การดำเนินในทางที่สว่างขึ้นเรื่อย ๆ
การดำเนินในทางที่สว่างขึ้นเรื่อย ๆ
“วิถีของเหล่าคนชอบธรรมเป็นดุจแสงสว่างอันรุ่งโรจน์ซึ่งส่องแสงกล้าขึ้นทุกที จนกระทั่งถึงวันได้ตั้งขึ้นมั่นคง.”—สุภาษิต 4:18, ล.ม.
1, 2. ประชาชนของพระเจ้าได้ประสบอะไรซึ่งเป็นผลมาจากความสว่างฝ่ายวิญญาณจากพระยะโฮวาที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ?
ใครหรือจะพรรณนาผลกระทบของดวงอาทิตย์ยามรุ่งอรุณที่มีต่อความมืดยามราตรีได้ดีไปกว่าพระยะโฮวาพระเจ้า ผู้ทรงเป็นบ่อเกิดแห่งแสงสว่างนั้นเอง? (บทเพลงสรรเสริญ 36:9) พระเจ้าตรัสว่า ‘เมื่อแสงอรุณจับปลายแผ่นดินโลก โลกก็เปลี่ยนไปเหมือนดินเหนียวถูกตราประทับและทุกสิ่งเด่นออกมาเหมือนเสื้อผ้า.’ (โยบ 38:12-14, ฉบับแปลใหม่) พร้อมกับแสงจากดวงอาทิตย์ที่สว่างขึ้นเรื่อย ๆ รูปลักษณะของแผ่นดินโลกก็ปรากฏออกมาและชัดเจนขึ้น เหมือนกับดินเหนียวที่อ่อนนิ่มเปลี่ยนรูปไปเมื่อถูกตราประทับกดเป็นรอย.
2 พระยะโฮวาทรงเป็นบ่อเกิดแห่งความสว่างฝ่ายวิญญาณด้วย. (บทเพลงสรรเสริญ 43:3) ขณะที่โลกยังคงอยู่ในความมืดทึบ พระเจ้าองค์เที่ยงแท้ทรงฉายแสงสว่างเหนือประชาชนของพระองค์ต่อ ๆ ไป. ผลเป็นประการใด? คัมภีร์ไบเบิลตอบว่า “วิถีของเหล่าคนชอบธรรมเป็นดุจแสงสว่างอันรุ่งโรจน์ซึ่งส่องแสงกล้าขึ้นทุกทีจนกระทั่งถึงวันได้ตั้งขึ้นมั่นคง.” (สุภาษิต 4:18, ล.ม.) แสงที่สว่างขึ้นเรื่อย ๆ จากพระยะโฮวายังคงส่องทางของประชาชนของพระองค์อยู่ต่อไป. แสงสว่างนี้ปรับปรุงพวกเขาทางด้านองค์การ, ด้านหลักคำสอน, และด้านศีลธรรม.
ความสว่างฝ่ายวิญญาณที่เพิ่มขึ้นนำไปสู่การปรับปรุงทางด้านองค์การ
3. มีคำสัญญาอะไรที่ยะซายา 60:17?
3 พระยะโฮวาได้ทรงบอกล่วงหน้าผ่านทางผู้พยากรณ์ยะซายาว่า “เราจะเอาทองคำมาแทนทองแดง และเราจะเอาเงินมาแทนเหล็ก เอาทองแดงมาแทนไม้ เอาเหล็กมาแทนหิน.” (ยะซายา 60:17, ล.ม.) เช่นเดียวกับการเอาวัสดุที่มีค่ามากกว่ามาแทนวัสดุที่ด้อยกว่าบ่งชี้ถึงการปรับปรุง พยานพระยะโฮวาได้ประสบการปรับปรุงในการจัดเตรียมด้านองค์การตลอด “ช่วงอวสานของระบบ” หรือ “สมัยสุดท้าย.”—มัดธาย 24:3, ล.ม.; 2 ติโมเธียว 3:1, ล.ม.
