​คน​เหล่า​นั้น​ให้​แสดง​ความ​เลื่อมใส​ใน​พระเจ้า​และ​ให้​รัก​กัน​และ​กัน. บรรดา​คน​ที่​ไม่​เห็น​ด้วย​เริ่ม​โต้​แย้ง​กับ​สิ่ง​ที่​เขา​มอง​ว่า​วินทรอป​เข้า​ไป​แทรกแซง​ใน​เรื่อง​ส่วน​ตัว​ของ​พวก​เขา. บาง​คน​เริ่ม​ปลุกระดม​ให้​มี​สภา​ที่​ถูก​เลือก​ตั้ง​ซึ่ง​จะ​มี​ส่วน​ร่วม​ใน​การ​ตัดสิน​ใจ. คน​อื่น ๆ เพียง​แต่​แสดง​ความ​คิด​เห็น​ของ​ตน​โดย​การ​ย้าย​ไป​ยัง​รัฐ​คอนเนตทิคัต​ที่​อยู่​ใกล้​เคียง​เพื่อ​แสวง​ผล​ประโยชน์​ส่วน​ตัว.

โอทูล​กล่าว​ว่า “โอกาส, ความ​เจริญ​รุ่งเรือง, ประชาธิปไตย ทั้ง​หมด​นี้​ล้วน​มี​ผล​กระทบ​อัน​ทรง​พลัง​ใน​ชีวิต​ของ​พวก​พิวริตัน​ใน​รัฐ​แมสซาชูเซตส์ และ​ทั้ง​หมด​มี​แนว​โน้ม​ที่​จะ​ปลุก​เร้า​ความ​ทะเยอทะยาน​ของ​คน​เรา​โดย​ไม่​คำนึง​ถึง​อุดมการณ์​ของ​วินทรอป​เกี่ยว​กับ​การ​ใช้​ทรัพย์​สมบัติ​เพื่อ​ประโยชน์​ของ​คน​ทั่ว​ไป.” ใน​ปี 1649 วินทรอป​เสีย​ชีวิต ตอน​ที่​แทบ​สิ้น​เนื้อ​ประดา​ตัว ด้วย​วัย 61 ปี. ถึง​แม้​อาณานิคม​ที่​เปราะ​บาง​นี้​รอด​พ้น​มา​ได้​ทั้ง ๆ ที่​มี​ความ​ยาก​ลำบาก​หลาย​อย่าง วินทรอป​ก็​ไม่​ได้​มี​ชีวิต​อยู่​เพื่อ​จะ​เห็น​ความ​ฝัน​ของ​เขา​ใน​เรื่อง​โลก​ที่​ดี​กว่า​กลาย​เป็น​จริง.

การ​แสวง​หา​ดำเนิน​ต่อ​ไป

ภาพ​ใน​อุดมการณ์​ของ​จอห์น วินทรอป​เกี่ยว​กับ​โลก​ที่​ดี​กว่า​ใช่​ว่า​สูญ​สิ้น​ไป​พร้อม​กับ​ตัว​เขา. แต่​ละ​ปี​มี​หลาย​แสน​คน​อพยพ​ออก​จาก​แอฟริกา, เอเชีย​ตะวัน​ออก​เฉียง​ใต้, ยุโรป​ตะวัน​ออก, และ​ลาติน​อเมริกา โดย​หวัง​ว่า​จะ​พบ​ชีวิต​ที่​ดี​กว่า. บาง​คน​ใน​พวก​เขา​ได้​รับ​แรง​บันดาล​ใจ​จาก​หนังสือ​ใหม่ ๆ หลาย​ร้อย​เล่ม, การ​สัมมนา, และ​เว็บไซต์​ต่าง ๆ ที่​มี​การ​ผลิต​ออก​มา​ทุก​ปี​ซึ่ง​สัญญา​ว่า​จะ​เปิด​เผย​เคล็ดลับ​ที่​ว่า​ทำ​อย่าง​ไร​จึง​จะ​รวย. เห็น​ได้​ชัด หลาย​คน​ยัง​คง​พยายาม​จะ​ได้​เงิน โดย​หวัง​กัน​ว่า​จะ​ไม่​ละ​ทิ้ง​มาตรฐาน​ทาง​ด้าน​ศีลธรรม.

ว่า​กัน​ตาม​ตรง ผล​ที่​เกิด​ขึ้น​ก่อ​ความ​ผิด​หวัง. คน​เหล่า​นั้น​ที่​แสวง​หา​ความ​มั่งคั่ง บ่อย​ครั้ง​ที​เดียว​ลงเอย​ด้วย​การ​ละ​ทิ้ง​หลักการ​และ​บาง​ครั้ง​ถึง​กับ​ทิ้ง​ความ​เชื่อ​ของ​เขา​เพื่อ​แลก​กับ​เงิน​ทอง​ด้วย​ซ้ำ. เพราะ​ฉะนั้น คุณ​อาจ​ถาม​อย่าง​เหมาะ​สม​ได้​ว่า “เป็น​ไป​ได้​ไหม​ที่​คน​เรา​จะ​ดำเนิน​ชีวิต​ตาม​หลัก​ศีลธรรม​ที่​ดี​และ​ยัง​เป็น​คน​รวย​ด้วย? จะ​มี​วัน​มี​สังคม​ที่​ยำเกรง​พระเจ้า​ซึ่ง​ทั้ง​มั่งคั่ง​ทาง​ด้าน​วัตถุ​และ​ดำเนิน​ชีวิต​ตาม​หลัก​ศีลธรรม​อัน​สูง​ส่ง​ไหม?” คัมภีร์​ไบเบิล​ตอบ​คำ​ถาม​เหล่า​นี้ ดัง​ที่​บทความ​ต่อ​ไป​แสดง​ให้​เห็น.

[เชิงอรรถ]

^ วรรค 3 ใน​ศตวรรษ​ที่ 16 มี​การ​ตั้ง​ชื่อ​พิวริตัน​ให้​แก่​พวก​โปรเตสแตนต์​ภาย​ใน​คริสตจักร​แห่ง​อังกฤษ​ผู้​ซึ่ง​ต้องการ​ชำระ​คริสตจักร​ของ​ตน​ให้​ปราศจาก​ร่องรอย​ทุก​อย่าง​ของ​อิทธิพล​แบบ​โรมัน​คาทอลิก.

[ที่​มา​ของ​ภาพ​หน้า 3]

Boats: The Complete Encyclopedia of Illustration/J. G. Heck; Winthrop: Brown Brothers