4. การจัดเตรียมอะไรเริ่มต้นในปี 1919 และการจัดเตรียมนั้นเป็นประโยชน์อย่างไร?
4 ในช่วงต้น ๆ ของสมัยสุดท้าย ประชาคมของนักศึกษาคัมภีร์ไบเบิล ซึ่งเป็นชื่อเรียกพยานพระยะโฮวาสมัยนั้น ได้เลือกตั้งผู้ปกครองและมนตรีรับใช้ของพวกเขาตามแบบประชาธิปไตย. อย่างไรก็ดี ผู้ปกครองบางคนไม่ได้มีน้ำใจในการเผยแพร่ข่าวดีอย่างแท้จริง. บางคนไม่เพียงลังเลที่จะมีส่วนร่วมด้วยตัวเองในงานประกาศเท่านั้น แต่ยังได้ขัดขวางคนอื่นมิให้เข้าร่วมในงานนี้ด้วย. ดังนั้น ในปี 1919 มีการตั้งตำแหน่งใหม่ขึ้นในแต่ละประชาคม นั่นคือผู้อำนวยการการรับใช้. ผู้อำนวยการการรับใช้ไม่ได้รับการเลือกตั้ง
จากประชาคม แต่ได้รับการแต่งตั้งตามระบอบของพระเจ้าจากสำนักงานสาขาแห่งประชาชนของพระเจ้า. หน้าที่รับผิดชอบของผู้อำนวยการที่ได้รับการแต่งตั้งรวมเอาการจัดระเบียบงานประกาศ, การมอบหมายเขตทำงาน, และการสนับสนุนการมีส่วนร่วมในงานเผยแพร่ตามบ้าน. ระหว่างปีต่าง ๆ ต่อจากนั้น งานประกาศเรื่องราชอาณาจักรได้รับการกระตุ้นอย่างมากมาย.5. การปรับปรุงเช่นไรได้กลายเป็นจริงในทศวรรษ 1920?
5 ทุกคนในประชาคมได้รับการปลุกเร้าใจต่อไปอีกจากคำกระตุ้นเตือนที่ว่า “จงโฆษณา, โฆษณา, โฆษณา, พระมหากษัตริย์และราชอาณาจักรของพระองค์” ณ การประชุมใหญ่ของนักศึกษาคัมภีร์ไบเบิลที่ซีดาร์พอยต์ รัฐโอไฮโอ สหรัฐอเมริกาในปี 1922. พอถึงปี 1927 มีการจัดระเบียบการรับใช้ตามบ้านถึงขีดที่มีการกำหนดว่าวันอาทิตย์เป็นวันเหมาะที่สุดสำหรับการมีส่วนร่วมในงานประกาศตามบ้าน. ทำไมจึงเป็นวันนั้น? เพราะว่าวันอาทิตย์เป็นวันที่คนส่วนใหญ่ไม่ได้ไปทำงาน. พยานพระยะโฮวาในทุกวันนี้แสดงน้ำใจอย่างเดียวกันโดยพยายามไปเยี่ยมผู้คนในตอนที่ส่วนใหญ่พวกเขาคงจะอยู่บ้าน เช่น ในตอนสุดสัปดาห์และในตอนเย็น.
6. ในปี 1931 มีการรับเอามติอะไร และนั่นมีผลกระทบอย่างไรต่องานประกาศราชอาณาจักร?
6 ได้เกิดแรงกระตุ้นสำคัญต่องานประกาศราชอาณาจักรในตอนบ่ายวันอาทิตย์ที่ 26 กรกฎาคม 1931 เมื่อมีการรับเอามติ ณ การประชุมใหญ่ในเมืองโคลัมบัส รัฐโอไฮโอ สหรัฐอเมริกาเป็นครั้งแรก และหลังจากนั้นก็มีการรับเอามตินั้นทั่วโลก. ส่วนหนึ่งในมตินั้นแถลงว่า “พวกเราที่เป็นผู้รับใช้ของพระยะโฮวาพระเจ้าได้รับมอบหมายให้ทำงานในพระนามของพระองค์, และในการเชื่อฟังพระบัญญัติของพระองค์ ที่จะเสนอข่าวสารที่พระเยซูคริสต์ได้ทรงประกาศ, และที่จะประกาศแก่ประชาชนว่าพระยะโฮวาเป็นพระเจ้าเที่ยงแท้องค์ทรงฤทธานุภาพทุกประการ; ฉะนั้น พวกเรายินดีรับเอาชื่อที่องค์พระผู้เป็นเจ้าได้ทรงตั้งด้วยพระโอษฐ์ของพระองค์ และเราปรารถนาจะเป็นที่รู้จักและถูกเรียกด้วยชื่อนั้น คือพยานพระยะโฮวา.” (ยะซายา 43:10) ชัดเจนสักเพียงไรที่ชื่อใหม่นี้ได้กำหนดกิจกรรมที่สำคัญอันดับแรกของบรรดาคนเหล่านั้นที่ใช้ชื่อนี้! ใช่แล้ว พระยะโฮวาทรงมีงานที่ผู้รับใช้ทุกคนของพระองค์จะมีส่วนร่วมด้วย. กล่าวโดยทั่วไปแล้ว มีการตอบรับอย่างกระตือรือร้นจริง ๆ!
7. มีการนำการเปลี่ยนแปลงอะไรเข้ามาในปี 1932 และเพราะเหตุใด?
7 ผู้ปกครองหลายคนได้ทุ่มเทตัวให้กับงานประกาศด้วยความถ่อมใจ. แต่ในบางแห่ง ผู้ปกครองที่ได้รับการเลือกตั้งได้ต่อต้านแนวคิดที่ว่าทุกคนในประชาคมควรมีส่วนร่วม
ในการเผยแพร่แก่สาธารณชน. อย่างไรก็ดี การปรับปรุงต่อไปกำลังจะเกิดขึ้น. ในปี 1932 ประชาคมต่าง ๆ ได้รับคำแนะนำผ่านทางหอสังเกตการณ์ ให้ยุติการเลือกตั้งผู้ปกครองและมนตรีรับใช้. แทนที่จะเป็นเช่นนั้น พวกเขาต้องเลือกตั้งคณะกรรมการการรับใช้ที่ประกอบด้วยผู้ชายที่ฝักใฝ่ฝ่ายวิญญาณซึ่งมีส่วนร่วมในงานประกาศแก่สาธารณชน. โดยวิธีนี้ มีการมอบหมายการดูแลให้แก่คนเหล่านั้นที่มีส่วนร่วมอย่างแข็งขันในการรับใช้ และงานก็รุดหน้าไป.แสงสว่างที่จ้าขึ้นหมายถึงการปรับปรุงต่อไปอีก
8. เกิดการปรับเปลี่ยนอะไรในปี 1938?
8 แสงสว่างกำลัง “ส่องแสงกล้าขึ้นทุกที.” ในปี 1938 การใช้วิธีการเลือกตั้งได้ถูกยกเลิกไปอย่างสิ้นเชิง. ผู้รับใช้ทุกคนในประชาคมได้รับการแต่งตั้งตามระบอบของพระเจ้าภายใต้การดูแลของ “ทาสสัตย์ซื่อและสุขุม.” (มัดธาย 24:45-47, ล.ม.) แทบทุกประชาคมของพยานพระยะโฮวาได้พร้อมที่จะยอมรับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว และงานให้คำพยานก็เกิดผลต่อ ๆ ไป.
9. ในปี 1972 มีการเริ่มการจัดเตรียมอะไร และทำไมการจัดเตรียมดังกล่าวเป็นการปรับปรุงให้ดีขึ้น?
9 เริ่มต้นในวันที่ 1 ตุลาคม 1972 การปรับเปลี่ยนอีกอย่างหนึ่งในการดูแลประชาคมได้มีผลบังคับใช้. มีการเริ่มการจัดเตรียมเกี่ยวกับการดูแลโดยคณะผู้ปกครองในประชาคมของพยานพระยะโฮวาทั่วโลก ซึ่งเข้ามาแทนการดูแลโดยผู้รับใช้ หรือผู้ดูแลประชาคมเพียงคนเดียว. การจัดเตรียมใหม่นี้ได้ทำให้เกิดการกระตุ้นหนุนใจอย่างมากมายแก่ผู้ชายที่อาวุโสเพื่อจะมีคุณวุฒินำหน้าในประชาคม. (1 ติโมเธียว 3:1-7) ผลก็คือ พี่น้องชายหลายคนมีประสบการณ์ในการเอาใจใส่ดูแลหน้าที่รับผิดชอบต่าง ๆ ในประชาคม. พวกเขาได้พิสูจน์ว่ามีคุณค่าสักเพียงไรในการบำรุงเลี้ยงคนใหม่ ๆ หลายคนที่ได้ตอบรับความจริงในคัมภีร์ไบเบิล!
10. มีการดำเนินการจัดเตรียมอะไรในปี 1976?
10 ได้มีการจัดตั้งสมาชิกของคณะกรรมการปกครองเป็นหกคณะ และเริ่มต้นในวันที่ 1 มกราคม 1976 กิจการทั้งหมดขององค์การและของประชาคมตลอดทั่วแผ่นดินโลกมาอยู่ภายใต้การดูแลโดยคณะกรรมการเหล่านี้. ปรากฏว่าเป็นประโยชน์จริง ๆ ที่ทุกแง่มุมของงานราชอาณาจักรได้รับการชี้นำโดย “ที่ปรึกษาหลายคน”!—สุภาษิต 15:22; 24:6.
11. มีการดำเนินการปรับเปลี่ยนอะไรในปี 1992 และเพราะเหตุใด?
11 ในปี 1992 ยังคงมีการปรับเปลี่ยนอีกอย่างหนึ่งซึ่งเทียบได้กับสิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากชาวอิสราเอลและคนอื่น ๆ ได้กลับมาจากการเป็นเชลยในบาบิโลน. ย้อนหลังไปในสมัยนั้น ชาวเลวีมีจำนวนไม่พอที่จะเอาใจใส่ดูแลการรับใช้ในพระวิหาร. ดังนั้น พวกนะธีนิมที่ไม่ใช่ชาวอิสราเอลได้ถูกมอบหมายให้ทำงานมากขึ้นเพื่อช่วยชาวเลวี. ฉะนั้น เพื่อช่วยชนชั้นทาสสัตย์ซื่อและสุขุมในการดูแลผลประโยชน์ทางแผ่นดินโลกที่เพิ่มขึ้นของทาสนั้น ในปี 1992 บางคนในจำพวก “แกะอื่น” ได้รับหน้าที่รับผิดชอบในการรับใช้เพิ่มขึ้น. พวกเขาได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ช่วยของคณะกรรมการปกครอง.—โยฮัน 10:16.
12. พระยะโฮวาได้แต่งตั้งสันติสุขเป็นผู้ดูแลของเราอย่างไร?
12 ทั้งหมดนี้ได้เกิดผลเช่นไร? พระยะโฮวาตรัสว่า “เราจะแต่งตั้งสันติสุขเป็นผู้ดูแลเจ้าและแต่งตั้งความชอบธรรมเป็นผู้มอบหมายงานแก่เจ้า.” (ยะซายา 60:17, ล.ม.) มี “สันติสุข” ท่ามกลางผู้รับใช้ของพระยะโฮวาในทุกวันนี้ และความรักที่มีต่อ “ความชอบธรรม” ได้กลายเป็น “ผู้มอบหมายงาน” ของพวกเขา ซึ่งก็คือพลังที่กระตุ้นพวกเขาให้รับใช้พระเจ้า. พวกเขาได้รับการจัดระเบียบอย่างดีเพื่อทำงานประกาศราชอาณาจักรและงานทำให้คนเป็นสาวก.—มัดธาย 24:14; 28:19, 20.
พระยะโฮวาทรงให้ความกระจ่างในเรื่องหลักคำสอน
13. ในทศวรรษ 1920 พระยะโฮวาได้ทรงให้ความกระจ่างแก่ประชาชนของพระองค์ในเรื่องหลักคำสอนอย่างไร?
13 พระยะโฮวายังทรงให้ความกระจ่างในเรื่องหลักคำสอนแก่ประชาชนของพระองค์เป็นขั้น ๆ. วิวรณ์ 12:1-9 เป็นตัวอย่าง. เรื่องราวนั้นกล่าวถึงสามบุคคลที่มีความหมายเป็นนัย—“ผู้หญิง” ซึ่งมีครรภ์และคลอดบุตร, “พญานาค,” และ “บุตรชาย.” คุณทราบไหมว่าแต่ละบุคคลหมายถึงใคร? มีการระบุตัวบุคคลเหล่านี้ในบทความที่มีชื่อ ว่า “การกำเนิดชนชาติหนึ่ง” ซึ่งปรากฏในหอสังเกตการณ์ (ภาษาอังกฤษ) ฉบับ 1 มีนาคม 1925. บทความนี้ได้ทำให้ประชาชนของพระเจ้ามีความเข้าใจดีขึ้นเกี่ยวกับคำพยากรณ์ในเรื่องการกำเนิดของราชอาณาจักร เป็นความหยั่งเห็นเข้าใจที่ทำให้ชัดเจนว่ามีสององค์การที่แตกต่างกัน นั่นคือองค์การของพระยะโฮวากับองค์การของซาตาน. ครั้นแล้ว ในปี 1927/1928 ประชาชนของพระเจ้ายอมรับว่าการฉลองคริสต์มาสและวันเกิดไม่เป็นไปตามหลักพระคัมภีร์ และพวกเขาได้เลิกการฉลองดังกล่าว.
14. มีการอธิบายความจริงในด้านหลักคำสอนอะไรในทศวรรษ 1930?
14 ในทศวรรษ 1930 มีการฉายความสว่างต่อไปอีกในเรื่องความจริงเกี่ยวกับหลักคำสอนสามเรื่อง. เป็นเวลาหลายปี นักศึกษาคัมภีร์ไบเบิลเคยรู้ว่ามหาชนหมู่ใหญ่ หรือ “ชนฝูงใหญ่” ที่มีการกล่าวถึงในวิวรณ์ 7:9-17 นั้นแตกต่างจากชน 144,000 คน ผู้ซึ่งจะปกครองร่วมกับพระคริสต์ในฐานะกษัตริย์และปุโรหิต. (วิวรณ์ 5:9, 10; 14:1-5) อย่างไรก็ดี เอกลักษณ์ของมหาชนหมู่ใหญ่ยังคงไม่ชัดเจน. เช่นเดียวกับแสงอรุณที่จ้าขึ้นทำให้วัตถุที่มองเห็นไม่ชัดนั้นปรากฏเป็นรูปเป็นร่างและสีสันชัดเจนขึ้น ในปี 1935 มหาชนหมู่ใหญ่ได้รับการระบุตัวว่าเป็นคนเหล่านั้นซึ่งรอดผ่าน “ความทุกขเวทนามากยิ่ง” พร้อมกับมีความหวังในการมีชีวิตอยู่ตลอดไปบนแผ่นดินโลก. ต่อมาในปีเดียวกันนั้น มีคำอธิบายที่ชัดแจ้งซึ่งมีผลกระทบต่อเด็กในวัยเรียนของพยานพระยะโฮวาในหลายประเทศ. ขณะที่ทั่วโลกมีน้ำใจรักชาติอย่างแรงกล้า พวกพยานฯ ยอมรับว่าการทำความเคารพธงมีความหมายไม่ใช่แค่เป็นเพียงพิธีรีตอง. ในปีต่อมา มีการอธิบายความจริงที่เป็นหลักคำสอนอีกอย่างหนึ่งว่า พระคริสต์สิ้นพระชนม์บนหลัก ไม่ใช่บนไม้กางเขน.—กิจการ 10:39.
15. มีการเน้นความศักดิ์สิทธิ์ของเลือดเมื่อไรและโดยวิธีใด?
15 ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 การรักษาทหารที่ได้รับบาดเจ็บด้วยการถ่ายเลือดกลายเป็นกิจปฏิบัติที่เป็นเรื่องปกติ. ช่วงเวลาไม่นานหลังจากนั้นมีความสว่างเพิ่มขึ้นในเรื่องความศักดิ์สิทธิ์ของเลือด. หอสังเกตการณ์ (ภาษาอังกฤษ) ฉบับ 1 กรกฎาคม 1945 ได้สนับสนุน “ผู้นมัสการพระยะโฮวาทุกคนซึ่งแสวงหาชีวิตถาวรในโลกใหม่แห่งความชอบธรรมของพระองค์ให้นับถือความศักดิ์สิทธิ์ของเลือดและให้ปฏิบัติตามกฎอันชอบธรรมของพระเจ้าเกี่ยวกับเรื่องที่สำคัญยิ่งนี้.”
16. พระคัมภีร์บริสุทธิ์ฉบับแปลโลกใหม่ พิมพ์ออกมาเมื่อไร และอะไรเป็นลักษณะเด่นสองประการของฉบับแปลนี้?
16 ในปี 1946 ปรากฏว่ามีความจำเป็นในการแปลคัมภีร์ไบเบิลใหม่ซึ่งถูกเตรียมไว้ด้วยการชี้นำจากแหล่งความรู้ล่าสุดและไม่แปดเปื้อนด้วยคำสอนที่อาศัยประเพณีต่าง ๆ ของคริสต์ศาสนจักร. งานแปลดังกล่าวเริ่มต้นในเดือนธันวาคม 1947. ในปี 1950 พระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีกฉบับแปลโลกใหม่ ได้พิมพ์ออกเป็นภาษาอังกฤษ. พระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูที่แปลเป็นภาษาอังกฤษได้พิมพ์ออกเป็นชุดที่มีห้าเล่มโดยออกครั้งละเล่ม เริ่มในปี 1953. เล่มสุดท้ายพิมพ์ออกในปี 1960 เป็นเวลา 12 ปีเศษหลังจากโครงการแปลได้เริ่มขึ้น. พระคัมภีร์บริสุทธิ์ฉบับแปลโลกใหม่ ครบชุดในเล่มเดียวได้พิมพ์ออกในปี 1961. ฉบับแปลนี้มีลักษณะที่โดดเด่นบางอย่าง ปัจจุบันสามารถหาอ่านได้ในหลายภาษา. ฉบับแปลนี้นำพระนามของพระเจ้าคือพระยะโฮวากลับมาไว้ในที่ที่พระนามนี้เคยปรากฏอยู่. นอกจากนี้ การแปลข้อความในภาษาเดิมตามตัวอักษรเป็นพื้นฐานช่วยให้เข้าใจความจริงของพระเจ้าดีขึ้นตามลำดับ.
17. มีการฉายความสว่างเพิ่มขึ้นเช่นไรในปี 1962?
17 ในปี 1962 มีคำอธิบายที่กระจ่างชัดเกี่ยวกับ “อำนาจที่สูงกว่า” ในโรม 13:1 (ล.ม.) และขอบเขตที่คริสเตียนต้องอยู่ใต้อำนาจดังกล่าวนั้น. การศึกษาพระธรรมโรมบทที่ 13 และข้อคัมภีร์ต่าง ๆ เช่น ติโต 3:1, 2 และ 1 เปโตร 2:13, 17 อย่างละเอียดทำให้เห็นชัดว่าถ้อยคำ “อำนาจที่สูงกว่า” มิได้หมายถึงพระยะโฮวาพระเจ้าและพระเยซูคริสต์ แต่หมายถึงผู้มีอำนาจในรัฐบาลของมนุษย์.
18. มีการอธิบายความจริงบางเรื่องอะไรบ้างในทศวรรษ 1980?
18 ในหลายปีต่อจากนั้น วิถีของคนชอบธรรมยังคงเจิดจ้าขึ้นทุกที. ในปี 1985 มีการให้ความกระจ่างในเรื่องความหมายของการได้รับการประกาศว่าชอบธรรม “เพื่อจะได้ชีวิต” และชอบธรรมในฐานะมิตรของพระเจ้า. (โรม 5:18, ล.ม.; ยาโกโบ 2:23) มีการอธิบายความหมายปีจูบีลีของคริสเตียนอย่างละเอียดในปี 1987.
19. พระยะโฮวาได้ทรงจัดเตรียมความสว่างฝ่ายวิญญาณเพิ่มขึ้นอย่างไรสำหรับประชาชนของพระองค์ในไม่กี่ปีมานี้?
19 ในปี 1995 มีการเข้าใจอย่างชัดเจนยิ่งขึ้นในเรื่องการแยก “แกะ” ออกจาก “แพะ.” ในปี 1998 มีคำอธิบายที่ละเอียดเกี่ยวกับนิมิตของยะเอศเคลในเรื่องพระวิหาร ซึ่งกำลังสำเร็จเป็นจริง. ในปี 1999 มีคำอธิบายในเรื่องที่ว่า ‘สิ่งอันน่าเกลียดตั้งอยู่ในที่บริสุทธิ์’ เมื่อไรและโดยวิธีใด. (มัดธาย 24:15, 16; 25:32) และในปี 2002 มีความเข้าใจเพิ่มขึ้นอีกเกี่ยวกับความหมายของการนมัสการพระเจ้า “ด้วยวิญญาณและความจริง.”—โยฮัน 4:24, ล.ม.
20. ประชาชนของพระเจ้ามีการปรับปรุงในขอบเขตอื่นอะไรอีก?
20 นอกจากการปรับปรุงทางด้านองค์การและด้านหลักคำสอนแล้ว ก็มีการปรับปรุงในด้านความประพฤติแบบคริสเตียน. ตัวอย่างเช่น ในปี 1973 มีการเข้าใจว่าการใช้ยาสูบเป็น ‘มลทินแห่งเนื้อหนัง’ และถือว่าเป็นการทำผิดที่ร้ายแรง. (2 โกรินโธ 7:1) สิบปีต่อมา หอสังเกตการณ์ (ภาษาอังกฤษ) ฉบับ 15 กรกฎาคม 1983 อธิบายจุดยืนของเราในเรื่องการใช้อาวุธปืน. เรื่องเหล่านี้เป็นเพียงบางตัวอย่างของความสว่างที่จ้าขึ้นในสมัยของเรา.
การดำเนินต่อ ๆ ไปในทางที่สว่างขึ้นเรื่อย ๆ
21. การมีเจตคติเช่นไรจะช่วยเราให้ดำเนินต่อ ๆ ไปในทางที่สว่างขึ้นเรื่อย ๆ?
21 ผู้ปกครองคนหนึ่งซึ่งรับใช้มานานยอมรับว่า “เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้น การยอมรับเรื่องนี้และการปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวอาจเป็นเรื่องยาก.” อะไรได้ช่วยเขาให้ยอมรับการปรับเปลี่ยนหลายอย่างที่เขาได้ประสบมาในช่วง 48 ปีที่เป็นผู้ประกาศราชอาณาจักร? เขาตอบว่า “การมีเจตคติที่ถูกต้องเป็นปัจจัยสำคัญ. การไม่ยอมรับการปรับเปลี่ยนหมายถึงการถูกละไว้เบื้องหลังขณะที่องค์การก้าวหน้าไป. หากผมรู้สึกว่าตัวเองอยู่ในสภาพที่ดูเหมือนว่ายากที่จะยอมรับการเปลี่ยนแปลง ผมก็ไตร่ตรองคำพูดของเปโตรที่ทูลพระเยซูว่า ‘พระองค์เจ้าข้า, พวกข้าพเจ้าจะกลับไปหาผู้ใดเล่า? คำซึ่งให้มีชีวิตนิรันดร์นั้นมีอยู่ที่พระองค์.’ แล้วผมก็ถามตัวเองว่า ‘ผมจะไปที่ไหน—ออกไปสู่ความมืดของโลกหรือ?’ นี่ช่วยผมให้ยึดมั่นกับองค์การของพระเจ้าอย่างเหนียวแน่น.”—โยฮัน 6:68.
22. เราได้รับประโยชน์อย่างไรจากการดำเนินในความสว่าง?
22 มนุษย์โลกรอบตัวเราอยู่ในความมืดทึบอย่างแน่นอน. ขณะที่พระยะโฮวาทรงฉายความสว่างเหนือประชาชนของพระองค์ต่อ ๆ ไป ช่องว่างระหว่างพวกเขากับผู้คนในโลกก็กว้างขึ้นเรื่อย ๆ. ความสว่างนี้ก่อผลเช่นไรสำหรับเรา? ที่จริง เช่นเดียวกับแสงจากสปอตไลต์ซึ่งส่องให้เห็นหลุมบนถนนที่มืดไม่ได้ทำให้หลุมนั้นหายไป ความสว่างจากพระคำของพระเจ้าก็ไม่ได้ขจัดหลุมพรางออกไป. แต่ความสว่างจากพระคำของพระเจ้าช่วยเราให้หลีกเลี่ยงหลุมพรางเหล่านั้นอย่างแน่นอนเพื่อเราจะดำเนินต่อไปในทางที่สว่างขึ้นเรื่อย ๆ. ถ้าเช่นนั้น ขอให้เราเอาใจใส่คำกล่าวเชิงพยากรณ์ของพระยะโฮวาต่อ ๆ ไป “เสมือนตะเกียงส่องสว่างในที่มืด.”—2 เปโตร 1:19, ล.ม.
คุณจำได้ไหม?
• พระยะโฮวาได้ทำให้เกิดการปรับปรุงอะไรทางด้านองค์การสำหรับประชาชนของพระองค์?
• แสงสว่างที่จ้าขึ้นได้ทำให้เกิดการปรับปรุงเช่นไรทางด้านหลักคำสอน?
• ตัวคุณเองได้เห็นการปรับเปลี่ยนอะไรบ้าง และอะไรได้ช่วยคุณให้ยอมรับการปรับเปลี่ยนดังกล่าว?
• ทำไมคุณต้องการดำเนินต่อไปในทางที่สว่างขึ้นเรื่อย ๆ?
[คำถาม]
[ภาพหน้า 27]
การประชุมใหญ่ที่ซีดาร์พอยต์ รัฐโอไฮโอในปี 1922 ได้ปลุกเร้าใจนักศึกษาคัมภีร์ไบเบิลให้ทำงานของพระเจ้า
[ภาพหน้า 29]
ในปี 1950 เอ็น. เอช. นอรร์ได้ประกาศออก “พระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีกฉบับแปลโลกใหม่”
[ที่มาของภาพหน้า 26]
© 2003 BiblePlaces.com